เกลือสามบ่อ คนสามบ้านในหุบเขาเมืองนครไทย - Decode
Reading Time: 4 minutes

อาหารกาลกิน

กฤช เหลือลมัย

ตำราสุขศึกษาชั้นประถมในโรงเรียนไทยเมื่อห้าสิบปีก่อนบอกว่า ในเมืองไทยมีเกลือสองชนิด คือเกลือสมุทรหรือเกลือทะเล และเกลือสินเธาว์หรือเกลือบกจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยระบุด้วยว่า เกลือทะเลมีประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่าเกลือบก คือมีแร่ธาตุกว่า 20 ชนิด ที่สำคัญคือไอโอดีนป้องกันโรคคอหอยพอก ซึ่งยังเป็นปัญหาทางสาธารณสุขเวลานั้นอยู่ 

ผมเองจำได้ว่า ยังทันเห็นผู้ใหญ่เป็นคอหอยพอกหลายคน ประกอบกับความเป็นเด็กราชบุรี มีเกลือทะเลจากสมุทรสาครกินอย่างสม่ำเสมอ จึงมองเกลือสินเธาว์อย่างเป็นอื่นมาตลอด ตามคำที่ร่ำลือกันต่อ ๆ มา เช่น มันไม่มีแร่ธาตุเลย มีแต่ความเค็มโด่ ไม่อร่อยเหมือนเกลือทะเล ซึ่งคงเป็นภาพจำของคนภาคกลางมาอย่างยาวนาน 

อย่างเช่นในหนังสืองานแสดงนิทรรศการสินค้าพื้นเมืองไทยในพระราชพิธีสมโภชพระนครครบร้อยปี พ.ศ. 2425 ก็ยังอธิบายเกลือสินเธาว์ว่า

“มาแต่โป่งแลป่า แขวงเมืองนครราชสีมา ราษฎรหุงแล้วใส่ม่อประมาณทนานครึ่ง 2 ทะนาน..ในกรุงเทพฯ ไม่มีใครซื้อขายกันกิน มีแต่ซื้อไว้ทำยาบ้างเล็กน้อย”

อย่างไรก็ดี ความหลากหลายของประเภทเกลือ ทั้งเกลือทะเลเกลือบกในเอกสารโบราณฉบับนี้ ชนิดที่ว่าแยกย่อยละเอียดยิบเป็นเกลือขาว เกลือดำ เกลือต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ตลอดจนแสดงแหล่งที่มาเป็นตำบลหมู่บ้านอย่างละเอียด ช่างดูขัดแย้งกับวัฒนธรรมการใช้เกลือในครัวไทยทุกวันนี้ ที่รสเค็มในสำรับคาวหวานมีบทบาทของเกลือสอดแทรกอยู่น้อยมาก จะเรียกว่าคนไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันไม่ค่อยสนใจ กระทั่งไม่มีความละเอียดลออในการใช้เกลือปรุงแต่งอาหาร ก็คงไม่ผิดหรอกครับ

ช่วงห้าหกปีมานี้ ผมเกิดสนใจ และมีโอกาสได้ไปดูการทำเกลือแบบขูดดินเอียดไปเกรอะกรองน้ำเค็มต้มกระบะโลหะในเขตอีสานตอนล่างและตอนกลาง เลยเริ่มมองเกลือสินเธาว์ต่างไปจากสมัยเด็ก ๆ แถมเมื่อสองสามปีก่อนนี้เองครับ ที่ได้รู้จักแหล่งต้มเกลือสินเธาว์ในเขตหุบเขาเมืองนครไทย พิษณุโลก ทำให้เห็นชัดว่า เรื่องราวเบื้องหลังรสเค็มของเกลือเม็ดขาว ๆ นั้น ประกอบสร้างขึ้นด้วยวัตถุ แรงงาน ลมฟ้าอากาศ ตลอดจนชะตากรรม และความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมอาหาร โดยมีมนุษย์เป็นผู้กำหนด และกระทำการอย่างน่าสนใจยิ่ง

สายแร่เกลือ (rock salt) ใต้ดิน ที่ทอดตัวยาวกว่า 250 กิโลเมตรลงมายังพื้นที่บริเวณปลายสุดของเทือกเขาหลวงพระบางในลาว ต่อเนื่องมาถึงหุบเขาในเขตน้ำปาด เมืองเลย แม่จริม เมืองน่าน และย่านนครไทย พิษณุโลก ทำให้เกิดบ่อน้ำเกลือเข้มข้นที่คนโบราณเคยใช้ประโยชน์นับได้หลายสิบแห่ง โดยเฉพาะลำน้ำเฟี้ยในเขตบ้านบ่อโพธิ์ อำเภอนครไทย ซึ่งปัจจุบันยังเหลือ “บ่อโพธิ์” ที่ชาวบ้านยังสามารถตักน้ำเกลือเค็มใสในบ่อริมลำน้ำมาต้มเกลือสินเธาว์ในช่วงฤดูหนาวต่อฤดูร้อนได้อยู่

ปลายปี พ.ศ. 2563 ผมขี่จักรยาน touring กับเพื่อน ๆ ไปนอนค้างที่ อบต.บ่อโพธิ์ เช้ารุ่งขึ้น ขณะพวกเราปั่นข้ามช่องเขาเพื่อต่อแดนไปยังอำเภอด่านซ้ายนั้น ผมพบว่า สองข้างทางก่อนถึง “บ่อเกลือพันปี” มีถุงเกลือสีขาวขนาดต่าง ๆ วางขายเป็นจำนวนมาก ยิ่งริมถนนทางลงไปบ่อโพธิ์ ยิ่งมีชุกเป็นพิเศษ แม้ว่าในวันนั้นจะยังไม่ถึงเวลาต้มเกลือในรอบปีเลยก็ตาม 

จำได้ว่าผมตื่นเต้นมาก ถึงกับซื้อเกลือถุงเล็ก ๆ พยายามบรรทุกใส่กระเป๋าจักรยานเท่าที่จะมีแรงหอบหิ้วเอาไปได้

สองเดือนต่อมา หลังจากตรวจสอบแน่ชัดว่า ชาวบ้านเริ่มต้มเกลือแล้ว ผมขับรถตู้มาบ่อโพธิ์อีกครั้ง ศึกษาเรื่องราวของที่นี่จนรู้ว่า ชาวบ้านบ่อโพธิ์จะต้องรวมตัวกันทำพิธีบวงสรวง“เจ้าปู่หลวง” เพื่อเปิดปากบ่อ คือช่วยกันถากถาง ลอกดิน ตบแต่งขอบคันบ่อเกลือเพื่อเริ่มต้มเกลือในช่วงเดือนมกราคม โดยก่อนหน้านี้จะมีผู้นำทางความเชื่อ คือ “เจ้ากวนน้อย” เป็นผู้กำหนดวันเวลา แจกแจงพิธีกรรมที่เป็นข้อห้าม ข้อปฏิบัติเคร่งครัดในการต้มเกลือ เช่น ไม่ใส่ชุดสีแดง ไม่ใส่รองเท้าเข้าใกล้ปากบ่อ ไม่ทำสิ่งสกปรก อย่างเช่นบ้วนน้ำลาย ขากเสลดลงในบ่อ 

ลักษณะดังกล่าวนี้ทำให้เห็นว่า การต้มเกลือที่บ่อโพธิ์ยังคงมีจิตวิญญาณตามขนบเก่า ซึ่งมนุษย์ในฐานะที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติ จำต้องสร้างระเบียบกฎเกณฑ์ในการติดต่อสัมพันธ์กับอำนาจเหนือธรรมชาติ เพื่อประกันความสำเร็จในการต้มเกลือแต่ละปี ซึ่งอาจมีตัวแปรด้านลมฟ้าอากาศที่คาดไม่ถึงมารบกวนได้อีกมาก

ผมควรต้องขอบคุณข้อมูลการศึกษาชุมชนบ่อโพธิ์ของอาจารย์ธีระวัฒน์ แสนคำ ซึ่งเผยแพร่ไว้ใน พ.ศ. 2556 นอกจากรายละเอียดพิธีกรรม อาจารย์ธีระวัฒน์ยังเชื่อมโยงความสำคัญของเกลือสินเธาว์ในเขตหุบเขาเมืองนครไทย ซึ่งถูกผลิต บรรจุและขนย้ายไปตามเส้นทางข้ามหุบเขา ติดต่อไปยังเมืองและชุมชนโบราณอื่น ๆ เช่น หล่มเก่า หล่มสัก มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ถึงสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้นด้วย

ข้อมูลอันมีประโยชน์ยิ่งของอาจารย์ธีระวัฒน์สร้างภาพอลังการในหัวผม ขณะขับรถตู้มาถึงบ่อโพธิ์ ริมลำน้ำเฟี้ย เพียงเพื่อจะพบในวันนั้นว่า มันแทบไม่มีอะไรเหมือนที่ผมคิดเอาไว้เลย

จริงอยู่ที่ปากบ่อเกลือพันปีมีการบูรณะก่อขอบขึ้นมา ดูเรียบร้อยกว่าวันที่ผมปั่นจักรยานมาเป็นอันมาก แต่ไม่มีกิจกรรมและผู้คนซึ่งควรจะคึกคักตามที่อาจารย์ธีระวัฒน์ได้สำรวจ และรายงานไว้เมื่อสิบปีก่อนแต่อย่างใด

อีกครู่ใหญ่ ๆ ผมจึงได้พบพี่มาลัย มังกุด เดินลัดเลาะป่าลงมาตักน้ำเกลือใส่ปิ๊บ หาบขึ้นไปเติมน้ำในกระทะต้ม หน้าบ้านของเธอที่อยู่ติดถนนเส้นหลักด้านบน

“ฉันช่วยที่บ้านต้มมาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน พอออกจากโรงเรียนก็ต้มเกลือมาตลอดจ้ะ” เตาฟืนต้มเกลือของพี่มาลัยเป็นเตาดินคู่ ตั้งไว้ด้วยกระทะเหล็ก ต้องต้มและคอยเติมน้ำเกลือราวสองถึงสามครั้ง ผลึกเกลือจึงจะตกเต็มพอตักใส่ถังได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการจ้วงกระป๋องตักน้ำส่วนที่อยู่ลึก ๆ ของบ่อ ยิ่งลึก น้ำจะยิ่งเค็ม ต้มได้ผลึกเกลือเร็วและมากพอ โดยขณะต้ม คนบ่อโพธิ์จะใส่กิ่งและเปลือกต้นจะแค เพื่อให้เกลือจับผลึกดีขึ้น แต่มีเคล็ดว่าต้องคอยตักเอาเปลือกจะแคออก เมื่อเห็นว่าได้ที่แล้ว ไม่อย่างนั้นผลึกเกลือจะใหญ่เกินไป

การทำพิธีไหว้เจ้าปู่หลวง กำหนดวันเปิดปากบ่อ เริ่มต้มเกลือ ยังมีอยู่ดังเดิม แต่ดูเหมือนมี“ทางการ” เข้ามาช่วยเรื่องโฆษณาให้บ่อโพธิ์มีลักษณะเป็น“แหล่งท่องเที่ยว” มากขึ้น มีการทำป้ายข้อมูลแหล่งเกลือโบราณ สร้างโรงสาธิต ห้องน้ำสาธารณะ อาคารจำหน่ายของที่ระลึกบริเวณใกล้บ่อ รวมทั้งทำถนน ปรับพื้นที่ให้เข้าถึงได้สะดวกกว่าแต่ก่อน

ดูจากปริมาณเกลือถุงเล็กถุงใหญ่ที่วางขายรายเรียงในเพิงริมทางหลวง ผมสงสัยว่า คนบ่อโพธิ์เขาต้มเกลือกันที่ไหนหนอ เพราะนอกจากเตาหน้าบ้านพี่มาลัยแล้ว ก็เห็นมีอีกแค่สองสามเพิงที่ตั้งเตาต้มอยู่ข้าง ๆ เท่านั้นเอง

“เหลือต้มกันแค่สี่ห้าเจ้าเท่านั้นแหละ ก็มีฉัน มียายหยวก แม่เอม แม่อุ๊ย แม่ดับ พวกเด็ก ๆ เขาก็คงไม่ทำต่อกันแล้วล่ะ อ๋อ เกลือที่เห็นวางขายกันเยอะ ๆ นี่น่ะเหรอ เกลือบ้านดุงทั้งนั้นแหละ คุณดูดี ๆ ซี มันไม่เหมือนเกลือบ้านเราหรอก คือเมื่อหลายปีก่อน มันมีน้ำท่วม เราต้มเกลือไม่ได้ เลยมีคนสั่งเกลืออีสานจากบ้านดุงมาขายแทนไปก่อน ทีนี้ต่อมากลายเป็นว่าคนบ้านเราทยอยเลิกต้มเกลือไป เอาเกลือบ้านดุงมาสวมขายว่า เป็นเกลือบ่อโพธิ์แบบจริงจังไปเลย”

ผมเพิ่งมารู้จัก “บ่อภาค” บ่อเกลือสินเธาว์ในเขตอำเภอชาติตระการ พิษณุโลก ราวช่วงต้นปีนี้เอง ไม่น่าเชื่อว่า กิจกรรมการต้มเกลือขนาดใหญ่ มีจำนวนเตาต้มเกลือเรียงรายบนเนินดินมหึมาริมลำน้ำภาคถึงกว่า 60 เตา ตามที่ระบุข้อมูลไว้ในสื่อโซเชียลมีเดียจะหลุดรอดสายตาผมมาได้นานขนาดนี้ จากภาพที่เผยแพร่ และการสอบถามคนที่รู้เรื่องนี้ บ่อภาคยามมีการต้มเกลือนั้นดูราวกับตลาดโบราณขนาดใหญ่กลางป่าเลยทีเดียว

ผมตรวจสอบช่วงเวลาต้มเกลือของบ่อภาคปีนี้ จนทราบว่ามีพิธีเปิดปากบ่อในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ และตามปกติ การต้มเกลือน่าจะยาวนานไปอีกอย่างน้อยราวหนึ่งเดือน หรือมากกว่านั้น แต่ผมอาจวางใจเกินไป ประกอบกับมีธุระอื่นติดพัน จึงพบว่า เมื่อต้นเดือนเมษายน ผมยืนอยู่ริมลำน้ำภาค ข้าง ๆ บ่อภาคซึ่งยังมีน้ำเกลือใสสะอาดท้นปริ่มปากบ่อ เนินดินอีกฝั่งยังคงละลานตาไปด้วยเพิงต้มเกลือที่คะเนด้วยตาเปล่าแล้วไม่น่าจะต่ำกว่า 50 เพิง

แต่เขาเพิ่งเลิกต้มไปเมื่อวานนี้เองครับ

เพิงร้าง ๆ วังเวง ๆ ที่ยังหลงเหลือตัวเตา ดุ้นฟืน แถมบางเพิงยังวางกระทะทิ้งไว้ ทำให้ผมรู้สึกคุ้น ๆ มันเหมือนเวลาเราอ่านเรื่องราวหมู่บ้านที่ถูกทิ้งร้างหนีโรคระบาด เหมือนเดินไปท่ามกลางกลุ่มโบราณสถานในดงไม้ทึบ กระทั่งเหมือนตอนขุดตรวจพบร่องรอยผิดวิสัย (feature) บนพื้นหลุมขุดค้นทางโบราณคดี คือรู้ว่ามีการทำอะไรสักอย่างตรงหน้านั้นแน่ แต่คนทำไม่อยู่แล้ว เราต้องสืบเรื่องราวต่อเองตามลำพัง โดยอาศัยร่องรอยที่พอเหลือให้เห็น

บางครั้ง เราก็โชคดีที่พบผู้ให้ปากคำพอเป็นเบาะแสได้ เช่นครั้งนี้ พี่วรนุช ล้วนรุย ผู้ซึ่งเป็นชาวบ่อภาครายท้าย ๆ ที่มาเก็บอุปกรณ์ต้มเกลือ กรุณาเล่าให้ฟังถึงความคึกคักของกิจกรรมต้มเกลือกันทั้งกลางวันกลางคืนของที่นี่ ภายใต้ความคุ้มครองของ “เจ้าย่า” ผู้รักษาบ่อเกลือ คนบ่อภาคมีพิธีไหว้บวงสรวงศาลเจ้าย่า เปิดปากบ่อ ตักน้ำเกลือใสสะอาดรสเค็มจัดหาบข้ามลำน้ำภาค ไปต้มในกระทะเหล็กใต้เพิงที่แต่ละครัวเรือนก่อเตาดินแบบง่าย ๆ ตัดฟืนจากป่ามาเป็นเชื้อเพลิง โดยมีข้อห้ามคล้าย ๆ บ่อโพธิ์ อาทิ ต้องถอดรองเท้า ห้ามใส่ชุดแดงเข้าเขตบ่อ 

แต่ท่ามกลางข้อห้ามเข้มงวดนั้น กิจกรรมต้มเกลือของชาวบ่อภาคเป็น“งานชุมชน” อย่างแท้จริง ตั้งแต่การผลัดเวียนกันมาเฝ้าประจำบ่อต้มของเครือญาติแต่ละบ้าน การอยู่โยงกลางคืนก็ทำให้เพิงต้มเกลือกลายเป็นพื้นที่ผ่อนคลาย มีทั้งเสียงดนตรี อาหารอร่อย ๆ ที่ต่างทำแบ่งปันกันกิน ทั้งยังเป็นที่เที่ยวเล่นสนุกสนานและปลอดภัยของบรรดาเด็กน้อยในหมู่บ้านด้วย

มีข้อห้ามข้อหนึ่งที่ผมสนใจ คือคนที่จะต้มเกลือบ่อภาคได้ ต้องเป็นคนบ่อภาค หรือหากเป็นเขยเป็นสะใภ้ ก็ต้องอยู่ในพื้นที่นานเป็นปี จนได้รับการยอมรับว่าเป็น“คนใน” แล้ว มันเป็นขนบแบบโบราณที่นักมานุษยวิทยาพบในชุมชนเก่าบางแห่ง ที่ข้อห้ามหลายอย่างมักสัมพันธ์กับจำนวนทรัพยากร การตักตวงประโยชน์ และความแน่นแฟ้นในระบบเครือญาติ

ผมซื้อเกลือบ่อภาคจากพี่วรนุชได้ในราคาเดียวกับเกลือบ่อโพธิ์ของพี่มาลัย คือถุงละ 100 บาท น้ำหนัก 5 กิโลกรัม เกลือบ่อภาคจะไม่มีวางขายริมถนน แต่มีคนมารับซื้อถึงที่บ้าง หรือไม่ก็ฝากขายกันต่อเป็นทอด ๆ ในงานออกร้านประจำอำเภอจังหวัด 

จากบ้านบ่อภาค ถนนลาดยางเล็ก ๆ ผ่านต่อไปถึงอำเภอนาแห้วได้ แต่เส้นทางนี้แคบและชัน เลยไม่มีผู้คนสัญจรไปมากนัก

เรื่องราวจากการสังเกตสภาพ และคำบอกเล่าที่ผมปะติดปะต่อได้จากเพิงต้มเกลือร้างกว่า 50 – 60 เพิง คงไม่อาจเทียบได้กับการที่จะได้มีโอกาสร่วมเป็นส่วนหนึ่งของมหกรรมต้มเกลือจริง ๆ สักครั้งหรอกครับ หลายครั้งผมเลยอดนึกเปรียบเล่น ๆ ไม่ได้ว่า การศึกษาอดีตของพวกนักโบราณคดีก็ดูไม่ต่างอะไรจากสภาพที่ผมเป็นอยู่ตอนนี้ คือภาพที่เราพยายามสร้างขึ้นนั้น มันวางอยู่บนหลักฐานที่เชื่อถือได้สักเพียงใด

เราต้องเข้าใกล้อดีต (หรือกระทั่งปัจจุบัน) แค่ไหนกัน จึงจะรายงานมันได้ใกล้เคียงความจริงที่สุด

เมื่อดูจากแผนที่ การที่ผมจะเข้าถึง “บ่อสองสาวพี่น้อง” เขตตำบลนครชุม อำเภอนครไทย ผมต้องออกจากบ่อภาค ย้อนกลับไปนครไทย เพื่อเปลี่ยนเข้าเส้นทางเล็ก ๆ ข้ามไปอีกหุบเขาหนึ่ง นครชุมเป็นชุมชนในหุบเขา มีทางเข้าออกติดต่อโลกภายนอกเพียงทางเดียวเท่านั้น

บ่อสองสาวพี่น้องอยู่ในเขตหมู่บ้านนาขุมคัน มีป้ายชื่อบ่อใหญ่โตสวยงามสะดุดตา พื้นรอบบ่อถูกถมสูงเพื่อให้เดินได้สะดวก เช่นเดียวกับปากบ่อที่ก่อเป็นกรอบขอบคันแข็งแรง ทำคันโยกผูกเชือกโยงกระป๋องตักน้ำให้ใช้งานได้สะดวก ข้าง ๆ เป็นเตาดินคู่ ตั้งกระทะเหล็กต้มเกลือด้วยไฟฟืน ชะลอมใส่เกลือตั้งบนรางข้างกระทะ บรรจุเกลือสีขาวสะอาดเกือบเต็ม การต้มเกลือทำโดยตักน้ำจากบ่อมาต้มได้เลย เพราะน้ำเกลือบ่อสองสาวพี่น้องทั้งใสและเค็มมาก 

เมื่อต้มจนใกล้แห้ง จะเริ่มมีผลึกเกลือสะสมที่ท้องกระทะ ต้องตักน้ำเกลือใส่ต้มต่อจนแห้งงวดอีกอย่างน้อยสองครั้ง จึงจะได้เกลือเต็มพอตักใส่ชะลอม กระทะหนึ่งจะได้เกลือราว 15 กิโลกรัม และถ้าใครขยันพอ ก็อาจต้มได้วันละสองกระทะทีเดียว

เมื่อ 40 – 50 ปีก่อน มีการขุดควักเนินดินธรรมชาติเพื่อสร้างเตารอบ ๆ บ่อเกลือนี้ ต่อเมื่อสภาพพื้นที่เปลี่ยนไป จึงจำต้องก่อเตาดินแบบที่เห็นในปัจจุบัน เล่ากันว่า สมัยนั้นมีคนมาพักค้างคืนต้มเกลือคราวละไม่ต่ำกว่า 70 – 80 เตา เกือบทั้งหมดเป็นพวกผู้ชาย โดยต้องมีการบวงสรวงศาลสองสาวพี่น้อง ร่วมกันล้างบ่อ ลอกตะกอนออกให้ถึงชั้นดาน เรียกว่าต้องมีพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ยึดโยงกับอำนาจเหนือธรรมชาติ เช่นเดียวกับบ่อโพธิ์และบ่อภาค

อย่างไรก็ดี ที่ไม่เหมือนกันก็คือ กิจกรรมทั้งหมดที่ผมได้เห็น และได้รับคำอธิบายอย่างละเอียดลออโดยพี่ผู้ชายใจดีหลายคนซึ่งผลัดเปลี่ยนเวียนกันต้มเกลือ ตักน้ำ บรรจุถุง ช่วยกันถากถางทำความสะอาดบริเวณรอบบ่อเกลือสองสาวพี่น้องในเวลานี้นั้น เป็นการ “สาธิต” อย่างแท้จริง

ทุกปี ยังมีการลงแรงมาช่วยกันลอกบ่อในวันเปิดปากบ่อ แต่ไม่มีใครมาต้มเกลืออีกแล้วนอกจากกลุ่มอาสาสมัครผู้ชายที่ผลัดเวียนกันมาต้มเกลือให้นักท่องเที่ยวได้ชมขั้นตอนแบบโบราณ และซื้อเกลือคุณภาพดีกลับไป 

หมู่บ้านนาขุมคันและหมู่อื่นใกล้เคียงกำลังพยายามยกระดับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ มีการประชาสัมพันธ์แหล่งอย่างบ่อน้ำทอง เขาโปกโล้น ทะเลหมอก กับทั้งมีโฮมสเตย์หลายแห่งที่เงียบสงบน่าพักผ่อน สำหรับผู้ที่ต้องการความสันโดษระหว่างท่องเที่ยวในวันหยุด

บ่อเกลือสองสาวพี่น้องก็เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวหลักของบ้านนาขุมคัน ที่มีความพยายามจะผูกสร้างเรื่องราวความเป็นมาให้สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์กระแสหลักในสังคมไทย

ผมพบว่า อย่างน้อยมีแหล่งเกลือสองแหล่ง คือบ่อโพธิ์ และบ่อสองสาวพี่น้อง ที่มีใครสักคนเล่าประวัติที่มาให้สัมพันธ์กับ“พ่อขุนบางกลางท่าว” ทำนองว่าท่านยกทัพไปรบขอม แล้วระหว่างตั้งทัพพักไพร่พล ก็ค้นพบบ่อเกลือเหล่านี้โดยบังเอิญ และได้ใช้เป็นแหล่งเกลือสำคัญของกรุงสุโขทัยต่อ ๆ มา 

กรณีบ่อสองสาวพี่น้องนั้น ชาวบ้านสามารถระบุชี้ตำแหน่งเนินเขาที่ตั้งทัพได้เลยทีเดียว 

เรื่องเล่าเก่าแก่นี้มีที่มา อย่างน้อยก็มีชาวบ้านพบเศษเครื่องปั้นดินเผาโบราณตรงเชิงเขาไม่ไกลจากปากบ่อนั้นจริง ๆ นะครับ หรือกรณีบ่อโพธิ์ มีพบทั้งขวานหินขัด และเครื่องถ้วยสังคโลกบริเวณผาประตูเมือง ไม่ไกลจากตัวบ่อ หลักฐานพวกนี้ยืนยันอย่างไม่มีข้อสงสัยว่า บ่อเกลือเหล่านี้เคยมีมนุษย์เข้าใช้ประโยชน์เมื่อหลายร้อยปีก่อนทั้งสิ้น

เรื่องเล่าจากเพจ อบต.บ่อโพธิ์ยังมีที่ลากยาวไปถึงสมัยพุทธกาล ว่ามีการยิงบั้งไฟจากเมืองเชียงของ มาเจาะต้นโพธิ์กลางลำน้ำเฟี้ย ทำให้เกิดตาน้ำเค็มผุดขึ้นมาตั้งแต่นั้น จะเห็นว่า เรื่องไหนที่ผูกพันกับตัวบุคคลในประวัติศาสตร์ตามความเข้าใจของคนท้องถิ่น จะได้รับความสนใจ เล่าต่อ ๆ กันจนเริ่มกลายเป็นเรื่องเล่ากระแสหลัก ซึ่งในที่สุดก็ถูกลากไปอิงกับความเป็นไทย มีความพยายามเบียดตัวเองเข้าไปอยู่ในพงศาวดารประวัติศาสตร์สุโขทัยฉบับทางการอยู่เนือง ๆ

ในทำนองตรงข้าม งานศึกษาสังคมและชุมชนต้มเกลือในทางคติชนวิทยาและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอย่างละเอียดลออของอาจารย์ธีระวัฒน์ แสนคำ กลับถูกอ้างอิงและพูดถึงน้อยมาก ๆ 

“ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง” ฉบับพ่อขุนบางกลางท่าวอาจเป็น myth (เรื่องเล่าปรัมปรา) ซึ่งคนท้องถิ่นภูมิใจ แต่มันก็แทบกลายเป็นเรื่องของกฤษฎาภินิหาร ทว่าละเลยที่จะพูดถึงความสัมพันธ์ของบ้านเมือง แรงงาน ตลอดจนผู้คนพลเมืองในหุบเขาและที่ราบเขตภาคเหนือตอนล่าง ที่มีเครือข่ายเชื่อมโยงถึงกันอย่างกว้างใหญ่ไพศาล ผ่านบ่อเกลือโบราณเหล่านี้ไปอย่างน่าเสียดาย

การสนับสนุนของรัฐและองค์กรท้องถิ่นเห็นได้ชัดในกรณีบ่อสองสาวพี่น้องและบ่อโพธิ์ ซึ่งที่จริงก็จำเป็นนะครับ ในแง่ของประสิทธิภาพการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร เมื่อผนวกเข้ากับความสนใจ ใส่ใจที่จะบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนตนเองผ่านกิจกรรมต้มเกลือที่ค่อนข้างหมดหน้าที่ทางสังคมไปแล้ว ต้องยอมรับว่า กลุ่มพี่ ๆ ผู้ชายที่บ่อสองสาวพี่น้องมีพลัง และความมุ่งมั่นตั้งใจ จนน่าจะทำให้การต้มเกลือสินเธาว์ที่นี่กลับมีชีวิตขึ้นมาใหม่ในอีกสถานะหนึ่งในเร็ววันนี้

อย่างไรก็ดี บ่อโพธิ์กลับเป็นกรณีแตกต่างที่น่าสนใจติดตาม

หลายปีก่อน บ่อโพธิ์ประสบปัญหาอุทกภัย ต้มเกลือไม่ได้อยู่ระยะหนึ่ง จึงมีผู้สั่งเกลืออีสานจากบ้านดุงมาจำหน่าย โดยไม่บอกที่มาที่ไป ประหนึ่งว่าเกลือเม็ดใหญ่ใส่ถุงวางเต็มหน้าร้านรวงริมถนนยาวต่อเนื่องหลายร้อยเมตรนั้น เป็นเกลือต้มของชาวบ่อโพธิ์เอง

ตอนที่ผมขี่จักรยาน touring มาพบและซื้อเกลือไปในครั้งแรกนั้น ผมจึงซื้อเกลือบ้านดุงไปนั่นเองครับ โดยที่คนขายเกือบทั้งหมดต่างก็ไม่อธิบายขยายความ ปล่อยให้เรื่องราวคลุมเครือ ขณะที่ป้ายประชาสัมพันธ์ “บ่อเกลือโบราณพันปี” ของทางการก็ติดตั้งไปทั่วทุกหัวระแหง ประวัติ ขั้นตอน พิธีกรรม วิธีการต้ม ฯลฯ มีเขียนอธิบายไว้ยืดยาวทั้งบนแผ่นป้ายและโซเชียลมีเดีย แต่เกลือที่วางขายอยู่นั้น เกินกว่าร้อยละ 95 เป็นเกลือจากบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี

ในประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างของเกลือบ่อโพธิ์จึงมีเรื่องที่ไม่ได้เล่าแทรกอยู่ด้วย มันอาจเป็นความเคยชิน ที่การสั่งเกลือต่างถิ่นเข้ามาขายเป็นงานสะดวกสบาย ไม่ต้องตั้งเตาต้มให้เหนื่อยยาก นักท่องเที่ยว ตลอดจนผู้บริโภคเองก็ปราศจากความสนใจใส่ใจที่มาที่ไป สิ่งที่คนต้มเกลือรายท้าย ๆ อย่างพี่มาลัยบอกผมเมื่อสองปีก่อนก็คือ เหลือต้มกันอยู่ไม่เกินห้าราย มิหนำซ้ำร้าย ปีนี้น้ำในบ่อโพธิ์เกิดไม่เค็มพอจะต้มเกลือได้เสียอีก เลยน่าจะเป็นปีแรกที่ไม่มีการต้มเกลือที่บ่อโพธิ์

แต่ยังมีเกลือวางขายเต็มสองข้างทาง ดูขาวพราวละลานตาไปหมด

ผมคิดว่า คงมีเหตุผลมากมาย ที่ทำให้เกลือสินเธาว์จากบ่อเกลือในหุบเขานครไทย ซึ่งเคยมีความสำคัญมากตลอดนับร้อย ๆ ปี เริ่มหมดความจำเป็นลง จนดูท่าว่าจะสูญไปจนเหลือเพียงอาคารสาธิต หรืออาจต้องระเห็จไปกระจุกตัวอยู่ในมุมเล็ก ๆ ของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในเร็ววันนี้ ตั้งแต่ความเหนื่อยยาก สิ้นเปลืองแรงงานบุคคล ขณะที่เกลือสูบน้ำตากแดดเป็นแปลงใหญ่ ๆ แบบกึ่งอุตสาหกรรมของนาเกลือมหาสารคาม บ้านดุง พิมาย มีต้นทุนผลิตต่ำกว่ามาก ภาระการงานประจำในชีวิตผู้คนอาจเริ่มเปลี่ยนไป กระทั่งภาพจำของคนต้มเกลือ ซึ่งดูเป็นอาชีพโบราณ ไม่มีพัฒนาการผลกำไร ทั้งยังทำได้แค่ช่วงระยะสั้น ๆ ไม่สามารถต้มได้เมื่อน้ำเกลืออ่อนความเค็มในฤดูฝน 

นอกจากนี้ ยังปราศจากการส่งเสริมในแง่การพิสูจน์ทราบ แยกแยะ อธิบายรายละเอียดรสชาติพิเศษและสรรพคุณของเกลือสินเธาว์แต่ละแหล่ง ซึ่งมันย่อมมีแร่ธาตุ น้ำ กระบวนการตกผลึก กระทั่งสภาวะปลอดสารเคมี ในกรณีเกิดจากสายแร่ในหุบเขาที่ไม่มีการทำเกษตรอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อย่างเช่นบ่อโพธิ์ ฯลฯ ภาระสำคัญนี้ควรเป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานรัฐ แทนที่จะมุ่งส่งเสริมชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวแต่ถ่ายเดียวอย่างในปัจจุบัน

มันเป็นการเพิ่มมูลค่าให้เกลือสินเธาว์ ที่ถูกมองแง่ลบมาตลอดในวงการอาหารและสาธารณสุขไทย แถมทำง่าย ๆ เพียงแค่พิสูจน์แยกแยะคุณสมบัติขั้นพื้นฐานเท่านั้นเอง

อย่างไรก็ดี ผมอยากตั้งข้อสังเกตว่า ลึก ๆ แล้ว เรื่องมันอาจวางอยู่บนฐานของสังคมการครัวที่“ไม่สนใจเกลือ” อย่างสังคมไทยก็เป็นได้ ลองดูไปเถิดครับ เรารู้จักเกลือกันมากน้อยแค่ไหนในครัวไทยปัจจุบัน เราเคยสนใจความแตกต่างของรสเกลือแต่ละแหล่งที่มา อย่างเช่นคนสมัยศตวรรษที่แล้วบ้างหรือเปล่า ตำรับตำราอาหารไทยมีพูดถึง“รส” ของเกลือ กระทั่งใช้เกลือในฐานะจุดเด่นของรสเค็มในกับข้าวแต่ละสูตรแค่ไหนกัน

นักท่องเที่ยวจึงสามารถซื้อเกลือบ้านดุงที่บ่อโพธิ์ได้โดยไม่เคยเฉลียวใจว่า เกลือสมคบคิดเหล่านี้ไม่ได้มาจากบ่อโบราณพันปีริมลำน้ำเฟี้ย ที่วางตัวสงบนิ่ง ปราศจากกิจกรรมใด ๆ อยู่ด้านล่างขอบทางลงไปไม่ไกลนั้นแม้แต่น้อย

นักเรียนโบราณคดีมักสนใจ “ชะตากรรม” ของโบราณสถานด้วย นอกเหนือจากอายุความเก่าแก่ เรื่องราวของผู้สร้าง ตลอดจนรูปแบบศิลปะสถาปัตยกรรม 

ตอนที่ไปเก็บข้อมูล ถ่ายภาพโบราณสถานอโรคยาศาล ศาสนสถานแบบเขมรประจำโรงพยาบาลสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในอีสานนั้น ผมพบด้วยความประหลาดใจว่า อโรคยาศาลทั้ง 32 แห่งในอีสาน แม้สร้างขึ้นพร้อม ๆ กัน หน้าตาเหมือนกันเป๊ะ ด้วยเป้าประสงค์เดียวกัน ทว่า หลังผ่านห้วงเวลากว่าเจ็ดศตวรรษ ก็ไม่มีแห่งไหนเหมือนกันเลย

มนุษย์ที่เข้าไปสัมพันธ์กับพื้นที่นั้น ๆ ล้วนกำหนด ใช้งาน และลงมือเปลี่ยนแปลงโบราณสถานศิลาแลงเหล่านี้ไป จนไม่มีแห่งไหนคงสภาพเดิมอีกแล้ว

บ่อเกลือจำนวนมากในหุบเขานครไทยก็คงเช่นเดียวกัน จากร่องรอยหลักฐานประวัติศาสตร์ ความสำคัญทางเศรษฐศาสตร์โบราณคดี และคำบอกเล่าอันมีสีสัน ล้วนประกอบสร้างภาพกิจกรรมการต้มเกลืออันคึกคักในช่วงหลายศตวรรษก่อนหน้า ทว่าในปัจจุบัน บ่อเกลือที่เหลือเพียงสามบ่อ ล้วนมีชะตากรรมแตกต่างกันไป บ้างยังคงตอบสนองชุมชนเก่าซึ่งดำรงวิถีการผลิตแบบเดิมไว้ได้ บ้างกำลังโรยราและปราศจากความพยายามเชื่อมโยงความเป็นของแท้เข้ากับนโยบายการเปิดตัวสู่ภายนอก บ้างก็กำลังพยายามเบียดแทรกตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวิถีการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในพื้นที่เท่าที่ความสามารถ แรงสนับสนุน และความภาคภูมิใจในแผ่นดินเกิดจะยังคงมีพลังอยู่

สภาพพื้นที่ และกิจกรรมต้มเกลือที่บ่อโพธิ์เปลี่ยนแปลงไปเกือบหมดในช่วงเวลาแค่สิบปีที่ผ่านมา อาจเป็นอุทาหรณ์ที่ทำให้เราต้องมาคอยดูว่า จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ในช่วงสิบปีข้างหน้า