แสนยานุภาพของขบวนการแรงงาน สายธารแห่งการลุกขึ้นสู้ [ตอนที่ 1] - Decode
Reading Time: 3 minutes

คนทำงาน

ฉัตรชัย พุ่มพวง

อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน

นับตั้งแต่คณะราษฎรปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย (แบบที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ) นั้น ก็มีความพยายามหลายต่อหลายครั้งของฝ่ายอนุรักษนิยมที่จะฉุดรั้ง รักษาและเพิ่มพูนอำนาจของคน 1% ไว้ผ่านการรัฐประหารโดยกองทัพและนายพลที่ร่วมมือกับคน 1%

เพื่อความเข้าใจตรงกัน คน 1% คือคนที่มีทั้งสถานะทางอำนาจ และ/หรือ ทางเศรษฐกิจ ที่สามารถกำหนดทิศทาง กฎเกณฑ์ การแบ่งสรรกำไร ทรัพยากร เวลา หรือทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นไปตามผลประโยชน์ของตนได้ เช่น นายพล, นายทุน, เจ้าสัว, เจ้าศักดินา, นักการเมือง, ศาล, ส.ว. และ ส.ส. นายกรัฐมนตรี (ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม), ประมุขแห่งรัฐ, ศาล, ข้าราชการระดับอธิบดี รวมถึงเหล่าองค์กรอิสระต่าง ๆ

เมื่อเราเข้าใจนิยามคร่าว ๆ ของคน 1% แล้วคนที่เหลือ ที่ไม่ใช่คนเหล่านี้ก็เป็นคนอีก 99% ของสังคมซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ ระบอบการปกครองที่โด่งดังที่ทุกคนรู้จักก็จะมีระบอบศักดินา, ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์, ระบอบประชาธิปไตย และระบอบเผด็จการ แต่ละแบบก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อยไปอีก เช่น ประชาธิปไตยแบบมีกษัตริย์ หรือไม่มีกษัตริย์ เป็นสาธารณรัฐ หรือ ราชอาณาจักร แต่ไม่ว่าแบบไหน ก็จะมีชนชั้นนำ 1% ที่ครอบครองแทบทุกสิ่งทุกอย่างเหมือน ๆ กัน และที่สำคัญที่สุดไม่ว่าที่ไหน หรือยุคใด“ทุกสิ่งทุกอย่าง” ที่ว่านั่นก็ล้วนทั้งสร้างและขับเคลื่อนด้วยพลังของคนส่วนใหญ่ คนทั้ง 99% ซึ่งเป็นแรงงาน คนทำงานทั้งสิ้น

ไม่ว่าชื่อจะชื่อ ระบอบอะไร ก็มีข้อเท็จจริงเดียวกัน “แรงงานสร้างทุกอย่าง”

และประชาชนทุกคน คือคนทำงาน คือแรงงาน พวกเราทุกคนช่วยกันสร้างชาตินี้ หรือแม้แต่ชาติก่อน หรือชาติหน้า หรือไม่ว่าจะชาติไหน ๆ บนโลกใบนี้ พวกเราก็เป็นคนสร้างทั้งสิ้น ทั้งสร้าง ทั้งขับเคลื่อน ทั้งทะนุบำรุงรักษา นั่นคือข้อเท็จจริง

ไม่มีอิฐสักก้อนที่คน 1% เป็นคนก่อ ไม่มีเรือสักลำที่คน 1% เป็นคนต่อ ไม่มีสินค้าชิ้นไหนในร้านสะดวกซื้อ ที่เจ้าสัวเป็นคนจัด ไม่มีคนไข้คนใดที่รัฐมนตรีสาธารณสุขเป็นคนตรวจ ไม่มีถนนเส้นไหนที่เจ้านายศักดินาเป็นคนกวาด นั่นคือข้อเท็จจริง

ตลอดประวัติศาสตร์คนที่ทำทุกอย่างคือ พวกเรา ส่วนคนที่เอาทุกอย่างไปคือ พวกมัน

สำนึกและความเข้าใจเหล่านี้เป็นส่วนผสมไม่มากก็น้อยให้เหล่าคนที่ลุกขึ้นสู้ต่อต้านการกดขี่ได้ร่วมกันพยายามค้นหาและเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่ระบอบใหม่ ๆ ที่เท่าเทียมกว่าอย่าง “ระบอบประชาธิปไตย”

ไม่ว่าระบอบประชาธิปไตยนั้นจะมีรายละเอียดอย่างไรแต่โดยรวมแล้วคือการเดินทางจากจุดที่รวบอำนาจมากกว่า เผด็จการกว่า เหลื่อมล้ำกว่า ไปสู่จุดที่กระจายอำนาจกว่า เป็นประชาธิปไตยกว่า และเท่าเทียมมากกว่า

มันจึงมีคำขวัญสั้น ๆ ที่ได้ใจความอย่าง “การปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน” เพราะก่อนหน้านั้นมีหลายคนที่ลุกขึ้นสู้ โดยรู้ว่าอำนาจที่รวมไว้ที่คนเพียงคนเดียวหรือกลุ่มเดียวมันมีปัญหา มันคือการกดขี่ มันไม่ทำให้เกิดความเจริญและเกิดคุณภาพชีวิตที่ดีต่อทุกคนอย่างถ้วนหน้า

หนึ่งในวิธีการต่อสู้ของคน 99% คือการรวมตัวกันเป็นองค์กรภาคประชาชน อย่างสหภาพแรงงาน จัดการ จัดตั้งสมาชิก รวบรวมคนทำงานให้ได้มากที่สุด เผยแพร่ความคิดความเชื่อเรื่องคุณค่า ความสำคัญของชนชั้นแรงงาน และหลักการเรื่อง “คนเท่ากัน” ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม

ตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษย์มีตัวอย่างเหตุการณ์นัดหยุดงานประท้วงที่น่าสนใจหลายเหตุการณ์เราจะไล่เรียงกันตั้งแต่อียิปต์, โรมัน, สเปน, เดนมาร์ก และมาจบที่ไทย

สุสานจะศักดิ์สิทธิ์ หรือยิ่งใหญ่แค่ไหน ก็ไม่พ้นมันสมองและสองมือของคนงาน

เริ่มด้วยฉากของพีระมิดที่ยิ่งใหญ่อย่างกิซ่า สิ่งก่อสร้างนี้ต้องใช้อิฐเป็นล้านก้อนในการก่อสร้าง เมื่อต้องใช้อิฐจำนวนมหาศาลขนาดนั้น จึงต้องใช้แรงงานจำนวนมากในการก่อสร้างเช่นกัน

 “ถ้าคุณเป็นคนทั่วไป มองกำแพงเมืองจีนหรือพีระมิด คุณจะเห็นความยิ่งใหญ่ของกษัตริย์

แต่ถ้าคุณเป็นคนที่รักในเพื่อนมนุษย์ คุณจะเห็นเลือดและน้ำตาของแรงงานอยู่ในก้อนอิฐแต่ละก้อน

ดัดแปลงจากคำของ ผศ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ (มีนาคม พ.ศ. 2562)

ตลอดยุคสมัยอียิปต์โบราณเหล่าฟาโรห์ เชื้อพระวงศ์ ขุนศึก และขุนนาง ซึ่งเป็นคน 1% นั้น มีความเชื่อในเรื่องโลกหลังความตาย จึงมีความปรารถนาและภารกิจที่จะต้องสร้างสุสานที่ยิ่งใหญ่ไว้เก็บร่างกายของตนเองเพื่อรอวันที่จะฟื้นขึ้นมาในโลกหลังความตาย และมีศาสนาที่สัญญาค่าตอบแทนที่เหมาะควรแก่เหล่าคนงาน

ในขณะที่ยุคโลหะกำลังคืบคลานเข้ามา จักรวรรดิกำลังประสบกับความล่มสลาย เกิดความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ เกิดภาวะเงินเฟ้อ ความตึงเครียดทำให้เกิดความไม่สงบขึ้นเนื่องจากชนชั้นนำไม่สามารถจัดสรรทรัพยากรได้อย่างทั่วถึง ความโกรธเกรี้ยวของเหล่าคนงานก่อสร้างจึงก่อตัวหนาแน่นขึ้นเรื่อย ๆ ในปีที่ 25 ของพระเจ้ารามเสสที่ 3 (ประมาณ 1170 ก่อนคริสต์ศักราช) ความรู้สึกไม่พอใจก่อตัวเข้มข้นขึ้นในหมู่คนงานก่อสร้างสุสาน เพราะการจัดหาเสบียงที่ล่าช้า

คนงานทุกคนจึงทิ้งเครื่องมือ และเดินออกจากไซต์งาน และร่วมกันเขียนจดหมายถึงราชมนตรี เพื่อบ่นเรื่องการขาดปันส่วนข้าวสาลี ผู้นำหมู่บ้านพยายามให้เหตุผลกับเหล่าคนงาน แต่พวกเค้าปฏิเสธที่จะกลับไปทำงานจนกว่าข้อข้องใจจะได้รับการตอบสนอง พวกเขาตอบโต้ผู้เฒ่าด้วย “คำสาบานอันยิ่งใหญ่” (ส่วนนึงของความเชื่อทางศาสนายุคนั้น ที่สัญญาว่าการก่อสร้างสุสานศักดิ์สิทธิ์จะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม) พร้อมด้วยการกู่ร้องตะโกนว่า“พวกเราหิว” และ “เดือนนี้ผ่านไปสิบแปดวันแล้ว”

และพวกเรายังคงไม่ได้รับอาหารอย่างเพียงพอ พวกเราถูกบังคับให้ซื้อข้าวสาลีของตนเอง

พวกเราต้องการส่งตัวแทนของเราไปคุยกับฟาโรห์หรือใครก็ตามที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้

หลังจากที่ฝั่งเจ้านายได้ยินเรื่องร้องเรียนแล้วคนงานก็กลับไปทำงานในวันรุ่งขึ้น

แต่ปัญหาเรื่องเสบียงอาหารก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข จึงเกิดการนัดประท้วงหยุดงานอีกหลายครั้ง

ท้ายที่สุด จากการร่วมแรงร่วมใจกันประท้วงหยุดงานเพื่อกดดันชนชั้นปกครองทำให้ข้าวสาลีก็ถูกจัดสรรในแบบที่เป็นธรรมขึ้นจนเหล่าคนงานพึงพอใจ และการประท้วงนัดหยุดงานก็สิ้นสุดลงในช่วงปีที่เหลือของฟาโรห์รามเสสที่ 3

ข้อร้องเรียนของคนงานและช่างฝีมือเหล่านี้ถูกบันทึกไว้ในอีก 40-50 ปีหลังจากข้อพิพาทครั้งแรก ในสมัยฟาโรห์รามเสสที่ 9 และ 10 ซึ่งอาจนับได้ว่าเป็นการประท้วงนัดหยุดงานครั้งแรก ๆ ที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

กรุงโรมเป็นัมพาต เมื่อปล่อยให้คน 1% อยู่กันเอง

ในกรุงโรมมีชนชั้นปกครอง, เศรษฐี, เจ้าที่ดิน เรียกว่า “พาทริเชียน (Patricians)” ซึ่งเป็นคนส่วนน้อย และชนชั้นแรงงาน ช่างฝีมือ พ่อค้า ชาวนา และทหาร ที่เรียกว่า “เพลเบียน (Plebeians)” ซึ่งเป็นคนที่เหลือทั้งหมด

ความขัดแย้งระหว่างทั้ง 2 ชนชั้นทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะความเหลื่อมล้ำที่ถ่างออกมากขึ้นระหว่างคนรวยกับคนจน จนกระทั่งปัญหาหนี้สินของสามัญชนเริ่มถึงทางตันเพราะไม่สามารถใช้ชีวิตผลิตสิ่งต่าง ๆ เพื่อดำรงชีวิตได้อีกต่อไป เมื่อค่าตอบแทนที่ได้รับไม่สามารถเพียงพอต่อชีวิตในแต่ละวันและไม่สามารถจ่ายภาษีที่แพงขึ้นเรื่อย ๆ จากการตั้งกฎเกณฑ์ของพวกชนชั้นปกครองพาทริเชียน

ใน 495 ปีก่อนคริสตกาล ประชาชนในกรุงโรมเริ่มแสดงความไม่พอใจเกี่ยวกับเรื่องปัญหาหนี้สิน การทุบตีและการจำคุกลูกหนี้โดยเจ้าหนี้ จุดเริ่มต้นของวิกฤตนี้คือ มีอดีตนายทหารคนหนึ่งที่ถูกทำร้ายจนสะบักสะบอมเดินเข้ามาในฟอรัมสาธารณะของเมืองและเล่าปัญหาให้ชาวเมืองทุกคนที่บังเอิญนั่งอยู่ตรงนั้นฟังว่าในระหว่างสงครามที่ดินของเค้าถูกศัตรูจุดไฟเผาและทรัพย์สินทั้งหมดถูกขโมยไป เมื่อกลับถึงบ้านก็ถูกบังคับให้กู้เงินเพื่อจ่ายภาษีแสนแพงที่ไม่สามารถจ่ายได้ ทำให้ต้องกลายเป็นหนี้มหาศาลเพราะดอกเบี้ยที่ทบต้นไปเรื่อย ๆ ส่งผลให้เขาถูกบังคับริบทรัพย์สินทั้งหมดของครอบครัวรวมทั้งฟาร์มของปู่และของพ่อเค้าด้วย แต่มันก็ยังไม่เพียงพอจะใช้หนี้ที่ว่า เจ้าหนี้จึงนำตัวเค้าไปขังคุก เฆี่ยนตี และขู่ประหารชีวิต ผู้คนในฟอรัมโกรธเกรี้ยวจากเรื่องที่ได้ฟัง และเรื่องราวก็แพร่กระจายไปทั่วกรุงโรมอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เหล่าสามัญชนเพลเบียนจำนวนมากพร้อมรวมตัวกัน เพื่อยุติความโหดร้ายและการถูกกดขี่ที่ทุกคนกำลังเผชิญอยู่เหมือน ๆ กัน

หลังจากเริ่มมีกระแสกดดันไปยังกงสุลและวุฒิสภาให้จัดการกับปัญหาหนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ กงสุลอัปปิอุสก็ราดน้ำมันเข้าไปในกองเพลิงนี้ด้วยการออกกฎหมายรับรองให้เจ้าหนี้จำคุกลูกหนี้ได้ เปลวไฟแห่งขุ่นเคืองจึงลุกโชนใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ทุกคนในเมืองเริ่มขัดขืนกฎหมายและเลิกปฏิบัติตามสิ่งที่วุฒิสภาสั่ง จนทุกคนรวมตัวกันแล้วเดินแยกตัวออกจากกรุงโรมไปยัง Mons Sacer (ภูเขาศักดิ์สิทธิ์) ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองออกไปสามไมล์ โดยมี Lucius Sicinius Vellutus เป็นคนออแกไนซ์มวลชน และได้สร้างการสิ่งกีดขวางป้องกันในพื้นที่นั้น เพื่อรอตั้งรับพวกชนชั้นปกครอง

เมื่อในกรุงโรมเหลือเพียงชนชั้นปกครอง โดยปราศจากแรงงาน, ช่างฝีมือ, พ่อค้า, ชาวนา และทหารบางส่วน สุดท้ายกรุงโรมก็เป็นอัมพาตไม่สามารถอยู่ต่อไปได้

จนชนชั้นปกครองพาทริเชียนต้องยอมจำนนผ่านการแก้ไขปัญหาหนี้สิน เกิดการเจรจากับฝั่งกลุ่มผู้ชุมนุมทำให้เกิดมติปลดเปลื้องหนี้บางส่วนของทุกคนและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครองผ่านการยอมสละอำนาจบางส่วนจนเกิดการตั้งสำนักงาน “ทริบูนสามัญชน (Tribune of the Plebs)” เป็นตำแหน่งแรกของโรมที่ดำรงตำแหน่งโดยตัวแทนจากสามัญชนเพลเบียน และมีอำนาจนำคนมาลงโทษประหารชีวิตหากเกิดการทำร้ายสามัญชนต่อจากนี้ หลังจากการทิ้งพวกชนชั้นปกครองให้อยู่กันเองในโรมครั้งนี้ ก็มีการต่อสู้อีกทั้งหมดถึง 4 ครั้ง เพราะชาวเมืองรู้แล้วว่าใครกันแน่ที่สำคัญกับเมือง หากทุกคนรวมตัวกันจะมีอำนาจต่อรองกับชนชั้นปกครอง ไม่ว่าจะเป็นการลดหนี้ ยกเลิกหนี้ หยุดการทำร้ายทรมาน ขู่ฆ่า หรือแม้แต่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองก็ตาม เป็นอีกตัวอย่างการแสดงพลังอำนาจของคน 99% ในสายธารประวัติศาสตร์ของพวกเรา

แมคโดนัลด์ในเดนมาร์ก: แสนยานุภาพของขบวนแรงงานยุโรปเหนือ

เมื่อ 43 ปีก่อนใน ค.ศ. 1981 เป็นช่วงที่บริษัททุนยักษ์ใหญ่ข้ามชาติอย่างแมคโดนัลด์เข้าไปลงทุนเปิดกิจการในสังคมเดนมาร์ก ณ เวลานั้นมีแมคโดนัลด์อยู่ใน 20 ประเทศทั่วโลก โดยเริ่มตั้งต้นกิจการที่อเมริกาและทุกประเทศที่แมคโดนัลด์ไป จะเกิดกระบวนการทำลายสหภาพแรงงานอย่างเป็นระบบจนแรงงานสิ้นเรี่ยวแรงในการต่อรอง ยกเว้นที่เดียวที่แมคโดนัลด์ไม่สามารถโค่นสหภาพแรงงานลงได้คือ สวีเดน

เมื่อแมคโดนัลด์มาที่เดนมาร์กต้องการกำจัดและทำลายล้างสหภาพแรงงานที่นี่และขัดขวางการรวมตัวของเหล่าแรงงานให้ไม่สามารถต่อรองอะไรได้ เพื่อให้มูลค่าทั้งหมดที่เกิดจากหยาดเหงื่อ และมันสมองของแรงงานนับพันนับหมื่นไหลผ่านไปที่กระเป๋านายทุนผู้ถือหุ้นซึ่งถือเป็นคน 1% ของบริษัทให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

ในสังคมเดนมาร์กมีการรวมตัวของสหภาพแรงงานหลายองค์กรเป็นสหพันธ์แรงงานภาคอุตสาหกรรมโรงแรมและร้านอาหาร และมีข้อตกลงร่วมของภาคอุตสาหกรรมให้ทุกกิจการต้องปฏิบัติตาม แต่แมคโดนัลด์เลือกจากปฏิเสธและยื้อไม่ยอมทำตาม โดยอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายที่ไม่ได้บังคับหรือมีบทลงโทษ แต่ให้เป็นไปตามความสมัครใจของบริษัทในการปฏิบัติตาม

การที่บริษัทแมคโดนัลด์ตัดสินใจนิ่งเฉยต่อการเจรจากับสหภาพแรงงานในเดนมาร์กและกำหนดสภาพการจ้างงาน ชั่วโมงการทำงาน, ค่าแรง, สวัสดิการ และวันหยุด อย่างไม่เป็นไปตามมาตรฐานของสหภาพแรงงานในเดนมาร์ก จึงทำให้เหล่านักสหภาพและพี่น้องแรงงานทั้งหมดในภาคอุตสาหกรรมโรงแรมและร้านอาหาร เริ่มเคลื่อนไหวต่อสู้

ในปี 1982 การต่อสู้ดำเนินไปอย่างล่าช้าในช่วงต้น แม้จะถูกสื่อรุมทำข่าวอย่างเข้มข้นก็ไม่สามารถทำให้แมคโดนัลด์เปลี่ยนจุดยืนและการกระทำได้ บริษัทยังคงต่อต้าน และไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงและมาตรฐานของสหภาพแรงงานเดนมาร์กต่อไป

ต่อมาในช่วงปลายปี 1988 และต้นปี 1989 สหภาพแรงงานตัดสินใจอย่างเด็ดขาดว่า“พอแล้ว”

และเชื่อมต่อกับทุกสหภาพแรงงานในทุกภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของแมคโดนัลด์

เพื่อดำเนินปฏิบัติการที่เรียกว่า “sympathy strikes” คือการเข้าร่วมประท้วงหยุดงานเพื่อข้อเรียกร้องของเพื่อนพี่น้องแรงงานต่างบริษัท ต่างภาคอุตสาหกรรมจากสหภาพแรงงานอื่น ๆ

การประท้วงหยุดงานขนาดมหึมาจึงปะทุขึ้นผ่านการระดมพี่น้องสมาชิกสหภาพแรงงานจากทั้งหมด

16 สหภาพแรงงานในหลากหลายภาคอุตสาหกรรมให้เข้าร่วมต่อสู้กับพี่น้องแรงงานในบริษัทแมคโดนัลด์เพื่อชีวิตที่ดีตามมาตรฐานที่สหภาพแรงงานการโรงแรมและร้านอาหารกำหนด

สิ่งที่เกิดขึ้น คือ

-แรงงานท่าเรือทั้งหมดปฏิเสธที่จะขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ที่มีอะไรก็ตามของแมคโดนัลด์อยู่ข้างใน

-แรงงานโรงพิมพ์ปฏิเสธที่จะพิมพ์หรือทำสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับร้านแมคโดนัลด์ เช่น เมนู, ถ้วย

-แรงงานก่อสร้างหยุดสร้างร้านแมคโดนัลด์ รวมถึงร้านที่กำลังสร้างก็หยุดคาไว้อย่างนั้น

-แรงงานในสื่อต่าง ๆ ปฏิเสธที่ทำสื่อโฆษณาหรือลงโฆษณาให้แมคโดนัลด์ ทำให้บริษัทแมคโดนัลด์ไม่สามารถโฆษณาสินค้าของตนเองได้

-แรงงานขนส่งปฏิเสธที่จะขนส่งอาหารและเบียร์ให้แก่แมคโดนัลด์

-แรงงานในโรงงานผลิตอาหารและเครื่องดื่มปฏิเสธที่จะทำการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับแมคโดนัลด์

นอกจากการร่วมแรงร่วมใจกันประท้วงหยุดงาน จนสร้างความเสียหายให้กับห่วงโซ่อุปทานของแมคโดนัลด์แล้ว สหภาพแรงงานเหล่านี้ยังร่วมกันรณรงค์โดยการระดมสมาชิกไปล้อมรั้วและแจกใบปลิวที่หน้าร้านแมคโดนัลด์หลายสาขา เพื่อเรียกร้องให้ผู้บริโภค(ซึ่งก็คือแรงงาน)คว่ำบาตรบริษัทที่กำลังกดขี่แรงงานอยู่

ภายในระยะเวลาไม่กี่อึดใจ บริษัททุนข้ามชาติยักษ์ใหญ่อย่างแมคโดนัลด์ก็ต้องยอมศิโรราบอย่างไม่เต็มใจนักให้กับแสนยานุภาพที่ทรงพลังอำนาจของขบวนแรงงานเดนมาร์ก พวกเขายอมทำตามข้อตกลงร่วมของสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมโรงแรมและร้านอาหารในที่สุด เป็นหลักฐานพิสูจน์ว่าคน 1% ที่ดูเสมือนว่า พวกเขามีอำนาจล้นฟ้า ก็ยังต้องยอมศิโรราบหากคนทำงานแรงงานรวมตัวกันสู้และสั่งพวกเขาให้ทำอย่างที่เราต้องการ

ทั้งหมดนี้จึงเป็นปัจจัยในประวัติศาสตร์อย่างมีนัยยะสำคัญ และนำมาสู่ค่าแรงที่มากถึง 22$ ต่อชั่วโมงในปัจจุบัน ซึ่งถือว่ามากกว่าอเมริกาที่ 4$ ต่อชั่วโมง ทั้ง ๆ ที่ราคาของบิ๊กแมคทั้ง 2 ประเทศนี้มีราคาไม่ต่างกันมากนัก

อ่าน สนยานุภาพของขบวนการแรงงาน สายธารแห่งการลุกขึ้นสู้ [ตอนที่ 2]