HumanIndian-คนอินเดียมีหัวใจ
ณฐาภพ สังเกตุ
“มันรู้สึกแย่มากนะ เวลาเห็นคนอื่นได้เรียน แต่ผมทำไม่ได้ บางทีรู้สึกอยากเอาตัวเองไปให้รถไฟชน จะได้ไม่ต้องมารู้สึกอะไรแบบนี้ แต่ทำไม่ได้หรอกผมต้องคิดถึงครอบครัว คิดถึงสิ่งที่ผมต้องรับผิดชอบในชีวิต”
เสียงจากริชาบ กุมาร (Rishabh Kumar) ชายอินเดียวัย 21 ปี อดีตนักศึกษาสาขาชีววิทยา
มหาวิทยาลัย Lalit Narayan Mithila ที่ผันตัวเองออกมาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ทั้งที่ตัวเองเรียนไปได้แค่ 1 ปี เขามีความฝันอยากเรียนจบสูง ๆ หางานที่ดีทำเพื่อเป็นเสาหลักของครอบครัว แต่ด้วยภาระหนี้สินและสภาพสังคมอินเดีย ที่เต็มไปด้วยการแข่งขันเอาตัวรอดและความเหลื่อมล้ำ เรื่องราวของชีวิตคนคนหนึ่งที่ถูกหล่อหลอมให้เชื่อว่า “เงินตราคือพระเจ้าที่แท้จริง”
สิ่งที่แบกรับ ‘ไม่อนุญาตให้ผมตาย’
My life not allowed me dead
ริชาบเกิดและเติบโตมาในเมืองเบกูซาไร (Begusarai), รัฐพิหาร (Bihar) รัฐที่รั้งท้ายในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของอินเดีย
ครอบครัวเขาประกอบไปด้วยสมาชิก 5 คน คือ พ่อ แม่ พี่สาว น้องชาย และตัวเขา ริชาบคือเสาหลักของครอบครัว เนื่องด้วยผู้เป็นพ่อมีปัญหาที่ขา จึงทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างปกติ ครอบครัวของเขาเป็นครอบครัวชาวนา ที่ประสบปัญหาไม่ต่างจากชาวนาในประเทศไทย
“ครอบครัวผมเป็นชาวนา เวลามีรายได้จากการขายข้าว จะต้องนำเงินที่ได้ไปลงทุนเพาะปลูกต่อในฤดูกาลถัดไป ทำให้ครอบครัวผมไม่มีเงินเพียงพอที่จะมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน จึงต้องอาศัยการกู้เงินนอกระบบ”
มื้ออาหารเย็นของริชาบ
ครอบครัวริชาบมีหนี้สินอยู่ประมาณ 6 แสนรูปี เป็นหนี้นอกระบบที่กู้ยืมมาจากคนในหมู่บ้าน ริชาบเล่าว่าครอบครัวเขาต้องกู้หนี้ยืมสินมาตั้งแต่เขาจำความได้ จึงทำให้เขาต้องเริ่มทำงานหาเงินตั้งแต่อายุ 14 ปี
“งานแรกที่ผมทำคือการรับสอนพิเศษวิชาคณิตศาสตร์และภาษาฮินดี ให้กับเด็ก ๆ ในหมู่บ้าน ผมมีความสุขมากตอนที่ได้รับเงินก้อนแรกในชีวิต”
โดยแต่ละเดือนริชาบจะมีรายได้อยู่ราว ๆ 350 – 500 รูปี เขาเล่าให้ผมฟังพร้อมรอยยิ้มว่า เขามักจะนำเงินไปซื้ออาหารที่อยากกิน หลังจากนั้นจึงนำเงินที่เหลือไปเก็บออม
“เวลาผมมีเงินอยู่กับตัวแม้แค่ 50 paise (0.50 rupee) แค่นั้นก็ทำให้ผมรู้สึกภูมิใจแล้ว เงินคือพระเจ้าสำหรับผม เงินสามารถสร้างทุกอย่างให้กับผมและครอบครัว”
ว่ากันว่าคนเราจะเห็นคุณค่าสิ่งใดได้แจ่มชัดที่สุด ก็ต่อเมื่อเราสูญเสียหรือขาดแคลนสิ่งนั้น สำหรับริชาบสิ่งนั้นคือเงิน
ริชาบย้อนความทรงจำสมัยมัธยมต้นของเขาให้ผมฟังว่า ครั้งหนึ่งที่ชั้นเรียนมีการจัดงานเลี้ยง เพื่อนร่วมชั้นเรียนตกลงกันว่าจะลงเงินกองกลางคนละ 200 รูปี แต่เขาในตอนนั้นไม่มีเงินติดตัวแม้แต่ 1 รูปี เหตุการณ์นั้นทำให้เขารู้สึกน้อยใจในโชคชะตา เมื่อเพื่อน ๆ ต่างถามว่าทำไมถึงไม่มาร่วมงานเลี้ยง แต่เขาไม่กล้าตอบว่าไม่มีเงิน
แม้ริชาบจะสามารถหลีกเลี่ยงการเข้าสังคมที่ทำให้เขาไม่ต้องใช้เงินได้ แต่ในอินเดียก็ยังมีวัฒนธรรมแปลกประหลาด ด้วยการที่ฝ่ายสาวจะต้องเป็นคนจ่ายค่าสินสอดเพื่อให้ได้แต่งงานกับฝ่ายชาย และเมื่อถึงเวลาที่พี่สาวของเขาต้องแต่งงาน ริชาบหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อหาเงินมาให้พี่สาวของเขาได้แต่งงาน
“ก่อนวันแต่งงานของพี่สาวผม 1 วัน ผมไม่มีเงินสักรูปี ผมร้องไห้ไม่รู้ว่าจะเอาเงินมาจากไหน ผมสวดมนต์ขอพรพระเจ้า หลังจากนั้นลุงของผมก็ให้เงินมา 20,000 รูปี”
โดยอารูชิ (Arushi Goel) ผู้ช่วยแปลบทสัมภาษณ์จากภาษาฮินดีเป็นภาษาอังกฤษ เสริมข้อมูลเรื่องวัฒนธรรมการแต่งงานในอินเดียว่า แม้ตอนนี้จะมีกฎหมายออกมาว่า ครอบครัวฝ่ายชายไม่สามารถเรียกร้องค่าสินสอดจากครอบครัวฝ่ายหญิงได้ แต่วัฒนธรรมดังกล่าวยังคงหลงเหลืออยู่ตามชนบทของอินเดีย แม้ครอบครัวฝ่ายหญิงจะสามารถแจ้งความกับตำรวจได้ แต่ในอินเดียค่านิยมความเชื่อที่สืบทอดกันมา ยังคงมีความศักดิ์สิทธิ์กว่ากฎหมายในปัจจุบัน
โดยคุณภาพของผู้ชายที่จะมาแต่งงานกับฝ่ายหญิง ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่ครอบครัวฝ่ายหญิงสามารถจัดหามาได้ ยิ่งผู้ชายมีความสามารถ หน้าที่การงานมั่นคงเท่าไหร่ ครอบครัวฝ่ายหญิงยิ่งต้องจ่ายเงินค่าสินสอดแพงขึ้นเท่านั้น ถ้าฝ่ายหญิงไม่สามารถหาเงินมาจ่ายได้ ครอบครัวฝ่ายชายสามารถยกเลิกงานแต่งงานได้ทุกเมื่อ
“บางครั้งผมไม่อยากมีชีวิตอยู่เลย เมื่อรู้ตัวว่าไม่สามารถดูแลครอบครัวได้ ความรับผิดชอบที่ผมแบกรับมันมากเกินไป ผมอยากให้โลกใบนี้ปล่อยให้ผมตาย แต่สิ่งที่ผมต้องแบกรับมันไม่อนุญาตให้ผมตาย…ผมตายไม่ได้เพราะครอบครัว”
เมื่อริชาบเติบโตขึ้น สวนทางกับพ่อของเขาที่ชราลง ภาระทางการเงินยิ่งถูกบีบมาที่เขามากขึ้น เพราะตัวพี่สาวไม่ได้มีงานทำ ส่วนน้องชายของเขาก็กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยม เมื่อความรับผิดชอบทั้งหมดตกมาอยู่ที่เขา ริชาบตัดสินใจหยุดเรียน ออกเดินทางไกลจากบ้านครั้งแรกของชีวิต เพื่อแสวงหารายได้และโอกาสในชีวิตมาช่วยเหลือครอบครัว
ที่หลับนอนของริชาบบริเวณทางเข้าหอพัก
3,000 กิโลเมตรจากบ้านเกิด หนทางจากนี้ยังมืดมน
“3 วัน 3 คืนบนรถไฟ ผมร้องไห้ตลอดทาง วันแรกที่มาถึงผมไม่มีห้องพัก ต้องอาศัยนอนข้างทาง”
3,000 กิโลเมตรจากเมืองเบกูซาไรทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สู่เมืองปูเน่ทางภาคตะวันตก เป็นเวลาที่แสนยาวนานสำหรับริชาบ หลังจากที่เขาผ่านค่ำคืนแรกโดยไร้ที่ซุกหัวนอนในเมืองปูเน่ วันต่อมาเขาเดินร่อนหางาน หลายที่ไม่รับเข้าทำงานเพราะเขาเด็กเกินไป จนกระทั่งเขาได้งานที่หอพักแห่งหนึ่ง เป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย
“มีคนเคยด่าผมว่า ทำไมคุณไม่ไปเรียน วัยนี้ของคุณคือวัยแห่งการเรียน คุณต้องเรียนมาก่อนถึงจะทำงานได้ คุณควรตั้งใจเรียนไม่ใช่มาทำงานแบบนี้ คำพูดของเขามันสร้างบาดแผลให้กับผม ผมรู้สึกหมดหวังเวลาได้ยินคำพูดนี้ แน่นอนผมมีความฝัน แต่มันเป็นไปไม่ได้ที่ผมจะได้เรียนเหมือนคุณ”
ริชาบมักจมอยู่กับความคิดของตัวเอง เวลาผมถามถึงความเป็นไปได้ที่เขาจะกลับไปเรียนต่อ ถ้าเงินคือพระเจ้าของริชาบ การศึกษาก็เปรียบเสมือนหนทางเข้าถึงพระเจ้าสำหรับเขา ริชาบมีความฝันอยากเรียนต่อด้าน IT เพราะเป็นสาขาวิชาที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน
“ไม่ต้องพูดถึงเรื่องเรียนหรอก แค่ปลดหนี้ก็ยากพอแล้ว ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทุกวันนี้ผมไม่เห็นหนทางในการปลดหนี้เลย”
ริชาบใช้เวลาว่างระหว่างทำงานกะดึกในการเรียนภาษาอังกฤษ
สิ่งเดียวที่ริชาบสามารถทำได้ คือเขาต้องทำงานให้หนัก ทุกวันนี้เขาทำงาน 2 ที่ ในตอนเช้าเขาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่แฟลตแห่งหนึ่ง เข้างาน 8 โมงเช้า เลิกงาน 2 ทุ่ม ได้รับเงินเดือน 10,000 รูปี จากนั้นจึงเดินมาเข้างานกะกลางคืนที่หอพักอีกแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนัก เข้างาน 3 ทุ่ม เลิกงาน 7 โมงเช้า ได้รับเงินเดือน 5,000 รูปี แลกกับได้มีที่หลับนอนและเก็บข้าวของเครื่องใช้ ในแต่ละวันริชาบจะได้งีบหลับช่วงตีหนึ่งถึงหกโมงเช้า ไม่มีวันหยุด วันลา แม้แต่วันที่เขาเจ็บป่วย
“ผมไม่สามารถคิดถึงวันหยุดได้สักวัน แม้กระทั่งวันที่ป่วยผมก็ต้องกินยา และพาตัวเองไปทำงานต่อให้ได้”
โดยแต่ละเดือนริชาบจะมีรายได้ 15,000 รูปี เขาแบ่งเงิน 3,000 รูปี สำหรับเป็นค่าอาหาร 2,000 รูปีสำหรับค่าใช้จ่ายทั่วไป และ 10,000 รูปีเป็นเงินที่เขาจะส่งกลับไปให้ครอบครัว
ในแต่ละวันริชาบจะแบ่งเงินสำหรับข้าวมื้อเช้า 20 รูปี เป็นเมนูที่มีชื่อว่าโพฮาข้าวสีเหลืองที่คนอินเดียนิยมกินกันในมื้อเช้า ข้าวกลางวัน 40 รูปี เป็นข้าวสวยกับดาล(แกงถั่ว) และข้าวเย็นจาปาตี กินกับแกง 2 อย่าง ราคา 50 รูปี
ริชาบโทรศัพท์พูดคุยกับครอบครัวของเขาในทุก ๆ วัน
โดยการที่เขาต้องทำงานหนักมาเป็นระยะเวลานาน ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจไม่น้อย ครั้งหนึ่งเขาเคยมีภาวะน้ำท่วมปอด แต่เนื่องจากไม่มีเงินที่จะไปโรงพยาบาลจนเวลาผ่านไปนับเดือน
สุดท้ายต้องยืมเงินเพื่อนำไปรักษาพยาบาล
ริชาบมักตัดพ้อชีวิตของเขา ว่าถ้าเขาสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตให้ดีกว่านี้ สักวันพระเจ้าคงจะยื่นมือเข้ามาช่วย
“ผมยังทำได้ไม่ดีพอที่จะทำให้พระเจ้าช่วยผม ผมคงเลือกทางผิดชีวิตของผมมันเหมือนมีแต่ความมืด ผมไม่สามารถมองเห็นทางข้างหน้าได้เลย หนทางต่อจากนี้เต็มไปด้วยความมืดมิด”
ริชาบในระหว่างกำลังใช้เวลาร่วมกับนักศึกษาชาวต่างชาติในหอพัก
สักวันจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้
“ความฝันของผมไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไรเลย ขอแค่ผมและน้องชายได้เรียนแค่เท่านี้ที่ผมอยากได้”
ริชาบเล่าความฝันให้ผมฟังว่า ถ้ามีโอกาสเขาจะกลับไปเรียน และตั้งใจเรียนให้สุดความสามารถ เขามีความฝันอยากทำงานในบริษัท IT เก็บเงินให้ได้สักก้อน และกลับไปเปิดธุรกิจเกี่ยวกับการเกษตรที่หมู่บ้านของเขา
โดยทุกวันนี้สิ่งที่หล่อเลี้ยงความฝันและความหวังให้แก่เขา คือการได้พูดคุยกับผู้คนที่เขาพบเจอในหอพักที่เขาทำงาน โดยส่วนใหญ่เป็นเหล่านักศึกษาต่างชาติ ที่เขามาพูดคุยให้กำลังใจผูกมิตรกับเขา
“การได้พูดคุยและพวกเขาปฏิบัติต่อผมเหมือนเพื่อนคนหนึ่ง มันคือความสุขในทุกวันนี้ของผม กับอีกอย่างคือการที่ผมได้นึกถึงอนาคต นึกถึงวันที่ผมมีงานการที่ดีทำ มีเงินเดือนเพียงพอที่จะดูแลครอบครัว
ริชาบกับเพื่อนชาวต่างชาติในหอพักที่เขาทำงานกะดึก
“ผมก็ไม่เคยคิดอยากไปเกิดที่อื่นนะ ในเมื่อเกิดมาแล้วโชคชะตาคงเลือกให้ผมเกิดมาในครอบครัวที่ยากจน ผมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้หรอกเมื่อเกิดมาแล้ว แต่ถึงอย่างไรผมก็อยากขอบคุณครอบครัวที่เลี้ยงดูผม ผมจะพยายามทำงานให้หนักขึ้นทุกวิถีทาง สักวันผมและครอบครัวจะต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าทุกวันนี้”
ครั้งหนึ่งริชาบบอกผมว่า คนเราต้องทำงานให้หนักและทุกอย่างจะดีขึ้น กับอีกสิ่งมันสำคัญมากที่จะต้องรู้จักตัวเอง รู้ให้ได้ว่าตัวเองมีความสามารถมากน้อยเพียงใด และสิ่งไหนคือสิ่งที่ต้องการในชีวิต
“สักวันผมจะต้องเป็นคนหนึ่งที่มีความสุขบนโลกใบนี้”
เขาบอกกับผมเป็นประโยคสุดท้ายก่อนจนบทสนทนา
แปลบทสัมภาษณ์จากภาษาฮินดีเป็นภาษาอังกฤษโดย
Arushi Goel
Kalki Vundamati