120 บาทที่เคยคุ้มค่า (ลด)ค่ารอบไรเดอร์หนนี้เหลือคุ้มทุน 15 บาท คุ้มที่ว่า คุ้มใคร? - Decode
Reading Time: 4 minutes

ทะลุนิวโลว์อีกครั้งสำหรับค่ารอบของไรเดอร์แพลตฟอร์ม หลังจากเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2567 มีประกาศลดค่ารอบไรเดอร์ไลน์แมนในพื้นที่ จ.สระบุรี จากค่ารอบขั้นต่ำ 22 บาท เหลือ 15 บาท และในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ก็ได้ออกประกาศลดค่ารอบครั้งที่ 2 ในปีนี้ในอีก 7 จังหวัด 

แต่รู้หรือไม่? ไรเดอร์แพลตฟอร์มในปี 2560-2561 ค่าย Grab เคยให้ค่ารอบขั้นต่ำสูงถึง 120 บาท ผ่านมา 5 ปี อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ค่ารอบห่างกันเกือบ 10 เท่า

นำมาสู่แคมเปญ #หยุดเอาเปรียบไรเดอร์ ที่ไรเดอร์หลากหลายแพลตฟอร์ม มาร่วมเรียกร้องถึงมาตรการการลดค่ารอบ เมื่อจุดคุ้มทุนของเราไม่เท่ากัน ในขณะที่ราคาข้าวของยังคงสูงขึ้นอยู่เรื่อย ๆ แต่ทำไมค่ารอบไรเดอร์ในหลายพื้นที่ ยังคงถูกลดลง ลดลง ลดลง และไม่มีวี่แววจะเขยิบขึ้นมา

ส่องภาระที่ไรเดอร์ต้องแบกในชื่อของพาร์ทเนอร์-อาชีพอิสระ-คนส่งของ ทางออกและกับดักของอาชีพไรเดอร์แพลตฟอร์ม กับการคำนวณจุดคุ้มทุนของบริษัทแพลตฟอร์ม 

คุ้มทุนที่ว่าคือคุ้มทุนลูกค้า ร้านค้า ไรเดอร์ หรือเพียงแค่แพลตฟอร์ม

(ในการวิ่งงานไรเดอร์นั้น แต่ละจังหวัดจะได้ค่ารอบไม่เท่ากัน ซึ่งวัดค่ารอบขั้นต่ำจากอัตราความหนาแน่นของร้านค้าและผู้บริโภค ซึ่งบริษัทแพลตฟอร์มอ้างอิงถึงค่าอุปโภคและบริโภคแต่ละพื้นที่ ในบทความชิ้นนี้ศึกษาข้อมูลค่ารอบของกรุงเทพมหานครโซนนอกหรือชานเมืองเท่านั้น)

พลวัตตัดค่ารอบของไรเดอร์แพลตฟอร์ม

เศรษฐกิจแพลตฟอร์มเข้ามามีบทบาทกับสังคมไทยเป็นอย่างมากนับตั้งแต่ปี 2560 จากทางเลือกในการใช้ชีวิต พลวัตสู่ส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคมไทย จนถึงปัจจุบันมีบริษัทแพลตฟอร์มเข้ามาเปิดบริการในประเทศไทยประมาณ 11 ค่าย และหลายค่ายก็ได้ปิดตัวลงไปแล้ว

หนึ่ง-ศักดา ถือมั่น อินฟลูเอนเซอร์ไรเดอร์จากเพจ “หนึ่งนะครับ” ที่เข้ามาสู่วงการไรเดอร์ตั้งแต่ช่วงต้นของการเติบโตของไรเดอร์แพลตฟอร์มในประเทศไทยในปี 2562 โดยยังประกอบอาชีพอื่นไปด้วยเช่น การตลาดออนไลน์ ตัดคลิปวิดีโอ และทำเพจ

ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ขับไรเดอร์หนึ่งขับแทบจะทุกแพลตฟอร์มที่เปิดบริการในประเทศไทย นอกจากมิตรภาพและประสบการณ์ที่ได้จากการทำช่องแล้ว คือกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่บริษัทผลักภาระไปให้ไรเดอร์ และหนึ่งในนั้นคือการลดค่ารอบ

จากวิ่งงานโซนกรุงเทพฯ รอบนอก 8 ชม. หรือต่ำกว่านั้น สามารถหาเงินได้ 1,000-1,500 บาท
แต่ปัจจุบัน 8 ชม. บนท้องถนนอาจได้มาเพียง 500-700 บาทเท่านั้น

ปัจจุบันหนึ่งจะอาศัยและวิ่งไรเดอร์อยู่ในเขตหนองจอกหรือกรุงเทพฯ โซนนอก แต่ในช่วงแรกที่หนึ่งเริ่มขับไรเดอร์นั้น หนึ่งต้องเข้าไปวิ่งในตัวเมือง เนื่องจากในปี 2562 แพลตฟอร์มส่งอาหารยังไม่ได้ขยายตัวมาถึงโซนหนองจอก โดยค่ายแรกที่หนึ่งเริ่มขับไรเดอร์นั้นคือค่าย Grab ซึ่งกำลังเป็นที่เติบโตและเป็นที่สนใจอย่างมากในเวลานั้น โดยหนึ่งได้ค่ารอบขั้นต่ำอยู่ที่ราว ๆ 60 บาท ต่อ 1 ออเดอร์ 

จนกระทั่งปี 2563 เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 หนึ่งเริ่มมาขับไรเดอร์กับค่าย Lineman เป็นส่วนมาก โดยจะมีค่ารอบอยู่ที่ราว ๆ 40 บาท ต่อ 1 ออเดอร์ ช่วงเวลานั้นเองที่อาชีพไรเดอร์กลายเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ผู้คนให้ความสนใจ แต่หลังจากนั้นไม่นานภายในปี 2563 ก็เกิดการลดค่ารอบของไรเดอร์ที่สวนทางกับการเติบโตของเศรษฐกิจแพลตฟอร์มในขณะนั้น ภายในปีเดียวจากหลาย ๆ ค่ายที่ให้ค่ารอบประมาณ 50 บาท ก็ทยอยลดลงมาจนเหลือราว ๆ 40 บาท ต่อ 1 ออเดอร์

“ในทุกครั้งที่มีการลดค่ารอบ ประกาศจะเขียนไว้ว่าเกิดจากการคำนวณต้นทุนต่อการส่งออเดอร์ให้เหมาะสมมากขึ้น ซึ่งก็ยังเป็นสิ่งที่เรายังงง ๆ เพราะถ้าคิดดู ร้านค้าก็ต้องจ่ายค่า GP เท่าเดิม ลูกค้าก็ต้องมีจ่ายค่าอาหารที่บวกกับค่า GP ของร้านค้าแม้จะโปรโมชันบางช่วง รวมถึงคนก็ยังใช้เยอะมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ทำไมค่ารอบของไรเดอร์ถึงลดลง?”

โดยในช่วงแรก เกือบทุกบริษัทใช้ระบบแย่งงาน คือเมื่อออเดอร์เข้ามา ไรเดอร์คนไหนกดได้ไวกว่าก็ได้ออเดอร์นั้นไป ซึ่งได้เกิดปัญหาตามมาคือการที่มีไรเดอร์ไปรออยู่หน้าร้านอาหารจำนวนมาก ซึ่งบริษัทแพลตฟอร์มก็ได้แก้ไขปัญหานี้ โดยการเปลี่ยนเป็นระบบยิงงาน

แต่ระบบยิงงานกลับกลายเป็นปัญหาอีกรูปแบบ เมื่อการแก้ไขปัญหาให้ไรเดอร์ไม่รอออเดอร์ที่หน้าร้าน จึงเกิดการรับงานที่มีระยะส่งขั้นต่ำ 3-4 กม. เพื่อให้เกิดการรับงานโดยไม่จำเป็นต้องไปรอออเดอร์หน้าร้าน อย่างไรก็ตาม ระบบการยิงงานยังส่งปัญหาให้ไรเดอร์ใช้ต้นทุนที่สูงมากขึ้น โดยต้องใช้เวลาในการขับไปรับออเดอร์ไกลมากขึ้น จนเกิดเป็นการประท้วงใหญ่หลายครั้ง หลายแพลตฟอร์ม ในปี 2564-2565 เพื่อเรียกร้องให้ระบบการแย่งงานกลับมา

จนกระทั่งในปี 2565 หนึ่งเริ่มขับกับแพลตฟอร์ม Robinhood เป็นส่วนมาก โดยมีค่ารอบอยู่ที่ราว ๆ 38 บาท ต่อ 1 ออเดอร์ ในช่วงเวลานั้นเองก็มีไรเดอร์หลายคนร่วมขับค่ายนี้ เนื่องจากให้ค่ารอบสูงและเป็นระบบแย่งงาน แต่ต้องกรอกข้อมูลเพื่อ(OTP) เพื่อรับงาน อย่างไรก็ตามในหลายพื้นที่ก็จะมีไรเดอร์ที่ใช้ระบบโกง AI เพื่อที่จะรับงานได้ไวกว่า

การขับขี่แพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่งของไรเดอร์หนึ่งก็ชี้ให้เห็นได้ว่า ทิศทางการย้ายค่ายของไรเดอร์นั้นคือการหนีการเอาเปรียบของบริษัท แต่ถึงอย่างนั้นต่อให้หนีไปที่ไหนก็ยังเกิดการลดค่ารอบอย่างต่อเนื่องอยู่ดี

“พอมาปี 66-67 ไม่ได้ขับค่ายใดค่ายหนึ่ง เพราะทุกบริษัทเหมือนกันไปหมด คือค่ารอบต่ำเท่ากัน เรียกได้ว่าเหมือนลอกสูตรในการทำกำไรมาเลย ถึงระบบหลังบ้านแต่ละค่ายจะแตกต่างกันไป บางเจ้าประสานงานได้ง่ายกว่า แต่ยังไงก็ไม่คุ้มกับแรงกับความเสี่ยงหรือปัญหาที่เราอาจเจอตอนทำงาน”

ปัจจุบันค่ารอบขั้นต่ำกรุงเทพฯ โซนนอก ของบริษัทแพลตฟอร์มแทบทุกเจ้าจะใกล้เคียงกัน โดยอยู่ที่ 30-32 บาท ต่อ 1 ออเดอร์ ซึ่งลดลงจากปีแรกที่หนึ่งขับไรเดอร์ถึงครึ่งหนึ่ง

จากการตลาดเพื่อแย่งผู้ใช้บริการและพาร์ทเนอร์ ผ่านไปเพียงครึ่งทศวรรษ บริษัทแพลตฟอร์มเริ่มใช้โมเดลธุรกิจที่ใกล้เคียงกัน ทั้งการปรับลดค่ารอบ รวมถึงการนำเบี้ยขยัน งานพ่วง สวัสดิการ และเริ่มมีส่วนแบ่งในตลาดที่น้อยลงไปเรื่อย ๆ จนเหลือเพียงไม่กี่เจ้าใหญ่ที่สามารถดำเนินกิจการบนความคุ้มทุนนี้ต่อไป

และอ้างอิงถึงค่ารอบที่เคยสูงถึง 120 ตามที่หนึ่งกล่าว ถูกหั่นครึ่งเหลือเพียง 60 บาท และลดหลั่นลงมา 40-38-35 และนี่ยังเป็นตัวเลขในกรุงเทพมหานคร เมื่อเทียบกับในต่างจังหวัดแล้วยังคงเกิดคำถาม แม้ค่าอุปโภค-บริโภคบางส่วนจะถูกกว่า แต่เมื่อพิจารณาถึงค่าน้ำมันหรือระยะทางในการส่งที่ขั้นต่ำอาจเริ่มที่ 5 กม. จุดคุ้มทุนแบบไหนที่แพลตฟอร์มมองว่า 15-22 บาทนี้คือค่าตอบแทนที่เหมาะสมต่อไรเดอร์

อย่างไรก็ตาม การลดค่ารอบเป็นเพียงฉากหน้าที่ทำให้เราเห็นตัวเลขแบบชัดเจน ภายใต้การปรับค่ารอบแบบไม่เกรงใจไรเดอร์ เมื่อยังมีกลไกที่ทำให้ไรเดอร์ต้องแบกภาระมากขึ้นแต่สวนกับรายรับที่ได้มา

‘งานพ่วง-อินเซนทีฟ’ กลไกที่แพลตฟอร์มใช้เพิ่มงานแต่เพิ่มเงินไม่มากพอ

“ต้องบอกก่อนว่าไม่ใช่ว่าไม่มีคนทำได้เลยนะ คนที่ยังทำรายได้วันละ 1,500-2,000 บาทต่อวันก็ยังมี แต่คุณต้องวิ่งตั้งแต่ 8 โมงถึง 3 ทุ่มนะ มันนับหัวได้เลยที่ทำได้แบบนั้น” หนึ่งเล่าถึงเพื่อนร่วมวงการที่ยังสามารถสร้างรายได้สูงจากการขับไรเดอร์ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถทำได้แบบนั้น

แม้ปัญหาการลดค่ารอบ จะเปรียบเหมือนการลดเงินของพาร์ทเนอร์แพลตฟอร์มโดยตรง แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไรเดอร์ก็เจอการลดค่ารอบแบบอ้อม ๆ โดยถูกทำให้เป็นส่วนหนึ่งของการส่งออเดอร์โดยไม่ได้รับเงินเท่าเดิม

ระบบงานพ่วง(งานแบช) ถูกใช้เป็นที่แรกในแพลตฟอร์ม Foodpanda ซึ่งจะทำให้ไรเดอร์สามารถรับงานพร้อม ๆ กันได้ ทั้งออเดอร์จากร้านเดียวกันหรือร้านอื่นในบริเวณใกล้เคียง อย่างไรก็ตาม เมื่อราว ๆ ปี 2563 ค่าย Grab ได้นำมาระบบนี้มาปรับใช้แต่งานพ่วงที่ว่าหรือออเดอร์ที่รับมา กลับได้เงินตอบแทนเพียง 1 ใน 3 ของราคาเต็ม

“ถ้าว่ากันตามจริง เราไปส่ง 2 ออเดอร์หรือกี่ออเดอร์ เราก็ควรได้ค่ารอบเต็ม ๆ แต่ระบบงานพ่วงเกิดจากแพลตฟอร์มอยากจัดการกับออเดอร์ที่เข้ามาไวขึ้น แล้วยิ่งเป็นระบบยิงงานที่เราไม่รับไม่ได้ มันคือการผลักภาระให้กับไรเดอร์ ซึ่งในหลาย ๆ ครั้งที่เขาเรียกร้องกันก็มีข้อเสนอในการปรับแก้ตรงนี้อยู่ แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดอะไรขึ้น”

ข้อมูลชุด ‘5 ปีไรเดอร์ไทย ต้องต่อสู้กับแพลตฟอร์มเรื่องใดบ้าง’ จาก Rocket Media Lab ก็ได้ชี้ให้เห็นถึงข้อเรียกร้องที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 และ 2 ของไรเดอร์ คือระบบการคำนวณค่าตอบแทนทั้งทางตรงและทางอ้อมของไรเดอร์ ตั้งแต่ปี 2562-2567 ข้อเสนอของไรเดอร์เรียกร้องค่าตอบแทน/ค่ารอบ 93 รายการ และระบบการรับงาน/จ่ายงาน 43 รายการ(เป็นเพียงข้อมูลที่เก็บสถิติจากข่าวที่ปรากฏอาจมีจำนวนสูงมากกว่านี้)

ปัจจุบัน งานพ่วงที่ 1 จะมีค่าตอบแทนอยู่ราว ๆ 15 บาท และงานพ่วงที่ 2 อยู่ที่ 13 บาท และลดหลั่นตามลงมาในงานพ่วงถัดไป

ในขณะเดียวกันอินเซนทีฟหรือเบี้ยขยัน ที่จะดึงดูดให้ไรเดอร์ขยันรับงานมากขึ้น ทั้งในรูปแบบของแคมเปญระยะสั้น ค่าตอบแทนโดยตรง และระดับของไรเดอร์ซึ่งสามารถนำไปแลกสวัสดิการได้ ถึงอย่างนั้นเบี้ยอินเซนทีฟนี้ก็ปรับลดลงพร้อม ๆ กับค่ารอบมาตลอด และการได้มาสวัสดิการซึ่งต้องนำแต้มขยันนี้ไปแลก ก็ดูยากจนหนึ่งกล่าวว่านำไปเพิ่มค่ารอบจะดีกว่า

“บริษัทเขาจะออกแคมเปญมาเรื่อย ๆ ซึ่งจะเป็นการวิ่งให้ได้ครบตามที่เขากำหนดก็จะได้เงินเพิ่มมา แต่มันยากมากในการทำจริงเมื่อเทียบกับระยะเวลา ตัวอย่างเช่น ต้องวิ่งให้ได้ 50-80 ออเดอร์ภายใน 3 วัน ซึ่งทุกวันนี้ไรเดอร์มันล้นตลาดอยู่แล้ว จะไปรับงานยังไงให้ได้ขนาดนั้นใน 3 วัน เหมือนออกมาเพื่อให้คนอยากวิ่งแต่บริษัทได้ไปเต็ม ๆ”

นอกจากนี้ หนึ่งเล่าว่าในเพจของหนึ่งมีไรเดอร์หลายคนพูดถึงการส่งบนตึก ถึงแม้บริษัทจะไม่ให้ไรเดอร์ขึ้นอาคารเพื่อส่งสินค้า ทว่า ลูกค้าหลายคนไม่รับรู้ เมื่อไรเดอร์ไม่ยอมขึ้นไปส่งของก็เกิดการต่อว่าไปจนถึงการลดดาวไรเดอร์ ซึ่งจะมีปัญหาต่อการรับงานในอนาคต ที่ส่งผลตั้งแต่ได้งานน้อยลงและสามารถไปถึงการระงับการวิ่งงานได้เลย

“มีคนมาเล่าในเพจ ว่าเคยเจอลูกค้าสั่งของจากระบบ mart แต่สั่งของเยอะมาก โดยเฉพาะพวกน้ำเปล่าแพ็คใหญ่ แล้วให้ขึ้นไปส่งที่แฟลตชั้นสูง ๆ ซึ่งมันไม่มีลิฟท์ แล้วไม่ได้สั่งแค่อย่างเดียวแต่สั่งเยอะมาก ปัญหาคือบริษัทไม่สื่อสารกับลูกค้ามากพอ ซึ่งถ้าไรเดอร์ไม่ไปส่งก็โดนลดดาว โดนด่า หรืออย่างน้อย ๆ บริษัทก็ควรจะเพิ่มระบบค่า tips แบบนี้คือไรเดอร์รับจบเรื่องงานหมดเลยแต่บริษัทได้กำไรไปเต็ม ๆ”

แม้การลดค่ารอบและการปรับเปลี่ยนระบบการทำงานจะไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงสัญญา เนื่องจากอาชีพไรเดอร์เป็นอาชีพอิสระในชื่อของพาร์ทเนอร์ แต่การลดค่าตอบแทนทั้งทางตรงและทางอ้อมนั้น จากสถิติของงานวิจัย ‘ไรเดอร์-ฮีโร่-โซ่ตรวน’ โดย อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ และ อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ก็ชี้ให้เห็นว่าบริษัทได้รับข้อเสนอไปแก้ไขในประเด็นอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ข้อเรียกเรื่องค่าตอบแทน เช่น การปรับระบบหลังบ้าน การติดต่อคอลเซนเตอร์ เป็นต้น

“เราเองก็ยังไม่เห็นทางนะ แต่คิดว่าคงยากมาก ๆ ที่ค่ารอบจะขึ้นมาเท่าแต่ก่อน ตอนนี้อาจจะต้องหวังให้ค่ารอบไม่ต่ำลงกว่านี้ อย่าว่าแต่เงินเก็บเลย ยิ่งพื้นที่ที่โดนกดค่ารอบเหลือ 15 บาท มันไม่ใช่วิ่งงานเอาไปเติมน้ำมัน แต่เงินที่ได้มาอาจจะยังไม่พอเอามาเติมน้ำมันเลยนะ” หนึ่ง กล่าว

ปลุก ‘สหกรณ์แพลตฟอร์ม’ เอาทุนนิยมกลับมาอยู่ใต้กำกับของสังคม

“เราว่าช่วงหลังที่การเรียกร้องเป็นกระแสไม่เท่าเมื่อก่อน อาจเพราะไรเดอร์หลายคนที่เคยไป ทุกวันนี้อาจจะเลิกขับแล้วหรือเหนื่อยล้าเรื่องต่าง ๆ การเดินทางไปเรียกร้องอาจจะต้องเสียรายได้ในวันนั้นไป” หนึ่งแสดงความคิดเห็นถึงปรากฏการณ์ม็อบของไรเดอร์

นับตั้งแต่ปี 2563 แนวคิดของสหภาพแพร่หลายอย่างมาก ซึ่งนั่นรวมถึงสหภาพไรเดอร์เช่นกัน ในขณะที่สหภาพทำหน้าที่ในบริบทรวมตัวกันเพื่อถ่วงดุลอำนาจบริษัท แม้การรวมตัวในรูปแบบนี้จะสร้างแรงกระเพื่อมได้เป็นอย่างดี แต่ก็ยังมีอีกแนวคิดหนึ่งที่สามารถต่อยอดของการรวมตัวและหาจุดคุ้มทุนที่เหมาะสมกับไรเดอร์ได้น่าสนใจเช่นกัน ซึ่งก็คือ สหกรณ์แพลตฟอร์ม

ดร.เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร อธิบายและยกตัวอย่างของการรวมตัวนี้ไว้ในบทความ ‘แพลตฟอร์มที่เป็นธรรมนั้นไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอง! กรณีตัวอย่างจากต่างประเทศ’ ไว้ว่า

สหกรณ์แพลตฟอร์มเป็นรูปแบบธุรกิจที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองกับความล้มเหลวของตลาด (market failures) ในเศรษฐกิจดิจิทัล

ซึ่ง ความล้มเหลวของตลาด คือคำศัพท์ที่นักเศรษฐศาสตร์ประดิษฐ์ขึ้นเพื่อใช้เรียกข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นจริงในกรณีของเศรษฐกิจดิจิทัล ข้อบกพร่องนี้ได้แก่ แนวโน้มของการผูกขาดโดยแพลตฟอร์มน้อยราย, การแข่งขันทางด้านราคา หรือสงครามตัดราคา ที่ทำให้มาตรฐานแรงงานลดลงจนต่ำเตี้ยเรี่ยดิน การกระจายความเสี่ยงที่ไม่เสมอกันระหว่างเจ้าของแพลตฟอร์มและผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ จนทำให้ภาครัฐต้องคิดค้นออกแบบสวัสดิการใหม่ ในขณะที่ธุรกิจแพลตฟอร์มกลับสามารถหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบผ่านช่องโหว่ของกฎหมายและระบบภาษี

นั่นจึงทำให้รูปแบบของโลกเก่าอย่างสหกรณ์ ถูกนำมาปรับใช้ในโลกใหม่อย่างเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อให้การรวมตัวเพื่อสร้างส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในธุรกิจนั้น ๆ มีอำนาจถ่วงดุลกับบริษัทแพลตฟอร์มและเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เป็นธรรมมากขึ้นต่อทุกคน

ดร.เกรียงศักดิ์ ยกตัวอย่างของแพลตฟอร์มอัพแอนด์โก (Up&Go) แพลตฟอร์มสำหรับหาแรงงานในบ้านจากสหรัฐอเมริกา เป็นสหกรณ์แพลตฟอร์มที่พนักงานทำความสะอาดร่วมกันเป็นเจ้าของ ปัจจุบันมีคนงานเป็นเจ้าของถึง 51 คน เป็นผู้หญิง 49 คนและชาย 2 คน ทั้งหมดเป็นคนงานย้ายถิ่นฐานจากลาตินอเมริกาทั้งหมด เมื่อพนักงานมีส่วนร่วมในการออกแบบการบริหารจึงทำให้พบค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผลกับแรงงานมากยิ่งขึ้น

โดยจุดสำคัญจะเห็นได้ว่า โมเดลสหกรณ์ของอัพแอนด์โกนั้น ไม่ได้เป็นเพียงคนงานร่วมกันก่อตั้งสหกรณ์ทำกันสำเร็จแต่เกิดจากการประสานงานของเครือข่าย ภาคประชาสังคม โดยการเล็งเห็นความเปราะบางของเศรษฐกิจดิจิทัลนี้และสร้างอำนาจถ่วงดุลให้กับแรงงาน เกิดการทำงานร่วมมือกันหลายภาคส่วนและได้พบว่ารูปแบบสหกรณ์ที่คนงานเป็นเจ้าของนั้น เป็นโมเดลที่ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งและสร้างความมั่นคงให้คนงานได้อย่างยั่งยืน

จนถึงจุดนี้ อาจต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าตัวอย่างความสำเร็จของอัพแอนด์โกและสหกรณ์แพลตฟอร์มทั่วโลกนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ ความสำเร็จนี้เป็นผลมาจากการพัฒนาการสร้างสาธารณูปโภคที่เหมาะสมสำหรับระบบสหกรณ์อย่างต่อเนื่องและยาวนาน ซึ่งไม่สามารถแยกขาดจากปัจจัยที่สำคัญคือ ความตระหนักรู้และความเข้าใจของสังคม โดยเฉพาะผู้กำหนดนโยบายและพวกเราทุกคนในฐานะผู้ใช้บริการ ที่ต้องเห็นคุณค่าของคนงานเหนือผลกำไร

เมื่อ “ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม” ในความหมายของสหกรณ์นี้ ไม่ใช่แค่ค่าตอบแทนที่กฎหมายกำหนด หรือค่าตอบแทนที่ผู้บริหารแพลตฟอร์มจัดให้ เพราะความใจดี แต่ไม่ยั่งยืนเพราะเกิดจากการตัดสินใจของผู้บริหารเพียงฝ่ายเดียว แต่หมายถึงค่าตอบแทนที่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี แรงงานควรมีเวลาเหลือที่จะพักผ่อนหรือศึกษาหาความรู้ในสิ่งที่ตนเองต้องการ

“ถึงแม้มันอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการหันเหทิศทางสู่การนำเอาทุนนิยมกลับมาอยู่ใต้กำกับของสังคม” ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าว

รัฐไม่ใช่ผู้ชมข้างสนาม แต่คือกรรมการในระบบเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม

ไรเดอร์หนึ่งคนวิ่งงานโดยเฉลี่ย 1 งาน ระยะทาง 3-5 กม. โดยรวมเวลารออาหาร จะอยู่ที่ออเดอร์ละประมาณ 30 นาที เท่ากับว่าหากขับวันละ 8 ชั่วโมง พวกเขาจะได้งานเต็มที่ 16 งาน หรือเท่ากับว่าใน 1 วัน พวกเขาจะได้รายได้อยู่ที่ 240 บาท และหากเทียบกับค่าใช้จ่ายรายวันพวกเขาสามารถนำไปใช้อะไรได้บ้าง?

วิ่งงาน 1 วัน 16 ออเดอร์ กับค่ารอบ ๆ ละ 15 บาท  
เติมน้ำมันแก๊สโซฮอลล์ 95 ได้ 6.8 ลิตร หรือเท่ากับเต็มถังเกือบ 2 ครั้ง

วิ่งงาน 1 วัน 16 ออเดอร์ กับค่ารอบ ๆ ละ 15 บาท
ซื้อไข่ไก่เบอร์ 2 ได้ 2 แผง

วิ่งงาน 1 วัน 16 ออเดอร์ กับค่ารอบ ๆ ละ 15 บาท
ไม่สามารถซื้อจ่าอูหมูกระทะชุดเล็ก(300 บาท) ได้แล้ว

และ วิ่งงาน 1 วัน 16 ออเดอร์ กับค่ารอบ ๆ ละ 15 บาท หรือ 240 บาท อาจไม่พอค่าเทอมลูก ค่าไฟ ค่าน้ำ และค่าอื่น ๆ ของอาชีพอิสระไรเดอร์ที่จะวิ่งให้คุ้มทุนในยุคเศรษฐกิจแบบนี้อาจต้องใช้เวลาเท่ากับหรือมากกว่างานประจำ

แม้จะเกิดการเรียกร้องของไรเดอร์แพลตฟอร์มมากกว่า 100 ครั้ง ทว่า ตามศูนย์เปิดรับแต่ละจังหวัด ยังคงมีคนรอคอยมาขับไรเดอร์จำนวนมาก และถึงแม้ทุกวันนี้ไรเดอร์จะมีมากกว่าออเดอร์ที่เข้ามา เป็นตัวยืนยันว่าแรงงานแพลตฟอร์มจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการคุ้มครองในฐานะตลาดแรงงานที่มีประชากรมากอยู่ในนั้น

แม้ตลอดระยะเวลาที่ผ่าน รัฐไทยจะยกเว้นนิยมกับบริษัทแพลตฟอร์มภายใต้การนิยาม Gig Economy ที่จะไม่แทรกแซงในตลาดเสรีนี้

แต่นั่นก็เป็นเหตุผลสำคัญทำให้รัฐต้องไม่อยู่ในฐานะของผู้ชมข้างสนาม ในเมื่อเศรษฐกิจรูปแบบนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของผู้คนไปแล้ว รัฐจำเป็นที่จะต้องหนักแน่นในฐานะผู้กำกับดูแล เพื่อไม่ให้ไรเดอร์และแรงงานแพลตฟอร์มอื่น ๆ ได้รับสวัสดิการ สถานะ และการคุ้มครองที่มากขึ้น โดยเฉพาะการผลักดันร่างพ.ร.บ.แรงงานอิสระ และร่างกฎหมายแพลตฟอร์มฉบับอื่น ๆ เพื่อให้กฎหมายนี้เป็นบทกำกับสัญญาจ้างของอาชีพแพลตฟอร์มในสังคมไทย

“สำหรับในบริบทของไทย ผมสังเกตว่า หลายครั้งที่ผมเองพยายามจะเปิดบทสนทนาเรื่องธุรกิจแพลตฟอร์มที่เป็นธรรมนั้น ผู้ประกอบการรุ่นใหม่และเจ้าหน้าที่ภาครัฐเอง ไม่สามารถเข้าใจความหมายของความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ที่ออกไปจากกรอบความคิดของทุนนิยมแบบผู้ชนะได้ทั้งหมด ผมเชื่อว่าการขาดตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในสังคมไทยทำให้ผู้ประกอบการขาดวิสัยทัศน์ที่จะจินตนาการถึงทางเลือกที่แท้จริงได้ ทำให้ในภาพรวม เรายังคงติดอยู่กับมายาคติที่ตื้นเขินและขาดคำอธิบายรองรับที่ว่า “การแข่งขันเสรีจะทำให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น”

ดร.เกรียงศักดิ์เสนอว่า ในต่างประเทศมีการกำหนดกติกาการจ้างงานของบริษัทแพลตฟอร์มไว้ค่อนข้างชัดเจนกว่าไทย ซึ่งรัฐอาจนำมาใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงกฎหมายการจ้างงานแพลตฟอร์มในไทยได้ เช่น แคนาดากำหนดว่าหากคนงานรับส่งงานให้นายจ้างรายเดียวเป็นเวลานานพอสมควร ก็อาจเข้าข่ายแรงงานประเภท สัญญาจ้างแบบพึ่งพาไม่ใช่พนักงานสัญญาจ้างอิสระ ซึ่งกำหนดให้ผู้ว่าจ้างต้องรับผิดชอบผู้รับงานมากกว่าเดิม อาทิ ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนเลิกจ้าง หรือเลิกจ้างแล้วต้องจ่ายค่าชดเชย รวมไปถึงอำนาจต่อรองเมื่อรูปแบบการจ้างงานเปลี่ยนไป

ระยะเวลากว่าครึ่งทศวรรษที่เศรษฐกิจแพลตฟอร์มเติบโตในประเทศไทย ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับไรเดอร์ต่าง ๆ ทั้งที่เคยเกิดขึ้นและกำลังจะในขณะที่บริษัทแพลตฟอร์มอยู่เหนือตลาด ณ วันนี้ รัฐมีเหตุผลเพียงพอแล้วที่จะต้องทำหน้าที่กรรมการในการแข่งขันนี้ 

ภายใต้เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เราต่างเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจนี้ ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม แคมเปญ #หยุดเอาเปรียบไรเดอร์ จึงไม่ใช่เรื่องของไรเดอร์ แต่คือเรื่องผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดซัพพลายเชน ซึ่งรวมพวกเราทั้งฐานะลูกค้าและร้านค้า รวมถึงแพลตฟอร์มและภาครัฐ

ถนนหนทางสำหรับไรเดอร์แพลตฟอร์มยังทอดยาวออกไป ไม่มีใครรู้ว่า ณ โลเคชั่นที่ปักหมุดของเศรษฐกิจที่เป็นธรรมจะไปถึงเมื่อไหร่ แต่เมื่อไหร่ที่ทุกภาคส่วนร่วมมือกัน สัญญานที่ขาดหายไปอาจเชื่อมถึงกันอีกครั้ง มันอาจจะถูกใช้เป็นแผนที่นำทาง ถึงแม้ว่าแผนที่นี้จะยังเลือนราง แต่น่าจะพอช่วยบอกทิศทางคร่าว ๆ ให้พวกเราหันไปถูกทิศเข้าสักวัน