Endangered - Part 2 ดิ้นให้หลุดจาก S-curve - Decode
Reading Time: 3 minutes

After Play เกมจบคนไม่จบ

แดนไท สุขกำเนิด

เมื่อมองมาทางด้านขวาของกระดาน เราจะพบกับการ์ดแสดงสิ่งที่เราสามารถดำเนินการได้ ในภาษาเกมเราเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าการ์ดแอคชั่น (action card) อย่างที่ได้กล่าวไปว่าโดยพื้นฐานการ์ดแอคชั่นที่เราทำได้นั้นมีอยู่ 4 อย่างหลัก คือ ย้ายเสือไปช่องติดกัน (relocate) เปลี่ยนพื้นที่ป่าแหว่งเป็นป่าที่เสืออยู่อาศัยได้ (replant) โดยจะต้องอยู่ห่างจากเสืออย่างน้อย 1 ช่องและใช้ค่าใช้จ่าย 1 ล้านดอลล่าร์ และทำแคมเปญทางสังคมออนไลน์ (social media campaign) ซึ่งจะทำให้ได้เงิน 1 ล้านหรือจั่วการ์ดแอคชั่นเพิ่ม 1 ใบ ซึ่งแน่นอนว่าจากการ์ดผลกระทบที่เล่าไปก่อนหน้านี้ การมีแอคชั่นแค่สามแบบให้เลือกคงจะเกินคำว่าตึงมือไปไกลทีเดียว แอคชั่นที่สี่ที่สำคัญมากเลยคือการ์ดวางแผน (plan) ซึ่งจะทำให้ผู้เล่นสามารถเลือกวางการ์ดแอคชั่นใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเป็นตัวเลือกเพิ่มขึ้น

🎲 นอกจากแอคชั่นพื้นฐานทั้ง 4 อย่างแล้ว ใน set-up ที่เราเลือกเล่นก็จะมีการ์ดแอคชั่นเพิ่มเติมที่เราทำได้อีก 4 ใบ ซึ่งก็จะทำให้ผู้เล่นมีความสามารถมากขึ้น ประกอบด้วยการ์ดรับเลี้ยงสัตว์ (adopt an animal) ที่ทำให้ย้ายสัตว์ได้ถึง 2 ช่องแลกกับการ์ดแอคชั่นที่จั่วขึ้นมือ การ์ดหาเสียงสนับสนุน (canvassing) ซึ่งต้องใช้เงิน 3 ล้านเพื่อแลกกับ 3 อิทธิพลที่จะทำให้นานาชาติสนับสนุน การประท้วง (protest) ที่จะทำให้อิทธิพลลดลงแต่สามารถฟื้นฟูป่าแหว่งที่ติดกัน 2 ช่อง และการ์ดการวิจัย (research) ที่จะทำให้ดูอนาคตของกองการ์ดผลกระทบใบบนสุด แล้วเลือกที่จะปล่อยไว้หรือนำออกก็ได้
การรับเลี้ยงสัตว์ (adopt an animal) เป็นไปได้ว่าจะหมายถึงการรับเลี้ยงสัตว์เชิงสัญลักษณ์ (symbolic adoption) ซึ่งเป็นการสนับสนุนความพยายามในการอนุรักษ์ผ่านการบริจาค/ซื้อสินค้าที่เปรียบเสมือนการรับเลี้ยง ตัวอย่างหนึ่งคือในเว็บของ WWF (World Wildlife Fund)

เสือ

รอบที่ 1 เริ่มต้นขึ้น ผืนป่าทั้ง 36 ช่องนั้นยังคงปราศจากการบุกรุก แน่นอนว่ามีผลกระทบเรื้อรังตัดไม้ล้มแปลง (clearcutting) รอเราอยู่ แต่จะตัดไปแปลงสองแปลงก็คงไม่ใช่ปัญหาใหญ่อะไร เพราะอาณาเขตของเสือก็มีแค่ 6 ช่องและยังอยู่กันเป็นคู่อีก 2 คู่ด้วย จึงไม่แปลกอะไรที่เสือจะเป็นประเด็นหลักในการเล่นของเราในสองรอบแรก นั่นหมายความว่าแอคชั่นการย้ายเสือและการรับเลี้ยงสัตว์นั้นเป็นแอคชั่นยอดนิยม เพราะการที่ประชากรเสือจะเพิ่มขึ้นนั้นสัมพันธ์กับจำนวนของคู่เสือ ดังนั้นยิ่งย้ายเสือไปจับคู่ได้หลายคู่ก็มีโอกาสได้ลูกเสือมากขึ้นในตานั้น

🎲 การเพิ่มขึ้นของประชากรเสือเรียกว่าขึ้นอยู่กับโชคประมาณหนึ่งเลย แต่ก็เป็นโชคที่เราสามารถเพิ่มความน่าจะเป็นได้ โดยในทุก ๆ ตา เราจะต้องทอยลูกเต๋าหน้า 6 เพื่อดูว่าจะมีเสือตัวใหม่หรือไม่ โดยถ้าเลขเต๋ามีค่าน้อยกว่าหรือเท่ากับจำนวนคู่เสือบวกหนึ่งก็จะเกิดเสือตัวใหม่ 1 ตัว นั่นแปลว่าแค่ในตาแรก ถึงไม่ทำอะไรกับเสือเลยก็มีโอกาสตั้งครึ่งครึ่งที่จะมีเสือลืมตาดูโลก

อาจจะตรงข้ามกับความรู้สึกสักหน่อยที่มีเสือเกิดแค่ตัวเดียวแม้ว่ามีหลายคู่ แต่ผู้เขียนคาดว่านักออกแบบคงอยากจะให้ผู้เล่นเข้าใจถึงความสมจริงและความท้าทายของการเพิ่มประชากรสัตว์ที่เสี่ยงสูญพันธุ์ เพราะในความเป็นจริง ๆ สัตว์ใหญ่หลาย ๆ ชนิดถึงแม้จะไม่ได้สูญพันธุ์แต่ก็เสมือนสูญพันธุ์เพราะอัตราการผสมพันธุ์และการรอดของลูกค่อนข้างต่ำ

แต่ในการจัดการประชากรเสือนั้นไม่ใช่แค่เรื่องของการจับคู่เสือเท่านั้น ด้วยความที่เสือเป็นสัตว์สันโดษ (solitary) ดังนั้นเมื่อผสมพันธุ์เสร็จ ครอบครัวเสือก็จะต้องแยกย้ายกันออกไปสร้างอาณาเขตของตัวเอง แต่นั่นก็เป็นปัญหาใหม่ภายในตัวเองเพราะไม่ใช่แค่มนุษย์ที่จะขยายถิ่นฐานเข้าไปหาสัตว์ แต่สัตว์ก็จะขยายเข้าไปหามนุษย์ ซึ่งทำให้การปะทะกันยิ่งเกิดได้รวดเร็วขึ้น ยังโชคดีที่ในเกมนั้นการเคลื่อนที่ของเสือนั้นเกิดขึ้นโดยผู้เล่นทั้งหมด การหลีกเลี่ยงเขตชุมชน (ป่าแหว่ง) จึงเป็นสิ่งที่วางแผนได้ในระดับหนึ่ง

แนวร่วมและทุน

นอกจากเรื่องเสือสิ่งที่ดูจะจำเป็นต้องทำในรอบแรก ๆ ก็คงหนีไม่พ้นการทำความรู้จักและโน้มน้าวประเทศผู้ให้ทุน ซึ่งนั่นก็หมายถึงการที่ต้องทำแอคชั่นหาเสียงสนับสนุน (canvassing) อย่างไรก็ดีเงิน 3 ล้านดอลล่าร์นั้นไม่ได้หามาได้ง่าย ๆ เลย ดังนั้นการหาเสียงสนับสนุนจึงเป็นแอคชั่นระดับสองที่ต้องทำควบคู่กับการทำแคมเปญเพื่อหาเงิน โดยมุ่งหวังกับการทำเข้าใจเงื่อนไขการสนับสนุนของประเทศต่าง ๆ มากกว่าการโน้มน้าว

สำหรับผู้เขียนมองว่าการหาประเทศผู้สนับสนุนเป็นกลยุทธ์ไฟลท์บังคับอยู่แล้ว ถ้าจะชนะต้องทำ ต่างจากกลยุทธ์อื่น ๆ ที่มีไว้แค่ป้องกันการแพ้ ดังนั้นการจะทำให้หาแนวร่วมได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นก็มีแต่ต้องหาทุนให้ได้มากขึ้นหรือไม่ก็ต้องทำให้ค่าใช้จ่ายและค่าเสียโอกาสการเล่นลดลง ไม่ว่าจะผ่านแอคชั่นล่ารายชื่อ (ซึ่งจะทำให้ได้แต้มโน้มน้าวมาฟรี ๆ 1 แต้ม) หรือแอคชั่นไปทำงาน (ซึ่งจะสร้างเงินมากกว่าการทำแคมเปญเป็นเท่าตัว) แต่กว่าเราจะทำทั้งคู่ก็ผ่านรอบที่สองไปเสียแล้ว นั่นจึงทำให้เราต้องเปลี่ยนแผนจากการไปโน้มน้าวประเทศต่าง ๆ เป็นการวางแผนให้เข้ากับกรอบการให้ทุนของประเทศนั้น ๆ เช่นการเพิ่มประชากรเสือและลดพื้นที่ป่าแหว่ง

เป็นความรู้สึกที่เหมือนผ่านเดดไลน์ที่ไม่มีอยู่ในกติกา เป็นเดดไลน์ที่บอกพวกเราว่าการโน้มน้าวนั้นไม่ใช่ยาแรงอีกแล้ว จะเป็นก็แค่ผ้าพันแผลที่อาจช่วยให้ชนะแบบคาบเส้นเท่านั้น หลังจากนี้ไม่ใช่ผู้เล่นที่กำหนดวิธีชนะ แต่เป็นวิธีชนะที่จะกำหนดผู้เล่น และเราต้องยอมเล่นตามเกม

ป่า

อย่างที่ได้เล่าไปในบทความที่แล้ว การทับถมกันของการ์ดผลกระทบเรื้อรังทำให้การเพิ่มขึ้นของป่าแหว่งรวดเร็วขึ้นมาก ผนวกกับกลยุทธ์การเพิ่มประชากรเสือทำให้พื้นที่กันชนระหว่างคนและเสือนั้นแทบจะไม่มี แน่นอนว่าในการออกจากสถานการณ์นี้ก็ต้องที่ต้นตอของการ์ดผลกระทบ แต่การจะทำแบบนั้นได้ก็ต้องใช้เวลาหลายตาเพื่อมาสร้างแอคชั่นที่ตอบโจทย์ แต่เวลาไม่ใช่สิ่งที่เรามีมากนัก เพราะแอคชั่นจำนวนมากนั้นต้องถูกใช้ไปเพื่อเพิ่มประชากรเสือให้เท่ากับที่สูญเสียไป

นั่นจึงทำให้ช่วงปลายรอบที่สองจนถึงรอบที่สามแอคชั่นเพิ่มพื้นที่ป่าจึงถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็น เพราะการเพิ่มพื้นที่ป่าสร้าง buffer zone ที่จะทำให้เสือกับป่าแหว่งอยู่แยกกัน และช่วยซื้อเวลาให้ไปพัฒนาแอคชั่นใหม่ ๆ ด้วย การเพิ่มพื้นที่ป่านั้นทำได้ด้วยสองวิธีคือ ด้วยแอคชั่นปลูกทดแทน (replant) ซึ่งต้องใช้เงินและไม่สามารถทำใกล้เสือได้ หรือด้วยแอคชั่นประท้วง (protest) ที่จะทดแทนพื้นที่ป่าได้ 2 ช่องในคราวเดียวแลกกับแต้มโน้มน้าวที่ลดลง 1 แต้ม

คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นมาคือในเมื่อแก้ต้นตอมันยากทำไมไม่เพิ่มพื้นที่ป่าให้ครบ คำตอบสั้น ๆ คือค่าใช้จ่ายของการเพิ่มป่านั้นสูงลิ่ว เพราะในเกมที่เราเล่นนั้นเงินหายากมาก (ถ้าเล่นรอบหน้าอาจจะไม่ใช่ปัญหานะ) และถ้าจะใช้แต้มโน้มน้าวก็หมายถึงการชนะเกมที่ยากขึ้น แต่ปัญหาที่สำคัญและฝังรากลึกกว่านั้นคือปัญหาทางตันของเส้นโค้งรูปตัว S

ทางตันบนเส้นโค้งรูปตัว S และ เส้นทางใหม่ ๆ

ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์เพิ่มประชากรเสือ ลดพื้นที่ป่าแหว่ง หาแนวร่วม หาทุน ประสิทธิภาพของกลยุทธ์ทั้งหมดนั้นถูกจำกัดด้วยเส้นโค้งรูปตัว S เส้นโค้งนี้อธิบายถึงลักษณะของการพัฒนาที่ไปได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากในช่วงแรก แต่พอไปถึงจุดหนึ่งการพัฒนาจะชะลอตัว จนเป็นเหมือนกราฟรูปตัว S

ในเกมที่ผ่านมา เราประสบกับทางตันของเส้นโค้งรูปตัว S ในต้นรอบที่ 4 ด้วยเหตุผลสองอย่าง อย่างแรกผลกระทบเรื้อรังสะสมอยู่ 4 ใบนั้นทำให้กลยุทธ์ของเรานั้นตามไม่ทัน เพราะทั้งต้องฟื้นฟูป่าที่หายไปหลายช่องในแต่ละตา รวมถึงเสือที่อยู่กระจัดกระจายจะเพิ่มประชากรก็ยากยังต้องย้ายเลี่ยงพื้นที่ป่าแหว่งด้วย แผนที่มีอยู่เดิมนั้นอยู่ตรงปลายตัว S ไม่สามารถสูงขึ้นได้ ได้แค่พยุงตัวให้ไม่แพ้ อีกเหตุผลเป็นเงื่อนไขวิธีการใช้แอคชั่นของเกม ที่ทำให้การเลือกใช้แอคชั่นจากการ์ดใบใดใบหนึ่งซ้ำ ๆ เป็นไปได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งก็เป็นเหมือนการบีบให้ผู้เล่นหาแอคชั่นใหม่และหลากหลายมาเล่น มิฉะนั้นก็จะทำอะไรไม่ได้เลย

🎲 เงื่อนไขนี้ในเกมคือการที่ทุกแอคชั่นที่แต่ละผู้เล่นเลือก ผู้เล่นจะต้องนำลูกเต๋าซึ่งทอยตอนต้นตามาวางด้วย โดยจะวางได้เฉพาะในกรณีที่ลูกเต๋าของตนมีค่าสูงกว่าลูกของคนอื่นที่วางก่อนหน้า (ถ้ามี) และวางของตัวเองซ้ำก็ไม่ได้ เมื่อจบตาลูกเต๋าจะวางอยู่เรื่อย ๆ จนถึงตาตัวเองในรอบถัดไปเป็นภาระให้เพื่อนคนอื่น ๆ สำหรับเกม 4 คนนั้น แต่ละคนมี 3 ลูกเต๋า แปลว่าอาจมีลูกเต๋าเพื่อนวางได้มากสุดถึง 9 ลูกพร้อมกัน (และแน่นอนว่าในตาแรกไม่มีสักลูกบนกระดานดังนั้นความต่างระหว่างรอบแรกกับรอบสามจึงมหาศาล) ทั้งหมดนี้แปลว่าหากแอคชั่นไหนถูกพึ่งพามากเกินไปแต่ค่าลูกเต๋าไม่ถึงก็อาจส่งผลแพ้ชนะได้เลย

สำหรับผู้เขียน การมีอยู่ของ S-curve ในการอนุรักษ์เป็นเรื่องที่นึกไม่ถึงมาก ๆ พอมาคิดให้ดี แอคชั่นต่าง ๆ ทั้งในเกมและความเป็นจริงก็มีลิมิตที่จะไม่สามารถขยายสเกลให้สมดุลกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นได้ แต่ปกติเรามักไม่นึกถึงจุดนี้ด้วยความที่เรามองการอนุรักษ์เป็นภาพเล็ก ๆ ของคนจำนวนหยิบมือ จึงทำให้ลืมตั้งคำถามว่าการขาดวิธีการใหม่ ๆ ที่แก้ไขปัญหาได้ดีกว่าก็อาจเป็นปัญหาที่ทำให้การอนุรักษ์โตไม่ได้

เพื่อจะหลุดจากเส้นโค้งตัว S ผู้เล่นจึงต้องหาทางเลือกใหม่ ๆ ที่แก้เกมผลกระทบที่รุนแรงได้พอกัน แอคชั่นที่สำคัญมากคือการทำแคมเปญและการวางแผน ซึ่งจะทำให้ได้รับการ์ดแอคชั่นใหม่ ๆ มาเป็นไอเดียก่อนจะใช้แอคชั่นวางแผนเพื่อทำให้แอคชั่นเหล่านั้นสามารถใช้งานได้โดยทุกคน

แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าการอนุรักษ์จะเป็นไปได้โดยง่าย เพราะขั้นตอนและเงื่อนไขต่าง ๆ ของเกมทำให้การลงการ์ดและใช้การ์ดแต่ละใบมีค่าใช้จ่าย (ที่ไม่ได้เป็นตัวเงิน) สูงมาก โดยการ์ดแอคชั่นทั้งหลายที่อยู่ในกองการ์ดนั้นเปรียบเสมือนไอเดียที่ยังไม่ถูกคิดขึ้นด้วยซ้ำ แต่เมื่อจบตาหรือเลือกทำแคมเปญแล้วจึงจะได้รับแอคชั่นใหม่ ๆ เช่นกันแอคชั่นที่อยู่บนมือก็ยังใช้ไม่ได้เพราะเป็นแค่ไอเดียลอย ๆ ต้องเลือกแอคชั่นวางแผนก่อนเพื่อให้แอคชั่นใบใหม่นี้จับต้องได้ แต่นั้นก็ยังไม่ทำให้การ์ดแอคชั่นถูกใช้งาน/ใช้ความสามารถการ์ด เพราะต้องมีการลงมือทำด้วย ซึ่งก็ต้องคำนึงถึงเงื่อนไขการลงลูกเต๋าแอคชั่นที่ได้กล่าวไปเช่นกัน

ดังนั้นการจะเลือกการ์ดสักใบมาเป็นแอคชั่นที่ใช้ได้จริงนั้นต้องถูกคัดสรรมาอย่างดี และนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในรอบที่สี่ การคัดสรรแอคชั่นนั่นเกิดจากข้อสังเกตที่ว่าแต่ละคนมีการ์ดที่เหมือนกันอยู่เป็นส่วนใหญ่ แต่จะมีการ์ดพิเศษบางใบที่มีเฉพาะตัวหรือบางคนมีมากกว่า เราจึงให้นักกฎหมายสิ่งแวดล้อมและกลุ่มทุนจั่วการ์ดเมื่อทำแคมเปญแทนที่จะรับเงิน เพราะบทบาทแรกจะมีการ์ดที่ลดผลกระทบได้ และบทบาทที่สองจะมีทุนและแอคชั่นที่ทำให้โน้มน้าวประเทศต่าง ๆ และนำไปสู่การชนะได้ และเราก็ได้การ์ดเหล่านั้นมาจริง ๆ

🎲 ถ้าลองนั่งดูการ์ดแอคชั่นของแต่ละผู้เล่นแต่ละคนเราจะพบแอคชั่นส่วนใหญ่มีในผู้เล่นอื่น แต่ แต่ ไม่ได้มีเท่ากันในผู้เล่นทุกคน อย่างนักกฎหมายนั้นมีการ์ดที่เกี่ยวกับผลกระทบถึง 5 ใบ ในขณะที่นักจัดรายการสารคดีมีเพียงใบเดียว ดังนั้นในเกมถัด ๆ ไปการเรียนรู้เกี่ยวกับบทบาทนั้นจะทำให้การสร้างทางเลือกใหม่ ๆ ของแต่ละคนนั้นมาในจังหวะที่เฉียบคมกว่าเดิมได้

นักสัตววิทยา (zoologist) จะมีแอคชั่นเกี่ยวกับสัตว์เป็นหลัก, นักกฎหมายสิ่งแวดล้อม (environmental lawyer) จะมีแอคชั่นเกี่ยวกับผลกระทบเป็นหลัก, นักล็อบบี้รัฐบาล (lobbyist) จะมีแอคชั่นเกี่ยวกับแต้มโน้มน้าวเป็นหลัก แต่จะไม่มีแอคชั่นการย้ายสัตว์หรือหาเสียงสนับสนุน, นักจัดรายการสารคดี (TV wildlife host) จะค่อนข้างหลากหลาย มีการ์ดแทบทุกประเภทแต่จะขาดแอคชั่นอาสาและวิจัยที่ช่วยแก้ผลกระทบ, กลุ่มทุน (philanthropist) จะเน้นไปที่การเพิ่มเงิน และมีแอคชั่นที่ใช้เงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่จะไม่มีการประท้วงหรือล่ารายชื่อ
ประเด็นเรื่องบทบาทจะสำคัญมากขึ้นอีกหากเล่นในบริบทของนาก เพราะการ์ดผลกระทบระบบราชการ (bureaucracy) จะทำให้การใช้แอคชั่นของผู้เล่นอื่นต้องเสียเงินให้ผู้เล่นคนนั้น

ปัญหาเรื้อรัง เพื่อแก้ผลกระทบเรื้อรัง เราได้หันไปใช้แอคชั่นฟ้องร้อง (lawsuit) และวิจัย (research) ซึ่งทำให้เราตามทันความเร็วของการลดลงของป่าและเสือด้วยการฟ้องร้องเอาผลกระทบเรื้อรังทั้งการแตกกระจายของป่า (fragmentation) และการตัดไม้ล้มแปลง (clearcutting) ออก และยังใช้การวิจัยเพื่อให้การพบเจอเสือในอนาคตเป็นไปได้น้อยที่สุด และแม้ว่าการจัดการหายนะนี้จะล่วงเลยการตัดสินแพ้ชนะในรอบที่ 4 ไปแล้ว แต่ในโอกาสแก้ตัวของรอบที่ 5 นั้นทำได้ทันท่วงที จริง ๆ แล้ว เราควบคุมกองการ์ดผลกระทบได้ทั้งหมดจนทำให้การปลูกป่าและขยายพันธุ์เสือสำเร็จตามเป้าของสองประเทศและนำทรัพยากรและตาที่เหลือไปลงทุนโน้มน้าวอีกสองประเทศจนสำเร็จ