'ผู้หญิงโลกที่สาม' ในขบวนสตรีนิยมโลกที่หนึ่ง - Decode
Reading Time: 3 minutes

สตรีนิยมก็เคยอยู่ในการล่าอาณานิคมของตะวันตก

หาใช่เรื่องของเขตแดน หากแต่เป็นอาณานิคมทางความคิด
ที่ครอบงำวิธีคิดเกี่ยวกับสตรี โดยเฉพาะสตรีในประเทศโลกที่สาม

อาณานิคมดังกล่าวกลายเป็นการผลิตซ้ำ ‘ความเป็นเหยื่อ’ ของสตรี
ขณะเดียวกันก็ลดทอนเงื่อนไขที่ทำให้เป็นเหยื่อ กระทั่งการต่อต้านทุนนิยมปิตาธิปไตย

“การที่เราทำเรื่องยากๆ (การต่อต้านเมกะโปรเจกต์ในอ.จะนะ จ.สงขลา)
ในแต่ละวันได้เนี่ย พวกเราก็ไม่ธรรมดาเหมือนกันนะ” 

 หนึ่งในบทสนทนาที่เกิดขึ้น ณ วงล้อมรอบกองไฟยามค่ำคืนที่อ.จะนะ จ.สงขลา

บทสนทนาและคืนรอบกองไฟนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางสายลมแห่งการพัฒนาที่พัดเอาโครงการพัฒนาขนาดใหญ่หรือเมกะโปรเจกต์ เข้ามาแทนที่ท้องทะเลแห่งจะนะที่เปรียบเสมือนจิตวิญญาณของผู้คนชาวจะนะและเป็นแหล่งแห่งวิถีชีวิต วัฒนธรรม กระทั่งอาหารและทรัพยากรที่ไม่ว่าจะมนุษย์คนใดก็ไม่สามารถสร้างมันขึ้นมาได้

ภาพทะเลไกลสุดลุกหูลุกตาของอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา พันธุ์ปลากว่า 50 สายพันธุ์จากปากคำของคนในพื้นที่ก็พอจะบอกเราได้ว่าพื้นที่แห่งนี้รุ่มรวยและมีความหลากหลายทางชีวภาพมากเพียงใด แหล่งเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของชาวจะนะตั้งแต่ต้นยันปลายน้ำ

ทว่าด้วยความรุ่มรวยนี้เอง อำเภอจะนะได้กลายเป็นเป้าหมายสำคัญของเหล่ากลุ่มทุน

ในปี 2541 แผนโครงการท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซียและอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ลงนามโดยนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีและ และ ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียในขณะนั้น ได้ร่อนลงสู่หน้าบ้านของชาวจะนะ โดยที่พวกเขาไม่ทราบมาก่อนเลยว่าทะเลที่เป็นจิตวิญญาณของพวกเขาจะถูกแทนที่ด้วยโรงงานแสนน่าเกลียด

“เราเคยไปเห็นที่ระยองแล้ว ไม่อยากให้มาที่บ้านเราเลย” หญิงสาวสวมฮิญาบนุ่งผ้าถุงคนหนึ่งเอ่ยขึ้น

ชาวจะนะหรือสะกอม ผู้เป็นคนใช้ทะเล คนหากินกับทะเล และคนปกปักษ์รักษาจิตวิญญาณแห่งพื้นที่ จึงมุ่งมาเมืองหลวงเพื่อส่งเสียงต่อต้าน และไม่ว่าผู้คนเหล่านั้นจะเป็นคนหนุ่มสาว วัยกลางคน หรือแก่เฒ่า เสียงเหล่านั้นก็ดังสนั่นหน้าทำเนียบ จนกลายเป็นการจับกุมคนจะนะกว่า 37 คนในฐานฝ่าฝืนพรก.ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล และ 31 ผู้ถูกจับกุมนั้นเป็น ผู้หญิง

นอกจากความพยายามที่จะรักษาจิตวิญญาณแห่งจะนะและความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ อีกหนึ่งข้อกังขาที่ยังคงไม่ได้รับคำตอบ คือโครงการขนาดใหญ่จะสร้างอาชีพให้คนในพื้นที่จริงหรือ? ในเมื่อตลอดชายหาดของจะนะนั้นพรั่งพรูไปด้วยมูลค่าทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว 

หรือในอีกนัยหนึ่ง หากโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจริง เท่ากับมูลค่าของหญิงสาวชาวจะนะ
มีเพียงแค่การเป็นหญิงสาวหน้าดำคร่ำเครียดในโรงงาน และไม่สมควรที่จะเป็นเจ้าของทรัพยากรหรอกหรือ?

แม้จะมีคำสั่งชะลอโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่จะนะ ทว่าเสียงเครื่องจักรใหญ่ยังคงเดินเครื่อง และการต่อสู้ยังไม่เคยจบลง หญิงสาวชาวจะนะในบทบาทผู้นำทางการต่อสู้จึงจัดตั้งกลุ่มในชื่อ ‘นักรบผ้าถุง’ กลุ่มนักรบที่ใช้ความเชื่อเป็นดาบและใช้อาหารเป็นโล่ นั่งอยู่ในผ้าถุงเพื่อต่อสู้กับปีศาจร้ายในมาดของโครงการพัฒนาที่จะมารุกรานความสงบสุขของผู้คนชาวจะนะ

ซึ่งหากมองตามที่ จันทรา ทัลเภท โมฮันตี เขียนไว้ใน Under Western Eyes : Feminist Scholarship and Colonial Discourses” in Third World Feminism and Politics in the Third World. หรือ “ผู้หญิงโลกที่สาม” สตรีนิยมตะวันตก วาทกรรมอาณานิคมนิยม ที่เชื่อว่าเราต้องวิพากษ์ปฏิบัติการของสตรีนิยมตะวันตกที่มีลักษณะครอบงำความคิด และวิเคราะห์รากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเฉพาะแต่ละพื้นที่ (และปลอดจากการครอบงำของสตรีนิยมตะวันตก)

“หากเราไม่พิจารณาทั้งสองอย่างนี้ สตรีนิยมโลกที่สามย่อมตกอยู่ในชายขอบ
และมุมอับของวาทกรรมสตรีนิยมตะวันตกและวาทกรรมกระแสหลัก” จันทราตั้งข้อเสนอ

ครอบงำอย่างไรล่ะ? จันทราอธิบายว่า งานวิชาการสตรีนิยมตะวันตกที่ว่าด้วยสตรีในประเทศโลกที่สาม เป็นงานวิชาการที่ใช้ ‘ความเป็นชาติพันธุ์’ เป็นศูนย์กลางในการสร้างความเป็นสากลของสตรีในประเทศโลกที่สาม เป็นการจัดการความหลากหลายของประวัติศาสตร์สตรีในระดับชีวิตประจำวัน บทบาทการต่อสู้ หรือกระทั่งวาทกรรมที่มีต่อสตรีในโลกที่สาม

อย่างเช่นในกรณีของ จูเลียต มินซ์ นักสังคมวิทยาการเมืองและนักเขียนชาวฝรั่งเศส ที่อ้างว่า สถาบันปิตาธิปไตยเป็นที่มาของ ‘ทัศนคติต่อผู้หญิงที่เหมือนกัน’ ในสังคมอาหรับและสังคมมุสลิม

จันทรามองว่า ข้อเสนอของมินซ์มีปัญหาอยู่ 2 ระดับ (หนึ่ง) ทัศนคติของผู้หญิงในสังคมอาหรับและสังคมมุสลิมควรพูดถึงโครงสร้างอำนาจที่มีลักษณะแตกต่างกันไป ตามประวัติศาสตร์และอุดมการณ์ที่สร้างขึ้นในบริบทนั้น ๆ (สอง) ครอบครัวในโครงสร้างปิตาธิปไตยไม่ได้เป็นตัวกำหนดสถานะทางเศรษฐกิจ และการถูกกดขี่ข่มเหงของหญิงสาวอาหรับและมุสลิมเสมอไป

อย่างในกรณีของภาพยนตร์นักรบผ้าถุง ที่ลักษณะการพึ่งพากันระหว่างผู้หญิงและผู้ชายได้ขยับไปอีกก้าว กล่าวคือการออกเรือของผู้ชายในพื้นที่จะนะ ไม่ได้หมายความผู้ชายที่เป็นผู้เสาะหาทรัพยากร จะกลายเป็นเจ้าของทรัพยากรโดยปริยาย และ ‘บ้าน’ ที่เป็นพื้นที่ทำกินของผู้หญิงก็หาใช่พื้นที่แห่งการกดขี่และกีดกันผู้หญิงออกจากสาธารณะเสมอไป

การกำหนดความหมายและการสร้างความเป็นสากลให้กับสตรีโลกที่สามที่มีความหลากหลายทางประวัติศาสตร์ คือการครอบงำทางความคิดและทำให้สตรีโลกที่สามเป็นอาณานิคมของสตรีนิยมตะวันตก ซึ่งเธอมองว่า การใช้ชาติพันธุ์เป็นศูนย์กลางทางความคิดนี้จะนำไปสู่การสร้างความเข้าใจแบบเหมารวมต่อสตรีในโลกที่สาม และแปรเปลี่ยนไปเป็นสิ่งที่กดขี่สตรีโลกที่สามให้กลายเป็นเหยื่ออยู่เรื่อยไป

“สตรีนิยมตะวันตกยึดเอาความซับซ้อนที่เป็นองค์ประกอบหลักในชีวิตของผู้หญิงในประเทศ เหล่านี้เป็นพื้นที่ครอบครอง และกำหนดให้เป็นอาณานิคมของตน กระบวนการเหล่านี้ล้วนเป็นกระบวนการที่เหมารวมความหมายของผู้หญิงโลกที่สามและกดขี่พวกเธอ” จันทราอธิบาย

เรื่องราวของนักรบผ้าถุงดำเนินเรื่องราวผ่านเครื่องฉายภาพยนตร์ไปอย่างเนิบช้า ตัดสลับกับภาพการหั่นปลาแบ่งส่วนขาย การละหมาด และการเคลื่อนไหวอย่างสันติวิธี เสียงบรรยายและอธิบายพันธุ์ปลาแหวกว่ายอยู่ในท้องทะเลของจะนะก็ดังขึ้นอยู่เนือง ๆ

ท่ามกลางบทสนทนาของหญิงสาวก็ชวนผู้เขียนตกตะกอนว่า ถ้าเป็นสภาพแวดล้อมที่ผู้เขียนเติบโตขึ้นมา เหล่าชายฉกรรจ์ต่างหากที่จะต้องเป็นเจ้าของคำอธิบายพันธุ์ปลาเหล่านี้ ขณะเดียวกันก็ต้องเป็นคนที่คอยควบคุมสถานะทางการเงินและเส้นทางการค้าของครอบครัว เช่นเดียวกับแวดล้อมสังคมอื่น ๆ ที่มักถูกผู้ชายตัวใหญ่คอยกุมมือและบงการ

จากที่ผู้เขียนทราบทั้งจากในภาพยนตร์และบทสนทนาระหว่างผู้เขียนและกลุ่มเพื่อนที่มาดูด้วยกัน เหตุผลง่าย ๆ ที่ผู้หญิงกลายมาเป็นเจ้าของและคอยจัดการทรัพยากรหลักในพื้นที่ นั่นก็เพราะว่าเหล่าผู้ชายนั้นมีหน้าที่ที่จะต้องออกเรือหาปลาและไม่มีเวลาอยู่บนบกมากนัก หน้าที่ในการบริหารสิ่งต่าง ๆ บนบกจึงตกเป็นของผู้หญิงไปโดยปริยาย ซึ่งหมายรวมถึงขบวนการต่อสู้กับภาครัฐด้วย

บนหน้าหนังไม่ได้อธิบายในประเด็นนี้เท่าใดนัก และผู้เขียนก็หาได้ติดใจอะไรกับบริบทที่เกิดขึ้นตรงหน้านั้น ทว่าผู้เขียนได้นึกย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่อ่านระเบียบวาทกรรมของมิเชล ฟูโกต์ มีบทหนึ่งที่ว่าด้วยเรื่องของการต้องกลายเป็นเหยื่อของเหยื่อ เพื่อที่จะมีอำนาจในการกระทำการบางอย่าง

จันทรายกข้อเสนอของ เอลิซาเบธ โควี่ นักวิชาการด้านสตรีนิยมชาวอเมริกันที่ว่า ระบบครอบครัวและเครือญาติต่างๆ โดยเนื้อแท้เป็นเรื่องของอำนาจ โดยอุดมการณ์หนึ่งกำหนดให้ผู้ชายเป็นพ่อและสามี และผู้หญิงเป็นภรรยา แม่ น้องสาว ฉะนั้นผู้หญิงจึงอยู่ในฐานะที่ไม่ได้ถูกวางไว้ในครอบครัว ทว่าเป็นระบบครอบครัว และเครือญาติต่างหากที่ประกอบสร้างผู้หญิงในฐานะผู้หญิงขึ้นมา

ทว่า หากใช้ภาพยนตร์เรื่องนักรบผ้าถุงในการวิเคราะห์ก็จะเห็นการประกอบสร้างสถานะของผู้หญิงอยู่ลาง ๆ ทว่าเหล่านักรบผ้าถุงในภาพยนตร์ไม่ได้มองว่า การต้องรับปลาจากพ่อที่ออกเรือ หั่นปลา หรือขายปลาตามบ้านเป็นอำนาจที่กดทับพวกเธอ หนำซ้ำยังเป็นจิตวิญญาณที่ก่อร่างขึ้นในเนื้อกายของเธออย่างเหนียวแน่นและเป็นหนึ่งเดียวกัน

กระทั่ง บทสัมภาษณ์ที่ชวนพวกเธอย้อนกลับไปถึงช่วงเวลาที่เดินทางเข้าเมืองหลวง เพื่อส่งเสียงต่อต้านโครงการขนาดใหญ่จนชาวจะนะหลายคนทั้งหญิงและชายถูกจับกุม เหล่านักรบผ้าถุงพูดถึงเหตุการณ์ดังกล่าวในทำนองว่า “เราเป็นผู้หญิง เราเป็นแม่ รัฐใช้ความรุนแรงกับพวกเธอทำไม”

สำหรับผู้เขียน ลักษณะดังกล่าวก็คล้ายกับที่ฟูโกต์และโควี่ให้ข้อสังเกตว่า เป็นการยอมเป็นเหยื่อของผู้ด้อยกว่าอำนาจเพื่อที่จะกระทำการบางอย่างนั่นเอง

จากที่ผู้เขียนได้รับจากภาพยนตร์เรื่องนักรบผ้าถุง ผู้หญิง ครอบครัว อุดมการณ์ทางศาสนา เป็นสิ่งที่ขัดแย้งแต่สอดรับกัน โดยเฉพาะในศาสนาอิสลามที่ผู้เขียนคิดว่าการใช้วิธีการมองแบบสตรีนิยมตะวันตก จะลดทอนบทบาทที่สำคัญของผู้หญิงที่มีศาสนาอิสลามเป็นแหล่งยึดเหนี่ยวที่สำคัญที่สุด

จันทรา ยกงานของ แพทริเซีย เจฟฟรีย์ ที่เคยเขียนงานศึกษาที่เกี่ยวกับผู้หญิงเพอซาดา กลุ่มผู้ดูแลสุสานและศาลเจ้า Sufi ในดินแดนมุสลิม โดยมีตัวตนอยู่ทั้งในประเทศตุรกี อิหร่าน อัฟกานิสถาน บังกลาเทศ อินเดีย แคชเมียร์ แน่นอนว่าผู้หญิงเพอซาดาไม่อาจเปรียบเทียบโดยตรงกับผู้หญิงจะนะ แต่ผู้เขียนจะขอหยิบยกแนวคิดที่เจฟฟรีย์อธิบาย

เจฟฟรีย์ อธิบายว่าอุดมการณ์ของอิสลามให้ความชอบธรรมกับธรรมเนียมปฏิบัติทั้งหลาย เช่น ธรรมเนียมที่ผู้หญิงจะต้องสงวนตนเองออกจากพื้นที่สาธารณะ (Purdah) โดยการปกปิดใบหน้า ร่างกาย หรือการอยู่ในส่วนของบ้านที่กำหนดให้เป็นพื้นที่ของผู้หญิง ซึ่งการที่ระบบจัดการหญิงชายเหล่านี้มีเสถียรภาพได้ในสังคมมุสลิม ก็เพราะผู้หญิงมุสลิมใช้อุดมการณ์เหล่านี้เป็นแนวทางในการดำรงชีวิต (เจฟฟรีย์อธิบายว่า ผู้หญิงเพอซาดาลดทอนอุดมการณ์ลงไปเป็นชุดความคิด)

ซึ่งสำหรับผู้หญิงพาซาดาแล้ว ธรรมเนียมการสงวนผู้หญิงออกจากพื้นที่สาธารณะนั้น มักถูกอธิบายในบริบทที่ผู้ชายพาซาดามีอำนาจและเป็นเจ้าของทรัพยากรทางเศรษฐกิจ จนในที่สุดธรรมเนียมเหล่านี้ก็กลายเป็นปัจจัยที่สร้างความมั่นคงปลอดภัย(ส่วนบุคคล)ให้กับผู้หญิงชาวเพอซาดา

ฉะนั้น หากมองกลับมาที่หญิงสาวมุสลิมชาวจะนะ การสงวนตนเองออกจากพื้นที่สาธารณะ เช่น การปกปิดใบหน้าและร่างกายยังคงดำรงอยู่ในอุดมการณ์ทางศาสนา ทว่าเส้นแบ่งพื้นที่ของความเป็นหญิงชายกลับพร่าเลือนลง และการเป็นเจ้าของทรัพยากรโดยผู้หญิงเอง ก็ได้สร้างความปลอดภัยให้กับพวกเธออีกทางหนึ่งเช่นเดียวกัน

ความเป็นเอกภาพของหญิงชายในจะนะเหนียวแน่นเสียจนความกลัว และความปลอดภัยของหญิง สาวจะนะตกไปอยู่บนเส้นทางการพัฒนาของคนเมืองหลวงที่ไม่นับรวมพวกเธอ สามี และลูกเข้าไปมากกว่า

ฉะนั้นผู้เขียนคิดว่า อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีผลอย่างยิ่งในการมองสตรีนิยมในโลกที่สาม คือ โครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่มักเกิดขึ้นในพื้นที่ทางเศรษฐกิจ เช่น พื้นที่ติดชายทะเล ชายแดน กระทั่งเขื่อนนั่นเอง

ผู้หญิงกับกระบวนการพัฒนา จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ควรมองเมื่อพูดถึงเรื่องสตรีนิยมในโลกที่สาม เพราะหลายครั้งพวกเธอคือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทั้งเชิงบวกและลบจากการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด

แต่อย่างไรก็ดี จันทราอธิบายว่าการอธิบายผู้หญิงกับกระบวนการพัฒนาก็มักติดหล่มการอธิบายแบบสตรีนิยมตะวันตก เช่น ผู้หญิงโลกที่สามทุกคนล้วนมีปัญหา และความจำเป็นในชีวิตที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งผู้หญิงเหล่านั้นก็จะสามารถจัดตั้ง รวมกลุ่ม หรือร่วมกันขับเคลื่อนด้วยกันได้

ทว่าจันทรามองว่า แนวคิดดังกล่าวเป็นแนวคิดที่ตายตัวเกี่ยวกับความแตกต่างทางเพศ ผู้ชายเอารัดเอาเปรียบผู้หญิง ผู้หญิงถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ชาย ชุดความคิดเหล่านี้ล้วนเป็นการสร้างสมการแบบลวก ๆ ลดทอนประวัติศาสตร์ และทำได้เพียงการตอกย้ำการแบ่งขั้วแบ่งข้างระหว่างชายและหญิง

จันทรายกงานของ มาเรีย มิส หญิงสาวชาวเยอรมันผู้เป็นทั้งอาจารย์และนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรี ที่ศึกษาหญิงสาวผู้ทำลูกไม้ในเมืองนาร์ซาปุระ ประเทศอินเดีย โดยมาเรียวิเคราะห์ว่า “แม่บ้าน” เป็นผู้ผลิตคนสำคัญในอุตสาหกรรมลูกไม้เพื่อส่งขายในตลาดโลก โดยผลการวิเคราะห์คือแม้ว่าลูกไม้จะเป็นผลิตภัณฑ์ระดับโลก แต่การทำลูกไม้ของแม่บ้านยังคงถูกมองว่าเป็น ‘กิจกรรมยามว่าง’

ขณะเดียวกัน ในระบบการผลิตที่มีอุดมการณ์ความเป็นแม่เรือนขับเคลื่อน การกำหนดให้ผู้หญิงอยู่บ้านและกดขี่ขูดรีดแรงงานเป็นองค์ประกอบทางสังคม และเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญต่อการสร้างและดำรงไว้ ซึ่งระบบการผลิตดังกล่าว ล้วนผลิตซ้ำให้ผู้หญิงยากจนยิ่งกว่าเดิม

“องค์กรที่ก่อตัวขึ้นมาจากการนิยามว่า ผู้ผลิตลูกไม้ในฐานะที่เป็นแม่บ้านที่ไม่ทำงาน ทั้งในระดับครอบครัว ท้องถิ่น ภูมิภาค รัฐ และนานาชาติ ทำให้เห้นว่าผู้หญิงกลุ่มนี้ยืนอยู่ที่ศูนย์กลางของตลาดโลกที่กดขี่ ขูดรีด และครอบงำความคิดอย่างแยบยล” มาเรียอธิบาย

ช่วงเวลายามเย็นของจะนะ เหล่านักรบผ้าถุงได้ล้อมวงคุยกันถึงเส้นทางการต่อสู้ที่ผ่านมา บทสนทนาทั้งหมดไม่ใช่เรื่องของแนวทางการต่อสู้ครั้งถัดไป หรือเสียงก่นด่าต่อรัฐและทุนที่จะเข้ามารุกรานถิ่นที่อยู่และทำกินของพวกเธอ

ทว่าเป็นบทสนทนาที่ว่าด้วยการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน บางคนต่อสู้มานานจนขอเพียงแค่สักคืนที่จะได้พัก บางคนเห็นเหล่าเพื่อน พี่ น้องต่อสู้จนขอเข้ามาร่วมต่อสู้ด้วยอีกแรงหนึ่ง กระทั่งเสียงเปรยถามว่า “อาจารย์แก๊สเหนื่อยบ้างไหม ที่เข้ามาร่วมช่วยเหลือและต่อสู้กับพวกเรา” พร้อมเสียงตอบสั่น ๆ ของอาจารย์แก๊สว่า “การที่เราทำเรื่องยาก ๆ ในแต่ละวันได้เนี่ย พวกเราก็ไม่ธรรมดาเหมือนกันนะ” 

อาจารย์แก๊ส หรือ ศุภวรรณ ชนะสงคราม ศิษย์เก่าคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และนักพัฒนาอิสระ เธอเข้ามามีส่วนร่วมกับภาคประชาชนในพื้นที่อำเภอจะนะ ในการเรียกร้องให้ภาครัฐรักษาทรัพยากรสัตว์ในทะเลจะนะ มากกว่าการแทนที่พื้นที่ดังกล่าวด้วยโครงการท่อส่งก๊าซ โรงแยกก๊าซธรรมชาติ และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

แม้อาจารย์จะไม่ได้นุ่งผ้าถุง แต่จิตวิญญาณของเธอก็เป็นนักรบเช่นเดียวกัน โดยที่ดาบของเธอ คือข้อมูลในระดับพื้นที่ และมีโล่เป็น ‘อาหารปันรัก’ โครงการที่จะส่งอาหารทะเลสดจากทะเลจะนะตรงถึงมือผู้บริโภค เพื่อที่จะบอกให้ผู้บริโภค สังคม รัฐ และกลุ่มทุนเห็นว่าทะเลจะนะสำคัญเพียงใด

ปลายดาบที่ไร้คมเหล่านี้ ก็ยิ่งสะท้อนก้องอย่างชัดเจนว่า พวกเธอสู้ด้วยจิตวิญญานจริง ๆ 

ขณะนี้เรายังไม่เห็นปลายทางระหว่างโครงการพัฒนากับเหล่านักรบผ้าถุงอย่างชัดเจนนัก ทว่าสิ่งที่ชัดเจนที่สุดขณะนี้ คือสายตาของรัฐที่มองทะเลจะนะเป็นเพียงแค่ฐานวางเมกะโปรเจกต์ และหากมองจากท่าทีของรัฐและทุน พวกเขาก็น่าจะติดหล่มของการมองว่าเดี๋ยวพวกเธอก็คงได้รับการเยียวยาเช่นเดียวกันทุกคน

ขณะเดียวกัน ผู้เขียนคิดว่าเราไม่สามารถอธิบายได้อย่างเต็มปากว่าผู้หญิงชาวจะนะถูกกดขี่จากการครอบงำของสตรีนิยมตะวันตก แต่สิ่งที่เหล่านักรบผ้าถุงต้องประสบอย่างแน่นอน ก็คือรัฐที่มองว่าพวกเธอไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพยากรและต้องถูกควบคุม ซึ่งสำหรับผู้เขียนแล้ว สายตาแบบนี้หาได้ต่างจากการถูกครอบงำทางความคิดของสตรีนิยมตะวันตกเลย 

เช่นเดียวกับปากคำของเหล่านักรบผ้าถุงว่า “เขาบอกว่าถ้ามีโครงการพวกนี้ เดี๋ยวก็จะมีงานให้ทำ” ทว่าการต่อสู้ของพวกเธอในฐานะสตรีโลกที่สามนั้นล้ำลึกกว่านั้น แม้ทุกก้าวเดินของพวกเธอจะไม่ได้ ว่าด้วยเรื่องความเสมอภาคทางเพศโดยตรง ที่สิ่งที่ดังก้องที่สุดก็คือ พวกเธอจะไม่ใช่เหยื่ออีกต่อไป

ขณะเดียวกันปากคำของเหล่าสตรีนิยมแบบต่างๆ ก็ถูกเล่าบนหนังสือ Under Western Eyes : Feminist Scholarship and Colonial Discourses” in Third World Feminism and Politics in the Third World. หรือ “ผู้หญิงโลกที่สาม” สตรีนิยมตะวันตก วาทกรรมอาณานิคมนิยม โดย จันทรา ทัลเภท โมฮันตี เป็นหนึ่งในงานวิจัยที่ถูกรวบรวมไว้ในหนังสือ ชื่อว่า เพศภาวะ การท้าทายร่าง การค้นหาตัวเอง ที่จัดพิมพ์โดยศูนย์สตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ซึ่งภายในหนังสือเล่มนี้ยังรวบรวมงานวิจัยเกี่ยวกับสตรีนิยมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกมากมาย อาทิ พุทธศาสนา การทำบุญ และเพศภาวะ : การช่วงชิงความหลุดพ้นในประเทศลาว โดย มยุรี เหง้าสีวัฒน์, ปาฏิหาริย์เศรษฐกิจไทยที่สร้างอยู่บนหลังไหล่ของผู้หญิง โดย ปีเตอร์ เอฟ เบลล์ หรือ การสร้างเพศภาวะของตัวตนแบบชาตินิยมและหลังชาตินิยมในประเทศไทย ช่วงคริสต์ศตวรรษ ที่ 20 โดย เครก เจ เรโนลดส์

แม้หนังสือเล่มนี้จะถูกขีดเขียนขึ้นตั้งแต่ 2547 และผู้เขียนเองก็เกรงว่าข้อมูลมันอาจจะเก่าไปสักหน่อย หากนำมาเรียบเรียงและเผยแพร่ในช่วงเวลาปัจจบุัน ทว่าตลกร้าย ข้อมูลเหล่านี้กลับไม่ได้เก่าเลยสักนิด และหากมองไปยังหญิงสาวในภาคเกษตรกรรมหรืออุตสาหกรรม พวกเธอก็ยังคงถูกกดขี่อยู่เช่นเดิม