มีคนเคยกล่าวไว้ว่า
เกิดเป็นผู้หญิง แท้จริงแสนลำบาก
ไม่ต้องมองไปไหนไกล.. ใครที่เกิดเป็นผู้หญิงลองมองมาที่ตัวเอง…
ตั้งแต่เกิดจนโต.. เราต้องประสพพบเจอกับเรื่องอะไรบ้างที่ทำให้เรารู้สึกลำบาก
การถูกกลั่นแกล้งจากเพศตรงข้ามที่มีพละกำลังเยอะกว่า ซึ่งการคุกคามทางเพศนี้เกิดขึ้นได้ทุกช่วงวัยของผู้หญิง
พอเริ่มโต มีประจำเดือน ร่างกายก็มีการเปลี่ยนแปลง
โดนห้ามอย่าทำอย่างนั้นนั้นอย่างนี้ ทั้ง ๆ ที่เรื่องไม่ดีบางอย่างก็ไม่ได้เกิดจากผู้หญิง
เช่น อย่าแต่งตัวโป๊นะ เดี๋ยวจะโดนกระทำไม่ดี
อย่ากลับบ้านดึกนะ เดี๋ยวโดนคนฉุด
เราเชื่อว่าไม่ว่าจะสังคมของประเทศไหนในโลกนี้ ก็ต้องมีบางสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกว่าผู้หญิงอยู่ยากทั้งนั้น
อย่างในหนังสือเล่มที่เราหยิบมาอ่าน เรื่อง Her name is ชื่อของเธอคือ… เขียนโดยคุณ โชนัมจู (เจ้าของผลงานเดียวกับเรื่อง คิมจียอง เกิดปี 82 ) ที่คุณกัลยาวีร์เคยเขียนถึงไปแล้วนั้น https://decode.plus/20221126-kim-ji-young/ แต่สำหรับเล่มนี้เธอได้เขียนบันทึกที่เปิดเรื่องราวความขมขื่นของผู้หญิง 28 คนที่ต้องเผชิญชีวิตสังคมชายเป็นใหญ่ในเกาหลีใต้ ซึ่งเมื่อได้อ่านเราอาจเป็นใครก็ได้ในเรื่องราว 28 คนนี้
เราอาจเป็นคนที่เคยโดนคุกคามจากที่ทำงาน แต่เอาผิดกับหัวหน้างานไม่ได้
อาจเป็นคนที่เคยโดนกดดันจากที่บ้านเรื่องการทำงาน
อาจเป็นคนที่ที่ทำงานไม่มอบตำแหน่งงานดี ๆ ให้เพราะคิดว่าเดี๋ยวผู้หญิงก็ต้องแต่งงาน มีลูก
และในที่สุดก็ต้องลาออกไป
อาจเป็นผู้หญิงโสด ไม่มีแฟน ไม่ได้แต่งงาน ไม่มีลูก และถูกฝากความหวังให้ดูแลพ่อแม่
ในหนังสือเล่มนี้เปิดด้วยตอนของหญิงสาวคนหนึ่งที่ชื่อว่า โซจิน ในช่วงวัยทำงานของเธอ เธอโดนคนที่ทำงานคุกคามทางเพศ และเมื่อเธอไม่ยอม ในวันต่อ ๆ มา เธอก็ถูกคนที่ทำงานคนนั้นกลั่นแกล้งเธอในที่ทำงานต่าง ๆ นานา ทั้งวิจารณ์เรื่องการแต่งตัว แต่งหน้าของเธอ หรือในบางครั้งที่เขามาคุยงานด้วยก็มักเอามือมาจับส่วนต่าง ๆ ของเธอ และพฤติกรรมต่างก็หนักขึ้น ๆ จนโซจินเริ่มทนไม่ไหวจึงได้อีเมล์แจ้งให้ผู้จัดการทราบและขอให้ย้ายหัวหน้าทีม แต่สุดท้ายเรื่องก็เงียบไป เธอมาพบว่าผู้จัดการฝ่ายพยายามบ่ายเบี่ยงที่จะคุยประเด็นนี้กับเธอ รวมถึงเธอรู้ภายหลังมาว่าผู้จัดการฝ่ายได้คุยกับหัวหน้าทีมก่อนหน้านี้แล้ว แต่ที่แน่ ๆ ต้องพูดถึงเธอในทางลบแน่ ๆ เพราะต่อมาในที่ทำงานเริ่มมีข่าวลือลบ ๆ ของเธอลามไปทั่ว จากเรื่องนี้ทำให้เธอรู้สึกเหมือนตกนรกทั้งเป็น แต่แล้วเธอก็พบว่าจริง ๆ แล้วมีคนที่โดนเหตุการณ์แบบเดียวกันนี้อีกหลายคน แต่คนอื่นเลือกที่จะเงียบ ๆไป แต่เธอไม่ยอมให้มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกเธอจึงเลือกที่จะทำแบบนี้
ถึงแม้จะไม่เคยโดนกระทำถึงขนาดนี้ในที่ทำงาน แต่แค่คิดตามก็รู้สึกโกรธแทนคุณโซจินแล้ว ทำไมผู้หญิงคนนึงต้องโดนอะไรขนาดนี้
นอกจากกรณีการคุกคามทางเพศในที่ทำงานที่ผู้เขียนได้เขียนไว้ในหนังสือแล้ว ชีวิตของผู้หญิงในที่ทำงานไม่เคยง่าย เพราะการที่จะขึ้นไปมีตำแหน่งหน้าที่การสูงเป็นที่นับหน้าถือตาในบริษัทได้นั้นก็ยากอีก อย่างในซีรีส์เกาหลีใต้เรื่อง Birthcare Center จากใน Netflix ที่ตีแผ่ความลำบากส่วนหนึ่งของการเป็นผู้หญิงในเกาหลีใต้เช่นกัน
ในบางส่วนของเรื่องเล่าถึงตัวละครหลักของเรื่องที่เป็นผู้หญิงที่กำลังไปได้ดีในหน้าที่การงานมีตำแหน่งใหญ่โตเมื่ออายุยังน้อย แต่เมื่อเธอมีลูกชีวิตของเธอก็เปลี่ยนไป ซึ่งในหนังสือก็มีตอนหนึ่งที่พูดถึงประเด็นนี้เช่นเดียวกัน ผู้หญิงคนนึงทำงานอยู่ในตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราว ไม่มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เพียงเพราะเธอเป็นผู้หญิง เธอจึงต่อสู้ด้วยการประท้วง และยื่นฟ้อง นี่คือการต่อสู้เพื่อไม่ให้จำกัดงานของผู้หญิงเอาไว้แค่ตำแหน่งชั่วคราว กับหน้าที่ผู้ช่วยเท่านั้น
เมื่อผู้หญิงแต่งงาน มีลูก นอกจากหน้าที่การงานจะไม่เหมือนเดิมแล้ว การพบเจอเหตุการณ์บางอย่างในสังคมเกาหลีใต้ ทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าผู้หญิงตั้งครรภ์เป็นคนที่สังคมรังเกียจ เพราะเมื่อเธอไปตามสถานที่ต่าง ๆ มักจะมีคนแสดงสีหน้าไม่พอใจ อย่างแค่บนรถโดยสารขนส่งสาธารณะในจุดที่มีป้ายให้คนตั้งครรภ์นั่ง แค่เธอจะขอคนนั่งที่ตรงนั้นก็ยังโดนชายชราต่อว่า และถูกมองด้วยสายตาที่รังเกียจ หรือบางทีเธอก็รู้สึกร่างกายตัวเองเป็นของสาธารณะ เพราะจู่ ๆ ก็มีใครไม่รู้มาจับท้อง และการลาในช่วงคลอด ก็ดูเหมือนเป็นไปได้ยากในสังคมนี้ พอจะขอลา ก็ดูเหมือนเป็นเรื่องเห็นแก่ตัวหาว่าเอาเปรียบเพื่อนร่วมงาน
นี่ขนาดท้องและจะลาคลอดลูกนะ
เรื่องราวของคนท้องในหนังสือ ทำให้เรานึกได้ว่าเมื่อประมาณเดือนที่แล้ว เราได้เห็นข่าวว่าในขณะนี้ร้านบางร้านในเกาหลีใต้มีการติดป้ายห้ามเด็กเล็กเข้าร้านมากขึ้น ซึ่งในข่าวบอกว่าดูเหมือนเรื่องนี้จะกลายเป็นเรื่องปกติในปัจจุบันไปแล้ว
จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ เริ่มมาจากน้ำแกงรดหกใส่เด็ก จนเกิดการฟ้องร้องกัน ร้านค้าต้องยอมจ่ายค่าเสียหายให้ แต่เมื่อมีการมาดูคลิปเผยแพร่กันในภายหลังทำให้เห็นว่าแท้ที่จริงแล้วเด็กเล่นซน จนวิ่งไปชนพนักงานเอง เมื่อมีเหตุการณ์นี้ ก็ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ เริ่มไม่อยากให้มีเด็กเล็ก ๆ เข้ามาใช้บริการ ต่อมาจึงทำให้มีเขตปลอดเด็กเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และคนในเกาหลีใต้ก็เห็นดีเห็นงามเสียด้วย แต่คนที่กังวลใจเกี่ยวกับเรื่องนี้มากที่สุดก็น่าจะเป็นบรรดาแม่ ๆ การมีเขตปลอดเด็กก็ทำให้ใช้ชีวิตลำบากมากขึ้น เพราะแค่การพาเด็กไปนอกบ้านก็กลายเป็นถูกผู้คนในสังคมพากันรังเกียจแล้ว
คนมีลูกเล็กจะออกไปใช้ชีวิตข้างนอกไม่ได้เลยหรือ
พอลูกโตขึ้นเรียนในชั้นประถม ในคุณโชนัมจู (ผู้เขียน) ก็ทำให้เราพบว่าคนเป็นแม่ก็ต้องเผชิญกับความยากลำบากอีกรูปแบบ คุณแม่ต้องลางานมาร่วมงานโรงเรียนของลูกอยู่บ่อยครั้ง แต่ดูเหมือนว่าที่ทำงานของเธอจะไม่เข้าใจว่าทำไมต้องลางาน ไม่เห็นใจพนักงานที่เลี้ยงดูลูกเลย สามีก็คิดว่าหน้าที่เลี้ยงดูลูกคือหน้าที่ของผู้หญิงอีก หน้าที่ทุกอย่างเกี่ยวกับลูกเลยดูเหมือนกลายเป็นเทมาที่ผู้หญิง
ดูเหมือนการแต่งงานของผู้หญิงเกาหลีใต้ตามในหนังสือนั้นต้องเสียสละตั้งแต่หน้าที่การงาน เพราะต้องเตรียมตัวออกมาเป็นแม่บ้านเต็มตัว สละชีวิตความสุขส่วนตัว จนเมื่อลูกโตขึ้น แต่งงานมีครอบครัวแล้ว ก็ยังไม่พ้นความลำบากที่ผู้หญิงคนหนึ่งต้องเผชิญ
มีตอนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ที่กระทบใจของฉันมาก เรียกได้ว่าอ่านไปก็จุกในใจ ชื่อตอนว่า
ถึงพ่อจินมย็อง
เป็นเรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่งเขียนเรื่องราวของตัวเองถึงสามีของเธอที่เสียชีวิตไปแล้ว ปัจจุบันเธอได้เปลี่ยนจากสถานะของแม่ เป็นคุณยายและคุณย่าของหลาน เธอมีหน้าที่ที่ต้องช่วยลูกสาวและลูกชายดูแลหลาน ในวัยที่อายุมากแล้ว จากที่เธอเคยวางแผนไว้ว่าเมื่ออายุเยอะ ๆ เธอจะได้ไปเที่ยวไหนต่อไหนกับสามี แต่กลายเป็นว่าเธอกลับต้องมาช่วยลูกเลี้ยงหลาน แล้ววัยของเธอเป็นวัยที่ร่างกายกำลังถดถอย ทำให้การดูแลหลานที่อยู่ในวัยกำลังเติบโต กำลังซน ในบางครั้งทำให้เธอล้าเต็มที วิชาการเรียนการสอนของเด็กสมัยนี้ก็ไม่เหมือนกับสมัยที่เธอเรียนมา ทำให้ในบางครั้งระหว่างที่รอลูกมารับหลานกลับบ้าน เธอไม่สามารถสอนการบ้านของหลานได้ สิ่งนี้ทำให้เธอรู้สึกขมขื่นในใจที่ไม่สามารถสอนเด็ก ๆ ได้
และในบางครั้งที่เธอทำอะไรที่เกี่ยวกับการดูแลหลานผิดไป เธอก็จะโดนตำหนิจากลูก ทำให้เธอต้องกลับมาเสียใจกับตัวเองอยู่เงียบ ๆ
เมื่อสมัยก่อนตอนที่ลูกของเธอยังเด็ก เธอเคยสอนให้ลูกอย่ามีชีวิตแบบเธอ บอกลูกให้เรียนสูง ๆ ทำงานที่อยากทำเพื่อให้ได้อยู่ในตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดี จนเมื่อลูกของเธอโตขึ้นมาจนมีหน้าที่การงานที่ดี มีครอบครัว มีลูก กลับกลายเป็นว่าเธอต้องมารับหน้าที่เลี้ยงหลาน ๆ เพิ่มมากขึ้น แน่นอนว่าเธอเต็มใจที่จะช่วยลูก แต่ในบางครั้งเธอก็รู้สึกว่า
แล้วชีวิตของเธออยู่ที่ไหน ??
พออ่านตอนนี้ ยังไม่ทันจะจบตอนด้วยซ้ำ มีภาพผู้หญิงคุ้นตาคนนึงผุดเข้ามาในหัวเลย…
.
แม่…
ภาพของผู้หญิงคนนั้นทับซ้อนขึ้นมาเมื่อตอนที่ฉันอ่านถึงตอนนี้ ผู้หญิงคนหนึ่งที่เสียสละชีวิตส่วนตัวของตนเอง เพื่อพยายามทำสิ่งที่ดีให้ครอบครัว ทำให้คิดเหมือนกันว่า
แม่มีความสุขกับชีวิตดีหรือเปล่านะ
แม่ได้ทำอะไรที่อยากทำหรือเปล่า
พอถึงตรงนี้ก็ทำให้นึกถึงประโยค ๆ หนึ่งในหนังสือเล่มนี้ที่ทำให้เรารู้สึกเตือนสติตัวเองได้ขึ้นมา…
“…ถึงแต่งงานแล้วก็จงใช้ชีวิตเป็นตัวเธอเอง อย่าได้กลายเป็นภรรยาของใครสักคน ลูกสะใภ้ของใครสักคน หรือแม่ของใครสักคน”
หนังสือ: Her Name is ชื่อของเธอคือ…
นักเขียน: โชนัมจู
ผู้แปล: นิภารัตน์ รุ่งรังษี
สำนักพิมพ์: บิบลิโอ
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน)ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี