ขอแค่ความหวัง นาขาวังรุ่นสุดท้าย - Decode
Reading Time: 3 minutes

ค่ายนักเขียน Decode Basecamp#1

พรองค์อินทร์  ธาระธนผล

จากเมืองตรังมาถึงบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ระยะทาง 911 กิโลเมตร จุดหมายปลายทางอยู่ที่ค่ายนักเขียน De/code Basecamp 1 รู้จักชาวบางปะกงคนแรกเป็นชายหนุ่มใบหน้าเปื้อนยิ้ม ผมสั้นเกรียนดูเป็นคนใจดี ชื่อ พี่กัญ-กัญจน์ ทัตติยกุล จากกลุ่มมิตรรักษ์บางปะกง บอกเล่าเรื่องราวของ “ลุ่มน้ำบางปะกง” มีความอุดมสมบูรณ์มากเป็นพื้นที่มีตะกอนดินมาทับถมปลูกพืชผลทางการเกษตรให้ผลผลิตดี โดยเฉพาะมะม่วงพันธุ์ดี อย่างเช่น มะม่วงแรด มะม่วงทองดำ มะม่วงเขียวเสวย มะม่วงน้ำดอกไม้ มีรสชาติอร่อยมาก ๆ สัตว์น้ำต่าง ๆ ชุกชุม ทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา และกุ้งแม่น้ำ ยังเป็นแหล่งที่อยู่ของ “โลมาอิรวดี” มาอาศัยอยู่บริเวณปากแม่น้ำบางปะกง ตรงนี้เป็นพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ สําหรับ โลมาอิรวดี หรือโลมาหัวบาตร เป็นสัตว์กินเนื้อ ไล่ล่าสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ เป็นอาหาร โดยเฉพาะปลาขนาดเล็ก เช่น ปลาซาร์ดีน ปลากะตัก ที่โลมาชอบมากเป็นพิเศษ คือ ปลาดุกทะเล การกินปลาดุกทะเลของ โลมาอิรวดี มีวิธีกินปลาที่ฉลาดมาก คือเลือกกินเฉพาะส่วนเนื้อจะไม่กัดตรงเงี่ยงปลาดุก เมื่อกัดกินเนื้อแล้วปล่อยไป

ชาวประมงบางปะกงจะไปช้อนเอาหัวปลาดุกมาทำอาหารหรือนำมาขาย แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้เงี่ยงปลาดุกนั้นตำมือเพราะพิษสงของเงี่ยงปลาดุกนั้นรุนแรงและร้ายกาจมาก “โลมาอิรวดี”  แห่งลุ่มน้ำบางปะกง เป็นจุดเริ่มต้นของกิจกรรม “ดูวาฬและโลมา” ในประเทศไทย

ที่พักชาวค่ายฯ อยู่ติดแม่น้ำบางปะกง มองเห็นแพผักตบชวา ลอยมาตามน้ำ สายลมพัดพลิ้วผ่านแนวกอผักตบชวาที่เคลื่อนตัวตามแรงลมและการไหลขึ้นลงของกระแสน้ำทำให้คิดถึงท่อนหนึ่งของบทเพลง “รักจางที่บางปะกง”   ท่วงทำนองคุ้นชินจากคลื่นสถานีวิทยุเพลงลูกทุ่ง หรือตามงานวัดงานรื่นเริงที่เคยฟัง

บาง ปะกง น้ำคงขึ้นขึ้นลงลง

ใจอนงค์ ก็คงเลอะเลือนกะล่อน

ปากน้ำเค็มไหลขึ้นก็จืดก็จาง

ใจน้องนาง รักนานเลยจางจากจร

ใจนารีสวยสด คงคดดั่งลำน้ำ

พี่ขืนพายจ้ำ คงต้องช้ำแน่นอน

ต้องจอดเรือขอลา แม่กานดางามงอน

วอนหลวงพ่อโสธร จงดลใจยอดชู้

เจ้าอยู่ แห่งไหน อยู่ใกล้หรือไกล สุดกู่

ได้ยินเพลงร้อง น้องจงคืนสู่

พี่ยังคอย พธู อยู่ที่บางปะกง

ถ้าการเปลื่ยนแปลงของจิตใจผู้คนจะขึ้น ๆ ลง ๆเหมือนกับสายน้ำ จนทำให้เกิดความทุกข์และความเศร้าใจ คงไม่มีใครอยากเห็นการเปลื่ยนแปลงนั้น หากการเปลื่ยนแปลงของการไหลขึ้น ๆ ลง ๆ ของสายน้ำบางปะกง บางช่วงเวลา กลับทำให้เกิดมูลค่าเพิ่ม และชุมชนสามารถอาศัยอยู่ทำกิน ปรับตัวให้กลายเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่น่าสนใจ เช่น เรื่อง นาขาวัง จะได้ไปเห็นกับตาในวันพรุ่งนี้

เช้าวันรุ่งขึ้นพี่กัญจน์ รออยู่ที่ วัดเขาดิน วัดตั้งอยู่บนภูเขาเล็ก ๆ แห่งเดียวในอำเภอบางปะกง เดิมชื่อวัดปัฎฐวีปัพพตาราม พี่กัญจน์ พาพวกเรามาชมภาพเขียนบนผนัง  แสดงให้เห็นสภาพพื้นที่การไหลของแม่น้ำบางปะกง อธิบายการงอกของผืนดินจากตะกอนสะสม พัฒนาการความเป็นไปของชุมชน ลุ่มน้ำบางปะกง ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดแต่ละช่วงเวลา พื้นที่บางปะกงมีความอุดมสมบูรณ์มาก ในอดีตการหา กุ้ง หอย ปู ปลา หรือการตกกุ้งแม่น้ำคือวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านบางปะกง  ชาวประมงหาอยู่หากินแบบง่าย ๆ อยู่กับธรรมชาติและเคารพธรรมชาติ เดินขึ้นบันไดไปถึงชั้นบนสุดเป็นจุดชมวิว มองเห็นด้านล่าง มีแนวถนน แม่น้ำ ป่าจาก สวนมะม่วง  บ้านเรือนและโรงงานอุตสาหกรรม ทางขวามือไกลออกไปเป็นแนวเขตแม่น้ำสายเก่า ขณะนี้มีป่าจากขึ้นเรียงเป็นทิวแถว พี่กัญจน์ เล่าว่า “ตรงนั้นเมื่อก่อนเคยเป็นสายการไหลของแม่น้ำ เมื่อทางเดินของแม่น้ำเปลี่ยนเส้นทางไปก็มีป่าจากขึ้นมากลบแม่น้ำไว้แทนที่”

ท้องฟ้าหลังฝนตกบางวันไม่ได้สดใสเสมอไป เหมือนวันนี้ท้องฟ้ามีความหม่นหมองเป็นฝ้าสีทึบ ๆ แม้จะมีร่องรอยของฝนที่ตกลงมาเมื่อคืน ความรู้สึกของชาวบ้านเขาดินแห่งบางปะกง กำลังรู้สึกเหมือนดีใจที่ฝนตกลงมา จะได้ปลูกข้าวทำนาปลูกพืชผลการเกษตร แต่ในขณะเดียวกันก็เกรงไปถึงความเจริญในอนาคตที่ถาโถมเข้ามาพร้อมกับโรงงานอุตสาหกรรม กลัวจะมาทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านที่เคยอาศัยพึ่งพิงธรรมชาติระบบนิเวศ ความอุดมสมบูรณ์เปลี่ยนไป   

สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ การรุกคืบเข้ามาของโรงงานอุตสาหกรรมพื้นที่ เขาดิน บางปะกง ความอุดมสมบูรณ์คู่ควรกับการอนุรักษ์ แต่ขณะนี้ถูกเปลี่ยนจากพื้นที่สีเขียวให้เป็นพื้นที่สีม่วงไปแล้ว ชาวบ้านหวั่นกลัวที่จะสูญเสียพื้นที่ทำกินทางการเกษตรที่มีความอุดมสมบูรณ์ แบบที่จะหาที่ไหนไม่ได้อีกแล้วบนโลกใบนี้ สิ่งที่ทางรัฐทำกับชาวบ้าน ไม่มีกระบวนการเข้ามาสอบถามความคิดเห็นของประชาชนในชุมชน ไม่เคยเชิญชาวบ้านในพื้นที่เข้าไปร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น แล้วใช้วิธีการยกเลิกกฎหมายที่ประชาชน มีสิทธิ์มีเสียง กระบวนการมีส่วนร่วม ตามหลักวิชาการยกเลิกทิ้งไปหมด กฎหมายที่เป็นอยู่  กระบวนการคือออกแบบเอื้อต่อการใช้ประโยชน์ให้ไปอยู่ในมือของนายทุน ทำให้ชาวบ้านเสียประโยชน์ เสียงเล็ก ๆ ของชาวบ้านในชุมชนจะมีใครได้ยินบ้าง 

การขึ้นมามองบนจุดที่สูงที่สุดที่วัดเขาดิน ทำให้เห็นภาพที่ชัดว่าพื้นที่ความสมบูรณ์แห่งนี้ กำลังตกอยู่ในสภาวะสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งมลภาวะทางน้ำ อากาศ ฝุ่น  ควัน จากการก่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรมหลากหลาย แบบหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากวัดเขาดิน พี่กัญจน์ พาไปที่ จุดเรียนรู้ภูมิปัญญา นาขาวัง และศูนย์เรียนรู้ปูทะเล ภูมิปัญญาของชาวลุ่มน้ำบางปะกง คณะของผู้ใหญ่เพ็ญและลุงสุทัศน์ สิมา ภูมิปัญญาในท้องที่ หนึ่งในกลุ่มเจ้าของนาแปลงใหญ่ เล่าถึงเรื่องการทำ “นาขาวัง” ว่าเป็นรูปแบบการทำนาในระบบนิเวศ 3 น้ำ คือ น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และภูมิปัญญาของชาวบ้าน เรียนรู้กลไกธรรมชาติของน้ำขึ้นน้ำลง โดยทำนาข้าวในฤดูฝน ฤดูแล้งก็ปล่อยน้ำเค็มให้ไหลเข้ามาในนา เพื่อเลี้ยงกุ้ง ปู  ปลา ชาวนาจะขุดคูน้ำลึกไว้ล้อมรอบแปลงนา เพื่อทำนาในช่วงที่น้ำจืด และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในช่วงน้ำเค็ม ขาวัง  คือร่องน้ำรอบแปลงนา เป็นการจัดการน้ำของชาวนาในพื้นที่ตำบลเขาดินชาวนาจะขุดดินรอบแปลงนา ความลึกประมาณ 1.5-2 เมตร เป็นการสร้างระบบนิเวศ ให้เอื้อต่อการสร้างแหล่งอาหาร ส่วนการเลี้ยงปูทะเลแบบ นาขาวัง เป็นการทำนาร่วมกับเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่ผืนเดียวกัน การปลูกข้าว เป็นข้าวพันธุ์หอมปทุม ปลูกเพื่อขายเมล็ดพันธุ์ เพราะเป็นเมล็ดพันธุ์ชั้นดี การทำนาราบรื่นสม่ำเสมอ แต่ปีนี้ฝนตกลงมาล่าช้า ชาวบ้านยังไม่ได้ทำนา ลุงสุทัศ ชวนชาวค่ายฯ ไปดูพื้นที่ทำ นาขาวัง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากจุดเรียนรู้ภูมิปัญญา นาขาวัง และศูนย์เรียนรู้ปูทะเล

หลังจากไปชมแปลงแนวการขุดนาขาวัง พี่กัญจน์ พาพวกเราเดินข้ามถนนแวะที่บ้านของ ป้าจี๊ด โล่ทินธ์ เจ้าของแปลงนา 12 ไร่ ทำนาขาวังและมีบ่อเลี้ยงปู ช่วงแรกป้าจี๊ดเตรียมจะขายของ แต่เปลี่ยนใจชวนคุยว่า มีปูทองหลางตัวใหญ่ขนาด 5 ขีดจะโชว์ให้ดู ให้เดินตามมาที่บ่อปู ผ่านมาทางอีกฟากหนึ่งของบ้าน กระชังปูสีเหลือง มีเชือกรั้ง มือป้าจี๊ดค่อย ๆ ลากขึ้นมาจากน้ำเบา ๆ เผยให้เป็นหน้าตาของปูทองหลาง ตัวโต กล้ามใหญ่ ป้าจี๊ดบอกว่า “ตัวนี้ว่าใหญ่แล้วนะ เคยมีปูตัวที่ใหญ่ว่านี้อีก หนักประมาณ 9 ขีด” สอบถามได้ความว่าปูทองหลางมีราคาดี ขายได้ราคากิโลกรัมละ 300-500 บาท เลี้ยงไว้ในบ่อประมาณ 200 ตัว สร้างรายได้ที่ดีมาก

ป้าจี๊ด เป็นผู้หญิงสูงอายุ วัย 78 ปี ทำงานคล่องแคล่วว่องไว ดูมีความสุขในทุกอิริยาบทของการดำเนินชีวิตผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านเรื่องราวของยุคสมัยจากความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ ประกอบกับสืบทอดภูมิปัญญาการทำนาขาวัง มาตั้งแต่บรรพบุรุษ ป้าจี๊ดเล่าว่า “เมื่อก่อนก็เช่านาเขาทำ ขยับขยายจนเป็นเจ้าของที่นาตัวเอง ส่วนที่เลี้ยงปูที่ตรงนี้เคยเป็นบ่อกุ้งเก่า เจ้าของให้เช่าจนมาช่วงหนึ่งที่เก็บหอมรอมริบขอซื้อต่อมาทำบ่อเลี้ยง กุ้ง ปู ปลา เขาขายให้ไร่ละ 5,000 บาท ที่ดินสิบกว่าไร่ ซื้อมาราคา 9 หมื่นกว่าบาท สร้างบ้านของตัวเองอยู่ด้านหน้า เปิดเป็นร้านขายของชำเล็ก ๆ การทำนาบางส่วน การไถคราดหว่านจะจ้างเขาทำ เพราะอายุมากแล้วทำไม่ไหว  

ส่วนการทำงานด้านอื่นทำเองหมด เช่น เลี้ยงกุ้ง ปู ปลาให้อาหารหรือจับขาย” เมื่อถามว่าเคยมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้าง ป้าจี๊ดเล่าถึง “ครั้งหนึ่งในอดีต ช่วงที่โรงงานไฟฟ้าล้างเพรียง ต้องการให้ชาวบ้านเปิดประตูกั้นน้ำพร้อม ๆ กัน เจ้าของนาแปลงอื่นเปิดประตูเมื่อน้ำล้างเพรียงเข้ามาในพื้นที่ทำนาปรากฏว่ากุ้งตายหมด ปีนั้นชาวบ้านขาดทุนกันเยอะ มีเพียงป้าจี๊ดเพียงเจ้าเดียวที่ปิดประตูกั้นน้ำไม่ให้น้ำล้างเพรียง ไหลมาปนในนาที่เลี้ยงกุ้ง จึงรอดจากการขาดทุนมาได้” ถามต่อว่า ป้ากังวลไหมขนาดน้ำล้างเพรียงจากโรงไฟฟ้าที่ชาวบ้านเหมือนจะมั่นใจว่าไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือการทำมาหากินยังมีผลขนาดนี้ ต่อไปพื้นที่มีโรงงานอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพิ่มเข้ามามากกว่าเดิม ป้าจะว่ายังไงบ้าง ป้าจี๊ดตอบว่า “ฉันก็ไม่รู้ว่าจะทำต่อไปอีกนานสักแค่ไหน เพราะอายุมาก แก่แล้ว บ้านกับที่ดินไม่รู้ว่าจะถูกเวนคืนด้วยหรือเปล่า ไม่มีใครมาให้ข้อมูลเลย กลัวว่ามันจะเกิดผลกระทบต่อน้ำและมีของเสียเกิดขึ้น ถ้ามีโรงงานมาตั้งกันเยอะ ๆ อย่างโรงงานไฟฟ้า ช่วงแรก ๆ ก็ดีนะ แต่พอนานวันเข้า มีผลเสียเกิดขึ้นน้ำไม่สะอาด ทุกวันนี้ใช้วิธีการเลี้ยง กุ้ง ปู ปลา ทำนาข้าวแบบธรรมชาติ  ไม่นานมานี้ ป้าเพิ่งไปเรียนทำน้ำหมักจากผักเบี้ยเอามาใช้เองเขาเก็บค่าเรียน 500 บาท เรียนจบกลับมาทำใช้เอง เจ้าหน้าที่เกษตร มาตามให้ไปสอนการทำน้ำหมักจากผักเบี้ยให้ชาวบ้านคนอื่นทำให้เป็นด้วย เขาให้ค่าเสียเวลาฉันด้วย” รายได้ของป้าจี๊ดทุกวันนี้ บางวันก็ได้วันละสามสี่พันบ้าง สี่ห้าร้อยบ้าง ไม่เท่ากัน แต่จะได้เงินทุกวันไม่ต้องไปรับจ้าง ป้ามีลูกสาวสองคน คนหนึ่งก็แยกครอบครัวไป ส่วนอีกคนมาช่วยขายของที่บ้าน ก่อนกลับบอกกับป้าจี๊ดไปว่า “บ้านของป้าสวยนะ น่าจะเปิดเป็นที่พักโฮมสเตย์ จะได้มาพักบ่อย ๆ”

“โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” หรือ EEC ทำให้ชุมชนและชาวบ้านบางปะกง เกิดความรู้สึก หวาดหวั่น อยู่ลึก ๆ ถึงผลกระทบที่ตามมา  เหมือนจะเกิดความหวังว่าความเจริญที่มาถึงจะมาช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้นทางด้านเศรษฐกิจ ไม่มีใครคัดค้านการพัฒนาประเทศ แต่สิ่งที่ชาวบ้านในชุมชนต้องการคือ วิถีชีวิตของคนบางปะกง จิตวิญญาณ การอนุรักษ์ ความอุดมสมบูรณ์ ธรรมชาติที่มีอยู่มาอย่างยาวนาน สามารถจะเดินทางไปด้วยกันกับความเจริญได้หรือไม่ ถ้าเสียงของความหวังจากชุมชนเล็ก ๆ ดังว่า ชาวบ้านที่นี่เป็นผู้บุกเบิก ไม่ใช่ผู้บุกรุก พื้นที่ตรงนี้จะเป็นแหล่งสร้างอาหารที่มีคุณภาพดีให้กับ EEC ความเจริญควรจะเดินไปพร้อมกับความเป็นอยู่ของเกษตรกรที่จะดีขึ้นไปด้วยตามลำดับ วันนี้ สิ่งที่ชาวบ้านเป็นห่วงมากก็คือการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน กำลังเปลี่ยนไปจากพื้นที่ ที่เป็นเกษตรกรรมไปสู่พื้นที่อุตสาหกรรม มีผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐบาลและหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ควรหาทางออกร่วมกัน โดยมีผลกระทบน้อยที่สุด และให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์อย่างยุติธรรมที่สำคัญประโยชน์ควรตกเป็นของประชาชนไม่ใช่ตกเป็นของเหล่านายทุนผู้หิวโหย

ความหวังจากชุมชน บ้านเขาดิน นาขาวัง จะเป็นความหวังที่กระจ่างชัดเจน มีเสียงดังเพียงพอหรือไม่  เราจะมีความหวังอันสดใสเรืองรองจากรัฐบาลใหม่ได้หรือเปล่า เพราะวันนี้รัฐบาลใหม่ที่ได้มา หน้าตาอัปลักษณ์ เข้ามาพร้อมกับเสียงก่นด่าอื้ออึง ว่าเป็นคณะการละคร แถมยังเป็นละครฉากน้ำเน่าน่าเอือมระอา เป็นรัฐบาลเริ่มต้นด้วยการเสียสัจจะผิดสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนเหมือนกับชาวนาที่รอฟ้ารอฝนรอพระพิรุณดุจดั่งสายฝนฉ่ำเย็น แต่ฝนที่ตกลงมากลับกลายเป็นฝนกรดแสนห่าทำลายพืชผลทำลายผืนดิน ทำลายความหวัง กัดกร่อนกำลังใจ ความหวังอันน้อยนิด ดูเลือนรางริบหรี่มืดมน

ระยะทางก่อนชาวค่ายฯ กลับมาถึงที่พัก ฝนเทกระหน่ำอย่างหนักตลอดทาง เสียงฟ้าร้องคำราม เหมือนฟ้าจะพิโรธโกรธใครก็ไม่รู้ ฟ้าดินสั่นสะเทือน บรรยากาศปั่นป่วน ทั้งลมทั้งฝน เหมือนการเมืองของประเทศไทยในช่วงตั้งรัฐบาลใหม่คิดในใจว่า อยากจะให้เสียงแห่งความหวังของชุมชนชาวบ้าน เขาดิน นาขาวัง บางปะกง  จ.ฉะเชิงเทรา ดังสนั่นเหมือนฟ้าร้องฟ้าลั่น หากใครไม่คิดถึงหัวจิตหัวใจของชาวบ้านหรือผลกระทบต่อคนเล็ก ๆ ให้ฟ้าฝนมีแรงสั่นสะเทือน กลายเป็นสายฟ้าอัสนีบาต ฟาดลงไปให้ถึงผู้ที่เสียสัจจะผิดสัญญากับประชาชน โทษฐานที่ทำให้ประชาชนสิ้นหวัง และหมดศรัทธา