2475 นักเขียนผีแห่งสยาม อุดมการณ์อาจเลือนหาย แต่หมึกปากกายังอยู่ - Decode
Reading Time: 3 minutes

“หมายความว่าภายใต้กฎหมายประเทศนี้ถ้าเกิดมีใครทำผิด กลุ่มผู้มีอำนาจก็สามารถทำให้พ้นผิดได้เสมอ หรือกลับกัน คนที่ไม่ผิด ก็ทำให้ผิดได้เสมอ” หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ให้สัมภาษณ์กับบรู๊ฟหญิงแห่งบางกอกนิวส์ ถึงกรณีการเสียชีวิตของคนงานจีนที่โรงสีเวลานั้น

สิ่งสำคัญที่ทำให้หนังสือเล่มนี้กลายเป็นหนังสือชั้นยอด ไม่ใช่แค่สำหรับหมวดหมู่หนังสือการ์ตูนหรือหนังสือประวัติศาสตร์ นี่คือการยืนยันถึงกระดูกสันหลังที่มีในตัวละครอย่างนิภา และนักวาดอย่างสะอาด ในหนังสือ 2475 นักเขียนผีแห่งสยาม ว่าสังคมที่เราเฝ้าฝันนั้นจำเป็นต้องแลกมาด้วยอะไรบ้าง อย่างน้อย ๆ ที่สุดคือบทสนทนาในกระดาษ 460 หน้าคือการพูดถึงอุปสรรคต่อสังคมที่เราใฝ่หาว่าคือสิ่งใดกันแน่

นี่คือเรื่องราวของนักเขียนผีแห่งสยาม ในประเทศที่หลายครั้งใครบางคนพยายามทำให้นักข่าวต้องกลายเป็นผีไปเสียเอง ความจริงผ่านน้ำหมึกที่นิภาใช้เพื่อสร้างเสรีภาพของสื่อผ่านการเป็นประจักษ์พยานความเหลื่อมล้ำในรัชสมัยแห่งการเปลี่ยนผ่าน

ประวัติศาสตร์อาจกำลังบอกเราว่า หมึกจากปลายปากกาด้ามจิ๋วของใครบางคนก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้เหมือนกัน ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นเจ้า ข้าราชการ นักข่าว และกุลีข้างถนนก็ตาม

มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญใน Graphic novel 2475 นักเขียนผีแห่งสยาม

บรู๊ฟหญิงแห่ง 2475

แม้ว่านิภาหรือนาจะเป็นเพียงตัวละครสมมติและมีสถานการณ์ล้อมรอบด้วยความจริงในประวัติศาสตร์ แต่หลายหน้ากระดาษในหนังสือเล่มนี้กลับทำให้ผมเห็นเรื่องราวและผู้คนในชีวิตจริงกับน้ำหมึกปริ้นท์ของสะอาด ทับซ้อนจนแทบจะกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน

ตัวละครหลักของเรื่องนี้จะมีสวมหมวกหลายใบ ตั้งแต่เป็นเด็กผู้หญิงที่รักการเขียน ลูกกบฎ นักเรียนดีเด่นผู้ต่อต้านวิชาธรรมจริยา พี่สาวของอรุณ หญิงสาวผู้เรียนหนังสือพิมพ์ผ่านไปรษณีย์จากอังกฤษ หรือกล่อมเรไร แต่หมวกที่ผมชอบที่สุดและดูมีพลังกลับกลายเป็นบรู๊ฟหญิงแห่งหนังสือพิมพ์บางกอกนิวส์

จวบจนกระทั่งปัจจุบัน อาชีพนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ดูจะเป็นอาชีพที่ไส้แห้งไม่ต่างกัน การเขียนงานให้มวลชนย่อมได้เงินน้อยกว่าการเขียนงานเพื่อให้ใครบางคน/บางกลุ่มอยู่แล้ว อาชีพนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ที่ดูเหมือนผู้ทลายการผูกขาดความจริงจากรัฐและชนชั้นนำ ดูจะเป็นอาชีพที่เป็นที่ยกย่องของคนตัวเล็กตัวน้อย แต่ไม่น่าพิศมัยนักกับชนชั้นนำและผู้มีอำนาจ

แม้อาชีพนักข่าวดูจะเป็นผู้ทลายการผูกขาดความจริง อย่างไรเสีย สำนักพิมพ์ก็เป็นธุรกิจอีกประเภทหนึ่ง ยังต้องใช้เงินขับเคลื่อนให้หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับถูกตีพิมพ์ออกมา ท่ามกลางหนังสือพิมพ์มากมายตามแผง เราคงนับหัวกันได้ว่าเจ้าไหนเขียนเพื่อใครและสารที่ออกถูกสื่อเพื่อพูดความจริงของใครกันแน่

ในขณะเดียวกัน แม้บางกอกนิวส์จะเป็นหนังสือพิมพ์ที่เคียงข้างราษฎรหมู่มาก บอกเล่าความจริงที่เกิดขึ้นในสังคม แต่เราจะเห็นได้ว่าในโรงพิมพ์เองก็เต็มไปด้วยนักเขียนชายเป็นส่วนใหญ่ ผู้หญิงถูกจำกัดอยู่แค่บัญชี เสมียน และบรู๊ฟหญิง แต่น้อยคนนักจะรู้ว่าบรู๊ฟหญิงที่ชื่อนิภานี่แหละ คือคนขับเคลื่อนทั้งสำนักพิมพ์ผ่านปลายปากกาของเธอ เธอคือบก.ผีแห่งบางกอกนิวส์ทั้งในการตรวจเนื้อหาและเขียนบทบรรณาธิการหลายฉบับ

การเป็นบก.ผีของนิภาทับซ้อนกับการเป็นเธออยู่หลายมิติและสมเหตุสมผล ไม่ใช่ว่าสะอาดวาดให้เธอเป็นบก.ผี เพียงเพราะผู้หญิงในช่วงเวลานั้นไม่สามารถที่จะมีสิทธิ์ได้ร่ำเรียนสูงนักหรือมีสถานะทางสังคม ในขณะเดียวกันนี้เอง บก.ผีภายใต้ฉากหน้าอย่างบรู๊ฟหญิงอย่างที่หลาย ๆ ตัวละครในเรื่องเข้าใจ เธอคือลูกกบฎ ที่เก่งแค่ไหนก็ไม่สามารถไปเรียนเมืองนอกหรือก้าวหน้าทางราชการได้ เป็นเด็กหญิงที่มีความฝันอยากเป็นนักเขียนอย่างพ่อของเธอ การเป็นนักเขียนผีคือการต้องไร้ตัวตนเพื่อที่จะให้งานของตนถูกยอมรับผ่านเนื้อหาเพียว ๆ ไม่ได้ตัดสินว่าเป็นเพศใดหรือลูกใคร

การที่ให้บรู๊ฟหญิงเป็นตัวดำเนินเรื่องหลักทำให้ผมนึกถึงนักข่าวหญิงในสังคมไทยปัจจุบัน มีวิจัยมากมายหลายฉบับที่พูดถึงเหตุแห่งเพศที่ทำให้เกิดการคุกคาม การใช้ความรุนแรง รวมถึงการเติบโตในสายงานที่ยากกว่าผู้ชาย นั่นยิ่งเป็นการย้ำเตือนว่า ในแวดวงสื่อเองยังคงกดทับคนด้วยเหตุแห่งเพศ ถึงแม้ว่าเราจะทำข่าวเรื่องสิทธิทางเพศกันแค่ไหน แต่วงการสื่อไทยยังคงกดทับทางเพศกันเองไม่ต่างกัน

แต่ในขณะเดียวกัน บรู๊ฟหญิงอย่างนิภาทำให้ผมนึกถึงนักข่าวหญิง บก.หญิง กราฟฟิกหญิง หรือตัดต่อหญิง รวมถึงอีกหลายตำแหน่งที่ไม่จำกัดเฉพาะเพศใดเพศหนึ่งอีกต่อไปอีกหลายคนในชีวิตนักข่าว สิ่งที่อัดอั้นในอกหลังกระดาษแต่ละหน้าผ่านไป ผมเห็นหน้าพวกเขาเหล่านั้นซ้อนทับอยู่ ไม่ใช่เพราะสงสารเพราะอาจโดนมายาคติในสังคมกดทับ แต่เพราะความเคารพในฐานะคนทำงานด้วยกัน

ว่ากันตามตรงมีหลายต่อหลายครั้งที่ผมเคยเจอนักข่าว ‘ชาย’ หลายคนที่ไม่ต่างจากในเรื่อง ที่ยังคงมองคนทำงานด้วยอคติทางเพศ ผมนึกย้อนไปจนถึงปี 2475 หากนิภาไม่ตกอยู่ภายใต้กรอบอคติทางเพศและการกดทับจากชนชั้นนำ ในฐานะนักเขียนด้วยกัน ความปรารถนาสูงสุดของชาวเราคือการที่มีคนได้อ่านตัวอักษรผ่านการสืบค้น ลงพื้นที่ ได้มากที่สุดเท่าจะเป็นไปได้เมื่อจนจบบรรทัดสุดท้ายจะมีชื่อของพวกเราอยู่ที่มุมขวาล่าง จะดีแค่ไหนหากนักเขียนผีคนนี้จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมผ่านชื่อ นิภา

นักเขียนผีแห่งสยามจึงทำงานกับข้างในของผมในฐานะนักเขียน-ข่าว อย่างจัง เพราะคำว่าประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การปฏิวัติระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ประชาธิปไตยมีอยู่ในทุก ๆ ที่ ตั้งแต่ห้องครัวที่บ้าน กระดานชั้นเรียน โต๊ะทำงานและท้องถนน

และคำถามที่แทรกมาตลอดน้ำหมึกของสะอาดนี้ คือประชาธิปไตยในทุกมิติที่เราเฝ้าฝันหา เติบโตขึ้นบ้างมากน้อยแค่ไหนกัน?

อีกฝากฝั่งของประวัติศาสตร์

แต่ถ้าถามถึงสิ่งที่น่าประทับใจและสร้างแรงกระเพื่อมต่อวงการ fiction(based on true story) ในความรู้สึกของผมคือการตีความตัวละคร ปรีดี และ แปลก ก่อนการปฏิวัติ 2475

ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรที่ปรีดี พนมยงค์ และจอมพล ป. พิบูลสงครามนั้นจะเป็นทั้งผู้ร้าย เป็นทั้งผู้นำ หรือเป็นผู้มีพระคุณที่ก่อร่างสร้างชาติในความรู้สึกของราษฎร แต่มองให้ลึกลงไปกว่านั้น เขาเหล่านี้คือมนุษย์ที่มีจิตใจ มีบุคลิกแตกต่างกันไป และมีอารมณ์ตื่นตระหนก กลัว ตื่นเต้น ไม่ต่างจากเรา ๆ 

สิ่งหนึ่งที่คนอ่านจะได้จากหนังสือเล่มนี้นอกจากประวัติศาสตร์ตามฉบับกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งในภาพวาดและข้อมูลที่ผู้จัดทำทิ้ง qr code ไว้ให้ที่หน้าสุดท้าย คือการทำให้เห็นภาพชัดขึ้นจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์จริง ๆ ว่าการปฏิวัติในช่วงอภิวัฒน์สยามนั้นไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่าย ในมุมกลับกัน การปฏิวัติจำเป็นจะต้องใช้ความปรารถนาที่แรงกล้า การทำการใหญ่ครึ่ง ๆ กลาง ๆ ย่อมไม่มีทางสำเร็จ 

ในฐานะผู้นำ หมากแต่ละตัวก็ต้องรู้จักใช้งานและพร้อมทิ้งด้วยเช่นกัน รวมถึงไม่มีมิตรแท้ศัตรูถาวรในเกมการเมือง ดั่งที่แปลกและปรีดีต้องชิงเหลี่ยมชิงไหวพริบกัน กลับฝั่งกลับฝากันและหากใครเคยอ่าน ขุนศึก ศักดินา พญาอินทรี หรือหนังสือประวัติศาสตร์ในช่วงนั้นคงจะพอทราบว่าเกมการเมืองในยุคนั้นร้อนแรงทั้งศึกในศึกนอกโดยแท้

