เราเริ่มปี 2567 ที่ดูเหมือนมีท่าทีดีขึ้น เพราะตัวเลขงบประมาณของภาครัฐในการจัดการปัญหาชายหาดลดลงกว่าครึ่งจากปีก่อน ๆ จากพระราชบัญญัติร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่พึ่งเข้าสภาไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จากที่ตัวเลขเคยสูงถึง 1,500 – 1,600 ล้านบาทในปีก่อน ๆ แต่ตลอดสองทศวรรษกลับพบว่าเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้จริง หนำซ้ำยิ่งเป็นการเพิ่มกำแพงกันคลื่นหลาย ๆ รูปแบบที่เป็นโครงสร้างทางวิศวกรรม ทำร้ายชายหาดไม่รู้จบ ผศ.ดร. สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวเริ่มต้นวงเสวนา
แต่เมื่อเอางบประมาณ 800 ร้อยล้านบาทออกมากาง อาจารย์สมปรารถนา ชวนเรามองงบก้อนนี้ออกเป็นส่วนดำเนินการและงบศึกษา ส่วนดำเนินการคืองบที่เอาไปลงกับโครงการกำแพงกันคลื่นต่าง ๆ ซึ่งทำให้เห็นว่างบประมาณในส่วนนี้มีจำนวนสูงสุด ส่วนงบศึกษาก็จะเอาไปทำการศึกษาว่าส่วนไหนต้องมีการซ่อมแซมหรือเพิ่มเติมกำแพงกันคลื่นอีกบ้าง และจะตั้งงบประมาณเข้าสู่หน่วยงาน เพื่อของบดำเนินการในปีถัดไป ถึงจุดนี้อาจารย์สมปรารถนาชี้ให้เห็นว่านี่เป็นวิธีที่ไม่ทันการต่อการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง เพราะพลวัตรของชายหาดนั้นมีสูงเกินกว่าที่จะใช้เวลาข้ามปีในการจัดการ นี่จึงเป็นต้นเหตุของความผิดพลาดของหน่วยงานรัฐตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา หรือเฉพาะเจาะจงเท่าที่อาจารย์สมปรารถนาติดตามก็ล่วงระยะเวลากว่าสองทศวรรษ
สิ่งที่เราเห็นเด่นชัดที่สุดจากการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายหาดของรัฐ คือการเอาโครงสร้างทางวิศวกรรม ไม่ว่าจะเป็น กำแพงกันคลื่น เขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่งหรือรอดักทราย นี่เป็นโครงสร้างยอดฮิตที่หน่วยงานรัฐเลือกทำในการป้องกันชายฝั่ง แต่สิ่งเหล่านี้กลับไม่เคยแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้เลยตลอดระยะเวลาสองทศวรรษนี้ อาจารย์สมปรารถนาได้หยิบยกกรณีศึกษาให้เราเห็น ถึงหลายกรณี ว่าการแก้ไขการกัดเซาะชายฝั่งโดยวิธีนี้ จะยิ่งทำให้ชายหาดถูกกัดเซาะมากขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงยุคที่เราเรียกว่า “กำแพงกันคลื่นระบาด” ที่ปัจจุบันพบว่ากำแพงกันคลื่นปรากฏบนชายฝั่งอ่าวไทยแล้วเกือบ 200 กิโลเมตร
“ตามหลักวิทยาศาสตร์ คลื่นคือพลังงานอย่างหนึ่งที่ต้องการที่อยู่” กำแพงกันคลื่นคือสิ่งที่จำกัดการอยู่ของพลังงาน เพราะฉะนั้นคลื่นก็จะเคลื่อนตัวออกไปตามแนวกำแพงกันคลื่น และทำให้การกัดเซาะนั้นขยายวงต่อไป “ถ้ารัฐบอกว่าวิธีนี้คือการปกป้องชายหาด แต่ทำไมตลอดหลายปีที่ผ่านมาเราไม่ได้ชายหาดกลับคืนมาเลย”
“ผมจะพูดในสิ่งที่ผมอยากพูด ไม่ว่าพิธีกรจะถามอะไร” ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พูดติดตลกก่อนเริ่มลงเนื้อหาในส่วนของบทบาทและหน้าที่ที่ตัวเองสังกัด ในฐานะคนที่ทำงานด้านชายฝั่งมากว่าสามสิบปี อธิบดีฯบอกว่า สิ่งที่เรามีปัญหากันมาตลอดหลายสิบปี คือเรื่องของ HOW (ทำอย่างไร) ทั้ง ๆ ที่ทุกคนก็มีจุดประสงค์ไม่ต่างกัน แต่ต่างกันที่บริบทหน้าที่และข้อจำกัดของแต่ละคน วันนี้ฐานความรู้เรื่องการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งกว้างขึ้น มีการ OVERLAB กันมากขึ้น ไม่ใช่ว่าในอดีตนั้นทำผิดไป “แต่ความรู้ความเข้าใจในวันนั้นมีแค่นั้น” พวกเราที่อยู่ต่อในวันนี้ก็ต้องแก้ปัญหากันต่อ อธิบดีฯ เชื่อว่าวันนี้เรามาถูกทางแล้วและเราต้องเดินหน้าแก้ปัญหาต่อไป ซึ่งอธิบดีฯ ได้กล่าวว่าหลังจากนี้ ในฐานะที่ตัวเองเป็นหัวหน้าหน่วยและรับผิดชอบในส่วนงานโดยตรงก็กำลังผลักดันเพื่อสร้างชายหาดที่ยั่งยืน เช่น การผลักดันให้ทะเลไทยเป็น Blue Economy ที่ไม่ใช่เป็นทะเลที่สร้างรายได้ แต่ต้องเป็น Green Economy ที่ทำให้ทะเลไทยยั่งยืนด้วย
ส่วนที่สองคือการผลักดันองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในประเด็นของ Nature Base Solutions ให้ลึกลงไปตั้งแต่ระดับการศึกษา เพราะอธิบดีบอกว่าวันนี้ได้มีโอกาสไปดูหลักสูตรต่าง ๆ ก็เห็นข้อจำกัดที่ลดลงหรือแทบไม่มีข้อจำกัดเลย อย่างการเรียนข้ามคณะข้ามสาขา ให้ส่วนของวิศวะสามารถลงเรียนวิชาทางวิทยาศาสตร์ด้วย “เพราะถ้าหากมองเห็นว่าปัญหาของชายหาดมันเป็นพลวัตร ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงเชิงเดี่ยว” ก็จะทำให้เราเห็นวิธีการจัดการปัญหาได้ดีขึ้น จัดการปัญหาแบบชั่วคราว/ชั่วโคตรได้ง่ายขึ้นในทางนโยบาย
หรืออีกมิติที่สำคัญคือมิติทางกฎหมายที่ต้องจัดการแก้ไขกันต่อ ยกตัวอย่างเช่น ที่ดินที่ตกน้ำไปแล้วจะทำอย่างไร หรือถ้าเกิดสามารถฟื้นฟูที่ดินบางส่วนกลับมาได้แล้ว จะบริหารพื้นที่ตรงนี้ต่ออย่างไร “เป็นไปได้ไหมจะเปิดโอกาสให้เกิดการสัมปทาน หรือให้เอกชนเข้ามาดูแลจัดการโดยไม่ลดประโยชน์การใช้ของสาธารณะออกไป” อธิบดีฯ ยกตัวอย่างจากพื้นที่ชายหาดหน้าโรงแรมของเอกชน ก็จะเห็นว่าเอกชนดูแลจัดการในพื้นที่ในส่วนนั้นได้ดีกว่าภาครัฐเสียอีก หรืออีกปัญหาที่ถกเถียงกันอยู่คือเรื่องของภาษีที่ดิน ที่ตีความป่าชายเลนเป็นพื้นที่รกร้าง ในส่วนนี้จะเอาอย่างไร เพราะพื้นที่ป่าชายเลนเป็นที่เก็บน้ำ หากเรารุกป่าชายเลน ชายหาดก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย
ข้อถกเถียงต่อปัญหาการกัดเซาะชายหาดถูกพูดถึงมากขึ้นในรอบทศวรรษที่ผ่านมา เพราะสิ่งที่ชี้ชัดที่สุดคือจำนวนชายหาดของเราลดลง ในขณะที่งบประมาณการจัดการการกัดเซาะเพิ่มขึ้นมาตลอดสิบปี เราเห็นชายหาดชะอำกลายเป็นขั้นบันไดคอนกรีต เห็นหาดชายปราณบุรี กลายเป็นกำแพงยาวมากกว่า 5 กิโลเมตร หรือหาดมหาราชที่จังหวัดสงขลาที่เกิดการกัดเซาะเพียงแค่ร่องน้ำปล่อยน้ำทิ้ง
แต่รัฐเลือกใช้วิธีแก้แบบวางโครงสร้างทางวิศวกรรมแบบถาวร สิ่งเหล่านี้ อาจารย์สมปรารถนากล่าวด้วยความเจ็บปวดว่า “ความฉิบหายเหล่านี้ก็เกิดขึ้นจากเพื่อนร่วมอาชีพของดิฉัน ข่าวร้ายคือคนเหล่านี้ได้เติบโตเป็นใหญ่เป็นโตและมีอำนาจ ข่าวดีคืออีกไม่นานก็จะตายจากกันหมดแล้ว” ในวันนั้นชายหาดไทยอาจมีแนวโน้มที่ดีขึ้นก็ได้
กรณีที่เห็นชัดที่สุดคือกรณีของปากน้ำนาทับ จังหวัดสงขลา ที่สันทรายเคลื่อนตัวปิดบล็อกทางเข้าออกของเรือประมงชายฝั่ง แต่ในปี 2544 รัฐใช้วิธีสร้างรอดักทรายเพื่อป้องกันการปิดตัวของสันทรายหน้าปากน้ำ แต่ผลกระทบที่ตามมาคือเกิดการกัดเซาะขึ้นไปทางเหนือของรอดักทรายเพียง 800 เมตร ซึ่งนั่นหมายความว่ารัฐสามารถที่จะจำกัดขอบเขตพื้นที่และฟื้นฟูบริเวณของการกัดเซาะเพียงแค่ 800 เมตร แต่สิ่งที่รัฐเลือกกลับไม่ใช่เพียงแค่การป้องกันแค่ 800 เมตรนี้ ซึ่งอาจารย์สมปรารถนาชวนชี้ให้เราเห็นว่า ผลพวงจากการแก้ปัญหาการกัดเซาะด้วยกำแพงกันคลื่นเพื่อป้องกันการกัดเซาะแค่ 800 เมตร วันนี้กลับทำให้ชายหาดนาทับถึงตำบลบ่ออิฐ จังหวัดสงขลาเกือบ 10 กิโลเมตร ต้องเต็มไปด้วยกำแพงกันคลื่น เพราะการแก้ไขด้วยวิธีนี้จะทำให้เกิดการกัดเซาะออกไปเรื่อย ๆ ไม่รู้จบ
สิ่งที่อาจารย์สมปรารถนาเสนอในวงเสวนาว่า ขอให้ตัวเลข 535 เป็นตัวเลขที่พาชายหาดไทยกลับมาอยู่จุดที่ดีอีกครั้ง ซึ่งอาจารย์เสนอ 5 เลิก 3 รื้อ และ 5 เริ่ม
5 เลิก
เลิก รื้อหลังคาทั้งหลังเพราะกระเบื้องแผ่นเดียว คือเสนอให้รัฐเลือกสร้าง/ซ่อม เฉพาะส่วนที่จำเป็น ตรงไหนกัดเซาะก็แก้เฉพาะส่วนนั้น
เลิก ถามหา One Solution Fits to All เพราะชายหาดต่างกัน พลวัตรแต่ละที่ก็ต่างกัน
เลิก ใช้โครงสร้างแบบชั่วโคตร กับการกัดเซาะแบบชั่วคราว
เลิก สร้างโครงสร้างป้องกันออกไปเรื่อย ๆ
เลิก สร้างวาทกรรมการมีส่วนร่วมแบบพอเป็นพิธี
3 รื้อ
รื้อ นิยามแนวชายฝั่งและการกัดเซาะชายฝั่งให้ชัดเจน เป็นที่เข้าใจที่ตรงกันของทุกงานที่มีส่วนรับผิดชอบ
รื้อ โครงสร้างริมชายฝั่งที่ไม่จำเป็นออกทั้งหมด
รื้อ ระบบการจัดสรรงบประมาณ และกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นเป็นคนดูแลจัดการ
5 เริ่ม
เริ่ม กำหนดให้มีมาตรการถ่ายเททรายข้ามร่องน้ำ สำหรับร่องน้ำที่มีการสร้างเขื่อนกันทราย เพื่อลดการกัดเซาะตามปากแม่น้ำ
เริ่ม กำหนดระยะถอยร่นชายฝั่งทะเลอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันการรุกล้ำพื้นที่ชายหาดโดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ
เริ่ม แนวทางการบรรเทาทุกข์กรณีเร่งด่วนแบบชั่วคราว รื้อถอนออกเมื่อควรแก่เวลา วิธีนี้จะได้ไม่ต้องใช้โครงสร้างที่ชั่วโคตร
เริ่ม พิจารณามาตรการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งจากการปรับใช้โครงสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นลำดับแรก
เริ่ม ปรับแนวทางการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะ ทั้งเชิงวิทยาศาสตร์และรัฐศาสตร์ (Coastal erosion framework) ซึ่งอาจารย์มองถึงปลายทางของพระราชบัญญัติป้องกันการกัดเซาะชายหาดที่เราจำเป็นต้องมี
อาจารย์สมปรารถนาชี้ว่าแม้ก่อนหน้านี้เราจะบอกว่าวิธีแบบนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐที่อ้างข้อจำกัดแบบเดิม ๆ แม้องค์ความรู้ก่อนนี้นั้นเป็นอย่างที่อธิบดีปิ่นสักก์พูด แต่วันนี้เราเห็นแล้วว่ามันมีวิธีที่ดีกว่าในการแก้ไขปัญหา ถ้าหากผู้มีอำนาจ ผู้มีส่วนรับผิดชอบ “จะรับพิจารณาแนวทางเหล่านี้เอาไปปรับใช้ได้บ้างก็จะเป็นประโยชน์ต่อชายหาดไทย ไม่ใช่ดิฉัน”