You ghost me every saturday night - Decode
Reading Time: 3 minutes

สีแดงจากพริกปนสีคล้ำจากน้ำปลาร้า ยั่วยวนให้ผู้คนยอมน้ำหูน้ำตาไหล จากการกินส้มตำรสนัว อาจไม่ต่างจากการอดใจรอนั่งฟังเดอะโกสต์ในคืนวันเสาร์ จากคนที่ยังกลัวผีตรงบันไดบ้านอย่างผม

เหมือนยิ่งห้ามก็ยิ่งยุ รู้ว่าเผ็ดแต่ไม่เข็ดสักที บางที การเสริมสร้างความกลัวผีทำให้ผมคลายกังวลจากเรื่องราวทั้งอาทิตย์คล้ายหนามยอกต้องเอาหนามบ่ง เมื่อรู้ว่ายังมีคนเจอเรื่องประหลาด ๆ และควบคุมไม่ได้จากก้อนพลังงานในชุดขาว ชุดไทย รวมถึงเนื้อตัวมอมแมมจากคราบฝุ่นและคราบเลือด ที่เรามักจะเรียกว่า ‘วิญญาน’

ผมตั้งเวลาไว้เรียบร้อยก่อนจะเข้าสายที่ 3 ของชาวเดอะโกสเตอร์ ซึ่งมักจะเป็นเรื่องเด็ดประจำสัปดาห์ ยังเหลือเวลาชั่วโมงเศษ ๆ ผมหยิบ you ghost me every saturday night มาผ่อนคลายก่อนจะเจอเสียงของพี่แจ็คพร้อมเรื่องราวขนหัวลุกของนักเล่าหลายราย

คืนนั้นผมนอนไม่หลับ ไม่ใช่เพราะคุณไสย เสียงเพรียกจากป่าทึบ หรือหญิงแก่โชกเลือดริมทาง

แต่เป็นเพราะความเซอร์เรียลของมนุษย์และผีฉบับโฆษณาของ เบนซ์-ธนชาติ ศิริภัทราชัย ที่หลายต่อหลายครั้ง ปรากฎการณ์ ghosting จากผีสางนางไม้ ยังไม่ชวนขนลุกขนพองเท่ากับการ humaning ของเหล่าโฮโมเซเปียนส์ปี 2024 เลยด้วยซ้ำ

เป็น ‘สิ่งศักดิ์สิทธิ์’ ก็เหนื่อยหน่อยนะ

ไม่ใช่แค่คนที่เหนื่อย แต่เป็นผีก็เหนื่อยได้เหมือนกัน เผลอ ๆ อาจจะเหนื่อยใจกว่าด้วยซ้ำเมื่อต้องรับบทเป็นที่รองรับอารมณ์ของมนุษย์

สองภพที่มาบรรจบกันในเรื่อง ไม่ได้เป็นเพราะอภินิหารย์ข้ามโลกแต่อย่างใด เพราะทั้งผี ทั้งคน ก็มีปัญหาคล้าย ๆ กันเลยมาเจอกันได้ต่างหาก

ความเปลี่ยนแปลงของโลกในสภาวะโลกรวนไม่ได้ส่งผลให้พฤติกรรมของมนุษย์เปลี่ยนไปเพียงอย่างเดียว ในวันที่โลกไร้ซึ่งความมั่นคง ตลาดคริปโตยังติดดอยอย่างต่อเนื่อง ธนชาติเล่าเรื่องราวที่มนุษย์เพิ่มอัตราการบนบานสานกล่าวเพราะความไม่มั่นคงที่เกิดขึ้นมากขึ้น

แต่ใครจะรู้ คำบนบานสานกล่าวกลายเป็นความคาดหวังเชิง KPI ที่หนักอึ้งของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผี วิญญาน ในเรื่อง ความไม่มั่นคงที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ทำให้ท่าน ๆ เหล่านี้ ต้องทำงานหนักมากขึ้น การทำงานที่หนักเกินไปย่อมนำมาซึ่งภาวะหมดไฟ การตั้งคำถามถึงปลายทางที่รออยู่ แต่หากจะไม่ทำก็ไม่ได้ หากมนุษย์ยังต้องทำงานแม้จะหมดไฟ เทพยดาก็ต้องทำหน้าที่เป็นที่พึ่งให้ลูกช้างเพราะคงการมีอยู่ในโลกมนุษย์

