Endangered – Part 1 ยกแรกที่แพ้ชนะร่วมกัน - Decode
Reading Time: 2 minutes

After Play เกมจบคนไม่จบ

แดนไท สุขกำเนิด

วิกฤตการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ เหล่านักอนุรักษ์ต้องเร่งหาวิธีการทำให้เหล่าสัตว์ยังคงมีชีวิตอยู่รอดไปได้ท่ามกลางการรุกคืบของมนุษย์และการหดหายของที่อยู่อาศัย นี่คือจุดเริ่มต้นของเกม Endangered: A Game of Survival โดยนักออกแบบ Joe Hopkins เป็นเกมที่เล่นได้ 1-5 คน ระยะเวลา 60 นาที (แต่เราก็ได้เล่นกันแบบตึง ๆรวมอธิบายกติกาด้วยก็เกือบสองชั่วโมง) มีสองสถานการณ์ (scenario) ให้เล่นนั่นคือ เสือโคร่งที่มาพร้อมกับภัยจากป่าที่หดหายและการเข้ามาของมนุษย์ และนากทะเลที่ต้องเอาชีวิตรอดท่ามกลางชายฝั่งที่ปนเปื้อนไปด้วยคราบน้ำมันที่รั่วไหล

สถานการณ์ที่เราเลือกมาเล่นคือการอนุรักษ์เสือโคร่งที่ตกอยู่ในภาวะอันตรายจากการเสียแหล่งที่อยู่อาศัยจากการหายไปของพื้นที่ป่าและการขยายตัวของมนุษย์ พวกเรา 4 คนจะต้องทำงานอนุรักษ์ผ่านบทบาทต่าง ๆ เช่น นักสัตววิทยา (zoologist) นักกฎหมายสิ่งแวดล้อม (environmental lawyer) นักล็อบบี้รัฐบาล (lobbyist) นักจัดรายการสารคดี (TV wildlife host) กลุ่มทุน (philanthropist) เพื่อจะทำให้ทูตจากประเทศต่าง ๆ ให้การยอมรับและสนับสนุน แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องจัดการกับปัญหาป่าแหว่งไม่ให้ลุกลามและไม่ให้ประชากรเสือลดลงจนไม่สามารถขยายพันธุ์ โดยเกมนี้จะเป็นเกมร่วมมือกัน (cooperative game) แพ้ชนะร่วมกันทุกคน

เกมจะแบ่งออกเป็นปี ๆ ในแต่ละปีผู้เล่นจะได้ผลัดกันเล่นคนละตา ในแต่ละตานั้นผู้เล่นสามารถเลือกดำเนินการโครงการ/กิจกรรมต่าง ๆ ได้สามอย่างจากตัวเลือกที่มีให้ซึ่งได้แก่การย้ายถิ่นฐานสัตว์ การฟื้นฟูป่า การทำโซเชียลมีเดียแคมเปญเพื่อหาเงินหรือหาโครงการใหม่ ๆ และการวางแผนซึ่งเป็นการเพิ่มโครงการที่จะดำเนินการได้ในอนาคต

หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่ขั้นตอนที่เสือโคร่งขยายพันธุ์ ซึ่งเป็นเสมือนขั้นแห่งความหวังของการอนุรักษ์ อย่างไรก็ดีความหวังนี้อยู่ได้ไม่นานก็จะมีการสุ่มพื้นที่ป่าแหว่งและผลกระทบทางสังคมที่อาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายขึ้นอย่างคาดไม่ถึง

ในระยะเวลา 4-5 ปี (สำหรับ 4 คน) เราต้องรักษาสเถียรภาพของประชากรเสือโคร่งและการรุกคืบของมนุษย์ให้ได้ เพื่อที่จะได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติที่จะเกิดขึ้นในสองปีสุดท้าย แต่ถ้าหากมัดใจไม่สำเร็จหรือรักษาเสถียรภาพไม่ได้ ความพยายามในการอนุรักษ์นี้ก็จะจบลงด้วยความพ่ายแพ้

Endangered เป็นหนึ่งในไม่กี่เกมที่ออกแบบมาเพื่อสื่อสารปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างน่าสนใจ หากเราค้นหาบอร์ดเกมที่เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมเราก็มักจะพบแต่เกมที่เน้นเนื้อหาที่จืดชืดหรือเชื่อมโยงเพียงผิวเผิน แต่ในเกมนี้เนื้อหาถูกหยิบยกขึ้นมาผ่านมุมมองและกลไกที่จำเพาะ ตัวอย่างเช่นความช่วยเหลือจากต่างประเทศที่เกมนี้ให้คุณค่าไว้สูงถึงระดับเป้าหมายการชนะ ถ้าทำไม่ได้การอนุรักษ์ของเราก็จะสูญเปล่าไปทันที ซึ่งไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่ที่ควรชนะแบบนั้น ก็ต้องยอมรับว่าเกมนี้ได้ยกประเด็นและมุมมองที่น่าสนใจมากให้ทุกคนได้ลองเล่นกัน ในบทความนี้จึงขอเล่าถึงเหตุการณ์และบทสนทนาที่เกิดขึ้นระหว่างการเล่นเกม Endangered

🎲 ก่อนอื่น เรามาทำความเข้าใจบริบทของเกมก่อน จุดสำคัญของเกมนี้อยู่ที่กระดาน 6 คูณ 6 ช่อง ซึ่งแทนพื้นที่ป่าที่เหล่าเสือทั้ง 8 ตัวอาศัยอยู่ โดยปกติเสือเป็นสัตว์สันโดษ มักอยู่ในแต่ละช่องตัวเดียว แต่หากมาอยู่ด้วยกันในช่องเมื่อไหร่จะถือว่ามีโอกาสผสมพันธุ์กันมากยิ่งขึ้น ถ้าทอยลูกเต๋าเช็คแล้วอยู่ในเงื่อนไข ลูกเสือ 1 ตัวก็จะถือกำเนิดขึ้นในช่องที่มีเสือเป็นคู่อยู่เพียงคู่เดียวจากทั้งกระดาน แล้วพ่อแม่และลูกเสือก็จะแยกย้ายกันออกไปในช่องต่าง ๆ เพื่อหาอาณาเขตของตัวเอง จึงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะให้กำเนิดลูกเสือเพิ่ม แต่โชคยังอยู่ข้างเรา ป่าผืนนี้เป็นป่าที่ยังไม่มีการบุกรุกของมนุษย์ ดังที่เห็นได้จากตอนตั้งกระดาน (set-up) ที่ไทล์ป่าแหว่ง (deforestation tile) ทั้ง 16 ช่องยังอยู่ด้านนอก อย่างไรก็ดี วี่แววของหายนะกำลังรุกคืบเข้ามาเนื่องด้วยการ์ดผลกระทบเรื้อรัง (persistent impact card) ที่ชื่อว่า clearcutting ซึ่งเป็นการตัดไม้แบบล้มไม้หมดแปลงนั้นถูกหงายขึ้นมาตั้งแต่ต้นเกม (เป็นกติกาแบบ hard mode) ไหนจะการ์ดประเทศทั้ง 6 ประเทศที่ยังคงไม่เปิดเผย ทำให้ไม่รู้ว่าต้องพิสูจน์ตัวกับ 4 ประเทศไหนดีด้วยเงื่อนไขใด ไม่ว่าจะพร้อมหรือไม่ ปีที่ 1 ก็ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

ไม้ล้มเป็นลูกโซ่

สำหรับบอร์ดเกมเมอร์ เป็นที่รู้กันดีว่าเกมร่วมมือกันที่ดีนั้นต้องมีกลไกสร้างความวายป่วงที่ท้าทายและบีบเค้นผู้เล่นถึงจะสนุก (ไม่ฉะนั้นก็ชนะแบบไม่ต้องคิดสิ) แต่ที่น่าสนใจคือการถูกทำลายของที่อยู่อาศัยในขั้น “destruction phase” ซึ่งเกิดหลังจากการดำเนินการของผู้เล่นในขั้น “action phase” เรียกว่าน้อยจนแทบจะทำอะไรคนเล่นไม่ได้เลย

ที่อยู่อาศัยของเสือนั้นจะถูกทำลายก็ต่อเมื่อนำไทล์ป่าแหว่งมาวาง ซึ่งนั่นจะทำให้เสือที่อยู่ในช่องป่าแหว่งตายทั้งหมด (ถ้ามี) และเสือตัวอื่น ๆ ก็จะอาศัยหรือผ่านไม่ได้ แต่ไทล์ป่าแหว่งนั้นจะเพิ่มเพียงตาละ 1 ไทล์เท่านั้น โดยจะสุ่ม 1 ช่องที่ป่าจะหายไปในแถวหรือคอลัมน์ที่มีเสือ นั่นแปลว่าถ้าแต่ละคนเลือกดำเนินการได้ดี ก็สามารถฟื้นฟูป่าแหว่งที่เกิดขึ้นในตาของคนก่อนหน้าได้ทันและยังสามารถไปทำอย่างอื่นได้ด้วย เพราะสุดท้ายป่าก็จะหายไปในอัตราคงที่เท่านั้น

จุดที่บีบเค้นของเกมนี้นั้นอยู่ในขั้นตอนถัดไปนั่นคือ “impact phase” หรือขั้นผลกระทบ ซึ่งก็จะต้องเปิดการ์ดผลกระทบ (impact card) 1 ใบ ซึ่งก็อาจจะเป็นการ์ดผลกระทบแบบเรื้อรัง (persistent impact) เมื่อเปิดแล้วมีผลทุกตาจนจบเกม หรือผลกระทบทันที (instant impact) มีผลแค่ตาเดียวก็ได้ ซึ่งผลกระทบทั้งสองประเภทนี้จะทำให้เกิดผลลูกโซ่ต่อเนื่องกันไป

ภายในปีที่สอง เราได้เจอกับปรากฏการณ์การแตกกระจายของผืนป่า (fragmentation) อันเนื่องมาจากบุกเบิกพื้นที่เพื่อการพัฒนา ทำให้ผืนป่าที่เคยต่อเนื่องกันกลายเป็นป่าผืนย่อย ๆ ที่สิ่งมีชีวิตไม่สามารถเคลื่อนที่ระหว่างกันได้ การ์ดผลกระทบเรื้อรังใบนี้จะเลวร้ายมากเมื่อประกอบกับการ์ดผลกระทบการพบเจอเสือในบริเวณเขตชุมชน (tiger sighting) เพราะจะทำให้ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์และเสือหลีกเลี่ยงไม่ได้ และนำไปสู่การสูญเสียเสือที่อยู่ใกล้ป่าแหว่ง

เมื่อป่ากระจัดกระจายและเสืออยู่ใกล้มนุษย์มากกว่าที่เคย การขยายตัวของป่าแหว่งเพียงช่องเดียวก็อาจสร้างอันตรายต่อเสือได้เพิ่มถึง 4 ช่อง (ถ้าในความเป็นจริงก็ต่อคนด้วย) แม้ว่าความน่าจะเป็นอาจจะไม่ได้สูงขนาดนั้น แต่เพราะในรอบก่อน ๆ เรามุ่งความสนใจไปที่การขยายพันธุ์เสือแทนที่จะทดแทนพื้นที่ป่า สถานการณ์จึงแย่กว่าที่คิดมาก ในรอบที่สามนั้นแย่ลงไปกว่าเดิมเมื่อการ์ดผลกระทบเรื้อรัง “fragmentation” ถูกเปิดขึ้นอีกใบ พูดอีกแบบคือความขัดแย้งระหว่างสองสายพันธุ์นั้นยิ่งรุนแรงขึ้น คราวนี้การพบเจอเสือเพียงหนึ่งครั้ง (หนึ่งใบ) จะนำไปสู่การแตกหักที่คร่าชีวิตเสือเพิ่มเป็นสองเท่า

ในปีที่สี่เป็นปีที่ย่ำแย่ที่สุด เพราะตั้งแต่ตาแรก ๆ เราเปิดเจอการ์ดสัมปทานป่าไม้ หรือ “logging permit” ซึ่งแม้จะเป็นการ์ดผลกระทบทันที แต่ผลนั้นรุนแรงมากโดยจะทำให้เกิดผลกระทบเรื้อรัง “clearcutting” ขึ้นถึง 2 ใบ โดยผลกระทบนี้คือการตัดไม้แบบล้มแปลงหรือการตัดไม้ที่เปลี่ยนป่าเป็นเขาหัวโล้นในคราวเดียว นี่จะทำให้หากมีการพบเจอเสือสักครั้งหนึ่งก็จะนำไปสู่การทอยลูกเต๋าเพิ่มพื้นที่ป่าแหว่ง (เอาไปสัมปทาน) เพิ่มอีก 2 แห่ง และยังต้องรวมกับการที่เสือต้องตายอีกสองตัวจากการแตกกระจายของป่าทั้ง 2 ใบที่ยังไม่ได้ถูกแก้ไข

กติกานี้เป็นกติกาที่คนในวงชอบมากกติกาหนึ่งเลย เพราะมันให้ภาพที่ค่อนข้างสมจริง การหายไปของป่าในธรรมชาตินั้นเกิดขึ้นเป็นปกติในอัตราที่ควบคุมได้อยู่แล้ว (เช่นจากไฟป่าธรรมชาติ) แต่เมื่อป่าที่แหว่งเกิดโดยมนุษย์ (fragmentation) และการพัฒนา (logging permit) ตัวแปรของมนุษย์นั่นส่งผลทวีคูณ ทำให้ปัญหาความขัดแย้งกับสัตว์ป่า (tiger sighting) และเกิดการใช้ประโยชน์จากพื้นที่เพิ่มขึ้น (clearcutting) จากที่เสือเคยครองพื้นที่ป่าทั่วบริเวณก็จะมีพื้นที่ลดลง ต้องย้ายไปลึกขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงมนุษย์ และบางตัวอาจถูกลอยแพแยกส่วนจากตัวอื่น ๆ ไม่สามารถขยายพันธุ์ได้และเสี่ยงต่อการถูกกำจัดมากขึ้น

ความรุนแรง ท้าทาย และบีบเค้นที่เพิ่มขึ้นโดยการ์ดผลกระทบนี้หมายถึงการให้ความสำคัญกับประเด็นที่เปลี่ยนไป การ์ดการพบเจอเสือ (tiger sighting) ซึ่งเป็นการ์ดที่มีมากถึง 6 จาก 18 ใบในกองผลกระทบ (1 ใน 3) ช่วงแรก ๆ เราก็ตายใจเพราะการ์ดนี้ไม่ทำให้เกิดอะไรขึ้นในตัวมันเอง แต่เมื่อมีผลกระทบเรื้อรังสะสมการ์ดใบนี้เพียงใบเดียวก็ส่งผลหนัก ๆ ได้ จากตอนแรกที่เราเลือกดำเนินการฟื้นฟูป่าโดยมองว่าป่าแหว่งเป็นสาเหตุของปัญหา ก็เปลี่ยนมาเป็นพบเจอเสือที่เป็นปัญหา เลยเร่งย้ายเสือเข้าในป่าลึก จนตอนท้ายที่มีการสัมปทานป่าทำให้ไม่มีพื้นที่ป่าทึบ จะฟื้นป่าก็ไม่ทัน ย้ายเสือก็หมดทางไป ทางรอดเดียวคือต้องแก้ที่สาเหตุ (ซึ่งก็เป็นคนละอันกันช่วงต้นเกม) นั่นคือการนำการ์ดผลกระทบเรื้อรังออก ถือได้ว่าเป็นตัวขับเคลื่อนรถไฟเหาะตีลังกาของวิธีคิดและกลยุทธ์การอนุรักษ์ของเกมนี้ทีเดียว