“เขามาบอกว่ามีเพื่อนชื่อนี้ เป็นเพื่อนสนิทในโรงเรียน เวลาผ่านไปเทอมนึงก็เลยไปเช็ค แต่ครูบอกว่าที่โรงเรียนไม่มีเด็กคนนี้ เด็กคนนี้ไม่มีตัวตน เขาสร้างขึ้นมาเอง แสดงว่าลูกอยู่โรงเรียนนี้ลูกไม่มีเพื่อน เลยสร้างจินตการของตัวเอง ว่าตัวเองมีเพื่อน”
เสียงสะท้อนของ พ่ออุ๋ย-ศุภากร ขัติยะ ในห้วงเวลาที่หัวใจของเขาแทบสลาย จากความคาดหวัง ที่มีต่อโรงเรียนขนาดใหญ่ ที่พรั่งพร้อมไปด้วยทรัพยากรมนุษย์เต็มห้องเรียน แต่กลับไม่มีใครสัก คนที่สามารถเป็นเพื่อนกับลูกเขาได้
พ่ออุ๋ยเป็นคุณพ่อของ ออมทรัพย์ เด็กชายวัย 12 ปี ซึ่งปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนบ้านหัวเวียงเหนือ ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กในจังหวัดน่าน มีเด็กทั้ง 35 คนตั้งแต่ชั้น อนุบาลถึงประถมศึกษา ครูราชการ 2 คน ครูตามโครงการ 4-6 คน และรักษาการณ์ผู้อำนวยการ
แต่ก่อนที่เขาจะมาลงเอยที่โรงเรียนขนาดเล็กแห่งนี้ พ่ออุ๋ยเคยพาออมทรัพย์ไปเรียนทั้งในโรงเรียน ระดับเทศบาลสองแห่ง และเอกชนอีกหนึ่งแห่ง ด้วยสถานะทางครอบครัวที่ค่อนข้างดี ทำให้พ่ออุ๋ย สามารถเลือกโรงเรียนได้หลากหลาย ที่ตอบโจทย์ความต้องการที่ว่า ‘โรงเรียนขนาดใหญ่ มีความ ปลอดภัย การแข่งขันที่สูง จะทำให้ลูกชายของเขาเป็นคนเก่ง’
“ทุกๆ ครั้งที่ครูโทรมา ผวาเลย เพราะมีเรื่องตลอด วันนี้ออมทรัพย์ทำแบบนี้ วันนี้ชกกับน้องปอสาม มีเรื่องกับปอสี่ ไม่ตั้งใจเรียน ครูด่าออมทรัพย์เดินหนีครูเลย บางทีไม่พอใจหิ้วกระเป๋าออกจากโรงเรียนเลย พ่อก็จะเครียดตลอด”
แต่การเข้าเรียนที่โรงเรียนขนาดใหญ่กลับไม่เป็นดั่งที่ตั้งใจไว้ ในช่วงปลายของประถมต้นขึ้นประถม ปลาย ออมทรัพย์เริ่มมีภาวะไม่อยากไปโรงเรียน ขอพ่ออุ๋ยหยุดเรียนบ้าง ขอลาป่วยบ้าง แต่พ่ออุ๋ยก็ คิดว่าเป็นข้ออ้างปกติของเด็กวัยนี้ หลายครั้งที่ความไม่เข้าใจกันเล็ก ๆ ลุกลามกลายเป็นปัญหาภาย ในครอบครัว “พ่อก็บังคับตลอดว่าไม่ได้ต้องไป เพราะเราก็ไม่รู้ว่าลูกไม่มีความสุข เพราะลูกไม่ ได้เล่าให้เราฟังทุกอย่าง บางครั้งก็ต้องตีน้อง”
จนพ่ออุ๋ยรับรู้ถึงการมีอยู่ของเพื่อนในจินตนาการของออมทรัพย์ และรับรู้ว่าลูกชายของเขานั้นไม่มี เพื่อนเลย ออมทรัพย์เล่าให้พ่ออุ๋ยฟังว่า เขามักจะโดนกลั่นแกล้งจากเพื่อนร่วมชั้น เพราะเขาเป็น คนที่มีความมั่นใจในตนเองสูงและมีภาวะสมาธิสั้น ทำให้เขามักจะเข้ากับเพื่อนในชั้นเรียนไม่ได้ ลุกลามไปถึงขั้นทะเลาะวิวาท หลายครั้งเขาลงมือหนักกว่าเพื่อนด้วยนิสัยที่ไม่ยอมคนของเขา
แม้เวลาจะผ่านไป แต่สถานการณ์ก็ไม่อาจถูกแก้ไขได้ ผู้อำนวยการโรงเรียนจึงแนะนำพ่ออุ๋ยให้พา ออมทรัพย์ไปเรียนที่โรงเรียนประจำต่างอำเภอ แต่หัวอกคนเป็นพ่อก็ยากจะทำใจพาลูกไปเรียนที่ ห่างไกล ยิ่งลูกชายกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากทั้งกายและหัวใจ จึงตัดสินจะให้ลูกเรียน ที่บ้าน (Home School)
“ก่อนย้ายโรงเรียน ครูก็แนะนำให้ไปพบจิตแพทย์เถอะ พ่อก็พาไปตามคำแนะนำของครู เพราะพ่อก็อยากให้น้องเรียนที่โรงเรียนนั้น แต่หมอก็บอกว่าไม่มีอะไร เขาก็เป็นไปตามวัย”
แต่ต้นทุนของการเรียนโฮมสคูลนั้นมหาศาลมาก พ่ออุ๋ยเป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยวที่นอกจากออมทรัพย์ ยังมีลูกสาววัยอนุบาลอีกหนึ่งคนที่ต้องดูแล ทั้งงานประจำของพ่ออุ๋ยที่อยู่ในราชการ ทำให้หาก จะพาลูกเรียนโฮมสคูล พ่ออุ๋ยต้องจัดสรรไทม์ไลน์ชีวิตในแต่ละวันของตนเองอย่างหนัก
พ่ออุ๋ยจึงปรึกษากับศึกษานิเทศก์ และพาออมทรัพย์เข้าเรียนที่โรงเรียนบ้านหัวเวียงเหนือ จ.น่าน โรงเรียนขนาดเล็กในเครือของสพฐ. ซึ่งอยู่ในชุมชนเดียวกับบ้านของพ่ออุ๋ยและออมทรัพย์ และอยู่ห่าง จากบ้านเพียงสามถึงสี่กิโลเมตรเท่านั้น
แน่นอนว่าภาพจำของโรงเรียนขนาดเล็กก็ยังปรากฏขึ้นในใจของพ่ออุ๋ย ความกังวลต่อคุณภาพการ ศึกษาที่อาจไม่ดีพร้อมเหมือนโรงเรียนขนาดใหญ่ การแข่งขันที่ไม่เข้มข้นมากพอ กระทั่งสภาพแวด ล้อมในโรงเรียนที่อาจเต็มไปด้วยเด็กจากครอบครัวที่ยากจน
: พ่ออย่าย้ายลูกไปไหนอีกนะ ลูกรู้สึกว่าอยู่โรงเรียนนี้แล้วมีความสุข
: ครูก็ไม่เห็นดุเห็นว่าอะไรลูกเลย ไม่ได้ดุลูกรุนแรงเหมือนกับโรงเรียนอื่น
: เพื่อนที่นี่ก็ดีจังเลย ลูกปั่นจักรยานไปวันแรก ไม่รู้ว่าที่จอดจักรยานอยู่ตรงไหน
จู่ ๆ ก็เพื่อนนักเรียนสามสี่คน ตะโกนเรียกชื่อลูก ลูกก็งงว่าเพื่อนเขารู้จักชื่อลูกได้ไง
เขาก็บอกที่จอดจักรยานอยู่ตรงนี้ พาลูกไปที่จอดจักรยาน แล้วก็พาลูกเข้าห้องเรียน
ออมทรัพย์รีบกลับมาบอกพ่อหลังจากเรียนวันแรก
หลังจากผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ วันนี้เป็นที่พ่ออุ๋ยตระหนักคิดถึง ‘ดัชนีความสุข’ ที่ลูกหรือเด็กควรจะ ได้รับในโรงเรียน ทว่าดัชนีความสุขนั้นไม่ได้วัดจากว่ามันเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก แต่ วัดจาก ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ที่คุณครูหรือเด็ก ๆ ได้สร้างร่วมกันในพื้นที่ที่เรียกว่า ‘โรงเรียน’
“วันนี้พ่อก็คิดได้ว่า ความสุขของเราคืออะไร ความสุขของลูกคืออะไร ไม่ว่าโรงเรียนขนาดเล็กหรือใหญ่ ถ้าดูแลทั่วถึง ทำให้เด็กไปเรียนมีความสุข มันก็เป็นความสุขของเด็ก และความสุขของผู้ปกครองด้วย”
วันนี้ ออมทรัพย์เป็นเด็กที่มีความสุขในการไปโรงเรียน มีเพื่อนที่น่ารักและจับต้องได้ มีครูที่เข้าใจ มีแม่ครัวที่ตักข้าวให้เขาวันละสี่จาน มีกิจกรรมที่เขาได้ทำร่วมกับเพื่อน และกลายเป็นพ่ออุ๋ยเอง ที่ต้องกังวล เช่น เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา พ่ออุ๋ยจะต้องห่างจากเขาเพื่อมาร่วมเวทีสาธารณะ ที่กรุงเทพฯ แต่ออมทรัพย์ไม่ยอมมาด้วย เพราะเขายืนยันที่จะไปโรงเรียนไม่ยอมขาด!
เรื่องราวของพ่ออุ๋ยและออมทรัพย์ปรากฏขึ้นบนเวทีสาธารณะ เรื่องเล่า – ประสบการณ์ – ความท้าทายและนวัตกรรมการจัดการโรงเรียนขนาดเล็กร่วมกับชุมชน ในโครงการ ACCESS School ของมูลนิธิแอ็คชั่นเอด อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นเวทีที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้นหนึ่ง หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ครู-ผู้อำนวยการ ผู้กระทำการสำคัญในวันเก้าอี้หักของ รร.ขนาดเล็ก
“คนที่อยู่สนามรบจริง ๆ คือ ผู้อำนวยการกับครู เขาจะรู้ทันทีว่าพื้นที่ของเขามีหุบเหวหรือแม่น้ำ”
เสียงสะท้อนของ บุญเรือง ปินะสา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองบัวคู จ.มหาสารคาม ต่อการ กำหนดนโยบายของกระทรวงศึกษาและสำนักงานเขตการศึกษา ที่หลายครั้งไม่สอดคล้องกับ บริบทของโรงเรียนขนาดเล็ก ซ้ำร้ายยังใช้ ‘ไม้บรรทัดเดียว’ ในการจัดการนโยบาย จนส่งกระทบต่อ ความเป็นไปของโรงเรียน ทั้งในแง่ทรัพยากรไร้ชีวิตและทรัพยากรมนุษย์
บุญเรืองยกตัวอย่างถึง ‘บริการหลังการยุบ-ควบ-รวม’ ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่แม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจะตอบกระทู้ถามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เรื่องปัญหาการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กและการจัดสรรงบประมาณด้านบุคลากรทางการศึกษาว่า การยุบหรือควบรวมจะต้องผ่านความเห็นชอบจากผู้ปกครองและชุมชน และหากเกิดการควบรวม ก็จะได้รับสนับสนุนค่าพาหนะให้กับนักเรียนที่มาเรียนรวมจนจบการศึกษาในระดับชั้นสูงสุดของโรงเรียนหลักด้วย
ทว่าสถานกาณ์จริงกลับไม่ง่ายดายเช่นนั้น บุญเรืองได้ยกตัวอย่างปัญหา เช่น พาหนะที่ใช้ขนส่งนักเรียนมีปัญหา ได้งบค่าเดินทางไม่ตรงตามกำหนดเวลา ทำให้ครูก็ต้องพานักเรียนใส่รถตนเองอยู่ดี ปัญหาเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงนโยบายที่คิดมาอย่างไม่รอบด้าน และมองข้ามผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเด็ก ครอบครัว หรือชุมชนที่ไม่สามารถรองรับนโยบายนี้ได้
ผู้อำนวยการหรือครู ต้องใช้ ‘ความกล้า’ มากกว่าวิสัยทัศน์ในการบริหารโรงเรียนขนาดเล็ก ผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดเล็กหลายโรง ต้องสวมหมวกทั้งนักสังคมสงเคราะห์ นักพัฒนาชุมชน นักการจัดการ และเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง เพราะหากเดินตามแนวทางนโยบายส่วนกลาง เพียงอย่างเดียว แนวทางการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กคงไม่ขยับไปไหน
“เขาไปมองแค่ว่าควบรวมแล้วจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีสื่อต่าง ๆ ครบ ห้องเรียนมาตรฐาน แต่เรามองไม่เห็นอีกสองสามคนที่นั่งตาละห้อยอยู่ตรงนั้น พวกเขาก็มีสิทธิ์เหมือนกัน”
บุญเรือง ปินะสา
อีกทั้งนโยบายส่วนกลางยังนำมาซึ่ง ‘ภาระงานครู’ ที่นอกเหนือไปจากการจัดการเรียนการสอน ดังที่ รัตนา บัวแดง รักษาการณ์ผู้อำนวยโรงเรียนวัดโคกทอง จ.ราชบุรี ได้สะท้อนถึงชีวิตครูใน หนึ่งวัน ที่ส่วนใหญ่จะมีชั่วโมงสอนอยู่ราว 16-18 ชั่วโมง หรืออาจถึง 22 ชั่วโมงต่อวัน และใน ชั่วโมงที่เหลือก็ต้องทำงานเอกสาร ไม่ว่าจะเป็นพัสดุ งบประมาณ หรือการประเมินต่าง ๆ จนครูไม่มีเวลาสำหรับการออกแบบนวัตกรรมการสอนใหม่ ๆ ได้
เวลาไม่มีเงินไม่พอ เด็กจำนวนไม่เกิน 40 คนในโรงเรียนเล็ก จะถูกคิดเป็นงบประมาณรายหัว แน่นอนว่างบประมาณเหล่านั้น แค่ค่าสาธารณูปโภคในโรงเรียนก็ไม่พอแล้ว การพัฒนาครูหรือ นวัตกรรมในการสอนจึงแทบเกิดขึ้นไม่ได้ในระบบโรงเรียนขนาดเล็ก
“ครูไม่ได้ต้องการชั่วโมงว่างไปทำอะไร แต่เราต้องยอมรับว่านอกจากงานสอน ยังต้องมีงานภาระหน้าที่อื่น ๆ ไม่ว่าโรงเรียนเล็กหรือใหญ่ ก็มีภาระหน้าที่เท่ากัน”
รุ่งทิพย์ อิ่มรุ่งเรือง ผู้จัดการฝ่ายโครงการและนโยบาย มูลนิธิแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย ได้ตั้งคำถามถึงพื้นที่ของครูในระบบการศึกษาไทย แม้เราจะมองคุณค่าของครูเป็น ‘แม่พิมพ์ของชาติ’ แต่ในความเป็นจริง เราให้การหนุนเสริมกับครูเหล่านี้มากแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนขนาดเล็ก
เพราะที่ผ่านมา กระบวนการการมีส่วนร่วมระหว่างรัฐกับบ้าน โรงเรียน ชุมชน มีลักษณะเป็น ‘พิธีการ’ มากกว่าการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง นั่นหมายความว่าหาได้มีแนวนโยบายที่รับฟัง ความเห็นจากคนในพื้นที่ว่าต้องลดหรือเพิ่มสิ่งใด “นโยบายอย่างแรก คือ เขาต้องฟังคุณครู ว่าความต้องการคืออะไร เขาอยู่หน้างาน อยู่กับความเป็นจริง เขาจะเสนอแนะทางออก ทางเลือก หรือวิธีการได้ดีที่สุด” เธออธิบาย
สุภัทรา สุทธิ
ขณะเดียวกัน การกำหนดนโยบายจัดซื้อจัดจ้างในแต่ละปีก็ค่อนข้างลำบาก สุภัทรา สุทธิ รักษาการณ์ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหัวเวียงเหนือ อธิบายถึงผลกระทบจากการโอนถ่าย อำนาจการจัดซื้อจัดจ้างให้เป็นของผู้อำนวยการเขตการศึกษาจากแต่เดิมที่เป็นของโรงเรียน หรือกระทั่งการย้ายหรือลาออกของผู้กำหนดนโยบายการศึกษา
เมื่ออำนาจเป็นของข้างบน หน่วยงานข้างล่างจึงจำเป็นต้องรอการตอบรับต่าง ๆ ที่มาจากข้างบน สุภัทรายกตัวอย่างว่า หลายครั้งโรงเรียนต้องบริหารจัดการว่าโครงการจะออกช่วงไหน ผู้อำนวย การเขตคนนี้จะยังอยู่กับเรารึเปล่า เพราะหากไม่อยู่ นั่นก็หมายถึงแนวนโยบายก็อาจจะเปลี่ยนไป โครงการนี้ก็อาจจะไม่เกิดขึ้น
“มันจะเหนื่อยตรงที่เราต้องเทียวเอาเอกสารเข้าไปในหน่วยพื้นที่ โรงเรียนพี่ห่างจากตัวเมืองแค่ 6 โล มันก็พอไหว แต่ถามว่าเสียเวลาไหม ก็เสีย แทนที่จะเอาเวลาที่เทียวเอกสารไปส่ง เอาเวลานั้นมาสอนเด็กดีกว่า”
ขณะเดียวกัน โรงเรียนเล็กหลายโรงที่ ‘ไม่มีผู้อำนวยการ’ ก็ทำให้โรงเรียนเหล่านั้นอยากจะดำเนิน การปฏิเสธการยุบ-ควบ-รวมโรงเรียน สุภัทราสะท้อนว่า โรงเรียนบ้านหัวเวียงเหนือประสบกับ สถานการณ์ยุบควบรวมตั้งแต่ปี 2561 ด้วยเหตุผลที่คล้ายกับทุกโรงเรียน คือ เรื่องของความกังวล ต่อคุณภาพการศึกษาและจำนวนเด็กที่ลดน้อยลง
การทำงานในโรงเรียนบ้านหัวเวียงเหนือก็เป็นลักษณะของมาเช้าเย็นกลับ ใครหมดหน้าที่ก็จบวัน ไม่มีการทำงานร่วมกันระหว่างบุคลากรในโรงเรียนนัก เพราะขณะนั้นยังไม่มีผู้อำนวยการที่คอยบอก แนวทางหรือนโยบายของโรงเรียนอยู่
แต่สองปีถัดมา ผู้อำนวยการโรงเรียนได้ลาออก เมื่อไม่มี ผอ.ก็นำมาซึ่งความไม่ไว้วางใจของผู้ปก ครอง ลุกลามไปถึงความเชื่อมั่นของชุมชนที่มีต่อโรงเรียน ณ ห้วงเวลานั้น บุคลากรในโรงเรียนจึง ต้องจับเข่าคุยกันอย่างจริงจังถึงทิศทางของโรงเรียนในอนาคต โดยร่วมกับชุมชนที่เป็นแรงหลัก ที่จะสนับสนุนโรงเรียนให้อยู่ต่อไป และต่อรองกับกรรมการสถานศึกษาเพื่อที่จะขอไม่ยุบโรงเรียน
“ตั้งแต่ที่เราร่วมต่อสู้กันมาตั้งแต่ปี 61 เราต้องทำงานในเชิงรุก ต้อง Power Sharing อย่างน้อยต้องนำเสนอว่าโรงเรียนมีอะไร แต่ถ้าต่างคนต่างอยู่ เขาก็ไม่รู้ว่าเรากำลังทำอะไร”
รุ่งทิพย์ให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมถึงภาวะการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารหรือผู้กำหนดนโยบายในแต่ละเขตพื้นที่ เธอเล่าว่า พบการเปลี่ยนแปลงบุคลากรเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นผู้นำกระทรวง ผู้อำนวยเขตการ ศึกษา กระทั่งผู้อำนวยการโรงเรียน “การศึกษาเราต้องมีแผนแม่บท เพื่อที่จะยึดหลักตรงนั้น ไม่ว่าใครจะเข้ามาบริหาร บางทีการที่เรามีผลการเรียนอยู่ในระดับเดิม อาจมาจากการที่เปลี่ยน ผู้บริหารในระดับต่าง ๆ ด้วยหรือไม่” เธอตั้งคำถาม
รัตนา บัวแดง รุ่งทิพย์ อิ่มรุ่งเรือง
‘การนิยามคุณภาพการศึกษา’
ปัญหาที่ใหญ่กว่าการมีอยู่ของ รร.เล็ก
“ความท้าทายที่เราเผชิญร่วมกันและเป็นวิกฤตของประเทศ คือคนเกิดน้อยลง เพราะงั้นโรงเรียนขนาดเล็กมันเป็นเรื่องปกตินะ”
มุมมองแสนเรียบง่ายของ เทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย ผู้ประสานงานโครงการ ACCESS School เขาอธิบายว่า คุณภาพของโรงเรียนขนาดเล็กต้องดูจากฐานการปฏิบัติ เพราะโรงเรียนเหล่านี้ ไม่ได้ใช้แนวทางท่องจำนำไปสอบเหมือนโรงเรียนขนาดใหญ่ แต่ใช้การเปิดรั้วบ้าน รั้วโรงเรียน รั้วท้องนาเป็นหลักสูตร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นรูปแบบการศึกษาที่เด็กและชุมชนต้องการ
ซึ่งกว่า 467 โรงเรียนในโครงการ ACCESS School พบว่าพวกเขาล้วนเปิดรั้วเหล่านั้นให้เป็นพื้นที่ แห่งการเรียนรู้ ให้การเรียนเชื่อมโยงกับชุมชนให้มากที่สุดตามบริบทที่หลากหลายในแต่ละจังหวัด เพราะหากเป้าหมายการศึกษาของประเทศ คือ การสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพและกล้าคิด ดัชนีการวัดผลไม่ควรอยู่ที่ตัวเลขการสอบ หากแต่เป็นสุขภาพจิตของเด็กหรือทักษะในการใช้ชีวิต
ฉะนั้น โรงเรียนจะขนาดเล็กหรือใหญ่ไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือเราจะพัฒนาคุณภาพการศึกษา ในบริบทที่แตกต่างหลากหลายได้อย่างไร โดยที่แนวนโยบายนั้น ๆ ต้องสอดคล้องกับความเป็นจริง ความต้องการของผู้เรียน โลกหรือเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป เพราะการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่ได้ เปลี่ยนแค่ในตลาดหุ้น ท้องนาไร่ทุ่งก็เปลี่ยนเช่นกัน
“ผมอยากจะให้รัฐฟังเสียงและมาเปิดพิมพ์เขียวของโรงเรียนขนาดเล็กดู 15,000 โรงเรียน ที่มีหลากหลายและไม่เหมือนกัน เขากำลังคิดแบบนี้อยู่”
เทวินฏฐ์ อัครศิลาชัย
เช่นเดียวกับ สมเดช อ่างศิลา ที่ปรึกษาโครงการ ACCESS School ที่เสนอว่า แท้จริงแล้วรัฐไม่จำ เป็นต้องมากำกับหรือยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กเลยด้วยซ้ำ เพราะว่าโรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้ ล้วนเกิดขึ้นจากชุมชน และหากโรงเรียนนั้นไม่มีคุณภาพ (ในสายตาชุมชน) มันก็จะถูกยุบไปโดย ปริยาย “โรงเรียนวัด โรงเรียนบ้าน โรงเรียนชุมชน โรงเรียนนิคม เขาสร้างตนเอง จะเห็นว่า โรงเรียนที่มีชื่อโดด ๆ นั้นมีน้อยมาก” เขาให้ข้อสังเกต
สมเดชเสนออีกว่า นอกจากการยกระดับโครงสร้างการทำงานของครูแล้ว ก็ต้องสังคายนาวิธีการ มองเด็กด้วยเช่นกัน แน่นอนว่าการวัดระดับด้วยเกรดหรือผลการศึกษาเป็นสิ่งที่พึงกระทำได้ แต่ก็ต้องมองให้เห็นเด็กที่เพียงอยากอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุขด้วย ว่าในเชิงนโยบาย เราจะจัดการศึกษาให้กับเด็กเหล่านี้ได้อย่างไร
“ตอนนี้เราอิงเกรดเชิงปริมาณ แต่มันต้องมีเกรด เชิงคุณภาพ เพราะวิ่งร้อยเมตรสิบวินาทีได้ แต่บางคนทำอย่างอื่นก็ได้ร้อยเมตรเหมือนกัน”
มากไปกว่าจากบ้าน วัด และโรงเรียน อีกหนึ่งหน่วยที่ควรเข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก คือ ส่วนท้องถิ่น ดร.ทรงเกียรติ ล้านพลแสน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองตอกแป้น อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ให้ข้อเสนอว่า การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กนั้น ท้องถิ่นต้องตระหนักถึงการมีอยู่ของชุมชนและโรงเรียนขนาดเล็กด้วย
เขายกตัวอย่างว่า หลายปีก่อนมีกรณีของการที่จะควบรวมท้องถิ่นที่มีขนาดเล็กที่มีประชากรไม่เกิน 4,000 คนเข้าไปอยู่ด้วยกัน แต่ก็เกิดการต่อสู้ต่อต้านเพราะว่าบริบทแต่ละพื้นที่และอัตลักษณ์นั้นไม่เหมือนกัน เช่นเดียวกับโรงเรียนขนาดเล็ก ฉะนั้นท้องถิ่นต้องเข้าไปมีบทบาทมากขึ้นในการส่งเสริมการศึกษา เพื่อให้โรงเรียนนั้นมีศักยภาพมากขึ้น
สุภัทราให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ระบบการศึกษาแบบนี้กำลังผลักเด็กให้หลุดออกจากวิถีความเป็น ชุมชนของตนเอง ผลักให้เด็กเข้าเมืองให้มากที่สุด ผ่านการทำให้อาชีพท้องถิ่นมันต่ำต้อย จนในท้ายที่สุดแล้ว เด็กก็จะห่างไกลจากชุมชนจนต่อไม่ติดแล้ว
การมีอยู่ของโรงเรียนขนาดเล็ก จึงหมายถึงอนาคตของชุมชน ที่เมื่อเด็กเหล่านั้นเติบโตขึ้น เขาจะมองเห็นความผูกพันที่เขามีกับชุมชนอย่างแยกไม่ขาด
“และเมื่อชุมชนให้ความสำคัญ กับเขา พี่เชื่อว่าอีกหน่อยเขาก็จะกลับมาพัฒนาชุมชนที่เขาอยู่”
สมเดช อ่างศิลา ดร.ทรงเกียรติ ล้านพลแสน
ในฐานะคุณพ่อลูกสองที่ผ่านประสบการณ์กว่า 4 โรง ทั้งโรงเรียนเอกชน เทศบาล และขนาดเล็ก การศึกษาในระบบนั้นหาได้เป็นมิตรกับเด็กมากนัก พ่ออุ๋ยอธิบายว่า การเคร่งครัดในเรื่องผลการเรียน การจัดระดับเด็กเก่งและเด็กหลังห้อง แม้โรงเรียนจะใหญ่ ความพร้อมครบครัน ครูเต็มโรงเรียน ก็ไม่อาจสร้างเด็กที่มีความสุขได้
ด้วยกรอบคิดการศึกษาในระบบ ทำให้พ่ออุ๋ยเองก็เพิ่งมาเห็นความสำคัญและการมีอยู่ของโรงเรียนขนาดเล็กเมื่อเขาพาลูกชายเข้ามาเรียน และได้เห็นความสุขที่ล้นเอ่อทุกครั้งหลังจากที่ลูกชายเขากลับมาบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายหากโรงเรียนที่สามารถสร้างความสุขให้เด็ก ๆ ต้องถูกยุบหรือควบรวม เพราะมันเป็นที่พึ่งสุดท้ายของเด็กที่ขาดโอกาสทางการศึกษา และ ‘โอกาสที่จะมีความสุข’
ไม่ว่าจะเป็นผู้อำนวยการ ครู พระ ผู้ปกครอง หรือกระทั่งเด็กนักเรียนบนเวที ทุกคนต่างเห็นด้วยว่าคุณภาพการศึกษาไม่ควรถูกมองอย่างไม้บรรทัด หากแต่คือกล้วยไม้ที่ค่อยออกดอกออกผล และผู้กำหนดนโยบายควรทำตัวให้เป็น ‘ดวงตะวัน’ ที่มันจะส่องแสงสว่างเท่ากันไม่แบ่งแยก ไม่ว่าตรงนั้นจะเป็นบ้านเศรษฐีหรือคนจนก็ตาม
“ต้นไม้ทุกระดับไม่ว่าจะสูง กลางใหญ่หรือคลุมดิน ล้วนมีความสำคัญในระบบนิเวศ โรงเรียนทุกขนาดมีความสำคัญ สำคัญกับบริบทของผู้เรียนที่มีความแตกต่างหลากหลาย ฉะนั้นความแตกต่างหลากหลาย คือ ความงดงาม”