“นี่แหละความรัก! สหาย-ความรักที่แท้จริงจะหล่อเลี้ยงเราแบบที่ปรากฏในเรื่อง”
เพื่อนผู้นั่งโต๊ะที่ทำงานติดกันแรมปี แนะนำหนังสือเล่มนี้กับผมไว้แบบนั้น
เราทุกคนต่างเคยตกหลุมรัก หลุมอากาศที่ใครผ่านน่านฟ้าแห่งนี้ บางคนก็ว่าคุ้มค่าแก่การเดินทางเพราะมีดาราสุกสกาวรออยู่ บางคนเครื่องตกแต่ไหนแต่ไรเพราะดันเข้าไปในวงเวียนของพายุ
และหลายครั้งน่านฟ้าแห่งนี้ไม่ได้ใจดีถึงขนาดนั้น เมื่อเข้าไปพายุ กัปตันอย่างเรวัตรกลับทิ้งผู้โดยสารอย่างเพียงตาไว้โดดเดี่ยวก่อนเครื่องจะตก ฟ้าฝนที่ตกมาเป็นสายเลือดจากการทำแท้ง หมางเมิน หาผลประโยชน์ และทิ้งไว้แต่ละอองฝนในคราบของ ’แม่และเมีย’ คือสิ่งที่ชายแท้อย่างเรวัตร ไพจิตร์ ยังมีตัวตนอยู่จริงในอีก 70 ปีให้หลัง
แต่ความรักของวัลยา จากปลายปากกาของเสนีย์ เสาวพงศ์ กำลังท้าทายกับความคร่ำครึของยุคสมัย หากเปรียบเป็นเครื่องบิน ก็คงเป็นยาน Falcon 9 ที่ปล่อยกระสวยตั้งแต่พุทธศักราช 2495
ความรักที่มีน้ำหนักน้อยกว่าอุดมการณ์ของชีวิต เมื่อโมกะแห่งบางกอกกำลังต่อสู้กับการกดขี่ทางเพศแบบไทย ๆ และการขูดรีดของสงครามในเวทีโลก ความรักของเธอคือการต่อสู้ เราทุกคนพึงจะมีชีวิตเสียก่อนถึงจะมีรักได้
ความลึกล้ำของหนังสือเล่มหนึ่ง การก้าวข้ามสุภาษิตสอนหญิงของสุนทรภู่ ความรักของศิลปิน สถาปนิก แรงงาน และอีลีทไทย ณ กรุงปารีสในหนังสือเล่มนี้กำลังพาเราหลุดนอกวงโคจร ที่ ๆ แรงโน้มถ่วงของคติสังคมไม่สามารถฉุดกระชากเราลงสู่พื้นดินได้อีกแล้ว
โมกะแห่งบางกอก: รสหวาน ขม และบางครั้งอาจเป็นคอนญักแต่หัววัน
แม้จะมีความรักมากมายหลายรูปแบบที่ปรากฏ ณ กรุงปารีสในปี พ.ศ.2495 แต่เราจะเห็นตัวแปรที่ติดอยู่กับความรักไม่เคยห่าง คือเวลาและสังคม
บนกระดุมเสื้อเชิ้ตราคาแพงของนักเรียนไทยที่ใช้ชีวิต ณ ปารีส ความรักถูกทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยม มันถูกขับเคลื่อนด้วยยศฐา บรรดาศักดิ์ อำนาจ ความรักอาจไม่เลือกเวลาเกิด แต่ ณ ขณะนั้นความรักเลือกชนชั้น แม้ความโรมานซ์จะห้อมล้อมปารีสไว้มากเพียงใด แต่ดูเหมือนรสหวานของความรักจะเกิดได้ยาก เมื่อความเป็นจริงชื่อยาขมได้กลบรสสัมผัสบนลิ้นเราไปหมดแล้ว
รสขมของกาแฟที่ฌ็องเซลิเซ่ ในยุคสมัยที่ผู้หญิงถูกทำให้อยู่ในกรอบของแม่และเมีย หญิงไทยที่เป็นเพื่อนของวัลยาอีก 2 คนอย่างแจ่มจันทร์และเพียงตาคือภาพแทนที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม เราจะเห็นได้ว่าค่านิยมเหล่านี้คือสิ่งที่ชนชั้นสูงสร้างขึ้น ภายใต้ความเป็นผู้ดีและมารยาทหญิงไทย เสนีย์กำลังเล่าให้เห็นภาพชัดเจนที่สุด ปิตาธิปไตยของชนชั้นนำให้เมียต้องตามผัวไปทุกหนแห่ง ทำให้ต้องถ่างตารอผัวกลับบ้านดึกดื่น แม้จะไปเยี่ยมเพื่อนที่พักฟื้นในโรงพยาบาลก็ยังกลัวจะโดนเอ็ด
ในขณะที่ผัวมีหน้ามีตาในสังคม เมียหรือแม่ของลูกกลับถูกบังคับให้กลายเป็นแรงงานในบ้าน(House Labor) นอกจากจะทำกับข้าว เตรียมเสื้อผ้า เลี้ยงลูก ยังต้องหัดเล่นเปียโนไว้รับแขกบ้านแขกเรือน เพื่อที่จะเป็นหน้าเป็นตาให้ผัวอยู่ดี มิใช่เล่นเพราะความสนุกในเสียงดนตรี
แต่วัลยาคือรสหวานของยุคสมัย-ไม่สิ เธอคือรสเผ็ด เธอคือพริกลูกโดดจากสยามที่ไปโลดแล่นกับการเป็นนักเรียนดนตรีที่ปารีส
พูดให้ถูกเธอคือโมกะ(โมเดิร์นเกิร์ล เป็นคำแสลงจากภาษาญี่ปุ่น) เป็นโมกะแห่งบางกอกที่ไปโลดแล่นที่กรุงปารีส เพราะที่เมืองไทยเธออาจจะต้องถูกบังคับให้อยู่ในกรอบของแม่และเมียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เธอตั้งคำถามถึงสุนทรภู่ ในขณะที่สุภาษิตสอนหญิงกลายเป็นแบบเรียนให้กับหญิงชนชั้นสูง แต่นั่นเป็นเพียงความล้าสมัยที่ชนชั้นนำไทยยังประยุกต์ใช้อยู่ เธอถึงกับกล่าวว่าแม้สุนทรภู่จะเป็นนักกลอนที่ดีและเก่ง ทว่า เขาอาจไม่ใช่ศิลปินที่ดี เพราะศิลปินต้องมองเห็นสิ่งใหม่และรังสรรค์มันขึ้นมา แต่สุภาษิตสอนหญิงนี้ล้าหลังนัก
ความเป็นโมกะของวัลยายังถูกสนับสนุนมากขึ้นเมื่อเครื่องบินร่อนลงจอดที่ปารีส นอกจากเธอจะยังยืนหยัดในด้านตรงข้ามกับสุภาษิตสอนหญิง การที่เธอเป็นศิลปินผู้มีปณิธานว่าอยากเป็นศิลปินของประชาชน เธอยังต่อสู้กับบริบทสังคมโลกภายใต้ยุคหลังสงคราม ที่ผู้นำในยุคสมัยล้วนมีแต่ผู้ชาย ในขณะที่ผู้หญิงในหลายประเทศยังไม่สามารถใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้ พวกเธอถูกกีดกันจากการแสดงออกความคิดเห็นทางการเมือง หรือกล่าวได้ว่าการบ้านการเมืองเป็นเรื่องของผู้ชาย แต่งานบ้านงานเรือนเป็นเรื่องของผู้หญิง
เช่นเดียวกับการขูดรีดต่อแรงงานและประชาชนยังพบได้มาก การเป็นศิลปินของวัลยาทำให้เธอมองเห็นสังคมในแบบที่พึงจะไปข้างหน้า และวันนี้ชนชั้นนำในนามของรัฐบาล ราชวงศ์ และสามี กำลังขูดรีดผู้มีอำนาจน้อยกว่า
เสนีย์สนใจวัลยาเพราะเหตุนี้ ตลอดทุกบทสนทนาเราจะเห็นวัลยาแสดงออกถึงเจตจำนงแห่งเสรีภาพ การพลวัตสู่โลกใหม่ ศิลปะที่ดำรงอยู่เหนือสงคราม คำพูดของเธอแสดงถึงความต้องการที่จะยืนหยัดเคียงข้างประชาชน และพิสูจน์ว่าสิ่งที่สังคมยัดเยียดให้พวกเธอและพวกเขา เป็นเพียงการชี้นำให้อยู่ในกรงขังไปทั้งชีวิต
แต่ความรักของวัลยาไม่ใช่ ความรักของเธอไม่ได้ต่างไปจากอุดมการณ์ของชีวิต ที่การต่อสู้จะนำมาซึ่งอิสระเสรีและความเท่าเทียม ทั้งความรักและชีวิตคือเรื่องเดียวกันอย่างแยกกันไม่ขาด ดังน้ำเสียงที่พยายามจะสื่อไปให้ถึงเรวัตร นักเรียนเศรษฐศาสตร์หนุ่มที่จีบเธอหลายต่อหลายครั้ง
“พูดเถอะ ผมเป็นคนรักความจริงเหมือนกัน”
“คุณไม่เข้าใจเร ว่าผู้หญิงต้องการอะไรในความรัก”
เขายักไหล่ “เรือต้องการทะเลกว้าง ไก่ต้องการคอนสูง และผู้หญิงต้องการชีวิตที่ผาสุขและสงบ”
วัลยาสั่นศีรษะ รอยยิ้มเย้ย ๆ ปรากฏตรงมุมปาก “สำหรับบางคนอาจเป็นเช่นนั้น ความรักเพื่อความสุข และแต่งงานเพื่อความสุข จริงอย่างเธอว่า เร. แต่ความหมายของ ‘ความสุข’ ของเรและวัลย์ต่างกัน การร่วมชีวิตกับคนที่มีสกุลสูงและมั่งมีอย่างคุณเป็นชีวิตที่ราบเรียบและซ้ำซากอย่างน่าเบื่อหน่าย มันราบเรียบจนมองเห็นเชิงตะกอนเผาศพตัวเองและหนังสือแจกงานศพอยู่รายทางข้างหน้าโน้นได้อย่างถนัดชัดเจน วัลย์ไม่ต้องการความสุขชนิดนั้น
ความสุขของวัลย์อยู่ที่ความคาดหมาย การต่อสู้ และการเสี่ยง แต่มันไม่ใช่การเสี่ยงอย่างนักเซ็งลี้ที่อาจเป็นมหาเศรษฐีหรือล้มละลาย แต่เป็นการเสี่ยงและต่อสู้ของคนทำงานเพื่อการสร้างสรรค์
มันอาจเป็นการแบกพร้าเข้าป่าดิบที่ไม่เคยมีใครกล้ำกราย แล้วต่อมา ทางที่ไม่เคยมีใครรู้จักมาก่อนนั้น ได้กลายเป็นทางสัญจร ไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของคนภายหลัง” บทสทนาของวัลยาและเรวัตร หลังเขามาหาคำตอบจากเธอเป็นครั้งสุดท้าย
แม้ตัวตนของวัลย์จะเป็นรสเผ็ดของยุคสมัย แต่ความรักของเธอกลับซับซ้อนกว่านั้น วัลย์เป็นปัญญาชนผู้ซึ่งผ่านยุคสงครามมาไม่นาน โดยเฉพาะเมื่อไปฝั่งยุโรปซึ่งเป็นพื้นที่สงครามโลกครั้งที่ 2 ความโรมานซ์แบบฉบับของปารีเซียนอาจไม่มีผลกับเธอ แต่การปฏิวัติ เสรีภาพ และอิสรภาพของกรุงปารีสนั้น ทำให้ความรักของเธอคืออุดมการณ์ และอุดมการณ์มีน้ำหนักมากกว่าชีวิต
ดังนั้นความรักจึงมีน้ำหนักเบาราวขนนกเมื่อเทียบกับอุดมการณ์ของชีวิต
“ความรักที่เป็นเพียงความสุข หรือไม่ก็ความใคร่ของคน ๆ หนึ่ง หรืออย่างมากที่สุดสองคนเท่านั้น เป็นความรักอย่างแคบ ความรักของคนเราควรจะขยายกว้างออกไปถึงชีวิตอื่น ถึงประชาชนทั้งหลายด้วย ชีวิตของคนเราจึงจะมีคุณค่าและมีความหมายไม่เสียทีที่เกิดมา ดิฉันจึงว่า หากชีวิตเรามีความรัก และความรักนั้นสามารถผลักดันชีวิตของคนเราให้สูงส่งยิ่งขึ้นกว่าชีวิตของสิ่งอื่น นกมันอาจจะร้องเพลงได้เมื่อมันนึกอยากจะร้อง โดยไม่คำนึงถึงความทุกข์ยากของชีวิตนกอื่น ๆ แต่คนเราไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น”
วรรคทองท่อนหนึ่งที่วัลยาพูดจึงสนับสนุนบทสนทนาข้างต้นได้ดี เธอกล่าวว่า “ชีวิตทำให้เกิดความรัก…เพราะมีชีวิต บุคคลจึงมีความรัก ดังนั้นชีวิตจึงมาก่อนความรักเสมอ และความรักก็มีผลเปลี่ยนแปลงชีวิตทั้งนั้น”
เพราะสิ่งที่โมกะแห่งบางกอกผู้นี้ปรารถนา คงเป็นความรักที่เท่าเทียม ชีวิตที่เท่ากัน ไม่ว่าจะชนชั้นนำหรือประชาชน สามีและภรรยา ผู้ชายหรือผู้หญิง จนกระทั่งพ่อค้ามากบารมีกับกุลีจรข้างถนน นั่นคือความรักซึ่งต้องต่อสู้ถึงจะได้มา ชีวิตที่ผาสุขและสงบ ไม่สามารถนำมาซึ่งความรักที่เธอคาดหวังไว้
ความรักของวัลยาคือการต่อสู้ ความรักที่มีแต่เรื่องความสุขและความใคร่จึงไม่ใช่นิยามในสายตาเธอ เป็นการต่อสู้กับคติของสังคม ตั้งคำถามกับการเป็นนักกลอนของสุนทรภู่ เมื่อความรักที่ดีควรจะมอบชีวิตที่ดีให้กับผู้หญิงทุกคนเช่นกัน
ความรักอาจเป็นรสหวานหรือรสขม แต่ความรักของวัลยาเปรียบได้กับการนั่งดื่มคอนญักสัก 10 เป๊กแต่หัววัน สำหรับบางคนคงพอแก้หนาวในกรุงปารีส แต่สำหรับบางคนอาจเมาหัวทิ่มเลยก็ได้
คาบาเรต์ปลายศตวรรษที่ 20 และการเติบโตของบาร์โฮสต์ต้นศตวรรษที่ 21
ผมไม่เคยไปเหยียบแผ่นดินฝรั่งเศส แต่จากสายตาของเสนีย์ตั้งแต่ต้นจนจบ คาบาเรต์ดูจะเป็นนิยามความรักอีกแบบของกรุงปารีส ที่ความโรมานซ์เป็นทั้งศิลปะและการขูดรีดพร้อม ๆ กัน
นั่นทำให้ผมคิดว่าความรักของวัลยาถูกจับต้อง สัมผัสได้ และเป็นทุนนิยมโดยสมบูรณ์คือบาร์โฮสต์ สิ่งที่น่าสนใจสำหรับบาร์โฮสต์นั้นคือนัยของการที่ผู้หญิงลุกขึ้นมาเป็นผู้เสพศิลป์แทนผู้ชาย
บทสนทนาที่ล้ำหน้าไปไกลกว่ายุคสมัยมาก ๆ ของตอนที่ยงคุยกับวัลย์ ในขณะที่ทั้งคู่เดินผ่านคาบาเรต์มากมาย ที่เหล่าท่านชายไปนั่งจิบแชมเปญและ ’เสพศิลป์’ กันนั้น ยงคือชายที่แตกต่างจากผู้ชายทั่วไปในสังคมพอ ๆ กับวัลย์ที่ชัดเจนกว่าหญิงอื่นในยุคสมัย
“ผมเห็นว่านั่นคือการขูดรีดผู้หญิงชัด ๆ เป็นการแสวงหาประโยชน์จากผู้หญิง เพราะอำนาจทางเศรษฐกิจที่ผู้ชายมีอยู่… ”
เมื่อ 50 ปีก่อนเราอาจจะเห็นแต่ค่านิยมที่ผู้ชายไปเที่ยวเตร็ดเตร่เช่นนี้ สถานภาพของผู้หญิงไม่ได้มีโอกาสให้สามารถเที่ยวเช่นนั้นได้ ค่านิยมของสังคมกดให้พวกเธอไม่ได้มีรายได้ทางตรงจากการงาน อย่างเพียงตากับรับเงินราชการจากไพจิตร์ สามีของเธอ ผู้หญิงถูกทำให้กลายเป็นสินค้าประเภทงานศิลปะ หวังเพียงทิปส์กับรายได้น้อยนิด มิหนำซ้ำยังถูกตีตราจากสังคมว่าเป็นหญิงร่าน ทำงานกลางคืน นุ่งน้อยห่มน้อยอีกต่างหาก
