เช้ามืดวันหนึ่ง ผมรีบตื่นและทำธุระส่วนตัวให้เสร็จก่อน 04.00 น. เพื่อที่จะได้ทันขึ้นรถเมล์สาย 510 เป็นเที่ยวแรก รถเมล์สายนี้มารับผมที่ ‘ป้ายแรก’ ที่ประตูเชียงราก 1 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต และขับผ่านป้ายสำคัญอย่างตลาดไทตรงข้ามมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ห้างฟิวเจอร์พาร์ค สนามบินดอนเมือง สวนจตุจักร และพาไปสุดสายที่ป้ายอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิผมเคลื่อนตัวออกจาก ‘ป้ายแรก’ ได้ไม่นาน ผู้โดยสารหน้าใหม่ก็ทยอยขึ้นมานั่งเต็มจำนวนจนบ้างก็ต้องยืนห้อยโหนแต่ก็ไม่ได้เบียดเสียดอะไร
ผมนึกไม่ถึงว่า เช้าวันใหม่ของคนเมืองจะเริ่มต้นเร็วขนาดนี้
จากการสังเกตวิธีการแต่งกายก็พอจะบอกได้ว่า พวกเขาอาจจะกำลังไปทำงาน เพราะบางคนก็ใส่เสื้อผ้าที่ปัก ชื่อบริษัท เครื่องแบบ รปภ. เครื่องแบบที่ดูคล้ายกับพนักงานออฟฟิศ บ้างก็แต่งตัวธรรมดาแต่สะพายถุง กระสอบขนาดใหญ่ หรือถือถุงหิ้วที่ดูหนักอึ้งจนล้นมือ แม้ว่าปลายทางของผู้โดยสารจะมีหลากหลายเกินกว่าจะบอกได้ว่าพวกเขาไปไหน แต่ก็น่าตั้งคำถามว่า พวกเขาวางแผนที่จะอยู่กับเมืองอย่างไร ถึงได้เริ่มต้นการเดินทาง ตั้งแต่เช้ามืดไปจนถึงการเดินทางด้วยรถเมล์ตอนเช้ามืดมีความท้าทายหรือแตกต่างไปจากการนั่งรถเมล์ที่เรารู้จักกันในช่วงเวลาปกติอย่างไร
ชีวิตที่เอาแน่เอานอนกับรถเมล์ไม่ได้
รถเมล์เคลื่อนตัวผ่านเวลา 04.00 น. ได้ไม่นานก็หยุดจอดที่ป้ายตลาดบางขัน ประตูรถเปิดออกรับผู้หญิงคนหนึ่งที่ยืนรออยู่ใต้แสงไฟสลัว ๆ ที่ริมถนน พร้อมกับถุงพลาสติกพะรุงพะรังเอามากองไว้บนพื้นรถเมล์ เธอคือพี่ปัน อายุ 49 ปีแม่ค้าขายไก่ทอดแบบรถเข็นบริเวณหน้าอาคารชินวัตรทาวเวอร์ย่านจตุจักรด้วยความโชคดีที่เราได้นั่งข้างกันจึงพลางสนทนาแก้เหงาบนรถเมล์ที่ดูพลุกพล่าน
พี่ปันเกิดและโตย่านบางซื่อ แต่ต้องย้ายที่หลับนอนไปไกลถึงเอื้ออาทรคลอง 5 ปทุมธานี เพื่อที่จะได้มีบ้าน(ราคาถูก) เป็นของตัวเอง ทำให้ทุกวันอังคารถึงศุกร์พี่ปันจะเริ่มต้นวันตั้งแต่ 02.00 น. เผื่อเวลาในการนึ่งข้าวเหนียวเตรียมอุปกรณ์การขาย ทำธุระส่วนตัว และต้องเผื่อเวลาให้แฟนขับมอเตอร์ไซค์ออกไปส่งที่ป้ายบางขัน ซึ่งใช้เวลาประมาณ 15 นาทีหรือเป็นระยะทางกว่า 21 กิโลเมตรจากบ้าน เนื่องจากไม่ค่อยมีรถเมล์วิ่งผ่านหน้าหมู่บ้าน แต่ถึงจะมีก็วิ่งช้าเสียจนไม่เป็นอันทำกิน พี่ปันเล่าว่า “มันมีรถเมล์เอกชนอยู่เหมือนกัน ชื่อรถ หนองเสือ พี่เคยขึ้นหน้าหมู่บ้านเที่ยวแรกตอน 04.30 น. ไปถึงฟิวเจอร์ก็ 06.00 น. กว่า ๆ เออ วันนั้นพี่ไม่ไปขายก็ได้ก็เสียรายได้ไป” และในทุก ๆ วันพี่ปันต้องแบกข้าวเหนียวนึง 1 กิโลกรัม ไก่หมักอีก 2 กิโลกรัม อุปกรณ์ในการขายและต้องหิ้วสัมภาระส่วนตัวขึ้นรถเมล์ไปยังจุดขายของก่อน 05.00 น. เพราะต้องไปเอาอุปกรณ์ในการทอดไก่และร้านรถเข็น ที่ฝากไว้บ้านพี่สาวที่อยู่ใกล้เคียงกับจุดขายของก่อนจะเปิดร้านจริง ในช่วง 05.30 น. แต่กว่าพี่ปันจะได้มาซึ่งแผนในการเดินทางที่แน่นอนก็ต้องแลกกับการแบกไก่ดิบไปฝากตู้เย็นของพี่สาวและหอบเอาความขาดทุนและ ‘ประสบการณ์’ ความเอาแน่เอานอนไม่ได้จากรถเมล์กลับบ้านมาอยู่หลายครั้ง
เช่นเดียวกับป้าจุ๋ม ลูกจ้างร้านข้าวแกงตรงข้ามวัดมกุฏกษัตริย์ วัย 66 ปี ผมมักจะเจอป้าจุ๋มยืนสวมหมวกคลุมผมสำหรับทำอาหารพร้อมชุดเอี๊ยมคู่ใจ ยืนโบกรถอยู่ริมถนนหน้าห้างเมเจอร์รังสิต
จากบ้านป้าจุ๋มที่คลอง 3 ปทุมธานีไปยังที่ทำงานดูจะง่ายกว่าพี่ปันอยู่มาก เพราะสามารถนั่งรถเมล์จากหน้า บ้านไปลงที่ทำงานได้เลย แต่ก็เพราะความความเอาแน่เอานอนของรถเมล์ไม่ได้อีกเช่นเคย ป้าจุ๋มเล่าด้วย น้ำเสียงหงุดหงิดว่า “ปกติป้าจะนั่งรถร่วมสาย 187 ที่หน้าหมู่บ้านไปลงที่ทำงานเลย แต่พักหลังเหมือนคนขับมันขี้เกียจวิ่ง มาช้ามั่ง ไม่มามั่ง ป้าบ่นกับกระเป๋าหลายครั้งแล้วจนทนไม่ไหวก็เลยต้องให้สามีมาส่งที่ป้ายนี้ แทน…ทุกวันนี้มันวิ่งอยู่ต่อก็ไม่ไปนั่งละ”
การวางแผนที่จะอยู่กับเมืองของพี่ปันและป้าจุ๋มคล้ายกันที่อาศัยประสบการณ์จนเกิดเป็นแผนในการเดินทางที่มีเส้นทางและเวลาที่แน่นอน
อย่างไรก็ดี ความเอาแน่เอานอนกับรถเมล์ไม่ได้กลับไม่ได้หายไป เมื่อมีการวางแผนการเดินทางที่ดี พี่ปันยืนยันสิ่งนี้ได้ดีว่า “บางครั้งขาไปรถก็เสียบ้าง ต้องไปรอขึ้นรถคันข้างหลัง ซึ่งก็ไม่การันตีว่าจะมีที่นั่งไหม…หรืออย่าง ขากลับ พี่ก็ข้ามฝั่งมาขึ้นสาย 510 ตอน 11.00 น. กว่า ๆ ช่วงนั้นคนขึ้นน้อย พอคนขึ้นน้อย คนขับก็เริ่มปวดท้องบ้างละ หิวข้าวบ้างละ หรือต้องไปเติมน้ำมันบ้างละ เขาก็จะใช้มุกนี้ในการปล่อยให้พี่ลงกลางทางเพื่อให้พี่ไปยืนรอรถคันหลังแทนซึ่งนานมากกว่าจะมาขากลับพี่เจอประจำ”
“ไอ้หนู มาช่วยกันเปิดไฟฉายหน่อยเร็ว นู้น ผ่านไปคันนึงแล้วเห็นไหม”
เสียงที่ผมได้ยินมาจากป้าคนหนึ่งที่ป้ายเชียงราก 1 ป้ากำลังวุ่นก้มหน้าหาปุ่มเปิดไฟฉายจากแท็บเล็ตเครื่องโต จนไม่ทันโบกรถเมล์ ป้าจึงเรียกผมที่ยืนอยู่ไม่ห่างว่า “เขาไม่เห็นเรา หนูเอาโทรศัพท์มาเปิดไฟฉายรอไว้หน่อย นะ ช่วยกัน” จนรถเมล์อีกคันกำลังแล่นมาทางเรา ป้าก็พุ่งสุดตัวออกไปที่ริมถนน พร้อมกับสาดแสงจากหน้าจอแท็บเล็ตไปยังคนขับ เพื่อบอกให้ช่วยจอดรับพวกเราที
ปัญหาหนึ่งของการเดินทางด้วยรถเมล์ยามเช้ามืดคือ ‘ความสว่าง’ ที่ไม่เพียงพอที่จะเห็นผู้โดยสารได้ชัดเจน ซึ่งเป็นผลมาจากการสร้างป้ายรถเมล์ที่ไม่ได้มาตรฐานและเป็นเนื้อเดียวกันตั้งแต่แรก เห็นได้จากบางป้ายที่มี เพียงม้านั่งและหลังคาหรือบางป้ายที่เป็นเพียงป้ายรถเมล์แบบปัก(bus stop ploe) ที่ไร้ซึ่งแสงสว่างในตัวเอง ทางออกของปัญหานี้ล้วนมาจากข้อตกลงระหว่างกระเป๋ารถเมล์กับผู้โดยสาร พี่ปันเป็นคือหนึ่งในคนที่ถูกกระเป๋ารถเมล์ตำหนิอยู่บ่อยครั้งว่า “กระเป๋ารถเมล์เขาไม่ค่อยเห็น บางครั้งเขาก็ว่าพี่ใส่เสื้อมืดเกินไป เวลาโบกก็ให้เปิดไฟฉายโทรศัพท์ด้วยกระเป๋าเขาบอกพี่ทุกคันจริง ๆ”
ครั้งนั้น ผมจึงลองนั่งเก้าอี้หน้าสุดเพื่อหวังว่าจะจำลองทัศนวิสัยของคนขับและกระเป๋ารถเมล์ให้ได้มากที่สุด ภาพที่ผมเห็นคือ ดวงดาวสีขาวระยิบระยับถูกโบกสะบัดขึ้นลงถี่ ๆ อยู่ตลอดทาง ในขณะเดียวกันผมก็เห็นคนจำนวนไม่น้อยที่ยืนเนียนไปความมืดและพลาดรถเมล์คันนี้ไป ซึ่งผมยังไม่ได้พูดถึง “ป้ายรถเมล์ล่องหน” ที่ทั้งมืดสนิท และไร้ซึ่งสัญลักษณ์หยุดจอดรถเมล์
ป้ายรถเมล์ล่องหน สำหรับคน “รู้กัน”
ย้อนกลับไปที่ ‘ป้ายแรก’ และครั้งแรกที่ผมได้ขึ้นรถเมล์สาย 510 ตอนเช้ามืด ครั้งนั้นผมเรียกมอเตอร์ไซค์รับจ้างให้ไปส่งที่ป้ายวงเวียน สวทช. ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ด้วยความมั่นใจว่านี่คือ ‘ป้ายแรก’ ที่รถเมล์สายนี้จะจอดรับ แต่เมื่อพี่คนขับมอเตอร์ไซค์ฯ ทราบว่าผมจะไปรอรถเมล์ที่ป้ายนั้นเวลานั้น ก็ปฏิเสธที่จะไปส่งด้วยความเป็นห่วงว่า “ช่วงเช้ามันไม่ผ่านหรอก ต้องไปขึ้นที่ประตูเชียงราก 1 นู้น” ผมได้แต่ยืนงง แต่ก็เชื่อฟัง
เมื่อถึงประตูเชียงราก 1 ตามคำบอก ผมก็พบกับกลุ่มคนที่ยืนจดจ้องท้องถนนบนทางเท้าโล่ง ๆ นอกจากนั้นก็ไม่มีอะไรที่จะบอกได้ว่านี่คือป้ายรถเมล์เลย น่าแปลกใจที่ในไม่ช้า รถเมล์ก็มาจอดรับตามปกติเสมือนทางเท้าของประตูเชียงราก 1 เป็นป้ายรถเมล์ ‘ป้ายแรก’ และเป็น ‘ป้ายรถเมล์ล่องหน’ ที่จะ “รู้กัน” ระหว่างผู้โดยสารกับคนขับและจะรู้กันเองในหมู่ของคนที่ขึ้นรถเมล์ป้ายนั้นเป็นประจำ
หรือถ้าจะบอกว่า ป้ายรถเมล์ล่องหน “ถ้าไม่รู้ ก็มองไม่เห็น” ก็ดูจะไม่ผิดนัก
สิ่งนี้ยืนยันได้จากพี่กระเป๋ารถเมล์ท่านหนึ่งที่ตอบต่อข้อสงสัยของผมว่า ทำไม ‘ป้ายแรก’ จึงไม่ใช่ป้ายวงเวียน สวทช. “อ้าว ตรงนั้นมีคนขึ้นด้วยหรอ ช่วง 04.00-07.00 น. พี่จะรับที่เชียงราก 1 ที่เดียวนะ และก็วิ่งยาวไปที่ ป้ายอื่นเลย เพราะไม่ค่อยมีคนขึ้น หลังจากเวลานั้นพี่ถึงจะเข้ามอ” แม้ทุกวันนี้จะมีแอพพลิเคชันติดตามสถานะ รถเมล์อย่าง ViaBus แต่ผู้โดยสารที่ไม่รู้ก็ย่อมจะมองไม่เห็นว่ามีป้ายรถเมล์ที่ล่องหนอยู่ หากไร้ซึ่งคนชี้นำก็อาจจะไม่สามารถเข้าสู่ระบบขนส่งของรถเมล์ได้เลย
รถเมล์ไทยยังมี…อนาคต?
อย่างไรก็ดี ป้ายรถเมล์ล่องหนไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นกับรถเมล์สาย 510 เป็นที่แรกและที่เดียว หากแต่เกิดขึ้นกับรถเมล์สายอื่น ๆ จนกลายเป็นวิทยานิพนธ์ที่ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เห็นได้จากงานศึกษาเรื่อง “คน ด้น เมือง: วัฒนธรรมการเคลื่อนย้ายบนเส้นทางของรถเมล์สายหนึ่งในกรุงเทพมหานคร” (2565) ของคุณนิว วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์ที่ได้ตีแผ่ให้เห็นถึงความ ‘ด้น’ ของคนเมืองผ่านการเกิดขึ้นของป้ายรถเมล์ล่องหน หรือที่คุณนิวเรียกมันว่า ป้ายรถเมล์กายสิทธิ์ หรือ fantastic bus stop
คุณนิวกล่าวต่อจากวิทยานิพนธ์ว่า “ส่วนหนึ่งของการเกิดขึ้นของป้ายรถเมล์กายสิทธิ์มันก็มาจากการที่คนปักป้าย(กรมขนส่งทางบก) ที่คิดเองเออเอง ผลที่ตามมาก็คือ ป้ายรถเมล์เลยไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคน เช่น ไกลจากแหล่งชุมชน หรือเป็นจุดที่เมื่อก่อนเคยขึ้น แต่พอมีป้ายรถเมล์ที่เป็นทางการก็ดันไกลจากจุดเก่าหลายเมตร ฉะนั้น ป้ายรถเมล์ล่องหนจึงมาจากการ ‘ด้น’ อยากจะเข้าสู่ระบบขนส่งสาธารณะและพยายามเอาตัว รอดในเมือง” กล่าวคือ รถเมล์เป็นระบบขนส่งสาธารณะที่อาศัยโครงสร้างพื้นฐานก่อนหน้าอย่างทางเท้าและถนน ทำให้ในหลาย ๆ ครั้งที่โครงสร้างดังกล่าวมีปัญหาป้ายรถเมล์ก็จะมีปัญหาตามไปด้วยเช่นกัน คุณนิว ยกตัวอย่างว่า “ถ้าสมมติทางเท้าที่จะเชื่อมไปยังป้ายรถเมล์ขาดคนก็จำเป็นที่จะต้องเดินลัดริมถนน ซึ่งก็ต้องเสี่ยงอันตรายหลายคนจะมองว่า ทำไมคนออกนอกกฎระเบียบ แต่ก็ต้องถามกลับไปว่า แล้วถ้าคนไม่ออกจากระเบียบเขาจะอยู่รอดในเมืองได้อย่างไร” เช่นเดียวกับป้าจุ๋มที่ต้องออกมายืนโบกรถเมล์ริมถนน เพราะถูกคาราวานรถ taxi จอดรับผู้โดยสารจนบังป้ายรถเมล์เสียหมด
ในวันที่สังคมกำลังให้ความสนใจกับระบบขนส่งสาธารณะที่ใหม่กว่า เห็นได้จากนโยบายของรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย พ.ศ.2566 ที่จะมีนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย กลับกันรถเมล์ในฐานะระบบขนส่งสาธารณะที่เก่าแก่ยังคงไม่เสถียร และยังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีสิทธิเข้าถึงบริการ สำหรับคุณนิว นี่คือโจทย์สำคัญที่ประชาชนต้องร่วมกันตั้งคำถามดัง ๆ ว่า “เราจะทำอย่างไรที่จะให้ผู้โดยสารกลายเป็นศูนย์กลางของรถเมล์ไทย หรือทำอย่างไรให้อนาคตของรถเมล์ไทยสร้างประโยชน์สูงสุดกับประชาชน”
ถึงที่สุดแล้ว แม้ปัญหาของรถเมล์ไทยจะถูกกล่าวถึงซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ก็ยังมีอีกหลายมิติที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข เพื่อให้รถเมล์ได้เป็นขนส่งสาธารณะที่สามารถหล่อเลี้ยงวิถีการเดินทางในเมือง(และอาจ)ไปจนถึงปากท้องของคนเมืองได้ด้วย เห็นได้จากผู้คนอีกหลากหลายชีวิตที่ฝากท้องไว้กับไก่ทอดและข้าวแกงฝีมือพี่ปันและป้าจุ๋ม