หลักฐานคือประชาชน 'ชนกนันท์ นันตะวัน' สู้จนชนะคดีฝุ่นพิษ แต่ยังไม่ได้สิทธิได้อากาศสะอาดคืนมา - Decode
Reading Time: 4 minutes

ช่วงปี 2562 แสงไฟสีแดงส้มสว่างไสวกลางดอยสุเทพ 
ไฟดวงใหญ่นั้นทำให้ผู้คนต่างกรีดร้อง ทว่าไม่ใช่เพราะมันแปลกตาหรือสวยสด
หากแต่คือ ‘ไฟป่า’ ควันฝุ่นไหลเข้าเมืองเชียงใหม่ ลอยคละคลุ้งจนเลือดแทบไหลออกจากจมูก

นับแต่นั้น นอกเหนือจากพื้นที่สีเขียว ไฟป่าเริ่มลุกลามเข้าไปในความสนใจของสังคมมากขึ้น จากการค้นหาต้นตอของผู้ที่คาดว่าเผา นำไปสู่ความพยายามที่จะยกระดับการแก้ไขปัญหาไฟป่า เพราะเมื่อมีไฟ อากาศก็เสีย และเมื่ออากาศเสีย สุขภาพก็เสียตามไปด้วย

กลุ่ม NGO นักวิชาการ ภาคธุรกิจ ภาคราชการในพื้นที่เชียงใหม่ในนามของ ‘สภาพลเมืองเชียงใหม่’
จึงยกไฟป่าเป็นวาระใหญ่ และเริ่มต้นทำงานเรื่องนี้ในฐานะของ ‘สภาลมหายใจเชียงใหม่’ นับแต่นั้น 

ซึ่งนั่นก็เป็นก้าวแรก ๆ ของ หนุ่ย-ชนกนันทน์ นันตะวัน ในการเข้ามาทำงานประเด็นสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องมลพิษฝุ่นที่เกิดขึ้นในเชียงใหม่ และขยับเคลื่อนการรับรู้เรื่องฝุ่นในระดับประชาชน

“เราก็เป็นเด็กเนิร์ดคนหนึ่ง ที่เข้าไปเสือกกับทุกเรื่องที่เป็นสิ่งแวดล้อม” หนุ่ยเล่าพลางหัวเราะร่วน

แรกเริ่มเดิมที หนุ่ยเป็นนักวิจัยด้านสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยา ที่มีชีวิตการทำงานและความสนใจผูกติดกับพื้นที่ปัญหาที่กระจายอยู่ตามป่าตามดอย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ หรือกระทั่งปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนป่า 

การทำงานในพื้นที่ป่าดอยนั้นเต็มไปด้วยบรรยากาศของป่า กลิ่นของธรรมชาติที่ช่วยให้ผ่อนคลาย ทว่าเมื่อหนุ่ยกลับเข้ามาทำงานในบรรยากาศของตัวเมืองเชียงใหม่ ทั้งชุมชนแออัด ปัญหายาเสพติด น้ำเสียในคลอง หรือกระทั่งกลุ่มชาติพันธุ์ในซอกเมืองเชียงใหม่ ปัญหาเหล่านี้ได้สะกิดต่อมคำถามขึ้นในใจของหนุ่ย ว่าอะไรคือต้นทางของปรากฏการณ์เหล่านี้ และในฐานะคน ๆ หนึ่งจะแก้ไขมันอย่างไรได้บ้าง

“ทำไมน้ำถึงเสีย คนในเมืองทิ้งน้ำแล้วยังไงต่อ ใครรับผิดชอบ เทศบาลไม่มีระบบบำบัดเหรอ คำถามพวกนี้ทำให้สิ่งแวดล้อมเริ่มขยายใหญ่ขึ้น เราก็เริ่มสะกิดตัวเองว่าสิ่งแวดล้อมสำคัญ”

การเคลื่อนตัวของภาคประชาชนเริ่มขยายใหญ่ขึ้น แต่ฝุ่นควัน = ไฟป่า ยังคงเป็นความเข้าใจหลัก ที่ทั้งภาคประชาชนและกลุ่มนักขับเคลื่อนเห็น นั่นเป็นข้อสังเกตแรกที่หนุ่ยเห็นจากวงสนทนาเรื่องฝุ่น ซึ่งความเข้าใจที่ไม่ครบถ้วนนั้นก็เป็นผลมาจากองค์ความรู้เรื่องฝุ่นควันและไฟป่าที่กระจัดกระจาย “ไม่มี One Stop Service ไม่มีการรวบรวม ณ จุดใดจุดหนึ่งให้เราสามารถเข้าถึงสิ่งนั้นได้ทั้งหมด อันนี้คือปัญหา” หนุ่ยอธิบายเสริมถึงเหตุผล

หนุ่ยและคณะผู้ค้นคว้า จึงได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญกับสภาลมหายใจเชียงใหม่ในฐานะฝ่ายวิชาการ โดยทำหน้าที่ในการเก็บรวบรวมข้อมูลทางวิชาการและข้อมูลทางอารมณ์จากผู้ประสบภัยฝุ่นในพื้นที่เชียงใหม่ รวมถึงขยับเคลื่อนไปถึงการทำแคมเปญและการรณรงค์ เพื่อทำให้องค์ความรู้เรื่องฝุ่นขยายตัวไปสู่ประชาชนได้มากขึ้น

“คนก็รู้แหละว่าฝุ่น PM2.5 คืออะไร แต่ว่าความตระหนักของคนในสังคมมันก็ยังไม่มากพอ”

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขพบว่าในห้วงเวลา 3 เดือนของปี 2566 (มกราคม-มีนาคม) มีผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศและกลุ่มโรคทางเดินหายใจสะสมกว่า 2 ล้านราย ขณะที่เพจมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ได้รายงานว่า ค่าคุณภาพอากาศในพื้นที่เชียงใหม่แย่เข้าขั้นที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรง และถูกจัดอันดับให้เป็นเมืองที่มีอากาศแย่ที่สุดในโลกตามรายงานของเว็บไซต์ IQAir

แสงสว่างที่ปลายฝุ่น ด่านแรกของคดีฝุ่นที่ลุล่วงไปด้วยดี?

“ยังไม่ถือว่าเป็นภัยพิบัติร้ายแรง”

ช่วงใกล้เทศกาลสงกรานต์ ปี 2566 คนทั่วไปอาจกลัวเปียก แต่หนุ่ยกลัวฝุ่น เขาและคณะจึงพยายามสื่อสารเรื่องฝุ่นที่กำลังโหมหนักขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ กระทั่งทวงถามคำตอบจากรัฐ ถึงสถานการณ์ฝุ่นที่ขยายรุนแรงจนอาจส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยว และอาจส่งผลเสียหายรุนแรงต่อเนื่องไปถึงประชาชนที่ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ภัยพิบัติฝุ่น

แต่คำตอบดังกล่าวจากรัฐ จึงเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้หนุ่ยและคณะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเชียงใหม่

10 เมษายน 2566 เครือข่ายประชาชนภาคเหนือจึงยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ต่อศาลปกครองเชียงใหม่

ในกรณีที่หน่วยงานทั้งสี่นั้นละเลยหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 จนไม่อาจบรรเทาสถานการณ์ฝุ่นที่เกิดขึ้นในพื้นที่เชียงใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่อย่างหนัก

“วันไหนถ้ามีฝุ่นหนัก ๆ หนูจะจามทั้งวันเลยค่ะ บางวันก็ต้องพ่นยาไม่งั้นหนูอยู่ไม่ได้ ถ้าวันไหนหนักเกินจนทนไม่ไหวก็ต้องทานยาแก้แพ้ แล้วหนูก็จะง่วงในเวลาเรียน ต้องพยายามเพ่งตาเรียนทั้ง ๆ ที่มันไม่ไหว บางครั้งก็เรียนไม่ไหวแต่ก็ขาดไม่ได้”

โชคยังดีที่วันนั้นฟ้าใสไร้ฝุ่นจน ออมสิน เด็กสาวชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนสันกำแพง จ.เชียงใหม่ ยังสามารถนั่งพูดคุยได้โดยไม่นั่งจามจนน้ำหูน้ำตาไหลไปเพราะฝุ่นเสียก่อน

ออมสินเล่าให้ฟังว่า ภูมิแพ้นั้นเป็นกรรมพันธุ์มาจากคุณแม่ แต่การที่ค่าฝุ่นเชียงใหม่พุ่งสูงในฤดูฝุ่น ทำให้เธอใช้ชีวิตทั้งในและนอกโรงเรียนได้ยากลำบากกว่าเดิม โดยเฉพาะความตั้งใจที่มีต่อการเรียน รุนแรงกระทั่งปัจจุบันเธอเป็นไซนัสอักเสบและยังอยู่ในช่วงพักรักษาตัว

แต่ออมสินเล่าว่าเธอยังโชคดีที่บ้านมีเครื่องฟอกอากาศ ทำให้การใช้ชีวิตอยู่บ้านนั้นไม่ทรมานมากนัก เว้นเสียแต่การมาโรงเรียนที่ต้องสวมหน้ากากอนามัยไว้ตลอดเวลา เพราะโรงเรียนไม่มีเครื่องฟอกอากาศในห้องที่เธอใช้เรียน “อย่างเพื่อนชั้นบนเป็นหนักกว่าหนู เพราะเขาต้องใช้เครื่องช่วยฟอก ไม่งั้นหายใจไม่ออกเลย”

“เมื่อก่อนผมวิ่งรอบสนามได้หนึ่งรอบกว่า ๆ แต่ตอนนี้แค่ครึ่งรอบผมก็เหนื่อยแล้ว”

เช่นเดียวกับ ดรีม เด็กหนุ่มชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนสันกำแพง จ.เชียงใหม่ ที่แม้เจ้าตัวจะไม่ได้มีโรคประจำตัวอะไร แต่มลพิษฝุ่นก็สร้างผลกระทบอย่างหนักต่อร่างกายของเขาด้วยเช่นกัน

ดรีมเป็นเด็กฝ่ายโสตทัศนศึกษาของโรงเรียนสันกำแพง เขาจึงต้องออกไปทำงานนอกอาคารเรียนอยู่บ่อยครั้ง เพราะงั้นก่อนที่จะดูกระจกตา กระจกกล้องของเขานั้นก็เต็มไปด้วยฝุ่น ลุกลามเข้าไปถึงเซนเซอร์กล้อง จนเขาต้องเสียเงินค่าอุปกรณ์ทำความสะอาดกล้องเดือนละ 200-300 บาท

ขณะเดียวกัน กระจกตาของเขาก็ได้รับผลกระทบหนักหน่วงทีเดียว ด้วยความชอบในงานกองถ่าย เขาจึงได้รับแสงสีฟ้าจากจอคอมพิวเตอร์อยู่เป็นประจำ ทว่าภาวะฝุ่นที่รุนแรงขึ้น ทำให้ดวงตาของดรีมแห้งบ่อยกว่าเดิมมาก จนต้องมี ‘ยาหยอดตา’ ติดตัวไว้ไม่ห่าง “ซื้อเป็นกล่องมาไว้เลยครับ เดือนหนึ่งประมาณสองกล่อง แล้วแช่ตู้เย็นไว้” เขาเล่าพลางหัวเราะ

“ผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยงต่อโรคหัวใจและระบบทางเดินหายใจจะเจ็บป่วยมากขึ้น ส่วนคนที่สุขภาพดีก็อาจป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้น” ข้อสังเกตของหนุ่ยที่ผ่านการรวบรวมและวิจัยข้อมูลการเจ็บป่วยของผู้คนในพื้นที่เชียงใหม่

หนุ่ยเปรยขึ้นมาว่าอาจมีพื้นที่กว่า 90% ในเชียงใหม่ที่ไม่มีเครื่องฟอกอากาศในสถานศึกษา อย่างเช่น โรงเรียนสันกำแพงของออมสินและดรีม ที่นับว่าเป็นหนึ่งโรงเรียนขนาดใหญ่ในอำเภอสันกำแพง แต่ก็ยังไม่มีงบประมาณมากเพียงพอ ที่จะติดตั้งเครื่องกรองอากาศไว้ในทุกห้องเรียนได้ 

และยิ่งในโรงเรียนขนาดเล็กที่กระจายไปทั่วป่าทั่วเขาของเชียงใหม่ คงจะเป็นเรื่องยากลำบากในการเจียดงบประมาณโรงเรียนที่น้อยนิดอยู่แล้ว ไปกับเครื่องกรองอากาศและค่าใช้จ่ายที่ตามมา

หลักฐานสำคัญที่หนุ่ยและคณะยื่นต่อศาลปกครองเชียงใหม่ คือ ประชาชน เขายกงานวิจัยและสถิติผู้ป่วยจากโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ (โรงพยาบาลสวนดอก) และโรงพยาบาลนครพิงค์ ซึ่งชี้ให้เห็นชัดเจนว่าในช่วงที่ฝุ่น PM2.5 พุ่งสูง อัตราการเจ็บป่วยของคนในพื้นที่เชียงใหม่ที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจก็สูงขึ้นหลายเท่าตั้งแต่ปี 2562 ประกอบกับข้อมูลของวันที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน ทั้งจากกรมควบคุมมลพิษ แอปพลิเคชันวัดค่าฝุ่น และเว็บไซต์ต่างประเทศ

หลักฐานอีกชิ้นคือ มาตรการและการบริหารฝุ่นของหน่วยงานรัฐ ที่ไม่สอดรับกับสภาวะฝุ่นที่เกิดขึ้น และผลักภาระในการรับผิดชอบเหล่านั้นลงสู่ประชาชน ซึ่งมาตรการป้องกันในระดับท้องถิ่นนั้นเป็นส่วนสำคัญที่จะยกระดับการบรรเทาความเสียหายจากฝุ่น แต่รัฐกลับไปไม่ถึงเป้าหมายดังกล่าว

แน่นอนว่าฝุ่นเป็นปัญหาที่กินพื้นที่หลายหน่วยงาน และต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันให้มีประสิทธิภาพ แต่หากหน่วยงานรัฐยังไม่สามารถทำได้ หนุ่ยมองว่า การดูแลหรือเยียวยาปัญหาแบบปลายเหตุ ก็เป็นสิ่งที่หน่วยงานรัฐควรจะทำให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นห้องหรือพื้นที่สาธารณะปลอดฝุ่น หรือกระทั่งการแจกอุปกรณ์บรรเทาฝุ่นต่าง ๆ เช่น หน้ากากอนามัยแบบ N95 หรือเครื่องกรองอากาศ

“ถ้าทุกคนป้องกัน ค่าใช้จ่ายที่หลายคนต้องแบกรับจะสูงมาก ซึ่งเรารู้สึกว่ามันไม่แฟร์ เราจึงกลับไปดูว่ารัฐทำอะไร รัฐก็แจกหน้ากากคนละอันคนละชิ้น ซึ่งก็เข้าไม่ถึงทุกคน”

ซึ่งกลุ่มหนึ่งที่เห็นปัญหาได้อย่างชัดเจน คือ กลุ่มเปราะบาง อาทิ เด็กนักเรียนที่ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมจนส่งผลกระทบต่อการเรียนและพัฒนาการด้านร่างกาย แต่ก็ไม่มีการจัดสรรงบประมาณหรืออุปกรณ์ที่เหมาะสมให้กับกลุ่มเหล่านี้ หรือกระทั่งกลุ่มผู้ป่วยติดเตียงหรือเด็กน้อยตามชุมชน ที่จะยิ่งมีความเสี่ยงต่อสุขภาพมากกว่าคนที่หนุ่มสาวหรือคนที่แข็งแรง

“นี่เราต้องปิดหมดเลยเหรอคะ?” หวานเอ่ยถามขึ้น

บ้านไม้หลังเล็กลักษณะคล้ายกระท่อมในชุมชนศรัทธาวัดหัวฝาย ช่องว่างระหว่างระแนงไม้ของบ้านกว้างเสียจนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านต้องบอกว่าให้หาผ้ามาปิดช่องต่าง ๆ นี้ไว้หน่อย ไม่เช่นนั้นเมื่อถึงฤดูฝุ่นเธอกับแฟนต้องแย่แน่

ทว่าราว ๆ สองเดือนก่อน แฟนหนุ่มของหวานมีอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ เวลาทานอาหารก็อาเจียน อาการรุนแรงหนักขึ้นจนเขาหกล้มกลางดึกถึงสองครั้ง ร่างกายงอเกร็งและไม่ตอบสนอง เมื่อเข้ารับการตรวจ CT Scan ก็พบเจอก้อนเนื้องอกในสมอง ร่างกายไม่ตอบสนองกับยา และติดเตียงอยู่ขณะนี้

หวาน หญิงสาววัยทำงานที่ทำงานรับจ้างแบบไม่ประจำ ก็จำเป็นต้องทิ้งเรื่องฝุ่นไว้ข้างหลังเสียก่อน เงินราวพันกว่าบาท ต้องกลายเป็นสบู่ ผ้าอ้อมสำเร็จรูป แผ่นรองปัสสาวะ ถุงมือ แอลกอฮอล์ล้างแผลในแต่ละเดือน แม้จะมีประกันสังคมบรรเทาค่าตรวจ แต่เงินอีกราว ๆ สองพันก็ถูกใช้ไปกับค่ารถไปโรงพยาบาลของแฟนหนุ่ม และยังไม่ได้รวมกับค่าอาหารการกินใด ๆ ของเธอ

“ค่าใช้จ่ายของแกหนูจะเป็นคนรับผิดชอบหมดเลยค่ะ เพราะหนูบ่ได้ทำงานประจำ ก็มีเงินอยู่บ้าง ที่พอจะซื้อของให้แกได้อยู่ ส่วนคนแก่ในบ้านก็ได้เงินผู้สูงอายุ บางทีลูกหลานแกก็เอาเงินมาบ้าง”

