เขื่อน vs ป่า พื้นที่มรดกโลกจากเขียวสู่แดง - Decode
Reading Time: 3 minutes

ลักลอบตัดไม้ ล่าสัตว์สงวน เส้นทางคมนาคมตัดผ่านผืนป่า

สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นภัยคุกคามต่อแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติกว่า 56 แห่งจาก 227 แห่ง ที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ขึ้นทะเบียนไว้ทั่วโลก อย่างไรก็ตามมีอีกหนึ่งสิ่งอันตรายไม่แพ้กัน นั่นก็คือ การพัฒนาโครงสร้างเพื่อการเก็บน้ำ ภัยคุกคามที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ หลังมีแผนการก่อสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำภายในพื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่ หวังแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในอนาคต

แต่เขื่อนและอ่างเก็บน้ำจะตอบสนองความต้องการใช้น้ำของคนไทยจริงหรือไม่ และหากคุ้มค่าจริงต้องแลกมากับอะไรบ้าง ? ชวนทำความเข้าใจสถานการณ์ ค้นหาแนวทางจัดการพื้นที่มรดกโลกที่อาจได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ของรัฐจาก Dialogue Forum 3 l Year 4: “เขื่อน” ในพื้นที่มรดกโลก

เขื่อน มรดกโลก เขาใหญ่ ดงพญาเย็น ห้วยขาแข้ง แก่งกระจาน คลองมะเดื่อ อ่างเก็บน้ำ

เขื่อนเดินหน้า ป่าถอยหลัง

“ในส่วนของกรมอุทยานเองที่เป็นหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ ประเทศไทยในฐานะที่เราเป็น State Party ในตัวอนุสัญญานี้ เราพร้อมที่จะทำตาม แนวทางในการอนุรักษ์อนุสัญญาตามพันธกรณีตามที่ประเทศได้มีการเข้าสัตยาบันไว้”

สุนีย์ ศักดิ์เสือ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สรุปผลการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 45 ณ กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ว่าด้วยมติที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยว่า มีข้อกังวลจากคณะกรรมการมรดกโลกเรื่องการเสนอขอสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำในพื้นที่มรดกโลก ที่จะส่งผลกระทบกับคุณค่าและทรัพยากรในพื้นที่มรดกโลก 

ก่อนอื่นต้องอธิบายว่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และ กลุ่มป่าแก่งกระจาน คือ 3 มรดกโลกทางธรรมชาติที่ขึ้นทะเบียนในประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้ประเทศไทยมีการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA : Environmental Impact Assessment) ควบคู่กับการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EHIA : Environmental Health Impact Assessment) อย่างต่อเนื่องเพื่อคาดการณ์ผลกระทบทั้งในทางบวกและทางลบจากการพัฒนาโครงการต่อสิ่งแวดล้อม

ต่อมา เมื่อปี 2564 มีเสียงสะท้อนจากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 44 ว่าประเทศไทยควรยกระดับการตรวจสอบและทำการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA : Strategic Environmental Assessment) สำหรับลุ่มน้ำรวมถึงแหล่งมรดกโลก หลังมีแผนการสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำภายในพื้นที่มรดกโลกอย่างพื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่ โดยมีมติให้ยกเลิกแผนการก่อสร้างอย่างถาวร 

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการมอบหมายให้กรมชลประทานชะลอการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับแผนการก่อสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ จนกว่ารายงาน SEA จะสมบูรณ์ และได้รับการตรวจสอบโดยศูนย์มรดกโลกและองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ทว่าจากวันนั้น จนวันนี้ ยังคงมีการดำเนินการขออนุญาตก่อสร้างเขื่อนอยู่เป็นระยะ หนึ่งในนั้นคือ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อ ที่อาจเป็นหนึ่งชนวนที่ทำให้กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ถูกถอดถอนจากการเป็นมรดกโลกได้ โดยหากพื้นที่นั้นไม่ได้คงสภาพตามที่ได้มีการขึ้นทะเบียนไว้​ตามหลักเกณฑ์ของแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ กล่าวคือ

หลักเกณฑ์ข้อที่ 7 : เป็นตัวอย่างที่เด่นชัดของกระบวนการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทางธรณีวิทยา และวิวัฒนาการทางชีววิทยาที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติของมนุษย์

หลักเกณฑ์ข้อที่ 8 : เป็นแหล่งที่เกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์หายากหรือสวยงามเป็นพิเศษ เช่น แม่น้ำ น้ำตก ภูเขา

หลักเกณฑ์ข้อที่ 9 : เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีความพิเศษเป็นเลิศ รวมทั้งมีความงดงามตามธรรมชาติที่หาได้ยากยิ่ง

หลักเกณฑ์ข้อที่ 10 : เป็นที่อยู่อาศัยของพันธุ์พืชและสัตว์หายากของโลกที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกและเป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก

โดยทุ่งใหญ่ห้วยขาแข้งขึ้นทะเบียนในหลักเกณฑ์ข้อ 7 ข้อ 9 ข้อ 10 ต่อมาในปี 2548 กลุ่มป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่ขึ้นทะเบียน ในหลักเกณฑ์ข้อ 10 ในส่วนของชนิดพันธุ์สำคัญ ตลอดจนเป็นถิ่นอาศัยจระเข้น้ำจืด เสือโคร่ง ช้างป่า ในขณะที่ป่าแก่งกระจานซึ่งผ่านหลักเกณฑ์ข้อที่ 10 เช่นกันเพราะชนิดพันธุ์สำคัญ อย่างจระเข้น้ำจืด เสือ​ ช้าง​ วัวแดง และห้วยทางธรรมชาติที่ยังหลงเหลือ 

นอกจากนี้ สุนีย์ ยังระบุว่ามีการผลักดันให้นำคู่มือในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในบริบทของการเป็นมรดกโลกไปใช้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำใด ๆ มีการมองหลากมิติว่าจะเกิดผลกระทบกับคุณค่าของพื้นที่มรดกโลกหรือไม่ และให้ประเทศไทยสามารถช่วยดูแลแหล่งมรดกโลกที่เป็นพื้นที่พิเศษนี้เอาไว้ได้

น้ำมาปลากินมด น้ำหมดเราสร้างเขื่อน

“ประเทศไทยแม้จะมีน้ำเยอะ แต่เมื่อดูถึงความต้องการใช้น้ำที่ต้องมีอยู่ในปัจจุบันแล้วยังเห็นว่าขาด ถ้าหากมีการพัฒนาตามแผนที่ทางรัฐบาลวางไว้ ตามกรอบยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ 20 ปี การขาดแคลนน้ำก็น่าจะลดลงได้ เราจึงต้องการพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่เอาไว้ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำของเรา”

เกื้อศักดิ์ ทาทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม กรมชลประทาน กล่าว พร้อมอธิบายว่าการสร้างเขื่อนหรือทำนบจำต้องสร้าง ณ พื้นที่ที่มีภูมิประเทศเป็นช่องเขาที่มีน้ำไหลออกมา และทำการปิดช่องเขาไว้เพื่อทดน้ำที่ไหลลงมา โดยใช้ภูเขาสองข้างเป็นกำแพงธรรมชาติในการโอบอุ้มน้ำ ในขณะที่การใช้พื้นที่ราบในลักษณะฝาย หรือประตูระบายน้ำจะสามารถกักเก็บน้ำได้น้อย และไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ตามที่ต้องการ

“คนไทยเรานี่แหละที่ต้องการน้ำมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากชุมชนเราขยายตัว พื้นที่เกษตรเราขยายตัว แม้แต่ภาคอุตสาหกรรม ในเรื่องของน้ำเสีย น้ำเค็มที่รุกเข้ามา เราก็ต้องใช้น้ำจืดเข้าไปผลักดัน”

โดยเหตุผลในการสร้างเขื่อนมีอยู่ 3 ข้อด้วยกัน นั่นก็คือ

(1) เพื่ออุปโภคบริโภคของชุมชนทั้งที่อยู่ในจังหวัดนครนายก จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดสระแก้ว และ 

(2) เนื่องจากประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรเยอะ แต่อาศัยรอน้ำฝนอยู่พื้นที่เกษตรเหล่านี้ต้องการใช้น้ำ 

(3) แม่น้ำบางปะกง ถูกน้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาทุกปี จึงจำต้องผลักดันไว้ไม่ให้น้ำเค็มเข้ามาเลยบริเวณโรงพยาบาลอภัยภูเบศร ซึ่งแต่ละปีใช้น้ำผลักดันเยอะมาก ถ้าหากว่าน้ำขึ้นมาก็จะใช้น้ำประปาตรงนั้นไม่ได้ รวมไปถึงสมุนไพรที่อ่อนไหวต่อน้ำเค็มอีกด้วย

ณ ตอนนี้ มีโครงการที่อยู่ในแผนงานรอบผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ทั้งหมด 7 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำห้วยสะโตน, อ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อ, อ่างเก็บน้ำใสน้อย–ใสใหญ่, โครงการอ่างเก็บน้ำลำพระยาธาร, วังมืด, อ่างเก็บน้ำคลองบ้านนา และอ่างเก็บน้ำคลองหนองแก้ว โดยสถานะปัจจุบัน ทางกรมชลประทาน ได้หยุดเดินหน้าสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำทุกแห่ง ระหว่างรอผลการศึกษา SEA เสร็จสมบูรณ์ 

นอกจากนี้ เกื้อศักดิ์ยังกล่าวต่อว่า แผนการสร้างเขื่อนที่เป็นประเด็นนั้น สร้างไว้เพียงบริเวณขอบของอุทยานเพื่อลดผลกระทบที่จะรบกวนเขตอุทยาน หลังปี 2548 ถึงมีประกาศเป็นพื้นที่มรดกโลก ในขณะที่ทางทิศใต้มีการสร้างไว้แล้ว ในเขตพื้นที่จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว มีอ่างเก็บน้ำห้วยปรือ อ่างเก็บน้ำหนองไม้ปล้อง อ่างเก็บน้ำทับลาน อ่างเก็บน้ำพุทธปรง และเขื่อนขนาดใหญ่ 2 แห่ง คือเขื่อนนฤบดินทรจินดา หรือ เขื่อนห้วยโสมง และเขื่อนขุนด่านปราการชล ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่แต่กลับเก็บกักน้ำเพียง 200 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อเทียบกับเขื่อนภูมิพลที่เก็บน้ำ 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย ทว่าตอนนี้คงทำขนาดนั้นไม่ได้แล้ว เกื้อศักดิ์ระบุว่า ต้องขอบคุณวิสัยทัศน์ของผู้ใหญ่และรัฐบาลในอดีตที่สร้างไว้ให้เราได้ใช้ประโยชน์ถึงในปัจจุบันนี้

“อย่างไรก็แล้วแต่ ไม่ได้ว่าสร้างแล้วจะปล่อยให้มันเป็นไปตามชะตากรรม จะมีแผนในเรื่องของการป้องกันแก้ไขผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อมรดกโลกด้วยนะครับ ถ้าหากว่าเราสามารถพิสูจน์ให้ทางคณะกรรมการมรดกโลกเห็นว่ามันไม่กระทบต่อ OUV หรือว่าคุณค่าโดดเด่นของเขาได้มันก็สามารถ เพราะว่าทางมรดกโลกเองที่จริงแล้ว เขาไม่ต้องการให้ประเทศภาคีหยุดการดำเนินงานใด ๆ ในเรื่องของการพัฒนาประเทศโดยการห้ามเข้ามาพื้นที่ แตะต้อง” เกื้อศักดิ์ กล่าว

ตรวจการบ้านตามโจทย์มรดกโลก

“การสร้างเขื่อนในพื้นที่มรดกโลกขัดกับความเป็นมรดกโลก เขาเน้นย้ำไว้ขอให้ไทยปรึกษาหารือกับทาง IUCN เพื่อประกอบการพิจารณา SEA ในพื้นที่เขาใหญ่ก็ขอให้ยกเลิกการสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำโดยสิ้นเชิง โดยไม่ต้องรอผลการพิจารณาจาก SEA ขอความมั่นใจว่าพื้นที่โดยรอบให้มีการระงับไว้ก่อนจนกว่าผล SEA จะออก ส่งไปศูนย์มรดกโลกและรับการประเมินจาก IUCN อีกครั้งหนึ่ง”

ดาราพร ไชยรัตน์ ผู้อำนวยการส่วนมรดกโลกทางธรรมชาติและพื้นที่สงวนชีวมลฑล กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อธิบายว่าการดำเนินการเรื่องเขื่อน การพัฒนาสาธารณูปโภค สาธารณะขนาดใหญ่ ในมุมมองของอนุสัญญามรดกโลกและบริบทของมรดกโลกทางธรรมชาตินั้นมีความเกี่ยวเนื่องกัน โดยในส่วนแรกเกี่ยวข้องกับอนุสัญญามรดกโลกทางธรรมชาติโดยตรง เพราะเมื่อประเทศไทยเป็นภาคีแล้ว จะพบกับตัวบทบัญญัติที่บัญญัติไว้ว่า รัฐภาคีมีหน้าที่ในการระบุคุ้มครองป้องกันอนุรักษ์นำเสนอ ส่งต่อไปยังชนรุ่นหลัง ต่อมาคือการปฏิบัติตามแนวทางอนุรักษ์มรดกโลก (Operation Guideline) เมื่อมีโครงการขนาดใหญ่ รวมไปถึงเขื่อน

หากกรณีที่มีโครงการขนาดใหญ่ คณะกรรมการมรดกโลกขอให้รัฐภาคีแจ้งคณะกรรมการผ่านทางตัวเลขาธิการอนุสัญญาว่ากำลังจะดำเนินการอะไรในตัวแหล่งมรดกโลกบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูสภาพ ตลอดจนการก่อสร้าง เพื่อให้มั่นใจว่าคุณค่าอันโดดเด่นและเป็นสากลของแหล่งได้รับการปกป้องไว้อย่างสมบูรณ์ และต้องขึ้นทะเบียนแหล่งบัญชีมรดกโลกในภาวะอันตราย โดยเขื่อนหรือแหล่งเก็บน้ำถือเป็นอันตรายอย่างชัดแจ้งตามเกณฑ์ที่ถูกระบุไว้

“ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม ในพื้นที่หรือรอบเขตที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ ขอให้ดำเนินการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ก่อนการดำเนินโครงการนะคะ”

ด้าน สุปราณี กำปงซัน หัวหน้าแผนงานประเทศไทย องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ระบุว่าทั้ง SEA และ EHIA จะมองประเด็นทั้งด้านสังคมเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม โดยคำว่าสังคม คือทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ หรือพี่น้องประชาชนที่ได้รับประโยชน์จากกิจกรรมที่จะเกิดในพื้นที่นั้น ทำให้ต้องมีการปรึกษาหารือ เพื่อให้ทราบถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นและมาตรการในการบรรเทา นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่เรียกว่า No​ Go Option กล่าวคือคือทางเลือกที่จะไม่สร้างเลย ที่ต้องพาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดมานั่งพูดคุยกันว่าต้องการให้การดำเนินการดังกล่าวมีทิศทางเป็นอย่างไร ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการเป็นพื้นที่มรดกโลก

“ประเทศไทยมีเวลา 1 ปี ในการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะ โดยในข้อเสนอแนะก็พูดมาชัดเจนมากเลยว่า จะต้องมีการปรึกษาหารือกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ได้มติของความเห็นชอบว่าคิดเห็นอย่างไรและเขามองว่าตัวเองมีบทบาทอย่างไร ในการที่จะเข้ามาช่วยบริหารจัดการพื้นที่ตรงนี้”

วิกฤติใหม่ vs ทางออกเดิม

“คนในพื้นที่บอกเราเสมอว่าเขาไม่เคยจะใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขเลย เขามีความกังวลใจอยู่ตลอดเวลาว่า ‘วันนี้จะมีน้ำท่วมบ้านเขาไหม’ ‘จะเกิดอะไรขึ้นในการประชุมอะไรอีกไหม’ ที่ผ่านมามีการประชุมในพื้นที่ตลอด ชาวบ้านต้องออกไปข้างนอกตลอด เขาพูดกับบัวตลอดว่า เราไม่เคยได้อยู่อย่างสงบสุขเลย เราต้องออกไปปกป้องพื้นที่ตัวเอง เราต้องออกไปปกป้องป่า”

อรยุพา สังขะมาน เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เน้นย้ำว่าเมื่อปี 2565 รัฐบาลไทยได้เข้าร่วมปฏิญญากลาสโก ซึ่งปฏิญาณนี้ ใจความสำคัญ คือการหยุดตัดไม้ทำลายป่าภายในปี พ.ศ.2573 แต่ว่า โครงการหรือกระบวนการของหน่วยงานไทย กลับสวนทางกับคำมั่นสัญญาหรือปฏิญญาณที่เข้าร่วมไว้ “ด้วยหลักการมันดี แต่ทุกโครงการที่เราหยิบมาเราเจอปัญหาตลอด”

อรยุพา กล่าวต่อว่า เครือข่ายในพื้นที่ยังคงเดินหน้าปกป้องบ้านและร่วมสำรวจอยู่เสมอ และมีการพบสัตว์สงวนในพื้นที่หลายต่อหลายครั้ง เช่น การพบสมเสร็จพร้อมกันสามตัวในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี และการพบวัวแดง และเสือโคร่ง* ที่ห้วยสะโตน (แหล่งสุดท้ายของเขาใหญ่-ดงพญาเย็น) พื้นที่เหล่านี้ล้วนสำคัญเพราะมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง แต่กำลังถูกเล็งให้แปรเปลี่ยนสภาพให้กลายเป็นเขื่อนไม่ก็สร้างอ่างเก็บน้ำแทน

“เราเผชิญวิกฤติสิ่งแวดล้อมแบบใหม่ โลกไม่เหมือนเดิม เราอยู่ในภาวะโลกเดือด เรายังสามารถจัดการบริหารน้ำแบบเดิม ๆ ในปัญหาสิ่งแวดล้อมแบบใหม่ที่เราไม่เคยพบมาก่อน เราไม่สามารถคาดการณ์คาดเดาได้หรือได้ดีหรือไม่ หลาย ๆ ครั้งเราจะพบว่า อ่างเก็บน้ำในพื้นที่ไม่มีน้ำเลย ก็เป็นคำถามให้กับคนในพื้นที่อีกว่า อ่างพื้นที่โดยรอบยังไม่มีน้ำ แล้วทำไมถึงต้องไปสร้างอ่างใหม่อีก”

หลากบทบาท หลากความเห็น อาจสรุปได้ว่า เขื่อนในพื้นที่มรดกโลกยังเป็นหนึ่งประเด็นที่ไม่อาจฟันธงทางออกที่มีประสิทธิภาพที่สุดได้

หลายปีล่วงเลยผ่าน ใบไม้ผลัดใบ เปลี่ยนรัฐบาลเก่าเป็นใหม่ มิติสิ่งแวดล้อมในวันที่โลกเดือดไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป การพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ของรัฐอย่างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่วางแผนจะสร้างในวันนี้จะมีประสิทธิภาพในวันหน้าจริงหรือไม่ หรือแท้จริงแล้วการจัดการน้ำที่มีอยู่ให้ดีคือทางออก หากวันนี้เราทำได้เพียงชะลอความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต