ความลับหลังตู้เสื้อผ้าเจ้าชายกับช่างตัดเสื้อ ความหลากหลายไม่เคยเป็นศัตรูกับมนุษย์ - Decode
Reading Time: 3 minutes

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว… หญิงงามแห่งนครปารีส และองค์ชายรัชทายาทแห่งเบลเยียมมีช่างตัดเสื้อคนเดียวกัน ทว่าด้วยขนบธรรมเนียมและกรอบจารีตในสังคม พวกเขาจึงซ่อนความลับหนึ่งที่ไม่อาจบอกใครไว้หลังตู้เสื้อผ้า…

นี่คือคำโปรยหนังสือ เจ้าชายกับช่างตัดเสื้อ: The Prince and the Dressmaker กราฟิกโนเวลสีลูกกวาด อ่านได้ทุกคน ทุกวัย ในแบบฉบับของเรา

ก่อนตัดสินใจซื้อหนังสือเล่มนี้ ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็เห็นผู้อ่านมากมายต่างรีวิวว่า เจ้าชายกับช่างตัดเสื้อเป็นหนังสือการ์ตูนน้ำดีที่สื่อสารเรื่องความหลากหลายทางเพศอย่างเข้าใจง่าย อย่างไรก็ตามเมื่อได้ลองอ่านเองแล้ว เรากลับพบว่ากราฟิกโนเวลเล่มนี้ได้ซ่อนประเด็นทางสังคมอื่น ๆ ไว้ด้วยไม่น้อยผ่านลายเส้นแสนน่ารัก จนอดไม่ได้ต้องบอกต่อในบทความนี้เลยทีเดียว

เพราะเราคือฟรานซิส แต่ก็ไม่ใช่

“เอาเท่าที่ไหวนะ อย่าหักโหมเกินไปล่ะ งานมันไม่รักเธอหรอก”

เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งกล่าวกับ ฟรานซิส สาวน้อยยากจน ผู้มีอาชีพเป็นช่างตัดเสื้อที่มีความฝันใหญ่กว่าสถานะของตน เพราะเธอนั้นอยากเป็นช่างตัดเสื้อชื่อดัง ที่ออกแบบและตัดเย็บชุดให้กับเหล่าสาว ๆ ทั่วปารีส ทว่าเปิดเรื่องมา เรากลับเจอฟรานซิสจมอยู่กับกองผ้าและงานเร่งจากเหล่าลูกค้าชนชั้นสูง ที่ต้องการส่งลูกสาวไปร่วมงานเต้นรำหลวงประจำฤดูใบไม้ผลิในอีกสองวัน ด้วยความหวังว่าเหล่าลูก ๆ ของพวกเธออาจมีโอกาสเตะตาต้องใจ และได้อภิเษกสมรสกับองค์ชายรัชทายาทแห่งเบลเยียม

ฟรานซิสเป็นคนขยัน แต่ความขยันนี้ไม่อาจทำให้ฐานะของฟรานซิสขยับไปได้ไกลกว่าสาวโรงงานเย็บผ้าที่ห่างตัวเมือง สิ่งเดียวที่แรงงานหญิงอายุน้อยอย่างฟรานซิสจะทำได้คือ ก้มหน้าก้มตาทำงานเหล่านั้นต่อไปอย่างขยันขันแข็ง ทำงานเข้าไป และทำงานเพิ่มไปอีก ทุกวันและทุกวัน วนลูปไปอย่างนั้นเพื่อยังชีพ

เราทุกคนก็ไม่ต่างกับฟรานซิสเท่าไร

แต่แล้วจุดพลิกชีวิตฟรานซิสก็มาถึง หลังฟรานซิสตัดสินใจออกจากพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง และตัดชุดราตรีสีดำ ขาสั้น ประดับด้วยลูกไม้ และขนนกในธีม “นางบำเรอของปีศาจ” ที่หลุดขนบไปไกลตามบรีฟลูกสาวของลูกค้างานเร่งคนนั้น ผลลัพธ์ที่ออกมาถูกใจผู้สวมใส่เป็นอย่างมาก ในขณะที่หญิงแม่ผู้จ่ายเงินโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ ไม่ต่างกับเจ้านายของฟรานซิสที่ก่นด่าว่า เธอทำให้โรงงานของเขาเสื่อมเสียชื่อเสียงและไล่เธอออกจากงาน

อย่างไรก็ตามชุดนางบำเรอของปีศาจไม่ได้เป็นจุดจบของอาชีพการงานของฟรานซิสแต่อย่างใด หากแต่เป็นประตูเบิกทางให้เธอได้งานใหม่จากชายปริศนาผู้มากับรถม้าและค่าจ้างที่สูงกว่าเจ้านายเก่าเธอเสียอีก

ความจริงที่น่าเศร้า คือ ไม่ใช่ทุกคนจะโชคดีแบบฟรานซิสหรอก

อย่างไรก็ดี เราก็ยินดีกับฟรานซิสจริง ๆ เพราะประตูแห่งโอกาสที่เปลี่ยนชีวิตเธอได้เปิดขึ้นแล้ว ความคิดนอกกรอบและกล้าท้าชนขนบของเธอในครั้งนี้ทำให้เธอได้เจอกับ เจ้าชายเซบาสเตียน และความลับของเขาที่ไม่อาจบอกให้ใครรู้ได้นั่นก็คือ การชอบสวมชุดกระโปรง

การแต่งงานคือการเมือง

เจ้าชายเซบาสเตียน คือรัชทายาทแห่งเบลเยียม เจ้านายของชายปริศนาผู้เสนองานช่างตัดชุดประจำตัวให้แก่ฟรานซิส เขาแบกรับความคาดหวังของพระราชาและราชินีที่อยากให้ลูกของตนมีคู่ครอง เพื่อสืบทอดบัลลังก์และเป็นราชาแห่งเบลเยียมคนต่อไปแม้จะอายุเพียง 17 ปี

ด้วยสถานะของเซบาสเตียนทำให้ความชอบในการสวมชุดกระโปรงถูกซ่อนไว้หลังผ้าปิดหน้าเมื่อยามเขาพบฟรานซิสเป็นครั้งแรก ทว่าความลับที่หวังจะปิดไว้กลับหาทางเผยตัวออกมาไวยิ่งเสียกว่าอะไร เซบาสเตียนยินดีจ่ายค่าปิดปากแก่ฟรานซิส แต่ฟรานซิสกลับเข้าอกเข้าใจเซบาสเตียนเป็นอย่างดี ทั้งสองจึงเริ่มออกแบบชุดสวยสับกันอย่างลับ ๆ และสรรค์สร้าง เลดี้คริสตัลเลีย หญิงงามปริศนา แฟชั่นนิสต้า ผู้นำเทรนด์แฟชั่นคนใหม่ ที่ไม่เคยมีใครเห็นเธอกับเจ้าชายเซบาสเตียนในห้องเดียวกันเท่านั้นที่โดดเด่นอยู่ท่ามกลางแสงไฟระยิบระยับแห่งนครปารีส ด้วยกันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

อย่างไรก็ตามระหว่างพลิกหน้ากระดาษเจ้าชายกับช่างตัดเสื้อไปเรื่อย ๆ เราก็อดนึกถึงซีรีส์เรื่อง วังวนรัก เกมไฮโซ: Bridgerton ที่สร้างมาจากนิยายชุดในชื่อเดียวกัน ซึ่งเล่าเรื่องราวความรักและการเมืองของเหล่าขุนนางในยุครีเจนซี ไม่ได้ เพราะดูแล้วก็ถือเป็นหนึ่งในพล็อตสำคัญของหนังสือเล่มนี้เช่นเดียวกัน

ราชาและราชินียังคงกระตือรือร้นในการหาหญิงตระกูลดีทั่วสารทิศมาทาบทามแก่ลูกชาย แม้เซบาสเตียนจะปฏิเสธและแสดงท่าทีไม่สนใจอย่างสุภาพที่สุดแค่ไหนก็ตาม การคลุมถุงชน (Marriage of convenience) และการแต่งงานทางการทูต (Marriage of state) ที่ปุถุชนคนธรรมดาอย่างเราอาจไม่ได้รู้สึกรู้สาด้วยเท่าไรนี้ปรากฎในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งหากมองเป็นการแต่งงานเพื่อเลื่อนลำดับทางชนชั้นหรือยกระดับชีวิตแทน ก็ดูเหมือนจะใกล้ตัวขึ้นมาบ้าง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การแต่งงานมักถูกวาดภาพออกมาให้เป็นตอนจบแสนโรแมนติกในหนังสือเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเล่มที่เกี่ยวกับเจ้าหญิงเจ้าชาย อย่างไรก็ตามเจ้าชายกับช่างตัดเสื้อกลับไม่ได้สื่อสารกับเราแบบนั้น และนำเสนอมุมมองใหม่ในเรื่องการแต่งงานไว้อย่างแยบยล ที่สามารถทำให้ผู้อ่านตกตะกอนความรักหลากรูปแบบมากขึ้นได้ รวมไปถึงการรักตัวเองด้วยเช่นกัน

เพราะสำหรับเรา การแต่งงาน (น.) ไม่ใช่และไม่เคยเป็นเพียงการแสดงความรักของคนสองคน (หรือมากกว่านั้นตามแต่ตกลง) หากแต่เป็นการทำข้อตกลงระหว่างบุคคล ครอบครัว หรือกลุ่มสังคมที่ใหญ่กว่านั้น ในการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมใหม่ ด้วยสิทธิที่คู่สมรสพึงจะได้ร่วมกัน ในขณะที่คนเป็นโสด (หรือหากมองในบริบทประเทศไทยก็คงต้องรวมคู่รักเพศเดียวกันเข้าไปด้วย) ไม่มี

การแต่งงาน (น.) มักตามมาด้วยความคาดหวังทางสังคมหลายอย่างแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมของคนคนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน การแสดงความสัมพันธ์ทางเพศ ตลอดจนการสืบพันธุ์เพื่อสืบทอดวงศ์ตระกูล และหากคุณโชคร้ายไม่สามารถทำตามเช็คลิสต์ที่ว่ามาได้ ก็อาจจะถูกกดดันไปตลอดชีวิต สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการเมืองทั้งนั้น ไม่ว่าคุณจะเป็นกรีดเลือดออกมาเป็นสีน้ำเงินหรือไม่ก็ตาม แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าการแต่งงานเป็นสิ่งไม่ดีหรอกนะ

ลื่นไหลและเป็นธรรมชาติที่สุด

“มีแต่คนคอยตัดสินว่าอะไรเหมาะ อะไรไม่เหมาะมาทั้งชีวิตเราแล้ว เวลาสวมชุดกระโปรง เราจะเป็นคนตัดสินเองว่าตลกรึเปล่า”

เจ้าชายเซบาสเตียน ว่า

และแล้วก็มาถึงจุดเด่นของหนังสือเล่มนี้นั่นก็คือ การนำเสนอความหลากหลายที่ต้องการเหลือเกินที่จะออกจากกรอบสังคมที่ครอบไว้ เพราะการใส่ชุดกระโปรงของเซบาสเตียนไม่ใช่แค่เพียงเพื่อความสวยงาม แต่เป็นการทวงคืนความมั่นใจให้กับตัวเองในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในโลกที่ยังเต็มไปด้วยขนบแสนเคร่ง ยากจะโอบรับความหลากหลายโดยไม่ถูกตีตราหรือเบียดขับอย่างรุนแรง

ครั้งหนึ่งเซบาสเตียนกล่าวกับฟรานซิสว่า ตนไม่สามารถจินตนาการภาพเจ้าชายเซบาสเตียนออกไปสู้รบหรือปกป้องประเทศนี้ได้เลยแม้แต่น้อย แต่ถ้าเป็นเลดี้คริสตัลเลียต้องทำได้อย่างแน่นอน ในแง่หนึ่งอาจพูดได้ว่า สิ่งนี้สอดคล้องเกี่ยวกับแนวคิดที่หลายคนมองว่าการเปิดตัว (come out) คือสิ่งหนึ่งที่ผู้มีความหลากหลายต้องทำ ส่วนจะได้รับการยอมรับหรือไม่หลังจากนั้นก็ให้เป็นเรื่องของดวงและสภาพแวดล้อมที่พวกเขาอยู่

ความเป็นไปได้ที่ 1: หากโชคดี คนยอมรับ พวกเขาก็จะมีความมั่นใจมากกว่าเดิมเป็นไหน ๆ

ความเป็นไปได้ที่ 2: แต่ถ้าไม่ การเป็นตัวเองก็อาจทำลายชีวิตพวกเขาไปโดยปริยาย

ดังนั้นแนวคิดที่กล่าวมาจึงเป็นแนวคิดที่ดูผิดฝาผิดตัวไปหน่อยสำหรับเรา เพราะความหลากหลายไม่เคยเป็นปฏิปักษ์ต่อสังคมเลยแม้แต่น้อย หากแต่เป็นกรอบที่เราต่างสร้างขึ้นมาเองต่างหาก เพราะท้ายที่สุดแล้วไม่มีใครจำเป็นต้องยืนยันอะไรกับสังคมเพื่อให้ได้รับการยอมรับแม้แต่น้อย

นอกจากนี้อีกหนึ่งความประทับใจของเราที่มีต่อเจ้าชายกับช่างตัดเสื้อ คือการแฝงความรู้ความเข้าใจในหลัก SOGIESC ที่อธิบายความหลากหลายทางเพศไว้อย่างชัดเจน โดยคนหนึ่งคนไม่จำเป็นต้องมีเพศสรีระ (Sex Characteristics: SC) การแสดงออกทางเพศ (Gender Expression: GE) รสนิยมทางเพศ (Sexual Orientation: SO) และอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity: GI) ไปในทิศทางเดียวกัน

การที่เซบาสเตียนมีการแสดงออกว่าชอบใส่กระโปรง หรือแต่งตัวค่อนไปทาง feminine ไม่ได้ทำให้ผู้อ่านสามารถทักทักไปเองได้ว่าเซบาสเตียนมีรสนิยมทางเพศชอบผู้หญิง หรือผู้ชาย หรืออื่นใดกันแน่ได้ ทั้งยังไม่รู้อีกว่าเซบาสเตียนนิยามตัวเองว่าอะไร เพราะคนเรานั้นเต็มไปด้วยความหลากหลาย ที่ควรค่าแก่การได้รับความเคารพอย่างไม่มีข้อแม้นั่นเอง

หนังสือเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า… ทุนนิยมไม่เคยรักเราหรอกนะ

หนังสือเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า… การแต่งงาน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเพราะเหตุใด ก็เป็นเรื่องของการเมืองทั้งสิ้น

หนังสือเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า… ความลื่นไหลและหลากหลายไม่เคยเป็นศัตรูของมนุษย์เลยสักครั้ง

หนังสือเรื่องสอนอีกหลายอย่าง แต่ถ้าพิมพ์มากกว่านี้ก็คงจะสปอยล์หมดเล่ม

แต่เรายังขอยืนยันยันตามเดิมว่า กราฟิกโนเวลภาพสวยสีหวานเล่มนี้เหมาะกับทุกคน ทุกวัยนั้นไม่ใช่การพูดโอเวอร์ เกินจริงแต่อย่างใด เพราะเนื้อหาสาระและมุมมองที่ก้าวหน้าที่ซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดในเจ้าชายและช่างตัดเสื้อนั้นควรค่าแก่การอ่าน ไม่ว่าคุณจะมีบทบาทเป็นแม่ พ่อ ผู้ปกครอง ลูก คุณครู ผู้มีเพศหลากหลาย พันธมิตรที่แสนดี หรือใครก็ตาม

หนังสือ: เจ้าชายกับช่างตัดเสื้อ
ผู้เขียน: เจน หวัง
แปล: วลัยลักษณ์ จิตตะยโศธร
สำนักพิมพ์: นานมีบุ๊คส์

PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ(ที่อยากอ่าน) ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี