บทเรียนเคมีสตรี ที่มีทุนนิยม วิทยาศาสตร์ชายเป็นใหญ่เป็นสารตั้งต้น - Decode
Reading Time: 3 minutes

Trigger Warning: การข่มขืน การกีดกันทางเพศ การฆ่าตัวตาย

ารกีดกันทางเพศ

การเมืองในที่ทำงาน

การเล่นพรรคเล่นพวก

ความอยุติธรรมทั่ว ๆ ไป 

แต่ส่วนใหญ่เป็นเพราะการกีดกันทางเพศ ที่ทำให้ เอลิซาเบธ ซ็อตต์ นักเคมีมากความสามารถ ผู้มีฝีมือการทำอาหารเป็นเลิศจากหนังสือ Lessons in Chemistry หรือ บทเรียนเคมีสตรี ไม่อาจเติบโตในสายงานวิทยาศาสตร์ที่เต็มไปด้วยผู้ชายได้ เพราะโลกที่เธออยู่นั้นมีสารตั้งต้นเป็นทุนนิยมที่หมุนรอบกรอบแนวคิดแบบปิตาธิปไตย

เอลิซาเบธตั้งมั่นกับตัวเองว่าจะไม่แต่งงานและไม่ขอมีลูกตามที่ขนบคาดหวังให้ผู้หญิงในยุค 50s ควรจะเป็น แต่แล้วปฏิกิริยาเคมีที่แสนลงตัวที่เรียกว่า ความรัก ระหว่างเธอและ คาลวิน เอวานส์ นักเคมีผู้โด่งดัง ที่มีดีกรีระดับได้รับการเสนอชื่อรับรางวัลโนเบล ก็ทำให้ทุกอย่างกลับตาลปัตร ปัจจัยที่เคยว่าควบคุมได้กลับไม่เป็นอย่างที่เคย ความหวังดีผิดที่ผิดทางของคนรักที่มองไม่เห็นกรอบเพศที่ไม่เป็นธรรมทำให้เธอถูกคลื่นแห่งการดูแคลนและด้อยค่าโถมเข้าใส่อย่างต่อเนื่อง

มิหนำซ้ำชีวิต ความฝัน และความหวังของเอลิซาเบธยังทลายลงต่อหน้าต่อตา เมื่อเธอค้นพบว่าตนเองกำลังจะกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวเข้าเสียแล้ว

บทเรียนว่าด้วย หญิงดื้อด้าน น่ารำคาญ

ณ สถาบันวิจัยเฮสติ้งส์ ปี 1952 ที่แม้จะเป็นสถาบันวิจัยที่เลื่องชื่อเพียงใด แต่เหล่าผู้คนที่ทำงานนั่นก็ไม่เคยตั้งสมมติฐานว่าความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ตัวแปรอย่างเอลิซาเบธและคาลวิน จะลงเอยด้วยการเป็นคนรักกัน แม้ทั้งสองจะมีทักษะการเข้าสังคมติดลบ แต่ก็ฉลาดเป็นกรดไม่แพ้กัน

เพราะในสายตาคนอื่น เอลิซาเบธ คือผู้หญิงที่หน้าตาสะสวย มีเสน่ห์ แต่ก็เป็นคนที่จริงจัง ไม่ยอมคน ชอบอวดรู้ และคิดว่าตัวเองเหนือกว่าผู้อื่นอยู่เสมอจนน่ารำคาญ ในขณะที่คาลวิน คือนักเคมีหน้าตาไม่ถึงเกณฑ์ไปวัดไปวา แต่ก็เป็นผู้ชายที่ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียง ทั้งยังมีความสามารถล้นเหลือ ไม่ว่าใครก็มักจะเกรงใจเขาแม้จะไม่ชอบหน้าก็ตาม

อย่างไรก็ตามคาลวินไม่เคยรับรู้ถึงความยากลำบากของผู้หญิงในวงการวิทยาศาสตร์ที่เต็มไปด้วยกลิ่นปิตาธิปไตยคลุ้งห้องแล็บ เพราะเขาเองก็เป็นหนึ่งในคนที่อยู่บนยอดพีระมิดในที่ทำงาน แต่แล้วการได้รู้จักกับเอลิซาเบธ ก็ทำให้เขาได้เรียนรู้มุมมองใหม่ ๆ ไอเดียใหม่ ๆ และพบว่าเธอคือคนที่ฉลาดปราดเปรื่องที่สุดเท่าที่เคยพบมา 

นอกจากลักษณะนิสัยที่แตกต่างแต่แสนเข้ากันแล้ว ทฤษฎีการกำเนิดชีวิตจากสิ่งไร้ชีวิต (Abiogenesis) ที่ตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับกระบวนการทางธรรมชาติเกี่ยวกับการกำเนิดของสิ่งมีชีวิตจากสิ่งไม่มีชีวิตบนโลกและอาหารรสเลิศที่มาจากความรู้ทางเคมีของเอลิซาเบธเองก็ยังเติมเชื้อไฟที่มอดในชีวิตของคาลวินให้กลับมาโชติช่วงอีกครั้ง

คาลวินตกหลุมรักเอลิซาเบธเข้าอย่างจัง เอลิซาเบธก็ไม่ต่างกัน

ปฏิกิริยาเคมีระหว่างทั้งสองทั้งในและนอกที่ทำงานเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ กราฟความสัมพันธ์พุ่งสูงจนทำให้คนรอบตัวอิจฉา เสียงซุบซิบนินทาว่าร้ายว่าเอลิซาเบธยั่วยวนคาลวินเพื่อหวังผลประโยชน์กลายเป็นหัวข้อพูดคุยประจำวันไม่ต่างจากการถามดินฟ้าอากาศ แต่นั่นก็ไม่ได้กระทบคู่รักข้าวใหม่ปลามันเลยแม้แต่น้อย

เวลาผ่านไปคาลวินก็ตัดสินใจซื้อแหวนเพชรหวังขอเอลิซาเบธแต่งงานและสร้างครอบครัวด้วยกัน ทว่าก็ล้มเหลวไม่เป็นท่าเพราะโดนเธอปฏิเสธ ท้ายที่สุดแล้วคาลวินก็ยังคงไม่อาจเข้าใจความยากลำบากในฐานะผู้หญิง ที่ต้องดิ้นรนในโลกปิตาธิปไตยทุกช่วงจังหวะชีวิต

สำหรับเอลิซาเบธ การแต่งงานคือการลบตัวตนของเธออย่างถูกกฎหมายที่คนในสังคมก็ต่างเห็นดีเห็นงาม แม้นั่นจะแลกมาด้วยการที่ต้องเปลี่ยนนามสกุล ที่จะทำให้ทุกอย่างที่เธอทำกลายเป็นผลงานของคนอื่น หรือมิหนำซ้ำ-คนจะทึกทักไปเองด้วยว่าคู่ของเธอเป็นคนสร้างสรรค์มันขึ้นมาไม่ใช่เธอ เพราะผู้หญิงที่ไหนเล่าจะมาสนใจเคมีมากกว่าการทำอาหารให้สามี และเลี้ยงดูลูก

และหลังจากการเถียงกันยกใหญ่ คาลวินเองก็ดูไม่ได้อยากสวนขนบด้วยการเปลี่ยนนามสกุลเป็น ซ็อตต์ แต่อย่างใด ทั้งสองพักรบกันไปชั่วครู่ก่อนคาลวินจะเปิดประเด็นใหม่ที่ไม่ได้เสนาะหูไปมากกว่าเดิมเสียเท่าไรนั่นก็คือ การสร้างครอบครัว ที่ยังไม่ทันพูดจบคำตอบของเอลิซาเบธก็ยังมีเพียงคำเดียวคือ ไม่ ไม่ และก็ไม่แต่เมื่ออธิบายว่าครอบครัวในทีนี้คือ เอลิซาเบธ คาลวิน และสุนัขอีกสักตัว เอลิซาเบธก็ได้แต่ยิ้มไม่หุบ

เมื่อผ่านบทสนทนาแห่งความสัมพันธ์ระยะยาวสุดหินไปได้ ชีวิตรักของทั้งสองก็ไปได้สวยอีกครั้ง

ทว่าเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ยังไม่ทันได้ใช้ชีวิตแบบแสนสุข คาลวินก็ดันจากไปเพราะอุบัติเหตุทางรถยนต์เสียก่อน

บทเรียนว่าด้วย บาดแผลที่ไม่มีวันหาย

ซิกซ์เตอตี้ คืออดีตสุนัขตรวจค้นวัตถุระเบิดที่ไม่เคยอยากทำหน้าที่นั้นสักครั้ง ก่อนจะได้พบกับจุดมุ่งหมายในชีวิตใหม่เมื่อเอลิซาเบธและคาลวินรับไปเลี้ยง

ซิกซ์เตอตี้อยู่กับคาลวินในเช้าวันเกิดเหตุ เป็นอีกวันธรรมดาที่สงบสุขที่เขาและคาลวินจะออกไปวิ่งด้วยกันก่อนออกไปทำงาน แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น โดยที่เขาไม่สามารถปกป้องคาลวินได้ แม้จะพยายามแล้วก็ตาม

ซิกซ์เตอตี้คืออดีตสุนัขตรวจค้นวัตถุระเบิดที่ไม่เคยอยากทำหน้าที่นั้นสักครั้ง เพราะเขากลัวเสียงระเบิด มิหนำซ้ำไอ้พวกเยอรมันเชิพเพิร์ดยังชอบอวดว่าตัวเองเก่งกว่าใครอีก อย่างไรก็ตามซิกซ์เตอตี้ได้พบกับจุดมุ่งหมายในชีวิตใหม่เมื่อเอลิซาเบธรับไปเลี้ยง เขาอยากปกป้องคนที่เขารัก ปกป้องพวกเขาแม้จะต้องแลกด้วยชีวิตตัวเอง แต่แล้วก็พังไม่เป็นท่าอีกเช่นเคยเมื่อคาลวินจากไปต่อหน้าต่อตา 

กราฟความสุขของเอลิซาเบธเองก็ดิ่งลงเหวไม่ต่างกันหลังจากทราบข่าวร้าย ความโศกเศร้ายังไม่ทันได้เจือจางเธอก็พบกับพายุความวุ่นวายในทุกมิติชีวิตเข้าอย่างจัง

ข้าวของของคาลวินถูกเก็บเข้ากล่องเป็นสมบัติของศูนย์วิจัยเพราะทั้งสองไม่ได้แต่งงานกัน ความทรงจำทั้งหมดที่เคยมีร่วมกันถูกชำระล้างด้วยแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ เสมือนไม่เคยมีใครเคยผ่านร้อนผ่านหนาวในห้องแล็บนี้มาก่อน ผู้คนต่างกังขาเอลิซาเบธผู้แปดเปื้อน ว่าเธอจะใช้ชีวิตอยู่ยังไงในเมื่อผู้ชายที่เธอเคยเกาะเพราะความโด่งดังได้จากไป 

คลื่นแห่งความดูแคลนดำเนินต่อไปไม่มีวันจบสิ้น และยิ่งหนักกว่าเดิมเมื่อเธอพบว่าตัวเองตั้งครรภ์

ศูนย์วิจัยพยายามไล่เธอออกด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่มีผู้หญิงมาทำงานตอนตั้งครรภ์ได้ เอลิซาเบธตั้งคำถามกลับไปว่าพวกเขาเคยไล่ผู้ชายด้วยเหตุผลเดียวกันบ้างหรือไม่ และก็โดนตวาดกลับยกใหญ่ว่าไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง เอลิซาเบธต้องยอมถอยอย่างจำใจ เป็นอีกครั้งที่โลกที่เต็มไปด้วยการกีดกันและเกลียดกลัวทำให้หลายชีวิตต้องทลายลง

ครั้งหนึ่งคือเมื่อเธออายุ 10 ขวบ จอห์น พี่ชายของเธอที่สนิทกันมากตัดสินใจฆ่าตัวตาย เพราะพ่อคลั่งศาสนาของเธอคอยแต่ก่นด่า และทำร้ายร่างกายเขาเป็นการลงโทษ ในโทษฐานที่จอห์นเป็นคนรักเพศเดียวกัน

อีกครั้งหนึ่งคือหลังเธอสอบเข้าศึกษาต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส (UCLA) อาจารย์ที่ปรึกษาที่เธอสนิทใจข่มขืนเธอและหวังให้เธอขอโทษหลังใช้ดินสอแทงเขาเพื่อป้องกันตัว

“ฉันเสียใจ” เอลิซาเบธว่า

“ฉันเสียใจที่ไม่มีดินสอมากกว่านี้” เมื่อพูดจบอนาคตในฐานะนักศึกษาปริญญาเอกก็ปลิวหายไป

และต่อให้เธอจะต้องต่อสู้ระบบปิตาธิปไตยกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง เอลิซาเบธก็ยังโกรธแค้นความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น ไม่เคยจะชินชาได้เลยแม้สักครั้งเดียว

บทเรียนว่าด้วย การสูญเสียตัวตน

โอ้พระเจ้า โอ้พระเจ้า โอ้พระเจ้า- เธอมีชีวิต เธอมีชีวิต โอ้พระเจ้า ฉันโล่งใจสุด ๆ ซิกซ์เตอตี้ส่ายหางอย่างตื่นเต้นเมื่อเอลิซาเบธกลับบ้านมาพร้อมกับ สิ่งมีชีวิต ที่เดิมอยู่ในท้องเอลิซาเบธมาตลอดหลายเดือน ตอนนี้ออกมาเจอโลกภายนอกในรูปแบบทารกเพศกำเนิดหญิง

เอลิซาเบธสอนภาษาอังกฤษซิกซ์เตอตี้อย่างต่อเนื่องจนในท้ายเล่มกลายเป็นสุนัขที่รู้ภาษาคนมากถึง 981 คำ ซิกซ์เตอตี้เฝ้ามองและช่วยเอลิซาเบธดูแล แม้ดเดอลีน ด้วยความเป็นห่วงเต็มปรอท เพราะการเลี้ยงเด็กนั้นเป็นเรื่องที่ยากเกินจะพรรณนาแม้จะมี มิสซิสสโลน หญิงคนดำแม่ลูกสอง บ้านใกล้เรือนเคียงคอยให้คำแนะนำเธอตลอดก็ตาม

นอกจากการเป็นแม่คนแล้ว เส้นทางการเรียกร้องของมิสซิสสโลนยังคู่ขนานไปกับเอลิซาเบธ เพราะในขณะที่เอลิซาเบธต้องต่อสู้เพื่อการมองเห็นในฐานะผู้หญิง มิสซิสสโลนผู้มีความฝันอยากเป็นนักกฎหมายยังคงต้องต่อสู้เรื่องสิทธิพลเมืองของคนผิวดำในสหรัฐอเมริกายุคนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่คนขาวอย่างเอลิซาเบธไม่เคยต้องเรียกร้องแม้เพียงครั้งเดียว

และเมื่อเวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก แม้ดเดอลีนที่เข้าสู่วัยประถมก็กลายเป็นเด็กฉลาดเกินเด็กรุ่นเดียวกันทำให้เธอไม่ค่อยมีเพื่อนนัก แม้ดเดอลีนและเอลิซาเบธสนิทกันมาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้หญิงที่แม้ดเดอลีนเห็นไม่ต่างจากคนเป็นซึมเศร้าอย่างถาวรหลังถูกกระชากความฝันไป

วันหนึ่งเอลิซาเบธโพล่งเข้าไปยังห้องทำงานของ วอลเตอร์ ไพน์ โปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ พ่อของอแมนด้า ไพน์ เพื่อนสนิทคนเดียวของแม้ดเดอลีน หลังพบว่าเสื้อผ้าของแม้ดเดอลีนเริ่มหลวมโคร่ง เพราะใครเล่าจะอดใจอาหารกลางวันแสนพิถีพิถันจากฝีมือแม่แม้ดเดอลีนได้

และนั่นคือจุดเริ่มต้นให้เธอจับพลัดจับผลูมาเป็นพิธีกรรายการทำอาหารที่มีชื่อว่า ‘มื้อค่ำหกโมงเย็น’ ที่สร้างบันดาลใจให้ผู้หญิงทั่วอเมริกาทุกค่ำคืน เพราะเธอปฏิเสธการสร้างภาพจำของการเป็นแม่บ้านตัวอย่างที่แต่งตัววาบหวิว เตรียมอาหาร และรินไวน์รอเสิร์ฟให้สามีที่กลับมาจากการทำงานหนักตามที่สถานีวาดหวังให้เป็น 

อาหารที่เอลิซาเบธนำเสนอไม่ใช่เพื่อการโชว์ แต่เป็นอาหารอย่างที่คนรักการทำอาหารจะยืนปรบมือให้ เป็นอาหารที่อิ่มท้อง สามารถให้พลังงาน เลี้ยงดูคนทั้งครอบครัวได้ และนั่นก็ทำให้เรตติ้งรายการพุ่งกระฉูดจนไม่ว่าใครก็เตรียมตัวรอเธอขึ้นหน้าจอทุกวัน

เอลิซาเบธกลายเป็นคนดังและทำงานตัวเป็นเกลียวเพื่อหาเลี้ยงตัวเอง แม้ดเดอลีน และซิกซ์เตอตี้ ความสัมพันธ์ระหว่างเธอและผู้ชมเพิ่มมากขึ้น แปรผกผันกับความสัมพันธ์ของเธอและคนใกล้ตัวที่มีแต่ห่างไกล รวมถึงตัวเธอและความฝันที่อยากเป็นนักเคมีก็เช่นกัน

แม้จะเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นมากเพียงใด ทุนนิยมปิตาธิปไตยก็ไม่ยกเว้นให้เธอสามารถเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่ เอลิซาเบธโดนตำหนิอย่างหนักหลังใส่กางเกงออกรายการ เธอต้องจำใจอวยสปอนเซอร์อาหารกระป๋องที่เข้ารายการ มิเช่นนั้นคนในกองจะถูกหักเงิน เพราะแม้เอลิซาเบธจะไม่เคยคาดหวังให้ทุนนิยมตบรางวัลให้ แต่บางครั้งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปฏิเสธคำสั่งของเงิน เพราะมันไม่เพียงแต่โบยตีเธอ แต่รวมไปถึงทีมงานคนอื่น ๆ ที่ต้องรับผลกระทบจากพฤติกรรมกังขาของเธอ

บทเรียนพิเศษ : โลกแห่งความจริง

หน้ากระดาษพลิกไปกว่า 300 แผ่น กลิ่นปิตาธิปไตยยังคงคลุ้งไม่ว่าเอลิซาเบธจะอยู่ที่สถานีโทรทัศน์หรือไม่ และเธอต้องใช้มากกว่าพลังกายในการกลับมาเชื่อมต่อกับตัวเอง และสร้างฐานที่มั่นคงทางใจใต้โลกทุนนิยมอีกครั้ง

บทเรียนที่สำคัญที่สุดที่เราได้จากหนังสือเล่มนี้จึงเป็นการหันมาทบทวนอภิสิทธิ์ที่ตัวเองมีและอย่าลืมตัวตนของตัวเองแม้ในวันที่ยากและหลงทางมากที่สุด 

การหาที่ทางให้ตัวเองยืนในระบอบปิตาธิปไตยหัวใจทุนนิยมไม่ใช่และไม่เคยเป็นเรื่องง่าย เพราะไม่ใช่ทุกคนจะขบถได้แบบเอลิซาเบธ และให้ตาย ไม่ใช่ทุกคนขบถแล้วจะยังใช้และมีโอกาสเข้ามาในชีวิตเหมือนเอลิซาเบธ ปัจจัยในชีวิตและอภิสิทธิ์ที่เรามีต่างกันมากเกินไป ดูอย่างมิสซิสสโลนก็ยังได้

บทเรียนเคมีสตรีจึงเป็นหนังสือที่ดี (แถมยังเป็นซีรีส์ที่ดีอีกด้วย หากคุณสนใจดูใน Apple TV) เพราะแม้ว่าเราจะไม่อาจโกหกได้ว่าเรารู้สึกเชื่อมโยงกับเอลิซาเบธมากขนาดนั้น แต่ก็คิดว่าประสบการณ์ของเธอนั้นสะท้อนโลกแห่งความจริงได้อย่างครบถ้วนเท่าที่หญิงคนขาวที่เข้าถึงการศึกษาคนหนึ่งจะสามารถนำเสนอได้ โดยในฐานะผู้อ่าน-ชมไม่ได้รู้สึกถูกผลักให้เป็นอื่นแต่อย่างใด เพราะเอลิซาเบธออกตัวชัดเจนเสมอว่าเธอเข้าใจและตระหนักถึงอภิสิทธิ์ของตัวเอง

เพราะในตอนท้าย เอลิซาเบธไม่ได้เป็นพิธีกรตลอดไป แม้เส้นทางของเธอจะรุ่งเรืองมากแค่ไหน

เพราะในตอนท้าย เธอก็สามารถละทิ้งบางสิ่งที่มั่นคง เพื่อตามหาความฝันในการเป็นนักเคมีในวงการวิทยาศาสตร์ที่ยังคงปกครองด้วยผู้ชายเหมือนเดิม 

เธอไม่ได้ปลดแอกตัวเองจากทุนนิยมชายเป็นใหญ่ แต่ก็ใช้ชีวิตต่อไปในฐานะคนที่อยู่รอดจากระบบสังคมแบบนั้นได้ เพราะอภิสิทธิ์อื่นใดเพิ่มเติมที่เธอคอยปอปั้น สรรสร้าง และสั่งสมมา จนมีอำนาจต่อรองกับระบบมากกว่าเดิม ซึ่งก็คงเป็นความจริงแท้ที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว

Playread : Lessons in Chemistry
ผู้เขียน : Bonnie Garmus
สำนักพิมพ์ : Doubleday

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี