ฤามรดกโลกอยู่ในภาวะอันตราย? : เขื่อน, มรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ - Decode
Reading Time: 5 minutes

หลังการลงพื้นที่และค้นคว้าเอกสารเป็นเวลาหลายเดือน Bangkok Tribune พบว่ากรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังคงไม่ล้มเลิกหรือระงับโครงการก่อสร้างเขื่อน 7 แห่งในพื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ตามที่คณะกรรมการมรดกโลกร้องขอ

ตรงกันข้าม หน่วยงานเหล่านั้นกลับเร่งผลักดันโครงการให้ขั้นตอนต่าง ๆ รุดหน้าไป ทั้งการปรับแผนเพื่อให้สามารถดำเนินโครงการต่อไปได้ ทั้งการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ และการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

ดวงอาทิตย์คล้อยต่ำและความมืดเริ่มเข้าปกคลุมทั่วพื้นที่ ไพบูลย์ จิตร์เสงี่ยม ผู้ใหญ่บ้านบ้านดง ตำบลสาริกา จังหวัดนครนายก ซึ่งอยู่ติดกับกลุ่มป่าดงพญาเย็น–เขาใหญ่ พื้นที่มรดกทางธรรมชาติแห่งที่ 2 ของประเทศต้องตื่นตัวตลอดเวลา ในมือของเขามีโทรศัพท์มือถือและวิทยุสื่อสารเพื่อติดต่อกับทีมอาสาสมัครผลักดันช้างป่า และทีมเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าของหน่วยพิทักษ์ป่านางรอง อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่อยู่ใกล้ ๆ

เกือบสิบปีมาแล้วที่ไพบูลย์และชาวบ้านละแวกนั้นต้องเผชิญหน้ากับช้างป่าที่ลงมาจากเขาใหญ่ ช่วงแรกมีช้างเพียงไม่กี่ตัวออกจากป่าเข้ามาในชุมชน พวกมันเดินหาอาหารในสวนที่เต็มไปด้วยมะม่วงและขนุนสุก แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายปี ช้างก็ออกมาทั้งโขลง บางครั้งอาจมีมากถึง 60 ตัว พากันเข้าไปในสวนผลไม้ของชาวบ้านที่นั่นและของชุมชนอื่นที่อยู่ติดกัน

การไล่ช้างออกจากหมู่บ้านและสวนผลไม้เป็นงานยากสำหรับชาวบ้านอย่างไพบูลย์และเพื่อนบ้าน ในช่วงปีแรก ๆ พวกเขาไม่รู้อะไรเกี่ยวกับช้างป่าเลย ไม่รู้จักพฤติกรรมของช้าง และไม่รู้ว่าความพยายามไล่ช้างออกไปของพวกตนจะส่งผลอะไรบ้าง ไพบูลย์และอาสาสมัครประดิษฐ์ประทัดปิงปองเองแบบง่าย ๆ สำหรับจุดไฟแล้วโยนใส่โขลงช้าง บางครั้งก็ได้ผล บางครั้งก็ไม่ได้ผล และหลายต่อหลายครั้งที่พวกเขาต้องเป็นฝ่ายวิ่งหนีอย่างไม่คิดชีวิตเพื่อเอาตัวรอดจากโขลงช้าง

ไพบูลย์ อาสาสมัครของหมู่บ้าน และทีมเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าในพื้นที่ต้องอดนอนเพื่อคอยเฝ้าระวังชุมชนไม่ให้ช้างป่าจากเขาใหญ่เข้ามาหาอาหารกินในหมู่บ้าน Photo: Sayan Chuenudomsavad
อาสาสมัครในตำบลสาริกาใช้หลากหลายวิธีไล่ช้างก่อนจะตระหนักว่า การใช้ความรุนแรงเป็นวิธีที่ไม่ได้ผล ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ พวกเขาจึงเปลี่ยนใช้วิธีการที่นุ่มนวลมากขึ้น แม้ว่าจะทำให้พวกเขาต้องเสียสละเวลาพักผ่อนตอนกลางคืน
Photo: Sayan Chuenudomsavad

เวลาผ่านไปหลายปี สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ช้างเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ และมีเทคนิคในการหาอาหารจากสวนผลไม้ของชาวบ้านบ้านดงมากขึ้น

“ช้างไม่กลัวประทัดปิงปองของเราแล้ว พวกมันเดินลัดเลาะตามแนวชายป่า รอเวลาที่จะลงมากินผลไม้สุกในสวน สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดคือการไล่พวกมันออกจากหมู่บ้าน จะได้ไม่ต้องมานั่งกังวลกลัวว่าชาวบ้านและเด็ก ๆ จะถูกทำร้าย แต่พอโดนไล่ พวกมันก็แค่ไปแอบอยู่ที่ไหนสักแห่ง รอเวลากลับเข้ามาในหมู่บ้านอีกทีหนึ่ง ไล่กันไป ไล่กันมาแบบนี้” ไพบูลย์ ซึ่งบางครั้งต้องอยู่เวรถึงตีสามเพื่อปกป้องหมู่บ้านพร้อมอาสาสมัครของเขากล่าว


จากช้างป่าไม่กี่ตัว ตอนนี้ช้างพากันลงมาจากเขาใหญ่เป็นโขลงใหญ่เดินเข้าไปในหมู่บ้านต่าง ๆ ในตำบลสาริกาและใช้เวลาอยู่ในหมู่บ้านนานขึ้น
Photo: Sayan Chuenudomsavad

ไพบูลย์ รู้สึกหนักใจเมื่อได้ยินข่าวเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างเขื่อนคลองมะเดื่อ ขนาดความจุ 91 ล้านลูกบาศก์เมตรในพื้นที่ป่าที่อยู่ในอีกหุบเขาหนึ่งถัดไปไม่ไกล โครงการเขื่อนคลองมะเดื่อเป็นโครงการเก่าที่เพิ่งถูกรื้อฟื้นกลับมาใหม่พร้อมโครงการเขื่อนอื่น ๆ อีก 6 แห่งในผืนป่ามรดกโลกแห่งนี้ ทำให้มันกลายเป็นโครงการชุดก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่ใหญ่ที่สุดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของประเทศ และที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกอยู่ในปัจจุบัน  

แม้นับแต่ปี 2564 เป็นต้นมา คณะกรรมการมรดกโลกจะมีมติย้ำหลายครั้งเรียกร้องให้ประเทศไทย “ยกเลิก” โครงการก่อสร้างเขื่อนทั้งหมดที่วางแผนจะสร้างในพื้นที่ป่านี้อย่างถาวร รวมถึงขอให้ระงับโครงการอื่น ๆ ที่วางแผนจะสร้างในพื้นที่รอบ ๆ ด้วย เพื่อรอการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) มิฉะนั้น อาจมีความเสี่ยงต่อพื้นที่ในการสูญเสียสถานะมรดกโลก และเข้าสู่สถานะ “มรดกโลกที่ตกอยู่ในภาวะอันตราย”

“พวกเรากังวลมากเกี่ยวกับเขื่อนนี้ ถ้ามีการสร้างขึ้นมาจริง ๆ ช้างก็จะเสียที่ราบกว้างใหญ่รวมถึงแนวชายป่าที่พวกมันใช้หากิน แล้วก็จะพากันลงมาที่หมู่บ้านและสวนผลไม้ของเรามากยิ่งขึ้น หรืออาจจะออกไปไกลถึงตัวเมืองเลยด้วย ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างก็จะยิ่งเลวร้ายลง” ไพบูลย์กล่าว

ผืนป่าดงพญาเย็น–เขาใหญ่ เป็นถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่ามากกว่า 800 สายพันธุ์ เป็นพื้นที่ป่าที่มีความสำคัญระดับโลกในการอนุรักษ์สายพันธุ์สัตว์ที่ถูกคุกคามและใกล้สูญพันธุ์ และได้รับการการยกย่องว่ามีคุณค่าโดดเด่นในระดับสากล (OUV) ซึ่งรวมถึงช้างเอเชียด้วย
Photo: Sayan Chuenudomsavad

สะเทือนสถานะมรดกโลก ดงพญาเย็น-เขาใหญ่’

โครงการก่อสร้างเขื่อนทั้ง 7 แห่ง เป็นโครงการที่อยู่ในแผนของกรมชลประทานมานานไม่น้อยกว่า 20 ปี เขื่อน 7 แห่งที่อยู่ในแผนการที่จะก่อสร้างนั้น บางแห่งมีความจุมากกว่า 100 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจัดเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่อาจส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมร้ายแรงในภายหลังได้

โครงการเขื่อนทั้งหมดนี้จะไม่ถูกเปิดเผยสู่สาธารณะ หากไม่ถูกซักถามในที่ประชุมของคณะกรรมการมรดกโลก จากข้อมูลของผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช สุนีย์ ศักดิ์เสือ กลุ่มป่าดงพญาเย็น–เขาใหญ่ มีพื้นที่รวม 3.85 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 4 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 1 แห่ง ทอดตัวยาวในภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นพื้นที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งที่ 2 ของประเทศ ในปี 2548

ข้อมูลของศูนย์มรดกโลกระบุว่า ผืนป่าขนาดใหญ่แห่งนี้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์มากกว่า 800 สายพันธุ์ รวมถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกว่า 112 สายพันธุ์ นก 392 สายพันธุ์ สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 200 สายพันธุ์ เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญระดับนานาชาติสำหรับการอนุรักษ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก และสัตว์เลื้อยคลานระดับโลกที่ได้รับการยกย่องว่ามีคุณค่าโดดเด่นระดับสากล แต่กำลังถูกคุกคามและอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์ระดับวิกฤติ 1 สายพันธุ์ (จระเข้สยาม) สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ 4 สายพันธุ์ (ช้างเอเชีย เสือโคร่ง แมวดาว และวัวแดง) และอีก 19 สายพันธุ์ที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

“ผืนป่าแห่งนี้เป็นพื้นที่สุดท้ายที่สำคัญของระบบนิเวศป่าเขตร้อนที่มีความสำคัญระดับโลก เป็นพื้นที่ป่ามรสุมที่มีความสำคัญทางชีวภูมิศาสตร์ของประเทศไทย ซึ่งในระยะยาวสามารถสร้างศักยภาพในการมีชีวิตรอดให้กับสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ที่มีความสำคัญระดับโลก รวมถึง เสือโคร่ง ช้าง แมวดาว และวัวแดง”

การเป็นพื้นที่ซ้อนทับของชะนี 2 สายพันธุ์ รวมถึงชะนีมงกุฎที่เป็นสายพันธุ์เปราะบาง ทำให้เป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร และในอนาคตจะเพิ่มคุณค่าในระดับโลกให้กับพื้นที่ป่าผืนนี้ นอกจากนี้ยังเป็นผืนป่าที่มีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์สายพันธุ์อพยพ รวมถึงนกกระทุงที่ใกล้สูญพันธุ์และนกตะกรามที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างวิกฤติ” ศูนย์มรดกโลกระบุ คณะกรรมการมรดกโลกจึงประกาศให้ผืนป่านี้มีสถานะเป็นมรดกโลก ตามเกณฑ์ข้อที่ 10 ในปี 2548 ในที่สุด

ผอ.สุนีย์ กล่าวว่า นับแต่ปี 2554 เริ่มเป็นปีที่ผืนป่าแห่งนี้ถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับภัยคุกคามที่เกิดจากโครงการก่อสร้างเขื่อน ร่วมกับภัยคุกคามอื่น ๆ เป็นครั้งแรก เพราะภัยคุกคามเหล่านี้ได้รับความสนใจจากคณะกรรมการมรดกโลก ที่กำหนดให้ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามคำแนะนำและเสนอรายงานความก้าวหน้าอยู่เป็นระยะ และในปี 2560 และปี 2564 คณะกรรมการมรดกโลกได้พุ่งประเด็นไปที่โครงการเขื่อนเหล่านี้โดยตรง โดยขอให้ประเทศไทยยกเลิกโครงการทั้งหมดในผืนป่าแห่งนี้อย่างถาวร และระงับโครงการอื่น ๆ ที่อยู่ในพื้นที่โดยรอบ เพื่อรอให้มีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ก่อน

ตามมติ 44 COM 7B.97 ที่ประกาศในปี 2564 คณะกรรมการมรดกโลก “ยินดีกับมติคณะรัฐมนตรีที่ให้ยุติการขยายทางหลวงหมายเลข 348 เพิ่มเติม และให้หาทางเลือกอื่นเพื่อทบทวนความจำเป็นและความเหมาะสมของการสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำในพื้นที่มรดกโลก และยกเลิกโครงการสร้างเขื่อนลำพระยาธาร เนื่องจากอาจส่งผลเสียต่อคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (OUV) ของพื้นที่มรดกโลก”

แต่ “มีข้อน่าวิตกกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับการรื้อฟื้นโครงการก่อสร้างเขื่อนทั้งภายในพื้นที่มรดกโลกและในพื้นที่ติดกัน และขอตอกย้ำข้อร้องขอต่อรัฐภาคีให้ยกเลิกแผนการก่อสร้างเขื่อนที่มีอ่างเก็บน้ำตั้งอยู่ภายในพื้นที่มรดกโลกอย่างถาวร”  

นอกจากนี้ คณะกรรมการมรดกโลก “ขอให้รัฐภาคีดำเนินการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมถึงพื้นที่มรดกโลก เพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการและการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำในอนาคต และขอให้ระงับโครงการก่อสร้างเขื่อนต่าง ๆ ในพื้นที่โดยรอบมรดกโลก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อ OUV จนกว่าการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์จะแล้วเสร็จและผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกและ IUCN”

ไม่กี่เดือนถัดจากนั้น คณะกรรมการมรดกโลกแห่งชาติ ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นประธาน ได้พิจารณามติของคณะกรรมการมรดกโลก และคณะกรรมการมรดกโลกแห่งชาติมีมติยอมรับมติข้อร้องขอของคณะกรรมการมรดกโลก โดยสั่งให้กรมชลประทานระงับโครงการเขื่อนทั้งหมดจนกว่าการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์จะแล้วเสร็จ เนื่องจากเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อ OUV ของพื้นที่และจะทำให้ต้องถูกจัดอยู่ในรายชื่อ “มรดกโลกที่ตกอยู่ในภาวะอันตราย”

คณะกรรมการมรดกโลกยืนยันคำร้องขอเดิมอีกครั้งในการประชุมเดือนกันยายนปีที่แล้ว โดยมติ 45 COM 7B.19 ย้ำเตือนว่า เขื่อนที่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ตั้งอยู่ภายในพื้นที่มรดกโลก ไม่สอดคล้องกับสถานะมรดกโลก และได้เรียกร้องให้ประเทศไทยขอข้อมูลเชิงเทคนิคจาก IUCN สำหรับการประเมิน SEA, ยกเลิกแผนการก่อสร้างเขื่อนที่มีอ่างเก็บน้ำตั้งอยู่ภายในพื้นที่มรดกโลก, และระงับโครงการก่อสร้างเขื่อนในพื้นที่รอบเขตมรดกโลกจนกว่า SEA ฉบับสมบูรณ์จะได้รับการพิจารณาตรวจสอบผลกระทบต่อ OUV โดย IUCN

คณะกรรมการมรดกโลกได้บันทึกไว้ (จากการรายงานของประเทศไทยว่า โครงการก่อสร้างเขื่อนทั้งหมด ทั้งที่ตั้งอยู่ภายในพื้นที่มรดกโลกและในพื้นที่ติดกันโดยรอบได้ถูกระงับไว้จนกว่า SEA จะแล้วเสร็จแล้ว อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ กลับสวนทางกับสิ่งที่รายงานต่อคณะกรรมการมรดกโลก

หากโครงการเขื่อน 5 แห่งที่มีการวางแผนว่าจะสร้างในพื้นที่ป่าเขาใหญ่ถูกสร้างจนเสร็จ เพียงพื้นที่เดียวจะทำให้พื้นที่ป่าของมรดกโลกมากกว่า 10,000 ไร่ถูกน้ำท่วม Photo: Sayan Chuenudomsavad

มหากาพย์สร้างเขื่อน 5 แห่ง

Bangkok Tribune ได้ตรวจสอบข้อเท็จริงทั้งจากการลงพื้นที่และการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้อง รวมถึงรายงานการประชุม “คณะทำงานพิจารณาความเหมาะสมในการดำเนินการโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในเขตพื้นที่มรดกโลก” ที่รัฐบาลแต่งตั้งขึ้น เพื่อติดตามตรวจสอบการวางแผนและแนวทางการดำเนินโครงการและให้ข้อเสนอแนะ ที่มีสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) เป็นประธาน และได้พบว่า กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบางแห่ง ยังไม่ได้ยกเลิกหรือระงับโครงการตามที่คณะกรรมการมรดกโลกร้องขอ และตามคำสั่งของคณะกรรมการมรดกโลกแห่งชาติแต่อย่างใด

ตรงกันข้าม หน่วยงานเหล่านั้นกลับเร่งผลักดันโครงการให้ขั้นตอนต่าง ๆ รุดหน้าไป ทั้งการปรับแผนโครงการเพื่อให้สามารถดำเนินโครงการต่อไปได้ ทั้งการศึกษาความเหมาะสมเป็นไปได้ และการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)

กว่า 20 ปี กรมชลประทานวางแผนสร้างเขื่อนทั้ง 7 แห่งในพื้นที่ต้นน้ำที่สำคัญ ๆ ในผืนป่ามรดกโลกแห่งนี้ โดยมีเขื่อน 5 แห่ง ซึ่งมีความจุตั้งแต่เกือบ 10 ล้าน ลบ.ม. ถึงมากกว่า 300 ล้าน ลบ.ม. ถูกวางแผนที่จะสร้างในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ก่อนที่จะมีการปรับแผนโครงการใหม่ไม่นานมานี้ ทั้ง 5 เขื่อนนี้ ได้แก่ โครงการเขื่อนคลองบ้านนา เขื่อนคลองหนองแก้ว เขื่อนคลองมะเดื่อ เขื่อน (ลำ) ไสน้อย-ไสใหญ่ และเขื่อนลำพระยาธารส่วนอีก 2 เขื่อนได้ แก่ เขื่อนคลองวังมืด และเขื่อนห้วยสะโตน จะถูกสร้างในอุทยานแห่งชาติทับลานและอุทยานแห่งชาติตาพระยาตามลำดับ

กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมักอ้างว่า โครงการดังกล่าวเป็น “โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ (อันเนื่องมาจาก) พระราชดำริ” เอกสารที่ Bangkok Tribune ได้รับอ้างถึงประโยชน์ของโครงการโดยจะช่วยให้กรมชลประทานสามารถจัดหาแหล่งน้ำใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนซึ่งกรมฯ มักใช้กล่าวอ้าง แต่ในขณะเดียวกัน โครงการเหล่านี้ก็จะทำให้พื้นที่ป่ามรดกโลกมากกว่า 20,000 ไร่ ต้องจมอยู่ใต้น้ำ ยังไม่รวมถึงป่าสงวนอื่น ๆ โดยรอบและระบบนิเวศที่จะได้รับผลประทบจากโครงการ  

รายงานการประชุมสรุปผลของคณะทำงานฯ ซึ่งจัดขึ้นกลางปีที่แล้วเพื่อสรุปผลการติดตามตรวจสอบโครงการฯ ระบุว่าปลายปี 2565 คณะทำงานฯ ได้เริ่มตรวจสอบประเด็นที่เป็นข้อกังวลของพื้นที่โครงการเขื่อนสำคัญ 4 แห่ง ได้แก่ ห้วยสะโตน คลองมะเดื่อ ไสน้อย-ไสใหญ่ และลำพระยาธารที่อยู่ใกล้กัน เพื่อให้ได้ข้อสรุปนำเสนอต่อ “ผู้มีอำนาจ” ซึ่งนอกจากนายกรัฐมนตรีแล้ว รายงานการประชุมฯ ยังกล่าวอ้างถึงสมาชิกราชวงศ์และองคมนตรีบางท่านอีกด้วย  

คณะทำงานฯ ได้ลงพื้นที่และร่วมประชุมในพื้นที่ต่าง ๆ รวม 3 ครั้ง ทำให้ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับความคืบหน้าและการปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินโครงการของกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะมีการประชุมรวบรวมสรุปผลดังกล่าว

ข้อมูลจากกรมชลประทานระบุว่า กรมฯ ได้ทำการศึกษา EIA ของโครงการเขื่อนห้วยสะโตนเสร็จในปี 2563 และเสนอไปยังคณะกรรมการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการที่ดำเนินการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของกรมอุทยานฯ แล้ว และได้ทำการส่งข้อมูลและข้อคิดเห็นเพิ่มเติมกลับไปยังคณะกรรมการฯ ตามที่ท้วงติง และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมอุทยานฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กรมชลประทานยังรายงานต่อคณะทำงานฯ ว่า ได้เสนอโครงการก่อสร้างเขื่อนขนาดเล็ก 4 แห่งนอกพื้นที่อุทยานแห่งชาติเป็นทางเลือกเพิ่มเติมอีกด้วย แต่หากสร้างได้สำเร็จ เขื่อนห้วยสะโตนอาจทำให้ที่ราบต่ำขนาดใหญ่แห่งเดียวของพื้นที่ป่าอุทยานฯ ซึ่งมีขนาดกว่า 5,000 ไร่ ต้องถูกน้ำท่วม แหล่งข่าวใกล้ชิดกับโครงการเปิดเผยข้อมูลว่า โครงการทางเลือกดังกล่าวได้รับการเสนอจากผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้วและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อพยายามหาพื้นที่สร้างเขื่อนทดแทนพื้นที่ห้วยสะโตน

ส่วนโครงการเขื่อนคลองมะเดื่อ ทางกรมชลประทานได้จัดทำรายงาน EIA เสร็จแล้วเช่นกัน โดยมีความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย กรมชลประทานแจ้งว่าได้ส่งรายงานไปยังคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) เพื่อขอพิจารณาอนุมัติแล้ว ทั้งนี้ตามขั้นตอนปกติ เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะผู้ชำนาญการฯ รายงาน EIA จะถูกส่งต่อไปยังคณะกรรมการมรดกโลกแห่งชาติและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นจะถูกส่งต่อไปยังคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีเพื่อให้การพิจารณาเพิกถอนสถานะของพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อให้สามารถสร้างเขื่อนได้

คณะทำงานฯ ยังได้รับรายงานในที่ประชุมย่อยนี้ด้วยว่า มีชาวบ้านจำนวนมากในบริเวณนั้นต้องการน้ำและสนับสนุนโครงการ อย่างไรก็ดี การลงพื้นที่ด้วยตนเองของคณะทำงานฯ ทำให้ได้รับข้อมูลอีกด้านว่า นอกจากมีผู้สนับสนุนแล้ว โครงการนี้ยังมีผู้คัดค้านด้วยเช่นกัน คณะทำงานฯ จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสำรวจข้อมูลของทั้งผู้ที่จะได้รับประโยชน์และผู้ที่จะได้รับผลกระทบอย่างละเอียดอีกครั้ง

สำหรับโครงการเขื่อนไสน้อย–ไสใหญ่และลำพระยาธาร คณะทำงานฯ ได้รับทราบว่า กรมชลประทานได้เสนอเขื่อนไสน้อยล่าง ความจุ 112 ล้าน ลบ.ม. เป็นทางเลือกแทนการสร้างเขื่อนไสน้อย-ไสใหญ่ที่วางแผนจะสร้างคู่กัน (ความจุรวมมากกว่า 300 ล้าน ลบ.ม.) เพื่อลดผลกระทบด้านลบต่อระบบนิเวศของฝืนป่า ทั้งนี้คณะทำงานฯ ได้รับทราบอีกว่า หากมีการสร้างเขื่อนไสน้อย–ไสใหญ่ อาจทำให้พื้นที่ป่าเขาใหญ่กว่า 8,500 ไร่ ต้องถูกน้ำท่วม  

ขณะที่โครงการเขื่อนลำพระยาธาร ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ป่าเขาใหญ่มากถึง 4,000 ไร่ กรมชลประทานได้เสนอทางเลือกด้วยแผนการสร้างเขื่อน 3 แห่ง ซึ่งจะตั้งอยู่บนลำพระยาธาร 2 เขื่อน คือ เขื่อนห้วยชัน ความจุ 15 ล้าน ลบ.ม. ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และเขื่อนคลองวังมืดตอนล่าง ความจุ 15.5 ล้าน ลบ.ม. ในอุทยานแห่งชาติทับลาน และอีก 1 เขื่อนคือเขื่อนยางหมู่ ความจุ 2.59 ล้าน ลบ.ม. จะสร้างห่างออกไปในพื้นที่ทำประโยชน์ในอุทยานฯ ทับลาน

ด้วยข้อห่วงกังวลว่า เขื่อนคลองวังมืด ซึ่งตามแผนเดิมจะมีขนาดความจุ 40 ล้าน ลบ.ม. อาจก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่ออุทยานฯ ทับลาน เนื่องจากอยู่ใกล้แนวเชื่อมต่อป่าเขาใหญ่–ทับลาน (Wildlife Corridor) ที่เป็นเส้นทางเดินสำหรับสัตว์ป่า ซึ่งอยู่ห่างไปเพียง 700 เมตร คณะทำงานฯ จึงได้เสนอแนะให้กรมชลประทานยกเลิกโครงการเขื่อนคลองวังมืดและโครงการที่เกี่ยวข้อง และเสนอให้ปรับปรุงอ่างเก็บน้ำทับลานขนาด 4 ล้าน ลบ.ม. ที่มีอยู่แล้วแทน

ปัจฉิมบทโครงการ สร้างหรือไม่สร้าง

หลังการลงพื้นที่และร่วมประชุมในพื้นที่ คณะทำงานฯ ได้จัดการประชุมสรุปการติดตามตรวจสอบโครงการและจัดทำข้อเสนอแนะให้กับกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

จากที่ประชุม คณะทำงานฯ มีมติเห็นชอบโครงการทางเลือกสำหรับโครงการเขื่อนห้วยสะโตน (เขื่อนขนาดเล็ก 4 เขื่อน นอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์) แต่ก็มีมติเห็นชอบให้กรมชลประทานทำการแก้ไขรายงาน EIA ของเขื่อนห้วยสะโตนต่อไปตามข้อท้วงติงของกรมอุทยานฯ  ส่วนโครงการเขื่อนคลองมะเดื่อ คณะทำงานฯ ก็มีมติเห็นชอบให้กรมชลประทานปรับปรุงแก้ไขรายงาน EIA ตามคำแนะนำของคณะผู้ชำนาณการฯ และให้กลับไปใช้ผลการสำรวจของกรมชลประทานก่อนหน้านี้เกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อประชาชนทั้งด้านความสูญเสียและประโยชน์ที่จะได้รับตามที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและในระดับจังหวัดเสนอแนะ ซึ่งอ้างว่าเสียงคัดค้านได้ลดลงไปมากแล้วจากการที่หน่วยงานลงพื้นที่ทำความเข้าใจในการประชุมต่าง ๆ และการรับฟังความคิดเห็น

สำหรับโครงการเขื่อนไสน้อย–ไสใหญ่ คณะทำงานฯ มีมติให้กรมชลประทานดำเนินการศึกษา EHIA ตามที่กฎหมายกำหนดสำหรับโครงการเขื่อนที่มีความจุเกิน 100 ล้าน ลบ.ม. และศึกษาความเหมาะสมของโครงการสำหรับการสร้างเขื่อนไสน้อยตอนล่างเพื่อเป็นทางเลือก โดยให้กรมอุทยานฯ เร่งรัดการอนุญาตให้กรมชลประทานเข้าพื้นที่ ส่วนโครงเขื่อนลำพระยาธาร คณะทำงานฯ ก็มีมติให้กรมชลประทานจัดทำการศึกษา EIA และการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเขื่อนอีก 3 แห่ง คือ ห้วยชัน ยางหมู่ และ ทับลาน ตามที่ได้เสนอแนะไว้ก่อนหน้านี้

จากการตรวจสอบข้อมูลของ Bangkok Tribune พบว่า กรมชลประทานได้ปรับเปลี่ยนการดำเนินโครงการบางโครงการต่างไปจากมติเห็นชอบของคณะทำงานฯ ไปอีก ยังคงมีเพียงโครงการเขื่อนคลองบ้านนาและคลองหนองแก้วเท่านั้นที่ยังคงอยู่ในแผนงานของกรมชลประทาน

แทนที่จะปฏิบัติตามมติและข้อเสนอแนะของคณะทำงานฯ กรมชลประทานกลับนำโครงการเขื่อนคลองวังมืดตอนล่างกลับเข้ามาเป็นทางเลือกสำหรับชุดเขื่อนบนลำพระยาธารอีกครั้งหนึ่ง ตามหนังสือของกรมชลประทานลงวันที่ 27 ธันวาคม 2566 ซึ่ง Bangkok Tribune ได้รับมานั้น ระบุว่า กรมชลประทานได้รับอนุญาตให้เข้าไปศึกษาความเหมาะสมและ EIA ของโครงการสร้างเขื่อนบนลำพระยาธาร (หัวหนังสือระบุว่า เข้าไปศึกษาหรือวิจัยทางวิชาการ) ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และทับลานเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว   

และกรมชลประทานก็ได้ส่งหนังสือแจ้งกำหนดการแผนการทำงานในพื้นที่ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้แบ่งการศึกษาเป็น 4 ประเด็นย่อย ได้แก่ การสำรวจด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ การสำรวจทรัพยากรสัตว์ป่า การสำรวจและเก็บตัวอย่างทรัพยากรดินและการใช้ที่ดิน และการสำรวจและเก็บตัวอย่างน้ำผิวดินและสิ่งมีชีวิตในน้ำ กำหนดระยะเวลาศึกษาตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ แหล่งข่าวจากกรมอุทยานฯ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ให้ข้อมูลกับ Bangkok Tribuneว่า ผู้เชี่ยวชาญของกรมชลประทานได้เข้าไปในพื้นที่วางแผนสร้างเขื่อนห้วยชันในอุทยานฯ เขาใหญ่ และคลองวังมืดตอนล่างในอุทยานฯ ทับลานตั้งแต่กลางเดือนมกราคม

หนังสืออีกฉบับหนึ่งที่กรมชลประทานส่งถึงกรมอุทยานฯ ลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2566 ระบุว่า กรมชลประทานได้ขออนุญาตเข้าไปในพื้นที่ลุ่มน้ำไสน้อย–ไสใหญ่ และได้รับอนุมัติเมื่อวันที่ 6 มิถุนายนปีที่แล้ว ซึ่งตรงกับวันที่คณะทำงานฯ ประชุมสรุปผลและมีมติให้กรมอุทยานฯ เร่งดำเนินการให้กรมชลประทานเข้าพื้นที่โดยกำหนดระยะเวลาศึกษาฯ ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมถึงกลางเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว

ที่ปรึกษาอธิบดีกรมชลประทาน เกื้อศักดิ์ ทาทอง อดีตผู้อำนวยการกองวิศวกรรม กรมชลประทานซึ่งช่วยกำกับดูแลโครงการฯ ยอมรับกับ Bangkok Tribune ว่า กรมชลประทานได้ปรับแผนโครงการสร้างเขื่อนบนลำพระยาธารและไสน้อย–ไสใหญ่ บางแห่ง และกำลังดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและ EIA ของโครงการเหล่านั้นไปพร้อมกันเพื่อประหยัดเวลา ที่ปรึกษาฯ เกื้อศักดิ์ กล่าวว่า กรมชลประทานตัดสินใจยกเลิกโครงการเขื่อนลำพระยาธาร เขื่อนคลองวังมืด และเขื่อนไสใหญ่ หลังจากมีข้อกังวลถึงผลกระทบด้านลบต่อผืนป่าและสัตว์ป่าในพื้นที่

ที่ปรึกษาฯ เกื้อศักดิ์ ปฏิเสธถึงการดำเนินโครงการที่มีการตั้งคำถามว่าเป็นการขัดกับมติของคณะกรรมการมรดกโลก โดยกล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวของกรมชลประทาน ณ ปัจจุบัน “เป็นการเตรียมความพร้อมมากกว่า หากรัฐบาลต้องการดำเนินโครงการเหล่านี้ เราก็สามารถสนับสนุนข้อมูลได้เลย การจะสร้างหรือไม่สร้าง รัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจ”

ได้ไม่คุ้มเสีย?

ที่ปรึกษาฯ เกื้อศักดิ์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นแผนการจัดหาน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและเพื่อการชลประทานให้กับชาวบ้านที่อยู่ในจังหวัดรอบพื้นที่มรดกโลก รวมถึงนครนายก ปราจีนบุรี และสระแก้ว นอกจากนี้ น้ำจากเขื่อนยังจะช่วยผลักดันน้ำเค็มที่รุกเข้ามาในพื้นที่ทางแม่น้ำสายหลักรวมถึงแม่น้ำบางปะกงทางทิศตะวันออกด้วย

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนจะเห็นด้วยกับโครงการนี้ ชาวบ้านในพื้นที่จำนวนมากออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยและคัดค้านโครงการเหล่านั้นด้วยความกังวลว่าเขื่อนจะส่งผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีวิต สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติของพื้นที่มรดกโลก โดยเฉพาะเขื่อนคลองมะเดื่อ ซึ่งอาจทำให้ชุมชนบางแห่งต้องจมอยู่ใต้น้ำพร้อมกับพื้นที่ป่าเขาใหญ่กว่า 1,000 ไร่

ชาวบ้านหลายคนในคลองมะเดื่อบอกว่าพวกเขาไม่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับโครงการอย่างละเอียด และบางครั้งยังถูกบังคับให้ลงชื่อเพื่อยอมรับโครงการดังกล่าวด้วย Photo: Sayan Chuenudomsavad

โสภณัฐต์ กิ่งผา ชาวสวนและเจ้าของรีสอร์ตซึ่งอาศัยในชุมชนที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สร้างเขื่อนมาอย่างยาวนานกล่าวว่า เขื่อนอาจก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบกับชาวบ้าน เพราะพื้นที่อ่างเก็บน้ำอาจท่วมชุมชนทั้งหมด

ชาวบ้านหลายคนที่อาศัยอยู่ติดกับป่าซึ่งมีอาณาเขตซ้อนทับกัน ยังคงมีปัญหาเรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน และขาดความมั่นคงในที่ดินของตนเอง อย่างไรก็ตาม พวกเขาได้พัฒนาพื้นที่จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญและเป็นสวนผลไม้ที่ขึ้นชื่อของจังหวัดนครนายกโสภณัฐต์กล่าวว่า การจะโน้มน้าวให้ชาวบ้านละทิ้งทรัพย์สินและที่ดินเพื่อยอมให้มีการสร้างเขื่อนเป็นเรื่องยาก เนื่องจากไม่มีการกำหนดค่าชดเชยให้ชัดเจนอันเนื่องมาจากความไม่ชัดเจนของสิทธิในที่ดินของพวกเขา สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับชาวบ้านคือ โอกาสที่ดีในชีวิตและคุณภาพชีวิตของพวกเขาในปัจจุบัน   

มันเป็นสิ่งที่เราสามารถส่งต่อให้ลูกหลานได้ ผมไม่รู้จะย้ายไปที่ไหน และจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนที่เราเป็นเจ้าของสวนผลไม้และรีสอร์ตที่นี่ได้อย่างไร ไม่ต้องกลายเป็นผู้ใช้แรงงานหรือถ้าผมย้ายออกไป?  นี่เป็นเหตุผลหลักที่เราไม่เคยเจรจาเรื่องค่าชดเชย ข้อเสนอของเรามีประเด็นเดียวคือ เราคัดค้านโครงการนี้ (เขื่อนคลองมะเดื่อ)  โสภณัฐต์กล่าว

ความกังวลของโสภณัฐต์ ไม่ต่างจากความกังวลของไพบูลย์ เมื่อต้องเห็นสัตว์ป่าจำนวนมากโดยเฉพาะช้างที่ออกจากป่ามาหากินในสวนของตนเองและเพื่อนบ้าน และเป็นความกังวลเดียวกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่เป็นห่วงว่าเขื่อนอาจทำลายระบบนิเวศของผืนป่าและทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง ซึ่งเป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ขณะนี้ ในพื้นที่อุทยานทับลานและตาพระยาเองก็เริ่มเห็นช้างป่าออกเดินหากินกันเป็นโขลงใหญ่กว่า 70 ตัวแล้วเช่นกัน

เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้เก็บรวบรวมข้อมูลสัตว์ป่าตรงบริเวณแนวเชื่อมต่อป่า (Wildlife Corridor) สำหรับสัตว์ป่าลอดใต้ทางหลวงหมายเลข 304 ที่ตัดผ่านอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และทับลาน โดยใช้กล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าและหน่วยลาดตระเวน SMART Patrol รวมถึงการสำรวจบันทึกในพื้นที่จริง พวกเขาพบว่ามีสัตว์ป่าจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เดินข้ามไปมาระหว่างป่าเขาใหญ่และทับลาน รวมทั้งสัตว์ใหญ่อย่างช้างป่า หลักฐานล่าสุดยังพบว่า มีเสือโคร่งปรากฏอยู่ใกล้แนวเชื่อมนั้นด้วย ทำให้เกิดความหวังว่า พวกมันจะข้ามจากทับลานไปยังเขาใหญ่ ซึ่งใม่ปรากฏว่ามีเสือโคร่งมานานแล้ว และจะทำให้เสือโคร่งเพิ่มประชากรที่นั่นได้ ที่ตั้งของเขื่อนคลองวังมืดอยู่ห่างจากแนวเชื่อมต่อป่าเพียงประมาณ 700 เมตร ภาพ : Sayan Chuenudomsavad

จากมุมมองของการอนุรักษ์ เจ้าหน้าที่มีความกังวลเป็นพิเศษว่า เขื่อนอาจเป็นอุปสรรคขัดขวางการขยายพันธุ์และการกระจายตัวของสัตว์ป่าในผืนป่าทั้งหมด ซึ่งหลายส่วนกลายเป็นพื้นที่ถูกแยกขาดจากกันและกลายเป็นหย่อมป่าไปแล้ว

ประเด็นนี้น่าวิตกเป็นพิเศษสำหรับพื้นที่อุทยานแห่งชาติตาพระยาและทับลาน ซึ่งเจ้าหน้าได้พบเห็นสัตว์สำคัญ ๆ เช่น เสือโคร่ง และเหยื่อของพวกมันกลับเข้าไปในพื้นที่และเพิ่มประชากรอีกครั้ง อุทยานแห่งชาติทับลานได้มีข้อมูลบันทึกไว้ว่า มีเสือโคร่งอยู่กว่า 20 ตัว ภาพถ่ายล่าสุดแสดงให้เห็นว่าเสือบางตัวเดินเตร่อยู่ใกล้กับทางแนวเชื่อมต่อป่าที่เชื่อมอุทยานฯ เข้ากับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งไม่มีเสือโคร่งอยู่มานานหลายปีแล้ว  

เสือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งของระบบนิเวศของผืนป่า หากมันเดินข้ามไปในเขาใหญ่ได้ ก็จะถือเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ของงานอนุรักษ์ในบ้านเรา เขื่อนอย่างคลองวังมืดอาจทำให้ความหวังของพวกเราเลือนหายไปได้” หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน ประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ ซึ่งเป็นผู้เสนอทางเลือกการจัดการน้ำใหม่ รวมถึงการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กภายในชุมชนแทนการสร้างเขื่อนกล่าว

หัวหน้าประวัติศาสตร์กังวลเกี่ยวกับผลกระทบของการสร้างเขื่อนต่อแนวเชื่อมต่อป่าของสัตว์ป่า เนื่องจากเป็นความหวังที่สำคัญยิ่งในการเชื่อมผืนป่าและสัตว์ป่าที่สำคัญของอุทยานแห่งชาติทั้ง 2 แห่งรวมถึงเสือโคร่งเข้าด้วยกัน เขาพยายามมองด้านบวกว่า การศึกษาโครงการครั้งใหม่จะทำให้มีพื้นที่ให้ข้อเท็จจริงเหล่านี้ได้ถูกแสดงต่อผู้มีอำนาจตัดสินใจควบคู่ไปกับมุมมองในการพัฒนา  Photo: Sayan Chuenudomsavad

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติตาพระยา วุฒิชัย เกตานนท์ กล่าวว่า: มันอาจทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและบริการทางนิเวศของเราได้”

หัวหน้าวุฒิชัย ยกตัวอย่างความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นกับผีเสื้อขีดเงินลายแปลก Aberrant Silverline (Cigaritis vixinga davidsoni) ซึ่งเป็นสายพันธุ์หายาก พบเฉพาะในพื้นที่ป่าตาพระยา พวกมันกินใบขมิ้นต้น (Mahonia duclouxiana Gagnep.) เป็นอาหาร และให้มดช่วยเลี้ยงตัวอ่อนของพวกมัน การคงอยู่ของผีเสื้อชนิดนี้ชี้ให้เห็นถึงความเฉพาะเจาะจงของระบบนิเวศและบริการทางนิเวศที่พวกมันต้องพึ่งพิง ในขณะที่เสือโคร่ง ซึ่งเป็นสัตว์ผู้ล่าสำคัญในห่วงโซ่อาหารของระบบนิเวศของผืนป่า ต้องการพื้นที่ราบกว้างใหญ่เพื่อใช้ในการล่าและหาอาหารเพื่อความอยู่รอด

“การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมต้องตอบคำถามให้ได้ว่า สัตว์เหล่านี้จะไปอาศัยพื้นที่ไหนได้ มีที่ไหนอีกที่ เสือหรือผีเสื้อเหล่านี้จะมีชีวิตอยู่ได้ ไม่เช่นนั้น หากพวกมันก็ไม่มีที่อยู่ คนที่เดือดร้อนก็จะเป็นพวกเรา เมื่อสัตว์เหล่านั้นต้องออกจากป่ามาหาเรา  

“นี่คือข้อเท็จจริงที่ผมอยากเล่าให้ฟัง แต่ปัญหาคือเราจะทำให้พวกเขา (ผู้กำหนดนโยบายและคนใช้น้ำ) เข้าใจได้อย่างไรว่า สิ่งเหล่านี้สำคัญกว่าการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า มันไม่ใช่แค่เรื่องของการจัดหาน้ำ แต่มันเป็นเรื่องของการจัดการทรัพยากรน้ำและความต้องการของเรา ตั้งแต่การใช้อุปโภคบริโภคในครัวเรือนไปถึงการทำเกษตร เราไม่ได้มีแค่ทางเลือกเดียวว่า ถ้าต้องการน้ำ เราต้องสร้างแต่เขื่อนในป่า

“ถึงที่สุด เราต้องการบริการทางนิเวศและความสมดุลทางนิเวศมากที่สุด และนั่นคือเหตุผลว่า ทำไมเราจึงไม่ควรสูญเสียพื้นที่ป่าไม้มากไปกว่านี้” หัวหน้าวุฒิชัยกล่าว พร้อมเสนอว่า ควรดำเนินการจัดทำ SEA ทันทีเพื่อหาคำตอบให้กับทุกฝ่าย เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียสถานะการเป็นมรดกโลกของผืนป่าแห่งนี้

อย่างไรก็ดี ยังไม่มีการศึกษา SEA แต่อย่างใด รายงาน SEA ยังคงอยู่ระหว่างการรองบประมาณ ช่วงแรก ๆ สำนักงาน กปร. เสนอจัดเตรียมงบประมาณให้ แต่ก็จะเพียงพอสำหรับการดำเนินงานเพียง 1 ปี กรมอุทยานฯ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการศึกษา SEA ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี ในที่ประชุมสรุปผลของคณะทำงานฯ ได้มีการเสนอให้กรมอุทยานฯ ของบประมาณภายใต้แผนการจัดการน้ำแห่งชาติจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ นั่นหมายความว่า การเตรียมจัดทำ SEA จะต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง  

ในขณะเดียวกัน องค์กรด้านการอนุรักษ์อย่างมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ได้เรียกร้องให้มีการทบทวนโครงการก่อสร้างเขื่อนทั้งหมดในพื้นที่มรดกโลกและป่าอนุรักษ์อื่น ๆ โดยให้เหตุผลว่า การจัดการน้ำทางเลือกสามารถทำได้โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ป่าไม้ของประเทศและนโยบายการจัดการป่าไม้ในระยะยาว

ลำห้วยคลองวังมืดที่จะมีการสร้างเขื่อนคลองวังมืด คือพื้นที่ราบต่ำเดียวกันที่สัตว์ป่าหลายชนิดรวมทั้งเสือโคร่งเข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ในเวลานี้
Photo: Sayan Chuenudomsavad

รายงานชิ้นนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยจากรายงานพิเศษ SPECIAL REPORT SERIES: Our World Heritage in Danger? : Damming Dong Phayayen, Khao Yai in Danger? โดย เพ็ญนภา หงษ์ทอง นักแปลอิสระและอดีตผู้สื่อข่าวสิ่งแวดล้อมหนังสือพิมพ์ The Nation

SPECIAL REPORT SERIES: Our World Heritage in Danger?: A close look into the country’s Natural World Heritage Sites and challenges was produced with support from the Rainforest Journalism Fund in partnership with the Pulitzer Center.