ไขข้อข้องใจ ในวันที่อะไร ๆ ก็เรียกว่า…”Soft power” - Decode
Reading Time: < 1 minute

ดีโคตร ๆ รุ่น 1

กีรติกา อติบูรณกุล

“ซอฟท์พาวเวอร์” คำที่หลายคนเคยได้ยิน แต่หลายครั้งกลับยังไม่เข้าใจ🤔

ถ้าในเมื่ออะไร ๆ ก็สามารถเรียกว่าซอฟท์พาวเวอร์ได้ ทำไมค่านิยมแบบไทย ๆ ยังไปไม่ไกลสู่สายตาโลก

นิยามคำว่าซอฟท์พาวเวอร์หรืออำนาจละมุน คือการใช้อำนาจในทิศทางหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่อำนาจในการใช้กำลังหรือความรุนแรงใด ๆ แต่คือการใช้ความสามารถในการชักจูงใจของคนให้รู้สึกอยากทำตามเราด้วยความเต็มใจ

ชวนอาจารย์นิติ ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุยเรื่องความเข้าใจต่อซอฟท์พาวเวอร์ไทย ผ่านแว่นของนักมานุษยวิทยา

“ซอฟท์พาวเวอร์ไม่ใช่ผลผลิตของรัฐบาล มันเป็นเอกชนทำขึ้นมา เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจฐานคิดนี้ และผมคิดว่าสังคมไทยโดยเฉพาะรัฐบาลไทย ระบบราชการไทยยังไม่เข้าใจ คือรัฐบาลไปบังคับใครไม่ได้ มันต้องเป็นคนที่ดูเขาชอบเอง ไม่ใช่คุณไปบังคับเขา”

ซึ่งเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดของประชาชนนี้เอง เรียกได้ว่าเป็นหลักประกันของซอฟท์พาวเวอร์ รัฐบาลต้องเปิดโอกาสให้คนมีเสรีภาพในการแสดงออก เพิ่มพื้นที่ความคิดสร้างสรรค์ ไม่ใช่จำกัดความคิด หรือยึดติดอยู่เพียงกรอบของค่านิยมเก่า ๆ

อาจารย์นิติมองว่า ภาครัฐต้องปล่อยให้ประชาชนมีพื้นที่ในการแสดงความคิด ในการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ต้องให้เสรีภาพกับปัจเจกบุคคล แล้วซอฟท์พาวเวอร์ของไทยจะประสบความสำเร็จมากขึ้น

ผลงานของนิสิต นักศึกษาฝึกงาน Decode “ดีโคตร ๆ รุ่น 1”