After Play เกมจบคนไม่จบ
แดนไท สุขกำเนิด
ภายใต้สังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ผู้เล่นที่มีจุดเริ่มต้นมาจากหลากระดับฐานะต่างพยายามแข่งขันกันหารายได้และสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้แก่ครอบครัวของตนเอง อย่างไรก็ดีเส้นทางชีวิตก็ใช่ว่าจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ การต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่ไม่คาดคิดก็อาจทำให้การหาเลี้ยงครอบครัวต้องหยุดชะงักลง สำหรับคนที่มีทุนทรัพย์เรื่องเล็กน้อยเหล่านี้ก็สามารถป้องกันได้ด้วยการซื้อประกัน คำถามคือ แล้วคนที่เหลือหล่ะ จะทำอย่างไรดี?
สวัสดิการ แลดูจะเป็นกุญแจสำคัญสำหรับปัญหานี้ แต่เราจะปรับใช้มันอย่างไรดี ใครบ้างที่ควรต้องจ่ายภาษี ใครบ้างที่ควรได้รับสวัสดิการ เราควรมองสวัสดิการเป็นทางเลือกหรือปัจจัยพื้นฐานของสังคม และที่สำคัญ เราทุกคนจะเติบโตได้ด้วยสวัสดิการจริงหรือ? คำถามที่ค่อนข้างสมจริงนี้เป็นจุดเริ่มต้นของเกม The Welfare – ปฏิทรรศน์รัฐสวัสดิการ โดยนักออกแบบ เดชรัต สุขกำเนิด และ แดนไท สุขกำเนิด (เราเอง เย่!) เกมนี้เล่นได้ตั้งแต่ 10 คนถึง 30 คน โดยจะแบ่งเป็น 10 กลุ่ม หรือที่เรียกว่า “ครัวเรือน” ระยะเวลาในการเล่นประมาณ 1 ชั่วโมง แต่กระนั้นก็มักจะตามมาด้วยบทสนทนาสะท้อนภาพสังคมของผู้เล่นและนักออกแบบอีกไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมงในทุก ๆ ครั้ง
แม้ว่าเป้าหมายของผู้เล่นแต่ละคนคือการแข่งขันทางเศรษฐกิจ – มีเงินมากที่สุดตอนจบเกม – แต่หัวใจสำคัญของเกมนี้อยู่ที่การเล่นทั้งสามรอบในเกม โดยแต่ละรอบจะมีกติกาที่แตกต่างกันออกไปเพื่อจำลองระบบสวัสดิการในแบบต่าง ๆ ตั้งแต่ไม่มีรัฐสวัสดิการใด ๆ จนถึงการที่ให้ผู้เล่นได้ลองออกแบบสวัสดิการของประเทศด้วยตนเอง เพื่อให้เห็นผลกระทบของสวัสดิการแบบต่าง ๆ ต่อแต่ละชนชั้นในสังคม และกลับมาตอบคำถามว่าเราต้องการสวัสดิการแบบไหนอย่างไรกันแน่
พื้นฐานของความเท่ากันและไม่เท่ากัน
แต่ก่อนจะไปที่คำตอบนั้น เราต้องเริ่มจากการย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นของเกมนี้ นั่นคือครัวเรือนทั้งสิบ สิ่งที่ทุกครัวเรือนมีไม่ต่างกันคือสิ่งที่เรียกว่ากองการ์ดชีวิต ในการ์ดกองนี้ประกอบด้วยการ์ดหลัก ๆ สองประเภท นั่นคือการ์ดรายได้และการ์ดความเสี่ยง การ์ดรายได้คือการ์ดที่จะสร้างรายได้ให้ผู้เล่นตามจำนวนเงินที่เขียนบนการ์ดไล่ตั้งแต่ 1~5 เหรียญ ฉะนั้นการ์ดเหล่านี้คือสิ่งที่ผู้เล่นทุกคนหวังจะเปิดเจอเพื่อให้ฐานะทางเศรษฐกิจของครัวเรือนตนเองสูงขึ้น ในขณะที่การ์ดความเสี่ยงเป็นการ์ดที่ต้องหลีกเลี่ยงเนื่องจากจะต้องเสียค่าใช้จ่ายและเสียโอกาสในการหารายได้
การ์ดกองนี้เป็นอุปกรณ์หลักสำหรับการดำเนินเกม ในทุก ๆ รอบ ผู้เล่นแต่ละครัวเรือนจะค่อย ๆ สุ่มเปิดการ์ดจากกองนี้ทีละใบ หากเปิดมาแล้วเจอการ์ดรายได้ก็ดีไปได้เงินและได้ทำงานต่อ แต่หากเปิดเจอการ์ดความเสี่ยงใบใดใบหนึ่งก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายตามการ์ดความเสี่ยง แต่ที่แย่ไปกว่านั้นคือการที่จะอดเปิดการ์ดในรอบนั้น ๆ โดยทันที แปลว่าเมื่อเจอความเสี่ยงแล้วก็จะไม่สามารถหารายได้ได้อีกต่อไป แต่ถ้าไม่อยากเสี่ยงก็สามารถเลือกหยุดทำงานด้วยตัวเองได้ก่อนจะเจอความเสี่ยง โดยจะยังได้เงินตามการ์ดรายได้ที่เปิดมาแล้วจนถึงใบล่าสุดโดยไม่ต้องเสียเงินค่าความเสี่ยง
กองการ์ดชีวิตคือสิ่งที่ทุกผู้เล่นทุกครัวเรือนมีเหมือนกัน ไม่ว่าจะรวยหรือจน ความน่าจะเป็นที่จะเปิดการ์ดรายได้ 5 เหรียญ หรือเปิดการ์ดความเสี่ยงตกงานก็เหมือนกัน ถ้าจะสรุปง่าย ๆ จะเรียกว่าไม่มีความเหลื่อมล้ำทางโอกาสก็ว่าได้ แต่สิ่งที่ทั้งสิบครัวเรือนนั้นมีต่างกันนั้นคือขนาดของกองมรดกที่เป็นทุนทรัพย์ตอนเริ่มเกม
เงินตั้งต้นต่างกันขนาดไหน? ต่างกันขนาดที่ว่าครัวเรือนที่จนที่สุดมีเงินแค่ 10 เหรียญ ในขณะที่ครัวเรือนที่รวยที่สุดนั้นมีเงินเริ่มต้นถึง 100 เหรียญ หรือ 10 กว่าเท่า! ถ้าอธิบายให้ละเอียดขึ้นอีกหน่อย ใน 10 ครัวเรือนนี้ เราแบ่งเป็น 5 กลุ่มที่มีชื่อเรียกทางภาษาเศรษฐศาสตร์ว่า Quintiles โดย Quintile ที่หนึ่ง หรือ Q1 นั้นคือ 20% ของครัวเรือนที่จนที่สุด มีทุนตั้งต้นเพียง 10 เหรียญ ขยับมาอีก 20% เป็นกลุ่ม Q2 มีทุนเริ่มต้น 20 เหรียญ ต่อมา Q3 มี 30 เหรียญ Q4 มี 50 เหรียญ และ Q5 หรือกลุ่มที่รวยที่สุดซึ่งมี 100 เหรียญเป็นทุนเดิม จะเห็นว่าความแตกต่างทางทุนทรัพย์ นั้นไม่ได้ค่อย ๆ ไต่ระดับเป็นขั้น ๆ เพราะคนส่วนใหญ่ (80%) นั้นมีเงินน้อยกว่าครึ่งของครัวเรือนที่รวยที่สุดด้วยซ้ำ |
จำนวนเงินเริ่มต้นที่ต่างกัน 10 เท่าอาจจะมากก็จริง แต่ถ้าเปิดกองการ์ดชีวิตแล้วดวงไม่ดีนั้นก็อาจจะทำให้เศรษฐีกลายเป็นยาจกได้อยู่ดี แต่สิ่งที่ทำให้เกมเปลี่ยนเล็กน้อย (จริง ๆ ก็เปลี่ยนเยอะเลยทีเดียว) ก็คือในรอบที่ 1 ก่อนการเปิดการ์ดชีวิต ผู้เล่นทุกคนมีสิทธิที่จะซื้อประกันเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ เนื่องจากความเสี่ยงในเกมมี 4 ประเภท ตัวเลือกประกันจึงมีสี่แบบเช่นกัน โดยแต่ละประกันก็มีค่าใช้จ่ายแยกกันไป ตัวอย่างเช่น ประกันการเลิกจ้าง มีค่าใช้จ่าย 10 เหรียญ เพื่อป้องกันการตกงานที่จะทำให้ต้องหยุดเล่นและเสีย 15 เหรียญ หรือเงินสำรองเลี้ยงชีพผู้สูงอายุ ค่าใช้จ่าย 5 เหรียญ เพื่อป้องกันการหยุดเล่นและเสีย 10 เหรียญ เป็นต้น สรุปก็คือถ้าจะซื้อประกันทุกอย่างต้องมีเงินอย่างน้อย 35 เหรียญ
พูดถึงความเสี่ยงในกองการ์ดชีวิต ความเสี่ยงนั้นจะประกอบด้วยความเสี่ยง 4 ประเภทได้แก่ ป่วย 2 ใบ ถ้าเจอต้องเสียเงิน 20 เหรียญตกงาน 1 ใบ ถ้าเจอต้องเสียเงิน 15 เหรียญผู้สูงอายุไม่มีรายได้ 1 ใบ ถ้าเจอต้องเสียเงิน 10 เหรียญเด็กเล็กพัฒนาการช้า 1 ใบ ถ้าเจอต้องเสียเงิน 10 เหรียญ จะเห็นได้ว่าความเสี่ยงที่เราเลือกมาใส่ในเกมนี้ไม่ได้มีแค่ความเสี่ยงของที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน แต่ยังมีความเสี่ยงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตและครอบครัวอีกด้วย เพราะความเสี่ยงเหล่านี้ก็มีผลต่อความสามารถในการหารายได้ของครอบครัวเหมือนกัน ตัวอย่างเช่นในชีวิตจริง ถ้าผู้สูงอายุในบ้านเกิดป่วยติดเตียงขึ้นมา ไม่ใช่แค่การขาดคนที่หารายได้ 1 คน แต่ยังหมายถึงการที่ คนในครอบครัวอาจต้องออกจากงานมาดูแลหรือต้องจ้างผู้ดูแล ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ความเสี่ยงเหล่านี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ และก็ไม่ใช่ความผิดของครอบครัวที่โชคร้ายแต่อย่างใด แต่คำถามคือจะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้ยังมีคุณภาพชีวิตที่ดีแม้อาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่คาดไม่ถึง |
ความมั่งคั่งและโอกาส
ถ้าเราย้อนไปดูมรดกตั้งต้น ของกลุ่มที่รวยที่สุด Q5 ก็จะเห็นได้ว่าเงินสำหรับค่าประกันนั้นถือเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก แต่สำหรับกลุ่มคนที่จนที่สุด Q1 การซื้อประกันสักอย่างเป็นเรื่องใหญ่ เพราะผู้เล่นมีกำลังซื้อเพียงประกันเดียว แต่ไม่รู้ว่าชีวิตจะนำความเสี่ยงไหนมาเผชิญก่อน ถ้าโชคร้ายเจอความเสี่ยงที่ไม่ได้ป้องกันก็เหมือนต้องเสียเงินสองทางจากทั้งประกันและความเสี่ยง ในขณะที่ครัวเรือนที่มีเพียบพร้อมด้วยประกันสามารถหารายได้ ๆ ไปได้เรื่อย ๆ แต่กลุ่มผู้มีทุนตั้งต้นน้อยกลับต้องหยุดการทำงานตั้งแต่ยังไม่ถึงครึ่งกองการ์ด
จะเห็นได้ว่าเราเริ่มเกมนี้จากความเหลื่อมล้ำทางความมั่งคั่งเพียงอย่างเดียวเท่านั้น นั่นคือผู้เล่นแต่ละครัวเรือนมีความตั้งต้นไม่เท่ากัน แต่นั่นนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงประกันและความเหลื่อมล้ำทางโอกาสต่อมา เพราะจำนวนการ์ดที่ผู้เล่นแต่ละครัวเรือนจะเปิดได้ (และรายได้ที่ตามมา) นั้นขึ้นกับความหลากหลายของประกันที่มี ท้ายที่สุดรายได้ที่ต่างกันก็ทำให้เกิดการถ่างความแตกต่างของความมั่งคั่งหรือจำนวนเงินสุทธิที่มีในตอนจบรอบที่ 1 ไปอีกทอด
ตัวอย่าง ๆ เริ่มทำงานด้วยการเปิดการ์ดใบแรกมาได้ 2 เหรียญ ยังไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ เลยเปิดใบถัดไปได้ 1 เหรียญ ใบถัดไปได้ 5 เหรียญ ไปอีกสักหน่อยได้ 2 เหรียญอีกแล้ว คิดว่าถ้าทำงานต่ออีกสักหน่อยน่าจะไม่มีปัญหาอะไร เพิ่งเปิดมาแค่ 4 ใบเอง เปิดใบที่ห้ามาเจอการ์ดความเสี่ยง ‘ป่วย’ ! โชคดีว่าซื้อประกันไว้แล้ว เลยไม่โดนอะไรเปิดใบถัดไปได้ 4 เหรียญ ยังไม่ค่อยพอใจเลยเปิดใบถัดไปดันเจอความเสี่ยง ‘เด็กเล็กพัฒนาการช้า’ ที่ไม่ได้ซื้อประกันไว้ เลยต้องหยุดการเล่น โดยสรุปในรอบนี้หารายได้ไป 14 เหรียญ เสียค่าใช้จ่ายกับการ์ดความเสี่ยงไป 10 เหรียญ ยังถือว่ามีฐานะดีมากขึ้นเล็กน้อย แต่ถ้าเหตุการณ์เดียวกันนี้เกิดขึ้นกับครัวเรือนที่มาจาก Q1 ที่ไม่ได้มีเงินพอจะซื้อประกันสุขภาพ (หรืออาจจะเลือกไปซื้อประกันอย่างอื่นแทน) ครัวเรือนนั้นก็จะต้องหยุดเล่นตั้งแต่ใบที่ 5 เสียเงินไปกับค่ารักษา 20 เหรียญ แต่มีรายได้แค่ 10 เหรียญ นั่นหมายถึงต้องเสียเงินเริ่มต้นไปทั้งหมดด้วย ยิ่งเล่นกลับยิ่งจนลง กลับกันถ้าครัวเรือนที่เจอเหตุการณ์นี้มาจาก Q5 ถึงจะไม่ซื้อประกันอะไรเลย ก็ยังมีเงินเหลือตั้ง 90 จาก 100 เหรียญตั้งต้น จะเริ่มรอบถัดไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นในรอบก่อนหน้าก็ทำได้ แต่โดยปกติแล้วครัวเรือนจาก Q5 ก็มักจะซื้อประกันเต็มที่อยู่แล้ว ฉะนั้นแทนที่จะจบรอบด้วยการเจอความเสี่ยง ‘เด็กเล็กพัฒนาการช้า’ ก็ย่อมหารายได้ได้มากกว่า 14 เหรียญ |
ในชีวิตจริง หัวใจสำคัญหนึ่งของการหลุดพ้นจากกับดักความยากจนนั่นคือการศึกษา ในทางหนึ่งการศึกษาก็เป็นสิ่งที่มีต้นทุนสูง แต่ในทางกลับกันการศึกษาก็นำไปสู่โอกาสในการมีรายได้ที่สูงมากยิ่งขึ้น เพื่อจำลองสิ่งนี้ในเกม เราจึงมี “การคูณสอง” ซึ่งเป็นการ์ดประเภทสุดท้ายในกองการ์ดชีวิตของทุกคน โดยจะมีกองละสองใบ ความสามารถของการ์ดใบนี้ก็คือ เมื่อเปิดเจอ (ใบใดใบหนึ่ง) รายได้เมื่อจบรอบนั้นก็จะทวีคูณเป็นสองเท่าทันที ไม่ว่าจะเลือกหยุดเองหรือจะเปิดเจอความเสี่ยงก็ตาม อย่างไรก็ดี ก่อนจะใช้ความสามารถนี้ได้ ผู้เล่นต้องจ่ายเงินกว่า 20 เหรียญ (1 ใน 5 ของเงินเริ่มต้นของคนที่รวยที่สุดเลย!) เพื่อจะได้เข้าถึงการศึกษาก่อน ถ้าไม่มีการศึกษา การ์ดใบนี้ก็เหมือนเป็นการ์ดเปล่า ไม่มีผล ไม่สร้างรายได้แต่อย่างใด
ในการเล่นหลาย ๆ รอบการตัดสินใจลงทุนเพื่อการศึกษาเป็นการตัดสินใจที่ไม่ง่ายเสียเลย เพราะการมีการศึกษาจะทำให้มีโอกาสสูงมากที่จะเลื่อนฐานะทางเศรษฐกิจ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายในรอบเดียว แต่สำหรับครัวเรือนที่เริ่มต้นด้วยกำลังทรัพย์ไม่มาก การจ่ายเงินก้อนใหญ่ไปกับการศึกษาในรอบแรกนั้นหมายถึงการที่ไม่สามารถซื้อเกราะป้องกันความเสี่ยงใด ๆ เลยในชีวิต และถ้าเจอความเสี่ยงก่อนการ์ดคูณสอง การลงทุนกับการศึกษาก็จะเสียเปล่าและยังต้องเริ่มต้นรอบที่สองด้วยทุนทรัพย์ที่อาจร่อยหรอลงกว่าเดิมอีกด้วย ภายในหนึ่งรอบเกม เราได้เห็นเรื่องราวความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยฉบับย่อไป เราเริ่มจากการสำรวจต้นตอของความเหลื่อมล้ำกันไปแล้ว จากจุดเริ่มต้นของมรดกที่ต่างกัน ก็นำไปสู่ความแตกต่างทางเลือกในชีวิต (ซื้อประกัน) ซึ่งนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางโอกาสและความเหลื่อมล้ำทางทรัพย์สินอีกทอด แค่เพียงความน่าจะเป็นเล็ก ๆ น้อย ๆ ความเหลื่อมล้ำกลับยิ่งทวีคูณขึ้นจากเดิม คนรวยยิ่งรวยขึ้น คนจนยิ่งจนลง แต่นี่เป็นเพียงบทนำของเกม The Welfare เท่านั้น ในอีกสองรอบถัดไปต่างหากที่เป็นจุดท้าทายของเกม ผู้เล่นต้องหาทางหลุดจากความยากจนและลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำผ่านการสำรวจสิ่งที่เรียกว่า ‘สวัสดิการ’ ผ่านมุมมองและการประยุกต์ใช้ที่หลากหลาย เพื่อมาออกแบบสวัสดิการของประชาชนอย่างแท้จริง