อ่านประวัติศาสตร์และการเมืองไทยปี 2566 ผ่านหนังสือ 10 เล่ม - Decode
Reading Time: 4 minutes

ในความเคลื่อนไหว

รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ

ในช่วงปลายปีของทุกปี คอลัมน์ “ในความเคลื่อนไหว” พยายามจัดทำรายชื่อหนังสือที่ผู้เขียนคิดว่าเป็นหนังสือที่น่าสนใจในรอบปีเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และการเมืองไทย (ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ) ใครสนใจลองสืบค้นหารายชื่อหนังสือของปีก่อน ๆ ได้ สำหรับปี 2566 นี้ ต้องถือว่ามีหนังสือดี ๆ ตีพิมพ์ออกมามากมายหลายเล่มที่ฉายภาพความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและมรดกตกทอดจากอดีต ซึ่งทิ้งปมเงื่อนปัญหาไว้ในยุคสมัยปัจจุบันสอดคล้องการเมืองไทยในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยน (ไม่) ผ่านที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผัน ผิดคาด และยอกย้อน

ปีนี้เนื่องจากเป็นปีครบรอบ 50 ปี เหตุการณ์​การปฏิวัติ 14 ตุลาคม 2516 จึงมีหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของประชาชนครั้งประวัติศาสตร์นี้ออกมาหลายเล่ม

ในขณะที่หนังสือที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของกองทัพ และประวัติศาสตร์สยามช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนผ่านจากรัฐสมัยเก่าสู่รัฐชาติและความทันสมัยก็ถือเป็นธีมที่โดดเด่นของวงการหนังสือประวัติศาสตร์สังคมการเมืองในปีนี้

1.ข้างหลังภาพ 14 ตุลาฯ – บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

ขอเริ่มจากเล่มนี้ของบัณฑิต จันทร์โรจนกิจ ซึ่งเป็นหนังสือที่ออกมาได้จังหวะพอดีกับการรำลึก 5 ทศวรรษของการปฏิวัติประชาธิปไตยในปี 2516 เล่มนี้ถือว่าโดดเด่นและน่าสนใจอย่างยิ่งเนื่องจากเป็นการมองประวัติศาสตร์ 14 ตุลาฯ ผ่านเลนส์ใหม่ทางวิชาการ คือ นำเอากรอบการศึกษาที่เรียกว่าการเมืองทัศนา (visual politics) มาใช้วิเคราะห์ ความเคลื่อนไหวในอดีตทั้งฝ่ายนักศึกษาปัญญาชน ทหาร และตัวละครอื่น ๆ ในห้วงเวลานั้นถูกปลุกให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เมื่ออาจารย์บัณฑิตซึ่งสันทัดจัดเจนในการใช้มุมมองแบบการเมืองทัศนา ได้เพ่งมองไปที่นัยและความหมายที่อยู่เบื้องหลังภาพถ่าย งานศิลปะ พาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์รายวัน จดหมาย หน้าปกนิตยสาร ฯลฯ การใช้มุมมองใหม่เช่นนี้นับว่ามีคุณูปการต่อการศึกษาประวัติศาสตร์อย่างยิ่ง ตัวผู้เขียนเองก็เคยศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ มาก่อนโดยเน้นไปที่เอกสารที่เป็นหนังสือและวารสารโดยเพ่งมองไปที่การก่อตัวทางความคิดของนักศึกษาและปัญญาชน

แต่งานเรื่อง ข้างหลังภาพ 14 ตุลาฯ ชวนให้ผู้อ่านได้มองเห็นความสำคัญของสัญลักษณ์ อารมณ์ความรู้สึก ความทรงจำ และบรรยากาศของสังคมอย่างมีสีสันและชวนติดตาม

ในฐานะคนที่ยุยงและกระทุ้งให้อาจารย์บัณฑิตเขียนวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ผ่านมุมมองการเมืองทัศนามาเป็นระยะเวลานาน การได้เห็นงานชิ้นนี้คลอดออกมาสู่สาธารณะถือว่าน่าดีใจเป็นอย่างยิ่ง เหมาะสำหรับผู้อ่านที่อาจจะไม่คุ้นเคยกับประวัติศาสตร์ 14 ตุลาฯ มาก่อน ส่วนคนที่เคยรู้มาบ้างแล้ว ก็เชื่อว่างานชิ้นนี้จะช่วยเปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้ได้อย่างแน่นอน

2.เกิดมาขบถ – จรัล ดิษฐาอภิชัย

หนังสือแนวอัตชีวประวัติดี ๆ นั้นเป็นของหายากในสังคมไทย เพราะเราไม่มีวัฒนธรรมการเขียนเล่าความจริงอย่างตรงไปตรงมาและการวิพากษ์ตนเอง ฉะนั้นหนังสือชีวประวัติหรืออัตชีวประวัติของผู้มีชื่อเสียงในสังคมไทยมักจะมีลักษณะของการเป็นหนังสือยกย่องสดุดีคุณงามความดีของเจ้าของหนังสือเป็นหลัก จะมียกเว้นอยู่บ้างก็เพียงบางเล่ม เช่น หนังสืออัตชีวประวัติของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์

เรื่องเกิดมาขบถของจรัล ดิษฐาอภิชัย เป็นหนังสืออัตชีวประวัติที่น่าอ่าน เพราะบอกเล่าถึงการเติบโต การเดินทาง และการต่อสู้ทางการเมืองอย่างตรงไปตรงมาและออกรส บันทึกทั้งแง่มุมที่สวยงาม สำเร็จ และผิดพลาด บอกเล่าด้วยน้ำเสียงที่ซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา สิ่งที่น่าทึ่งและพิเศษเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้คือ มันไม่เพียงเป็นบันทึกชีวิตของบุคคลสาธารณะคนหนึ่งที่อ่านสนุก แต่มันยังเป็นเสมือนบันทึกชีวประวัติของการเมืองไทยผ่านสายตาของผู้เขียน ซึ่งมีชีวิตอันโลดโผน มีสีสัน เพราะเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์มากมาย ตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ในยุคแสวงหาก่อน 14 ตุลาฯ การเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย การรอดชีวิตมาจากการสังหารหมู่ 6 ตุลาฯ ผ่านมาสู่บทบาทการเป็นนักเรียนที่ไปผจญภัยต่างแดน นักวิชาการ มาจนถึงการสวมบทบาทคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งต้องหลุดจากตำแหน่งไปในสงครามเสื้อสี มาจนจบที่ช่วงปัจจุบันของชีวิตในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองหลังการรัฐประหารของ พล.อ.ประยุทธ์และพรรคพวก ชีวิตที่ผกผันระหกระเหินของจรัลก็เปรียบเสมือนเส้นทางเดินของประชาธิปไตยไทยที่เต็มไปด้วยขวากหนามและวกวน

หนังสือเล่มนี้เต็มไปด้วยเกร็ดประวัติศาสตร์บอกเล่าที่ไม่เคยเปิดเผยที่ใดมาก่อน คุ้มค่าและคู่ควรแก่การอ่าน

3.กำศรวลพระยาศรี – ณเพ็ชรภูมิ

หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2539 สถานะของมันคือบันทึกความทรงจำที่ผู้เขียนบอกเล่าถึงบิดาตนเอง ที่น่าสนใจและต้องนำมาแนะนำในคอลัมน์นี้ก็เพราะ ผู้เขียนมิใช่บุคคลธรรมดา แต่คือ แพทย์หญิงโชติศรี ท่าราบ (ณเพ็ชรภูมิ คือ นามปากกา) ซึ่งเป็นลูกสาวของพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) แม่ทัพแห่ง “คณะกู้บ้านกู้เมือง” หรือที่รู้จักกันในนามกบฏบวรเดช สำทับด้วยเชิงอรรถเพิ่มเติมที่ทำให้บันทึกเล่มนี้มีความสำคัญยิ่งขึ้นเป็นพิเศษและคู่ควรแก่การอ่านใน พ.ศ. นี้ ก็คือ พระยาศรีสิทธิสงคราม เป็นศักดิ์เป็นตาของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี คนปัจจุบัน

บันทึกเล่มนี้ถ่ายทอดข้อมูลบอกเล่าทางประวัติศาสตร์มากมายเกี่ยวกับการเมืองไทยในช่วงหลังการปฏิวัติ 2475 ของคณะราษฎร ผ่านมุมมองของผู้เขียนซึ่งถูกตราหน้าว่าเป็น “ลูกกบฏ” ในมุมหนึ่ง เราสามารถอ่านหนังสือเล่มนี้ในฐานะบันทึกชีวิตส่วนตัวที่ลูกสาวเขียนถึงพ่อ ได้สัมผัสถึงแง่มุมชีวิตส่วนตัวและ อุปนิสัยของพระยาศรีสิทธิสงคราม ความบอบช้ำและความสูญเสียของครอบครัวหนึ่งจากความขัดแย้งทางการเมือง และสงครามกลางเมืองครั้งแรกของสยามหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่หากเราอ่านมันในอีกมุมหนึ่ง หนังสือเล่มนี้มีสถานะเป็นวรรณกรรมการเมืองที่พยายามเล่าประวัติศาสตร์การเมืองไทยในยุคเบื้องแรกประชาธิปไตยจากมุมมองของฝ่ายอนุรักษนิยม/รอยัลลิสต์ที่ขับเคี่ยวต่อสู้กับฝ่ายคณะราษฎร โดยมีระบอบการปกครองและชีวิตเป็นเดิมพัน หนังสือเล่มนี้ควรอ่านควบคู่ไปกับวรรณกรรมการเมืองในกลุ่มเดียวกันอีกหลายเล่ม ที่เขียนโดยอดีตนักโทษจากคดีกบฏบวรเดช ที่เรียกขานว่าเป็นพวกน้ำเงินแท้ เช่นเรื่อง “ยุคทมิฬ” ของ พายัพ โรจนวิภาต “เมื่อข้าพเจ้าก่อการกบฏ” ของหลวงโหมรอนราญ และงานชุดไตรภาค “ฝันจริงของข้าพเจ้า” “ฝันร้ายของข้าพเจ้า” และ “10,000 ไมล์ของข้าพเจ้า” ของพระยาศราภัยพิพัฒ เป็นต้น วรรณกรรมการเมืองเหล่านี้ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำหลายครั้งและมีส่วนในการสร้างความรับรู้ของสาธารณชนต่อการปฏิวัติ 2475 และคณะราษฎร (ในฐานะผู้ร้ายทางประวัติศาสตร์)

ในยุคปัจจุบันที่มีความพยายามทำลายความทรงจำของสาธารณะเกี่ยวกับคณะราษฎร และมีการรื้อฟื้นภาพลักษณ์และความทรงจำใหม่ในด้านบวกให้กับกบฏบวรเดช (กระทั่งมีชื่อตึกอย่างเป็นทางการในกองทัพไทย) การอ่านหนังสือเล่มนี้จึงไม่ใช่การอ่านอดีตที่จบไปแล้ว แต่คือส่วนหนึ่งของสมรภูมิทางการเมืองของความทรงจำในปัจจุบัน

4.เนื้อในระบอบถนอม – ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

เล่มนี้คือ หนังสือเกี่ยวกับการเมืองทหารไทยในยุค 1 ทศวรรษก่อน 14 ตุลาฯ ที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีการศึกษามา ช่วงรัฐบาลถนอม กิตติขจร เป็นช่วงตอนที่ขาดหายไปในการศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทย ทั้งที่เป็นยุคที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง คอหนังสืออาจจะคุ้นเคยกับหนังสือ “การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ” ของทักษ์ เฉลิมเตียรณ ซึ่งเป็นงานคลาสสิกที่ศึกษาการขึ้นสู่อำนาจและการครองอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้อื้อฉาว หลังจากสฤษดิ์จบชีวิตลงอย่างกะทันหันหลังอยู่ในอำนาจเพียง 5 ปี อำนาจถูกส่งต่อให้ลูกน้องที่เราเชื่อกันว่าเป็น “ทายาททางการเมือง” นั่นก็คือ ถนอมที่มีภาพลักษณ์เป็น “นายพลคนซื่อ” หนังสือเล่มนี้ซึ่งมาจากการศึกษาค้นคว้าอย่างยาวนานและละเอียดเจาะลึกของธำรงศักดิ์ ทำให้เราต้องหันมามองการเมืองยุคนั้นด้วยสายตาใหม่ งานชิ้นนี้ทำให้เห็นว่า “ระบอบสฤษดิ์” กับ “ระบอบถนอม” ไม่ได้ต่อเนื่องกันอย่างแนบสนิท ถนอมขึ้นสู่อำนาจด้วยปัจจัยหลายประการและมีการช่วงชิงอำนาจกันในกลุ่มทหาร และถนอมก็ไม่ใช่นายกผู้ใช้อำนาจแบบละมุนอย่างภาพจำในอดีต

ที่ผมคิดว่าน่าสนใจและเป็นคุณูปการสำคัญของงานชิ้นนี้คือ การวิเคราะห์กลวิธีการครองอำนาจของระบอบถนอมว่ามีความพยายามผนวกรวมและดัดแปลงสถาบันทางการเมืองแบบประชาธิปไตย เช่น รัฐธรรมนูญ รัฐสภา พรรคการเมือง (ที่คุมโดยทหาร) และการเลือกตั้ง ให้กลายมาเป็นเครื่องมือรักษาและสืบทอดอำนาจของระบอบเผด็จการได้อย่างไร อ่านแล้วทำให้เข้าใจการเมืองไทยในยุคสมัยของเราแจ่มชัดยิ่งขึ้น บทที่ว่าด้วยจุดจบของระบอบถนอมนั้นยิ่งพลาดไม่ได้ เพราะผู้เขียนนำเสนอให้เห็นว่าพลังที่กดดันให้เผด็จการทหารต้องลงจากอำนาจ คือ สิ่งที่เรียกว่า “ราชประชาสมาสัย” ซึ่งจะกลายมาเป็นแนวคิดครอบงำของการเมืองไทยหลังจากนั้นเป็นต้นมา ในวันที่ระบอบถนอมถึงจุดจบ ระบอบอำนาจแบบใหม่ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นในสังคมไทย ในแง่นี้งานของธำรงศักดิ์คือ การศึกษารอยตัดของยุคสมัยที่สำคัญอย่างยิ่ง

5.เจ้าทรัพย์: บทวิพากษ์เศรษฐกิจการเมืองไทยร่วมสมัย – ปวงชน อุนจะนำ

สิ่งที่ขาดหายไปในวงวิชาการไทยในระยะหลัง คือ การใช้กรอบวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์การเมืองมาศึกษาสังคมการเมืองไทย หนังสือรวมบทความของปวงชนเล่มนี้จึงน่าชื่นชมและน่าอ่านเป็นพิเศษ ผู้เขียนเป็นนักวิชาการรุ่นใหม่ที่ผลิตผลงานคุณภาพไว้ก่อนหน้านี้ในเรื่อง “ทุนนิยมเจ้า” (ฉบับภาษาอังกฤษ Royal Capitalism: Wealth, Class, and Monarchy in Thailand ได้รับรางวัลระดับนานาชาติจากสมาคมวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) บทความที่นำมารวมเล่มในงานชิ้นนี้วิเคราะห์และวิพากษ์ประเด็นปัญหาใจกลางของการเมืองไทยอย่างแหลมคม และทำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครอันหลากหลายที่มีส่วนในการผลิตและค้ำจุนโครงสร้างอำนาจที่ไม่เท่าเทียมในสังคมไทย สถาบันกษัตริย์ – กองทัพ – กลุ่มทุนผูกขาด – นักการเมือง

งานชิ้นนี้ช่วยย้ำเตือนและชี้ให้เห็นว่าที่รากฐานของประชาธิปไตยที่ล้มลุกคลุกคลานในสังคมไทยนั้น มาจากโครงสร้างเศรษฐกิจแบบผูกขาด การเมืองแบบคณาธิปไตย และอุดมการณ์จารีตที่ถูกผลิตซ้ำผ่านการสื่อสารสมัยใหม่เพื่อรักษาการเมืองแบบคณาธิปไตย

ใครชอบแนวเศรษฐศาสตร์การเมืองแบบเข้ม ๆ แนะนำว่าไม่ควรพลาด ยิ่งอ่านเล่มนี้คู่กับเล่ม เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง ที่เน้นวิเคราะห์ในมุมการเมืองวัฒนธรรม จะเป็นการต่อภาพใหญ่ที่ครบถ้วนสมบูรณ์จากอดีตถึงปัจจุบัน

6.เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง – เมาริตซิโอ เปเลจจี แปลโดย วริศา กิตติคุณเสรี

หนังสือเล่มนี้แปลมาจาก งานวิชาการภาษาอังกฤษเรื่อง Lords of Things: The Fashioning of the Siamese Monarchy’s Modern Image ซึ่งตีพิมพ์ออกมาตั้งแต่ปี 2545 เมื่อแรกออกมาก็สร้างความฮือฮาและตื่นเต้นในแวดวงวิชาการด้านไทยศึกษา เพราะเปิดมุมมองใหม่หลายประการเกี่ยวกับยุคสมัยของรัชกาลที่ 5 และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ภาวะสมัยใหม่ของสยาม แม้จะล่าช้ามานานทีเดียวกว่าที่งานชิ้นนี้จะถูกนำมาถ่ายทอดสู่ภาษาไทยให้ผู้อ่านชาวไทยได้สัมผัส แต่ก็เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ผลงานแปลชิ้นนี้ ซึ่งต้องขอชื่นชมสำนวนภาษาอันไหลรื่น การตรวจทานต้นฉบับอย่างละเอียดและเชิงอรรถเพิ่มเติมจำนวนมาก รวมถึงภาพประกอบที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง กระทั่งอาจกล่าวได้ว่าต้นฉบับภาษาไทยนี้มีความสมบูรณ์กว่าฉบับภาษาอังกฤษเสียอีก

การศึกษาสังคมการเมืองช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นมีมาเนิ่นนานแล้ว แต่ส่วนใหญ่ศึกษาภายใต้กรอบ “ปิยมหาราช” ที่เป็นงานสดุดีความสำเร็จในการสร้างรัฐสมัยใหม่และนำประเทศรอดพ้นจากภัยอาณานิคมภายใต้พระปรีชาสามารถ แต่งานศึกษาของเมาริตซิโอ เปเลจจี ใช้แนวทางแบบวัฒนธรรมศึกษาเชิงวิพากษ์ วิเคราะห์เจาะลึกกระบวนการสร้างอัตลักษณ์และภาพลักษณ์ของกษัตริย์สยามในยุคที่กำลังเผชิญกับลัทธิล่าอาณานิคม ซึ่งไม่เพียงคุกคามอำนาจเหนือดินแดนของผู้ปกครองสยาม แต่ยังสั่นคลอนตัวตนและฐานความชอบธรรมของการปกครองแบบโบราณราชประเพณีอย่างถึงแก่น

ในแง่นี้ ท่ามกลางการปะทะระหว่างโลกเก่าและใหม่ ระหว่างความศิวิไลซ์แบบตะวันตกและราชประเพณี กษัตริย์สยามปรับภาพลักษณ์และสร้างตัวตนใหม่ของตนขึ้นมาด้วยการหันไปโอบรับความทันสมัยแบบตะวันตกผ่านการบริโภคสินค้าทางวัฒนธรรมไล่เรียงตั้งแต่ กล้องถ่ายรูป ภาพเขียนและภาพถ่ายบุคคล แฟชั่นการแต่งกาย วัฒนธรรมและมารยาทบนโต๊ะอาหาร การเดินทางท่องเที่ยว งานเลี้ยงโอ่อ่า ซุ้มประตูตระการตา อนุสาวรีย์ ประติมากรรม สถาปัตยกรรม และสิ่งก่อสร้างสมัยใหม่ ซึ่งการสร้างภาพลักษณ์ดังกล่าวนี้ มิได้เป็นเพียงเรื่องของการรับวัฒนธรรม แต่มีมิติของการเมืองเรื่องอำนาจอย่างลึกซึ้ง ทั้งการสื่อสารต่อมหาอำนาจภายนอกที่เดิมมองว่าสยามป่าเถื่อนล้าหลัง และการจัดวางสถานะของอำนาจในสังคมไทยระหว่างกษัตริย์ ขุนนางและพสกนิกรในยุคของการเปลี่ยนผ่าน

เป็นหนังสือที่เปิดหูเปิดตา และน่าตื่นเต้น

7.นิธิ เอียวศรีวงศ์ กับตาข่ายแห่งความทรงจำและนิยามประชาธิปไตย – สายชล สัตยานุรักษ์

ปี 2566 สังคมไทยสูญเสียปัญญาชนสาธารณะคนสำคัญและนักประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของยุคสมัย นั่นคือ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ผู้ซึ่งฝากผลงานทางปัญญาไว้มากมายมหาศาลต่อสังคมไทยทั้งในรูปแบบบทความขนาดสั้น ขนาดยาว และงานวิชาการเล่มหนาที่เป็นผลมาจากการค้นคว้าตลอดชีวิตตั้งแต่สมัยทศวรรษ 2500 คนรุ่นใหม่อาจจะไม่คุ้นเคยกับตัวตนและผลงานของนิธิ เอียวศรีวงศ์ มากนัก แต่สำหรับคนรุ่นผู้เขียน ชื่อนิธิ เอียวศรีวงศ์ คือ แรงบันดาลใจที่ทำให้คนจำนวนมากหันมาสนใจศึกษาประวัติศาสตร์ เพราะอาจารย์นิธิทำให้การสำรวจตรวจสอบอดีตเป็นกิจกรรมทางปัญญาที่น่าตื่นตาตื่นใจ ประวัติศาสตร์ในมือของนิธิ ไม่เคยน่าเบื่อหรือเป็นยากล่อมประสาท แต่ถูกทำให้มีชีวิต มีเลือดเนื้อ และมีอรรถรส อดีต ปัจจุบัน และอนาคต คือ ห่วงโซ่ของปฏิสัมพันธ์ของปัจจัยต่าง ๆ ที่มาปะทะสังสรรค์กันอย่างซับซ้อน และที่สำคัญ การเพ่งมองย้อนกาลเวลาของนิธินั้นมีมนุษย์เป็นใจกลางของท้องเรื่องเสมอ มนุษย์ที่มีรัก โลภ โกรธ หลง มีความใฝ่ฝัน มีอุดมคติ มีความกล้าหาญ มีความขี้ขลาด และเห็นแก่ตัว มนุษย์ถูกมองอย่างมนุษย์ที่เป็นจริงภายใต้เงื่อนไขของยุคสมัยที่แวดล้อมพวกเขา

หนังสือเล่มนี้ของอาจารย์สายชลคือ การศึกษาผลงานและกระบวนการสร้างความรู้ของอาจารย์นิธิ ที่ละเอียดและเป็นระบบที่สุด อ่านงานชิ้นนี้ไม่เพียงได้รู้จักอาจารย์นิธิมากขึ้น แต่ได้อ่านประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาสมัยใหม่ของไทย เพราะผู้เขียนจัดวางความคิดและงานของนิธิในบริบทของการถกเถียงทางความคิดและอุดมการณ์ระหว่างฝ่ายซ้าย ฝ่ายอนุรักษนิยม และเสรีนิยมประชาธิปไตย ระหว่างปัญญาชนฝ่ายชนชั้นนำและฝ่ายก้าวหน้า อ่านงานชิ้นนี้จบผู้อ่านจะตระหนักว่าคำต่าง ๆ ที่ใช้กันแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็น ชาติ ประชาธิปไตย รัฐ วัฒนธรรม ความทันสมัย บารมี ศักดินา ประเพณี ชนชั้นนำ ความเป็นไทย มิใช่คำที่มีความหมายหยุดนิ่งตายตัว แต่ถูกช่วงชิงความหมายจากฝ่ายต่าง ๆ รวมถึงความรู้ประวัติศาสตร์ด้วย และนิธิ เอียวศรีวงศ์ คือ หนึ่งในคนที่สร้างบทสนทนาเกี่ยวกับความหมายของมโนทัศน์เหล่านี้ที่สำคัญที่สุดในยุคสมัยของเรา   

8. สยามโมเดิร์นเกิร์ล – ภาวิณี บุนนาค

เล่มนี้เป็นประวัติศาสตร์สังคมชั้นดี ข้อมูลแน่น อ่านสนุก เพลิดเพลิน ผู้เขียนเคยฝากฝีมือไว้แล้วในหนังสือ เรื่อง รักนวลสงวนสิทธิ์ ที่เจาะลึกเรื่องราวของแนวคิดและการต่อสู้เพื่อสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านยุคสมัย มาในเล่มนี้ซึ่งพัฒนามาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกระดับรางวัลจากธรรมศาสตร์ เจาะลึกไปที่การความเป็นผู้หญิงสมัยใหม่ในช่วงที่สังคมกำลังเปลี่ยนจากยุครัฐจารีตสู่รัฐสมัยใหม่ที่มาพร้อมกับความทันสมัย และการปรับเปลี่ยนบทบาทของคนในสังคมและชนชั้นต่าง ๆ งานของภาวิณีมุ่งทำความเข้าใจการก่อตัวของความเป็นสาวสมัยใหม่นี้ผ่านกลุ่มที่น่าสนใจ คือ ผู้หญิงที่เข้าสู่วิชาชีพพยาบาลแบบมืออาชีพ อันเป็นผลมาจากการจัดตั้งโรงเรียนหญิงแพทย์ผดุงครรภ์และการพยาบาลไข้ อันเป็นโรงเรียนพยาบาลแห่งแรกของไทย ในปี 2439

เราได้เห็นประเด็นเรื่องตัวตนและบทบาทของผู้หญิงในอาชีพ พื้นที่ และความเป็นรัฐแบบใหม่ ซึ่งทั้งหล่อหลอมตัวตนและคาดหวังความเป็นผู้หญิงแบบใหม่ไปพร้อมกัน การเข้าสู่ภาวะทันสมัยและการเปลี่ยนผ่านของรัฐไทยในช่วงรัชกาลที่ 5 จึงไม่ได้ส่งผลต่อชนชั้นนำเท่านั้น แต่ส่งผลต่อคนในวงกว้าง รวมถึงบทบาทและตัวตนของผู้หญิง นับว่าเป็นงานที่สำคัญในการเปิดมุมมองการศึกษาประวัติศาสตร์ผู้หญิงในทิศทางใหม่ ๆ ควรจะมีงานศึกษาเช่นนี้ออกมาอีกเรื่อย ๆ   

9. ทหารกับประชาธิปไตยไทย: จาก 14 ตุลาฯ สู่ปัจจุบันและอนาคต – สุรชาติ บำรุงสุข

ชื่ออาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข ไม่เคยทำให้ผิดหวังในประเด็นเรื่องกองทัพกับการเมืองไทย สิ่งที่น่าประหลาดอย่างหนึ่งคือ ในสังคมไทยซึ่งถูกเรียกขานว่าเป็นหนึ่งในดินแดนแห่งการรัฐประหารของโลก และเป็นประเทศที่กองทัพยังคงมีอิทธิพลอย่างสำคัญต่อทิศทางการเมือง เรากลับมางานศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับกองทัพน้อยอย่างยิ่งจนน่าใจหาย องค์ความรู้ของสังคมไทยเกี่ยวกับบทบาท ความคิด และผลกระทบของการที่ทหารเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองมีอย่างกระท่อนกระแท่นและขาดวิ่น จึงนับว่าน่าดีใจที่มีการนำผลงานชิ้นสำคัญเล่มนี้กลับมาตีพิมพ์ใหม่ ผู้เขียนซึ่งคร่ำหวอดกับการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับพลเรือนและประชาธิปไตยมาทั้งชีวิต พาเราย้อนกลับไปทำความเข้าใจบทบาทของกองทัพตั้งแต่ยุคสงครามเย็น มาถึงยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ และหลังจากนั้นจวบจนปัจจุบัน

ความพยายามตอบคำถามว่าเหตุใดกองทัพจึงต้องการเข้ามามีบทบาททางการเมืองยังเป็นคำถามสำคัญที่ไม่ล้าสมัย โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่วาระเรื่องการปฏิรูปกองทัพเป็นวาระสำคัญที่สาธารณชนจับตามองและให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่าปราศจากการปฏิรูปกองทัพ ก็ยากที่ประชาธิปไตยไทยจะตั้งมั่น หนังสือเล่มนี้จึงเป็นหนังสือพื้นฐานที่สำคัญที่ทุกคนควรอ่าน โดยเฉพาะผู้นำกองทัพและผู้นำรัฐบาลปัจจุบัน

10. ยุคสมัยและกษัตริย์อย่างใหม่ในพระราชพิธีสิบสองเดือน – บรรณาธิการโดย คงสัจจา สุวรรณเพ็ชร

มาถึงเล่มสุดท้าย ซึ่งเนื้อหามีความเกี่ยวพันกับเล่ม เจ้าชีวิต เจ้าสรรพสิ่ง และมีประเด็นที่เกาะเกี่ยวอยู่กับธีมสำคัญว่าด้วยการเปลี่ยนผ่านของสังคมไทยจากรัฐจารีตไปสู่รัฐสมัยใหม่ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5 โดยรวมศูนย์ไปที่เอกสารชิ้นสำคัญทางประวัติศาสตร์ คือ บทพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือน ที่นิพนธ์โดยรัชกาลที่ 5 (เว้นแต่บทความของพิชญา สุ่มจินดา ที่เน้นศึกษาตัวจิตรกรรมฝาผนัง ที่เป็นเรื่องราวพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือน ที่วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร และวัดเสนาสนารามราชวรวิหาร อยุธยา)

หนังสือเล่มนี้ประกอบไปด้วยเนื้อหาหลัก 4 บท คือ “ยุคสมัยอย่างใหม่และกษัตริย์อย่างใหม่ในพระราชพิธีสิบสองเดือน” โดยธงชัย วินิจจะกูล “พระราชพิธีสิบสองเดือน: อรรถาธิบายแห่งความศิวิไลซ์และการจัดระเบียบจักรวาลวิทยาแบบสมัยใหม่ในพระราชพิธีของสยาม” โดยอาทิตย์ ศรีจันทร์ “โลกการเมืองในพระราชพิธีสิบสองเดือน” โดยวิภัส เลิศรัตนรังสี และ “สภาวะเหลียวหลังแลหน้าในจิตรกรรมพระราชพิธีสิบสองเดือน” โดยพิชญา สุ่มจินดา ผู้เขียนทั้งสี่คนใช้เอกสารและจิตรกรรมฝาผนังเป็นวัตถุหลักฐานของการตีความประวัติศาสตร์ว่างานเขียนของรัชกาลที่ 5 นั้นสะท้อนสำนึกใหม่ทางประวัติศาสตร์ สะท้อนบริบทของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐ สะท้อนความเข้าใจที่กษัตริย์มีต่อสถานะและฐานความชอบธรรมทางอำนาจแบบใหม่ของตน และยังมีมิติของการแฝงนัยทางการเมืองของการช่วงชิงอำนาจระหว่างกษัตริย์กับขุนนาง ในช่วงของการสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่กษัตริย์รวบอำนาจและกระชับอำนาจเข้าสู่ตนเองอย่างสูงสุดเด็ดขาดโดยไม่เคยปรากฏมาก่อน พระราชพิธีสิบสองเดือนจึงไม่ใช่เพียงงานเขียนชิ้นหนึ่งที่รัชกาลที่ 5 เขียนขึ้นเพื่อเล่าประเพณีโบราณ แต่คืองานเขียนที่สะท้อนการเปลี่ยนยุคสมัยและการก่อตัวของความคิดใหม่

ไม่รู้ว่าเป็นเหตุบังเอิญหรือไม่ แต่น่าสนใจไม่น้อยว่าประเด็นการเปลี่ยนผ่านยุคสมัย การเปลี่ยนรูปแบบรัฐ การปรับตัวของชนชั้นนำ การก่อตัวของกระแสความคิดและจิตสำนึกใหม่กลายเป็นประเด็นที่โดดเด่นของหนังสือแนวการเมืองและประวัติศาสตร์หลายเล่มในปี 2566 นี้ หากไม่ใช่ความบังเอิญ ปรากฏการณ์นี้ก็คงสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกร่วมของยุคสมัยที่ผู้คนพากันมีความสนใจใคร่รู้ต่ออดีต ตั้งคำถามต่อสภาวะการเปลี่ยน(ไม่)ผ่านในปัจจุบัน กระทั่งมีความวิตกกังวลต่อทิศทางของสังคมไทยในอนาคต

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี