จับขั้วหญิงไทยในสมรภูมิการเมือง - Decode
Reading Time: 2 minutes

การเลือกตั้ง 66 ได้ผ่านพ้นไปแล้ว สัดส่วนของ ส.ส.หญิงในสภานั้นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ
โดยในการเลือกตั้ง 62 มี ส.ส.หญิงในสภากว่า 76 คน แต่ในครั้งนี้ มี ส.ส.หญิงในสภาถึง 95 คน
แม้นำสัดส่วน ส.ส.หญิงเทียบกับ ส.ส.ชายแล้ว อาจเป็นเปอร์เซนต์ที่ยังไม่น่าพอใจนัก

แต่หากดูเป็นรายเขตแล้วพบว่า แทบทุกเขตในประเทศไทยจะมี ผู้หญิง เข้าไปแย่งชิงพื้นที่ทางการเมืองในสภาด้วย
และมีส.ส. หญิงหลายท่านถูกเลือกให้ทำหน้าที่เป็นปากเสียงของประชาชน โดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาลใหม่ ที่ ส.ส.หญิงหลายท่านล้วนผ่านการลงถนนและการต่อสู้ทางความคิดมาแล้วอย่างดุเดือด จนเป็นเหตุให้สังเกตว่าพื้นที่ของสตรี
ในสภาและแนวคิดด้านสตรีนิยมจะขยับเขยื้อนไปในทิศทางใด

De/code จึงชวน อุษา เลิศศรีสันทัด จากสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ
มาพูดคุยถึงพัฒนาการของสตรีนิยม และความเสมอภาคทางเพศที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

“ต้องปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรม
เพราะมันไม่มีมิติเรื่องเพศ และทำให้ผู้หญิงเข้าไม่ถึงความยุติธรรม”

อุษาอธิบายว่า เป็นครั้งแรกที่นโยบายด้านสตรีหรือความหลากหลายทางเพศชัดเจนขนาดนี้ เท่าที่เห็นจากการหาเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลใหม่ ไม่ว่าจะเป็นสมรสเท่าเทียม กฎหมายต่อต้านความรุนแรง ผ้าอนามัยไม่เก็บ VAT ศูนย์เด็กเล็กและลาคลอด 180 วัน (ของก้าวไกล) กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีและฉีดมะเร็งปากมดลูกฟรี (ของเพื่อไทย) ศูนย์ Women Care และ กองทุนพลังหญิง กองทุนแม่เลี้ยงเดี่ยว (ของไทยสร้างไทย) รวมถึงการยกระดับสวัสดิการต่าง ๆ เช่น สวัสดิการเด็กถ้วนหน้า สวัสดิการผู้สูงอายุ ซึ่งส่งผลดีต่อสถานะของผู้หญิงในประเทศไทย เพราะเธอเหล่านั้นล้วนมีบทบาททางเศรษฐกิจและภาระภายในบ้าน ซึ่งการเสริมสวัสดิการของเด็กและผู้สูงอายุ
จะเป็นการลดภาระหน้าที่และความยากลำบากของความเป็น “แม่” ลงด้วย แต่ถึงกระนั้น “ความรุนแรงทางเพศในครอบครัว” กลับยังเป็นเรื่องที่ไม่ถูกหยิบยกมากนัก 

ซึ่งการปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรมเป็นส่วนสำคัญ ที่จะทำให้ความรุนแรงทางเพศมีอัตราที่ต่ำลง
อุษาเล่าว่า มีผู้หญิงหลายคนต้องเสียชีวิตจากการใช้ปืนในครอบครัว หรือหากไม่เสียชีวิตก็ต้องอยู่กับความหวาดกลัวไปตลอด หากแต่บริการภาคสังคมที่จะรองรับผู้หญิงที่ประสบความรุนแรงนั้นยังไม่มีความสมบูรณ์
ทั้งการจัดสรรส่งต่อผู้ประสบเหตุก็ยังมีช่องว่างอยู่มาก (บ้านพักของรัฐบางที่ก็ให้ผู้ประสบเหตุเข้าพักแต่บางที่ไม่ให้)
หรือบ้านพักเหล่านั้นจะใช้กฎระเบียบที่ดูแลเด็กมาดูแลผู้ใหญ่ ทำให้ผู้ประสบเหตุรู้สึกว่าบ้านพักไม่ต้อนรับพวกเขา

รวมถึงไม่มีหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับสิทธิสตรีและความรุนแรงภายในครอบครัวในการเรียนการสอนของสถาบันตำรวจ อาจเพราะที่ผ่านมาหาได้มีนักวิชาการที่ทำงานประเด็นดังกล่าวอย่างแท้จริงในองค์กรของตำรวจ หรือในชั้นกรรมาธิการก็ไม่ได้ให้เวลากับเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ทำให้กฎหมายนั้นไม่มีความเข้าใจเรื่องสิทธิสตรี และไม่รับฟังเสียงของภาคประชาชนที่ทำงานมาอย่างยาวนาน “กฎหมายที่ผ่านมามันไม่ได้ดั่งใจเราเลย” เธอกล่าว

อุษาแนะว่า จำเป็นต้องมีการบูรณาการถึงสาเหตุให้เชื่อมโยงกับการประกันตัว เพราะหากผู้หญิงได้เข้าแจ้งความว่าเจ้าหน้าที่หรือบุคคลใดใช้อาวุธปืนทำร้ายข่มขู่ภรรยา เขาผู้นั้นก็ไม่สมควรได้รับการประกันตัวแล้ว แม้จะมีกฎหมายเฉพาะที่พูดถึงเรื่องดังกล่าว แต่ก็ยังติดอยู่ที่กลไกนั้นยังไม่ได้รับการบูรณาการ “กระบวนการยุติธรรมสำหรับผู้หญิงจำต้องปฏิรูปมากกว่านั้น เช่น ให้อัยการเข้ามามีส่วนร่วมในขั้นตอนการสอบสวนด้วย”

ฉะนั้นการสร้างกลไกดูแลความเสมอภาคทางเพศจึงสำคัญ หาใช่การปฏิรูปแค่ตำรวจ แต่ต้องปฏิรูปทั้งกระบวนการยุติธรรม เริ่มตั้งแต่กระบวนการสอบสวนไปจนถึงการประกันตัว และพัฒนากลไกเกี่ยวกับพนักงานสอบสวนหญิงให้สามารถเป็นด่านหน้าในการคุ้มครองผู้หญิงให้ได้ “แค่การผลักดันเรื่องไม่เลือกปฏิบัติทางเพศมันไม่เพียงพอแล้ว เราต้องมีกลไกรัฐและบุคคลที่ต้องมารับผิดชอบประเด็นนี้อย่างจริงจัง

“นโยบายสำหรับผู้หญิง เป็นเรื่องที่ถ้าไม่แสวงหาจะไม่ได้มา”

ความจริงอันน่าหดหู่ของสิทธิสตรีในสนามการเมืองไทยในมุมมองของ สุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง จากมูลนิธิพัฒนาแรงงานและอาชีพ ที่เห็นพ้องต้องกันกับอุษา และผู้ร่วมเสวนาอีกสองท่าน คือ สุนี ไชยรส จากคณะทำงานขับเคลื่อนสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า, วาสนา ลำดี จากมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ในงาน ถก-ถาม-ฟัง นักเคลื่อนไหว “ส่องหา สิทธิสตรี ในมหกรรมเลือกตั้ง 66” ทางเพจ Gender Talk เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา

“สังคมไทยตอนนี้มาผิดที่ผิดทางพอสมควร” สุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง อธิบายว่า ประเด็นหลักในสังคมกลายเป็นพรรคใดจะจับมือกับพรรคใด หาใช่การรับรู้ถึงนโยบายต่าง ๆ ของแต่ละพรรค นโยบายของสตรียิ่งแล้วใหญ่ เพราะนโยบายที่สะท้อนถึงการเคารพความเป็นมนุษย์ในเชิงสตรีนิยม และการขจัดความรุนแรงและอคติทางเพศไม่ควรเกิดขึ้นแค่กลุ่มผู้หญิง ควรรวมไปถึงกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศด้วย หากแต่การประกาศนโยบายเหล่านี้กลับเกิดขึ้นในเวทีเฉพาะเท่านั้น

“การเสริมพลังอำนาจทางเศรษฐกิจของผู้หญิง เป็นเรื่องที่เราจะต้องทำและไปให้ถึง” สุนทรีอธิบายว่า
ผู้หญิงหลายคนอยู่ในภาวะไม่มีงานทำเหตุจากการถูกเลือกปฏิบัติ ค่าแรงของผู้หญิงไม่เท่ากับผู้ชายในบริบทของแรงงานนอกระบบ และพรรครัฐบาลและพรรคการเมืองอื่น ๆ ก็ยังไม่มีแนวทางปฏิบัติต่อคนกลุ่มนี้เลย เช่น การจัดซื้อและส่งเสริมสินค้าของกลุ่มอาชีพผู้หญิง

“การเลือกปฏิบัติทางเพศเป็นรากปัญหาของสิทธิสตรีในไทย” อุษายก พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ มาตรา 17 ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า กฎระเบียบหรือนโยบายของหน่วยงานของรัฐและองค์กรเอกชนห้ามปฏิบัติสิ่งใดที่เป็นการเลือก ปฏิบัติทางเพศอย่างไม่เป็นธรรม หากแต่การบังคับใช้กฎหมายนี้เท่ากับศูนย์ เพราะหลายหน่วยงานยังคงมีการเลือกปฏิบัติ หรือกระทั่งระบุไว้ว่า “เฉพาะชายหรือหญิง” กลายเป็นการกีดกันเพศหลากหลายอีกด้วย ซึ่งสิ่งนี้เองที่เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้สถานะทางเศรษฐกิจของผู้หญิงไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแท้จริง แต่กลับยังไม่มีพรรคการเมืองใดพูดถึงการแก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อนำไปสู่การบังคับใช้อย่างจริงจัง

“สวัสดิการผู้ใหญ่ถ้วนหน้าไม่เคยถามหาความจน แต่เด็กเล็กถามหาความจนมาตลอดสิบปีที่ผ่านมา” การขับเคลื่อนเรื่องเด็กมีแก่นสำคัญอยู่ที่เพศหญิง ซึ่งอยู่ทั้งในฐานะแม่ พี่สาว ยาย หรือใครก็ตามแต่ที่มีภาระต้องเลี้ยงบุตรหลาน สุนีอธิบายว่า นโยบายเรียนฟรี บัตรทอง บัตรผู้พิการ บัตรผู้สูงอายุถ้วนหน้าทั้งหมด แต่เด็กนั้นเป็นวัยที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษกลับมีนโยบายที่เต็มไปด้วยช่องโหว่

สุนียกตัวอย่างถึงกรณีศูนย์เด็กเล็กที่รัฐสนับสนุน ในประเทศมีศูนย์เด็กเล็กหรือโรงเรียนอนุบาลที่อยู่ในการสนับสนุนของรัฐราว 2.4 ล้านศูนย์ แต่กลับมีเด็กกว่า 4 ล้านคนในสังคม (ยังไม่รวมเด็กที่ไร้สัญชาติไทย) นั่นเท่ากับว่ามีเด็กกว่า 2 ล้านคนที่ไร้สถานพึ่งพิงและไร้การดูแล หรือในเรื่องของเวลาเปิด-ปิดศูนย์เด็กเล็ก (08:00 – 16:00)
ที่ไม่สอดคล้องกับเวลาทำงานของบิดามารดาที่อยู่ในสถานะแรงงานไร้ทักษะ

ซึ่งการที่ศูนย์เด็กเล็กส่วนใหญ่ไม่สอดคล้องกับเวลาทำงานของบิดามารดาที่อยู่ฐานะแรงงาน “มุมนมแม่” จึงเป็นแนวทางที่น่าสนใจในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว วาสนาอธิบายว่า สถานการณ์พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวในสังคมไทยตอนนี้กำลังปะทุ ศูนย์เด็กเล็กจึงอาจไม่ตอบโจทย์กับคนทุกกลุ่มในสังคม การมีศูนย์เด็กเล็กหรือมุมนมแม่ในที่ทำงาน
จะช่วยให้พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวใกล้ชิดกับลูกหลานของตนมากขึ้น

“การที่ผู้หญิงจะออกมามีบทบาททางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมได้ เราต้องลดภาระของผู้หญิง” สุนทรีกล่าวเสริมว่า นอกเหนือไปจากเงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้า ศูนย์เด็กเล็กใกล้บ้านหรือในที่ทำงาน “ระบบการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว” ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเมื่อครอบครัวมีผู้ป่วยติดเตียง ผู้หญิงจะต้องเป็นคนเข้าไปดูแล ซึ่งนั่นหมายถึงการสูญเสียซึ่งเส้นทางการทำมาหากิน

อุษาจึงยกตัวอย่างว่า มีผู้หญิงหลายคนที่ต้องรับภาระการเป็นมารดา เป็นบุคคลซึ่งต้องดูแลพ่อแม่ เมื่อหมดภารกิจดังกล่าวและกลับสู่สังคม ผู้หญิงเหล่านั้นก็จะมีอายุราว 30-40 แล้ว ซึ่งเป็นการยากยิ่งที่จะหางานทำในช่วงอายุนั้น จึงเกิดการ “เลือกปฏิบัติทางอายุ” ไปเสียอีก ซึ่งกระดานแผนงานด้านการส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุของกระทรวงแรงงานก็ยังคงว่างเปล่า ซึ่งนั่นจะกระทบกับผู้หญิงในทุกช่วงวัย “เงิน 3,000 บาทนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่จะดีกว่านี้ถ้าเราช่วยให้ผู้สูงอายุพึ่งพาตนเองได้”

“สิทธิสตรีไม่ได้หมายถึงแค่เพศหญิงแต่หมายถึงทุกเพศ และไม่ได้ต้องการอภิสิทธิ์เหนือกว่า แต่ต้องความเสมอภาคในโอกาส ผู้หญิงเป็นข้อต่อของสังคม เราอยู่ในทุกมิติตั้งแต่เด็กไปจนแก่ ผู้หญิงต้องการประชาธิปไตยที่มีส่วนร่วมอย่างจริงจัง มีส่วนในการแสดงออก และมีศักดิ์ศรีความเป็นคน” 

“คำถามที่ว่าสิทธิสตรีมันเปลี่ยนสังคมได้ไหม มันเปลี่ยนได้แน่นอน
เพราะว่ามันจะปลดปล่อยพลังมากกว่า 50% ของประชากรประเทศนี้
ถ้าทำให้เขามั่นใจในศักดิ์ศรีของเขา มีสวัสดิการโดยตรงที่จะลดภาระผู้หญิง
การปลดปล่อยคนครึ่งประเทศมันไม่ใช่เรื่องเล็กแน่นอน”

“นี่ไม่ใช่เพียงเรื่องของความรุนแรงทางเพศ หากแต่เป็นความบกพร่องของกระบวนการยุติธรรมไทย” สุนีเสริมว่า รัฐธรรมนูญ ปีพ.ศ. 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่พูดเรื่องสิทธิเสรีภาพน้อยที่สุดเท่าที่เคยมีมา และได้สร้างปัญหาที่กระทบต่อคนทุกกลุ่มในสังคมแม้กระทั่งผู้หญิง หลายคนถูกคร่าชีวิตจากการต่อสู้ แต่ไร้ซึ่งกระบวนการยุติธรรมไทยที่เอื้ออำนวย ซ้ำร้ายยังกลับใช้อำนาจนั้นคุกคามและลดทอนคุณค่าของความเป็นมนุษย์และความเป็นผู้หญิง

ฉะนั้น “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” จึงเป็นแนวทางแก้ไขที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมกับมันมากที่สุด ถัดมาเป็นเรื่องการกระจายอำนาจอย่างจริงจังและเลือกตั้งผู้ว่าท้องถิ่น เพราะประชาชนในพื้นที่จะมีส่วนร่วมในการผลักดันพื้นที่ของตนได้ชัดเจน ทั้งการดูแลสวัสดิการหรือความรุนแรงที่เกี่ยวกับผู้หญิงทั้งหมด “แต่อย่าให้มีแค่การเลือกตั้ง ต้องให้งบประมาณด้วย ให้อัตรากำลังเขาให้ได้ใช้สิทธิ์เสียงของเขาเต็มที่”