แต่ในปัจจุบันไม่ใช่เช่นนั้นอีกต่อไป การมีอยู่บาร์โฮสต์นอกจากจะชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงสามารถแหกขนบของสังคมอย่างการเที่ยวกลางคืน การเที่ยวผู้ชาย เม็ดเงินในการใช้จ่ายแต่ละครั้งทำให้รายได้ต่อปีโดยเฉลี่ยของบาร์โฮสต์อยู่ที่หลัก 8-9 หลักต่อปี
แม้จะไม่มีหลักฐานปรากฏชัดเจนว่าบาร์โฮสต์นั้นเกิดขึ้นมาเมื่อใด แต่การแพร่หลายอย่างชัดเจนในแถบเอเชียเริ่มต้นใน ค.ศ. 2000 ที่ย่านคาบุกิโจ ประเทศญี่ปุ่น
แม้สถานภาพของผู้หญิงจะยังคงมีความเป็นเมียและแม่อยู่ชัดเจน แต่สิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากชีวิตของยงและวัลย์ ณ กรุงปารีสเมื่อปลายศตวรรษที่ 20 เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจในตลาดแรงงานโลกกำลังเปลี่ยนไปอย่างมาก ผู้หญิงยุคโมเดิร์นชนชั้นกลางต้องทำงานนอกบ้าน หลายครอบครัวจำเป็นที่จะต้องมีแรงงานนอกบ้าน และแน่นอนการหาคู่ครองภายใต้การขยายตัวของเศรษฐกิจทำได้ยากขึ้น ค่าครองชีพที่สูงขึ้นทำให้ภาวะโสดสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ค่านิยมของผู้หญิงพับผ้าอยู่บ้านลดน้อยลง แต่การทำงานหามรุ่งหามค่ำกลับพบได้มากขึ้น
การผ่อนคลายจากความเครียดกลายเป็นความใกล้เคียงกันของสถานภาพหญิงชายในระบอบทุนนิยม การที่ผู้หญิงสามารถเข้าถึงสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่สูงขึ้น ทำให้ผู้หญิงสามารถใช้ชีวิตแบบที่เธออยากใช้ การทำลายขนบรักเดียวผัวเดียวถูกเปลี่ยนไปเป็นโฮสต์วันละคน ทั้งหมดเหล่านี้คือการที่ทุนนิยมเปลี่ยนให้ผู้หญิงสามารถเขยิบสถานะทางสังคมผ่านสถานะทางเศรษฐกิจ
ความรักของวัลยาได้ผันแปรตามตัวแปรอย่างสังคมและเวลาดังที่กล่าวไว้จริง ๆ
ถ้าหากไม่เชื่อลองเปิด Tiktok ของร้านแอสการ์ดดูเผื่อจะเห็นภาพได้ตรงกัน
ไม่มีหนังสือเก่าร่วมสมัย มีแต่สังคมที่ไม่ไปข้างหน้า
คำกล่าวในข้างต้นไม่ได้มีทัศนะที่จะนอนตะแคงขวางคุณค่าของตัวอักษรที่ร้อยเรียงกันเป็นรูปเล่มแต่อย่างใด ความรักของวัลยายังคงเป็นหนังสือชั้นครูสำหรับนักอ่าน นักเขียน นักคิด แต่ท่ามกลาง #พระโคแดกชายแท้2023 หากวัลยายังมีชีวิตอยู่คงถามเหลนโหลนของเธอว่าเหตุใดสังคมถึงยังก้าวไม่ข้ามการกดขี่ทางเพศเสียที
ถึงเสนีย์จะใช้น้ำเสียงในการพินิจความรักของวัลยาอย่างน่าสนใจ แต่หลังจากไตร่ตรองตัวอักษรอีกหลาย ๆ ครั้ง เรื่องของวัลย์อาจไม่ได้ล้ำสมัยในสายตาของเสนีย์ แต่เขากำลังตั้งคำถามกับความเป็นเมียและแม่ในสังคม วัลย์อาจเป็นภาพฉายแทนยุคสมัย แต่ความรักของวัลยายังคงอยู่ทุกยุคทุกสมัย และความรักของวัลยายังไม่เคยสมหวังหรือแฮปปี้เอนดิ้งเสียที
ความรักของวัลยายังเป็นอีกนิยามที่น่าสนใจเสมอ มันประกอบสร้างจากมุมมองของคนที่เติบโตในครอบครัวสามัญค่อนข้างยากจน ความรักของเธอไม่ใช่เพียงความโรมานซ์ แต่คือการมีอิสระเสรีซึ่งแยกจากความเป็นไปของสังคมอย่างขาดไม่ได้
แม้นวนิยายลำดับที่ 5 ของศักดิชัย บำรุงพงศ์ เล่มนี้จะเป็นเรื่องแต่งผสมกับเรื่องจริง และภาษาของวรรณกรรมไทยคลาสสิกเล่มนี้จะถูกยกให้เป็นหนังสือชั้นครูสำหรับคนที่สนใจในความรัก การเมือง สังคม หรือกระทั่งการคิดการเขียนก็ตาม
แต่ความรักของวัลยาคือการตั้งคำถาม เป็นนิยามที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยและกาลเวลา ผมยังใคร่รู้ว่าท้ายสุดยงคือรักในอุดมคติของวัลย์หรือไม่ แท้จริงแล้วเสนีย์แอบชอบเพียงตาหรือเปล่า หากวัลย์และเพียงตาได้มาเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมในยุคนี้ โดยเฉพาะกับการต่อต้านปิตาธิปไตยที่ก้าวหน้าขึ้นของสังคมไทย หรือกระทั่งหากเสนีย์ได้เห็นเทศกาล Pride ทั่วโลก พวกเขาเหล่านี้จะคิดเห็นเช่นไร
และนั่นคือสิ่งที่ทำให้เสนีย์ เสาวพงษ์ เป็นนักเขียนขึ้นหิ้งของเมืองไทย งานของเขาไม่ได้เป็นกราฟเสียงที่มีจุดเริ่มต้น จุดพีค และท่อนจบ แต่เป็นการดำเนินเรื่องแบบเครื่องเล่นรถไฟเหาะ แม้จะเป็นปรัชญา อุดมคติของสังคมแค่ไหน เรายังเห็นความเป็นมนุษย์ในทุก ๆ ตัวละครที่จับต้องได้
ความรักที่ดีมีหน้าตาเป็นเช่นไร หรือความรักแท้จริงแล้วคือชีวิต การมีชีวิตที่ดีย่อมนำมาสู่ความรักที่ดี และมนุษย์เรารังสรรค์ความรักขึ้นมาใหม่เพื่อเป็นจุดหมายในการหลีกหนีชีวิตที่ย่ำแย่ เรื่องทั้งหมดยังเป็นปริศนาที่รอทุกคนละเมียดชิม ยกหมดแก้ว หรืออาจลวกปากพอง ก็เป็นได้ทั้งสิ้น
แต่อย่างน้อยที่เรารู้ คือความรักของวัลยาไปไกลกว่าเรามาก อย่างน้อย ๆ ก็อุดมการณ์ในชีวิต ควันจากกล้องดันฮิลล์ และเบอร์กันดีจากบาร์ริมแม่น้ำซาน
เราหวังว่าความรักของนทธรจะไปได้ไกลกว่าเบียร์รูปสัตว์ ริมน้ำเจ้าพระยา และเสียงเพลงอีสานจากร้านลาบริมฝั่งธนฯ ก็พอ
หนังสือ : ความรักของวัลยา
ผู้เขียน : เสนีย์ เสาวพงศ์
สำนักพิมพ์ : มติชน
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี
อ้างอิง