หวานเล่าอีกว่าบ้านของเธอไม่มีเครื่องฟอกอากาศ แม้เธอกับคนในครอบครัวไม่ได้รู้สึกว่าหายใจลำบากมากนัก แต่ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายไปกับหน้ากากอนามัยที่แพงขึ้นมากในช่วงฤดูฝุ่น โดยเฉพาะเด็กและผู้ป่วยติดเตียงในบ้าน ที่อาจได้รับผลกระทบจากฝุ่นเนื่องจากร่างกายไม่แข็งแรง “ก็ดูรู้ว่ามีหมอกมีควัน รู้แค่นี้ตามทีวี รู้ว่ามันเป็น PM2.5 แต่ไม่รู้ว่าค่ามันสูงหรือมันอันตรายอะไร ส่วนมากหนูก็ไม่ค่อยดูทีวี เพราะเฝ้าแก”

19 มกราคม 2567 เวลาล่วงเลยมากว่าหนึ่งปี ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำพิพากษาว่า นายกรัฐมนตรี (ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายล่าช้าเกินสมควร เพราะแม้ว่านายกฯ ขณะนั้นได้สั่งการให้มีการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 แต่สภาพอากาศในจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือก็ยังตกอยู่ในภาวะฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน ที่ส่งผลต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนต่อเนื่องเป็นเวลานาน

และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายล่าช้าเกินสมควร เนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีมติให้การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ PM2.5 เป็นวาระแห่งชาติ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่เป็นกลไกหลัก พร้อมทั้งมีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษและฝุ่นละออง PM2.5 โดยจะบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วนเป็นกรณีเร่งด่วนพิเศษตั้งแต่ปี 2562

ทว่าเชียงใหม่และจังหวัดภาคเหนือก็ยังประสบกับภาวะมลพิษฝุ่นควันที่ร้ายแรงถึงขั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน (มีปริมาณ PM2.5 สูงเกิน 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2562

จึงพิพากษาให้นายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ใช้อำนาจหรือร่วมกันใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 กำหนดมาตรการหรือจัดทำแผนฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพอย่างบูรณาการ เพื่อป้องกัน ควบคุม แก้ไข บรรเทาและระงับอันตรายที่เกิดจากฝุ่น PM2.5 ที่เกินค่ามาตรฐานให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันนับตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษาสูงสุด

“ศาลเป็นคนนำสืบเองเลยว่า ฝุ่นควันที่รัฐบอกว่ายังไม่ได้เป็นภาวะวิกฤตมากพอ กับฝั่งประชาชนที่บอกว่ามันวิกฤตจริง ซึ่งดูเหมือนว่าศาลจะเชื่อฝั่งประชาชน เราคุยในกลุ่มผู้ฟ้องว่าจะให้นิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ยื่นหนังสือขอการคุ้มครองไม่รับอุทธรณ์”

ด่านที่สองคดีฝุ่น กับความรับผิดชอบที่มีในใจแต่ไม่มีในกฎหมาย 

“ศาลไม่อาจรับคำฟ้อง”

ศาลไม่อาจรับคำฟ้องในประเด็นที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ละเลยการจัดทำรายงานเพื่อเปิดเผยข้อมูลผู้ประกอบธุรกิจ ที่เป็นผู้ที่มีส่วนได้เสียหรืออาจมีส่วนในการก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศ ที่ส่งผลกระทบด้านสุขภาพและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในประเทศและข้ามพรมแดน

เนื่องจากยังไม่มีการแก้ไข พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เพื่อให้คณะกรรมการทั้งสองหน่วยงาน มีอำนาจในการกำหนดให้มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขวิธีการจัดทำรายงานการเปิดเผยข้อมูลตามแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยการดำเนินธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2562-2565 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 

คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และกำกับตลาดหลักทรัพย์ และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน จึงยังไม่มีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมาย ในการวางหลักเกณฑ์และมาตราการให้ภาคธุรกิจ เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนจากการดำเนินธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตร พืชเกษตรเชิงเดี่ยว ซึ่งส่งผลให้เกิดฝุ่นควันข้ามพรมแดนจากการเผาเศษซากวัสดุทางการเกษตร 

“ ถ้าดูในต่างประเทศศาลจะเอาหลัก Business and Human Right มาพิจารณาร่วมโดย ไม่สนใจว่ากฎหมายฉบับย่อยที่บังคับอยู่ในหน่วยงานนั้น ๆ ว่ายังไง ในเมื่อหลักใหญ่มันว่าแบบนี้ ซึ่งนี่ก็ถือว่าเป็นความท้าทายของกระบวนการยุติธรรมไทย” หนุ่ยย้ำหนักแน่นต่อคำพิพากษาศาล

“มีหลายเหตุผลมากที่คน ๆ หนึ่งจะจุดไฟเผา และมีตัวละครเต็มไปหมด” หนุ่ยอธิบายว่านอกเหนือจากไฟในพื้นที่ป่า ที่อาจเกิดจากการบริหารไฟของเจ้าหน้าที่ หรือไฟจากชุมชนที่มีวิถีชีวิตพ่วงไปกับไฟ แต่ไฟที่เกิดในพื้นที่เกษตรกรรมมีโครงข่ายที่ซับซ้อนและเกี่ยวพันกับรัฐ ชุมชน และกลุ่มธุรกิจทั้งที่มองเห็นชัดและเลือนราง

พื้นที่กว่า 70% ในภาคเหนือถูกประกาศเป็นพื้นที่ป่า ฉะนั้นวิถีชีวิตของผู้คนบนดอยที่ใช้ป่าเป็นทั้งบ้านและพื้นที่ทำมาหากิน ล้วนเป็นพื้นที่ที่พวกเขาไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินใด ๆ และสิทธิบนที่ดินที่ไม่มั่นคงเหล่านี้ ทำให้เกษตรกรบนที่สูงเลือกที่จะปลูกพืชเกษตรเชิงเดี่ยวหรือพืชระยะสั้น เช่น ข้าว อ้อย หรือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่สามารถปลูก เก็บเกี่ยว และได้เงินภายในระยะเวลาอันสั้น เพื่อให้สอดรับกับความไม่มั่นคงทางที่ดินที่พวกเขากำลังเผชิญ

ตามมาด้วยต้นทุนทางการผลิตที่ค่อนข้างสูง ยิ่งในเกษตรกรบนพื้นที่สูงที่ไร้ซึ่งหลักประกันในชีวิต ต้นทุนที่สูงนั้นนำมาซึ่ง ‘การผลิตหนี้และดอกเบี้ย’ จากการกู้ยืมทั้งในและนอกระบบ เพื่อนำมาซื้อปัจจัยการผลิต อาทิ เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย หรือสารเคมีต่าง ๆ ที่ถูกกำหนดราคาโดยรัฐและอุตสาหกรรม ในขณะที่ราคาของผลผลิตกลับผันผวนต่อเนื่อง โดยที่เกษตรกรทำได้เพียงนั่งมองดูตัวเลขเหล่านี้เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา

หนุ่ยยกตัวอย่างการผันผวนของราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เขาเล่าว่าหากรัฐบาลประกาศราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อยู่ที่ 14 บาท ซึ่งหากหักลบต้นทุนต่าง ๆ อาจได้กำไร 5 บาท ทว่าความเป็นจริงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเกษตรกรอาจขายให้พ่อค้าคนกลางได้เพียง 5-10 บาทเท่านั้น โดยที่ราคา 14 บาทจะไปอยู่ ที่การซื้อขายระหว่างพ่อค้าคนกลางกับอุตสาหกรรมใหญ่มากกว่า

การปลูกแล้วขาดทุนของเกษตร ก็ส่งผลให้เกษตรกรเพิ่มพื้นที่การปลูกเพื่อทดแทนกำไรที่หายไป ฉะนั้นราคาของผลผลิตจึงมีผลโดยตรงกับพื้นที่การปลูก และพื้นที่การสร้างมลพิษอย่างไม่อาจเลี่ยงได้

“ตกใจเหมือนกันว่าเวลาหว่านคำถามไปที่เกษตรกรในระบบนี้ เขาก็จะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้าเลือกได้ไม่อยากปลูกพืชเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นข้าว ข้าวโพด อ้อย เพราะมันเป็นสเกลที่ใหญ่ ลำพังมนุษย์คนนึงไม่สามารถทำแล้วสบายได้ มันเป็นงานหนัก แต่ก็ไม่ได้มีทางเลือกขนาดนั้น”

ฉะนั้น กลุ่มคนที่ได้รับผลประโยชน์จากความเดือดร้อนของเกษตรกร
ต้องรับผิดชอบในเรื่องการเผาภาคเกษตรกรรมด้วยรึเปล่า? นี่คือถามสำคัญ

หนุ่ยมองว่า ภาคธุรกิจไม่สามารถปฏิเสธเรื่องดังกล่าวได้เสียทั้งหมด แน่นอนว่ามีพื้นที่การเกษตรที่ถูกตรวจสอบและผลผลิตนั้นไม่ได้มาจากแหล่งที่กำเนิดมลพิษ ทว่าสายธารการผลิตเหล่านี้ไม่ได้ถูกเปิดเผยทั้งหมด และด้วยเหตุนั้น ทำให้เราไม่สามารถยืนยันได้ว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทุกเม็ดปราศจากการเผา

หากมองในห่วงโซ่อุปาทานของการผลิต ที่เริ่มตั้งแต่การส่งเสริมให้ปลูกโดยรัฐบาล การปลูกของเกษตรกรที่เพิ่มพื้นที่การผลิตขึ้นไปเรื่อย ๆ ระบบหน้านายและภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์ คงยากจะเป็นการปฏิเสธความรับผิดชอบในเรื่องมลพิษฝุ่น และทุกส่วนของการผลิตล้วนมีหน้าที่แก้ไขวิกฤตตามสัดส่วนของผลประโยชน์ที่ตัวเองได้รับเช่นกัน

มากไปกว่านั้น คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ก็ต้องมองมากกว่าการควบคุมกลไกราคาตลาด โดยต้องมีดุลยพินิจและบทบาทในการใช้กฎหมายที่ไม่ครอบคลุมนี้ ในการควบคุมดูแลกำกับภาคธุรกิจที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะเรื่องฝุ่น เพื่อให้การพัฒนาระบบอุตสาหกรรมและธุรกิจเป็นไปในแนวทางที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย “เพราะการที่มีส่วนร่วมหรือได้เสียกับการเติบโตทางธุรกิจ มันพร้อมกับการใช้และทำลาย ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม”

“ถ้าธุรกิจไม่ปรับตัวโดยเฉพาะระดับภูมิภาค มันก็ไม่อาจเป็นที่ยอมรับของเวทีโลกได้ หลักการดีแล้ว แต่อยู่ที่ว่าภาคธุรกิจจะปรับแนวทางนี้ไปใช้ในทิศทางไหน หรือใช้เป็นฉากบังหน้าว่าชั้นทำตามระบบระเบียบเศรษฐกิจโลก”

อย่างไรก็ดี หนุ่ยมองว่าการที่ศาลปฏิเสธไม่รับคำฟ้องคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน แสดงให้เห็นถึงการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐไทยที่ค่อนข้างโบราณเป็นแท่ง โดยเฉพาะเรื่องมลพิษหรือฝุ่นที่ไม่มีการบูรณาการใด ๆ เลย

ฉะนั้นการฟ้องในครั้งนี้ จึงไม่ใช่การฟ้องเพื่อเอาชนะและถามหาความรับผิดชอบเพียงอย่างเดียว แต่มีเนื้อแท้เป็นการรณรงค์สร้างการรับรู้ระหว่างกลุ่มเครือข่ายและภาคประชาชน เพื่อให้เห็นถึงภาพรวมของปัญหามลพิษฝุ่น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวิกฤตนี้ ว่ามีใครบ้างที่มากไปกว่าเกษตรกร

ขณะเดียวกันหนุ่ยและคณะทำงาน ก็หาได้นอนเป็นเสือรอกินมาตรการ 90 วันของภาครัฐในการจัดการปัญหาฝุ่น เครือข่ายและภาคประชาชนก็ยังคงต้องติดตามการทำงานของฟากรัฐ และตรวจสอบมาตรการดังกล่าวด้วย

“อย่างภาคเหนือตื่นตัวเป็นพิเศษ เพราะเรามีปัญหาไฟป่าอยู่แทบจะทุกปี ยิ่งเชียงใหม่มี คณะกรรมการเยอะมากเกี่ยวกับฝุ่นควัน แต่สิ่งที่เรากังวลคือรูปแบบการทำงานที่ไม่ได้เปลี่ยน”

หนุ่ยอธิบายว่า ปกติเชียงใหม่นั้นมีแผนจังหวัดในการจัดการปัญหาฝุ่นควันอยู่แล้ว ก่อนที่ร่าง พ.ร.บ. อากาศทั้ง 7 ฉบับที่เพิ่งเข้าสภาไป จะพูดถึงกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นผ่านคณะทำงานในระดับต่าง ๆ หน่วยงานราชการท้องถิ่นมีการตั้งคณะกรรมการในระดับต่าง ๆ อยู่แล้ว ทว่ายังขาดแนวทางการทำงานที่ต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ

ฉะนั้น พ.ร.บ. อากาศสะอาดที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต จะต้องมีความก้าวหน้าของการใช้กฎหมายในการแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะเรื่องของการมีส่วนร่วมและความสอดคล้องของงบประมาณ เจ้าหน้าที่ และกำลังคนที่จะลงมือปฏิบัติ ซึ่งเป็นเรื่องที่คณะกรรมการในระดับนโยบายจะต้องทำงานและวางแผนอย่างหนัก 

หนุ่ยเสริมอีกว่า กฎหมายเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้อากาศสะอาดได้อย่างแท้จริง ทว่ามันไม่ใช่ยาวิเศษที่จะแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด แม้จะผ่านพระราชกฤษฎีกาจนเป็นกฎหมาย แต่กฎหมายฉบับนี้ก็จะต้องถูกบังคับใช้กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก ซึ่งการจะยกระดับการปฏิบัติงานทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่นั้น ยากยิ่งกว่าการร่างกฎหมายเสียอีก

“เราไม่ได้คาดหวังว่าการแก้ไขมันจะเกิดขึ้นในเร็ววัน แต่คาดหวังว่าเขาจะมีมุมมองที่ชาญฉลาด ในการแต่งตั้งบุคคลที่มีความสามารถ มาเป็นคณะกรรมการในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังสักที”

หนุ่ยมองว่า ที่ผ่านมานายกฯ ใช้อำนาจที่มีในมือในการแต่งตั้งบุคลากรเพื่ออำนาจทางการเมือง มากกว่าที่จะแต่งตั้งเพื่อการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน ซ้ำร้ายยังไม่ได้ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้อย่างแท้จริง

ซึ่งนับว่าเป็นนิมิตหมายอันดี เพราะเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานในการติดตามความคืบหน้าการแก้ไขหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ และตั้งเป้าหมายในการลดพื้นที่ไฟไหม้ (Hotspot) 50% จากปี 2566 ทั้งยังเน้นการบูรณาการและมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จากนั้นยังมีการลงพื้นที่ติดตามอีกครั้งระหว่างวันที่ 19-21 มกราคม 2567 และพบว่าฝุ่นละอองขนาดเล็กนั้นลดลงกว่า 4-5 เท่าหากเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว

“แต่รัฐบาลยังดีใจได้ไม่เต็มที่ เพราะอยากเห็นสัมฤทธิผลแบบนี้เกิดขึ้นทั้งประเทศครับ” ถ้อยคำของนายเศรษฐานั้นคล้ายกับมุมมองของหนุ่ย เพราะหนุ่ยมองว่าปัญหานี้หมักหมมมานาน เข้าหลักสิบปี และมีความซ้อนทับในหลายมิติ แม้ความเชื่อมั่นจะยังไม่เกิดขึ้นอย่างหนักแน่นในใจหนุ่ย แต่ก็นับว่าเป็นเรื่องก้าวถัดไปที่สำคัญของการมีอากาศสะอาด

ซึ่งอีกส่วนสำคัญ คือ การสร้างความเข้าใจและการขับเคลื่อนในภาคประชาชนที่ไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก เพราะแม้จะชนะคดี แต่ความคาดหวังของประชาชนที่มีต่อภาครัฐในการแก้ไขปัญหาฝุ่นนั้นสูญสิ้นไปแล้ว ฉะนั้นอีกโจทย์สำคัญคือจะทำอย่างไรให้ความล้มเหลวของภาครัฐ ที่กระบวนการยุติธรรมยืนยันมากับมือ เกิดเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่สะท้อนความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง

“เราจะไม่ยอม จะกดดัน จะไม่ยอมตะโกนไปวัน ๆ”
คำตอบของหนุ่ยหลังจากสิ้นคำถามว่าในฐานะ ประชาชนเราทำอะไรได้บ้าง

หนุ่ยเปรยความคาดหวังออกมาว่า แม้ประชาชนอาจไม่ได้ตื่นตัวเท่าที่เขาคาดหวัง แต่การที่ทั้งคนเชียงใหม่ ลำพูน น่าน ลำปาง จังหวัดอื่น ๆ หรือกระทั่งกรุงเทพฯ ได้เห็นว่าพวกเขาสามารถเลือกใช้ ‘การฟ้อง’ เป็นเครื่องมือหนึ่งในการขับเคลื่อนอากาศสะอาดได้ เขาก็ได้แต่แอบคิดว่า หากจังหวัดอื่นทำเหมือนกัน ก็อาจจะได้เห็นภาพที่ทรงพลังมากกว่าไปที่ศาลปกครองเชียงใหม่ก็เป็นได้

“เพราะไม่ว่าคุณจะดับไฟทั้งหมดเชียงใหม่ แต่ถ้าลำปาง ลำพูนยังเผาอยู่ มันก็แก้ไม่ได้ ดับไฟหมดภาคเหนือ กัมพูชา ลาวพม่าเผาอยู่ ก็แก้ไม่ได้ มันต้องร่วมมือกันทั้งหมดภูมิภาคนี้ เพราะมันเป็นวิกฤตที่ทั่วทั้งภูมิภาคต้องรับผิดชอบและแก้ไขปัญหาร่วมกัน” หนุ่ยทิ้งท้าย