ดีโคตร ๆ รุ่น 1
เกศราภรณ์ สุวรรณ
เฉย ๆ นะ โดนแซวบ่อยจนชินแล้ว
เศร้ามาก ญาติผู้ใหญ่ที่บ้านไม่ยอมรับตัวตนของเราเลย
โกรธมาก เขาใหญ่มาจากไหนถึงมาบอกว่าผู้หญิงเล่นเกมห่วย
อี๋มาก คุกคามกันหน้าด้าน ๆ คนก็เยอะ ไม่รู้กล้าทำไปได้ยังไง
ฯลฯ
หลากหลายมวลอารมณ์ภายใต้ระบบที่หลายคนรู้จักกันในชื่อเรียกว่า ปิตาธิปไตย หรือชายเป็นใหญ่ แม้จะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดว่าเป็นปัญหามากแค่ไหนเป็นครั้งที่ n แล้วก็ตาม คนก็พร้อมจะชินชาและเมินเฉย
‘เฮ้ยเดี๋ยว แล้วทำไมต้องใส่อารมณ์ขนาดนั้นด้วย มีเหตุผลหน่อยสิ’
เมื่ออารมณ์เข้ามาปะปนในประโยคบอกเล่าของใครสักคน เหตุผลนั้นกลับกลายเป็นศูนย์ทันที
ถึงเวลาเธอจะฟังฉันได้หรือยัง? คงไม่ได้เป็นแค่เพลง แต่เป็นเสียงจากใครหลายคนที่ไม่สมบูรณ์แบบพอให้สังคมรับฟัง
ตั้งคำถามและหาคำตอบของทิศทางมวลอารมณ์ในหล่มปิตาไปกับ วัจนา เสริมสาธนสวัส อาจารย์พิเศษ โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เรียนรู้อารมณ์และประสบการณ์ส่วนตัวผ่านงานวิจัย “การยืนยันตัวตนจากประสบการณ์ ‘ความเป็นแม่’ ผ่านแนวคิดปรัชญาสตรีนิยมของ ลูซ อิริกาเรย์”
ในสถานการณ์ภายใต้ความเหลื่อมล้ำทางเพศถูกด้อยค่ามาไม่รู้กว่ากี่ร้อยปี หากจะมีใครสักคนลุกขึ้นมาบอกเล่าเรื่องราวว่าฉันเจออะไรมา ลงถนนประท้วงด้วยความโกรธแค้น หรือระบายอารมณ์ด้วยความอัดอั้นตันใจ เพราะระบบสังคมที่ไม่เป็นธรรมกับตนก็คงจะไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ กลับเป็นความจริงที่ว่า มวลอารมณ์เหล่านั้นมักถูกเบียดขับให้เป็นอื่นเสมอมา
“เราให้คุณค่ากับอารมณ์ความรู้สึก กับนิยาย หนัง สื่อต่าง ๆ แต่เราทนที่จะฟังเรื่องราวที่ปะปนไปด้วยอารมณ์เหล่านี้ไม่ได้ เวลาเราดูหนังแล้วเราร้องไห้ เรารู้สึกอินไปกับมัน ไอความรู้สึกแบบนี้มันสวยงามเหลือเกิน แต่พอความรู้สึกแบบนี้มันมาอยู่ในชีวิตจริงมันกลับกลายเป็นเรื่องที่ไม่มีคุณค่าไม่ควรที่จะเอามาคุยกันได้หรือไม่ควรนับว่าเป็นสิ่งที่มีเหตุผล”
อาจารย์วัจนายกตัวอย่างให้เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องอารมณ์ของมนุษย์ว่า การใช้อารมณ์พูดคุยกันไม่ต่างจากการอินไปกับหนังสักเรื่อง ความรู้สึกหรืออารมณ์ในใจถูกนับเป็นเรื่องที่สวยงามและน่าประทับใจ แต่เมื่ออารมณ์ถูกหยิบมาปะปนในการเล่าเรื่องราว หรือจะแค่ระบาย(บ่น)ว่าเพศของฉันนั้นกำลังถูกกดทับและด้อยค่านะ ! กลับกลายเป็นการบอกเล่าที่ไม่ชวนให้ฟังเอาเสียเลยจนถูกตั้งคำถามอยู่บ่อยครั้งว่า ‘ใช้อารมณ์คุยกันทำไม พูดแบบนี้ใครจะอยากฟัง’ ก็คงต้องย้อนกลับไปถามว่า ‘แล้วจะให้พูดกันโดยที่ละทิ้งความเป็นมนุษย์ไปหมดเลยรึไง’
เพราะตามธรรมชาติแล้ว มนุษย์ย่อมมี และใช้อารมณ์ความรู้สึก
ดังนั้นจึง “ยาก” ที่จะบอกว่าให้เราคุยกันโดยไม่ใช้อารมณ์ความรู้สึก
“หรือมันเป็นเรื่องที่ยากลำบากที่คนอื่นจะต้องมาทนเห็นทนรับฟังอารมณ์ของเรา หรือมันเป็นเรื่องที่ต้องเก็บเอาไว้คนเดียว สังคมมันเปราะบางขนาดนั้นเลยหรอ สังคมมันเปราะบางกับความรู้สึก ขนาดที่เห็นคนแสดงอารมณ์ไม่ได้เลยหรอ” อาจารย์วัจนากล่าว
เมื่อไรกันที่การพูดอารมณ์ความรู้สึกกลายเป็นเรื่องที่ไม่น่าฟังและไร้เหตุผล และอะไรที่ทำให้คนพร้อมจะไม่ฟังและเพิกเฉยกับเรื่องราวเหล่านั้น นี่คืออีกหนึ่งสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าสังคมปิตาธิปไตยเป็นรากปัญหาใหญ่ทำลายยากเสียเหลือเกิน
“นี่มันก็เป็นสังคมที่ทำให้เราเป็นจิตเภทอย่างหนึ่งนะ สังคมที่มันไม่รับรู้อารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น มันไม่รับฟังกัน สิ่งเหล่านี้มันก็อยู่กับตัวเราเอง พอวันหนึ่งมันปะทุขึ้นมามันก็จะทำลายตัวเราเอง” อาจารย์วัจนา ว่า
เมื่อหันหน้าไปทางไหนก็มีแต่คนที่พร้อมจะเพิกเฉยแถมยังตราหน้าว่า ‘ยัยนี่/ไอนี่/แก/คุณ ใช้แต่อารมณ์’ การระบายอารมณ์เพื่อบอกเล่าความเจ็บปวด โกรธแค้น เศร้า หรือจะอารมณ์ใด ๆ จากการถูกสังคมชายเป็นใหญ่ทำร้าย ไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดในวันที่สังคมไม่เคยเปิดใจรับฟังปัญหา จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเก็บอารมณ์ไว้กับตัวเอง บางรายต้องจำใจหันหน้าไปพึ่งจิตแพทย์เป็นตัวเลือกสุดท้าย จึงอาจไม่เกินจริงหากจะพูดว่า นอกจากสังคมจะไม่ได้ช่วยรับฟังปัญหาอะไรจนนำไปสู่การแก้ไขแล้ว ยังสร้างภาระเพิ่มให้หนักอกขึ้นไปอีก
นอกจากนี้อาจารย์วัจนายังอธิบายเพิ่มว่า ปัจจุบันมีคนไม่น้อยที่ไม่กล้าเล่าเหตุการณ์การถูกกดทับที่ตนเองเคยเจอให้ใครฟัง เพราะสังคมไทยเป็น ‘สังคมที่ไม่ฟัง’ อารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น หรืออาจจะรับรู้แต่เลือกที่จะเมินเฉย หรือในกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือแม้เรื่องราวเหล่านั้นจะถูกเล่าออกมาโดยปราศจากการปะปนอารมณ์ สังคมก็พร้อมจะเมินเฉย แถมยังตั้งคำถามว่า ‘ใช่เรื่องจริงแน่นะ?’ ‘แล้วทำไมถึงเอาตัวเองไปอยู่ในที่เสี่ยง?’ ‘แล้วทำไมไม่ขัดขืน?’
เหยื่อจากคดีข่มขืนถูกหยิบยกมาเป็นตัวอย่างให้เห็นได้ชัดถึงความโหดร้ายของสังคมที่ไม่ฟัง แม้จะรวบรวมความกล้าออกมาเล่าเรื่องราวให้กับสังคมได้รับรู้ แต่ถึงอย่างนั้นเหยื่อก็ยังถูกตั้งคำถามอยู่ซ้ำ ๆ ซึ่งการกระทำเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลดีต่อตัวเหยื่อเลยแม้แต่น้อย ซ้ำยังสร้างบาดแผลเพิ่มให้อีกด้วย
“สิ่งที่สำคัญมากกกว่าแค่การพูดอารมณ์ความรู้สึก คือการฟังของคนในสังคม ต่อให้เราจะพูดดีแค่ไหน ไม่ใช้อารมณ์ไม่ร้องไห้ แต่ถ้าวิธีการฟังการตั้งคำถาม การนำเสนอของสื่อ อะไรต่าง ๆ มันไม่ได้ทำให้ปัญหาเหล่านี้นำไปสู่จุดที่ถูกแก้ไขเลย มันกลายเป็นการนำเสนอเพื่อสร้างอุทาหรณ์ ผลสรุปก็คือเป็นผู้หญิงก็อย่าทำแบบนี้สิ มันกลับไปสู่บทสรุปแบบเดิมที่ไม่ได้สร้างการแก้ปัญหาจริง ๆ และคนร้ายจริง ๆ มันก็ยังคงอยู่” อาจารย์วัจนาย้ำ
มาถึงตรงนี้แล้วก็พอจะมองเห็นปัญหาชัดขึ้น ‘การฟัง’ ที่ไม่ฟัง กำลังอธิบายปรากฎการณ์ที่ว่าปัญหาสังคมหลากหลายอย่างทำไมถึงยังไม่ไปถึงจุดที่ถูกแก้ไขเสียที ไม่เพียงแค่เรื่องการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศเพียงเรื่องเดียว แต่รวมไปถึงเรื่องอื่น ๆ ที่สังคมเรียกร้องกันอยู่ด้วย
“สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดคือฟัง แล้วเอากลับไปคิดต่อว่าเราจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ยังไงดี เราจะยกระดับมันยังไงให้ไปสู่จุดของการเปลี่ยนแปลง”
อาจารย์วัจนาเน้นย้ำอีกครั้งให้เห็นถึงความสำคัญของ ‘การฟัง’ หากมองไปถึงสังคมอนาคตที่ทุกคนเปิดใจรับฟังเหยื่อผู้ถูกสังคมปิตาธิปไตยกดทับมากขึ้น จนเกิดการรับฟังปัญหาเหล่านั้นด้วยใจจริงโดยไม่มีการเพิกเฉยใครคนใดคนหนึ่งไปเพียงเพราะเรื่องราวเหล่านั้นปะปนไปด้วยอารมณ์ หรือไม่ตัดสินใครเพราะติดอยู่ในหล่มปิตา
เมื่ออารมณ์เป็นสิ่งที่เรียกได้ว่าโคตรจะมนุษย์ และการระบายอารมณ์ออกมาก็เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นมากที่สุดในการแก้ไขปัญหาคือสังคมเราต้อง ‘ฟัง’ กันมากขึ้นโดยไม่มีข้อแม้
ก่อนจะจากกันไป อาจารย์วัจนาทิ้งท้ายว่า การรับฟังเป็นเพียงก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงปัญหา อาจจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงปัญหานั้นได้ทันทีทันใจ แต่หากการเคารพและรับฟังกันของคนในสังคมมีเพิ่มมากขึ้น ก็อาจนำไปสู่การพัฒนาและแก้ไขให้เกิดการเคลื่อนไหวด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเชิงกฎหมายที่ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหากับผู้ถูกกดทับอีก
เมื่อถึงจุดนั้นจะไม่เป็นเพียงแค่ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศที่ได้ยกมาเป็นหัวข้อพูดคุยหลัก แต่ยังรวมไปถึงโครงสร้างอื่น ๆ อีกด้วย ทั้งนี้ที่กล่าวมาก็ยังเป็นเรื่องของอนาคตอันไกล แต่หากสังคมเริ่มต้นที่การฟัง อนาคตอันไกลก็อาจจะกลายเป็นอนาคตอันใกล้มากกว่าเดิม
เมื่อบางครั้งเรา(และคุณ)ก็ถูกสังคมที่ไม่เป็นธรรมทางเพศลดทอนให้ตัวเล็กลงเรื่อย ๆ อารมณ์และความรู้สึกต่าง ๆ ก่อตัวขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ภายในจิตใจ จะเป็นความรู้สึกโกรธ เกลียด เศร้า ขยะแขยง หรือจะเฉย ๆ กับมันก็ย่อมได้
ลองอ่านเรื่องราวเหล่านี้แล้วทบทวน พร้อมเทียบเคียงกับตัวเอง คุณเองก็เป็นผู้ประสบพบเจอเหตุการณ์เหมือนกับพวกเขาหรือเปล่านะ?
หากอึดอัดใจอยากจะเล่า ให้ทุก ๆ เรื่องราวและมวลอารมณ์ของคุณถูกระบาย ก็มาแชร์กันผ่าน #สนามอารมณ์ในหล่มปิตา ได้เลย
ข้อนี้น่าจะ “ใช่“ เอ๊ะ หรือว่า “ไม่”
ก่อนจะไปเป็น #สนามอารมณ์ ของใคร ชวนมาลองถามใจ ตัวฉันคิดยังไงกับคำถามเหล่านี้?!
หรือใครจะลองแชร์ต่อที่สตอรี่ของตัวเอง เพื่อนของฉันคนนั้นคนนี้คิดยังไงกับสิ่งเหล่านี้กันนะ
ผลงานของนิสิต นักศึกษาฝึกงาน Decode “ดีโคตร ๆ รุ่น 1”