2475 นักเขียนผีแห่งสยาม พยายามที่จะทำให้ประวัติศาสตร์ถูกเล่าออกมาอีกแง่มุมหนึ่งมากขึ้น มันทำให้เราเห็นพัฒนาการของตัวละครที่ปูมาจากถิ่นฐานบ้านเกิด ประสบการณ์ในวัยเยาว์ โดยเฉพาะพาร์ทของปรีดีและแปลกที่ให้น้ำเสียงของความเป็นมนุษย์แบบที่ประวัติศาสตร์ไทยเราไม่ค่อยจะทำกันนัก

ในการประชุมลับของนักเรียนฝรั่งเศส ในขณะที่คนอื่น ๆ กำลังเมามายกันอยู่นั้น ปรีดีก็ได้ถามแปลกว่าทำไมคุณถึงเลือกที่จะร่วมการเปลี่ยนแปลงสยามครั้งนี้

“ตอนที่ลูกผมอายุได้เดือนนึง ครอบครัวของเราอาศัยอยู่บ้านพักข้าราชการ คืนหนึ่งเราถูกนายสั่งให้ย้ายออกฉุกเฉินโดยไม่แจ้งล่วงหน้า เพื่อเอาบ้านไปรับรองข้าราชการชั้นสูงที่จะมาชมการแสดงยิงปืนใหญ่ในตอนค่ำ

คืนนั้นผมนั่งมองลูกเมียนอนบนกองฟางในท่อซีเมนต์ และความคิดหนึ่งก็ผุดขึ้นมาในใจ ว่าต่อจากนี้ไม่กูก็มึง เราต้องตายกันไปข้าง” แปลก ตอบ

ไม่ผิดที่การทำการใหญ่จำเป็นจะต้องมีอุดมการณ์มากกว่าอุดมกู อย่างไรก็ตาม แรงขับแรกของคนเหล่านี้คือสิ่งสำคัญที่ทำให้เราเห็นภาพได้ชัดขึ้นว่าอะไร คือสิ่งที่ทำให้พวกเขาเหล่านั้นกล้าที่จะเป็นทั้งฮีโร่และทรราชในเวลาเดียวกัน มันทำให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ในฐานะคำบอกเล่าของมนุษย์ ไม่ใช่นิยายปรัมปราอย่างที่เราพร่ำเรียนกันมาตลอด

หรือกระทั่งการใช้คำพูดต่าง ๆ ที่เคยเป็นคำต้องห้ามมาก่อนอย่าง ต้องโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือการใส่ตัวละครที่มีปูมหลังอย่างกระเรียนวาด ซึ่งเป็นคอลัมนิสต์ในวังแสงอักษร ทว่า เขาเองก็เป็นลูกหลานของกบฏผีบุญ ผู้ซึ่งมีความคับแค้นกับส่วนกลางไม่ต่างกัน มันทำให้เห็นเครือข่ายของการปฏิวัติในครั้งนี้ ว่าไม่ได้มีเพียงกลุ่มคณะราษฏรเพียงหยิบมือ แต่มันเกิดจากการควบรวมผู้คนผู้มีมวลอารมณ์และเป้าหมายเหมือนกัน รวมถึงมีความซับซ้อนและล้มเหลวหากความคิดแตกต่างกันออกไปดังที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์

ไปจนถึงการถกเถียงเรื่องการคงไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์หรือการเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐ มันทำให้ความย้อนแย้งบนความต่อต้านและการหมอบกราบ การนึกถึงประโยชน์ส่วนตนและความทุกข์ยากส่วนรวม เราเห็นความกล้าหาญบนความหมอบกราบของคนเหล่านี้ การนำเรื่องเหล่านี้มาพูดถึงให้มากขึ้นไม่ต่างจากเรียนประวัติศาสตร์ทั่วไป แต่มันกลับให้มวลอารมณ์ที่ทำให้เรารู้สึกต้องทำความเข้าใจมันมากขึ้น เพื่อให้เห็นทางออกในอนาคตของสังคม

หลาย ๆ ฉากใช้บทสนทนา หลาย ๆ ฉากใช้คำนึกคิดในหัว แต่ส่วนที่ผมชอบเป็นฉากที่ไร้ซึ่งบทพูดใด ๆ อย่างฉากการปล่อยโรมิโอให้เป็นอิสระ ฉากร้องไห้ของหญิงชาววังที่ต้องทำงานจนบาดเจ็บแต่ยังต้องบอกว่ามีความสุข ฉากนิภายืนประจันหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม ลายเส้นที่สะอาดใช้มันกลับทำให้รู้สึกหนักอึ้งจนกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เมื่อประวัติศาสตร์ที่อยู่ในหนังสืออาจกำลังเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสังคมไทยปัจจุบัน

การเรียนรู้ประวัติศาสตร์มีไว้ เพื่อไม่ให้เราต้องซ้ำรอยประวัติศาสตร์นั้นอีก

และเราจะไม่ซ้ำรอยประวัติศาสตร์เหล่านั้นอีกครั้ง หากวันนี้เราได้รู้ความจริงของเรื่องราวในอดีตโดยไม่ถูกปกปิดจากคนกลุ่มไหนก็ตาม

จำปาในแอนิมอลฟาร์ม

จุดหักเหที่เรียบง่ายแต่ตั้งคำถามกับการมีอยู่ของชีวิตในฐานะมนุษย์ของนิภา คือการเป็นคอลัมนิสต์ในชื่อ กล่อมเรไร กับผลงานชุดที่ชื่อ จำปา

เรื่องราวของจำปาเกิดจากนิภานำเรื่องแต่งในวัยเด็กมาสานต่อ หลังจากเข้าร่วมในนิตยสารแสงอักษร ที่นอกจากโปรโมทว่าเป็นนิตยสารสมัยใหม่ เนื้อหาล้ำสมัย ยังมอบค่าตอบแทน ห้องทำงาน พร้อมสวัสดิการและคนรับใช้น่าจะมากที่สุดเท่าที่นักเขียนคนหนึ่งพึงจะได้รับ

เรื่องราวของเด็กหญิงจำปาในช่วงแรกไม่ต่างบทกวีประโลมโลก นิภาเผชิญอยู่ในโลกที่โหดร้าย พ่อและแม่หายตัวไป ถึงอย่างนั้นก็ยังมีมวลสรรพสัตว์คอยดูแลจนได้เจออีกโลกหนึ่งที่ดีกว่าโลกเดิมที่เธอจากมา ผลคือคอลัมน์กล่องเรไรขายดีเทน้ำเทท่าจากความโรแมนติไซส์ความเจ็บปวดที่จำปาต้องพบเจอ

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าสะอาดอาจจะเลือกการเปรียบเทียบสรรพสัตว์มาจากหนังสือคลาสสิกอย่างแอนิมอลฟาร์ม ไมใช่แค่ในนิทานจำปาเท่านั้น แต่ตลอดทั้งเส้นเรื่องเราเห็นการปลดแอกของประชาชนไม่ต่างจากการปลดแอกของหมู่สัตว์จากหมูเผด็จการเลย

สะอาดชวนให้ผู้อ่านคิดไปไกลกว่านั้น ไม่ได้จบเพียงแค่คนแต่กลุ่มแทนสัตว์ประเภทใด แต่ยังมีเศรษฐี ซึ่งอาจหมายถึงกลุ่มผู้ชมที่เข้ามาในสวนสัตว์ ที่จำปานึกว่าเป็นผืนป่า ท้ายที่สุดแล้วในระบอบชนชั้น คนตัวเล็กตัวน้อยอาจมีค่าไม่ต่างจากสัตว์เหล่านั้นหรือไม่ เป็นเพียงฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนให้สวนสัตว์แห่งนี้มีเงินหมุนเวียนให้กับเศรษฐี เจ้าของสวนสัตว์

“แล้วแต่คนอ่านจะตีความแตกต่างกันไปค่ะ” นิภากล่าวกับพระองค์เจ้าวรประพันธ์ถึงนิทานจำปาตอนล่าสุด เมื่อป่าที่ว่าแท้จริงเป็นเพียงสวนสัตว์ของเศรษฐีคนหนึ่ง และเพื่อนสรรพสัตว์ของจำปาแท้จริงก็เป็นแค่สัตว์ในกรงที่จะถูกโละทิ้งวันไหนก็ได้ตามแต่ใจเจ้าของ

เพียงแค่ส่วนเล็ก ๆ ของนักเขียนเบอร์เล็กอย่างนิภา หากมองผ่านอาจไม่ต่างจากนิยายประโลมโลกหรือสนามระบายอารมณ์ความโกรธแค้นต่อสังคมของเธอ แต่ในจำปาตอนที่ 3 ถูกตรวจด้วยพระองค์เจ้าวรประพันธ์ คือทางแยกในชีวิตของเธอ ว่าปลายปากกาของเธอนั้นจะมีอยู่เผื่อมวลชนและเพียงแค่บอกเล่าความข้างเดียวที่ชนชั้นนำอยากให้นำเสนอเท่านั้น

มากไปกว่านั้นอาจหมายถึงอนาคตที่ต้องกลับไปไส้แห้ง ไร้ชื่อเสียง และลำบากอย่างเคย หรือมากไปกว่านั้นคือความตายจากการแข็งขืนชนชั้นนำผ่านเรื่องราวจากอุดมการณ์ของเธอ

นิภาอาจจะต้องถามตัวเอง ว่าเธอควรจะเดินบนทางแยกระหว่างนักเขียนชื่อดังที่รายล้อมด้วยเงินตราและชื่อเสียง หรือเป็นนักเขียนผีที่ต้องตรากตรำเพื่อตีแผ่ความจริงของสังคม

และเราทุกคนจำเป็นที่จะต้องถามตัวเองด้วยเช่นกันว่า เราเองเป็นสรรพสัตว์ที่อาศัยในผืนป่าหรือเป็นเพียงแค่สัตว์เลี้ยงในกรงขังที่เจ้าของสวนสัตว์นึกจะทำอะไรกับเราก็ได้

อุดมการณ์อาจเลือนหาย แต่หมึกปากกายังอยู่

ในปี 2475 มีนักเขียนผี แต่ใน 50 ปีให้หลัง มีนักข่าว นักสื่อสาร และประชาชนจำนวนไม่น้อยถูกทำให้เป็นผี

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักข่าวประชาไทรายงานว่า เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบแสดงหมายจับต่อ ‘ณัฐพล เมฆโสภณ’ ผู้สื่อข่าวของประชาไท และ ’ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์’ ช่างภาพอิสระ ว่ากระทำผิดฐาน ‘เป็นผู้สนับสนุนทำให้โบราณสถานเสียหายจากการขีดเขียนข้อความ’

หมายจับดังกล่าวสืบเนื่องมาจากการทำข่าวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 ที่สำนักข่าวประชาไทรายงานว่า มีประชาชนนำสีสเปรย์มาพ่นบนกำแพงวัดพระแก้ว เป็นเครื่องหมายสัญลักษณ์อนาคิสต์ และข้อความว่า ไม่เอา 112

สิ่งที่น่าสนใจในสถานการณ์นี้คือสื่อได้หมายจับและถูกจับกุมเพราะทำหน้าที่ของตน ในขณะเดียวกัน องค์กรวิชาชีพเองก็ไม่ได้ออกมาแสดงจุดยืนอย่างหนักแน่น รวมถึงหลายองค์กรต้นสังกัดเองก็ไม่ได้ออกมาปกป้องคนทำงานของตนจากหลายเหตุการณ์โดยเฉพาะสถานการณ์ทางการเมืองที่คุกรุ่นเมื่อ 5 ปีให้หลังมานี้

สิ่งที่นิภาพูดหลังจากเข้าร่วมกองปฏิวัติสยามนั้น คือการเขียนข่าวโคมลอย ข่าวลือเพื่อปลุกระดมพลเมืองให้ลุกฮือกับชนชั้นนำสยาม แต่นิภาไม่ยอม เพราะสิ่งที่นักหนังสือพิมพ์ต้องทำนั้นคือการตรวจสอบผู้มีอำนาจไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม นั่นคืออุดมการณ์ของนักเขียนผีคนหนึ่งที่ตามหาสังคมที่ต้องตั้งคำถามได้

“จะรู้ได้อย่างไร เมื่อถึงคราวยึดอำนาจสำเร็จ พวกคุณจะไม่กลายเป็นปีศาจเผด็จการไปอีกตน” นิภาเอ่ยขณะจิบเหล้า

“ผิดแล้ว ฉันไม่มีทางไว้ใจคุณเด็ดขาด เพราะสุดท้ายงานของนักหนังสือพิมพ์ คือตรวจสอบผู้มีอำนาจไม่ว่ามันจะเป็นใครก็ตาม” 

ระหว่างอ่านช่วงตอนนี้ ผมสั่นเทาไปด้วยความโกรธและเสียใจ แม้ผ่านมาครึ่งศตวรรษ อาชีพนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ หรือสื่อยังไม่สามารถหาทางปลอดภัยในการรายงานความจริงได้ สังคมไทยยังมีอีกหลายคนที่ไม่ต่างจากบก.บางกอกนิวส์ ที่โดนดักตีระหว่างทางกลับบ้าน มีคนทำสื่ออีกหลายแห่งที่ต้องรับใช้กลุ่มบางกลุ่มและไม่รายงานความจริงเพื่อความอยู่รอดขององค์กร หรือกระทั่งการรายงานความจริงตรงหน้าก็ถูกจับกุม เนื่องจากสมรู้ร่วมคิดกับการแสดงความไม่พอใจของประชาชนต่อสภาพสังคมแล้ว

ผมคิดว่านี่คือเหตุผลในการยังมีอยู่ของอาชีพนี้ แม้ว่าปัจจุบันการสื่อสารจะถูกทลายกำแพงไปจนสิ้นโดยโซเชี่ยลมีเดีย อย่างไรก็ตาม งานข่าวยังเป็นสายงานเฉพาะทางที่ต้องได้รับการฝึกฝนเพื่อเข้าใจประเด็น ความละเอียดอ่อน และการส่งสารอย่างรอบด้าน

ไม่ใช่ว่านักข่าวคือคนที่อยู่สูงกว่า แต่เพราะนักข่าวต้องส่งสารไปในแนวระนาบอย่างเป็นวงกว้าง การมีอยู่ของตัวละครอย่างนิภา และคนจริง ๆ อีกหลายร้อย พัน หมื่นคนในสังคม คือหลักฐานถึงแม้ว่าผู้มีอำนาจจะสามารถใช้ปากกาเพื่อขีดเขียนว่าใครถูกหรือใครผิดก็ได้ แต่เราทุกคนก็ยังมีปากกาด้ามจิ๋วอยู่ในมือคนละด้าน แล้วในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยเราจะยอมให้สังคมไทยวันนี้ถูกผูกขาดความจริงกันอีกหรือ

ในฉากที่นิภาคุยกับหม่อมราชวงศ์เสรีว่าท้ายที่สุดแล้วคุณไม่ได้รักฉันเพียงแต่คุณอยากให้ฉันเชื่อง โดยการให้นิภาออกจากคณะปฏิวัติ เลิกทำงานข่าว ออกไปใช้ชีวิตอย่างที่ผู้หญิงในขณะนั้นเป็น อาจมีความหมายมากกว่าการใช้ชีวิตในฐานะผู้หญิง แต่อาจหมายถึงการใช้ชีวิตในฐานะประชาชนในสังคมที่บิดเบี้ยวแต่เรากลับมองมันตงฉินเสียอย่างนั้น

ท้ายที่สุด สิ่งที่นิภาอยากบอกกับเราอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่อย่างการเปลี่ยนแปลงประเทศในอุดมคติ แต่การไม่นิ่งเฉยต่อความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นต่างหากจะทำให้วันหนึ่ง เราอาจได้สังคมที่เป็นปรกติสุขอย่างที่เป็น และนั่นหมายถึงการต้องส่งสารจากปากกาด้ามจิ๋วของพวกเราไปถึงคนข้างบนที่อาจยังไม่รู้ความทุกข์ร้อนของเราเสียด้วยซ้ำ

ฉากสุดท้ายของหนังสือ ริมทะเลบางปูที่นิภาไปหลังออกจากคุกให้ความรู้สึกไม่ต่างจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่โจนาธาน ลิฟวิงสตันไปถึง อย่างน้อยที่สุดนิภาคงเจออะไรบางอย่างที่เธอเดินทางมาทั้งชีวิตเพื่อมาถึง

ในฐานะนักข่าว หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมฉุกคิดถึงอาชีพที่ตัวเองใช้หากิน ว่าที่ผ่านมาเราทำงานหนักมากพอหรือยัง

ในฐานะประชาชน ทำให้ผมต้องกลับไปนึกคิดว่าสังคมที่เราเคยเฝ้าฝันร่วมกันเมื่อไม่กี่ปีก่อนจะเกิดขึ้นจริงได้หรือไม่ ท้ายที่สุดมันอาจจะกลายเป็นเพียงฝันลม ๆ แล้ง ๆ หรืออาจจะก่อกำเนิดฝันใหม่เหมือนที่ประวัติศาสตร์บอกเราอย่างนั้นเสมอมา

แต่ในฐานะนักอ่านงานตัวยงของสะอาด ลายเส้นที่เติบโตตามกาลเวลา ความหนักแน่นของเนื้อหา และกระดูกสันหลังของความจริงในสังคม ผมไม่คิดฝันว่าน้ำเสียงแบบมังงะแบบที่ผมชอบอ่านจะมาปรากฏอยู่ในนี้ได้ และสามารถสร้างอารมณ์ร่วมให้คนตระหนักถึงความฝันที่ชื่อประชาธิปไตยได้สำเร็จ ผมไม่มั่นใจว่าสะอาดตั้งใจให้คนอ่านรู้สึกอย่างไรกับหนังสือเล่มนี้บ้าง แต่ถ้าเป็นอย่างข้างต้นละก็ อย่างน้อยก็มีผมคนหนึ่งที่เขาทำให้ผู้อ่านรู้สึกตามและเกินคาดได้

บ้านไม้ริมทะเลบางปูที่นิภากำลังนั่งเขียนจำปาตอนที่ 4 ไม่มีใครรู้ว่าหลังจากนั้นสรรพสัตว์จะสามารถรวมตัวเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมและเสรีภาพจากเศรษฐีสำเร็จหรือไม่ หรือตอนจบจะมีความสุขอย่างที่นิทานควรจะเป็นหรือเปล่า

หรือแท้จริงแล้วตอนจบของนิทานจำปาไม่ได้จำเป็นที่นิภาจะต้องเขียน 

เมื่อตอนอวสานของเรื่องนี้ไม่ได้ถูกเขียนโดยเจ้าของปากการาคาแพงเพียงไม่กี่คน แต่มันอาจมาจากปากกาด้ามเล็กที่ต่างอยู่ในมือพวกเรา ที่จะบอกได้ว่า ณ ผืนป่ารูปขวานขนาด 320.7 ล้านไร่นี้ ควรจะมีตอนจบเป็นเช่นไร

ขอบคุณภาพประกอบจาก สะอาด

หนังสือ : 2475 นักเขียนผีแห่งสยาม
เรื่อง : สะอาด/ พชรกฤษณ์ โตอิ้ม
ภาพ : สะอาด
สำนักพิมพ์ : Kai3

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี