นักสิทธิมนุษยชนรอดพ้นคดีฟ้องปิดปาก แต่การคุกคามด้วยกฎหมาย หรือที่เรียกว่าคดี SLAPP ยังคงอยู่ และยังคงบั่นทอนการทำงานและจิตใจของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
ในห้วงเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ฝ่ายตุลาการของไทยแสดงบทบาทที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับชนชั้นนำ ในการเดินหน้าขัดขวาง คุกคาม และปิดปากองคาพยพต่าง ๆ ในสังคมที่พวกเขามองว่าเป็นภัยคุกคาม ซึ่งนั่นก็รวมไปถึงการขัดขวางพรรคก้าวไกลพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
นักสิทธิมนุษยชนเองก็ถูกเล่นงานผ่านกระบวนการศาลในทำนองเดียวกันด้วยข้อหาที่แล้วแต่จะเสกสรรปั้นแต่งขึ้นมา เช่นเดียวกับมหากาพย์การต่อสู้ในชั้นศาลของฉันที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2562 จากการทวิตและรีทวิตข้อความที่ฉันโพสต์ลงบนทวิตเตอร์ (ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็น “X”) เพียงไม่กี่ข้อความ เพื่อให้กำลังใจนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหลายคนที่ถูกบริษัทธรรมเกษตร จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทฟาร์มไก่สัญชาติไทย ฟ้องร้องดำเนินคดี หลังจากพวกเขาเปิดโปงสภาพการทำงานภายในบริษัทที่ย่ำแย่ให้สาธารณชนได้รับทราบ
ทางบริษัทอ้างว่าข้อความที่ฉันโพสต์ในโซเชียลมีเดียมีไฮเปอร์ลิงก์ที่เชื่อมโยงไปยังคลิปวิดีโอซึ่งผลิตโดยฟอร์ตี้ฟายไรต์ องค์กรสิทธิมนุษยชนที่ฉันเคยทำงานด้วย
บริษัทธรรมเกษตรอ้างว่าคลิปดังกล่าวมีเนื้อหาหมิ่นประมาท เนื่องจากมีบทสัมภาษณ์อดีตลูกจ้างของบริษัท ที่พูดถึงข้อกล่าวหาที่บริษัทได้ให้การปฏิเสธ แม้ว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เคยตัดสินในคดีก่อนหน้านี้ไว้แล้วว่าวิดีโอชิ้นดังกล่าวไม่มีเนื้อหาในเชิงดูหมิ่นแต่อย่างใด แต่ศาลอาญากรุงเทพใต้ก็ยังรับฟ้องและสั่งดำเนินคดีอาญากับฉัน
ตลอดระยะเวลาสามปีที่ผ่านมา ฉันขึ้นศาลทั้งหมด 15 ครั้ง และเปลี่ยนตัวผู้พิพากษาไปแล้วถึงสามคน ก่อนศาลจะมีคำสั่งยกฟ้องคดีดังกล่าวไปแล้วในวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา หากถูกตัดสินว่ากระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ฉันอาจได้รับโทษจำคุก 42 ปี จากการโพสต์และรีโพสต์ข้อความในโซเชียล 21 ครั้ง
แน่นอนว่าคงเป็นเรื่องที่เลวร้ายอย่างยิ่ง หากฉันต้องใช้ชีวิตที่เหลือในเรือนจำ แต่สิ่งที่น่าหวาดหวั่นยิ่งกว่าคือ คำพิพากษาอาจสร้างบรรทัดฐานที่ส่งผลกระทบต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนรุ่นต่อ ๆ ไป
ในการต่อสู้คดีนี้ ฉันต้องเสียสมาธิในการทำงาน และเสียเวลาชีวิตไปอย่างมาก บ้านของฉันอยู่ห่างจากศาลไปราว 45 กิโลเมตร ทำให้ต้องใช้เวลาเดินทางไปกลับอย่างน้อยสองชั่วโมงในช่วงเช้าของวันทำงาน
บางครั้งฉันต้องมาพักค้างคืนที่โรงแรมใกล้ ๆ กับศาลเพื่อไปให้ทันตามเวลาที่ศาลนัด โดยส่วนใหญ่แล้ว การพิจารณาคดีในแต่ละครั้งกินเวลาทั้งวัน ในบางครั้ง ฉันเดินทางมาถึงศาลเพียงเพื่อได้รับแจ้งว่ามีการเลื่อนพิจารณาออกไปโดยไม่มีการแจ้งให้คู่กรณีได้รับทราบล่วงหน้า
ในการสู้คดียังทำให้องค์กรเก่าของฉันต้องสูญเสียเวลาและทรัพยากรที่มีค่าเช่นกัน ฟอร์ตี้ฟายไรต์ต้องระดมทุนกว่า 2,700,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายด้านกฎหมายและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนฉันและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนอีกเก้าคนที่ถูกบริษัทฟาร์มไก่ฟ้องในคดีต่าง ๆ
กระบวนการที่ดำเนินไปเรื่อย ๆ อย่างเชื่องช้านี้ ส่งผลกระทบต่อครอบครัวและคนที่ฉันรักอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ มันได้บั่นทอนทรัพยากร เวลา และกำลังใจของฉันไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนี่เป็นกลยุทธ์หัวใจสำคัญของ “การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ” หรือที่เรียกกันว่าการฟ้องคดีปิดปาก SLAPP
ในประเทศไทย ธุรกิจและภาคส่วนอื่น ๆ จะดำเนินการฟ้องคดี SLAPP ซึ่งเป็นการพยายามใช้กฎหมายอาญาเพื่อข่มขู่ และปิดปากนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้สื่อข่าว ตลอดจนนักวิชาการ ให้อยู่หมัด
การฟ้องคดีปิดปากในประเทศไทยเกิดขึ้นมาเป็นเวลาช้านานแล้ว ตามสถิติของสำนักงานด้านกระบวนการยุติธรรม นับแต่ปี 2558 เป็นต้นมา มีการฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญาอย่างน้อย 25,000 ครั้งในประเทศไทย โดยตั้งแต่ปี 2559 บริษัทธรรมเกษตร จำกัด บริษัทเดียว เป็นโจทก์ฟ้องอย่างน้อยใน 37 คดี โดยมีจำเลยรวมทั้งสิ้น 22 คน และส่วนใหญ่เป็นจำเลยผู้หญิง
โชคดีที่การต่อสู้คดีนี้ฉันได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทั้งจากครอบครัว องค์กร The Fort ทีมงานที่ฟอร์ตี้ฟายไรต์ รวมทั้งนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ตลอดจนนักการทูตต่างประเทศในประเทศไทยและทั่วโลก
แต่ฉันอดคิดไม่ได้ว่า คนที่อาจโชคดีน้อยกว่าฉัน หรือมีสถานะเป็นคนชายขอบ จะทำอย่างไรหากต้องเผชิญกับการฟ้องคดีอาญาแบบเดียวกับที่ฉันเจอ เพียงเพราะพวกเขาออกมาแสดงความเห็นโดยสุจริต ตามสิทธิเสรีภาพที่พวกเขาพึงมีตามรัฐธรรมนูญ พวกเขาต้องดิ้นรนต่อสู้มากเพียงใดเพื่อปกป้องสิทธิของตนเองและสิทธิของคนอื่น? ทำอย่างไรจึงสามารถอดทนรับมือกับกระบวนการที่สร้างความลำบากและดูเหมือนไม่มีวันสิ้นสุดเช่นนี้ได้? และทำไมพวกเขาต้องอดทนกับสิ่งเหล่านี้ด้วย?
แม้แต่รัฐบาลไทยที่มักใช้กระบวนการยุติธรรมโจมตีผู้เห็นต่าง ก็ยังมองเห็นผลเสียของคดีฟ้องปิดปาก แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ที่จัดทำโดยกระทรวงยุติธรรม ได้ระบุถึงการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่อนุญาตให้ศาลปฏิเสธการฟ้องคดีที่มีการบิดเบือนข้อมูลหรือเป็นไปเพื่อกลั่นแกล้งจำเลย
แต่โชคร้ายที่ในทางปฏิบัติ การแก้ไขประมวลกฎหมายนี้ช่วยอะไรไม่ได้มาก ทีมทนายของฉันเคยขอให้ศาลพิจารณาไม่รับฟ้องในคดีของฉันตามประมวลกฎหมายดังกล่าวแล้ว แต่ศาลก็ปฏิเสธ
แน่นอนว่ายังพอมีสิ่งที่เราทำได้ และควรทำอีกมาก เริ่มจากเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องยุติการเอาผิดทางอาญาในคดีหมิ่นประมาท ดังที่ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การสหประชาชาติและขบวนการสิทธิมนุษยชนได้เคยเรียกร้องไว้ จริงอยู่ที่การหมิ่นประมาทเป็นข้อกังวลที่ชอบธรรมในสังคมไทยและในที่อื่น ๆ แต่การฟ้องร้องในข้อหาดังกล่าวควรจำกัดอยู่เป็นแค่คดีความทางแพ่งเท่านั้น
ภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งต้องสามารถพูดความจริงต่อผู้มีอำนาจได้ นี่คือดัชนีชี้วัดสังคมที่เท่าเทียม การฟ้องคดีปิดปากไม่เพียงทำให้เกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจและต่อสภาพจิตใจของจำเลยที่ถูกกล่าวหา หากยังส่งผลเสียต่อระบบนิเวศโดยรวมของภาคประชาสังคมและประชาธิปไตยในประเทศไทย
ทันทีที่ไทยจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่สำเร็จ การยุติการฟ้องคดีปิดปากต้องเป็นหนึ่งในเรื่องที่รัฐบาลต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ความคุ้มครองแก่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน
[บทความชิ้นนี้ได้รับการแปลและปรับปรุงจากบทความภาษาอังกฤษชื่อ “Thai companies should not be able to jail their critics” ซึ่งได้รับการเผยแพร่ทาง Nikkei Asia เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2566]