“ไม่มีขบวนการไหนที่เริ่มต้นโดยตั้งใจว่าจะใช้ความรุนแรง การชุมนุมเริ่มต้นด้วยสันติ แต่โจทย์คืออะไรที่กระตุ้นให้เกิดการยกระดับ และทำให้การขบวนการหมิ่นเหม่กับการใช้ความรุนแรง หรือใช้ความรุนแรงร่วมด้วย”
ข้อค้นพบของ รศ ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา จากการไล่เรียงประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวชุมนุม ปักหมุดตั้งแต่ม็อบกลุ่มพันธมิตร (2549) จนกระทั่งม็อบคณะราษฎร (2563) โดยเฉพาะคณะราษฎรที่กลุ่มเคลื่อนไหวมีหลากหลายและรูปแบบการเคลื่อนไหวแตกต่างกัน บางกลยุทธ์กลายเป็นข้อถกเถียงว่ายังเป็น “สันติวิธี” หรือ “แนวทางไม่ใช้ความรุนแรง” อยู่หรือไม่
ซึ่งข้อสังเกตดังกล่าว กลายมาเป็นเวทีความคิด ‘ถอดรหัสความรุนแรงในสังคมไทย: รัฐ สื่อ สังคม และระบบกฎหมาย’ เพื่อค้นหานิยามของ ‘แนวทางการไม่ใช้ความรุนแรง’ หรือทำให้ความเข้าใจที่พร่าเลือนต่อ ‘สันติวิธี’ ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
คิดแบบทหาร
การครอบงำด้วยลายพราง
รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ เคยให้ความเห็นใน ปริศนาความรุนแรงโดยรัฐไทย (ตอนที่ 1) ว่า ปัจจัยที่กำหนดความรุนแรงโดยรัฐในสังคมไทยว่าจะออกมาในรูปแบบใด มีอยู่ 2 เหตุผลหลัก
หนึ่งคือ ระบอบการเมือง แต่ไม่ว่าการที่รัฐบาลมาจากรัฐประหาร เกิดช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ประชาธิปไตยถดถอย ก็ยังไม่สามารถอธิบายเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในช่วงยี่สิบปีหลังได้ โดยเฉพาะการจะอธิบายว่า “ทำไมรัฐบาลเผด็จการเกิดความรุนแรงน้อยกว่ารัฐบาลพลเรือน”
กรณีสังคมไทย จึงต้องมีทฤษฎีใหม่มาอธิบาย ซึ่งคือ ‘ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและกองทัพ’ เมื่อใช้กรอบทฤษฎีนี้ จะสามารถแบ่งหน้าตาของรัฐบาลได้เป็น 2 ประเภท คือ รัฐบาลที่แม้ไม่ใช่รัฐบาลพลเรือนแต่มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับกองทัพ และรัฐบาลพลเรือนที่ไม่สามารถควบคุมกองทัพได้ หรือกระทั่งกองทัพมองว่ารัฐบาลดังกล่าวเป็นปฏิปักษ์กับตน
“เมื่อเป็นเช่นนั้น (การสลายการชุมนุมปี 2553 – ผู้เขียน) การใช้กำลังก็เลยเกิดขึ้นอย่างเป็นเอกภาพ”
ทว่า รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ ให้ความเห็นว่า ‘ความใกล้ชิด’ ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ ไม่เพียงพอที่จะอธิบายปรากฏการณ์ของสังคมไทย ที่ติดหล่มการรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่าได้
เพราะท้ายที่สุด การกลับมาของทหารหาใช่เพราะตัวผู้นำทางทหาร แต่กลับเป็นโครงสร้างอำนาจที่แฝงฝังอยู่ในทุกระบบของสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระต่าง ๆ หรือกระทั่งศาลชั้นต่าง ๆ และมีอำนาจมากพอที่จะบ่อนเซาะรัฐบาลพลเรือนที่อยู่ตรงข้ามกับตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มากกว่าไปกว่าการครอบงำผ่านองค์กรของรัฐ วิธีคิดของรัฐก็ถูกครอบงำด้วยวิธีคิดแบบรัฐทหาร (Militarization) เป็นวิธีคิดที่ความมั่นคงของรัฐสำคัญเหนือกว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชน ลุกลามไปถึงขั้นกำหนดว่าเด็กหรือเยาวชนเป็นภัยคุกคามของรัฐที่ต้องปราบปรามเสียให้สิ้นซาก
ขณะเดียวกัน วิธีคิดแบบรัฐทหารก็ถูกคลุมครอบด้วยอุดมการณ์ราชาชาตินิยมอีกขั้นหนึ่ง ที่ให้ความสำคัญกับการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นภารกิจอันดับแรก จนเป็นเหตุสำคัญของการสลายการชุมนุมที่มีการแตะต้อง ม.112 แม้จะเกิดขึ้นโดยกลไกทางกฎหมายของตำรวจ แต่เมื่อได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่เหล่านั้น ก็จะพบคำตอบประมาณว่า “นายสั่งมา ข้างบนสั่งมา” ซึ่งสัญลักษณ์ของมือที่มองไม่เห็น ที่เข้าแทรกกลไก หรือการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
พวงทองยกกรณีการล้อมปราบกลุ่มเสื้อแดงปี 2553 มาเพื่ออธิบาย เธออธิบายว่ากลุ่มเสื้อแดงมีกลยุทธ์สารพัดในการจัดการเคลื่อนไหว ว่าจะเล่นเรื่องอะไร จะพูดเรื่องอะไร จะเคลื่อนไปที่ใด และอยู่ในภาวะการหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงที่เข้มข้นมาก แต่สุดท้ายก็ล้มเหลวด้วยปฏิบัติการทางการทหาร ที่เธอไม่เชื่อว่าจะว่าเป็นความคิดของอภิสิทธิ์ “จะต้องขนอาวุธออกมากี่แสนนัด ปืนกี่กระบอก กำลังทหารเท่าไหร่ จะไปตั้งที่ไหน ปฏิบัติกระชับวงล้อมกระชับพื้นที่ มันเป็นวิธีคิดแบบทหารทั้งนั้น” เธอย้ำ
“ความรุนแรงเป็นแค่ทางเลือกหนึ่งเท่านั้น เพราะเขามีหนทางเต็มไปหมด รัฐไทยในยุค 14 ตุลาหรือพฤษภา 35 มันควบคุมไม่ได้ จึงต้องใช้ความรุนแรง แต่ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา เขาไม่ต้องเล่นเองหมด โยนให้ศาล ให้ กกต. ให้ ป.ป.ช.”
หลังจากนั้นคนชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ก็เข้ามา Big Cleaning day สื่อมวลชนเข้ามาบอกว่าดีแล้ว กรุงเทพฯ จะได้สงบ มีมวลชนมาย้ำว่าพวกนี้คือก่อการร้าย มีศาลที่ฟ้องแกนนำพวกนี้มันเผาบ้านเผาเมือง หรือกระทั่งการขึ้นโรงขึ้นศาลในคดีที่เป็นประเด็นล่อแหลมในปัจจุบัน เราสามารถเดาได้เลยว่ามันจะเป็นอย่างไร เพราะเราเดาออกว่าวิธีคิดของพวกนี้คืออะไร ฉะนั้นนอกเหนือไปจากการกระทำของรัฐบาล มันมีโครงสร้างอำนาจที่มันครอบงำการกระทำเหล่านี้อยู่
ซึ่ง ปริศนาความรุนแรงโดยรัฐไทย (ตอนที่ 2) รศ.ดร.ประจักษ์ค้นพบอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญที่เป็นไปในทางเดียวกันกับ ‘วิธีคิดแบบทหาร’ ที่เป็นข้อสังเกตของพวงทอง คือเรื่องของ ‘มุมมองของรัฐที่มีต่อผู้ชุมนุม’ รศ.ดร.ประจักษ์บอกว่าอย่าประเมินรัฐต่ำเกินไป เพราะทุกการปราบปรามผู้ชุนนุมเกิดขึ้นบนฐานข้อมูลที่ศึกษามาอย่างดี
รัฐใช้เกณฑ์การแบ่งแยกกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างง่าย ๆ คือ ม็อบปากท้อง เช่น กลุ่มเกษตรกร กลุ่มแท็กซี่ สมัชชาคนจน และ ม็อบการเมือง ที่ก็แบ่งแยกลงไปอย่างง่าย ๆ อีก คือ กลุ่มที่ข้อเรียกร้องพุ่งตรงไปที่ประสิทธิภาพของรัฐบาล กับอีกกลุ่มหนึ่งที่ ‘ทะลุ’ เพดานของรัฐบาล และมุ่งตรงไปที่การเรียกร้องปฏิรูปสถาบัน
รศ.ดร.ประจักษ์อธิบายว่าหากม็อบมาด้วยสันติวิธี รัฐก็จะรับมือด้วยความละมุนละม่อม หากแต่มาโดยรุนแรงหรือเป็นกลุ่มที่เคยใช้ความรุนแรงมาก่อน ก็จะมีมาตรการที่เข้มข้นกว่า แต่ด้วยข้อเรียกร้องที่ทะลุเพดานขึ้นไปเรื่อย ๆ ทำให้ ‘อุดมการณ์’ กลายเป็นหนึ่งเหตุผลในการจัดเตรียมมาตรการรับมือของรัฐด้วย
“กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมอยู่ในข่ายเป็นม็อบหน่อมแน้มทางวิธีการ แต่พอมีข้อเรียกร้อง 10 ข้อถึงการปฏิรูปสถาบัน และเป็นหัวหอกในการชูประเด็นดังกล่าว สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐ กลุ่มนี้คือเป้าหมายอันดับหนึ่งที่ต้องจับตา เป็น A List ที่ถ้ากลุ่มนี้จัดการชุมนุมเมื่อไหร่ จะต้องวางกำลังเข้มข้น”
แม้การชุมนุมจะมีเพียงการปราศรัย พร้อมด้วยอาวุธที่เป็นการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ก็ตาม
การชุมนุมวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ที่แยกผ่านฟ้าลีลาศ
ความตายที่เงียบงัน
แฝงสภาวะยกเว้นทางกฎหมาย
ไม่ว่าจะเหตุการณ์ 6 หรือ 14 ตุลา พฤษา 35 หรือ 53 สถานการณ์เหล่านี้ล้วนถูกบันทึกเรื่องราว เป็น ‘ความตายที่ส่งเสียง’ ที่เกิดขึ้นอย่างมีจังหวะเวลา และมีความสำคัญยิ่งทางประวัติศาสตร์
ทว่า รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อยากมองไปที่ ‘ความตายที่เงียบงัน’ ความตายในชีวิตประจำวัน ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการจับกุมชาวบ้าน ความรุนแรงกับผู้เรียนเตรียมทหารหรือทหารเกณฑ์ ที่หาได้พัวพันกับนโยบายทางการเมืองแต่อย่างใด แต่กลับเผยโฉมหน้าของรัฐไทยได้อย่างชัดเจน
สมชายฉายภาพเหตุการณ์ของ ‘โจ ด่านช้างและพวกอีกห้าคน’ ที่บุกรุกจับ นางน้ำค้าง เป็นตัวประกันในบ้านแห่งหนึ่งที่จังหวัดสุพรรณบุรี เพราะโจและพวกมีความขัดแย้งกับ นายอุบล พ่อค้าอาวุธสงครามและเอเย่นต์ค้ายาบ้าซึ่งเป็นพี่ชายของนางน้ำค้าง
เที่ยงวันนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจสองนายนำโดย จ.ส.ต.สกุล สวนดอกไม้ และ พ.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เจรจาได้สำเร็จ ตัวประกันปลอดภัย พร้อมกับโจและพวกอีกห้าคนยอมมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ทว่าระหว่างการจับกุม ตำรวจแจ้งว่าไม่พบอาวุธปืนที่ซุกซ่อนอยู่ในบ้าน จึงพาทั้งหกคนกลับเข้าไป ปรากฎว่าเสียงปืนได้ดังสนั่นขึ้นติดต่อกันหลายสิบนัด ตำรวจเชิงนอก ชาวบ้าน และผู้สื่อข่าวต่างตกใจ
สิ้นเสียงปืน พบว่าทั้งหกคนเสียชีวิต โดยตำรวจให้เหตุผลว่า “หนึ่งในคนร้ายได้หยิบปืนจากที่ซ่อนมาต่อสู้” และใช้เวลากว่าสี่เดือนถึงมีการตรวจสอบหลักฐานอีกครั้ง ทว่าบ้านหลังดังกล่าวก็ถูกรื้อไปแล้ว
คำถามสำคัญ คือ ความตายที่เงียบงันเหล่านี้จะต้องเผชิญกับกระบวนการอย่างไร หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ ๆ ลงมือมีความผิดหรือไม่ กระทั่งมีการเยียวยาให้ผู้สูญเสียอย่างไรบ้าง ทว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ มีผู้เสียหายหรือผู้สูญเสียที่หลุดไปจากกระบวนการเยอะมาก
“เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นผู้สูญเสียไปต่อหรือพอแค่นี้? จากที่ไปคุยกับเจ้าหน้าที่ ๆ เกี่ยวข้อง พบว่ามีเพียง 1 ใน 1,000 เท่านั้นที่ไปต่อ”
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้สูญเสียเหล่านั้นย่ำอยู่กับที่คือ การตอบโต้จากฝ่ายผู้กระทำ ซึ่งมักมาในลักษณะของการเกลี้ยกล่อมให้ยอมความ เสนอเงินเยียวยา เสนอผลประโยชน์ ข่มขู่ให้กลัว หรือกระทั่งดำเนินคดีทางกฎหมายที่เกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อมูล
สมชายย้ำว่า ความรุนแรงของรัฐที่มีต่อความตายที่เงียบงันนั้นเป็นอุดมการณ์ชนิดหนึ่ง ที่เอื้อให้รัฐสามารถทำงานโดยใช้ความรุนแรงเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องรอคำสั่งจากรัฐบาล ไม่ต้องมีนโยบาย ไม่ต้องแตะต้องประเด็นที่ล่อแหลม เป็นสถานการณ์ปกติที่แฝงด้วยสภาวะยกเว้นทางกฎหมาย
เขาให้ทัศนะที่น่าสนใจถึงขั้นตอนของ ‘การวินิจฉัยความตาย’
ในการวินิจฉัย ขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญคือ การชันสูตรพลิก เพื่อสืบหาว่าผู้นั้นเสียชีวิตด้วยสาเหตุอะไร อะไรหรือใครทำให้ตาย สมชายบอกว่าปกติแล้ว เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนนี้จะมีเพียงหมอและตำรวจ ทว่าหากการตายนั้นเกี่ยวพันกับเจ้าหน้าที่รัฐ นอกจากหมอและตำรวจแล้ว ก็จะมีอัยการและฝ่ายปกครองเข้ามาในกระบวนการสืบสวน ด้วยความเชื่อว่า การมี ‘ฝ่าย’ เยอะจะทำให้กระบวนการสืบสวนมีความโปร่งใสขึ้น “จากที่ลงพื้นที่ก็ตระหนักได้ว่าการเพิ่มฝ่ายไม่ได้ช่วยเหลืออะไรเลย ทั้งหมดอยู่ภายใต้อุดมการณ์ของการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และหน่วยงานพวกนี้ไม่ได้ถูกออกแบบให้ตรวจสอบกันเอง จึงจะพบการรวมหัวกันเสียมากกว่า”
อีกขั้นตอนหนึ่งคือ การไต่สวนความตายโดยศาล เพื่อที่จะบ่งชี้ว่าผู้เสียชีวิตเป็นใคร เหตุที่ทำให้เสียชีวิตคืออะไร ซึ่งในช่วงหลังมีการให้บทบาทของศาลในเชิงรุกมากขึ้น โดยการแก้กฎหมายให้ศาลสามารถเรียกพยานที่นำสืบไปแล้วมาสืบเพิ่ม หรือเรียกหลักฐานอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ บนความเชื่อที่ว่าศาลมักทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา
ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมกลับไม่เป็นเช่นนั้น สมชายยกกรณีของ ชัยภูมิ ป่าแส มาเพื่ออธิบาย ชัยภูมิ ป่าแสเป็นเด็กหนุ่มนักกิจกรรมชาวลาหู่ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารประจำด่านวิสามัญฆาตกรรม โดยนายทหารอ้างจะตรวจค้นรถตามปกติ แต่ว่าชัยภูมิวิ่งหนีและจะขว้างระเบิด นายทหารเลยต้องยิงเพื่อป้องกันตัว
พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 (ขณะนั้น) อ้างว่าสามารถดูสถานการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นได้ผ่านกล้องวงจรปิด CCTV ในพื้นที่ได้ ทนายหรือผู้เกี่ยวข้องในคดีขอตรวจสอบกล้องวงจรปิด แต่เนื้อความในหนังสือจากสำนักงานเลขานุการกองทัพบกถึง รัษฎา มนูรัษฎา อุปนายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และหนึ่งในทนายความคดีวิสามัญฆาตกรรม ระบุไว้ว่า ‘ไม่มีภาพของวันที่ 17 มีนาคม 2560 (วันที่เกิดเหตุ)’ และศาลก็ไม่ได้เรียกหลักฐานใด ๆ เพิ่มเติม โดยให้เหตุผลว่า พยานหลักฐานเพียงพอต่อการวินิจฉัยความตายแล้ว
สมชายย้ำว่า นี่คือพฤติการการตายที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งหากยังเป็นแบบนี้ต่อไป ก็ยากจะเดินหน้าต่อไป
“มันพร้อมที่จะทำงาน พร้อมจะใช้ความรุนแรง มันเป็นชีวิตหรือจิตวิญญาณของรัฐไทยที่เรากำลังเผชิญอยู่”
ขณะที่ ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ เล่าย้ำว่า กรณีศึกษาของสมชายไม่ใช่ทั้งหมดของสังคมไทย เพราะหากไล่ดูตามจังหวัดต่าง ๆ ในประเทศไทย จะพบว่ามีความปวดร้าวเช่นนี้อยู่อีกมากมาย เพราะทั้งหมดทั้งมวลคือ ‘ปฏิบัติการทางอำนาจ’ ที่ฝังลึกเข้าไปในหัวของคนไทย
“เขาเป็นเจ้าเป็นนาย เขาเป็นเจ้าหน้าที่ เราเป็นชาวบ้าน” ปฏิบัติการของอำนาจมีอำนาจในการกำกับคนจำนวนมากในสังคม และมีพลังในการผลักดันสังคม กระทำการเปลี่ยนแปลง หรือไม่เปลี่ยนแปลง แต่ถึงกระนั้นอำนาจก็มีลำดับขั้น โดยสัมพันธ์อยู่กับสังคมชนชั้น ระบบราชการ และเหนือสุดคือสัมพันธ์กับบุญบารมี
อย่างไรก็ดี ภายใต้โครงสร้างอำนาจที่คลุมครอบอยู่ ‘อำนาจหน้าที่’ ที่ปรากฎอยู่ตามศาล หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ แม้ภาพนั้นจะเลือนลางเพียงใด แต่มันยังมีการ ‘ต่อสู้อย่างสุดหัวใจ’ แม่ที่สู้เพื่อคืนความยุติธรรมให้กับลูก การทุ่มทั้งตัวทั้งชีวิตเพื่อชัยภูมิ ป่าแส หรือผู้เสียชีวิตอื่น ๆ
ทั้งหมดคือแรงปรารถนาที่ต้องการความเป็นธรรมที่เป็นธรรม เพราะว่าความเป็นธรรมที่เป็นธรรม เป็นสิ่งเดียวที่จะเยียวยาความรู้สึกปวดร้าวจากการสูญเสียนั้นได้ “การผดุงรักษาอำนาจหน้าที่โดยไม่แยแสความเป็นธรรมที่เป็นธรรม มันก่อให้เกิดความเจ็บปวดที่ลึกซึ้งมาก ๆ แม้งานชิ้นนี้จะพูดถึง คฝ. ที่มีความเป็นมนุษย์ แต่ผมก็ยังโกรธอยู่”
ขณะเดียวกันก็ต้องมองแนวทางสันติวิธีให้เป็นมากกว่ากลยุทธ์ในการชุมนุม จะรีบเร่งหรือผ่อนแรงไม่ใช่ปัญหา หากแต่ต้องมองระยะยาว ต้องเป็นการต่อสู้ที่สั่งสมพลังจากการรวมกลุ่มที่กว้างขวางขึ้น อยู่บนยุทธศาสตร์ที่วางแผนว่าจะทำอะไรต่อไป เพื่อกระชากพรมออกจากเท้าผู้คนให้ได้
“การต่อสู้อย่างสุดหัวใจท่ามกลางความลำบากทุกขั้นตอน ผมเชื่อว่าถ้าเป็นเรา อาจจะถอยแล้ว แต่เขาสู้ และผมเชื่อว่าคนที่สู้จะมีอีก การต่อสู้ของผู้ปวดร้าวแบบนี้มันมีความหมายอย่างยิ่ง เพื่อให้คนเห็นถึงภาวะที่ปกติที่คนไทยถูกกระทำมาอย่างปวดร้าวทั้งหลาย”
การชุมนุมวันที่ 16 สิงหาคม 2563 ที่อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย
สันติวิธีในทางปฏิบัติ
บนเส้นแบ่งที่พร่าเลือนในสังคมไทย
“พี่น้อง เรากำลังจะเดินไป เรากำลังต่อสู้อย่างสันติวิธี ถ้าเราเจอตำรวจ พี่น้องสัญญากับผมได้ไหม ว่าจะเชื่อรถที่สั่ง ถ้ารถบอกให้หยุด พี่น้องจะหยุด พี่น้องจะแค่ชูมือแล้วมีแต่รอยยิ้มให้ตำรวจ” คำปราศรัยของ เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ ในวันวางหมุดราษฎรที่ รศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา ยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างที่สำคัญของแนวทางการไม่ใช้ความรุนแรงดังกล่าวไว้ตอนต้นของบทความ
ทว่าบุญเลิศได้ค้นพบสาเหตุสำคัญอยู่ 2 ประการที่ทำให้การเคลื่อนไหวชุมนุมทั้งหลายถูกกระตุ้นให้เกิดการยกระดับการชุมนุมและไต่เส้นของความรุนแรง หนึ่งคือ จำเป็นของการยกระดับ (Escalation) และสองคือ การเคลื่อนไหวเหล่านั้นไม่ได้รับความสนใจ
เหตุกระตุ้นประการแรกเกิดขึ้นเพราะเหตุเพียงว่า ‘เดี๋ยวคนที่มาร่วมชุมนุมจะเบื่อ’ แต่เหตุกระตุ้นประการที่สองมีเงื่อนไขที่ซับซ้อนขึ้นกว่าเดิม เพราะ “สังคม” มีส่วนทำให้การยกระดับการชุมนุมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
รศ.ดร.บุญเลิศยกกรณีสัมภาษณ์สมาชิกกลุ่มทะลุวังคนหนึ่ง
ผู้ถูกสัมภาษณ์ยกเหตุการณ์ที่ หยก ถูกจับตัวไปที่สน.สำราญราษฎร์อย่างไม่ถูกต้องตามกระบวนการนัก ทั้งยังไม่ได้รับการประกันตัว ซึ่งก่อนหน้าที่จะไปละเลงสีที่สน.สำราญราษฎร์ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 ทางกลุ่มทะลุวังได้จัดงานอภิปรายเชิงวิชาการ “เยาวชนไทยในกระบวนการยุติธรรม: อนาคตของประเทศยังมีพวกเขาอยู่ไหม?” เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2566 แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร
ซึ่งเป็นเหตุผลที่พวกเขายกระดับการเรียกร้องให้เข้มข้น แน่นอนว่าตามมาด้วยเสียงสะท้อนถึงความเหมาะสม แต่อย่างน้อยคนก็ให้ความสนใจว่าทำไมหยกถึงไม่ได้รับการประกันตัว ทำไมตะวันที่เคยอดอาหารอย่างสันติจึงต้องไปละเลงสีแบบนี้ “เขาจะโยนโจทย์กลับไปที่รัฐ การที่เขาใช้สิทธิ์อย่างถูกต้อง แล้วถูกรัฐกระทำ เขาก็จะเทียบว่าการตอบโต้ของพวกเขากับสิ่งที่ตำรวจทำกับพวกเขา ระดับมันต่างกันมาก” บุญเลิศย้ำ
การชุมนุมวันที่ 31 สิงหาคม 2564 ที่แยกราชประสงค์
ขณะเดียวกันรัฐไทยได้เรียนรู้ถึง การปราบปรามอย่างชาญฉลาด (Smart Repression) อาทิ การใช้อาวุธที่ไม่นำไปสู่การเสียชีวิตโดยทันที หรือในช่วง 2563 ที่เราจะได้เห็นเครื่องมือหนึ่งที่เรียกว่า ‘นิติสงคราม’ ที่รัฐใช้กฎหมายในการจับกุมผู้ชุมนุมหรือผู้จัดการชุมนุม การประกันตัวที่เต็มไปด้วยความยากลำบาก ซึ่งมีผลอย่างมากในการบั่นทอนขวัญกำลังใจผู้ชุมนุม หรือเลวร้ายกว่านั้นคือการปราบปรามกลายเป็นสิ่งที่ละมุนละม่อมขึ้น จนผู้คนไม่รู้สึกว่าการกระทำรัฐแย่ไปเสียหมด
จึงกลับมาเป็นคำถามต่อขบวนการเคลื่อนไหว และถูกเรียกร้องอย่างมากถึงการรักษาเส้นสันติวิธี ทว่าแรงกดดันไปสู่รัฐเมื่อรัฐใช้ความรุนแรงกลับไม่มากเท่า บุญเลิศจึงชี้ให้เห็นว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวหาใช่เรื่องราวระหว่างขบวนการกับรัฐ แต่เป็นเรื่องที่สังคมองค์รวมต้องมีส่วนร่วมในการจัดการกับความขัดแย้งนั้น
ฉะนั้นหลักใหญ่ใจความคือ การเข้าใจการทำงานของแนวทางสันติวิธี การไม่ทำผิดกฎหมายไม่เท่ากับการเป็นสันติวิธีซะทีเดียว เพราะว่าการกระทำหลายอย่างแม้จะผิดกฎหมาย แต่โดยหลักการยังถือว่าเป็นแนวทางสันติวิธี เช่น การอารยะขัดขืนกฎหมาย เพื่อให้ผู้คนเห็นว่ากฎหมายนั้นไม่เป็นธรรม หรือการกระทำเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ผิดกฎหมาย แต่สังคมไม่พึงเข้าใจว่าเป็นสิทธิในระบอบประชาธิปไตย รัฐก็อาจมองเป็นความรุนแรง และสร้างความชอบธรรมให้รัฐในการปราบปรามได้
ขณะเดียวกัน สื่อก็ต้องมีบทบาทสำคัญในการป้องปราบการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่รัฐ หลายครั้งที่เรามีภาพจากสื่อที่เห็นว่าเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรง ยิงปืนในระยะประชิด หรืออะไรก็ตาม การป้องปราบเหล่านี้จะทำให้เกิดความรุนแรงนั้นเกิดน้อยลง รวมถึง ‘การข้ามพ้นวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวล’ ที่หลายครั้งทำให้ผู้ชุมนุมรู้สึกว่าถูกกระทำฝ่ายเดียว
“เรายังอยู่ในช่วงของการจะดึงความมั่นใจที่จะกลับไปอยู่ในขบวนการแบบนี้ ความเข้าใจของสังคมมีผลต่อการเคลื่อนไหว ถ้าคนรู้สึกว่าการเคลื่อนไหวมันไม่มีความรุนแรง มันก็จะได้รับการสนับสนุน แต่ถ้าคนรู้สึกว่ามันเลยเส้น คนไม่รับ ขบวนการก็จะถูกโดดเดี่ยว”
รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, การชุมนุมวันที่ 11 สิงหาคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต
วศินี พบูประภาพ ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว Today ให้ทัศนะที่น่าสนใจถึงฉากทัศน์ของการข่าว เมื่อข้อเรียกร้อง 10 ข้อถึงการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เผยตัวในคืนวันที่ 11 สิงหาคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ซึ่งมากกว่าการกระแทกเพดานความเชื่อของสังคมไทย คือการโยนคำถามสำคัญไปให้สื่อมวลชนว่าข้อเรียกร้องนี้เป็นข่าวหรือไม่
“พอมีการนำเสนอข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ปลาช็อคน้ำเลย เป็นสุญญากาศไปคืนหนึ่งเลยว่า อันนี้เป็นข่าวหรือไม่เป็นข่าว”
ความต้องการของภาคประชาชนทำให้สมาคมวิชาชีพสื่อต้องหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้ภาวะสุญญากาศนี้คลายตัว ซึ่งสื่อกระแสรอง สื่ออิสระ สื่อชาวบ้านมีความคล่องตัวมากขึ้น เพราะเห็นว่าอย่างไรก็ตามก็ต้องให้ความสำคัญกับสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น ทว่าในแวดล้อมของสื่อกระแสหลักที่ค่อนข้างแข็งตัว ทำให้สถานะของข่าวประเภทนี้ยังอยู่ในสถานะคลุมเครืออยู่
“มีผู้สื่อข่าวคนหนึ่ง เป็นผู้สื่อข่าวที่มีสังกัด ไปถ่ายการปฏิบัติของกลุ่มทะลุวังที่พ่นสีกำแพงวัดพระแก้ว แต่ว่าผู้สื่อข่าวคนนี้เขาไปด้วยความต้องการของตัวเอง และก็โดนเจ้าหน้าที่ถามว่านักข่าวจริงรึเปล่า รายงานข่าวแบบนี้ได้ยังไง ก็เลยถูกเหมารวมว่าเป็นกลุ่มนักกิจกรรม”
วศินีอธิบายว่า ด้วยความที่ข่าวลักษณะนี้ไม่ได้รับฉันทามติจากองคาพยพต่าง ๆ ทำให้ปัญหามันยังคาราคาซังอยู่
ปรากฏการณ์ปลาช็อคน้ำและม็อบถูกทำให้โดดเดี่ยว “สื่อมวลชน” เป็นส่วนสำคัญที่จุดประสงค์ของการชุมนุมไปไม่ถึงกลุ่มคนอื่นในสังคม ผศ.ดร.พรรษาสิริ กุหลาบ ให้ทัศนะว่า ในช่วงการชุมนุมของกลุ่ม นปช.สื่อมุ่งเน้นการฉายภาพไปที่การเผชิญหน้ากันอย่างเผ็ดร้อนระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่รัฐ ทว่ากลับไม่ได้ให้พื้นที่กับการอธิบายความรุนแรงดังกล่าวหรือปมประเด็นขัดแย้ง ทำให้สื่อมวลชนจึงไม่ได้สร้างอำนาจต่อรองให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมมากนัก
กระทั่งการชุมนุมของกลุ่มราษฎรเมื่อปี 2563 – 2565 ที่กลุ่มผู้ชุมนุมมีมากมายและหลากหลาย และมีข้อเรียกร้องหลายอย่างที่เป็นการท้าทายค่านิยมหลักในสังคม แต่สื่อกลับไม่ค่อยพูดถึง
ฉะนั้นสื่อมวลชนต้องเข้าใจว่าการชุมนุม คือ การมีส่วนร่วมทางการเมืองและการสื่อสารแบบหนึ่ง หน้าที่สำคัญของสื่อจึงต้องตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ หากมีความ รุนแรง ก็ต้องขยายเหตุของความรุนแรงนั้นว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ซึ่งจะช่วยลดเงื่อนไขหรือความชอบธรรมของรัฐในการใช้ความรุนแรงได้
อีกทั้งยังเป็นการขยายกรอบความเข้าใจเรื่องสันติวิธี รวมถึงสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ หาใช่การช่วงชิงอำนาจระหว่างสองฝ่าย หรือผู้ชุมนุมเป็นเพียงเครื่องมือของกลุ่มผู้มีอำนาจ แต่เป็นการแสดงเจตจำนงของผู้ชุมนุมเสียมากกว่าและต้องมีบทบาทในการสร้างสภาพแวดล้อมที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อให้การอภิปรายถกเถียงในที่สาธารณะนั้นอิสระและปลอดภัย
“สื่อมักจะอ้างเรื่องเสรีภาพสื่อ การชุมนุมก็เป็นส่วนหนึ่งของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อยู่บนฐานคิดเดียวกัน หากทำความเข้าใจตรงนี้ได้ ก็จะเข้าใจการชุมนุมในรูปแบบที่ต่างไป”
การชุมนุมวันที่ 19 กันยายน 2563 ที่บริเวณท้องสนามหลวง
รศ.ดร.บุญเลิศค้นพบคำตอบเดียวกับประจักษ์ คือ การเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่จะน้อยกว่าประเด็นอื่น ๆ ซึ่งความเห็นที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วในสังคมเป็นเหตุผลสำคัญของการไม่ยอมรับขบวนการ และแบ่งแยกสังคมในประเด็นที่สำคัญและรายละเอียดอ่อน
แน่นอนว่าความไม่ชัดเจนในแนวทางสันติวิธีทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวหยุดชะงัก ทว่าอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญคือ รัฐประสบความสำเร็จในการสร้างความชอบธรรมให้กับการใช้ความรุนแรงของตน และซ้ำร้ายกว่าที่มีคนเห็นเห็นดีเห็นงามกับความรุนแรงนี้
รศ.ดร.บุญเลิศย้ำอีกครั้งว่า เราต้องเข้าใจการทำงานของแนวทางไม่ใช้ความรุนแรง โน้มน้าวให้คนเห็นต่างมาเข้าร่วม ให้คนที่อยู่ข้างรัฐมาเข้าร่วม ทว่าสังคมที่มีการแบ่งแยกกันอย่างลึกซึ้งนี้ เป็นการยากยิ่งที่การโน้มน้าวจะประสบผล และยิ่งทำให้กระบวนการเคลื่อนไหวที่จะตั้งคำถามกับรัฐทำได้ยากขึ้น ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญ
“ที่ผมพูดมาทั้งหมด ไม่ได้พูดในเชิงศีลธรรม แต่เพื่อโอกาสของการเคลื่อนไหวที่จะชนะ” รศ.ดร.บุญเลิศ ทิ้งท้าย