โจนาธานลิฟวิงตัน 'มนุษย์' - Decode
Reading Time: 3 minutes

ความทรงจำเดียวที่ผมมีต่อนางนวลโจนาธาน คือหนังสือเล่มบางที่ดูหนาเป็นพิเศษสำหรับเด็กประถม ที่ครูภาษาไทยเมื่อตอน ป.6 หยิบขึ้นมาเล่าให้เด็ก ๆ ฟัง

ความทรงจำที่ติดค้างนาน 14 ปี กับหนังสือเล่มนี้ ไม่ได้ทำให้ผมนึกถึงปีกแห่งเสรีภาพและท้องฟ้าแห่งการแสวงหา แต่เป็นการนั่งกินขนมขาไก่ไปพลาง ฟังพอดคาสต์แบบสดในห้องเรียนไป พร้อมปิดท้ายด้วยการผล็อยหลับก่อนเข้าเรียนคาบถัดไป

ความทรงจำปลายขนสีเทา 1 มิลลิเมตรในระยะประชาธิปไตยเปลี่ยนผ่าน สังคมยังพลวัตความเป็นขบถให้คนรุ่นแล้วรุ่นเล่า โจนาธานลิฟวิงตันในบทความนี้จึงพ่วงท้ายคำว่า มนุษย์ ไม่ใช่นางนวล หนังสือเล่มบางที่ใช้เวลาอ่านไม่นานสำหรับผมอีกต่อไป แต่ระดับความชาของสังคมแห่งการเด็ดปีก ซึมลึกถึงระดับแก่นอัตนิยม กับคำถามง่าย ๆ อย่าง ‘เราโตเป็นผู้ใหญ่แบบไหนกัน’

แล้วคุณล่ะ วันนี้กลายเป็นนางนวลอาวุโส นางนวลเจียง หรือนางนวลเฟลตช์กัน?

ปีกเสรีภาพตามคติอเมริกันชน

โจนาธานลิฟวิงตันนางนวล ไม่ได้ถูกวางเป็นหนังสือจะดัง นักเขียนโนเนมที่ถูกปฏิเสธจาก 19 สำนักพิมพ์ ตีพิมพ์ครั้งแรกเพียง 3,000 ฉบับ และผู้เขียนอย่าง ริชาร์ด บาค ได้รับเงินต้นเพียง 2,000 ดอลลาร์ หนังสือเล่มนี้ดังเป็นพลุแตกเพราะปากต่อปากบอกกันในหมู่ฮิปปี้(บุปผาชน)ว่าหนังสือเล่มนี้ดี

โจนาธานฯ เปิดตัวในช่วงปลาย 60s และมาเป็นที่สนใจและขายดีเทน้ำเทท่าในปี 1970 สิ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ถูกใจชาวอเมริกา คือการแสวงหาในยุคมืดบอดจากสงครามเวียดนามและการต่อต้านระบบทุนนิยม นักศึกษาและประชาชนจำนวนมากลงสู่ท้องถนนผ่านไทม์สแควร์และเกือบทั่วประเทศ เรียกร้องให้รัฐบาลหยุดการทำสงครามตัวแทนนี้

Concept ของปีกแห่งเสรีภาพในบทที่ 1 คือภาพสะท้อนภาพอเมริกาในยุค 60s-70s อย่างมีมิติ แม้ทุกวันนี้ภาพของประเทศมหาอำนาจพญาอินทรีจะกลายเป็นโลกเสรีนิยม แต่ช่วงที่โลกกำลังชิงสุกชิงห่ามกันอยู่นั้น วัยรุ่นสร้างชาติ(Baby Boomer) จำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้เชื่อในระบบทุนนิยมเสรีที่กล่าวอ้าง

ช่วงวัยที่ควรได้ใช้ชีวิตกลับกลายต้องคิดแต่ทำมาหากินในช่วงข้าวยากหมากแพงจากสงครามและวางรากฐานเศรษฐกิจให้ประเทศ ภาพจำของมนุษย์ออฟฟิศ(เพราะเชื่อว่ามั่นคง)คือผลผลิตหนึ่งจากการต่อต้านการเป็นส่วนหนึ่งของสายพานทุนนิยมที่ยังส่งมาถึงทุกวันนี้

“ไอ้เรื่องฝึกบินมันก็ดีอยู่หรอก แต่เจ้าก็รู้ใช่ไหม ว่าการบินนั่นมันกินเข้าไปไม่ได้ อย่าลืมสิว่าเหตุผลที่เจ้าบินก็เพื่อหาอาหารกินเท่านั้น” พ่อโจนาธานกล่าว

จนวันที่โจนาธานได้ร่อนลงสู่ประเทศไทย ผ่านฉบับแปลของ อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ คนเดือนตุลาจำนวนมากได้อ่านหนังสือเล่มนี้เช่นเดียวกัน ท่ามกลางรัฐบาลเผด็จการ ประเทศไทยก็กำลังแสวงหาความสว่างในยุคมืดบอดทางการเมือง ชีวิตที่ยากลำบากของผู้คนคือจุดร่วมที่อเมริกาส่งตรงถึงไทย หลังจากหนังสือเล่มนี้ถูกตีพิมพ์เป็นภาษาต่าง ๆ ทำให้การแสวงหาเสรีภาพในยุค 70s แพร่กระจายไปทั่วโลก

ข้อสังเกตอย่างหนึ่งต่อเสรีภาพของโจนาธาน แม้ว่าปรากฏการณ์โดยรวม ณ ขณะนั้นจะเป็นการต่อต้านสงครามและแสวงหาสันติสุข แต่การแย่งชิงอำนาจระหว่างมหาอำนาจทำให้พิษเศรษฐกิจส่งผลกระทบไปทั่ว นั่นทำให้คนจำนวนมากต่อต้านระบบทุนนิยม(Anti Capitalism) ในความหมายที่ว่าระบบกำลังเร่งผลิตทรัพยากรเพื่อมาสร้างสงครามถัด ๆ ไป

ถึงอย่างนั้น โจนาธานลิฟวิงตันนางนวลไม่ได้มีแต่ผู้ชื่นชม นักศึกษาฝ่ายซ้ายของไทยในเวลานั้นก็ออกมากล่าวว่าหนังสือเล่มนี้เป็นเพียงจิตนิยม ไม่ใช่ปรัชญาหรือสร้างการปฏิวัติใด ๆ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของบุปผาชน เป็นเพียงการแสวงหาสันติสุขของปัจเจก หนังสือเล่มนี้หากเทียบกับเล่มอื่น ๆ ในช่วงเวลาเดียวกัน กลับกลายเป็นความตื้นเขิน ที่เชื่อว่าหากเราพยายามมากพอเราก็เป็นได้ทุกสิ่ง

โจนาธานยังติดลมบนหลังสงครามสิ้นสุด จากภาวะต่อต้านทุนนิยม หนังสือเล่มนี้กลับถูกหยิบยกให้เข้ากับ American Dreams มากยิ่งขึ้นในช่วงปลาย 90s การแสวงหาความสำเร็จตามฉบับอเมริกันชนยุค Millennials ได้รับความนิยมอย่างมาก หลังโลกเสรีได้กระจายไปทั่วโลก โจนาธานถูกแปลงความหมายจากนางนวลหนุ่มผู้ตั้งคำถาม สู่นางนวลผู้ปลดลิมิตของตัวเอง 

โจนาธานเองถูกใช้เป็นหนังสือแทนระบบทุนนิยมเสรีที่บรรดาเหล่าไลฟ์โค้ชในยุค 90s ที่อเมริกากล่าวถึงความสำเร็จของปัจเจกเทียบเคียงกับความเร็ว 220 ไมล์/ชั่วโมงเป็นไปได้ ถ้าหากคุณคิดว่าเป็นไปได้ ไปจนถึงการตามหา Passion อย่างการบินแบบโจนาธาน ที่เมื่อคุณเจอมันแล้วคุณจะประสบความสำเร็จ แม้ไม่มีอะไรยืนยันได้เลยว่าสิ่งนั้นคือ Passion หรือคุณเองก็บิน 220 ไมล์/ชั่วโมง ได้

จึงไม่แปลกที่นางนวลโจนาธานยังโลดแล่นอยู่เสมอ นิทานสอนใจปลายเปิดเล่มนี้ถูกผู้คนมอบความหมายของการขบถอยู่เสมอ เพียงแต่บริบท สถานที่ และเวลาที่ต่างกัน ทำให้ยุคหนึ่งหนังสือเล่มนี้ถูกใช้เป็นขบถต่อระบบทุนนิยมและสงคราม และยุคหนึ่งคือความเป็นขบถต่อปัจเจกในการถีบตัวเองขึ้นไปหาความสำเร็จในโลกทุนนิยมเช่นกัน

โจนาธานลิฟวิงตันนางนวล เป็นหลักฐานชิ้นหนึ่งที่ดีในการทำความเข้าใจการเผยแพร่โลกเสรีตามฉบับอเมริกา โดยไม่ได้มาจากริชาร์ด บาค แต่อย่างใด แต่การส่งต่อความคิดของโลกมหาอำนาจผ่านปากต่อปากของผู้คน และยังมีผลจนถึงทุกวันนี้

ภาวะหลุดพ้น ในชื่อนิพพานและการเป็นอิกนอร์

“พวกเรามาจากฝูงของท่าน โจนาธาน เราเป็นพี่น้องของท่าน”
“พวกเรามาเพื่อนำท่านขึ้นไปที่ ๆ สูงกว่านี้ มาพาท่านกลับบ้าน”

หลังโจนาธานถูกอัปเปหิออกจากฝูง ระหว่างบินกลางความมืดมิดก็พบเจอความนางนวล 2 ตัว

“กลับบ้าน” ในที่นี้มีนัยยะอย่างน่าสนใจ ทันทีที่โจนาธานรู้ว่าไม่ใช่เขาตัวเดียวที่เป็นนางนวลที่ชอบการบิน นั่นหมายความว่าบ้านที่เขาอยู่เป็นเพียงสถานที่ที่จากมา แต่ที่ ๆ กำลังจะไปต่างหากคือแวดล้อมที่เหมาะกับตัวเขา

บทที่ 2 ของหนังสือเล่มนี้กล่าวถึงการเป็นอิสรชนโดยเชื่อมโยงความเชื่อของหลายสำนัก ศาสนา ชุดความคิดได้พลิกแพลงพอ ๆ กับท่าบินยาก ๆ และกลั่นกรองมาให้นางนวลเรียนรู้ได้อย่างน่าขบคิด โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการเป็นสมบูรณ์เลิศอย่างมีกรุณาและเมตตาจิต

โจนาธานไม่หยุดเรียนรู้ แม้เป็นนางนวลที่มาใหม่ แต่เขากลับเฉิดฉายกว่านางนวลตัวไหน ได้เป็นถึงศิษย์เอกของซัลลิแวน วันแล้วที่ฝึก วันเล่าที่ฝน โจนาธานมีสติรู้อยู่กับปัจจุบัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ เจียง นางนวลชราสอนเขาเกี่ยวกับทักษะบินพริบตา เป็นการทิ้งสัมภาระทั้งกายหยาบและความคิดนอกเหนือจากปัจจุบัน เช่นนั้นถึงจะเคลื่อนที่ไปที่ไหนอย่างไรก็ได้

การได้มาอยู่ที่สรวงสววรค์หรือบ้านหลังนี้ของโจนาธาน สำหรับผมตีความในลักษณะของการมุ่งสู่นิพพาน ถึงแม้จะความย้อนแย้งอยู่บ้าง ในขณะที่การปลงต่อความคิดเดิม ๆ แต่ยังคงมุ่งเน้นบำเพ็ญตบะ(ฝึกบิน) นั่นหมายถึงยังมีกิเลศคือความอยากจะบินให้เก่งกว่านี้

อย่างไรก็ตาม ปลายทางของความสมบูรณ์เลิศคือการบินเหนือขอบเขตของกายหยาบ เข้าใจแก่นแท้ของการบินและความหมายที่แท้จริงของชีวิตนางนวล เป็นภาวะหลุดพ้นเพื่อไปยังอีกโลกที่น้อยนางนวลจะไปถึง

อีกแนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจคือการเป็นอิสระจากความไม่รู้หรือการเป็นอิกนอร์(Ignorance) ในความหมายของโมกษะวิทยาตามศาสนาพราหมณ์ เหมือนอย่างที่ซัลลิแวนพูดกับโจนาธาน

“นายจะไปสนใจทำไม ว่าที่ที่จากมาเขาจะเป็นอยู่กันอย่างไร นายรู้ไหม ว่านายคือนก 1 ในล้านเลยนะ นายคิดว่าเราจะต้องเกิดอีกกี่ชาติ พันภพ หมื่นชาติ! กว่าเราจะเข้าใจความหมายของการมีชีวิต การที่นายไปสนใจพวกไม่ตื่นรู้ จะทำให้นายเหนื่อยเสียเปล่า ๆ”

กล่าวคือการเป็นอิกนอร์เอง ก็คือมุ่งสู่ความเป็นปัจเจกที่เป็นเลิศ และนั่นเป็นทางที่นางนวลบนสรวงสวรรค์ยึดถือมานาน แต่โจนาธานกลับฟุ้งซ่าน เขาไม่สามารถปล่อยวางผู้ไม่ตื่นรู้ได้ สำหรับเขาการบินเป็นเรื่องที่ดีและจะดียิ่งกว่าหากได้แบ่งปันกับคนที่ยังไม่รู้จักการบินมากพอ นั่นทำให้โจนาธานตื่นรู้ยิ่งกว่าผู้อื่นตามที่เจียงบอกไว้ เขาได้รู้จักความรักและแบ่งปันมันให้กับผู้อื่น

นั่นทำให้ภาพลักษณ์ของโจนาธานไม่ต่างกับศาสดา โจนาธานเป็นนกที่พิเศษกว่าตัวอื่น ไม่ใช่ในการบิน แต่เป็นที่การตื่นรู้ หลังจากค้นพบจึงส่งต่อ และทุกครั้งที่โจนาธานปรากฏตัว การบินธรรมดาของเขาก็กลายเป็นสิ่งวิเศษที่ทำให้ขนสีเทาลุกชูชัน

บทนี้จึงไม่ใช่เพียงการฝึกฝนเพื่อเข้าสู่ความสมบูรณ์เลิศ แต่กำลังตั้งคำถามต่อภาวะหลุดพ้น ทำให้ผมเห็นภาพทับซ้อนต่อการตั้งคำถามกับการโปรดสัตว์โลกของพระศรีอริยเมตไตรยทุกองค์ ซึ่งก็เป็นคำถามที่น่าฉุกคิด ไม่ว่าจะเพราะสภาวะที่สูงกว่าเรา ๆ หรือเป็นคติธรรมสอนใจมนุษย์ให้รู้จักแบ่งปัน อาจต้องรออีก 2000 ปีตามกาลอวสานของโลกตามหลักพุทธศาสนาเพื่อรอพระศรีอริยเมตไตรยองค์ต่อไปมาตอบ

แต่ที่เรารู้ คือโจนาธานลิฟวิงตันก็รู้ตัว ว่าแท้จริงเขาไม่ได้เกิดมาเพื่อการบินที่เป็นเลิศ แต่การทำให้ผู้อื่นตื่นรู้คือความเป็นเลิศของเขา และนั่นคือความหมายของชีวิตนางนวลโจนาธานต่างหาก

กฎข้อเดียวคือกฎที่ว่าด้วยการตั้งคำถาม

จะโดยบังเอิญหรือตั้งใจ สิ่งที่เกิดขึ้นกับโจนาธานในเรื่องและนอกหนังสือ กลับมีส่วนเชื่อมโยงกันอย่างน่าประหลาดใจ

ในวันที่ความขบถถูกลืมตั้งคำถามและกลายเป็นการบูชาตัวบุคคล ประโยคที่ว่าด้วย ‘กฎข้อเดียวคือกฎที่นำไปสู่เสรีภาพ’ อาจไม่สำคัญเท่า ‘กฎที่ว่าด้วยการตั้งคำถาม’

โจนาธานและนางนวลตื่นรู้ ล้วนเป็นผู้มาก่อนกาลของยุคสมัย พวกเขาขบถ ตั้งคำถาม ตามหาการเปลี่ยนแปลง พิสูจน์และฝึกฝนจนได้ข้อเท็จจริง ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ทำให้เขาพวกเขาถูกขับไล่ออกจากฝูง เพราะการตั้งคำถามคือการท้าทายต่อขนบเดิม และนั่นไม่ใช่ทุกคนที่จะยอมรับมันได้

เช่นเดียวกับ เฟลตช์ นางนวลหนุ่มผู้ชื่นชอบการบิน เขาถูกมองเป็นปีศาจและนางนวลทั้งฝูงพร้อมที่จะรุมทึ้ง (เกือบจะเป็น)โศกนาฏกรรมนี้เกิดจากการตั้งคำถามเพียงเท่านั้น

หลังโจนาธานจากไป ถึงจะไม่ได้มีอภินิหารกระดูกกลายเป็นเพชรหรือสลายกลายเป็นละอองแสง โจนาธานก็ยังทิ้งความวิเศษแก่ผู้พบเห็นด้วยการบินออกไปจนลับสายตาแล้วหายไปตลอดกาล วาระสุดท้ายของชีวิต เขาก็ขอจะจากไปด้วยสิ่งที่เขาหลงใหลมาตลอด

เฟลตช์ได้กลายเป็นอาจารย์ที่จะสอนนางนวลรุ่นใหม่ให้รักการบิน บัดนี้การบินกลายเป็นเรื่องปกติ ท่าหมุนควงสว่าน หรือท่าตีลังกา เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปเหนือน้ำทะเล ไม่ใช่ปีศาจตนใดอีกต่อไป

แต่สังคมก็มืดบอดอีกครั้ง หลังเฟลตช์จากไป ผู้สืบทอดสายตรงจากโจนาธานที่เป็นเครื่องยืนยันว่าเสรีภาพในการบินมีอยู่จริง ทำให้เรื่องเล่าของโจนาธานกลายเป็นตำนานและนำมาสู่การเทิดทูนบูชา นกนางนวลเลิกที่จะบิน แต่กลับไปอ้อนวอน เอาหินไปเรียง มีพิธีกรรมและความเชื่อแปลก ๆ อย่างการยิ่งคาบหินก้อนใหญ่ไปบูชาได้แค่ไหน ก็จะยิ่งใกล้เคียงกับท่านผู้นั้นมากยิ่งขึ้น

ผมชอบการเล่าของริชาร์ด บาค ในบทที่ 4 ที่พึ่งปล่อยออกมาในปี 2015 เป็นอย่างมาก น่าสนใจที่สังคมตื่นรู้มากถึงขนาดนั้นแล้ว แต่ทำไมเราถึงกลับไปมืดบอดกันอีก

ทั้งหมดทั้งมวลของพิธีกรรมบูชาตัวบุคคล ไม่ได้เกิดจากลัทธิใด ๆ ทั้งหมดเป็นเพียงการเล่าปากต่อปากในวันที่สังคมเกิดความกลัวต่อการบิน ‘ฉันบินไม่ได้’ ‘ไม่มีทางที่ฉันจะบินได้อย่างนั้น’ ‘เพราะท่านผู้นั้นต่างจากเรา’ ความกลัวเป็นสิ่งที่ทำให้การตั้งคำถามหายไป และเมื่อไม่มีการตั้งคำถาม ความขบถที่จะนำไปสู่เสรีภาพย่อมไม่เกิด

โจนาธานจะรู้สึกอย่างไร หากรู้ว่าสังคมกลับไปมืดบอดอีกครั้ง? เป็นคำถามที่ผมถามตัวเองตลอดบทที่ 4 สังคมที่ขับเคลื่อนด้วยความกลัวจนเกิดพิธีกรรมแปลก ๆ และใจความสำคัญของคนที่สื่อสารหายไปหมดสิ้น

การบินกลายเป็นเรื่องเชย ๆ สำหรับนางนวลรุ่นใหม่ แต่สาระสำคัญยิ่งกว่าคือการตั้งคำถามต่อโจนาธานในคำบอกเล่าของลัทธิบูชาตัวบุคคล นกนางนวลรุ่นใหม่กำลังตั้งคำถามอีกครั้ง โจนาธานมีจริงหรือไม่ การบิน 220ไมล์/ชั่วโมงเป็นได้จริงหรือ สังคมกลับมาสู่การตั้งคำถาม เป็นคลื่นเล็ก ๆ ที่รอวันสะสมจนกลายเป็นคลื่นลูกใหญ่

จนกระทั่งแอนโธนี ได้เจอนางนวลที่บินฉวัดเฉวียน นั่นแหละคือการบิน นั่นแหละคือความหมายของการมีชีวิตไม่ใช่การสวดภาวนาเพื่อให้ฉันบินได้ดี มหากาพย์นางนวลได้จบลงที่ จอน(ชื่อสั้นอีกแบบของโจนาธาน) นางนวลแปลกถิ่นโคจรมาเจอกับกลุ่มนางนวลรุ่นใหม่

ความขบถไม่เคยหายไปจากสังคม เพียงแต่มีช่วงเวลาในการก่อตัว ดับลง และรอจุดประกายใหม่ นั่นคงเป็นเหตุผลที่ริชาร์ดตัดสินใจปล่อยภาคสุดท้ายออกมา เพื่อส่งต่อคำถามกับสังคมสมัยใหม่อีกครั้ง

ริชาร์ดบาร์ค ‘นางนวล’ ถึง โจนาธานลิฟวิงตัน ‘มนุษย์’

เมื่ออ่านหรือดูเรื่องราวปลายเปิดที่ชวนให้ผู้อ่านขบคิด สิ่งที่ผมทำเป็นอย่างแรกคือหาข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าของผลงานอยู่เสมอ เพราะในนั้นมักจะมีเนื้อหาชีวิตของผู้เขียนแทรกอยู่ระหว่างบรรทัด

กระทั่งเว็บส่วนตัวของริชาร์ด บาร์ค ซึ่งได้เสียชีวิตไปเมื่อปี 2022 หลักฐานที่ผมหามาทั้งหมดมักชี้ไปที่เขาเป็นคนรักการบิน จากการเป็นนักบินอยู่นาน ซึ่งจะสอดคล้องกับการที่เขาเลือกที่จะเขียนหนังสือที่ว่าด้วยการบินด้วยปลายขนสีเทาของเหล่านางนวล หลักฐานบนโลกอินเตอร์เน็ตชี้ว่าเขาเป็นคนที่ไขว่คว้าหาอิสระเมื่ออยู่บนท้องฟ้า เป็นมโนคติที่ว่าด้วยเสรีภาพเหนือผืนดิน

แต่ผมไม่เชื่อหลักฐานเหล่านั้นสักเท่าไหร่

ภาคที่ผมชอบที่สุดในโจนาธานลิฟวิงตันนางนวล กลับไม่ใช่ 4 บทที่เป็นเนื้อหา แต่กลับเสียน้ำตาให้กับบท ถ้อยคำสุดท้าย เป็นข้อความที่ริชาร์ด บาค ทิ้งไว้ ก่อนตีพิมพ์ฉบับสมบูรณ์

“เรื่องการผจญภัยปรากฏขึ้นในหัวของใครสักคนได้อย่างไรกันนะ นักเขียนที่รักงานของตัวเองคงกล่าวว่า ความลับเป็นส่วนหนึ่งของมนตร์ขลัง ไม่ต้องมีการอรรถาธิบายใด ๆ”

โลกพยายามชี้ให้เห็นว่าเขาคือนักเขียนที่สามารถตีพิมพ์ได้เป็นร้อยล้านเล่มทั่วโลก เป็นนักบินที่เลื่อมใสในอิสระเสรี แต่ทุกบรรทัดผมเห็นคือความเจ็บปวดของมนุษย์ที่กำลังตั้งคำถามกับชีวิต

ก่อนที่หนังสือเล่มนี้จะโด่งดัง ริชาร์ด โดนปฏิเสธมานักต่อนัก หลายบรรณาธิการก็บอกว่าหนังสือของเขามันอ่านยาก อีกทั้งริชาร์ด ประกอบอาชีพมาหลายอย่าง แม้จะรับราชการโดยการเป็นนักบินอยู่นานที่สุด

ว่ากันว่า การเขียนอะไรสักอย่างที่สร้างโดยจินตนาการ คือภาพฝันของผู้เขียนที่หวังว่าตนจะได้เป็นเช่นนั้น ริชาร์ดอาจไปได้ถึงฝั่งฝันในการเป็นนักเขียน แต่สังคมยังวนเป็นวัฏจักร ความขบถที่มา ๆ หาย ๆ นั่นคงเป็นสิ่งที่ริชาร์ดเลือกที่จะปล่อยภาคที่ 4 ออกสู่สายตาผู้คน

ริชาร์ด บาร์ค ในวัยล่วง 70 อาจเป็นคนตกยุค แต่ตัวเขาในวัย 20 กว่าปีที่ได้เขียนบทที่ 4 เอาไว้ ไม่ใช่ตัวเขาในเวลานั้นมาก่อนกาล ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เขาก็คงไม่คิดว่าภาคสุดท้ายจำเป็นที่จะให้เรื่องราวของนกนางนวลต้องบินต่อโดยไม่รู้จุดหมายอีก

“คุณจำนี่ได้ไหม?”
“โอ๊ะ จำได้แล้ว”
“อ่านมันนะ” เธอยิ้มให้กับต้นฉบับเก่าคร่ำครึที่พบเจอ มันแตะต้องหัวใจเธอ

บทสนทนาของซาบรีนา ภรรยาของริชาร์ด เรียบง่ายแต่กลับเปี่ยมความหมาย ไม่ว่าจอนจะเป็นโจนาธานกลับมาเกิดจริงหรือไม่ บินพริบตาของเจียงคือวิชาลับสุดยอดที่มีแต่นกนางนวลผู้ถูกเลือกฝึกได้หรือเปล่า หรือการมุ่งสู่ความเป็นเลิศจะอ้างอิงจากแนวคิดทางศาสนา ทั้งหมดทั้งมวลเป็นเพียงมนตร์ขลังของนักเขียน ที่ความลับทำให้มันน่าสนใจอยู่เสมอ

และแม้เรื่องราวทั้งหมดอาจเป็นมโนสำนึกของนางนวลที่ถูกขับไล่และไม่มีอยู่จริง แต่ความพยายามที่ผ่านความล้มเหลวและอยากให้จดจำเขาบ้างในฐานะนักเขียนของ ริชาร์ด บาร์ค ‘มนุษย์’ นั้น มีอยู่จริง

ถึงผมจะไม่เชื่อปีกแห่งเสรีภาพตามคติอเมริกันชนในหนังสือเล่มนี้สักเท่าไหร่ เป็นเพราะเมืองที่ผมอยู่นั้นอาจพูดเต็มปากไม่ได้ว่า หากคุณไม่ใช่คนที่ถูกเลือก(ด้วยเงินทองและฐานะ) ความพยายามอาจลงเอยด้วยการสูญเปล่า เจ็บช้ำและถูกย่ำยี ท้ายที่สุดคุณจะกลายเป็นอาหารให้หอย ปู ปลา แทะเศษเนื้อของคุณก็เป็นได้

ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น เป็นเรื่องไม่จริง

แต่ความพยายามอยู่ที่ไหน ความพยายามก็คงอยู่ที่นั่น และความพยายามจะพาเราไปสักแห่งหน แต่ไม่ได้บอกว่าจะไปสู่ความสำเร็จเสียหน่อย

ความพยายามของริชาร์ด บาร์ค ที่ไม่ว่าใครจะสรรเสริญหนังสือเล่มนี้ในแง่มุมไหน สิ่งที่เขาต้องการมีเพียงแค่อย่าลืมการตั้งคำถาม เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่หยุดตั้งคำถาม เราจะกลับไปมืดบอดอีกครั้ง

และที่หนังสือเล่มนี้คงประสบความสำเร็จมาก ๆ เล่มหนึ่ง ไม่ใช่เพราะยอดขายนับร้อยล้านเล่ม แต่เพราะยังมีคนตั้งคำถามและกลายเป็นขบถต่อขนบใดขนบหนึ่งอยู่จนถึงตอนนี้

อย่างน้อยก็ผมคนหนึ่ง ที่ยังตั้งคำถามต่อโจนาธานลิฟวิงตันนางนวลอยู่ ณ ขณะนี้

ภาพประกอบจาก AiVaad

Playread : โจนาธานลิฟวิงตัน นางนวล
ผู้เขียน :  ริชาร์ด บาค
ผู้แปล : ปัณณวีร์
สำนักพิมพ์ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), บจก.

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ(ที่อยากอ่าน) ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี