ปากคำของหญิงสาว ผู้ไม่อยู่ในนโยบายสิ่งแวดล้อมไทย - Decode
Reading Time: 2 minutes

“ยายกำลังถางสวนข้าวไร่ กำลังจะปลูกนั่นปลูกนี่
แต่คนอื่นเขาไม่ให้ หน่วยงานเขาก็ว่าไม่ได้ ยังไงก็จะเวนคืน
เขาพูดหลายอย่าง พ่อทองคำ (สามี) ก็เลยยอมให้เขา เขาว่าที่ดินเป็นของหลวง”

ปีพ.ศ. 2516 รัฐบาลได้ประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติดงบังอี่ที่ครอบคลุมพื้นที่หลายส่วนในมุกดาหาร ต่อมาในปีพ.ศ. 2535 รัฐบาลออกประกาศกำหนดเขตปฏิรูปที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มีนโยบายที่เร่งรัดการปฏิรูปที่ดินประเภทต่าง ๆ ส่งมอบพื้นที่ที่ถูกประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติและป่าไม้ถาวรที่เสื่อมสภาพ รวมไปถึงที่ดินที่มีชาวบ้านเข้าไปถือครองทำกิน และให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนำไปพัฒนาเพื่อใช้ในการทำเกษตรกรรม 

แต่การพัฒนาที่ดินดังกล่าวกลับนำมาซึ่งการสูญเสียที่ดินทำกินของชาวบ้าน เกษตรกรหญิงหลายคนผู้ที่เป็นคนบุกเบิกที่ดินหลายผืนบนเขตป่าที่อยู่ในแผนปฏิรูป ถูกเวนคืนที่ดินและหลายคนไม่ได้รับค่าชดเชยใด ๆ

ความเจริญของมุกดาหารต้องย้อนกลับไปเมื่อปลายทศวรรษ 2510 บรรยากาศสงครามเย็นที่การเมืองถูกนำโดยความมั่นคงทางทหาร ตั้งแต่ตำบลคำฮวน จังหวัดมุกดาหาร จนถึงเขตเทือกเขาภูพานฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์ ชุมชนที่ติดเขตป่าหรือภูเขาจะกลายเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
ด้วยสถานการณ์ดังกล่าว รัฐบาลได้เกณฑ์ชาวบ้านเข้ามาปรับภูมิทัศน์ ผ่านการหักโค่นกอไผ่และต้นไม้ใหญ่ที่จุดยุทธศาสตร์ต่อเนื่องไปพร้อมการขยายถนนทางเกวียน เพื่อให้พื้นที่เปิดโล่งและง่ายต่อการสอดแนมคอมมิวนิสต์

ทว่าทลายป่าดงเพื่อปราบปรามคอมมิวนิสต์ กลับสร้างการเปลี่ยนแปลงหลายด้านให้กับชุมชนโดยเฉพาะเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในตำบลคำอาฮวน ตำบลมุก และตำบลโพนทราย เริ่มจากการบุกเบิกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกพืชเงินสด ได้แก่ การปลูกปอ (พืชเส้นที่นิยมใช้ทำกระสอบ) ตามมาด้วยการปลูกมันสำปะหลังและอ้อย จนกลายเป็นพืชที่มีการผลิตอย่างเข้มข้นในมุกดาหาร

“ปี 2535 หน่วยงานเข้ามาบอกว่าจะเอาที่ดินยายไปทำศูนย์ไหม (ศูนย์วิจัย)
แต่กลับเอาไปจัดสรรเป็นที่ดิน ส.ป.ก. ให้คนมาจากที่อื่นได้กันคนละ 3 ไร่
ที่ดินยายทั้งนั้น ปี 2559 หน่วยงานก็มาเวนคืนอีก (ทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ)”

แผนปฏิรูปที่ดินนำมาซึ่งการสูญเสียที่ดินทำกินของ แม่สุดา เกษตรกรหญิงที่ทำสวนและไร่บนที่ดินในบ้านป่งเป้า ตำบลโพนทราย จังหวัดมุกดาหาร ก่อนปีพ.ศ. 2535 แม่สุดาและสามีร่วมกันบุกเบิกที่ดินบริเวณดังกล่าว ด้วยการถางป่าปลูกข้าวไร่บนที่ดินกว่า 11 ไร่ แต่น้ำพักน้ำแรงของเธอกลับไม่ได้สิ่งใดตอบแทน ด้วยเหตุจากนโยบายรัฐที่หาเวนคืนที่ดินจากชาวบ้านและไม่ได้รับค่าชดเชยใด ๆ 

1,080 ไร่ในแผนปฏิรูปที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มีไว้สำหรับจัดตั้งศูนย์วิจัยฯ เพื่อพัฒนาความรู้ ด้านเกษตรกรรม และส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่มีผลผลิตสูงเพื่อตลาด โดยแบ่งเป็นฝั่งพืชไร่และฝั่งสวนหญ้าสำหรับปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ ซึ่งนำมาสู่การสูญเสียที่ทำกินและอยู่อาศัยด้วย

ที่ดินของแม่สุดาก็ถูกเวนคืนและพื้นที่เกษตรกรรมของเธอถูกทำลาย ขณะที่ลูกทั้งสามกำลังเติบโตแต่ที่ดินสำหรับการทำนาหรือปลูกอ้อยเลี้ยงชีพเหลือไม่มากนัก แม่สุดาจำต้องหันไปหาของป่าหรืออาหารตามธรรมชาติเพื่อไปขายในตลาด กระทั่งเธอมีแผงขายของในตลาดเทศบาลของอำเภอเมืองมุกดาหารและประคองครอบครัวให้อยู่ต่อไปได้

“ชาวบ้านพากันขี่รถไปสองสามคัน ไปหลายครั้งหลายคราว ไปขอผู้ว่าฯ
ให้ที่ตรงนี้เป็นที่สาธารณะประโยชน์ ให้เป็นที่หากินเก็บผักเก็บเห็ด
เป็นของส่วนรวมของชาวบ้าน แต่ก็ไม่ได้ผล”

30 ใน 1,080 ไร่ที่บ้านพรานอ้น ตำบลอำคาฮวน จังหวัดมุกดาหาร เป็นของ แม่หนูพร โชติศรี ซึ่งเป็นมรดกที่ตกทอดมาตั้งแต่รุ่นตายาย พ่อแม่ของเธอแก่ชรามากแล้ว แม่หนูพรกับสามีจึงร่วมกันทำนาและปลูกบ้านหนึ่งหลังบนที่ดินดังกล่าว และเลี้ยงวัวควายจำนวนหนึ่งที่ถือว่าเป็นอาชีพดั้งเดิมของชุมชนบ้านพรานอ้น

กระทั่งมีประกาศจากผู้ใหญ่บ้านว่าทางราชการจะนำที่ดินดังกล่าวไปสร้างศูนย์วิจัยฯ และให้เอกชนเข้ามาเช่า มีการล้อมรั้วบนที่ดินผืนนั้น และรื้อทำลายบ้านกับไร่นาของเธอ โดยที่เธอไม่สามารถเรียกร้องสิ่งใดจากหน่วยงาน และมีเหตุผลเพียงว่า ‘เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินต่อไปไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพราะที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ขาดของทางราชการ’

แม้แม่หนูพรจะพยายามต่อสู้เรียกร้องแต่ก็ไม่เป็นผล เธอจำต้องย้ายออกมาจากที่ดินผืนเก่า โดยมีเพียงข้อเสนอให้สามีของเธอเข้าเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและรับเงินเดือนราว 3,000 บาทต่อเดือน และข้อเสนอในการสร้างบ้านใหม่ให้กับแม่หนูพร ทว่าข้อเสนอดังกล่าวมีให้เพียงคนงานเท่านั้น เพราะเธอเป็นคนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายวัสดุในการสร้างบ้านทั้งหมด

เงินสามพันบาทไม่เพียงพอในการประทังครอบครัว และแม่หนูพรต้องทำเกษตรในที่ดินที่เหลืออยู่ของสามี แต่การปลูกข้าว อ้อย มันสำปะหลังไม่สามารถขยับขยายรายได้ของครอบครัวขึ้นไปได้ ด้วยความหวังว่าลูกสาวคนเดียวของเธอจะมีอนาคตที่ดีและมั่นคง เธอจึงเข้าเป็นแม่บ้านในโรงแรมมุกธารา ไปพร้อมการทำเกษตรที่บ้านของเธอ

“แม่อยากหนี แต่จะไปอยู่ที่ไหน สมัยนี้ที่ดินราคาแพง
สามีก็เป็นคนไม่มีที่ดิน แม่ก็ถูกยึดที่ จะไปหากินที่ไหนล่ะ อึดอัดใจมาก”

ปากคำของแม่นาค ผู้สูญเสียที่ดินจากการล้อมรั้วเป็นศูนย์วิจัยฯ
และไม่รู้ว่าจะต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมได้มากน้อยเพียงใด เพราะไม่ว่าจะสู้กี่ครั้งก็แพ้

“ดินแต่พ่อแต่แม่ แต่ตาแต่ยาย ต่อมาทำถนน แล้วลูกหลานจะทำมาหากินอะไร
ทำถนนไม่เห็นได้สักบาท ชลประทานก็พอได้กินปูกินปลา ตอนนี้คงได้กินแต่เลนและหลักถนน”

ปากคำของแม่สมใจ ผู้สูญเสียที่ดินซ้ำซ้อนจากครั้งแรกที่เสียผืนนาเพื่อทำศูนย์ราชการ
ถัดมาเป็นที่ดินที่เสียไปเพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งค่าชดเชยมีมูลค่าต่ำอย่างน่าใจหาย

“ถ้าให้ไร่ละสามหมื่น แล้วต้องไปซื้อไร่ละล้าน จะเอาเงินที่ไหนไปจ่าย
ที่ดินที่เวนคืนไปทำถนนที่ตัดผ่านหน้าบ้าน รัฐควรคิดให้ราคาสูงมากกว่านี้
ควรคิดว่าค่าปูนกระสอบละเท่าไหร่ ค่าหินคิวละเท่าไหร่ ค่าจ้างช่างเท่าไหร่”

ปากคำของนางลมัย ผู้สูญเสียที่ดินของตนเพื่อแลกกับเงินชดเชยเพียงน้อยนิด
เมื่อเทียบกับราคาของที่ดินใหม่ที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ในเวทีประชุมของชาวบ้านเพื่อต่อรองกับรัฐ

“ไม่กล้าพูด เพราะกลัวนายใหญ่ กลัวเขาจับ เราสมองป. สี่”

ปากคำของแม่จิ๋ว หญิงชราวัย 70 ปีที่คาดว่าจะเสียที่ดินให้กับรัฐเช่นกัน
แต่นอกเหนือจากอารมณ์คับแค้น ความรู้สึกเกรงกลัวต่ออำนาจเหนือก็ยังดำเนินอยู่เช่นกัน

ซึ่งในหลากหลายบริบท ผู้หญิงมีส่วนสำคัญในทุกมิติของการดำรงชีวิต ทั้งครอบครัว เศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม และเต็มไปด้วยการดิ้นรนปรับตัว การต่อสู้ต่อรองกับความไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะหญิงด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจสังคมและการเมืองที่ล้วนแล้วแต่แบกรับผลกระทบ รับแรงกระแทกที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงบริบทพื้นที่ เศร้าใจกับการสูญหายของทรัพยากร และนำมาสู่กระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมดังที่เกิดขึ้นหลายส่วนในไทย

นักคิดทศวรรษที่ 1990 มองว่าการพัฒนาในประเทศโลกที่สามถูกสร้างจากประเทศตะวันตก ซึ่งได้ให้ตำแหน่งแห่งที่ของประเทศโลกที่สามเป็นประเทศด้อยพัฒนา ที่มองเห็นผู้หญิงผู้กระทำการข้างต้น เป็นเพียงเหยื่อของการพัฒนาที่รอคอยความช่วยเหลือ ไม่มีประสบการณ์ ไม่มีความรู้สำหรับพัฒนาพื้นที่

กรอบคิดดังกล่าวได้เบียดขับผู้หญิงที่มีความรู้ในการจัดการทรัพยากรต่าง ๆ ออกไป เมื่อมีการช่วยเหลือก็กลับถูกส่งต่อให้ผู้ชาย และปฏิเสธผู้หญิงในฐานะผู้มีความรู้ กีดกันผู้หญิงออกจากประโยชน์ที่ได้รับจากการช่วยเหลือ

แนวคิดนิเวศการเมืองแนวสตรีนิยมในช่วงแรก จึงจะเน้นไปที่การวิพากษ์การพัฒนาแบบยั่งยืนของรัฐและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่เอาเปรียบผู้หญิง มากกว่าที่ให้พื้นที่กับผู้หญิงในการมีส่วนร่วมกับการพัฒนา

นักคิดช่วงหลังจึงพยายามหาประเด็นเชื่อมโยงระหว่างผู้หญิงกับสิ่งแวดล้อมให้กลายเป็นประเด็นการเมือง โดยใช้มิติทาง ‘เพศภาวะ’ ทว่าไม่เน้นการวิพากษ์เป็นหลักแต่พยายามสร้างพื้นที่ความเท่าเทียม ให้ผู้หญิงเป็นหนึ่งในผู้กระทำการสำคัญ นำประสบการณ์ อำนาจ ความรู้และความหลากหลายของผู้หญิงมาใช้ในการสร้างนโยบายทางการเมืองเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม

แต่อย่างไรก็ดี กรณีของการเคลื่อนไหวต่อรอง การล้อมรั้วในที่ดินทำกินของชาวบ้านและการต่อสู้เพื่อเงินเวนคืนที่ดินในมุกดาหารข้างต้น กลับไม่ประสบผลสำเร็จนัก เนื่องด้วยอำนาจเหนือดินแดนของรัฐที่กินความไปถึงโครงสร้างที่เอื้อประโยชน์ให้ทุนใหญ่ รวมถึงเครือข่ายที่ร่วมกันต่อสู้ของผู้หญิงที่ยังเบาบาง

การพัฒนานโยบายที่ใช้ความรู้และประสบการณ์ของผู้หญิง หรือใช้กรอบคิดด้านเพศภาวะมาร่วมทำงาน ก็นับว่ายังเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่งในระบบสังคมปิตาธิปไตยของไทย ระบบทุนนิยมเสรี และโครงสร้างการพัฒนาที่ไม่เป็นธรรมได้หยั่งรากลึกเกินกว่าจะถอนราก การต่อสู้ของหญิงอีสานที่พยายามลุกขึ้นมาต่อรองเรียกร้องกับภาครัฐจึงวนเวียนไปที่ความอยู่รอดและปากท้องมากกว่าการเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย

‘นิเวศวิทยาการเมืองแนวสตรีนิยม’ ของ กนกวรรณ มะโนรมย์ จึงเป็นหนังสือที่พยายามพาผู้อ่าน ไปทำความเข้าใจ ‘การเมืองของสิ่งแวดล้อม’ หรือ นิเวศวิทยาการเมืองในอีกมุมหนึ่งที่มากกว่าการใช้กรอบด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ ในการมองความเป็นธรรมของการเข้าถึงทรัพยากรของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสิ่งแวดล้อม หากแต่ใช้ ‘มิติของเพศภาวะ’ เข้าไปศึกษาร่วม เพิ่มบทบาท และอำนาจของผู้หญิงในฐานะผู้รู้กระบวนการด้านทรัพยากร และทำให้เพศภาวะเป็นหนึ่งในกรอบคิดในการเมืองของสิ่งแวดล้อม

Playread : นิเวศวิทยาการเมืองแนวสตรีนิยม

ผู้เขียน : กนกวรรณ มะโนรมย์

สำนักพิมพ์ : ศยาม

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ(ที่อยากอ่าน) ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี