แสนยานุภาพของขบวนการแรงงาน สายธารแห่งการลุกขึ้นสู้ [ตอนที่ 2] - Decode
Reading Time: 3 minutes

คนทำงาน

ฉัตรชัย พุ่มพวง

สายธารการลุกขึ้นสู้และชัยชนะของขบวนแรงงานในสังคมไทย ในยุคต้นสมบูรณาญาสิทธิราชย์หลังจากที่ ร.5 รวบอำนาจจากเหล่าเจ้าขุนมูลนายทั่วอาณาบริเวณที่เหลือเป็นรัฐกันชนระหว่างเจ้าอาณานิคมทั้งฝรั่งเศสทั้งอังกฤษได้สำเร็จ ก่อเกิดเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นเป็นครั้งแรก

พร้อมกันนั้นได้มีการยกเลิกระบบไพร่ทาสไป เนื่องจากมีแรงงานจีนอพยพได้หลั่งไหลเข้ามาในสยามจำนวนมากตั้งแต่สมัย ร.4 ทำให้ต้นทุนของระบบไพร่ทาส เริ่มที่จะแพงและไร้ประสิทธิภาพ เมื่อเทียบกับแรงงานรับจ้างอย่างแรงงานจีน มีการปฏิรูประบบภาษีให้รวมศูนย์มาที่กษัตริย์โดยให้ทุกคนจ่ายภาษีแทนการเรียกเกณฑ์แรงงานบังคับ เมื่อสัดส่วนของแรงงานจีนในสังคมสยามมีมากขึ้น ๆ ปัญหาเรื่องสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ จึงเข้มข้นมากขึ้นเรื่อย ๆ

ปกติแล้ว เมื่อคนจีนอพยพไปอยู่ที่ไหนในโลก ก็จะมีการพยายามรวมกลุ่มกัน เป็นที่มาของคำว่า “อั้งยี่” ที่เป็นคำใช้เรียกองค์กรของแรงงานจีน ซึ่งจริง ๆ แล้วทำหน้าที่คล้ายกับสหภาพแรงงานเพื่อต่อรองกับรัฐและทุนนั่นเอง

กุลีจีนเหล่านี้เป็นแรงงานกลุ่มแรก ๆ ที่สไตร์คหยุดงานในสยาม ไม่ว่าจะเป็นแรงงานจีนในเหมืองที่ภาคใต้ หรือ กุลีลากรถและกรรมกรแบกข้าวสารในพระนคร

ช่วงแรกรัฐบาลสมบูรณาฯ ก็รู้สึกสะดวกในการดีลกับผู้นำของอั้งยี่ทำให้ควบคุมจัดการพวกแรงงานจีนทำได้ง่าย แต่พอนานไปเข้าก็รู้สึกได้ถึงอำนาจต่อรองที่มากเกินไป เพราะมีเหตุการณ์ที่แรงงานจีนเหล่านี้สไตร์คหยุดงาน จึงทำให้ต้องออกกฎหมายอั้งยี่ซ่องโจรออกมา เพื่อกดปราบแรงงานจีนเหล่านี้

เมื่อเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรในปี 2475 ขบวนแรงงานในสังคมไทยก็เติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ บางยุครวมตัวกันได้อย่างแข็งขัน บางยุคถูกฝั่งรัฐและทุนโต้กลับกดปราบ โดยเฉพาะยุคเผด็จการสฤษดิ์ ถนอม ประภาส ที่มีการใช้มาตรา 17 ประหารสุภชัย ศรีสติ ผู้นำแรงงาน แต่มีอยู่ยุคนึงซึ่งนับได้ว่าเป็นยุคที่ขบวนแรงงานเข้มแข็งถึงขีดสุด

หลังเหตุการณ์การโค่นล้มเผด็จการของประชาชน นั่นคือช่วงปี 2516-2519 ซึ่งเปรียบเทียบกับก่อนหน้านั้นนับตั้งแต่ 2499-2515 กว่า 16 ปี มีการสไตร์คหยุดงานเพียง 219 ครั้งเท่านั้น ในขณะที่ 3 ปีที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน มีการสไตร์คหยุดงานมากถึง 1,232 ครั้ง

ตัวอย่าง การนัดหยุดงานที่โดดเด่นและทำให้เห็นแสนยานุภาพของขบวนการแรงงานที่สุด คือ การสไตร์คของแรงงานสิ่งทอ, แรงงานโรงแรม และการนัดหยุดงานทั่วประเทศ เพื่อหยุดการขึ้นราคาข้าว

การประท้วงหยุดงานของคนงานทอผ้าในปี 2517

ในปี 2516 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมสิ่งทอในไทย โรงงานทอผ้าขนาดใหญ่ส่วนมากเป็นของพวกนายทุนต่างชาติและเหล่านายทุนตัดสินใจลดการผลิตลง 25% โดยอ้างว่า ความต้องการสินค้าลดลงจะต้องปลดคนงานออก พร้อมลดค่าจ้างทุกคนที่ยังอยู่ทำงาน ในวันที่ 9 มิถุนายน 2516 แรงงานโรงงานทอผ้าทั้งหมดกรุงเทพฯ จึงรวมตัวประท้วงและมีการประสานงานไปที่สหภาพแรงงานในจังหวัดใกล้เคียงจนสามารถรวมตัวพี่น้องนับหมื่นคนจาก 600 โรงงานมาชุมนุมที่หน้ากรมแรงงานและย้ายมาที่สนามหลวงเพื่อบอกความต้องการแก่รัฐบาลให้ทำงานหามาตรการที่จะไม่ทำให้มีการปลดคนงานออกและให้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ จากวันละ 16 บาท เป็นวันละ 25 บาท

การชุมนุมที่สนามหลวงยืดเยื้อถึง 4 วัน 4 คืน ทำให้รัฐบาลต้องยอมทำตามสิ่งที่ขบวนแรงงานต้องการในที่สุด การต่อสู้ครั้งนี้จึงนับเป็นการแสดงพลังครั้งใหญ่ที่สุดครั้งแรกของพี่น้องแรงงานในสังคมไทย หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ชัยชนะครั้งนี้ทำให้รัฐบาลต้องยอมประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในเดือนตุลาคม 2517 เป็น 20 บาทต่อวันและในเดือนมกราคม 2518 จึงเพิ่มอีกรอบเป็น 25 บาทต่อวันตามความต้องการของขบวนแรงงานทอผ้า โดยทำให้พี่น้องแรงงานทุกภาคอุตสาหกรรมได้รับผลแห่งชัยชนะครั้งนี้โดยทั่วกัน

ถ้าจินตนาการ เพื่อทำให้เห็นภาพมากขึ้นถ้าเทียบเคียงกับปัจจุบันก็คือ พี่น้องแรงงานจำนวนมหาศาลทำการประท้วงหยุดงาน เพื่อขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 300 เป็น 450 บาท สำเร็จใน 4 วัน โดยไม่ต้องรอให้รัฐบาลจากพรรคการเมืองใดมาโปรด แสนยานุภาพแบบนั้นเกิดขึ้นได้เสมอถ้าพวกเราตระหนักรู้ถึง “อำนาจ” ที่พวกเราทุกคนมีในฐานะแรงงานและคนทำงาน ผู้ที่ทำให้ประเทศนี้สังคมนี้ดำเนินไปได้ในทุกวัน

การประท้วงหยุดงานของคนงานโรงแรมสยามคอนติเนนตัล ในปี 2518

นอกจากการประท้วงเพื่อใช้อำนาจของแรงงานสั่งให้รัฐบาลขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแล้ว ยังมีตัวอย่างที่น่าสนใจ เหตุการณ์นี้เริ่มต้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2517 ด้วยค่าแรงที่ถูกกดมานานจนไม่สามารถทำให้เหล่าแรงงานโรงแรมดุสิตสามารถมีชีวิตที่ดีได้อย่างสมศักดิ์ศรี สหภาพแรงงานโรงแรมดุสิตจึงออแกไนซ์การประท้วงหยุดงานซึ่งยืดเยื้อยาวนานถึง 23 วัน เพื่อสั่งให้ขึ้นค่าแรง เหตุการณ์นี้เป็นการจุดชนวนให้เกิดการเคลื่อนไหวของหลายสหภาพแรงงานโรงแรมในกรุงเทพฯ รวมถึงการต่อสู้ของแรงงานโรงแรมสยามคอนติเนนตัล นอกจากค่าแรงที่ไม่สมเหตุสมผลต่อเรี่ยวแรงและมันสมองที่คนงานทุกคนร่วมมือกันทำให้กิจการโรงแรมสยามฯ ดำเนินไปได้แล้ว บอร์ดบริหารซึ่งเป็นนายทุนต่างชาติยังมีพฤติกรรมกดขี่ย่ำยีแรงงานที่นั่น และไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่ได้ทำไว้กับสหภาพแรงงานหลังการประท้วงหยุดงานเมื่อปีก่อนด้วย

ความต้องการของการประท้วงหยุดงานครั้งนี้มีทั้งหมด 12 ข้อโดยใจความเกี่ยวกับการขึ้นเงินเดือนให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ เหลือเก็บ และทำให้แรงงานทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ รวมถึงการปรับสวัสดิการให้เหมาะสมขึ้นด้วย การประท้วงหยุดงานกินเวลายาวนาน 10 วันทำให้เจ้าของโรงแรมสูญเสียรายได้ ผลประโยชน์ และกำไรไปมหาศาลเพราะไม่มีใครทำงานให้ ระหว่างนั้นบอร์ดบริหารก็ยอมตกลงไป 11 ข้อ ติดที่ข้อสุดท้ายซึ่งฝ่ายแรงงานต้องการให้ปลดบอร์ดบริหารของโรงแรมสยามฯ ออกโดยเฉพาะนายแบรนด์ สแตตเตอร์ และ นายฮันส์ บราวเออร์ ผู้จัดการฝ่ายอาหารและเครื่องดื่ม เพราะว่าทั้ง 2 คนนี้ดูถูกเหยียดหยามพนักงานซึ่งเป็นคนไทย ใช้อำนาจเกินขอบ เช่น มีพนักงานคนหนึ่งเคยถูกนายฮันส์ บราวเออร์ ไล่ออกโดยเหตุผลเพียงพนักงานคนนั้นเอาบุหรี่ทัดหู นอกจากนั้นผู้จัดการฝ่ายบุคคลยังได้ปฏิบัติการจองเวรโดยการทำหนังสือไปยังโรงแรมอื่น ๆ ไม่ให้พนักงานคนนั้นเข้าทำงานในโรงแรมต่าง ๆ ทำให้พนักงานคนนั้นหางานทำไม่ได้กลุ้มใจจนต้องผูกคอตาย

จากการที่ทางโรมแรมสยามฯ ไม่ยินยอมตามคำเรียกร้องของพนักงานให้ไล่บุคคลทั้งสามออก จึงเป็นเรื่องราวที่ทำให้ยืดเยื้อมาเป็นเวลานาน จนโรงแรมไม่สามารถจะดำเนินกิจการได้ เพราะลำพังแค่บอร์ดบริหารไม่สามารถดำเนินกิจการด้วยตัวเองได้หากขาดพี่น้องเรา ทำให้แขกชาวต่างประเทศที่พักต้องขนข้าวขนของอพยพไปอยู่ที่โรงแรมอื่น ๆ หมด ซึ่งเราอาจจะมีคำถามว่า ทำไมบอร์ดไม่ไล่ออกให้หมด แล้วไปจ้างคนใหม่มาแทน การหาคนในทุกหน้าที่มาแทนที่คนที่มีประสบการณ์การทำงานทั้งหมดทันทีเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ยังไม่นับว่าบริบทสังคมตอนนั้นขบวนแรงงานเข้มแข็ง ไม่น่าจะมีใครยอมรับงานของบอร์ดบริหารนี้ เพราะพี่น้องแรงงานในหลายโรมแรมใน กทม. เองก็มีสหภาพแรงงาน และทำงานสนับสนุนกันและกัน

ในที่สุดฝ่ายพนักงานโรงแรมก็ชนะการต่อสู้ บอร์ดบริหารถูกปลดออกตามความต้องการข้อสุดท้ายที่เหลืออยู่ จะเห็นว่า เมื่อพวกเรารวมตัวกันได้ เข้าใจว่าเราเป็นพวกเดียวกัน และใครคือคน 1% ที่กดขี่เรา เมื่อนั้นอะไรก็เป็นไปได้ แม้กระทั่งการปลดบอร์ดบริหาร

ลองคิดดูเล่น ๆ ถ้าพนักงานร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศรวมตัวกันได้ การสั่งปลดบอร์ดบริหารที่เป็นคนของเจ้าสัว ถ้าบอร์ดพวกนั้น ไม่สามารถบริหารให้เกิดค่าแรง และชั่วโมงการทำงานที่เป็นธรรมกว่านี้ก็ย่อมเป็นไปได้

การประท้วงหยุดงานทั้งประเทศยับยั้งวิกฤตข้าวแพง ในปี 2519

ธันวาคมปี 2518 รัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ยกเลิกการขายข้าวราคาถูก เพื่อผลักดันราคาข้าวเปลือกให้สูงขึ้นโดยรัฐบาลจะประกันราคาข้าวเปลือกให้ชาวนาในราคาเกวียนละ 2,500 บาท และขึ้นราคาข้าวสารจากถังละ 50 บาทเป็น 65-75 บาท จึงทำให้สหภาพแรงงานแห่งประเทศไทย มีมติคัดค้านการยกเลิกการขายข้าวสารราคาถูก และการขึ้นราคาข้าวสารและน้ำตาล โดยประกาศแก่รัฐบาลว่า “ถ้ารัฐบาลไม่ปฏิบัติตาม คนงานในโรงงานทุกโรงงานที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานแห่งประเทศไทยจะประท้วงหยุดงานทั่วประเทศ (general strike)”

เบื้องหลังความหาญกล้าในการแสดงความต้องการของขบวนแรงงาน ณ ขณะนั้น ถูกสนับสนุนมาก่อนหน้าแล้วด้วย “พลังสามประสาน” เมื่อขบวนแรงงานได้ลิ้มรสการใช้อำนาจทางตรงผ่านการประท้วงหยุดงานกว่า 1,000 ครั้งแล้ว ในฟากขบวนชาวนาชาวไร่ ช่วง 2 พฤษภาคม ปี 2518 ก็เกิดเหตุการณ์ชาวนา 23 จังหวัด กว่า 800 คน เดินทางมาพบรัฐบาล เพื่อทวงถามถึงการแก้ปัญหาที่ดินทำกินและปัญหาอื่น ๆ ที่รัฐบาลเคยรับปากว่าจะแก้ไขให้ เมื่อรัฐบาลนิ่งเฉย เหล่านักศึกษา กรรมกร และชาวนา จึงได้ตกลงรวมตัวกันเป็นกลุ่มสามประสาน เพื่อเคลื่อนไหวกรณีชาวนาเป็นปัญหาแรกโดยมีการจัดชุมนุมประท้วงที่สนามหลวง ต่อมานายอินถา ศรีบุญเรือง รองประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยและประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ภาคเหนือ ถูกสังหารทำให้ภารกิจในช่วงแรกของกลุ่มสามประสานเน้นไปที่ปัญหาของพี่น้องชาวนาชาวไร่ จนกระทั่งเกิดปัญหาที่รัฐบาลจะยกเลิกการขายข้าวราคาถูกโดยอ้างว่า เพื่อดันราคาข้าวเปลือก ทำให้กลุ่มสามประสานรวมพลังกันมาสนับสนุนการต่อสู้ในประเด็นดังกล่าว

แน่นอนหลังจากการประกาศว่าจะทำการประท้วงหยุดงานทั่วประเทศ รัฐบาล ณ ขณะนั้นเลือกที่จะนิ่งเฉยต่อความต้องการของพี่น้องแรงงาน ชาวนา และนักศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งที่พอจะทำความเข้าใจได้ไม่ยากนัก เพราะไม่มีรัฐใดจะยอมให้พวกแรงงานเหล่านี้กำหนดสิ่งต่าง ๆ ของสังคมโดยใช้อำนาจทางตรง เอาชนะอำนาจที่ “ชอบธรรม” อย่างอำนาจรัฐได้

วันที่ 2 มกราคม 2519 แรงงานทั้งหมดที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานแห่งประเทศไทยเริ่มประท้วงหยุดงานอยู่ในโรงงานแต่ละที่ หลังจากเกิดการประท้วงหยุดงานทั่วประเทศแล้ว ขบวนแรงงานได้ยกระดับการประท้วงโดยการนัดหมายเดินขบวนมารวมตัวกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้าในวันที่ 5-6 มกราคม 2519 (สถานที่เดียวกันกับที่พระยาพหลฯ ได้ฝังหมุดคณะราษฎรไว้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย)มีการประมาณจำนวนของพี่น้องแรงงานที่เดินทางมารวมตัวกันว่ามีจำนวนมากถึง 20,000 คน สิริรวมเวลาประมาณ 6 วัน ไม่ถึง 1 สัปดาห์ดีรัฐบาลก็ยอมเจรจาตามความต้องการของสหภาพฯ และเกิดภาพประวัติศาสตร์การลงนามระหว่างนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ตัวแทนอำนาจรัฐ และนายไพศาล ธวัชชัยนันท์ ตัวแทนอำนาจแรงงาน

ข้อตกลงครั้งนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญที่แสดงถึงพลังอำนาจที่ทรงแสนยานุภาพของขบวนแรงงานในสังคมไทยอย่างถึงขีดสุด ไม่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ และน่าเสียดายที่ไม่เคยเกิดขึ้นอีกเลยหลัง 6 ตุลาคม 2519

รายละเอียดความน่าสนใจของข้อตกลงดังกล่าว

1.ให้รัฐบาลรักษานโยบายการประกันราคาข้าวเกวียนละ 2,500 บาท ไว้ตามเดิม

2.ให้รัฐบาลขายข้าวถังละ 50 บาทต่อไปไม่มีกำหนด และส่งตรงให้สหภาพแรงงานทุกแห่งโดยตรงตามที่แสดงความต้องการ หากขาดทุนให้คณะกรรมการที่ประกอบด้วย ตัวแทนชาวนา ตัวแทนแรงงาน ตัวแทนนักศึกษา และตัวแทนรัฐ พิจารณาจัดทำแสตมป์เพื่อทำให้ทุกคนที่ต้องการเข้าถึงข้าวราคาถูกได้อย่างไม่ขัดสน

3.ให้รัฐบาลเร่งปฏิรูปที่ดิน

4.ให้รัฐบาลส่งเสริมและจัดตั้งสหกรณ์ให้กระจายไปทั่วประเทศและปรับปรุงธนาคาร/สหกรณ์เพื่อการเกษตรให้มีดอกเบี้ยต่ำและผ่อนส่งเงินต้นได้ระยะยาวขึ้น

5.ให้รัฐบาลไม่เอาผิดทุกคนที่ประท้วงหยุดงานหรือมาร่วมชุมนุมในครั้งนี้ ให้ถือเป็นการปฏิบัติงานตามหน้าที่ทั้งคนที่มาจากรัฐวิสาหกิจ และบริษัทโรงงานเอกชน

6.ให้สหภาพแรงงานฯ ร่วมกับรัฐบาลให้ข้อคิดเห็นและตรวจสอบข้อ 1-5

ยุคหลังชัยชนะของภาคประชาชนหลัง 14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519 คือช่วงเวลาที่ขบวนการแรงงานของไทยทรงแสนยานุภาพมากที่สุด ชนะทั้งรัฐและทุนเอกชน ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้คนทั้งประเทศ, ปลดบอร์ดบริหารบริษัทเอกชน และหยุดการขึ้นราคาข้าว

ทั่วทุกมุมโลกขบวนแรงงานเคยแสดงแสนยานุภาพ สร้างสังคมก้าวหน้า ก่อเกิดมาตรฐานชีวิตที่ดีให้แก่คนส่วนใหญ่ของสังคมเสมอมา มีหลักฐานอีกมากมายที่ยืนยันว่า “อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนในฐานะคนทำงาน”

ไม่ว่าชื่อระบอบจะอ่านว่าอะไร สมบูรณาญาสิทธิราชย์, สาธารณรัฐ, ประชาธิปไตย หรือแม้แต่เผด็จการ แต่เนื้อในใจกลางขุมพลังในการขับเคลื่อนสังคมก็คือ คนทำงาน และแรงงานอยู่ดี ไม่มีสังคมใดขับเคลื่อนได้ลำพังด้วยคน 1%

แรงงานทั้งหลาย จงรวมตัว ชีวิตที่ดีกว่า เป็นไปได้!

อ่าน แสนยานุภาพของขบวนการแรงงาน สายธารแห่งการลุกขึ้นสู้ [ตอนที่ 1]