หนังสือเล่มนี้ ทำให้การเป็นเทพยดาดูจะเหนื่อยกว่าการเป็นคนทั่วไปอย่างมาก เพราะไม่สามารถ feedback ในช่วงสิ้นปี ถึงจะสามารถเข้าฝันได้แต่ก็กลายเป็นการแปลงเลขของเหล่าผู้คน

จนเกิดเป็นคำถามว่าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เองก็ต้องได้รับการบำบัดเฉกเช่นมนุษย์ เพราะการงานที่หนักเกินไปทำร้ายพวกเราไม่ว่าจะเป็นตนหรือคนก็ตาม

อย่างเรื่องของท่านเจ้าที่ ณ ศาลใหญ่ริมถนน ในบท: Holyshift ของเล่มนี้ก็เช่นกัน

ในทุกเย็นวันอาทิตย์ แม้จะเป็นคืนวันก่อนทำงานของผู้คน แต่สำหรับท่านเจ้าที่ ณ ศาลใหญ่ริมถนน มันคือวันนัดตรวจสุขภาพกับหมอพลอยไพลิน ที่ไม่พ้นจะต้องโดนคุณหมอเอ็ดทุกครั้งที่มาคลีนิก นอกจากลูกช้างจะไม่เข้าใจว่าการได้รับไข่ต้มหลักพันใบต่อวัน หรือน้ำแดงไม่ใช่ของโปรด และไม่สามารถมาแทนเลือดตามความเข้าใจของลูกช้าง รวมถึงศาลเจ้าที่ไม่เคยอยากทานเลือดแต่หากชอบทานผลไม้ นี้ก็เป็นเรื่องปวดหัวที่วิญญานหลายระดับ ยังไม่เข้าใจว่า ทำไมมนุษย์จึงได้เชื่อเช่นนั้นทั้งที่หลายการกระทำเป็นเพียงเสียงเล่าลือเล่าอ้าง ไม่มีหลักฐานอะไรมายืนยันสักหน่อย

“หมอก็เชื่อผมหน่อยเถอะ ผมทั้งพยายามทำ if พยายามบอกคนดูแลว่าให้เปลี่ยนเป็นผลไม้เสียบ้าง รวมถึงบางครั้งผมเคยเข้าฝันเพื่อจะขอวันหยุดเลยด้วยซ้ำ แต่หน้าที่การงานมันไม่มีวันลา แค่โอทียังไม่มีเลย แล้วผมจะปฏิเสธได้ยังไง ในเมื่อลูกช้างให้มาผมก็ปฏิเสธไม่เคยได้เลย” ท่านเจ้าที่ศาลว่าอย่างนั้น

ความปวดหัวที่ วิญญาน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือผีได้รับจะปั่นป่วนชวนหัวมากแค่ไหน แต่เรื่องสั้นที่แต่งขึ้นจากความเซอร์เรียลของมนุษย์ในปัจจุบัน ชี้ให้เห็นได้อย่างหนึ่งว่า การพึ่งพาสิ่งอื่นที่นอกเหนือจากตัวเอง มีปัจจัยหลักมาจาก ความไม่แน่นอน ที่เกิดขึ้นในสังคม และบ่อยครั้งความไม่แน่นอนนี้ถูกเสริมความแน่นอนด้วยสิ่งอื่นที่ยิ่งใหญ่กว่า ถึงจะมองไม่เห็นแต่เชื่อว่ามีอยู่จริง 

เพราะหลายอย่างในชีวิตนั้นเกินควบคุมไปแล้ว

กล่าวคือ โลกไม่แน่นอนและแปรปรวนมากยิ่งขึ้นจาก Covid-19 ที่ต่อเนื่องมาถึงปี 2021 และยังมีผลมาจนถึงปัจจุบัน เป็นการเพิ่มปัจจัยให้โลกเข้าสู่สถานการณ์ VUCA World เต็มตัว ซึ่งมี 4 คำหลัก คือ Volatility ผันผวน  Uncertainty ไม่แน่นอน Complexity ซับซ้อน และ Ambiguity คลุมเครือ เป็นสิ่งที่ส่งผลโดยตรงต่อพฤติกรรมผู้บริโภคที่เกิดความวิตกกังวลบนความไม่แน่นอนในชีวิต และต้องการที่พึ่งทางใจ 

จากการวิจัยล่าสุดกลุ่มตัวอย่าง 1,200 คน ในทุก Gen เรื่อง Marketing in the Uncertain World การตลาดของคนอยู่เป็น โดยนักศึกษาปริญญาโท สาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) พบหลากหลายปัจจัยที่ทำให้คนไทยเกิดความกังวลและรู้สึกถึงความไม่แน่นอน

ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง โรคระบาดโควิด-19 คิดเป็น 76.8% ตามมาด้วยอันตรายจากปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่น PM2.5 ไอเสีย ขยะล้นโลก 74.6% ด้านสังคมในเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและความเห็นต่างกันในสังคม 65% ด้านเศรษฐกิจทั้งเรื่องค่าครองชีพสูงและความไม่มั่นคงในหน้าที่การงาน 64% ด้านเทคโนโลยีที่ไม่สามารถปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ 62.8% และด้านการเมืองที่มีสถานการณ์อันส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวัน 62.6%

เรื่องสั้นชวนหัวพาผมไปไกลกว่าที่คิด เรื่องผี ๆ ที่ประกอบไปด้วยผ้าห้าสี กลิ่นธูป และเสียงเพรียกลึกลับ กลับชี้ให้เห็นถึงความไม่แน่นอนที่ยังสืบเนื่องมาในสังคม ไม่ใช่แค่คนที่เหนื่อยจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก็เหนื่อยจะบันดาลพรให้เหล่าลูกช้างเหมือนกัน

ดูเหมือนผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นลูกโซ่ในทั่วโลก ทั้งโรคระบาด พิษเศรษฐกิจ ความร้อนแรงทางการเมือง และความเป็นอยู่ของผู้คน ก็สามารถฉายภาพให้เห็นความเชื่อมโยงของลูกช้าง-สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหมือนกัน

“ยังไงก็ตาม ท่านต้องดูแลสุขภาพให้ดีกว่านี้ เพราะท่านตายไม่ได้แล้ว ภาวะโรคภัยไข้เจ็บจะอยู่กับท่านไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหายนะท่าน ขอให้ท่านปรับตารางการใช้ชีวิตด้วยนะ” คุณหมอกล่าว

ได้เลยครับหมอ ผมจะพยายาม” ท่านเจ้าที่ศาลยิ้มตอบ

ให้ตายเถอะ นี่มันเรื่องผีประเภทไหนกัน ถ้ามีโฆษณาเครื่องดื่มชูกำลังเข้าตอนนี้ ผมเป็นคนหนึ่งที่จะไปซื้อมาดื่มเดี๋ยวนี้เลย เผื่อจะพยายามได้สักครึ่งหนึ่งของท่านเจ้าที่ศาลที่พยายามลดคอเลสเตอโรลจากไข่ต้มสามพันฟองจากลูกช้างที่มาแก้บนหวยรางวัลที่ 1 ในเย็นวานนี้

ทำไมเป็น ‘คน’ แบบนี้

แม้ว่าการ Ghosting จะมีความหมายว่าการทำตัวเหมือนผี แปลได้ทั้งพวกที่ชอบตอบแชทหนึ่งประโยคแล้วประหนึ่งโยนโทรศัพท์ไปนอกโลก ไปจนถึงความน่ากลัว ชวนขนหัวลุก ตามสไตล์แบบผี stereotype ที่เราเข้าใจ

แต่ผมชื่นชอบการแปลและแปลงเป็นภาพให้เห็นของคำว่า Humaning ในเรื่องมาก นอกจากความ humaning ไม่ได้แปลว่าการมีชีวิตชีวาซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์พึงมี คนในปัจจุบันที่ธนชาติกล่าวถึง ยังเต็มไปด้วยความล้มเหลว ผิดหวัง และยังดูหลอก-หลอน มากกว่าผีทำได้เสียอีก

พ่อผมเสียไปตั้งแต่ช่วงจบมัธยมชั้นปีที่ 6 จากโรคไต แต่ยังพ่วงด้วยอีกหลายโรคตามประสาคนสูงวัย ผมยังนึกถึงคำที่ญาติ ๆ พูดกับผมบ่อยที่สุดในงานศพ ‘พ่อเขามองจากบนฟ้าอยู่ เขาคงภูมิใจลูกชายเติบโตเป็นอย่างดี’ 

ผมนึกสงสัยมาตลอดว่าบนฟ้านี่ชั้นไหน ออกไปนอกโลก หรืออีกภพภูมิที่ซ้อนทับ แต่นั่นไม่ใช่สาระสำคัญ ประเด็นคือถ้าพ่อมาเห็นผมในเวอร์ชั่นที่เรา ๆ ไม่กล้าและไม่อยากให้ผู้ปกครองได้เห็นเหมือนกับคุณแม่ของธนาภพ ชายหนุ่มที่กุมมือแม่ในวาระสุดท้ายและกล่าวภาวนาว่าให้มองลงมาด้วยความภาคภูมิใจ จากบท:  As above, So below ของหนังสือเล่มนี้

แต่ความเป็นจริงกลับไม่ใช่อย่างนั้น

หลังจากคุณแม่ของธนาภพจากไป คำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้กลับไม่เป็นอย่างที่คิด ชีวิตของธนาภพดิ่งลงทะลุกราฟ ทว่า ด้วยคำภาวนาก่อนจากไปของคุณแม่ทำให้คุณแม่ยังเห็นทุกย่างก้าวในชีวิตธนาภพ หลายฉากเหลือเกินที่ทำให้คุณแม่ถึงกับต้องอุทานว่า ‘นี่ลูกฉันเป็นแบบนี้หรือนี่?’

ทั้งความเหลาะแหละในหน้าที่การงาน การอกหักจากสาวในดวงใจ ไปจนถึงรสนิยมแปลก ๆ ที่น่าจะมีแต่ธนาภพเท่านั้นที่รู้

ถ้าการได้เห็นลูกชายเติบโตและกินอยู่อาศัยอย่างดีคือความสุขที่เหมือนดั่งสวรรค์ แต่ในเรื่องการที่คุณแม่ยังติดอยู่กับคำสัญญานี้ทำให้คุณแม่ถึงกับมองว่า ‘หรือนี่คือนรกดี ๆ ’

ผมเคยพยายามอยากจะเห็นพ่อในรูปแบบพลังงานอยู่ 2-3 ครั้ง

ใช่-ครั้งหนึ่งเพราะความคิดถึง แต่ครั้งที่เหลือผมอยากให้เขามาเข้าฝันเพื่อบอกใบ้เลขเด็ด 2 หรือ 3 ตัวท้ายบ้าง

แม้ชีวิตผมจะไม่ได้ดิ่งทะลุกราฟเหมือนธนาภพ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนเรามีเวลาทำย่ำแย่ คำมั่นสัญญาอาจกลายเป็นบ่วงคล้องที่ทำให้เขาอาจจะต้องเห็นในสิ่งที่เราไม่อยากให้เห็น และเขาเองก็อาจจะไม่ได้อยากรับรู้เช่นกัน

ถึงอย่างนั้น ความ Humaning อาจมีความหมายอีกอย่าง คือความคาดหวังที่เราอยากจะทำให้ใครสักคน ไม่ว่าชีวิตจะเป็นตายร้ายดีอย่างไร บางวันก็นั่งทำงานจนดึกดื่น หรืออีกวันก็นั่งกินโซดาเหลืองจนฟ้าสาง เราอาจยังคงคาดหวังที่จะเป็นความภาคภูมิใจให้ใครสักคน เหมือนอย่างที่ธนาภพได้สัญญากับแม่ไว้ในลมหายใจสุดท้าย

หรือแท้จริงความ Humaning อาจไม่ได้สวยงาม เต็มไปด้วยชีวิตชีวาและความสำเร็จเหมือนภาพฝันที่เคยวาดไว้ และไม่ได้ต่างไปจากผลไม้ที่เจ้าที่ ณ ศาลใหญ่ริมถนนอยากได้แต่ไม่มีวันสื่อไปถึงสักที

You humaning me every saturday night

“หู้ววววว ไม่ประมาณนี้แล้วนาาา สุดยอดเลยนะที่เรียบเรียงออกมาได้ดีขนาดนี้”

คำพูดติดปากของพี่แจ็ค The Ghost ที่น่าจะเป็นคำอธิบายว่าเรื่องนี้หลอนสิบกะโหลกแค่ไหนเมื่อผู้เล่าทิ้งท้ายด้วยคำพูดว่า ‘เรื่องราวของผมก็มีประมาณนี้แหละครับพี่แจ็ค’

การเล่าเรื่องผีตามรายการในปัจจุบันมักไม่ค่อยจะมีใครมาจับผิดว่า นี่ผีจริงหรือผีปลอม หลังจากที่ผมฟังย้อนหลังและฟังสดหลายค่ำคืน พบว่าเรื่องผีที่เขาว่าหลอน ว่าน่ากลัว ว่าสมจริง ไม่สามารถพิสูจน์ใด ๆ ได้จากคลิประยะเวลา 50-60 นาที

แต่เรื่องที่ได้ยอดวิวเกิน 1 ล้านวิวทุกคลิป ล้วนมีจุดร่วมเดียวกัน คือมีการเรียบเรียงที่ดี และเป็นสาเหตุหลักที่ผมยังยอมเอาผ้าห่มปิดเท้าให้มิดชิดหลังฟังรายการจบในช่วงสุดสัปดาห์

ภายใต้เรื่องความเซอร์เรียลของหนังสือครึ่งผี-ครึ่งคน ที่อ่านจบภายในวันเดียว การเป็นผีในยุคปัจจุบันไม่ได้ลอยตัวอยู่เหนือปัญหา แต่ความเป็นผีแบบไทย ๆ ยังเชื่อมโยงกับปัญหาของผู้คนไม่ว่ายุคสมัยไหน อาจกล่าวได้ว่าเรื่องผีคือเรื่องสะท้อนสังคมในแง่มุมหนึ่งก็ว่าได้

เพราะไม่ว่าเรื่องผีจะมีความลี้ลับสักแค่ไหน ความไม่เมคเซนส์ของความเชื่อ ชุดความคิด สิ่งที่น่าสนใจที่สุดสำหรับการนั่งฟังเรื่องผีและอ่านหนังสือเล่มนี้ คือการที่เราเห็นภาพของโลกคนเป็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และหลายครั้งมันน่ากลัวกว่าโลกความตายเสียอีก

อีกหลากหลายเรื่องราวครึ่งผีครึ่งคนที่สิ่งที่คิดกับสิ่งที่เป็นจริงนั้นกลับ plot twist ชนิดที่ว่าคนดูหลังหักกันเป็นแถบ ทั้งการปล่อยปลาเพราะคิดว่าทำบุญแต่ความเป็นจริงคือการทำลายระบบนิเวศอย่างรุนแรงความปวดหัวของเจ้าแม่ตานีและพระแม่ลักษมีเพราะการสับรางของไอ้หนุ่มที่ลูกช้างสาว 2 คนมาบนบาน ในการทับซ้อนโลกความเป็น-ความตาย ภายใต้ความชวนหัวเหล่านี้เราเห็นจุดเล็ก ๆ ที่เชื่อมโยงความเป็นไปของสังคม และตั้งคำถามถึงสิ่งที่เป็นอยู่ 

ในตัวอักษรของหนังสือเล่มนี้อาจพาเราไปเห็นแค่ชุดความเชื่อเรื่องผี ๆ
แต่น่าสนใจที่หนังสือเล่มนี้ยังกระตุกต่อมความสงสัยให้ผมตั้งคำถามถึง ความเชื่อ เดิม ๆ ในภาพใหญ่ของสังคมอีกด้วย ว่าเรื่องที่เราเคยได้ยิน ได้เรียน ได้เห็น แท้จริงแล้วมีความจริงอยู่มากน้อยสักเท่าใด

และความจริงที่ถูกปลูกฝังส่งต่อกันมา ก็ทำให้ผมนึกถึงความเซอร์เรียลของเรื่องเล่าต่อไปนี้ที่ผมยังแทบไม่อยากจะเชื่อสายตาตัวเอง … 

“ต้นฝนในปลายเดือนพฤษภา คืนวันนั้นเป็นวันที่ฝนตกหนัก ผมยืนรอที่ริมศาลาเพื่อรอรถเมล์พอ ๆ กับรอฝนซา เพราะต่อให้ขึ้นรถเมล์เพื่อหลบฝนและเดินทางกลับบ้านสำเร็จแล้ว ผมยังต้องเผชิญกับน้ำท่วมในซอยเข้าบ้าน ซึ่งผมไม่อยากให้ air jordan panda ที่พึ่งเก็บเงินครึ่งปีต้องพังไปเสียดื้อ ๆ จากระบบการจัดการน้ำในเมืองกรุงที่แก้ไม่หายสักทีและสภาพภูมิอากาศโลกร้อนจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่คอยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลก”

“ระหว่างที่ผมรออยู่นั้น ผมไถฟีดสำหรับการเลือกตั้งสว. หลังจากสมาชิกวุฒิสภาชุดที่ผ่านมา ปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่เป็นประชาธิปไตยจากการเข้ามาอย่างไม่เป็นประชาธิปไตย แม้ผมจะไม่ได้เลือกแต่อย่างน้อยการรออย่างมีความหวัง และการช่วยแชร์บนฟีดข่าวจะช่วยให้เพื่อน ๆ ได้เห็นความหวังทางการเมืองในบ้านเราบ้าง”

“แต่ทันใดนั้นเอง … ”

“กลางฝนพรำและเสียงฟ้าร้อง ผมหันไปสบตากับคุณลุงที่มายืนข้าง ๆ อย่างไม่ทันตั้งตัว จู่ ๆ ไฟริมทางก็เสีย แม้ชัชชาติจะประกาศนโยบายไฟสว่างทั่วกทม. ผมทนใจกล้า แต่แข้งขานิ่งราวกับหิน คุณลุงหยิบบุหรี่ขึ้นมาจุดแต่ผมกลับไปกลิ่นแต่ควันธูป ก่อนผมจะขัดความกลัวนี้ด้วยการต่อบทสนทนาในความสลัวของไฟริมทาง”

“เวลาผ่านไปเพียง 15 นาที แต่ยาวนานราวกับ 1 ชั่วโมง ผมชวนแกคุยด้วยการให้แกไปลงสมัครเลือกตั้งสว. เนื่องจากเห็นว่าแกอายุเกิน 40 ปีเป็นแน่ และพยายามแนะนำว่าสามารถสมัครได้ทางเว็บไซต์นี้ ต้องไปอย่างนี้ และบอกสาเหตุว่าทำไมเราถึงต้องเลือกตั้งแบบซับซ้อนอะไรเช่นนี้”

“ลุงแกเงียบ ไม่แม้แต่จะปล่อยลมหายใจ เพียงไม่นานรถเมล์สาย 510 ก็ใกล้มาถึงป้าย ผมใจจดใจจ่อ ภาวนาให้รถมาถึงเสียที”

ลุงแกเอ่ยปาก ถามว่า ‘ไอ้หนู ตอนนี้ใครเป็นนายกแล้วนะ’

“ผมถอนหายใจโล่งอก แล้วได้เล่าถึงสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันหลังเลือกตั้งเมื่อปี 2566 ที่แม้เราจะไม่ได้รัฐบาลจากรัฐประหารแล้ว แต่สถานการณ์การเมืองยังคงร้อนแรงและเอาแน่นอนได้ยาก”
“รถใกล้ป้ายเข้ามา ลุงเขยิบเข้ามาใกล้ผมอีกครั้ง ผมก้มหน้าดูเชือกรองเท้าให้พร้อมก่อนจะขึ้นรถ ทว่า ผมไม่เห็นเท้าคุณลุง เห็นแต่เพียงเงาจาง ๆ และทันใดนั้นลุงก็เอ่ยขึ้นมาว่า! ”

“โถ่เอ้ย กูตายไปตั้ง 4 รอบ ประเทศนี้แม่งก็ยังไม่เป็นประชาธิปไตยอีกหรือวะ!”

กลิ่นควันธูปหายไปพร้อมร่างของคุณลุง รถเมล์มาถึงแล้ว เหลือแต่หยดฝนที่เจิ่งนองตรงเป้ากางเกงของผม เมื่อผมไม่รู้ว่าผมควรจะกลัวผีที่เจอในคืนฝนตกวันนั้น หรือผมควรจะกลัวว่า คนที่ตายไปแล้วตั้ง 4 รอบ แต่ประชาธิปไตยในสังคมไทยกลับยังไม่เต็มใบเสียที

ประสบการณ์น่าขนลุกของผมก็มีประมาณนี้แหละครับ

Playread: you ghost me every saturday night
ผู้เขียน: ธนชาติ ศิริภัทราชัย
สำนักพิมพ์: Salmon Books

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี