เป็ดไม่เคยพบความตายมาก่อนจนกระทั่งเขาปรากฏตัวขึ้นตรงหน้า
ความตายสวมชุดลายตาราง มีรอยยิ้มเปื้อนหน้า และซ่อนทิวลิปสีแดงก่ำไว้ในมือ
Playread ประจำสัปดาห์นี้ชวนสำรวจความสัมพันธ์อันอ่อนโยนระหว่างปัจเจกและความตายที่ไม่มีใครสามารถหลีกหนีได้ เงียบงันทว่าชัดเจน ว่างเปล่าทว่าท่วมท้น ลุ่มลึกสุดจะบรรยาย ผ่านหนังสือภาพเล่มบางสัญชาติเยอรมัน Duck, Death and the Tulip หรือ เป็ด ความตาย และดอกทิวลิป
เป็ด
“ฉันอยู่ใกล้เธอมาตลอดชีวิต – เผื่อไว้ก่อน” ความตายว่า
“เผื่อไว้ก่อนหรือ” เป็ดถาม ตัวแข็งทื่อทำอะไรไม่ถูก แต่ใครจะไปโทษเป็ดได้ – หากเป็นเรา ๆ ก็คงตกใจไม่มากก็น้อยกันทั้งนั้น
ความตายไม่ได้มาพร้อมกับความหนาวเหน็บ โรคร้าย จิ้งจอก หรือสรรพสิ่งน่ากลัวอื่นใดในสายตาของเป็ด เพราะนั่นเป็นหน้าที่ของ ‘ชีวิต’ ที่จะตระเตรียมไว้ให้ต่างหาก กลับกันความตายมาพร้อมกับรอยยิ้มอันเป็นมิตร ที่หากลืมไปชั่วครู่ว่าเขาเป็นใคร เป็ดก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาช่างนิสัยดีเสียจริง ๆ
ทั้งสองใช้เวลาร่วมกันฉันท์เพื่อน จากคนแปลกหน้ายามนี้แปรเปลี่ยนเป็นมิตรภาพ เป็ดไม่ได้ตัวสั่นเทาเมื่ออยู่ใกล้ความตายอีกต่อไป ในขณะเดียวกันความตายได้ลองเล่นน้ำ ปีนป่ายต้นไม้ไปพร้อมกับเป็ด บทสนทนามากมายถูกแลกเปลี่ยนเมื่อสายสัมพันธ์แสนอ่อนโยนดำเนินไป
มีความเชื่อมากมายในหมู่เป็ดว่าด้วยชีวิตหลังความตาย บ้างก็ว่าเมื่อตายไปแล้วเป็ดจะกลายเป็นนางฟ้า นั่งอยู่บนหมู่เมฆมองลงมายังพื้นโลก (ก็อาจจะใช่นะ เธอมีปีกอยู่แล้วนี่ – ความตายว่า) บ้างก็ว่าถ้าเป็ดตัวไหนประพฤติตัวไม่ดียามมีชีวิต ก็จะตกลงไปโดนปิ้งในห้วงลึกของโลก (เป็ดนี่มีเรื่องราวน่าสนใจเยอะจริง ๆ แต่ใครจะไปรู้กันล่ะ – ความตายว่า)
นอกจากนี้ชีวิตของเป็ดก็ไม่ได้มีเพียงเป็ดเท่านั้น เพราะเป็ดยังมีสายสัมพันธ์กับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ดั่งที่เรามีต่อคนที่รัก สถานที่สำคัญ หรือสัตว์เลี้ยงขนฟูที่บ้าน วันดีคืนดีความฉงนสนเท่ห์จึงแปรเปลี่ยนเป็นคำถามอย่าง ‘บ่อน้ำจะเป็นอย่างไร’ หากเป็ดจากไปแล้ว
จะเหงา
จะเศร้า
จะคิดถึงเป็ดบ้างไหม
เพราะแม้ว่าเป็ดจะโอบกอดความตาย ก็ยังมิวายห่วงคนที่อยู่ข้างหลัง
“เมื่อเธอจากไป บ่อน้ำก็จะจากไปเช่นกัน อย่างน้อยก็สำหรับเธอ”
ความตายตอบอย่างเรียบง่าย เป็ดก็โล่งใจขึ้นเปราะหนึ่ง
วันเวลาดำเนินไป ทั้งสองก็เริ่มไปบ่อน้ำน้อยลงเมื่อเป็ดเริ่มแก่ตัวลงตามอายุขัย จนถึงวันสุดท้ายเมื่อฤดูร้อนลาจาก แทนที่ด้วยลมหนาวและหิมะที่ตกลงสู่พื้นโลก
นั่นคือวันที่เป็ดจากไปโดยมีความตายอยู่เคียงข้าง ความตายอุ้มร่างเป็ดที่แน่นิ่งไปยังแม่น้ำใหญ่ วางดอกทิวลิปไว้บนตัวก่อนบรรจงวางเป็ดบนน้ำแล้วผลักเบา ๆ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้กระทั่งความตายเองก็ยังสะเทือนใจเล็กน้อย
ทว่าชีวิตก็เป็นอย่างนั้น
ความตาย
ความตายไม่ได้มีเพียงมิติอันแสนน่ากลัวอย่างที่คิด
อย่างน้อยก็ตามที่เราเห็นบนหน้าสื่อยุคนี้
นอกจากความเชื่อทางศาสนาที่ว่าด้วยความตาย ตลอดหลายปีมานี้เราเห็นภาพมานุษยรูปบุคลาธิษฐาน (anthropomorphic personification) ของความตายหลากรูปแบบบนหน้าจอสื่อป๊อบร่วมสมัยอย่างภาพยนตร์และซีรีส์ โดยแต่ละการตีความต่างทำให้ความตายมีบุคลิกและความหมายที่ต่างกันออกไป
ยกตัวอย่างเช่น หมาป่าพญายม (Puss in Boots: The Last Wish) ที่หมายเอาชีวิตของพุซ แมวส้มที่ไม่เห็นคุณค่าของการมีชีวิต ทว่าก็ละเลิกไปหลังเจ้าแมวกลับมาให้ความสำคัญกับการมีชีวิตอยู่อีกครั้ง หรือเดธ (The Sandman) พี่สาวคนโตของตระกูลเทพเจ้าดิเอนด์เลส ผู้จูงมือผู้จากไปด้วยความอ่อนโยน ต้อนรับพวกเขาสู่อ้อมอกของความตายด้วยความอบอุ่น
หรือแม้กระทั่ง ไพ่ Death ในสำรับไพ่ทาโรต์ชุดใหญ่ที่คนมักใจหายใจคว่ำยามจั่วได้ เพราะมักถูกให้ความหมายตรงตัวว่า ไม่มีสิ่งใดคงทน ถาวร ทว่าบางครั้งก็ถูกแทนที่และตีความเป็นการเกิดใหม่ (Rebirth) มองความตายเป็นส่วนหนึ่งของวงจรที่ดำเนินต่อไป เมื่อมีการตาย ก็มีการเกิดใหม่ หาใช่จุดจบของทุกสิ่ง
ทุกการตีความที่ว่ามา คือการให้ความหมายใหม่กับความตายที่เราชื่นชอบ เพราะล้วนเป็นการตีความที่เปิดมุมมองเรื่องการจากไปซึ่งต่างจากนิยามกระแสหลัก
ความตายในเป็ด ความตาย และดอกทิวลิปเองก็เช่นกัน เพราะเป็นการนำเสนอภาพความตายอย่างเรียบง่าย บางครั้งเป็ดก็รู้สึกอึกอักกับการพูดถึงความตายอย่างตรงมา เพราะการพูดถึงความตายไม่ใช่ประเด็นสนทนายอดฮิตสำหรับเป็ดตัวน้อยไร้เดียงสา หรือแม้กระทั่งเป็ดที่เติบใหญ่
อย่างไรก็ตามความตายกลับไม่ลังเลที่จะพูดถึงความตาย ซึ่งคงทำให้เป็ดน้อยใหญ่ที่พลิกหน้ากระดาษอ่าน ได้รู้จักความตายในอีกมุมหนึ่งไม่มากก็น้อย
ดอกทิวลิป
ความเชื่อ ความไว้ใจ และความรักที่ไม่มีวันตาย คือความหมายตามภาษาดอกไม้ของทิวลิปสีแดง
อย่างไรก็ตามแม้หนังสือเล่มนี้จะตีพิมพ์มาแล้วหลายปี แปลไปแล้วหลายร้อยภาษา แต่ก็ยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า ทิวลิปสีแดง ตามทัศนะของผู้แต่งเป็นภาพแทนของสิ่งใด เมื่อดอกทิวลิปปรากฏให้เห็นบนหน้ากระดาษเพียงตอนเป็ดและความตายแรกพบ และกลับมาอีกครั้งยามลาจากเท่านั้น
สำหรับเราในแง่หนึ่ง ดอกทิวลิปแดงหมายถึง ความทรงจำ ที่ความตายไม่ได้ซ่อนไว้ตลอดเรื่อง หากแต่ปรากฏในรูปแบบของประสบการณ์ สถานที่ และสิ่งต่าง ๆ ที่เป็ดอยากจดจำ กรองไว้เพียงเท่านั้น และจากไปเมื่อยามที่เป็ดจากไป
สำหรับเรา ดอกทิวลิปแดงอาจไม่ปรากฏตัวอีกครั้ง หากเป็ดยังคงหวาดกลัวความตายเสียจนไม่กล้าออกไปใช้ชีวิต แน่นอนว่า เป็ดอาจพบกับความหนาวเหน็บ โรคร้าย จิ้งจอก หรือสรรพสิ่งน่ากลัวอื่นใด แต่เป็ดเองก็ได้พบกับความทรงจำอันแสนล้ำค่าของการโอบกอดการมีชีวิตและความตายที่สักวันหนึ่งจะต้องมาถึง
เป็ดเชื่อในชีวิตและความตาย
เป็ดไว้ใจชีวิตและความตาย
ความรักของเป็ดที่มีต่อการใช้ชีวิตและไม่เกรงกลัวต่อความตาย ก็คือความรักที่ไม่มีวันตายของเป็ดที่มีต่อตัวเองเช่นกัน
เมื่อถึงวันที่เป็ดหลับไปตลอดกาล มีดอกทิวลิปสีแดงวางบนอก ลอยไปตามแม่น้ำใหญ่ไกลสุดลูกหูลูกตา – ความรักนี้ก็จะอยู่กับเป็ดตราบชั่วนิรันดร์
Playread: Duck, Death and the Tulip
ผู้เขียน: Wolf Erlbruch
สำนักพิมพ์: GECKO PRESS
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี