18 ชม. หนังชีวิตคนกองถ่าย “ส่งงานมาก่อน เดี๋ยวสัญญาส่งไปทีหลัง” - Decode
Reading Time: 3 minutes

ปกติชั่วโมงการทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวันหรือตามแต่ตกลงกัน และไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ขณะที่ชั่วโมงการทำงานในกองถ่ายกินเวลาถึง 12 -18 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น แม้ต้องตื่นไปกองถ่ายเป็นกลุ่มแรก แต่ต้องกลับเป็นกลุ่มสุดท้ายคือชีวิตวนลูปของสายงานนี้ ผลกระทบด้านสุขภาพจึงเป็นด่านแรกที่หลายคนเผชิญ และต้องรับสภาพกับไม่มีประกันในชีวิตคนทำงานกองถ่ายหรือมาตรฐานความปลอดภัยที่คุ้มครองพวกเขาทั้งจากอุบัติเหตุหรือสุขภาพของคนในกองถ่าย ภายใต้รูปแบบของการจ้างงานส่วนใหญ่เป็นฟรีแลนซ์ด้วยแล้วยิ่งทำให้เกิดความไม่แน่นอน บ้างก็ถูกยกเลิกงาน บ้างก็โดนเบี้ยวเงิน ซึ่งเป็นผลมาจากสัญญาไม่เป็นธรรมในการจ้างงาน

De/code พูดคุยกับ ภาส พัฒนกำจร หนึ่งในสมาชิกสหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย (CUT) ที่ทำงานและเคลื่อนไหวเกี่ยวกับแรงงานสร้างสรรค์ เช่น นักเขียน นักวาด ทีมงานในกองถ่าย เป็นต้น มีประสบการณ์ตรงกับการเป็นผู้กำกับและคนเขียนบท บอกเล่าสภาพปัญหาคนทำงานในกองถ่าย ทั้งจากชั่วโมงการทำงาน การคุ้มครองอุบัติเหตุ และสัญญาจ้างที่ไม่เป็นธรรมต่าง ๆ ที่ทำให้พวกเขาแม้จะทำงานหนัก แต่ก็ไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพอย่างที่ควรจะเป็น และในอีกด้านของ เลอสรร นาถาพันธ์ ในฐานะ First Assistant Director ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำงานด้านภาพยนตร์ในกองถ่ายต่างประเทศ ซึ่งมีมาตรฐานชั่วโมงการทำงาน การคุ้มครองอุบัติเหตุ และสัญญาจ้างที่แตกต่างออกไปจากกองถ่ายประเทศไทยเพื่อเทียบเคียงและนำไปสู่การหาทางออกที่ดีที่สุด

ชีวิตแลกชีวิตของแรงงานในกองถ่าย

โดยปกติกองถ่ายภาพยนตร์ 1 คิวคือ 12 ชั่วโมง และก็ต้องทำ OT ต่อเกือบ 20 ชั่วโมงในบางที แทบไม่มีการพัก ทำให้ส่งผลกระทบทั้งในเรื่องสุขภาพ ที่ต้องตื่นมาทำงานเป็นกิจวัตรแบบนี้ติดต่อกันจนปิดกองถ่าย

ภาส เล่าถึงผลกระทบด้านสุขภาพจากการทำงานเกินชั่วโมงมาตรฐาน จนหลายครั้งนอนไม่หลับ อาชีพเหล่านี้มักต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ทำให้กระทบต่องานด้วย และพอนอนน้อยเพราะนอนไม่หลับมันก็จะส่งผลให้ป่วยง่ายแบบที่กล่าวไปแล้วครับ ซึ่งงานออกกองถ่ายก็จะยิ่งพักผ่อนน้อยกว่าเพราะต้องทำงาน 12 – 20 ชั่วโมง แล้วแต่กองแล้วแต่วัน รวมเวลาเดินทางอีก 1 – 2 ชั่วโมง อีก ถ้าออกกองติด ๆ กันจะยิ่งส่งผลทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้าสะสม จนล้มป่วยในที่สุด

ในระยะเวลาการทำงานดังกล่าวเกินมาตรฐานสากลที่ต้องพัก 12 ชั่วโมง หลังจากถ่ายครบ 12 ชั่วโมงแล้ว จึงจะเรียกนัดทีมงานทำงานต่อตามมาตรฐานของ The Screen Actors Guild: SAG ที่กองถ่ายทั่วโลกปฏิบัติกัน แม้ว่าพวกเขาจะได้รับ OT แต่การที่ต้องทำงานติดต่อกันหลายชั่วโมงก็ได้ส่งผลกระทบหลายอย่าง และเมื่อเกิดอุบัติเหตุ พวกเขาก็แทบไม่ได้รับความคุ้มครองอะไรเลย เพราะด้วยสถานะแรงงานอิสระและมาตรฐานการทำงานด้านความปลอดภัยที่อาจไม่ได้มาตรฐาน

“กองถ่ายต่างประเทศมีเวลาพักอย่างน้อย 12 ชั่วโมง ซึ่งมันเป็นมาตรฐานการทำงานของเขา ซึ่งการทำงานเกินเวลาพักไม่ใช่เรื่องน่าภูมิใจ มันไม่ควรนำเรื่องนี้มาสร้างค่านิยมการทำงานแบบผิด ๆ และนำมาเพื่อโปรโมทหนัง แต่ก็เข้าใจว่าแต่ละกองถ่ายจะมีสถานการณ์และงบประมาณที่ต่างกัน แต่หากทำได้ก็จะเป็นมาตรฐานการทำงานของกองถ่ายในอนาคตด้วย”

เลอสรร กล่าว

นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบถึงคุณภาพของงานด้วย กว่าจะได้งานที่ต้องการหลายครั้งก็มักต้องทำงานเกินเวลาซึ่งหลายครั้งโปรดิวเซอร์เลือกที่จะลากยาวมากกว่าจะเลิกกองแล้วเปิดคิวใหม่ ด้วยปัญหาต่าง ๆ เช่น ต้องปิดโลเคชันนี้แล้วกลับมาถ่ายไม่ได้ หรือดาราไม่มีคิวให้ เป็นต้น ดังนั้นหลายครั้งมันเลยต้องลากยาวเกือบจะ 24 ชั่วโมง ทีมงานก็ย่อมเหนื่อยล้าแทบจะหมดพลัง ซึ่งก็มาจากปัญหาก็อาจมาจากทุนสร้างที่ได้จากนายทุนน้อยเกินกว่าจะสามารถเปิดคิวถ่ายได้หลายคิวและมีเวลาค่อย ๆ ปั้นโดยที่ไม่ต้องทำงานหนักมากในแต่ละวัน ทำให้งานที่ออกมาก็เต็มไปด้วยความกระชั้นชิดจนทำให้ผลงานที่ออกมาไม่ดีเท่าที่ควร และยังส่งผลถึงความปลอดภัยของทีมงานในกองถ่ายด้วย

ความปลอดภัยจำกัดมุมมองแค่ 180 องศา

“สมัยก่อนจะมีประกันกองถ่าย แต่ตอนนี้ไม่ค่อยมี ยกเว้นกองใหญ่หรือกองถ่ายต่างประเทศ พอเกิดอุบัติเหตุทีมงานก็ทำได้แค่ส่งโรงพยาบาล เพราะทางฝั่งนายทุนและโปรดิวเซอร์เขาต้องการตัดงบให้คุ้มที่สุด ช่วงหลัง ๆ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก็สูงขึ้น เขาเลยตัดสินใจที่จะตัดงบค่าแรงหรือค่าใช้จ่ายด้านความปลอดภัยแทน” 

ภาส กล่าว

ในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยในกองถ่าย โดยเก่ง อดีตอาร์ตไดเรคเตอร์ประจำกองถ่ายทำภาพยนตร์ได้บอกเล่าถึงมาตรฐานความปลอดภัยในกองถ่ายตัวอย่างเช่น เคยไปถ่ายทำที่แม่น้ำแห่งหนึ่งในไทย โดยในระหว่างที่นักแสดงกำลังแสดงขณะอยู่ในแม่น้ำ กลับมีเซฟตี้เพียงแค่ท่อนไม้ไผ่อันเดียวให้เกาะ ทั้งที่ในความเป็นจริงควรมีทีมนักดำน้ำที่ประกบข้าง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้ 

โดยเสกสรรได้เล่าถึงเรื่องความปลอดภัยในกองถ่ายต่างประเทศว่า “บางกองถ่ายในต่างประเทศ จะมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (Safety Officer) ที่จะมาคอยดูแลความปลอดภัยในกองถ่ายด้วย เพราะเวลาทีมงานในกองถ่ายทำงาน มุมมองจะอยู่เพียงแค่ 180 องศาโฟกัสอยู่ที่บล็อคกิ้งของตัวเอง ซึ่งอาจไม่ได้ระวังว่าพื้นที่นั้นว่ามีความอันตรายอย่างไรอย่างถี่ถ้วน ทำให้เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ก็มามีบทบาทเพื่อสังเกตถึงอันตรายและป้องกันได้ทันก่อนที่จะเกิดความเสียหายในอีก 180 องศาข้างหลังที่ทีมงานอาจนึกไม่ถึง”

ในฉากที่มีความสุ่มเสี่ยงก็มีความจำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่ช่วยดูแลด้านสุขภาพหรืออุบัติเหตุของคนในกอง ในกองถ่ายต่างประเทศมักจะมีการบรีฟเรื่องความปลอดภัยก่อนเริ่มถ่าย ซึ่งจะทำให้คนที่เป็นพยาบาลหรือผู้เชี่ยวชาญ สามารถเตรียมยาหรือการรักษาได้ เพราะในช่วงเวลาที่มีความเกี่ยวข้องกับชีวิต การช้าเพียงไม่กี่นาทีอาจส่งผลถึงชีวิตได้ ทำให้การที่จะแค่เรียกพยาบาลมาดูแลอาจไม่เพียงพอ แต่ต้องมีการบรีฟฉากและอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อให้พยาบาลสามารถเตรียมของได้อย่างทันท่วงที รวมถึงการลงน้ำของนักแสดงที่จะต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางน้ำที่ดูแลความปลอดภัยด้วยเช่นกัน ไม่ใช่เพียงแค่หวังให้ไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น แต่ควรมีแนวทางป้องกันตั้งแต่แรก

นอกจากการมีผู้เชี่ยวชาญแล้ว ถ้ามีประกันกองถ่ายก็จะทำให้สามารถครอบคลุมค่ารักษาหรือค่าเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต โดยในกองถ่ายต่างประเทศก็มักจะมีการซื้อประกันกองถ่ายไว้ เพื่อให้ประกันสามารถรับผิดชอบค่าเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้ ทำให้นายทุนเองก็ไม่ต้องมารับผิดชอบค่าเสียหายทีหลัง และยังส่งผลต่อภาพลักษณ์ของกองถ่ายที่ดีด้วย แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ ทำให้หลายกองถ่ายในไทย อาจไม่สามารถมีประกันกองถ่ายได้ โดยเสกสรรได้เสนอว่าอาจจะลดขนาดโปรดักชั่นให้น้อยลง แล้วไปเพิ่มงบด้านความปลอดภัยให้เป็นมาตรฐาน เพราะความปลอดภัยเองก็ส่งผลกระทบต่องานด้วย เช่น หากมีทีมงานคนหนึ่งได้รับอุบัติเหตุจากในกองถ่ายจนไม่สามารถทำงานได้ ทำให้ต้องหาคนทำงานใหม่ จนเกิดปัญหาความไม่ต่อเนื่องของงาน และผลที่ตามมาก็ทำให้ผลงานออกมาไม่ดีตามที่คาดหวังไว้

สัญญาไม่มา งานจะเกิดไหม?

ทีมงานกองถ่ายมักเป็นแรงงานอิสระ และหลายครั้งก็ไม่มีการทำสัญญาการทำงานกับนายจ้าง โดยนายจ้างก็มักจะใช้ความไว้เนื้อเชื่อใจ เช่น “งานด่วน ส่งงานมาก่อน เดี๋ยวสัญญาส่งไปทีหลัง” ทำให้ก็มีแค่สัญญาเพียงวาจา ซึ่งสุดท้ายก็อาจโดนเลิกจ้างหรือเบี้ยวเงิน

โดยภาสก็เคยมีประสบการณ์การโดนละเมิดสิทธิ์ในการทำงาน “เราเคยเขียนบท แล้วเขาจะคิดราคาต่อตอน แต่ขั้นตอนการเขียนบทมันมีมากกว่าแค่บทภาพยนตร์ ตัวอย่างของเรา คือ ตอนนั้นเรากำลังเขียนบทภาพยนตร์อยู่ แต่จู่ ๆ นายจ้างก็เลิกจ้างเรา ทั้งที่ตัวสัญญาการทำงานยังทำให้ไม่เสร็จ ก็เลยยังไม่ได้เซ็นสัญญา แต่นายจ้างก็จ่ายให้ทุกตอนที่เป็นบทภาพยนตร์แล้ว ซึ่งก็คือแค่ 4 ตอน แต่เราทำโครงเรื่องย่อขยายไปกว่า 20 ตอน และเราก็แทบเรียกร้องอะไรไม่ได้เลย เพราะไม่มีสัญญามายืนยัน”

เสกสรรได้พูดถึงเคสดังกล่าวว่า “ในต่างประเทศมันจะไม่เกิดเคสแบบนี้ เพราะถ้าสัญญาไม่เซ็น งานไม่เริ่ม เพราะในสัญญาการทำงานมันจะมีเวลาจ่ายเงินและรายละเอียดการทำงานต่าง ๆ ต่อให้ถูกละเมิดสัญญาก็สามารถไปใช้สิทธิ์ตามกฎหมายได้ รวมถึงเรื่องการจ่ายด้วย ที่ต่างประเทศมักจะไม่จ่ายช้า เพราะมันมีผลกระทบด้านงบประมาณด้วย ถ้าจ่ายช้าก็จะทำให้เป็นการหมุนเงิน มากกว่าการจ่ายตามงบประมาณ ทำให้งบก็อาจยิ่งบานปลาย อีกทั้งกำไรที่เหลืออาจน้อยลงด้วย”

การทำสัญญาก็มีความจำเป็นที่ต้องอ่านรายละเอียดให้ครบถ้วน และหากติดขัดตรงไหนก็ควรให้เขาแก้ไขสัญญาไป แต่หลายครั้งการทำสัญญาก็อาจไม่ถูกแก้ไขตามที่เราต้องการ ทำให้อาจต้องมีหน่วยงานที่มากำหนดมาตรฐานการทำงานและช่วยกำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เช่น สหภาพแรงงาน

ฝันที่อยากไปให้ถึง ‘สหภาพแรงงาน’

จุดเริ่มต้นของภารในสหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย (CUT) โดยในช่วงโควิดที่หลายคนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ได้รับผลกระทบ รวมถึงเขาที่อยู่ในวงการภาพยนตร์ ทำให้เกิดการรวมตัวของกลุ่มคนทำงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้งนักเขียน นักแสดง นักดนตรี โดยมีสาเหตุมาจากช่วงโควิดคนกลุ่มนี้มักเป็นแรงงานอิสระ ทำให้ไม่มีสวัสดิการรองรับ เช่น ประกันสังคม จึงทำให้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนปัญหาของแต่ละสายงานที่มีทั้งจุดร่วมและจุดต่าง เพื่อหาทางช่วยเหลือกันเอง 

แต่ก็เป็นที่น่าเศร้าที่สหภาพแรงงานดังกล่าว ไม่สามารถเป็นสหภาพแรงงานอย่างเป็นทางการได้ เพราะ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 อนุญาตให้แรงงานตั้งสหภาพได้แค่สองแบบ คือ สหภาพแรงงานนายจ้างคนเดียวกัน และสหภาพแรงงานประเภทกิจการเดียวกัน แต่ยังไม่มีสหภาพแรงงานทั่วไป แบบที่สามารถข้ามอุตสาหกรรมแบบได้ ทำให้ CUT จึงไม่ได้ตั้งตามกฎหมาย และไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายด้วยเช่นกัน อย่างที่สหภาพแรงงานจะได้รับ เช่น อำนาจในการยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้างหรือคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์

ถึงปลายทางจะเป็นเรื่องการแก้กฎหมายเกี่ยวกับการรวมตัวของลูกจ้างที่ไม่ได้มีนายจ้างคนเดียวกัน เพื่อสร้างสหภาพแรงงานสร้างสรรค์ขึ้นมาแบบถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเป็นงานระยะยาว แต่ในช่วงต้น ๆ ก็ต้องรวมตัวแรงงานสร้างสรรค์ให้เป็นเครือข่ายที่แน่นหนา อย่างทางฝั่งภาพยนตร์นั้นก็จะต้องไปสร้างเครือข่ายแยกย่อยตามตำแหน่งและความชำนาญทางวิชาชีพให้ออกมาเป็นกลุ่ม เช่น สมาคมนักตัดต่อ สมาคมนักแสดง หรือสมาคมนักเขียนบทที่ผมพยายามก่อตั้งอยู่ขณะนี้ เมื่อสมาคมแต่ละสมาคมในอุตสาหกรรมนี้แข็งแรงก็จะมาร่วมกับ CUT ในการขับเคลื่อนในภาพที่กว้างขึ้นต่อ ๆ ไป ซึ่งจริง ๆ มันก็จะมีงานคู่ขนานไปตลอดทั้ง CUT และกลุ่มแรงงานในอุตสาหกรรมกองถ่ายทั้งภาพยนตร์หรือซีรีส์” ภาส กล่าวทิ้งท้าย