ไรเดอร์(ฝาก)ถาม ไลน์แมน(อยาก)ตอบ ก้าวสองหรือถอยสาม? ทางไกลของ ‘เศรษฐกิจแพลตฟอร์มที่เป็นธรรม’ ในสังคมไทย - Decode
Reading Time: 4 minutes

ใกล้ 10 ปีที่ธุรกิจแพลตฟอร์มได้กลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของผู้คน ไม่ว่าจะกินข้าว เดินทาง งานบ้านหรือทำธุรกิจก็ล้วนสามารถใช้บริการของบริษัทแพลตฟอร์มได้ทั้งสิ้น

แต่ถึงอย่างนั้น กฎหมายที่บังคับใช้และคุ้มครองแรงงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นเศรษฐกิจหลักของประเทศไปแล้วนั้นยังไม่ถึงไหน ภายใต้ข้อถกเถียงและการเรียกร้อง สิ่งที่ดูจะยังคลุมเครือไม่เปลี่ยนแปลงคือเรากำลังมุ่งสู่เศรษฐกิจแพลฟอร์มที่เป็นธรรมแบบใด ในเมื่อช่องโหว่ของการคุ้มครองแรงงานรวมถึงการตอบสนองความต้องไรเดอร์จากบริษัทยังคงต้องเว้นวรรคไว้จากรัฐที่ยังไม่ปรากฏชัดว่าจะเป็นผู้เล่น กรรมการ หรือเป็นคนดูในการแข่งขันมูลค่าแสนล้านนี้

ขึ้นลิฟท์ไปชั้น 27 บนตึก T ONE หาคำตอบในทุกเม็ดเงินและโปรโมชันที่เกิดขึ้นเพื่อความ คุ้มค่า ใครบ้างที่คุ้มได้และใครบ้างที่ต้องรู้สึกว่าไม่คุ้มเอาเสียเลย แล้วกลไกหรือข้อจำกัดอะไรที่ทำให้ความคุ้มค่าของเราไม่เท่ากันกับ อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ รองประธานฝ่ายนโยบายสาธารณะและรัฐกิจสัมพันธ์ LINEMAN Wongnai

หลายเรื่องที่ไรเดอร์อยากถามและหลายอย่างที่แพลตฟอร์มไลน์แมนอยากทำความเข้าใจกับสังคมให้ตรงกัน หรือเพราะความคุ้มค่าในแต่ละออเดอร์ของเราไม่เท่ากัน ทำให้วันนี้สังคมไทยยังไปไม่ถึงฝันเศรษฐกิจแพลตฟอร์มที่เป็นธรรมสักที

งานพ่วง งานไกล งานไหนก็วิ่งหมด เพราะอะไรถึงยังต้องลดค่ารอบไรเดอร์?

ทุกการเรียกร้องของไรเดอร์มักจะมีต้นเหตุมาจากการประกาศการลดค่ารอบเริ่มต้น ในขณะที่ราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนหลักในการประกอบอาชีพไรเดอร์มีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงค่าอุปโภค-บริโภคอื่น ๆ 

ทำไมในค่ารอบขั้นต่ำเพียงระยะเวลา 5 ปี จากค่ารอบขั้นต่ำราว 60 บาท เหลือเพียง 30 บาทหรือหายไปกว่าครึ่ง โดยเฉพาะในหลายจังหวัดเหลือเพียง 15 บาทเท่านั้น

อิสริยะอธิบายว่า เหตุผลที่แพลตฟอร์มต้องลดค่ารอบในครั้งนี้ สาเหตุหลักมาจากดีมานด์-ซัพพลายไม่ตรงกัน 

อธิบายให้ชัดเจนขึ้น เหตุผลที่แพลตฟอร์มไลน์แมนต้องทำการปรับค่ารอบในครั้งนี้ เกิดจากไดนามิก(ความต้องการซื้อ-ส่งออเดอร์) ของพื้นที่ย่านธุรกิจหรือโซนสีแดง(ปทุมวัน สุขุมวิท เป็นต้น)ไม่สอดคล้องกัน เพราะในปัจจุบัน ย่านดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีคำสั่งซื้อและร้านค้าอยู่มากที่สุด แต่ช่วงพีกไทม์กลับมีไรเดอร์ไม่เพียงพอ จึงต้องการให้ไรเดอร์เข้ามาวิ่งรับงานในโซนนี้มากขึ้นผ่านการปรับค่ารอบขั้นต่ำและเพิ่มอินเซนทีฟในการเข้ามาวิ่งงานตรงนี้

อิสริยะ อธิบายเพิ่มเติมด้วยว่าการแบ่งโซนของพื้นที่จะแบ่งตามความหนาแน่นของร้านค้าและคำสั่งซื้อ เช่น พื้นที่ธุรกิจ(สีแดง) คือบางรัก ห้วยขวาง คลองเตย ปทุมวัน สัมพันธวงศ์ วัฒนา พื้นที่รอบนอก(สีเหลือง) คือพื้นที่อื่น ๆ ในกทม. นอกเหนือจากพื้นที่ธุรกิจใจกลางเมืองกรุงเทพฯ และพื้นที่ปริมณฑล(สีเขียว) เป็นต้น

พีกไทม์ของวันจะมีอยู่ 2 ช่วงคือช่วงบ่ายจะอยู่ที่ 11.00 น. -14.00 น. ในขณะที่ช่วงเย็นจะเป็นเวลา 17.00 น. -20.00 น. โดย 2 ช่วงเวลาดังกล่าวคือช่วงเวลากินข้าวในแต่ละวัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าในใจกลางเมืองที่มีปริมาณประชากรและร้านค้าอยู่จำนวนมาก ทำให้ออเดอร์ในโซนนี้จึงมากตาม

แม้ว่าตอนนี้ไลน์แมนจะมีไรเดอร์ในระบบทั่วประเทศราว 100,000 กว่าคน แต่อิสริยะกล่าวว่าแต่ตัวเลขของไรเดอร์นี้ไม่ได้วิ่งอยู่บนท้องถนนทั้งหมด รวมถึงไดนามิกของไรเดอร์จากการเลือกเวลาทำงานอิสระก็คาดเดาไม่ได้และไม่สามารถบังคับให้ไรเดอร์เข้ามารับออเดอร์ในพื้นที่นี้ได้ รวมถึงไดนามิกของออเดอร์ที่เข้ามาในแต่ละวันก็กำหนดไม่ได้เช่นกัน ทำให้บริษัทต้องใช้เครื่องมือคือค่ารอบเพื่อทำให้ไดนามิกนี้สมดุลกันมากขึ้น

“ธุรกิจเดลิเวอรีมีข้อจำกัดตรงดีมานด์กับซัพพลายไม่พอดีกัน เช่น ตอนเที่ยงกับตอนเย็นที่เป็นช่วงมื้ออาหารจะมีปริมาณคำสั่งซื้อมากกว่าปกติ ไรเดอร์จะไม่พอ โดยในช่วงบ่ายหรือช่วงที่ไม่ใช่พีกไทม์จะเห็นว่าค่อนข้างว่างงาน ซึ่งในมุมของแพลตฟอร์ม อยากเห็นไรเดอร์ออกมาขับในช่วงที่มีปริมาณคําสั่งซื้อเยอะ ๆ เพื่อทำให้ตอบรับกับไดนามิกดังกล่าว”

และในส่วนของการปรับโครงสร้างค่ารอบ เป็นการปรับในส่วนของค่ารอบพื้นฐาน (Based fare) แต่ไปเพิ่มในส่วนของโบนัส (Incentive) ออร์เดอร์ละ 5-15 บาท ในช่วงเวลาหรือพื้นที่ที่มีออร์เดอร์เยอะแทน เป็นการจูงใจให้ไรเดอร์รับงานในช่วงที่มีคำสั่งซื้อสูง เพื่อแก้ปัญหาเรื่องดีมานด์กับซัพพลายและป้องกันการเสียลูกค้าหากไม่มีไรเดอร์รับงาน

“ระบบนี้ทำให้ราคามีความเป็นไดนามิกมากขึ้น แทนที่ราคาต่อรอบจะเท่ากันหมด ไม่ว่ารับงานตอนกี่โมง การปรับค่ารอบจึงเป็นกลไกเดียวที่แพลตฟอร์มมีเพื่อจูงใจให้ไรเดอร์เข้ามาวิ่งงานเพื่อตอบสนองไดนามิกดังกล่าว” อิสริยะกล่าวเสริมว่า จริง ๆ ในส่วนของค่ารอบและโบนัสจากแพลตฟอร์มไลน์แมนจะมีการปรับอยู่เรื่อย ๆ แต่จะเป็นการปรับรายพื้นที่ มีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง

อย่างไรก็ตามทางอิสริยะมองว่า หลังจากประกาศตัวเลขค่ารอบมาตรฐานที่ลดลงไป ทางแพลตฟอร์มเองก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะสร้างความไม่พอใจให้กับไรเดอร์ อาจเจอการประท้วงหลากหลายรูปแบบ เช่น ถือป้าย ยื่นหนังสือ ปิดแอปไม่รับงาน แต่ถ้าไปดูตัวเลขรายได้รวมที่เอาค่ารอบมาบวกโบนัสจะพบว่ามีไรเดอร์หลายคนรายได้ยังคงสูงเท่าเดิมและบวกลบไม่ห่างกันมากนัก

ซึ่งอิสริยะอธิบายว่า ในการปรับค่ารอบนั้นเป็นเพียงปรับค่ารอบขั้นต่ำ เมื่อนำมาบวกกับค่าอินเซนทีฟและค่าระยะทาง จะเห็นได้ว่าต่อ 1 ออเดอร์ในพื้นที่ย่านธุรกิจหรือโซนสีแดงที่มีไดนามิกสูง จะตกอยู่ที่ 70 บาท/ออเดอร์ ดังนั้นราคาต่อออเดอร์จึงไม่ใช่แค่ 30-35 บาทอย่างที่เข้าใจกัน

การจัดการไดนามิกนี้ยังสอดคล้องกับระบบงานพ่วงหรืองานแบช แม้ข้อเรียกร้องของไรเดอร์จะมองว่าเป็นการเพิ่มงานแต่ไม่เพิ่มเงินเท่าที่ควร แม้จะรับสินค้าจะที่เดียวกันแต่ปลายทางก็ห่างกันออกไป จึงควรนับเป็นอย่างละออเดอร์เพื่อให้ได้ค่าตอบแทนที่คุ้มค่าแรงมากกว่า

แต่อิสริยะอธิบายว่า ที่มาของระบบงานพ่วง เกิดจากความพยายามที่จะแก้ปัญหาเรื่องดีมานด์กับซัพพลายในช่วงพีกไทม์เช่นกัน ระบบงานพ่วงเป็นวิธีที่บริษัทแพลตฟอร์มทั่วโลกใช้กันเพื่อตอบสนองกับไดนามิกต่อร้านดังในช่วงแต่ละมื้อของวัน

โดยงานพ่วงต่องานจะอยู่ที่อัตรา 17 บาท/พ่วง เนื่องจากแพลตฟอร์มมองว่างานพ่วงเป็นรูปแบบการรับงานแบบหนึ่งงานครึ่ง คือไปสถานที่เดียวแต่ได้ 2-3 ออเดอร์ ทางแพลตฟอร์มจึงมองว่าเป็นการให้ราคาที่สมเหตุสมผล

อย่างไรก็ตาม ในการจัดการไดนามิกดังกล่าว ทางแพลตฟอร์มมองวิธีการแก้ปัญหาเป็น 2 วิธี 

อันดับแรกคือ รับไรเดอร์เพิ่ม แต่ในช่วงบ่ายเป็นต้นไปไรเดอร์จะเริ่มว่างงาน และการมีไรเดอร์ในระบบมากเกินไปจะทำให้แย่งงานกันเอง 

จนนำมาสู่วิธีที่สอง คือการพ่วงงานให้ไรเดอร์ไปส่งออร์เดอร์มากกว่า 1 ออร์เดอร์ในการวิ่งงานครั้งเดียว

“แต่ต้องยอมรับว่า ความยากของระบบงานพ่วง หรืองานที่เป็นส่วนต่อขยาย คือไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่าออร์เดอร์ที่สองจะเข้ามาเมื่อไร ส่วนนี้มี AI และระบบหลังบ้านช่วยคิดเรื่องการจัดสรรงานให้ไรเดอร์ แม้จะมีผลต่อทั้งไรเดอร์และลูกค้า แต่ทิศทางของอุตสาหกรรมทั้งในไทยและต่างประเทศเป็นเช่นนี้หมด ทุกที่ประสบปัญหาไรเดอร์ไม่พอช่วงพีกไทม์ วิธีการนี้เป็นการแก้ปัญหาที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน” อิสริยะ กล่าว

ทั้งนี้ในส่วนของตัวเลขไดนามิกช่วงพีกไทม์ซึ่งเป็นที่มาของการจูงใจให้ค่ารอบวิ่งในพื้นที่และช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีตัวเลขที่แน่นอนจากความผันผวนในธุรกิจแพลตฟอร์ม แต่อิสริยะกล่าวว่าในตัวเลขที่บริษัทได้รับข้อมูลจากทุกออเดอร์ในทุกวัน ในพื้นที่และช่วงเวลาดังกล่าวกำลังเสียไดนามิก บริษัทมีความจำเป็นจะต้องใช้กลไกเพื่อปรับสมดุลของดีมานด์-ซัพพลายให้กลับมาคงที่

โดยทางแพลตฟอร์มได้ประกาศและเน้นย้ำถึงสาเหตุหลักของการปรับค่ารอบในส่วนต่าง ๆ มาจากความพยายามที่จะรักษาสมดุลระหว่างดีมานด์กับซัพพลาย ไม่เกี่ยวกับเรื่องของผลประกอบการหรือการสร้างกำไรของบริษัท โดยราคาค่ารอบต่าง ๆ ยังคงอยู่ในเกณฑ์ของราคาตลาด

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีไรเดอร์ที่โอเคต่อค่ารอบขั้นต่ำที่ลดลง แต่ไม่ใช่ไรเดอร์ทุกคนที่ยินยอมต่อค่ารอบที่มีแนวโน้มจะลดลงเรื่อย ๆ

เพราะการปรับค่ารอบโดยจูงใจให้ไรเดอร์เข้ามาวิ่งในพื้นที่ย่านธุรกิจหรือโซนสีแดง อาจไม่สามารถปรับใช้ได้จริงกับไรเดอร์อีกจำนวนมากที่วิ่งโซนชานเมือง ทั้งการเดินทางไปทำงานที่ไกลขึ้น การทำงานในย่านที่ไม่คุ้นเคยทำให้ใช้เวลาต่อออเดอร์นานขึ้น รวมถึงปัญหาของงานพ่วง จากปากคำของไรเดอร์ก็พบว่าแม้การได้ 2-3 ออเดอร์ที่ร้านเดียวกัน แต่ปลายทางของออเดอร์ก็ยังเป็นคนละแห่ง/พื้นที่ ทำให้ต้องใช้ต้นทุนไม่ต่างจากการรับงานหลายออเดอร์อยู่ดี

ทั้งหมดคือเหตุผลและยังเป็นคำถามที่ทำให้ไรเดอร์ที่มาเรียกร้องในวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา มองว่าแพลตฟอร์มกำลังบีบให้พวกเขาใช้ต้นทุนในการทำงานมากขึ้น  ในขณะที่ผลลัพธ์ซึ่งเป็นรายได้ในแต่ละวันลดง 

เพราะเมื่ออดีต ไรเดอร์ที่วิ่งงานนอกใจกลางเมืองยังสามารถวิ่งงาน 8 ชั่วโมงต่อรายได้ 800 บาทขึ้นไป ในขณะที่ปัจจุบันไรเดอร์เหล่านี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ได้ค่ารอบขั้นต่ำเพียง 15-22 บาท ไม่สามารถทำรายได้เกิน 500 บาท ทั้ง ๆ ที่วิ่งงานนานถึง 14 ชั่วโมงก็ตาม 

เช่นนี้ แพลตฟอร์มถือว่าสามารถควบคุมไรเดอร์ได้ใช่หรือไม่ และการปรับค่ารอบเพื่อมาตอบสนองไดนามิกในพื้นที่สีแดงหรือย่านธุรกิจ บรรดาร้านค้าและผู้บริโภคในพื้นที่อื่น ๆ พึงจะได้ราคาที่ลดลงหรือการเก็บเปอร์เซ็นที่ถูกลงจากค่ารอบที่ลดลงของไรเดอร์ด้วยหรือไม่ และเกิดเป็นเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่จากไรเดอร์ ว่าไลน์แมนสนใจแต่ย่านใจกลางเมืองหลวงแต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับพื้นที่นอกเหนือจากนั้นหรือเปล่า

ด้วยเหตุผลการจูงใจของแพลตฟอร์มในข้างต้น ทำให้สถานะของไรเดอร์ในวันนี้ ยังเกิดเป็นคำถามว่าไรเดอร์=งานอิสระจริงหรือไม่ ในเมื่อสิทธิต่อรองในค่าตอบแทนของไรเดอร์วันนี้ยังไม่ปรากฏชัดและค่าตอบแทนขึ้นอยู่กับบริษัทแพลตฟอร์มเป็นหลัก

หรือเพราะจริง ๆ แล้วไรเดอร์คืออาชีพ(เกือบ)อิสระ เมื่อสถานะที่ก้ำกึ่งกำลังทำให้เกิดการคุ้มครองล่องหนทางกฎหมายและกลายเป็นสาเหตุที่ไรเดอร์ยังคงเรียกร้องให้สิทธิการต่อรองและการคุ้มครองของพวกเขามีความชัดเจนมากขึ้นกว่านี้

สถานะที่เลือนราง เพราะนิติสัมพันธ์แบบจ้างทำรายชิ้น

นับตั้งแต่ปี 2563 กลุ่มการรวมตัวของไรเดอร์เกือบทุกกลุ่ม เรียกร้องให้เปลี่ยนสถานะจากพาร์ทเนอร์เป็นลูกจ้าง เนื่องจากการทำงานของไรเดอร์ที่มีทั้งความเสี่ยง ปริมาณงาน และค่ารอบที่มีแนวโน้มจะลดลงในอนาคต ไรเดอร์พึงจะได้รับสถานะเป็นลูกจ้างที่ได้สิทธิการคุ้มครองและการต่อรองที่มากกว่านี้

ทว่า สถานะของไรเดอร์ในปัจจุบันยังกลายเป็นรูปแบบกึ่งอิสระ ซึ่งพิจารณาจากรูปแบบการวิ่งงานของไรเดอร์ในไทย ที่มีทั้งคนที่วิ่งไรเดอร์เป็นงานเสริมและคนที่พึ่งพาอาชีพไรเดอร์เป็นรายได้หลักของครอบครัว ซึ่งอาชีพกึ่งอิสระนี้กลายเป็นปัญหาต่อการนิยามแรงงานแพลตฟอร์ม และเกี่ยวโยงถึงสิทธิคุ้มครองและสวัสดิการต่าง ๆ เช่นเดียวกัน

“แม้ว่าในต่างประเทศ ไรเดอร์จะนิยมเป็นงานเสริมจากงานประจำ แต่แพลตฟอร์มเองก็เข้าใจว่าประเทศไทยมีคนที่ยึดถืออาชีพของไรเดอร์ทั้ง 2 แบบ คือวิ่งเป็นรายได้เสริมและต้องวิ่งเพื่อให้ได้รายได้หลักของครอบครัว จุดนี้เองแพลตฟอร์มก็ยังหาทางออกว่าจะหาจุดตรงกลางที่สอดคล้องกับรูปแบบของการทำงานแต่ละแบบของไรเดอร์ โดยแพลตฟอร์มนั้นนิยามตัวเองเป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยี ทำหน้าที่ตัวกลางจับคู่ความต้องการระหว่าง ไรเดอร์ กับ ผู้สั่งอาหาร ซึ่งไรเดอร์จะเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มาหาลูกค้าจากแพลตฟอร์ม

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจสถานะของไรเดอร์อ้างอิงจากบทความ ‘เมื่อโรงงานคือท้องถนน: เป็นแรงงาน = สูญเสียความอิสระจริงหรือ ?’ ความสัมพันธ์ระหว่างไรเดอร์กับบริษัทมีฐานะเป็นสัญญาตามกฎหมาย โดยเกิดขึ้นเมื่อไรเดอร์ดาวน์โหลดแอปของบริษัท ซึ่งไรเดอร์จะต้องให้การยินยอม ข้อกำหนดการให้บริการของบริษัท ในข้อกำหนดฯ ระบุสถานะ บทบาท อำนาจหน้าที่ ของสองฝ่ายไว้โดยละเอียด โดยทั่วไปข้อกำหนดให้อำนาจเต็มที่ในการปกป้องผลประโยชน์ของบริษัท และบริษัทสามารถปรับเปลี่ยนข้อกำหนดฯ ได้ตามต้องการ ดังที่เห็นเรื่องของการปรับค่ารอบและรายได้ส่วนอื่น ๆ ไป

แม้ว่าบริษัทจะกล่าวว่าเป็นพื้นที่ที่เชื่อมให้ไรเดอร์ ลูกค้า และร้านค้ามาเจอกัน แต่ภายใต้การทำงานอิสระ ไรเดอร์ยังมีเจ้านายที่ชื่อว่าอัลกอริทึม ในการจ่ายงาน ปรับชั้นขั้นยศ ตรวจเช็คจนกว่าไรเดอร์จะปิดรับงาน ทำให้ในเวลาเดียวกันงานอิสระอย่างไรเดอร์ก็ยังถูกควบคุมด้วยระบบ AI ของแพลตฟอร์ม

อย่างไรก็ตาม ตามการตีความกฎหมายแรงงานในปัจจุบัน การจ้างงานใน Gig economy ของประเทศไทยยังเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 หรือเป็นสัญญาจ้างทำของ ไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบ นายจ้าง-ลูกจ้าง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 

การตีความทางกฎหมายในฐานะที่แพลตฟอร์มเป็นพื้นที่กลางและพาให้ไรเดอร์ ลูกค้า และร้านค้ามาเจอกัน การจ้างงานอาชีพอิสระที่รับค่ารอบต่อออเดอร์แต่ยังมีเจ้านายล่องหนอย่างอัลกอริทึม อาจทำให้บริษัทมีสถานะเป็นกึ่งนายจ้างจากไรเดอร์ที่กลายเป็นสถานะกึ่งอิสระ และบริษัทไม่มีพันธะดูแลรับผิดชอบตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

“กฎหมายแรงงานของไทยมีการจ้างงาน 2 แบบ คือแบบ Fulltime และ Freelance แต่ตอนนี้มีงานที่เป็น Gig Economy หรือการรับงานรายชิ้นเข้ามา ทำให้คนทำงานมีสถานะเป็นฟรีแลนซ์ เช่น ไรเดอร์รับ-ส่งอาหาร 1 เที่ยว เป็นงาน 1 ชิ้น หรือทางนิติสัมพันธ์จะเรียกร้อง รับจ้างทำของ

แต่พื้นฐานของธุรกิจเดลิเวอรีในเชิงนิติสัมพันธ์ บริษัทไม่มีอำนาจสั่งการหรือบังคับให้ไรเดอร์มาทำงานได้เหมือนกับระบบจ้างงานทั่วไป แต่จะมีนโยบายให้ไรเดอร์รับงาน 1 รอบ ภายใน 30 วัน เพื่อรักษาสถานะในระบบ หมายความว่าในทางทฤษฎีรับงานเดือนละครั้งก็ยังเป็นไรเดอร์ของทางไลน์แมนอยู่” อิสริยะ กล่าว

อิสริยะกล่าวต่อว่า ถ้าอิงตามกฎหมายแรงงานฉบับปัจจุบัน ฟรีแลนซ์ไม่มีสวัสดิการใด ๆ รวมถึงฟรีแลนซ์ประเภทอื่น ๆ ที่รับงานเป็นรายชิ้นด้วย แต่ในมุมของแพลตฟอร์มไม่ได้ไปสุดทางขนาดนั้น มีสวัสดิการให้ อย่างแรกคือประกันอุบัติเหตุ ประกาศไปแล้วว่าไรเดอร์ทุกคนที่รับงาน มีประกันอุบัติเหตุให้ทั้งหมด

ก่อนหน้านี้ทางไลน์แมนอยากซื้อประกันให้ไรเดอร์ทุกคน แต่ด้วยข้อจํากัดเรื่องงบ อาจทำให้มีไรเดอร์บางส่วนที่ได้ประกันแบบคุ้มครองทั้งหมด ซึ่งพิจารณาจากจำนวนงานที่รับต่อเดือน ถ้ารับงานเยอะก็มีประกันให้ แต่บางคนที่ไม่ได้ขับเยอะสามารถให้ซื้อเพิ่มในราคาถูกได้

ซึ่งในวันที่ 15 มีนาคม 2567 LINEMAN Wongnai ได้ประกาศใช้ประกันแบบใหม่ ‘ประกันอุบัติเหตุพร้อมเซฟ’ ซึ่งจะครอบคลุมต่อไรเดอร์และลูกค้าโดยอัตโนมัติ ตั้งแต่เริ่มออนไลน์จนถึงปิดรับงาน โดยประกันฉบับมีการเพิ่มวงเงินการคุ้มครองมากขึ้นกว่าฉบับก่อน ๆ โดยอิสริยะกล่าวว่าอาจจะเป็นประกันที่ให้ไรเดอร์แพลตฟอร์มมากที่สุดในประเทศไทย

ทว่า เรื่องประกันนี้เองยังคงมีคำถามถึงความเสี่ยงอื่น ๆ จากการประกอบอาชีพไรเดอร์ โดยเฉพาะสถานการณ์ฝุ่นในปัจจุบันที่มีผลกระทบต่อไรเดอร์ซึ่งเป็นอาชีพกลางแจ้งโดยตรง อิสริยะกล่าวว่าในส่วนของความเสี่ยงในลักษณะนี้ทางบริษัทประกันเองไม่ได้มีครอบคลุมไว้ ซึ่งอาจจะต้องพิจารณาเพิ่มเติมในอนาคตถึงความเสี่ยงที่ไรเดอร์ต้องแบกรับและแพลตฟอร์มต้องคุ้มครองไรเดอร์ให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น

“เรื่องประกันก็เป็นเรื่องที่ทำให้แพลตฟอร์มน้ำท่วมปากมานาน เนื่องจากเราพยายามที่จะให้ครอบคลุมและยกระดับประกันมานานแล้ว แต่เนื่องจากว่าทางไลน์แมนเองไม่ได้เป็นเจ้าของบริษัทประกันจึงไม่สามารถออกแบบประกันให้ครอบคลุมได้เท่าที่ไรเดอร์อยากให้เป็น ซึ่งทุกวันนี้เรากำลังจะเขยิบให้ประกันของเราคุ้มครองไรเดอร์ให้ได้มากที่สุดขณะปฏิบัติงาน”

นอกจากนี้ไลน์แมนยังมีทีม Community จัดกิจกรรมพบปะไรเดอร์ทั่วไทย เช่น เตะฟุตบอลกระชับมิตร พาไรเดอร์ไปเลี้ยงข้าว หรือกิจกรรมเชิงความรู้ที่จับมือกับกระทรวงแรงงานจัดอบรมการซ่อมมอเตอร์ไซค์ให้ไรเดอร์, จัดงานรับฟังปัญหาจากไรเดอร์หลากหลายกลุ่ม รวมถึงคอมมิวนีตีออนไลน์และทีมมอนิเตอร์ว่าไรเดอร์เจอปัญหาอะไรบ้าง

โดยอิสริยะกล่าวว่า ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับข่าวสาร กฎเกณฑ์ บทลงโทษและผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับไรเดอร์ทั้งหมดนี้ สามารถเช็คได้ที่เว็บไซต์ linemanrider หรือ LINE OA ของไลน์แมน รวมถึงสามารถติดต่อกับศูนย์ขอความช่วยเหลือ(call center) ของทางไลน์แมนเช่นกัน

“สิ่งที่แพลตฟอร์มกลัวที่สุด คือการที่ไม่มีไรเดอร์ขับกับเรา”

ทั้งประกันอุบัติเหตุแบบใหม่ กิจกรรมสันทนาการ การต่อยอดทักษะที่แพลตฟอร์มมอบให้ไรเดอร์ไลน์แมนนั้น มีแนวโน้มที่ชัดเจนขึ้นและแสดงให้เห็นถึงความต้องการที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับไรเดอร์ของแพลตฟอร์ม

แต่สิ่งที่ยังไม่ปรากฏชัด คือสถานะกึ่งอิสระ-กึ่งนายจ้างในความสัมพันธ์ครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดคุณภาพชีวิตในระยะยาวของผู้คนในระบบ ทำให้การแก้ไขที่ต้นตอผ่านการระบุสถานะแรงงานให้ชัดเจนเพื่อให้การจ้างงานเป็นไปตามกรอบกติกาที่เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น อาจเป็นคำตอบที่หลายร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับแรงงานแพลตฟอร์มพยายามกันมาไม่ต่ำกว่า 5 ปีที่ผ่านมา

ท่ามกลางการแข่งขันที่มีผู้เล่นเป็นบริษัทหลายแพลตฟอร์ม ร้านค้านับหมื่นร้าน ไรเดอร์หลายแสนคน และผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ทุกคน รัฐจะเข้ามามีบทบาทใน Gig economy นี้อย่างไร และในวันนี้รัฐได้ลงมาเป็นผู้เล่น กรรมการ หรือยังนั่งอยู่บนสแตนด์ชมการแข่งขันที่ยังเต็มไปด้วยข้อถกเถียงนี้ไม่ต่างจากวันแรกที่เศรษฐกิจแพลตฟอร์มขยายตัวในสังคมไทย

สั่งออเดอร์ ‘เศรษฐกิจที่เป็นธรรม’ เมื่อรัฐไทยอยู่ในสมการ

ตลอดระยะเวลาที่ LINEMAN ร่วมจับมือกับ Wongnai และได้กลายเป็นแพลตฟอร์มเบอร์ต้นของประเทศ บริษัทมีความพยายามในการจับมือร่วมกับรัฐ ทั้งในส่วนของการจับมือกับกระทรวงแรงงานจัดอบรมการซ่อมมอเตอร์ไซค์ให้ไรเดอร์ รวมถึงการเข้าร่วมประชุมกรรมาธิการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อที่จะชี้แจงถึงข้อร้องเรียนและหาทางออกร่วมในการสร้างเศรษฐกิจแพลตฟอร์มที่เป็นธรรมในสังคมไทย

ด้านอิสริยะมองว่า ในปัจจุบันภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมกับการแก้ไขปัญหามากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจแพลตฟอร์มยังคงเกี่ยวข้องกับระบบโครงสร้างของประเทศ หากต้องการให้เกิดค่ารอบขั้นต่ำที่สูงขึ้น จำเป็นจะต้องปรับให้ค่าแรงขั้นต่ำสูงขึ้นในทุกพื้นที่เช่นกัน เนื่องจากการคำนวณค่ารอบของแพลตฟอร์มก็อ้างอิงจากค่าแรงขั้นต่ำและค่าครองชีพของพื้นที่

“เรื่องนี้มันไปพร้อม ๆ กัน แพลตฟอร์มเองก็คำนวณค่ารอบขั้นต่ำจากค่าแรงขั้นต่ำของแต่ละพื้นที่ รวมถึงค่าครองชีพและส่วนอื่น ๆ ที่เป็นสูตรคำนวณของแพลตฟอร์มซึ่งมีหลายส่วนมาก จึงออกมาเป็นตัวเลขอย่างที่เราเห็น มันก็ต้องกลับไปที่อยากให้ไรเดอร์มีค่ารอบมีรายได้ที่มากขึ้น รัฐเองก็ต้องเขยิบในการทำค่าแรงขั้นต่ำให้สูงขึ้นในแต่ละพื้นที่”

จึงเป็นผลให้ทางแพลตฟอร์มมองประเด็นของการเรียกร้องค่ารอบขั้นต่ำที่สูงขึ้นและค่ารอบกลาง(อยู่ที่ราว ๆ 40 บาท) ยังคงเป็นได้ยากจากสภาพโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน นอกจากนี้ในส่วนของค่ารอบกลาง อิสริยะยังกล่าวอีกว่าแม้จะเป็นโมเดลที่ใช้ในหลายประเทศ แต่ยังคงมีความเสี่ยงสูง ในวันที่ผู้บริโภคอาจจะมองว่าค่าส่งแพงเกินไปซึ่งก็คงต้องบังคับใช้ทุกแพลตฟอร์ม คำถามคือรัฐมีแผนรับรองอย่างไรหรือยังแล้วมีอย่างไรบ้างหากไดนามิกของไรเดอร์ล้นตลาดแต่ไม่มีลูกค้าเลย

รวมถึงข้อเรียกร้องที่ไรเดอร์ได้แจ้งทางไลน์แมนหลายครั้งเรื่องการปิดบัญชี ซึ่งเป็นอำนาจของบริษัทที่เหนือกว่าไรเดอร์หรือไม่ ซึ่งทางไลน์แมนยืนยันว่าไม่ใช่ความผิดพลาดของระบบหรืออำนาจเหนือกว่าแต่อย่างใด แต่ไลน์แมนตรวจพบว่ามีการทุจริตซึ่งผิดกับข้อบังคับของแพลตฟอร์ม

“การมีข้อบังคับและบทลงโทษเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาคุณภาพในการให้บริการ อย่างที่เคยเห็นตามข่าวว่ามีไรเดอร์ที่ไปทะเลาะกับลูกค้า บางทีถึงขั้นทําร้ายร่างกาย อันนี้ก็ตรงไปตรงมาว่าคงให้อยู่ในระบบต่อไปไม่ได้ กับอีกส่วนเรื่องการทุจริต หรือการซื้อขายบัญชีไรเดอร์ 90% ของการปิดระบบมาจากสาเหตุนี้ ส่วนการปิดระบบจากเรื่องคุณภาพบริการ เช่น ส่งของไม่ครบ ของไม่ถึงมือลูกค้า หรือทำของเสียหาย มีน้อยมาก ๆ รวมถึงหากเป็นการโดนร้องเรียนจากภาระงานของแพลตฟอร์มอย่างส่งงานช้าเพราะงานพ่วง ทางไรเดอร์เองก็สามารถส่งเรื่องร้องเรียนได้และหากเป็นจริงจะไม่มีโทษต่อไรเดอร์คนนั้น”

อย่างไรก็ตาม หากเป็นนโยบายจากทางภาครัฐ อิสริยะยืนยันว่า ทางบริษัทมีความยินดีที่จะหาทางออกร่วมที่จะเป็นจุดตรงกลางร่วมกันของทุกฝ่าย อย่างที่ได้กล่าวไปว่ากฎหมายแรงงานของไทยนั้นก็มีความคลุมเครือที่ทำให้ไรเดอร์ยังเกิดข้อข้องใจกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท รวมถึงยินดีที่จะให้เกิดการ discuss โดยมีรัฐและรับฟังและนำไปปรับเป็นนโยบายเพื่อหาทางออกให้กับข้อถกเถียงเรื่องแพลตฟอร์มนี้

แม้จะมีข้อศึกษาหรือ best practice ในเศรษฐกิจแพลตฟอร์มในจากประเทศต่าง ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา สวีเดน อังกฤษ สิ่งสำคัญที่อิสริยะมองถึงการยกตัวอย่างเหล่านี้คือจะทำอย่างไรให้สอดคล้องกับกฎหมายและบริบทของไทย เพื่อให้ตอบโจทย์กับผู้คนในนิเวศเศรษฐกิจนี้มากที่สุด

เช่นเดียวกัน เมื่อถามถึงแนวทางของร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับแรงงานแพลตฟอร์ม อย่าง ร่าง พ.ร.บ.แรงงานอิสระ ที่ผ่านความเห็นของกฤษฎีกาทั้ง 3 วาระแล้ว อยู่ที่คณะรัฐมนตรี ซึ่งก็มีการอ้างอิงจากนโยบายด้านการจัดการแรงงานแพลตฟอร์มของประเทศเหล่านั้น ด้านอิสริยะกล่าวว่าอาจจะพูดไม่ได้มากนักเนื่องจากตนเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง แต่จากที่เคยไปร่วมแสดงความคิดเห็นในร่างฉบับอื่น ๆ ร่างนี้ก็ถือว่ามีพัฒนาการอย่างมาก แต่ยังคงไม่ครอบคลุมถึงทุกอาชีพแพลตฟอร์มนัก ซึ่งตนอยากจะให้แรงงานทุกคนได้รับการคุ้มครองที่เท่าเทียมกัน

“แนวทางของแต่ละประเทศในการจัดการก็คงมีข้อดีข้อเสีย มันควรจะเป็นแบบนี้หรือควรจะเป็นแบบนั้น ถ้าเมืองไทยมีการประกาศใช้อย่างนี้เกิดขึ้น เราก็ยินดีปฏิบัติตาม ขอให้บังคับใช้อย่างเท่าเทียม ไม่ใช่แค่ไรเดอร์ที่เป็น food delivery อย่างเดียว แต่ควรครอบคลุมไปถึงแรงงานนอกระบบอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นแม่บ้าน เมสเซนเจอร์ แท็กซี่ ถ้ามีกฎหมายเดียวแล้วบังคับใช้เท่าเทียมกันหมด เพื่อให้เกิดมาตรฐานเดียวกันต่อผู้เล่นแพลตฟอร์มในตลาดนี้”

อิสริยะกล่าวเสริมว่า ในการทำงานของแพลตฟอร์ม LINEMAN Wongnai ยังคงปฏิบัติภายใต้กฎหมายแรงงาน หลังจากนี้มองว่าเป็นโจทย์ของแพลตฟอร์มที่จะต้องหาตรงกลางที่ลงตัวกับไรเดอร์ ร้านค้า และผู้บริโภค เพื่อให้ความเป็นธรรมเกิดขึ้นกับทุกฝ่าย

ปัญหาที่ยังคลุมเครือที่สุดและเป็นสาเหตุให้เกิดการเรียกร้องหลายต่อหลายครั้ง ยังเป็นสถานะกึ่งอิสระ-กึ่งนายจ้างที่เป็นลักษณะของ Gig economy ซึ่งหากอ้างอิงตามกฎหมายแรงงานของไทยนั้นยังคงระบุการจ้างงานเพียง 2 ประเภทเท่านั้น เป็นผลให้ไรเดอร์ยังคงถามถึงสิทธิของตัวเองและบริษัทเองก็ยังตอบไรเดอร์ได้ไม่เต็มปากถึงข้อเรียกร้องตลอดมา 

ฉะนั้น การระบุสถานะทางกฎหมายให้ชัดเจนไม่ว่าจะผ่าน พ.ร.บ.แรงงานอิสระหรือการทำให้แรงงานใน Gig economy เป็นแรงงานที่ไม่ได้ก้ำกึ่งอยู่ขาใดขาหนึ่ง จึงปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐคือคนที่จะทำให้เรื่องนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น และเมื่อภาครัฐขยับในเชิงกฎหมายและนโยบาย สังคมยังรอคอยท่าทีและการรับมาปฏิบัติใช้ของธุรกิจแพลตฟอร์มทุกแห่งว่าท้ายที่สุด เศรษฐกิจแพลตฟอร์มที่เป็นธรรมของแต่ละเจ้านั้นจะมีหน้าตาเป็นเช่นไร

หากถึงวันนั้น ข้อถกเถียงที่ผ่านมาอาจยังคงอยู่ แต่เราจะได้เห็นการพูดคุยจากทั้งนิเวศแพลตฟอร์มเพื่อหาทางออกร่วมกัน ในแบบที่การรวมตัวต่อรองมีพลังและได้ข้อตกลงที่วิน-วินกับทุกคน

เพราะการกดสั่งออเดอร์ ‘เศรษฐกิจแพลตฟอร์มที่เป็นธรรม’ จำเป็นจะต้องให้ทุกฝ่ายร่วมสร้างกันขึ้นมา แล้วความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจจึงจะเกิดขึ้นจริงในสังคมไทย