… หูของเราเคยชินกับเสียงจิ้งหรีด ก็ได้ยินเสียงจิ้งหรีด
หูของใครคุ้นกับเสียงอะไร ย่อมได้ยินเสียงนั้น
หลังวัดใหม่อมตรส ถนนวิสุทธิกษัตริย์ตัดเข้าไปถนนสามเสน นี่คือย่านบางขุนพรหม ย่านที่เต็มไปด้วยกิจการที่มีคนจีนเป็นผู้ครอบครอง โดยหลักจะเป็นธุรกิจโรงแรมที่รองรับลูกค้า ตั้งแต่ช่วงเช้าจนมืดค่ำ
บัวรีเติบโตขึ้นที่นั่น ทว่าไม่ใช่บริเวณพื้นที่โรงแรมหรู แต่อยู่ห่างออกมาหน่อย ในซอยที่ทุกรั้วบ้านจะทาสีฟ้าเด่นเป็นสัญลักษณ์ ประดับประดาด้วยโคมแดงสีสด และกลิ่นแห่งกามอารมณ์ที่โชยมาจากชายหนุ่มที่แสวงหาความสุขจากหญิงสาว
ขณะเดียวกันผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ก็ดูเหมือนจะปิดตาข้างหนึ่งเสมือนว่าไม่มีอาชีพนี้อยู่ในสารบบ แต่อีกมือก็รับประโยชน์จากร้านอาบอบนวดที่ต้องมาขออนุญาตจากสำนักงานตำรวจในพื้นที่
ปัจจุบันซ่องบางขุนพรหมล่มสลายไปตามกาลและเวลา กลายมาเป็นห้องเช่าสำหรับผู้เช่าที่ต้องการห้องเช่าราคาถูก ไม่ว่าจะเป็นกรรมกร ผู้ใช้แรงงานทั่วไป ลูกจ้าง หรือกระทั่งข้าราชการ
ส่วนร้านอาบอบนวดที่มีฉากหลังเป็นขบวนการค้ามนุษย์และฟอกเงิน ก็กำลังถูกชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์เดินหน้าตรวจสอบเส้นทางของผู้มีอิทธิพลที่หาประโยชน์จากคนมีสี
“ซ่องที่ดังที่สุดตอนนั้นก็คือบ้านสีฟ้า ราคาตอนนั้นก็ 70-80 บาท ซ่องแถวนั้นห้องน้ำก็ยังไม่มี อาบรวมหมด มีแค่แท๊งค์น้ำใหญ่ คนมาเที่ยวเสร็จก็จะออกมาอาบน้ำ 20-30 คน ไม่อายกัน ในห้องก็มีแค่กระโถนกับทิชชู่ไว้ทำความสะอาด” คุณลุงคนหนึ่งให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวผู้จัดการ
ตอนอายุราว 5-6 ขวบ บัวรีมักจะถามบัวไรผู้เป็นแม่ว่าพ่อของเธอคือใคร แต่ก็มักจะถูกบัวไรตอบกลับด้วยน้ำเสียงโมโหว่า ‘มึงจะมาสนใจอะไรกับคำว่าพ่อ มันไม่มีประโยชน์อะไรกับชีวิตมึงหรอก’
บัวไรหญิงสาวผมดำเงาตัดเสื้อผ้าสีหวานสด เธอเป็นหญิงสาววัยเกือบจะสี่สิบที่ในพจนานุกรมของรัฐไทยเรียกพวกเธอว่าโสเภณี โดยมีสำนักงานอยู่ในซ่องบางขุนพรหม ในชื่อที่เรียกว่าบ้านน้ำพุ
เธอเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นดาว เพราะความสวยที่สะกดผู้ที่เข้ามาแสวงหาความสุขจากเธอได้อย่างอยู่หมัด แต่นั่นก็มาพร้อมกับคำครหาเหน็บแนมว่าคนอย่างพวกเธอมันเป็นอีผู้หญิงหากิน
ยามเย็นบ้านทุกหลังจะกลายเป็นวิมานที่ประดับประดาด้วยแสงสีวิบวับ อาหารการกินที่ได้รับความนิยมก็เป็นพวกส้มตำน้ำตก พร้อมทั้งกลิ่นแห่งกามารมณ์ที่คลุ้งไม่แพ้ส้มตำ นอกจากบ้านน้ำพุแล้ว ในซ่องบางขุนพรหมก็ยังมีบ้านอื่น ๆ ที่ได้รับความนิยมลดหลั่นลงมา อาทิ บ้านลีฟวิ่ง บ้านตา หมาน หรือบ้านสายฝน
แม้ความนิยมชมชอบในตัวบัวไรจะลดน้อยลง สวนทางกับอายุที่มากขึ้นจนต้องหันไปทำงานเชียร์แขก ทว่าไม่ได้มีเพียงอายุของบัวไรที่มากขึ้น แต่บัวรีก็เช่นกัน หลังจากรายได้จากการเชียร์แขกเริ่มไม่พอกับค่าเทอมและค่ากินของลูก บัวไรก็จำต้องหวนกลับมาทำงานขายเรือนร่างอีกครั้ง
หญิงสาววัยกลางคนรวมกันอยู่ที่นี่มากมายบนนิยามของรัฐ แม้ไม่ได้มีลูกเหมือนแม่ของเธอ แต่ก็อยู่บนเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่ยากจะออกจากงานนี้ได้เช่นกัน ทำให้บัวรีสามารถเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ย่านบางขุนพรหมได้แบบไม่ขาดตกบกพร่อง
ช่วงเดียวกับที่บัวรีเริ่มประสีประสา สภาพแวดล้อมของย่านบางขุนพรหมก็เริ่มคึกคักขึ้น เช่นเดียวกันกับซ่อง ที่หลายร้านก็พยายามแข่งขันกันหลายรูปแบบ อาทิ บางร้านก็เปิดเป็นร้านคาราโอเกะด้วยตู้เพลงรุ่นใหม่ บางร้านทำคล้ายสวนอาหารที่เต็มไปด้วยอาหารรสเด็ด และที่ขาดไม่ได้ก็คือการนำเด็กสาวคนใหม่ ๆ เข้าสู่โลกโคมแดง
“ถึงแม้คนอย่างพวกเราจะเกิดในสังคมที่อับเฉา แต่เราก็สวยงามได้” แม้จะในย่านบางขุนพรหมจะมีหญิงสาวหน้าใหม่ผ่านเข้ามาเป็นจำนวนมาก คำสอนของแม่บัวไรก็ยังก้องอยู่ในใจของบัวรี ทว่าไม่ใช่เรื่องที่สถานที่แห่งนี้เป็นที่อับเฉา แต่เป็นนัยที่ว่า ‘เราทุกคนล้วนสวยงาม’
ปัจจุบันบัวรีอายุ 23 ปีที่ยังเชื่อว่าโสเภณีก็เป็นคน และเป็น 23 ปีที่บัวรีและบัวไรมีตัวตนอยู่บน ฤาไม่สิ้นกลิ่นกามรส หนังสือรวมเรื่องสั้นของวีรพล จ้อยทองมูล และนิคม ชาวเรือ แม้เรื่องสั้นเล่มนี้จะถูกขีดเขียนผ่านสายตาของผู้ชาย และค่อนข้างมีน้ำเสียงที่เหมารวมว่า ‘ผู้หญิงจะต้องเป็นแบบนี้’
แต่มันก็ทำให้เห็นว่าเป็นเวลากว่า 23 ปีแล้ว ที่โสเภณีมีตัวตนอยู่อย่างไรบนทัศนคติของความเป็นชาย มีตัวตนอย่างไรบนพจนานุกรมของรัฐ แต่ที่เด่นชัดที่สุดก็คงเป็นเรื่องที่พวกเธอกลับไม่มีตัวตนบนกฎหมาย
จากการสำรวจบน Havocscope และ Gitnux รายงานว่าบนตัวเลขที่ใกล้เคียงกันว่า ในประเทศไทยมีผู้ประกอบอาชีพให้บริการทางเพศอยู่ประมาณ 200,000-300,000 คน และสร้างรายได้ให้ประเทศไทยราว 6.4 พันล้านดอลลาร์ต่อปี
ทว่ากฎหมายของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับการค้าบริการทางเพศ มีหลักคิดที่มองว่า ‘การค้าประเวณีเป็นอาชญากรรม’ ซึ่งบทบัญญัติต่าง ๆ มักมุ่งเน้นที่จะปราบปรามการค้าบริการทางเพศทั้งทางตรงและทางอ้อม
โดยเฉพาะพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ที่ตั้งแต่มาตรา 5 ถึงมาตรา 13 มีเจตนาในการลงโทษผู้ให้บริการทางเพศ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และผู้ที่อำนวยให้เกิดการค้าบริการทางเพศ ซึ่งปัจจุบันเครือข่ายที่ทำงานรณรงค์ในเรื่องดังกล่าวล้วนมองว่ามันล้าสมัยไปเสียแล้ว
ขณะนี้สภาได้ผ่านร่างพ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมด้วยคะแนนเสียงอย่างล้นหลาม และในวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ในที่ประชุมวุฒิสภาได้โหวตผ่านร่างดังกล่าวในวาระหนึ่ง พร้อมให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 27 คนเพื่อพิจารณาร่างฯ ในวาระที่สองต่อไป
แต่ในการขับเคลื่อนเรื่องความหลากหลายทางเพศ ยังมีประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายด้านผู้ให้บริการทางเพศ ที่ยังคงไร้การคุ้มครองและเต็มไปด้วยความท้าทาย แต่อย่างน้อยที่สุดคือการเข้าใจว่าผู้ให้บริการทางเพศเหล่านี้ไม่ใช่อาชีพพิเศษ และไม่ใช่ผู้กระทำความผิดแม้บนนิยามของกฎหมาย
ซึ่งทำให้การทบทวนและแก้ไขพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 เป็นเรื่องจำเป็นยิ่ง ที่จะเห็นได้จากนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองต่าง ๆ ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 อย่างการสนับสนุนให้ยกเลิกมาตรา 6 ที่ว่าด้วยการจำคุกผู้ให้บริการทางเพศ และมาตรา 7 ที่ว่าด้วยการระวางโทษต่อผู้ให้บริการทางเพศกับผู้ที่มีเพศสภาพเหมือนกันของพรรคไทยสร้างไทย ร่างพ.ร.บ. การบริการทางเพศและคุ้มครองผู้ให้บริการที่มุ่งเน้นให้ผู้ให้บริการทางเพศต้องลงทะเบียนเพื่อเข้ารับสิทธิ์ต่าง ๆ หรือของพรรคสามัญชนที่เสนอว่าให้ยกเลิกพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ไปเสียเลย
หากเราได้ยินเสียงที่เราคุ้นเคย เสียงนั้นก็อาจเป็นเสียงแห่งการเรียกร้องของผู้ที่ไม่มีตัวตนบนฉากทัศน์ของรัฐ และเสียงของบัวรีและบัวไรที่ยังคงดังสนั่นมาตั้ง 23 ปีว่า
“กะหรี่อย่างเธอก็มีหัวใจ โสเภณีอย่างเธอก็มีเลือด มีเนื้อ มีวิญญาณ และมีสำนึกในความเป็นคน”
Playread: ฤาไม่สิ้นกลิ่นกามรส
ผู้เขียน: วีรพล จ้อยทองมูล และ นิคม ชาวเรือ
สำนักพิมพ์: ลุ่มเจ้าพระยา
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี