ข้าวโพดนายทุน ฝุ่นข้ามแดนในภาวะสงครามเมียนมา - Decode
Reading Time: 4 minutes

เขียน – NANG SU THIRI WIN / Thanet Saengthongsrikamol
สัมภาษณ์ – NANG SU THIRI WIN / TIN MAUNG HTWE / PYAE SONE AUNG

พื้นที่รัฐฉาน, เมียนมา ต้องประสบกับข้อครหาว่าเป็นแหล่งกำเนิดของฝุ่นควันข้ามพรมแดน ที่ต้นทางมลพิษมาจากการลงทุนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ต่างๆ ของกลุ่มทุนไทยข้ามแดน

แม้ว่าเกษตรกรจะเข้าใจดีว่า การเผาเศษซากทางการเกษตรนั้นไม่ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่หลังการรัฐประหารทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างเลี่ยงไม่ได้

ภาวะเงินเฟ้อ สินค้าโภคภัณฑ์ราคาสูง การเสื่อมถอยของสถาบันทางสังคมในทุกภาคส่วน เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกษตรกรยังคงต้องเผา เพราะมันเป็นทางเลือกเดียวที่เป็นไปได้ในช่วงเวลานี้

เกษตรกรหลายคนในพื้นที่รัฐฉานพูดในลักษณะคล้ายกันว่า หลังการรัฐประหารของกองทัพเมียนมา บรรยากาศของสังคมเริ่มตึงเครียด การปกครองเริ่มระส่ำระส่าย และเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง อาทิ อัตราเงินเฟ้อ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขยับตัวสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้ น้ำมัน กระทั่งปุ๋ยและวัสดุทางการเกษตร ซึ่งสวนทางกับราคาผลผลิตที่บรรดาเกษตรกรได้รับ

นั่นเป็นเหตุผลหลักสำคัญที่ทำให้เกษตรกรเลือกกำจัดเศษซากวัสดุทางการเกษตรด้วย ‘การเผา’

แม้พวกเขาจะรู้ว่าการเผาทางการเกษตรจะเป็นพิษต่อร่างกายและสิ่งแวดล้อม แต่มันก็เป็นทางเดียวที่จะลดต้นทุนทางเกษตรของพวกเขาได้มากที่สุด และเป็นทางเดียวของพวกเขาในช่วงเวลาที่ภาระทางการเงินและหนี้เพิ่มขึ้นทวีคูณหลังการรัฐประหารเมียนมา

หนี้พันธสัญญา’ ภาระบนบ่าของเกษตรกรหลังรัฐประหาร

“ทุกอย่างเปลี่ยนไปมาก (หลังรัฐประหาร)
ค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลง ค่าเก็บเกี่ยวและขนส่งแพงขึ้นมาก”

เทียน (นามสมมติ), เกษตรกรข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากหมู่บ้าน Than Te รัฐฉาน, เมียนมา

ตั้งแต่การรัฐประหารโดยมิน อ่อง หล่ายเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 กองกำลังต่อต้านมือเปล่า และอาวุธครบมือต่างเผยตัวออกมา กองทัพทหารเริ่มการปราบปรามขบวนการต่อต้านเหล่านั้น สงครามกลางเมืองแพร่ขยายไปทั่วประเทศเมียนมาผ่านทางเมืองใหญ่และทั่วเมียนมาตอนบน

กลุ่มต่อต้านเริ่มเรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรธุรกิจในเครือของทหารและแหล่งรายได้ของกองทัพ ตั้งแต่ปีแรกของการรัฐประหาร โดยผลลัพธ์จากการคว่ำบาตรดังกล่าว ทำให้การค้าระหว่างประเทศ และการค้าชายแดนของประเทศเมียนมาเริ่มระส่ำระส่าย

อย่างไรก็ดี ราคาของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนักในแต่ละปี ทว่าการขายปลีกของเกษตรกรก็ไม่ได้ทำกำไรได้มากนัก เนื่องจากอัตราค่าขนส่งและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ขยับตัวสูงขึ้นหลังการรัฐประหาร ปัจจัยพื้นฐานที่ถูกทำลาย เช่น ไฟฟ้า ขณะเดียวกันตลาดที่ไม่มีเสถียรภาพในประเทศ ก็ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนในการผลิตที่สูงขึ้น 

ตามคำบอกเล่าของ เทียน เกษตรกรหนุ่มชาวเมียนมา ณ หมู่บ้าน Than Te (รัฐฉาน, เมียนมา) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้เข้ามามีบทบาทในหมู่บ้านตั้งแต่ปี 2562 โดยช่วงแรกมีแปลงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ประมาณ 177 ไร่บนพื้นที่ 19 หมู่บ้าน แต่ปัจจุบันแปลงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ขยายตัวไปกว่า 5,060 ไร่บนพื้นที่กว่า 70 หมู่บ้าน และมีเกษตรกรที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้กว่า 5,000 คน

กลุ่มบริษัทสัญชาติไทย คือกลุ่มทุนที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว โดยบริษัทพยายามสร้างโครงการพัฒนาชุมชนในหมู่บ้าน Than Te โครงการดังกล่าวเป็นคือการสนับสนุนเครื่องมือทางเกษตรกรรม เช่น เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปุ๋ย กระทั่ง “เงินกู้” ให้กับเกษตรกร 

เทียนเล่าว่า การสนับสนุนจากรัฐบาลหรือบริษัทก็คล้ายจะมีให้แค่การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพราะกลุ่มทุนที่เข้ามาในพื้นที่จะมีการสาธิตวิธีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้ได้คุณภาพที่ดี อย่างเช่น การหว่านเมล็ด การให้ปุ๋ย การให้สารเคมี ฉะนั้นการปลูกพืชชนิดอื่นในแปลงผืนเดียวกับข้าวโพดจึงไม่อาจทำได้คล่องตัวนัก

“มันฝรั่งก็มีความต้องการที่เยอะนะ บางทีราคาก็สูงกว่าข้าวโพดอีก ถ้าไม่ใช้พื้นที่ปลูกข้าวโพด เราจะปลูกมันฝรั่งได้ 3 ครั้งตลอดทั้งปี แต่ถ้าปลูกข้าวโพดเพียงครั้งเดียว มันฝรั่งก็สามารถปลูกได้แต่เฉพาะในฤดูร้อนเท่านั้นเทียนเล่า

ตามรายงานของ United States Department of Agriculture คาดการณ์ว่าอัตราการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเมียนมาจะลดลง เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตสูงและความยากลำบากให้การปลูกบนพื้นที่สู้รบ หรือปัจจัยภายนอกอย่างเช่นความต้องการจากอุตสาหกรรมสัตว์ลดลงที่ทำให้ราคาต่ำลงไปด้วย จึงเป็นเหตุให้เกษตรกรในประเทศเมียนมาไม่กล้าปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

อุตสาหกรรมข้าวโพดเมียนมา (The Myanmar Corn Industrial Association) จึงได้จึงเสนอโครงการด้านการเงินร่วมกับธนาคารเอกชนและเหล่าผู้ค้ารายใหญ่ โดยจัดหาเงินทุนสำหรับการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้กับเกษตรกรเพื่อกระตุ้นอัตราการผลิต โดยธนาคารเอกชนจะให้เงินกู้กับเกษตรกรในอัตราดอกเบี้ย 12% และผู้ค้ารายใหญ่สัญญาว่าจะซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เหล่านั้นหลังการเก็บเกี่ยว

ในรายงานฉบับเดียวกันยังระบุอีกว่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเมียนมาเป็นสายพันธุ์ผสม (Hybrid Seed) ที่นำเข้าจากประเทศไทย และผู้เล่นหลักในตลาดนี้คือบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์, Myanmar Awba Group, Aventine Limited และ Seven Tiger Group โดยที่บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ และ Myanmar Awba Group มีส่วนแบ่งการตลาดรวมกันมากถึง 85%

ขณะเดียวกัน สถาบันทางการเงินรายย่อยบางแห่งก็มีโครงการในลักษณะเดียวกัน เช่น Maha Agricultural Microfinance สถาบันทางการเงินที่ถือครองโดย Myanmar Awba Group, Yoma Bank ธนาคารที่เป็นพันธมิตรกับกองทัพเมียนมา (Cronies) หรือ AYA Bank ที่ผู้ก่อตั้งนั้นเป็นคนเดียวกับประธานของ Yoma Bank ทั้งสองธนาคารนี้ต่างให้การสนับสนุนเงินกู้กับผู้ค้าขายและเกษตรกรในประเทศเมียนมา

อย่างเช่นเมื่อปี 2018 Yoma Bank ได้ลงนามข้อตกลงด้านเงินกู้ร่วมกับ Maha Agricultural Microfinance โดยระดมทุนมูลค่ากว่า 2.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (3.5 พันล้านจ๊าด) ซึ่งแต่เดิม Maha Agricultural Microfinance ได้สนับสนุนด้านการเกษตร เช่น การซื้อปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ หรืออุปกรณ์ทางการเกษตรแก่เกษตรกรเมียนมากว่า 10,000 ครอบครัว และการระดมทุนในครั้งนี้ จะทำให้การสนับสนุนเหล่านี้เข้าถึงครอบครัวอื่นๆ ในเมียนมาได้อีกกว่า 6,000 ครอบครัว

เช่นเดียวกับ วิน เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ หมู่บ้าน Hti Han Khwee ในพื้นที่ตอนใต้ของรัฐฉาน เขาเล่าว่าผลผลิตส่วนใหญ่จะขายให้กับกลุ่มบริษัทใหญ่ ทว่าไม่ได้มีพันธสัญญาร่วมกัน โดยที่ราคาซื้อขายของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้นจะขึ้นอยู่กับบริษัท ซึ่งมักจะได้ราคาที่ดีกว่าขายให้กับผู้ซื้อรายอื่น

“ถ้าขายให้ผู้ซื้อรายอื่นจะได้แค่กิโลกรัมละ 13 บาท
แต่ถ้าขายให้กับบริษัทจะได้กิโลกรัมละ 17 บาท”
วินอธิบาย

นอกจากราคาของเมล็ดพันธุ์แล้ว เกษตรกรส่วนใหญ่ก็ยังคำนึงถึงคุณภาพของผลผลิตหลังจากเก็บเกี่ยวด้วย วินอธิบายว่าผลผลิตจากเมล็ดพันธุ์ทั่วไป จะมีแกนฝักที่ใหญ่และมีเม็ดค่อนข้างน้อย ซึ่งแกนฝักที่ใหญ่ก็จะทำให้การกำจัดนั้นยุ่งยากและส่งผลต่อคุณภาพของดินในระยะยาว

ทว่าผลผลิตจากเมล็ดพันธุ์ของกลุ่มบริษัทไทยจะมีแกนฝักที่เล็ก เม็ดเยอะ และมีคุณภาพสูงกว่า ขณะเดียวกันก็เมล็ดพันธุ์ของบริษัทไทยก็สามารถเติบโตได้ดีในสภาพอากาศที่หนักหน่วง เช่น บนภูเขาสูง ซึ่งเมล็ดพันธุ์จากบริษัททั่วไปไม่สามารถทำได้ 

และสำหรับเกษตรกรที่มีพันธสัญญาร่วมกับบริษัทไทย พวกเขาก็สามารถขายผลผลิตคืนกลับไปยังบริษัทต้นทาง ซึ่งจะทำให้เกษตรกรได้ราคาขายที่สูงกว่าการขายกับผู้ซื้อรายอื่นอีกด้วย

“แม้กระทั่งเมล็ดพันธุ์ก็หาได้ง่ายมากๆ ในตลาดซื้อขาย
แต่ไม่ใช่ทุกพันธุ์ที่จะปลูกแล้วได้กำไรดี เหมือนของบริษัทไทย” วินอธิบาย

การปลูกและเก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และในพื้นที่ทางใต้ของรัฐฉานจะกินระยะเวลาราว 5 เดือน โดยเริ่มต้นในเดือนสิงหาคมไปจนถึงช่วงเก็บเกี่ยวในเดือนธันวาคม ติน เกษตรกรจากหมู่บ้าน Ti Git อธิบายว่าในทุกๆ เดือนกุมภาพันธ์ บริษัทไทยจะเข้ามาพบปะกับเกษตรกรที่ทำพันธสัญญาร่วมกับบริษัท โดยทางบริษัทจะไม่ได้กำหนดข้อตกลงใดๆ เป็นพิเศษกับเหล่าเกษตรกร มีเพียงอย่างเดียวคือ ‘เงินมัดจำ’ ที่เกษตรกรต้องจ่ายให้กับบริษัท ซึ่งเป็นเงินที่เกษตรกรได้จากการขายผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยวในเดือนธันวาคมนั่นเอง

โดยหลังจากที่ชำระเงินมัดจำแล้ว บริษัทต้นทางจะส่งเมล็ดพันธุ์และวัตถุดิบทางการเกษตรอื่นๆ มาให้เกษตรกร เพื่อเตรียมตัวสำหรับการเพาะปลูกในครั้งต่อไป ทว่าเกษตรกรที่ไม่สามารถชำระเงินมัดจำตามกำหนด พวกเขาก็จะต้องไปกู้เงินนั่นเอง

ในขณะเดียวกัน การเก็บเกี่ยวผลผลิตหรือการกำจัดเศษซากทางการเกษตรยังจำเป็นต้องใช้ต้นทุนมนุษย์และต้นทุนเวลาที่สูงมาก หากเกษตรกรผู้ใดต้องการที่ลดต้นทุนในส่วนนี้ ก็ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายเป็นสองเท่าสำหรับการเช่าเครื่องจักรมาใช้ทุ่นแรง 

“การเก็บเกี่ยวโดยใช้เครื่องจักร เราต้องจ่าย 340 บาทต่อชั่วโมง แต่หลังรัฐประหารราคามันก็สูงขึ้นไปอีก 600-800 บาทต่อชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ การขนส่งเราก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมสองเท่า แต่คนซื้อไม่ได้ซื้อจำนวนเท่าเดิมนะ”

ซึ่งเทียนได้อธิบายไว้ว่า นอกจากเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยและสารเคมีแล้ว บริษัทเหล่านี้ไม่ได้สนับสนุนต้นทุนในขั้นตอนอื่น ๆ ของการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เช่น การโรยเมล็ด การเก็บเกี่ยว หรือการกำจัดซากเศษทางการเกษตรแต่อย่างใด 

จากปากคำของเกษตรกรทั้งสาม ไม่อาจพูดได้ว่าตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นน่านน้ำที่ไม่ดี แต่แน่นอนว่ามันคือน่านน้ำที่กำหนดโดยรัฐบาลผ่านเงินกู้ และกลุ่มทุนที่กำหนดบทบาทของตนผ่านเมล็ดพันธุ์นานาชนิด โดยที่เกษตรกรไร้ซึ่งอำนาจต่อรองใดๆ “เมื่อราคาข้าวโพดก็สูงขึ้น ก็มีแต่พ่อค้าคนกลางที่ขายเมล็ดพันธุ์เท่านั้นที่รวย” เกษตรกรจากหมู่บ้าน Khao Tau เอ่ยขึ้น

ฝุ่นควันข้ามแดน ราคาที่เกษตรกรต้องจ่าย

ใน Grain and Feed Annual ประเทศเมียนมาของปี 2023-2024 คาดการณ์ว่า อัตราการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศนั้นลดลง เพราะพื้นที่การผลิตนั้นลดลงอันเป็นผลมาจากความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น สะกาย คะยา ฉิ่น รวมถึงสภาวะโลกรวนที่ทำให้สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ซึ่งส่งผลให้ผลผลิตมีอัตราที่ต่ำลงไปด้วยเช่นกัน 

แต่จากรายงาน Grain and Feed Annual ของประเทศไทย ฟิลิปปินส์ จีน และเวียดนามพบว่า ความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565-2566 (คาบเกี่ยวปี 2567) ซึ่งกลายเป็นเหตุผลสำคัญของเกษตรกรชาวเมียนมาที่ยังคงต้องปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ต่อไป

“จริง ๆ เราก็สามารถปลูกงา มะเขือเทศ หรือมันฝรั่งได้ แต่พืชพวกนี้มันต้องลงแรงเยอะ ถ้าเราปลูกข้าวโพด เราแค่ดูแลมันนิดหน่อย ไม่ต้องรดน้ำ ไม่ต้องใส่ปุ๋ยบ่อย เมื่อเวลามาถึง เราก็เก็บเกี่ยวได้เลย” เทียนอธิบาย

จากรายงานของกรีนพีซประเทศไทย การขยายตัวของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น จนส่งผลให้การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เริ่มขยายตัวเข้าไปในพื้นที่ป่ามากขึ้น กรีนพีซรายงานว่าพื้นที่ป่าในรัฐฉานกว่า 1.5 ล้านไร่ถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และเพิ่มขึ้นอีก 3.1 ล้านไร่ในปี 2023 ทำให้ปัจจุบันรัฐฉานมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กว่า 6.5 ล้านไร่

ขณะเดียวกัน ก็พบจุดความร้อน (Hotspot) กว่า 123,520 จุดที่เกิดขึ้นบนพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งคิดเป็น 41% ของจุดความร้อนทั้งหมด (304,128 จุด) ที่พบในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งในพื้นที่รัฐฉานนั้นพบจุดความร้อนกว่า 36,375 จุด นับเป็น 33% ของจุดความร้อนที่พบในปี 2021 แม้จะลดลงในปี 2022 แต่จุดความร้อนก็เพิ่มจำนวนขึ้นอีกครั้งเป็น 52,818 จุดในปี 2023

เทียนเล่าว่า นอกจากบริษัทไทยจะนำเมล็ดพันธุ์มาให้แล้ว พวกเขาจะสาธิตวิธีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ปราศจากการเผาด้วย เช่น การผสมตอซังข้าวโพดกับปุ๋ยคอกเพื่อนำมามาใช้อีกครั้ง หรือใช้เครื่องจักรเสริมในการกำจัด แต่กระบวนดังกล่าวก็มักจะเป็นเกษตรกรเองที่ต้องจ่าย

“พวกเราไม่เผาแล้ว เพราะมันทำให้ดินเสีย
พวกแบคทีเรียดี ๆ ก็ตายหมด” เทียนบอก

นาง นักเคลื่อนไหวทางการเมืองในหมู่บ้าน Than Te เล่าว่าหลังจากที่บริษัทไทยเข้ามาลงทุนเมื่อปี 2562 พวกเขาก็ย้ายโครงการและการลงทุนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ออกไปพื้นที่อื่น เนื่องจากคุณภาพของดินในพื้นที่เสื่อมลง ซึ่งส่งผลร้ายแรงต่อเนื่องสู่เกษตรกร เนื่องจากเกษตรกรไม่สามารถปลูกพืชอื่นได้

แม้เกษตรกรจะรับรู้ถึงข้อเสียของการเผาทางการเกษตร แต่พวกเขาก็ยังขาดองค์ความรู้หรือกรรมวิธีที่จะกำจัดเศษซากด้วยวิธีอื่น หรือเกษตรกรบางกลุ่มก็ยังเชื่อว่าการเผานั้นเป็นประเพณีตามฤดูกาล

นางเล่าว่า บริษัทจัดให้มีการฝึกอบรมและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติด้านการเกษตรแบบยั่งยืนแก่เกษตรกร เช่น ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการใส่ปุ๋ย และการใช้เครื่องจักรกำจัด เศษซากทางการเกษตร แต่ชาวนาบางส่วนก็ยังคงใช้วิธีการเผา เนื่องจากการใช้เครื่องจักรมีต้นทุนสูง

นางอธิบายอีกว่า บริษัทไม่ได้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเก็บเกี่ยวผลผลิต หรือการจัดการเศษซากทางการเกษตรแต่อย่างใด ซึ่งหากเกษตรกรทำตามแนวทางปฏิบัติของบริษัทก็อาจถูกจำกัดการได้มาซึ่งเมล็ดพันธุ์สำหรับเพาะปลูก

ขณะเดียวกัน เกษตรกรก็ยังไม่ทราบถึงข้อมูลเกี่ยวกับระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กระทั่งบริษัทเองก็ยังไม่ได้ดำเนินการหรือติดตามวิธีการดังกล่าวในพื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่ในพันธสัญญาอีกด้วย เช่น การตรวจสอบเอกสารพื้นที่ปลูก หรือการติดตามด้วย GPS

ฉะนั้น แม้ว่าบริษัทจะมีกฎระเบียบและนโยบายเกี่ยวกับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างยั่งยืน แต่เกษตรกรนั้นกลับไม่ได้รับคำปรึกษาเรื่องความยั่งยืนอย่างเป็นระบบ และเกษตรกรก็ไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในนโยบายของบริษัท เนื่องจากนโยบายเหล่านี้ขาดการมีส่วนร่วมในระดับชุมชนนั่นเอง

“มีคนดูแลโครงการนี้เพียงประมาณ 4 ถึง 6 คนเท่านั้นเอง (ต่อพื้นที่)
ทางตอนใต้ของรัฐฉาน นั่นอาจเป็นปัญหาเช่นกัน” ตินบอก

Charoen Pokphand Group’s Feed Ingredient Trading Business Group (FIT) ได้ร่วมมือกับบริษัท CP Myanmar ในการติดตั้งระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเมียนมาตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งในรายงานฉบับนี้ยืนยันว่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเมียนมาสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ 100% และตั้งค่าข้อมูลการติดตามด้วย GPS เพื่อให้แน่ใจว่าผลผลิตนั้นมาจากพื้นที่ปลูกที่ถูกกฎหมายเท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม กระบวนการตรวจสอบย้อนกลับนี้ ยังเต็มไปด้วยคำถามต่อวิธีการที่ซับซ้อนและคลุมเครือ

3 ปีนับตั้งแต่รัฐประหาร และ 10 ปีแห่งมลพิษฝุ่นควันข้ามชายแดนไทย-เมียนมา ระบบเศรษฐกิจโลกกำลังพยายามสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคาร์บอนเป็นศูนย์ และสร้างบริษัทที่มีธรรมาภิบาลด้านสิ่งแวดล้อม ทว่าความพยายาม ‘ห้ามเผา’ ในอุตสาหกรรมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่สิ่งที่ยากและท้าทายไม่น้อยไปกว่ากัน คือการหยุดวงจรหนี้พันธสัญญาของเกษตรกรนั่นเอง

“หลังรัฐประหารและก่อนกำไรต่างกันมาก ราคาน้ำมันสูงขึ้น เมื่อก่อนถ้าผมขับเครื่องไถ ผมเคยจ่ายแค่ 350 บาทต่อชั่วโมง แต่ตอนนี้จ่ายอย่างน้อย 790 บาท หรือตอนขาย ค่าขนส่งก็เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่านะ แต่คนที่ซื้อก็ไม่ได้ซื้อเยอะเหมือนก่อน นั่นแหละครับ ตอนนี้เลยเหมือนขายแค่ถุงเมล็ดแล้ว”

เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากหมู่บ้าน Shan Taung Ho

This story was produced with the support of the Thai-Myanmar Media Fellowship 2023
organized by Visual Rebellion Myanmar and the Spirit in Education Movement.