“ไม่ว่าคุณ จะฉลาดสักเพียงใด มีวิสัยทัศน์ชัดเจนแค่ไหน ทุกอย่างอาจบิดเบือนได้ เมื่อมองผ่านแว่นตาแห่งความกลัว”
โดยปกติตามธรรมชาติแล้วคนเรามักจะชอบอยู่ในที่ปลอดภัย ต้องการความมั่นคง ต้องการความมั่นใจ เมื่อมีอันตรายเข้ามา ร่างกายจะส่งสัญญาณเตือน เพื่อให้เราปลอดภัยจากภยันตรายเหล่านั้น แน่นอนว่าเราจะรู้สึกกลัว เมื่อกลัวเราก็จะเกิดอาการวิตกกังวล และโดยอัตโนมัติ ร่างกายจะเกิดการต่อต้าน หลบเลี่ยงเบี่ยงเบนภาวะนั้น ซึ่งการที่เราพยายามหลบเลี่ยงความกลัวหรือเบี่ยงเบนความกลัวโดยการหันไปทำอย่างอื่นนั้นทำให้ความกลัว ความวิตกกังวลหายไปชั่วคราวเท่านั้น แต่แค่เพียงมีอะไรมากระตุ้นอีก อาการเหล่านั้นก็พร้อมจะกลับมาทันที พฤติกรรมเหล่านี้ผู้เขียนหนังสือหยุดเลี้ยงลิงในสมองคุณ: เอาชนะความเครียด-หยุดวงจรวิตกกังวล ด้วยการบำบัดความคิดและพฤติกรรม (CBT) โดยคุณ Jennifer Shannon ได้เขียนบอกกับผู้อ่านว่าเป็นการให้อาหารลิง ซึ่งลิงในที่นี้ผู้เขียนหมายถึงสมองลิง
คุณเจนนิเฟอร์ ได้อธิบายเพิ่มเติมว่านักปราชญ์เปรียบเทียบสมองมนุษย์กับลิงมายาวนานหลายพันปี ความคิดเปรียบเหมือนลิงที่กระโดดจากกิ่งไม้หนึ่งไปสู่อีกกิ่ง ไม่เคยอยู่นิ่ง ความกังวลที่ดังอยู่ในหัวเราก็เหมือนกับเสียงเจี๊ยวจ๊าวของลิง
ซึ่งในสมองของคนจะมี “ศูนย์กำกับความกลัว” อยู่ อะมิกดาลา ที่อยู่ในศูนย์นั้นจะเป็นด่านที่ทุกการกระทำของเราที่เราได้กลิ่น ได้ยิน สัมผัส หรือนึกคิด จะผ่านด่านนี้ ซึ่งเมื่ออะมิกดาลาจับได้ว่ามีภัยคุกคาม ก็จะส่งสัญญาณไปยัง ไฮโปธาลามัส และต่อมหมวกไต ซึ่งจะปล่อยฮอร์โมนและสัญญาณทางสมองไปยังระบบประสาทซิมพาเธติก เพื่อทำให้หัวใจเต้นเร็ว และหายใจแรงขึ้น ซึ่งกลไกเหล่านี้ทำให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะเอาตัวรอด
เจ้าสมองลิงแสนฉลาดทำมนุษย์มีชีวิตรอดมาได้นักต่อนัก แต่บางครั้งก็ดูเหมือนมันจะทำเกินหน้าที่ไป จนกลายเป็นว่าทำให้เกิดภาวะวิตกกังวล สาเหตุที่เป็นแบบนั้นก็เพราะว่าในบางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเจ้าลิงมันดันไม่ได้วางโปรแกรมมาตั้งแต่แรก ทำให้มันเข้าใจว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอันตราย
อย่างเหตุการณ์ที่เราเคยประสบมา เมื่อไม่นานมานี้พ่อเกือบขับรถชนรถคันข้างหน้าเนื่องจากรถคันนั้นเปิดไฟเลี้ยวกะทันหัน และเกือบทำให้รถมอเตอร์ไซต์ที่ขับตามมาจะชนท้ายรถไปอีก โชคดีที่ว่าไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น และไม่มีใครเป็นอะไร แต่เหตุการณ์นั้นก็ทำเอาเราอกสั่นขวัญแขวน ใจหาย หัวใจเต้นแรงเลยทีเดียว ทีนี้หลังจากเหตุการณ์วันนั้นเมื่อเวลาที่นั่งรถมากับพ่อ แล้วเจอเหตุการณ์คล้าย ๆ กัน เราจะรู้สึกหัวใจเต้นแรงตลอด เพราะว่าเจ้าลิงในหัวมันประเมินความเสี่ยง และส่งสัญญาณเตือนภัยเรียบร้อยแล้ว นั่นแหละเจ้าลิงมันทำสำเร็จ เพราะมันก็ทำให้เราระแวงทุกครั้งเวลานั่งรถที่พ่อขับ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เราไม่กล้านั่งรถของพ่อไปซะทีเดียวหรอกนะ แน่นอนว่าชีวิตเรามันไม่ได้มาหยุดชะงักเพราะเพียงแค่นี้หรอก แม้เราจะพยายามเบี่ยงเบนความสนใจเวลาที่นั่งรถ แต่ลึกแล้วเราก็ยังแอบกลัว ๆ
หนังสือเล่มนี้จะพาเราไปบำบัดด้วยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม หรือที่เรียกว่า CBT (Cognitive Behavioral Therapy – การบำบัดจิตโดยปรับความคิดและพฤติกรรม) ซึ่งก็คือ การแยกตนเองออกจากอารมณ์ความคิด มากกว่าครึ่งเล่มของหนังสือเล่มนี้ คือการให้เราเฝ้าระวังการให้อาหารลิงของตัวเอง มีตัวอย่างของการเฝ้าระวังมากมาย นั่นเป็นเรื่องดีที่ทำให้เราเฝ้าสังเกตตัวเอง และยอมรับตัวเอง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง
ยิ่งเป็นคนที่ชอบอะไรที่สมบูรณ์แบบ และเป็นคนวิตกกังวล การเฝ้าสังเกตตัวเองด้วยวิธีตามในหนังสือเล่มนี้ จะเป็นการฝึกตัวเองเบื้องต้น
ลองสังเกตตัวเองดู คุณเป็นคนแบบนี้หรือเปล่า
- ทนความไม่แน่นอนไม่ได้
วิธีคิดแบบลิง คือ ฉันต้องแน่ใจเต็มร้อย
- นิยมความสมบูรณ์แบบ
วิธีคิดแบบลิง คือ ฉันต้องไม่ทำผิดพลาด
- รับผิดชอบจนล้นเกิน
วิธีคิดแบบลิง คือ ฉันต้องรับผิดชอบความสุขและความปลอดภัยของทุกคน
จากเหตุการณ์ของตัวเราเองที่เกริ่นข้างต้น เรื่องที่กลัวเวลานั่งรถที่พ่อขับ เราน่าจะเป็นคนทนความไม่แน่นอนไม่ได้ ซึ่งความไม่แน่นอนสำหรับเหตุการณ์นี้ก็คืออุบัติเหตุ ทั้งจากตัวพ่อที่ขับรถเอง หรืออุบัติเหตุที่มาจากรถคันอื่น การที่เรากลัวและคิดแบบนั้นทำให้ในบางครั้งที่นั่งรถที่พ่อขับ เราจะเกิดความกลัว ความกังวลใจ หัวใจเริ่มเต้นแรง การที่เราผ่อนคลายจากสถานการณ์ตรงหน้าไม่ได้ พอผ่อนคลายไม่ได้ ในบางครั้งเราก็จะเริ่มมีปากมีเสียงกับคนขับรถเพื่อให้เขาขับรถให้ปลอดภัย การที่เราเริ่มมีปากเสียง นั่นแปลว่าเรายอมรับแล้วว่ามีภัยคุกคาม ผู้เขียนกล่าวว่าการยืนยันว่ามีภัยคุกคามนั่นเท่ากับว่าเรากำลังให้อาหารลิงแล้ว
เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เราลองคลี่ออกมาให้เห็นเป็นวงจรกัน
จากแผนภาพในสถานการณ์ที่นั่งรถที่พ่อเป็นคนขับ เมื่อพ่อขับรถใกล้คันอื่น ๆ หรือมีรถคันอื่นขับมาใกล้มาก ๆ เสียงลิงในหัวดังขึ้นมาแล้วว่าน่ากลัวจะมีอุบัติเหตุจัง จากเสียงนั้นก็ทำให้หัวใจเราเต้นเร็วกว่าปกติ และเราก็เกิดความวิตกกังวล ในหัวเราก็คิดว่า ฉันต้องแน่ใจว่าเดินทางอย่างปลอดภัย พฤติกรรมที่ออกมาเลยเป็นการพูดเตือนให้คนขับขับระวังกว่าเดิม (ซึ่งก็อาจจะมีปากมีเสียงในบางครั้ง) การที่เราพูดออกมา แสดงถึงภาวะการป้องกันตัวเองจากภัยคุกคามในหัว และนี่แหละ คือการยอมรับว่ามีภัยคุกคามเกิดขึ้นจริง ๆ ซึ่งเราจะเบาใจเมื่อเห็นว่าคนขับ ค่อย ๆ ขับอย่างระมัดระวังจริง ๆ
การที่เราค่อย ๆ วิเคราะห์ จะทำให้เราค่อย ๆ มองเห็นว่า
- เรากลัวอะไร
- หากสถานการณ์ที่คิดเป็นจริง คิดว่าสิ่งที่เลวร้ายที่จะเกิดขึ้นได้คืออะไร
- สิ่งนี้จะส่งผลอะไรต่อตัวฉัน ชีวิต และอนาคตของฉัน
เมื่อเราคิดคำตอบจากสิ่งเหล่านี้แล้ว ค่อยมาดูถัดมาว่าความคิดพวกนี้ทำให้เรารู้สึกอย่างไร หรือรู้สึกทางกายแบบไหนบ้าง และเราทำพฤติกรรมอะไรเพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งเลวร้ายนี้เกิดขึ้นหรือเปล่า การที่เราทำพฤติกรรมแบบนั้นนั่นคือการเอาตัวรอดของคุณ เป็นการหลบเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้นเพื่อกำจัดความเสี่ยง
แต่ว่าถ้าเรามัวแต่หลบเลี่ยง มันอาจจะทำให้เรา “พลาด” ประสบการณ์อะไรบางอย่างก็ได้นะ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องกล้าเสี่ยงลงมือทำอะไรที่มันตรงกันข้ามกับเสียงเจ้าลิงที่บอกอยู่ในหัวเราแล้วล่ะ
แน่นอนว่าไม่มีอะไรเป็นทางลัด นอกจากเราต้องลองลงมือทำ ซึ่งวิธีคิดแบบนี้คือวิธีคิดแบบเปิดกว้าง คุณเจนนิเฟอร์บอกกับเราว่า มันไม่ได้ลดความวิตกกังวลนะ แต่เป็นการก้าวข้ามความวิตกกังวลมากกว่า ถ้าเราก้าวข้ามได้มันจะพาเราไปสู่ประสบการณ์และการเรียนรู้ใหม่ ๆ
ถ้าเป็นสถานการณ์ของเราที่เราเกริ่นข้างต้น
เรากลัวอะไร >> เรากลัวเกิดอุบัติเหตุ
ถ้ามีสิ่งเลวร้ายที่จะเกิดขึ้น >> พิการ ตาย
ถ้าเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง สิ่งเลวร้ายที่คิดว่าจะเกิดขึ้น >> ไม่ได้ไปไหนมาไหน..
แต่พอมาเขียนแจกแจงแบบนี้ ก็ทำให้เราเห็นอารมณ์ความรู้สึกตัวเองมากขึ้น.. เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น มันไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ๆ การที่เราวิตกกังวลมากเกินไป ไม่ได้ให้อะไรดีขึ้น ถ้าในแง่ดี คือทำให้เรามีความระมัดระวังมากขึ้น แต่มันก็อาจให้เราพลาดอะไรบางอย่าง การก้าวข้ามของเราก็คงไม่ได้หลีกเลี่ยงที่ไม่นั่งรถพ่อหรอก ก็ยังคงนั่งต่อไป อาจจะช่วยดูรถบ้างเป็นบางครั้ง ไม่ถึงกับต้องตื่นเต้นอะไรกับการขับรถของเขาขนาดนั้น หรือไม่บางครั้งเราก็อาจจะเดินทางเองบ้าง ถ้ามัวแต่หลีกเลี่ยงก็ไม่ได้ไปไหนกันพอดี อุบัติเหตุจากคนอื่น มันนอกเหนือจากการควบคุมของฉัน (อันนี้แหละคือวิธีคิดแบบเปิดกว้าง)
ซึ่งวิธีคิดแบบเปิดกว้าง เราจะพบว่าความรู้สึกที่มันเกิดขึ้นกับเรานั้นมันเป็นเพียงความรู้สึกหนึ่งที่จำเป็นต้องมี เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโต
เมื่อใดที่เราเริ่มรู้สึกกระวนกระวายใจหรือความรู้สึกอื่น ๆ ให้เราค่อย ๆ หยุดหายใจ เพื่อโอบกอดความรู้สึกที่กำลังเกิดขึ้น
นอกจากจะฝึกตั้งรับเสียงเจ้าลิงแล้ว เมื่อฝึกไปจนวิชาแก่กล้า เราอาจเป็นฝ่ายรุกบ้าง อย่างในกรณีเราที่เราจะรู้สึกกลัวการเกิดอุบัติเหตุ การตั้งรับของเราต่อจากนี้ก็คือ จะกลัวหรอ จะกังวลหรอ รู้สึกไปเลยยยย ปัจจัยภายนอกเราควบคุมไม่ได้อยู่แล้ว
โดยปกติทั่วไปในชีวิตประจำวันแล้ว เรามักจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดเสมอ ลิงในหัวเรามันก็คอยจะส่งเสียงอยู่เรื่อย ๆ เราต้องไม่กลัวเสียงของลิงมันชอบจะเจี๊ยวจ๊าวในหัวเรา แน่นอนว่าไม่มีสูตรสำเร็จสำหรับการรักษาความวิตกกังวลนี้ นอกจากเราต้องคอยเฝ้าสังเกตตัวเองและฝึกฝนในการใช้ชีวิตของเรากันต่อไป
หนังสือ: หยุดเลี้ยงลิงในสมองคุณ: เอาชนะความเครียด-หยุดวงจรวิตกกังวล ด้วยการบำบัดความคิดและพฤติกรรม (CBT)
นักเขียน: Jennifer Shannon
ผู้แปล: สุดคนึง บูรณรัชดา
สำนักพิมพ์: bookscape
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี