Fight Club ถูกเขียนขึ้นในปี 1996 โดย Chuck Palahniuk นานนับ 28 ปี ที่หนังสือเริ่มนี้ถูกเผยแพร่ออกมา เรื่องราวของชายไร้นามชนชั้นกลางซึ่งทำอาชีพพนักงานออฟฟิศฝ่ายเรียกคืนสินค้ารถยนต์ที่เผชิญอาการนอนไม่หลับมาหลายเดือน ชีวิตของเขาในทุก ๆ วันเหมือนสำเนาเอกสารที่ถูกทำสำเนาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตื่นนอน ไปทำงาน ทำตามคำสั่งเจ้านาย กลับบ้าน ทิ้งตัวลงบนเตียง เมื่ออาการนอนไม่หลับกัดกินจิตใจเขา ความหมดอาลัยตายอยากเริ่มก่อตัวขึ้น เขาเริ่มแฝงตัวเข้าไปในกลุ่มบำบัดของผู้ป่วยอาการต่าง ๆ ไม่ว่าจะ มะเร็งอัณฑะ วัณโรค ฯลฯ กลุ่มบำบัดทำให้เขากลับมารู้สึกมีชีวิตอีกครั้ง เขาร้องไห้ตามน้ำไปกับผู้คนใกล้จะตายที่สูญเสียพลังใจในการมีชีวิตต่อ เขารู้สึกว่านี่แหละของจริง คนทุกคนต่างล้วนรับฟังกันและไม่มีใครแย่งกันพูด ไม่ต้องรีบร้อนแข่งกับเวลา เพราะเวลาของคนเหล่านี้เหลือไม่มากนัก
แต่แล้ววันนึงกลุ่มบำบัดก็ไม่สามารถทำให้เขานอนหลับได้อีกต่อไป และเขาได้เจอกับ ไทเลอร์ เดอร์เดน ชายผู้ตรงกันข้ามกับเขาทุก ๆ อย่าง ไทเลอร์ ที่ทำอาชีพขายสบู่ ฉายหนัง พนักงานเสิร์ฟ ไม่ยึดติดกับสิ่งของและในคืนหนึ่งไทเลอร์เป็นคนขอให้เขาต่อยไทเลอร์ ทั้งคู่เริ่มต่อยกันในลานจอดรถหน้าบาร์ เขาไม่เคยรู้สึกดีขนาดนี้มาก่อน
จากนั้นถึงคู่ก็เริ่มนัดต่อยกันในทุกสัปดาห์และมีผู้คนเข้ามาร่วมด้วย จนเกิดขึ้นเป็นไฟต์คลับชมรมมวยใต้ดิน และเริ่มขยายไปตามเมืองต่าง ๆ ผู้ชายมากมายหลากหลายอาชีพเข้าร่วม การต่อสู้กันมันทำให้พวกเขารู้สึกทุกเรื่องบนโลกมันเล็กลงและง่ายที่จะรับมือเสียเหลือเกิน พวกเขาได้ยกระดับจากชมรมมวยใต้ดินกลายมาเป็นปฏิบัติการ “เมย์เฮม” กลุ่มอนาธิปไตยที่ต้องการปลดปล่อยผู้คนออกจากโลกทุนนิยมอันจำเจ ด้วยการล้มระบบธนาคาร ล้มโครงสร้างทางสังคม ทลายทุกอย่างเพื่อการปลดแอกจากสังคมลำดับชั้นให้มีความเสมอภาคและเท่าเทียมของมนุษย์ทุกคน…
ฉากตอนจบในหนังสือสิ้นสุดลงที่กลุ่มเมย์เฮมสามารถระเบิดอาคารศูนย์กลางเศรษฐกิจทุนนิยมได้ แต่ผู้เขียนไม่ได้บอกต่อว่าหลังจากล้มสลายทุนนิยมแล้วสังคมจะเป็นไปในทิศทางใด นั่นอาจจะเป็นมุมเปิดของเนื้อหา ที่ให้ผู้อ่านเงยหน้าจากหนังสือและร่วมกันถกเถียงเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาความเหลื่อมล้ำของทุนนิยมที่โลกเผชิญ
เมื่ออ่านจบและนึกภาพฝันถึงวันที่ดีกว่า ภาพความทรงจำและสายธารประวัติศาสตร์นั้นได้ไหลวนอยู่ในความคิด
หรือว่าแท้จริงแล้วเราต่างมีไทเลอร์ เดอร์เดนอยู่ภายในจิตใจ
คุณเคยรู้สึกโชคช่างไม่เข้าข้างคนอย่างคุณหรือไม่
เป็นประจำเดือนมาสิ้นเดือน 50 บาทสุดท้าย จะซื้อผ้าอนามัย หรือข้าว หรือค่ารถกลับบ้านดีนะ
ในวันที่ฝนตกและเหนื่อยล้า ต้องเบียดเสียดขึ้นรถสาธารณะที่รอขึ้นสองชั่วโมง
เงินเดือนเท่าเดิมแต่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นทุกปี
ทำงานหนักและดีแค่ไหน เจ้านายก็ไม่เคยรักหรือขึ้นเงินเดือน คนเลียแข้งเลียขาและอยู่เป็นต่างหากที่ได้ดี
ทุกอย่างที่เกิดขึ้น มันเป็นเพราะแค่คุณเป็นคนอับโชค หรือแค่เพราะทุนนิยมไม่ได้เข้าข้างคุณ
“ถ้ารวยกว่านี้ก็คงจะดี” เพราะคุณเป็นคนชนชั้นกลาง
ไม่สิ แท้จริงแล้ว
เพราะคุณเป็นชนชั้นแรงงาน
เราทุกคนล้วนเป็นแรงงาน
เราต่างเป็นฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคม
ความเจ็บปวดของชนชั้นแรงงานมันค่อย ๆ กัดกินในใจเราลงไปทุกวัน เหมือนกลีเซอรีนที่ค่อย ๆ ถูกหยดลงบนไนตริก ความโกรธแค้นและเจ็บปวดต่อระบบสังคมลำดับชั้นที่เราคิดว่าคนอย่างเราไม่มีอำนาจต่อกรกับระบบทุนนิยมชอนไช และแทรกซึมชีวิตของพวกเรา มันค่อย ๆ คืบคลานและแนบเนียนชีวิตพวกเรา รู้ตัวอีกที พวกเราแรงงานต้องถีบตัวเองขึ้นไปให้สูงที่สุดเพื่อที่จะได้รับสิ่งที่ทุนนิยมบอกว่าดีที่สุด ชีวิตเราถูกสอนให้ฝันถึงค่านิยมที่คนในสังคมจะมองว่า เก่ง ประสบความสำเร็จ เราจะเรียนมหาลัยมีชื่อ ซึ่งกระจุกตัวแต่ภายในกรุงเทพ ต้องมีบ้าน มีรถ ต้องใช้ของแบรนด์เนม
สายธารของทุนนิยมไม่เคยแยแสว่าใครจะอยู่หรือใครจะไป เราต่างรู้สึกอ่อนแรง หมดไฟ หมดอาลัยตายอยากและสามารถนำไปสู่สภาวะทางจิตใจ ที่เราต้องเก็บซ่อนไว้เพราะในโลกทุนเราห้ามอ่อนแอ
เราถูกบีบให้ขูดรีดแรงทั้งหมดที่มีเพื่อแลกกับค่าแรงขั้นต่ำอันน้อยนิด
ถ้าพวกเราไม่ทำ
เราจะอดตาย
รู้ตัวอีกทีเราจะใช้เวลาทั้งชีวิตของเราทำแต่งาน และเชื่อว่าสักวันเราจะประสบความสำเร็จถ้าเราไม่ประสบความสำเร็จเราจะตายอย่างโดดเดี่ยวและไร้เกียรติภูมิ
บางครั้งในชีวิตที่เราทุกคนอุทิศเพื่อการทำงานเพื่อเอาตัวรอดในระบบการแข่งขันที่โหดเหี้ยมสุดขีด มีเพียงทางเดียวที่เราสามารถระบายความรู้สึกออกมา คือการจินตนาการในหัวว่าเรามีอำนาจมากพอที่จะต่อกรกับคนพวกนั้น
ผู้เป็นใหญ่ในระบบทุนได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ
ช่างหัวมารยาท จารีต อายุ เพศ ยศถาบรรดาศักดิ์ เรายิ้มออกมา
และนั่นคือวิธีการกำเนิด ไทเลอร์ เดอร์เดน
มนุษย์ผู้เป็นขั้วตรงข้ามกับโลกแห่งความเป็นจริง มนุษย์ผู้ทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟในห้องอาหารโรงแรมหรู และปัสสาวะลงในหม้อซุปที่กำลังจะเสิร์ฟให้พวกคนรวยกิน มนุษย์ที่ขโมยไขมันต้นขาพวกไฮโซจากคลินิกดูดไขมัน และนำมันกลับมาเป็นสบู่ราคาก้อนละยี่สิบเหรียญที่พวกคนรวยนั้นชื่นชอบ และใช้เงินที่ได้มาจัดตั้งกองกำลังล้มเจ้าของเงินนั้นอีกที มนุษย์ผู้เป็นพนักงานฉายหนังที่แอบตัดรูปองคชาติซ่อนไปในสไลด์หนังที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วดั่งปืนกล จนทำให้ผู้ชมสับสนว่ามันเกิดขึ้นจริงหรือพวกเขาแค่ตาฝาด
“แสบ”
คำนิยมสั้น ๆ ที่เราทุกคนล้วนนิยามให้กับตัวละครไทเลอร์ที่นักอ่านเกินครึ่งตกหลุมรัก เพราะที่จริงแล้ว ไทเลอร์ คือตัวตนที่พวกเราเคยมีในจินตนาการ
“ผมรักทุกอย่างที่ประกอบกันเป็นไทเลอร์ เดอร์เดน ความกล้าหาญ ความเฉลียวฉลาด และความแน่วแน่ ไทเลอร์เป็นคนตลก มีเสน่ห์ กระตือรือร้น และไม่ขึ้นกับใคร ทุกคนยกย่องเขาและหวังว่าเขาจะเป็นคนเปลี่ยนแปลงโลก ไทเลอร์ทำได้อย่างไม่มีข้อผูกมัด แต่ผมทำไม่ได้”
นี่คือคำพูดของตัวละครหลัก เมื่อเขารู้ว่าไทเลอร์และเขาแท้จริงคือคนคนเดียวกัน เมื่อเขาตื่น เขาจะเป็นพนักงานออฟฟิศธรรมดา และเมื่อเขานึกว่าตัวเองหลับ ไทเลอร์ เดอร์เดน เขาอีกคนจะตื่นขึ้นมาในเวลากลางคืน ไทเลอร์ทำทุกสิ่งที่เขาเคยคิดที่จะทำ
ไทเลอร์ท้าทายอำนาจของคนรวย นายทุน ที่ร่ำรวยจากการสะสมทุนที่ได้มาจากการขูดรูดทรัพยากรของมนุษย์คนที่เหลือเพื่อกลุ่มคนรวย 1%
ไทเลอร์กระชากหน้ากากอันจอมปลอมของรัฐและกระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่เพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกให้กับระบบทุนที่ซ่อนตัวอยู่ข้างหลัง คอยชักใยเพื่อปกป้องทรัพย์สินของชนชั้นนายทุนอันมาจากน้ำพักน้ำแรงของแรงงาน
ไทเลอร์ทำให้ผู้คนในทุก ๆ อาชีพ ทุก ๆ อายุ รับรู้เรื่องนี้
ไทเลอร์ทำให้พวกเขารู้ตัวว่าตลอดชีวิตที่ผ่านมาพวกเขาถูกกดขี่อย่างไร ภายใต้งานที่เขาทำ ความฝันที่พวกเขาถูกปลูกฝังผ่านโทรทัศน์ โฆษณา วัตถุ ที่ถูกผลิตออกมาซ้ำ ๆ ใส่ในหัวของทุกคน ราวกับว่าพวกเราเป็นสินค้าที่ถูกผลิตซ้ำกันออกมาบนสายพาน
ไทเลอร์ที่มีชื่อเรียกที่มีแต่ตัวละครหลักของเรื่องยังไม่มีชื่อให้เอ่ยนาม อันเป็นสัญญะว่าเขาและไทเลอร์ สามารถเป็นทุก ๆ คนในโลกทุนนิยมที่ต้องการจะโค่นล้มทุนนิยม
@Radicalgrafiti_TH
ความรุนแรงในไฟต์คลับและการต่อสู้กับจิตใจตัวเอง
ภายใต้โลกทุนนิยมเรานั้นทวบทวนและตบตีภายในหัวซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าเราจะไหลตามมันไป เพื่อชีวิตที่อาจจะง่ายกว่า หรือจะเหวี่ยงแขนออกไปสักหมัด ต่อต้านและยืนหยัดระบบอันเฮงซวย
เลือดสาด ตาปูด ฟันหลุด ความเจ็บปวดจากการโดนทำร้าย คือการแสดงความตอกย้ำว่าทุนนิยมบี้เราเละแค่ไหน
ในคืนอาทิตย์หน้า หรือเดือนหน้าหลังจากคุณหายดี คุณจะรู้วิธีรับมือกับกำปั้นที่เหวี่ยงมาได้ดียิ่งขึ้น มันทำให้คุณเห็นชัดขึ้นในวันที่ทุนนิยมชกเราเข้าเต็มปาก กลิ่นเลือดคาวคละคลุ้งทั่วร่องฟันและเราจะค่อย ๆ ใช้ลิ้นดูดมันกลืนเข้าลำคอ และเรียกมันแบบที่คนอื่นเรียกกันว่า รสชาติของชีวิตและการเติบโตเป็นผู้ใหญ่
นี่โชคยังดีที่ไฟต์คลับสามารถพูดหยุด เมื่อคุณไม่ไหวและใกล้ปางตายได้ แต่ในโลกความจริง เราไม่เคยได้รับสิทธิ์นั้นจากโลกทุนนิยม
แต่ในวันที่ทุนนิยมซัดคุณจนน่วมและคุณกำลังเซล้มลงกับพื้นอย่างไม่ทันตั้งตัว
แต่ถ้ามีคนคอยรอรับคุณอยู่ข้างหลังจำนวนมากล่ะ ?
คุณจะไม่มีวันนอนกองหมดสภาพอยู่บนพื้นอย่างแน่นอน
การรวมตัวของผู้คน 99% เป็นดั่งระเบิดทำมือที่ทลายโครงสร้างชนชั้นทางสังคม
“อย่าได้คิดมาเหยียบตีนเรา เราคือคนที่ท่านต้องพึ่งพามาทั้งชีวิต เราคือคนซักเสื้อผ้าให้ท่าน ทำครัวและเสิร์ฟอาหารให้ เราปูเตียงให้ท่านนอน คอยเฝ้ายามเวลาที่ท่านหลับ เราขับรถพยาบาล เราโอนสายโทรศัพท์ เราคือบรรดาพ่อครัวและคนขับแท็กซี่ และเรารู้ทุกอย่าง เราควบคุมทุกภาคส่วนในชีวิตของท่าน”
“เพราะฉะนั้นมึงอย่าลองดีกับพวกกู”
นี่คือประโยคในหนังสือที่ไทเลอร์พูดกับอธิบดีกรมตำรวจที่พยายามจะขจัดกลุ่มเมย์เฮม ประโยคที่สะท้อนให้เห็นถึงความทรงพลังของการรวมตัวของชนชั้นแรงงานคน 99% ชนชั้นแรงงานต่างหากผู้เป็นคนอยู่เบื้องหลังให้ชีวิตของคน 1% สามารถดำเนินไปได้อย่างไม่ติดขัด
คนเหล่านั้น กลัว กลัวว่าพวกเขาจะไม่สุขสบายเช่นเดิม
ดังนั้น พลังอันสำคัญที่สุดที่ชนชั้นแรงงานมี คือพลังการรวมตัว
เพื่อ นัดหยุดงาน (Strike)
มันถึงเวลาที่พวกเขารวมตัวกันทวงคืนสิทธิ์ สิทธิ์ที่พวกเขาถูกพรากไป
หากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ประเทศไทย ขบวนการเคลื่อนไหวของกลุ่มแรงงานมีมาอย่างช้านาน นับตั้งแต่การเลิกทาสที่แรงงานทาสกลายมาเป็นแรงงานรับจ้าง การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ที่เหล่าขุนนางในระบบศักดินาได้เปลี่ยนแปลงเป็นนายทุนเต็มตัว และใน พ.ศ.2533-2534 เป็นยุคเฟื่องฟูของขบวนการแรงงานในไทย มีการนัดหยุดงานประท้วงของสหภาพโรงงานต่าง ๆ รวมตัวช่วยกันเรียกร้องสิทธิและสวัสดิการของผู้คนในโรงงานแต่ละแห่ง รวมไปถึงพนักงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งทำให้พลังในมือแรงงานสามารถต่อรองได้จากกระบวนการการผลิตสินค้า อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ประปา ไฟฟ้า และขนส่งสาธารณะ ทำให้ได้แรงงานได้รับการขึ้นค่าแรงที่สอดคล้องกับค่าครองชีพและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
แต่การต่อสู้ของแรงงานต้องถดถอยลง หลังจากมีการรัฐประหาร รสช. ใน พ.ศ.2534 ได้มีการแยกรัฐวิสาหกิจออกมาจาก พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ทำให้สหภาพแรงงานในรัฐวิสาหกิจต้องหายไป และคณะรัฐประหารได้แก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ เพื่อจำกัดอำนาจการต่อรองของสหภาพแรงงานในภาคเอกชน ผู้นำสหภาพบางคนถูกอุ้มหายและจำนวนมากถูกดำเนินคดี
และต่อมาในปี 2536 ขบวนการแรงงานได้ผลักดันรัฐบาลให้ลงนามในอนุสัญญา ILO 87 98 ว่าด้วยเรื่องเสรีภาพในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองกับนายจ้าง ที่ยังไม่ได้รับรองจนถึงทุกวันนี้แม้จะผ่านมา 30 ปีแล้ว
นายทุนในไทยต่างใช้ช่องว่างทางกฎหมายนี้ เพื่อขูดรีดแรงงานไม่ว่าจะเป็น ปัญหาแรงงานแพลตฟอร์ม ปัญหาแรงงานสร้างรรค์ ฯลฯ ที่พวกเขาไม่มีสิทธิ์ในการรวมตัว ทำให้ทุก ๆ วันในการทำงานของพวกเขาต้องทนทุกข์กับการถูกกดขี่อย่างสุดขีด และรัฐก็ยังไม่สนใจและหลับหูหลับตาการกระทำเหล่านี้
ทุนนิยมนั้นฉลาดและเนียบเนียนขึ้นในทุก ๆ วัน ทุนนิยมไม่เคยเผยโฉมหน้าที่แท้จริงออกมา ทุนนิยมทำให้ทุก ๆ เรื่องของมันกลายเป็นเรื่องปกติ ตัวทุนนิยมเองมีการจัดตั้งผสมผสานกับทุกสิ่งจนเป็นขั้วอำนาจที่แข็งแกร่ง รัฐบาลที่สนใจค่า GDP เป็นหลักแต่ไม่เคยสนใจคุณภาพชีวิตของประชาชน ออกนโยบายให้ โรงเรียน มหาลัย ที่ทำงานที่มุ่งเน้นการวัด KPI โดยไม่สนใจสุขภาพจิตของผู้คนและโยนความผิดให้พวกเรากลายเป็นพวกด้อยประสิทธิภาพแทน แถมยังจับมือกับกระบวนการยุติธรรม จับกุมกลุ่มแรงงานที่ออกมาเคลื่อนไหวทวงคืนสิทธิ์ สร้างอำนาจนิยมและปิตาธิปไตยที่มาช่วยส่งเสริมระบบทุนให้แข็งแกร่งทำให้เกิดการแบ่งแยกผู้คนในทุกพื้นที่ด้วย เชื้อชาติ เพศ ศาสนา
@Radicalgrafiti_TH
ทุนนิยมทำให้เรารู้สึกแข่งขัน และค่อย ๆ แบ่งแยก
ทุนนิยมทำให้เรารู้สึกโดดเดี่ยวและค่อย ๆ ทำให้เราพอใจที่จะโดดเดี่ยวและรักในความเป็นปัจเจกชน
เราต่างรักรังหลังเล็กของเรา คอนโดมิเนียม หอ ห้องพัก เพราะทุนนิยมทำให้เราเหนื่อยล้า เรารู้แค่ว่าเราต้องการพักผ่อน เพื่อหยุดการแข่งขันและต้องการเวลาส่วนตัวที่ทุนนิยมพรากมันไป รู้ตัวอีกทีเราก็เบื่อหน่ายในการเจอผู้คน และรู้ตัวอีกที เราก็รักการอยู่คนเดียวไปเสียแล้ว
นี่คือสิ่งที่ทุนนิยมแทรกซึมภายในตัวเรา
การรวมตัวกันของแรงงานในปัจจุบันมีความท้าทายยิ่งขึ้น เมื่อกาลเวลาผ่านไปมันทำให้ผู้คนรักในความเป็นปัจเจกมากขึ้น ทุนนิยมทำให้เรารู้สึกว่าเวลาว่างและความสันโดษคืออิสระที่แท้จริง ฉันจะไม่ยอมสูญเสียมันไป
ฉันจะไม่ยอมสละเวลา ไปร่วมขบวนการชุมนุมแรงงาน ฉันไม่อยากเกิดความเสี่ยงใดใดในชีวิตฉัน
นี่คือความคิดภายในใจของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าชนชั้นกลาง
ในขณะเดียวกันกลุ่มแรงงานค่าแรงขั้นต่ำบางกลุ่ม กลับไม่เคยได้สัมผัสถึงคำว่า พักผ่อน และเวลาส่วนตัวเลย ในชีวิตของพวกเขา
ฉะนั้นหนทางหลักของชนชั้นแรงงานจึงเป็นการรวมตัวกันเป็นหนึ่ง การตั้งสหภาพข้ามบริษัท โรงงาน นายจ้างได้เป็นสิ่งสำคัญ เราจะต้องปลดแอกทางความคิดของผู้คนผู้เป็นแรงงานในทุกสาขาอาชีพและทุกเชื้อชาติ ว่าหากพวกเรารวมตัวต่อสู้ เราจะได้รับอิสระที่แท้จริง ที่ไม่ใช่แค่วันหยุดสุดสัปดาห์และหลังเวลาเลิกงาน
“ เมื่อนายค่อย ๆ มีสบู่มากเพียงพอ นายจะสามารถระเบิดอะไรก็ได้ “
ประโยคที่น่าจดจำอันทรงพลัง เราต่างถูกทำให้เป็นสบู่ก้อนเล็กที่ถูกห่อปลีกด้วยพลาสติกแห่งความปัจเจกอันเป็นบรรจุภัณฑ์ของโลกทุนนิยม
ถอดซองพลาสติกนั่นออกซะ
เราจะทลายความเหลื่อมล้ำ
เราจะทลายโครงสร้างลำดับชั้น
รวมตัวออกไปช่วยเพื่อนพ้องผู้โดนกดขี่และขูดรีด ทวงคืนสิทธิ์ที่พวกเราถูกพรากไป
เราจะได้มีชีวิต เราจะได้พักผ่อน เราจะได้รับการรักษาอย่างเป็นธรรมเมื่อเจ็บป่วย เราจะได้ทำงานในสถานที่ที่ปลอดภัย
เราจะถูกใส่ใจเยี่ยงมนุษย์ไม่ใช่เครื่องจักร
เพราะ เราทุกคนคือแรงงาน
แรงงานทั้งหลายจงรวมตัว เราคือผู้สร้างสังคม
และพลังการเปลี่ยนแปลงสังคมให้เท่าเทียมอยู่ในมือของพวกเรา
@Radicalgrafiti_TH
Playread : Fight Club
ชัค พอลาห์นิก เขียน, ธีปนนท์ เพ็ชร์ศรี แปล
สำนักพิมพ์ แมร์รี่โกราวด์, 2561
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี