50 ปีระบอบถนอม: นายพล สงครามเย็น และประชาธิปไตยแบบไทย ตอนที่ 1 - Decode
Reading Time: 2 minutes

ในความเคลื่อนไหว

รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ

ปีนี้เป็นปีสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เนื่องจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ซึ่งเป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่สำคัญที่สุดเหตุการณ์หนึ่งของสังคมไทยบรรจบครบรอบ 50 ปีหรือกึ่งศตวรรษ

เหตุการณ์ลุกขึ้นสู้ของนักศึกษาและประชาชนเรือนแสนในเดือนตุลาคม 2516 ได้ถูกบันทึกไว้แล้วโดยคนร่วมสมัย ทั้งยังถูกศึกษาโดยนักวิชาการผ่านผลงานมากมายหลายชิ้น ผู้เขียนเองก็เคยค้นคว้าเอกสารและหลักฐานในช่วงนั้นเมื่อครั้งเขียนวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาในช่วง 10 ปีภายใต้ระบอบเผด็จการทหารว่ามีจุดกำเนิดของการก่อตัว มีพัฒนาการ และมีการเคลื่อนไหวอย่างพลิกแพลงอย่างไรจนสามารถโค่นล้มรัฐบาลทหารได้สำเร็จอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ ซึ่งในเวลาต่อมาวิทยานิพนธ์ดังกล่าวได้รับการปรับปรุงตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ “และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏการเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลา”

แม้ว่าความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของนักศึกษาปัญญาชนและความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในห้วงยุคสมัยแห่งการเร่งรัดพัฒนาหลัง พ.ศ. 2500 จะมีอยู่มากพอสมควรแล้ว แต่องค์ความรู้ที่ยังขาดหายไปคือ คำอธิบายเกี่ยวกับฝั่งผู้มีอำนาจและระบอบการเมืองในขณะนั้นว่าทำงานอย่างไร มีความสัมพันธ์ทางอำนาจกันอย่างไรระหว่างชนชั้นนำกลุ่มต่าง ๆ ทั้งในด้านที่เป็นการจับมือกันเป็นพันธมิตรทางการเมือง รวมถึงความขัดแย้งภายใน และที่สำคัญรัฐบาลทหารของจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งครองอำนาจยาวนานถึง 10 ปี ใช้เครื่องมืออะไรบ้างในการรักษาอำนาจและขจัดคู่แข่งทางการเมืองของตนให้หมดจากอำนาจไป

ท่ามกลางช่องว่างของความรู้ในประเด็นนี้ ผมจึงรู้สึกยินดีอย่างมากที่ได้อ่านหนังสือเล่มใหม่ของอาจารย์ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ที่เพิ่งตีพิมพ์ออกมาชื่อว่า “เนื้อในระบอบถนอม: ความสืบเนื่องและเสื่อมถอยของเผด็จการทหาร พ.ศ. 2506 ถึง 2516” ช่วงเวลาที่ตีพิมพ์ก็ต้องนับว่าพอเหมาะพอดีเหลือเกินเพราะหากปีนี้คือปีครบรอบ 5 ทศวรรษ 14 ตุลาฯ ด้านกลับของมันก็คือ 5 ทศวรรษของการสิ้นสุดระบอบถนอมนั่นเอง

งานชิ้นนี้ของอาจารย์ธำรงศักดิ์จึงคือจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่ช่วยเติมเต็มประวัติศาสตร์ไทยที่ขาดหายไป ช่วยทำให้ภาพการเมืองไทยในยุคทศวรรษ 2500-2510 สมบูรณ์มากขึ้น อันที่จริงต้องนับว่าเป็นเรื่องแปลกที่งานศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการเมืองไทยในยุคจอมพลถนอมอยู่ในสภาวะที่ขาดแคลนอย่างยิ่ง ทั้งที่เป็นยุคสมัยที่รัฐบาลทหารครองอำนาจต่อเนื่องได้ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย คือ 16 ปี รวมถึงเป็นยุคที่มีการสร้างวาทกรรม “ประชาธิปไตยแบบไทย” ขึ้นมาเป็นต้นแบบของการให้ความชอบธรรมกับระบอบเผด็จการ มีการร่างรัฐธรรมนูญที่กลายเป็นโมเดลให้กับผู้นำรัฐประหารรุ่นหลังยึดถือเป็นแบบอย่างของการดีไซน์กติกาเพื่อสืบทอดอำนาจของระบอบอำนาจนิยม

ก่อนหน้างานเรื่องเนื้อในระบอบถนอม หนังสืออีกเล่มหนึ่งซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกันในแง่ระยะเวลาที่ถูกศึกษา คือ งานคลาสสิคของอาจารย์ทักษ์ เฉลิมเตียรณ เรื่อง “การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ” ซึ่งฉายภาพให้เราเข้าใจการเมืองในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อย่างลึกซึ้งถึงแก่นว่าผู้นำทหารอย่างสฤษดิ์ซึ่งเป็นนายทหารที่เด็ดขาดและมากบารมีหันไปรื้อฟื้นอำนาจของสถาบันกษัตริย์และโบราณราชประเพณีในการปกครองแบบ “บิดาปกครองบุตร” ขึ้นมาเป็นรูปแบบการปกครองและฐานความชอบธรรมทางการเมืองให้กับระบอบอำนาจนิยมของกองทัพจนก่อเกิดเป็นแบบแผนความสัมพันธ์ทางอำนาจที่มีลักษณะพิเศษและทิ้งมรดกตกทอดไว้ให้สังคมไทยจนถึงปัจจุบัน

ในบทความสั้น ๆ ชิ้นนี้ ผมอยากจะยกประเด็นและตั้งข้อสังเกตที่ผมได้หลังจากอ่านงานเรื่องเนื้อในระบอบถนอมจบประมาณ 7 ประเด็นด้วยกัน สำหรับใครที่สนใจรายละเอียด ข้อมูลเกร็ดประวัติศาสตร์ และข้อถกเถียงที่น่าสนใจอื่น ๆ แนะนำให้หาหนังสือเล่มนี้มาอ่านด้วยตนเอง  

ประเด็นที่หนึ่ง คุณูปการสำคัญของงานชิ้นนี้ คือ การที่ผู้เขียนฉายภาพให้เห็นว่า ระบอบถนอมนั้นไม่ได้มีความสืบเนื่องจากระบอบสฤษดิ์แบบเป็นเนื้อเดียวกันอย่างที่เราเคยเข้าใจ และถนอมเองก็ไม่ใช่ทายาททางการเมืองที่จอมพลสฤษดิ์หมายมั่นปั้นมือวางตัวไว้ให้ครอบอำนาจต่อจากตน แน่นอนว่าถนอมเป็นนายทหารที่มีบทบาททางการเมืองมาตั้งแต่เป็นนายทหารหนุ่มผ่านการเข้าร่วมการรัฐประหาร 2490 และเคยดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ หลายตำแหน่งมานับจากนั้น แต่สฤษดิ์ก็มีลูกน้องและนายทหารคนสนิทหลายคน คนสำคัญคนหนึ่ง คือ จิตติ นาวีเสถียร อาจารย์ธำรงศักดิ์ชี้ให้เห็นว่าในสมัยสฤษดิ์เป็นนายกฯ ถนอมถูกย้ายจากกองทัพบกไปอยู่กองบัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งไม่ได้คุมกำลังทหารโดยตรง รวมถึงประภาส จารุเสถียร ซึ่งเป็นนายทหารที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับถนอมก็ถูกกันออกจากสายการบังคับบัญชาในกองทัพเช่นกัน สภาวะเช่นนี้ทำให้ทั้งถนอมและประภาสเสื่อมอำนาจทางการทหาร

การขึ้นมาดำรงตำแหน่งของถนอมในฐานะเบอร์หนึ่งในทำเนียบรัฐบาลเมื่อจอมพลสฤษดิ์เสียชีวิต จึงไม่ใช่การที่ถนอมในฐานะทายาททางการเมืองขึ้นมาสืบอำนาจต่อโดยอัตโนมัติ แต่คือการช่วงชิงจังหวะและช่วงชิงการนำเหนือนายทหารคนอื่น ๆ ที่เป็นลูกน้องสฤษดิ์สำเร็จจนถนอมสามารถสถาปนาตัวเองขึ้นมาเป็นนายกฯ คนใหม่ โดยได้รับการสนับสนุนจากประภาสและบางกลุ่มในกองทัพ รวมถึงปัจจัยสำคัญคือการได้รับความเห็นชอบจากราชสำนักในฐานะผู้นำที่ถูกมองว่าเหมาะสม โดยถนอมสร้างภาพลักษณ์ให้ตัวเองว่าเป็นนายทหารที่ซื่อสัตย์ จงรักภักดี สุภาพอ่อนน้อม ไม่คอร์รัปชัน (เพื่อสร้างความแตกต่างจากสฤษดิ์ที่หมดอำนาจไปพร้อมกับเรื่องราวอื้อฉาวเกี่ยวกับพฤฒิกรรมการยักยอกเงินแผ่นดินและการฉ้อราษฎร์บังหลวง) และไม่ทะเยอทะยานทางการเมือง แต่เข้ามาทำหน้าที่เพื่อชาติบ้านเมือง เมื่อถนอมรับตำแหน่งแล้ว ประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่ถนอมลงมือทำอย่างจริงจัง คือ การยึดทรัพย์จอมพลสฤษดิ์ เพื่อทำให้สาธารณชนเห็นว่ารัฐบาลของตนเองนั้นไม่ใช่รัฐบาลภาคต่อของรัฐบาลสฤษดิ์

ประเด็นที่สองที่น่าสนใจ งานชิ้นนี้ชี้ให้เห็นความขัดแย้งภายในระบอบรัฐประหารระหว่างนายทหารกลุ่มต่าง ๆ รวมถึงกลุ่มการเมืองพลเรือนที่เข้ามาทำงานรับใช้ผู้นำรัฐประหาร ข้อมูลจากงานชิ้นนี้ช่วยลบภาพความมีเอกภาพกลมเกลียวกันในหมู่ชนชั้นนำซึ่งเป็นภาพความเข้าใจแบบเก่าที่เราเชื่อกันมาโดยตลอดว่ายุครัฐบาลทหารก่อน 14 ตุลาฯ นั้นมีเสถียรภาพมากเพราะมีเอกภาพภายใน แต่ในความเป็นจริงระบอบถนอมนั้นมีกลุ่มย่อยหลายกลุ่มและมีการขบเหลี่ยม เฉือนคม ทะเลาะเบาะแว้ง และขัดแย้งกันเองอย่างเปิดเผยก็บ่อยครั้งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แต่ที่สาธารณชนไม่ได้ล่วงรู้ถึงความขัดแย้งเหล่านี้มากนักก็เพราะถนอมและชนชั้นนำในยุคนั้นจัดการความขัดแย้งภายในด้วยกลวิธีหลายอย่าง เช่น การปลด การแขวนให้ไปอยู่ตำแหน่งที่มีเกียรติ (แต่ไม่มีอำนาจ) การโยกย้ายตำแหน่ง หรือการให้รางวัลปลอบใจ การดึงฝ่ายตรงข้ามมาเป็นพวก การเจรจา การแต่งตั้งคู่ขัดแย้งให้มีระยะห่างจากกัน (เช่น ให้คนหนึ่งไปมีตำแหน่งต่างประเทศ) เป็นต้น

ในประเด็นนี้ ช่วยทำให้เรามีมุมมองใหม่ว่าแท้จริงแล้วอาจจะไม่มียุคสมัยใดเลยที่กองทัพไทยนั้นมีเอกภาพภายใน โดยเฉพาะในยามที่ผู้นำกองทัพเข้ามาเล่นการเมืองโดยตรงและมีอำนาจเป็นรัฐบาล การช่วงชิงอำนาจและผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มทหารด้วยกันจึงเป็นลักษณะสามัญของการเมืองไทย สิ่งที่เราต้องศึกษาคือ ผู้นำทหารในแต่ละยุคใช้กลวิธีใดบ้างในการจัดการความขัดแย้งภายในกองทัพ และปัจจัยใดที่ทำให้บางครั้งการจัดการความขัดแย้งดังกล่าวไม่สำเร็จ จนนำไปสู่ความเสื่อมถอยของระบอบได้

มองจากเลนส์นี้ ยิ่งน่าศึกษาการต่อสู้และความแย่งชิงอำนาจระหว่างนายทหารกลุ่มต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ เพราะตลอดประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ในกองทัพเป็นปัจจัยสำคัญในการขยายตัวของความขัดแย้ง การปะทุของเหตุรุนแรง รวมถึงการล่มสลายของรัฐบาลได้ เช่น ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มจอมพล ป พิบูลสงคราม เผ่า ศรียานนท์ และสฤษดิ์ ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มถนอม-ประภาสกับกลุ่มกฤษณ์​ สีวะรา ความขัดแย้งระหว่างยังเติร์กกับรัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์ ความขัดแย้งระหว่างเปรมกับอาทิตย์ กำลังเอก ความขัดแย้งระหว่าง จปร. 5 กับ จปร. 7 ช่วงเหตุการณ์นองเลือดพฤษภาฯ 2535 การช่วงชิงอำนาจระหว่างกลุ่มบูรพาพยัคฆ์กับวงศ์เทวัญ การแยกทางกันเดินระหว่างพี่น้องสอง ป. – ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับประวิตร วงศ์สุวรรณ และความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตระหว่าง “ทหารคอแดง” กับ “ทหารคอเขียว”

ประเด็นที่สาม งานชิ้นนี้ช่วยทำให้เราเข้าใจว่าผู้นำทหารไทยพยายามเข้ามาควบคุมกลไกการเลือกตั้งและพรรคการเมืองเพื่อสืบทอดอำนาจมาช้านานแล้ว ในแวดวงวิชาการสากล กระแสที่หันมาสนใจประเด็นนี้เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ในสาขาวิชาการเมืองเปรียบเทียบมีศัพท์เรียกระบอบเผด็จทหารที่พยายามปรับตัวและแปลงโฉมให้ดูเสมือนว่ามีความเป็นประชาธิปไตยในระดับหนึ่ง ว่าระบอบเผด็จการที่มีการเลือกตั้ง หรือระบอบเผด็จการที่มีการแข่งขัน (electoral authoritarianism, competitive authoritarianism) ซึ่งระบอบเช่นนี้ก็คือระบอบกึ่งประชาธิปไตยกึ่งเผด็จการหรือระบอบแบบผสมนั่นเอง คือ ไม่ใช่เผด็จการเต็มใบที่ถึงกับปิดกั้นไม่ให้มีการเลือกตั้งหรือทำลายพรรคฝ่ายค้านลงทั้งหมด แต่ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยเสรีที่เปิดให้มีการแข่งขันเลือกตั้งแบบบริสุทธิ์ยุติธรรมและเปิดให้ฝ่ายค้านท้าทายผู้มีอำนาจได้เต็มที่ ระบอบผสมแบบนี้คือ ยอมให้มีการเลือกตั้ง เพราะรู้ว่าถ้าปิดกั้น 100% ก็จะขาดความชอบธรรม แต่จะหาทางทำให้ฝ่ายรัฐบาลมีความได้เปรียบในการเลือกตั้ง จะแข่งกี่ครั้งฝ่ายค้านก็จะไม่มีวันได้ขึ้นสู่อำนาจได้

ในกรณีของไทยการปรับตัวของเผด็จการทหารที่ใช้สถาบันและกระบวนการประชาธิปไตยมาเป็นเครื่องมือในการครองอำนาจนั้น เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยจอมพล ป พิบูลสงครามแล้ว แต่ผมคิดว่าระบอบถนอมเป็นช่วงที่ความพยายามสร้างระบอบเผด็จการที่มีการเลือกตั้งนั้นก่อรูปอย่างชัดเจนและจริงจังที่สุด รัฐบาลถนอมใช้การออกแบบรัฐธรรมนูญมาเป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจอย่างแยบยล ลำพังกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญก็ถูกเตะถ่วงไปเรื่อย ๆ โดยอ้างว่าสถานการณ์ยังไม่เหมาะสม กว่าจะยอมให้มีกติการัฐธรรมนูญก็ใช้เวลาถึง 5 ปีหลังจากถนอมขึ้นมาเป็นนายกฯ เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญขาดความเป็นประชาธิปไตยอย่างชัดเจน มีการกำหนดให้มีวุฒิสมาชิกจากการแต่งตั้งซึ่งมีอำนาจเลือกนายกฯ ได้ ห้ามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นรัฐมนตรี แต่กลับให้ข้าราชการประจำสวมหมวกสองใบเป็นทั้งข้าราชการประจำและเป็นรัฐมนตรีได้ในเวลาเดียวกัน เพื่อเอื้อให้ผู้นำรัฐประหารที่เป็นนายทหารมีอำนาจอย่างกว้างขวาง

ถนอมและประภาสยังตั้งพรรคการเมืองของฝ่ายทหารที่ชื่อว่าพรรคสหประชาไทยขึ้นมาเป็นกลไกในการสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้ง (จัดขึ้นในปี 2512 หนึ่งปีภายหลังที่รัฐบาลถนอมยอมคลอดรัฐธรรมนูญในปี 2511) โดยมีนายทหารและข้าราชการระดับสูงเป็นกรรมการบริหารพรรค ซึ่งในที่สุดคณะรัฐประหารก็ทำสำเร็จ เมื่อพรรคทหารที่มีกลไกรัฐและผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นมาช่วยหาเสียงอย่างเต็มกำลังชนะการเลือกตั้งมาเป็นอันดับที่หนึ่ง ถนอมก็บรรลุเป้าหมายในการเปลี่ยนตัวเองจากสถานะนายกฯ ที่มาจากการยึดอำนาจด้วยกำลังอาวุธมาเป็นนายกฯ ที่ขึ้นสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้ง

ในแง่นี้ ผู้นำทหารไทยจึงมาก่อนกาลผู้นำเผด็จการในหลายประเทศ และได้สั่งสมทักษะ องค์ความรู้ เทคนิคกลเกมในการสร้างระบอบแบบเผด็จการผ่านการเลือกตั้งมาเนิ่นนานตั้งแต่ 50 ปีที่แล้ว สิ่งที่คณะรัฐประหารปี 2557 ที่นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำในช่วงระยะเวลา 9 ปีของการครองอำนาจไม่ว่าจะเป็นการออกแบบรัฐธรรมนูญ การตั้งพรรคการเมือง และการใช้อำนาจคุมการเลือกตั้งเพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับพรรคตัวแทนของฝ่ายรัฐประหารจึงไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่เป็นการเรียนรู้ ผลิตซ้ำ และดัดแปลงสิ่งที่ผู้นำทหารรุ่นก่อนเคยทำมาแล้ว เพียงแต่ว่าในยุคระบอบประยุทธ์ คณะรัฐประหารประสบความสำเร็จในการดึงพลเรือน ปัญญาชนนักวิชาการ สื่อ แกนนำภาคประชาชน และนักการเมืองฝ่ายค้านไปทำงานร่วมเป็นส่วนหนึ่งของระบอบคณาธิปไตยของชนชั้นนำได้มากขึ้นกว่ายุคถนอมที่กำลังหลักของระบอบจะจำกัดอยู่ที่กองทัพ ระบบราชการ และเทคโนแครตเป็นหลัก

สังคมไทยจึงควรศึกษาบทเรียนจากอดีตให้ถ่องแท้ว่าระบอบอำนาจนิยมมีกลวิธีสืบทอดอำนาจอย่างไร เพื่อรู้เท่าทันและหาทางป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกในอนาคต

เนื่องจากเนื้อที่หมดเสียแล้ว ผู้เขียนขอยกยอดประเด็นอื่น ๆ ที่เหลือเกี่ยวกับความสืบเนื่องและความเสื่อมถอยของระบอบทหารเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้วไปเขียนเล่าต่อในตอนหน้า

บทความที่เกี่ยวข้อง