ในช่วงเวลาที่การศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์กระแสหลักถูกบันทึกและนำเสนออย่างผู้ชาย
ขณะที่เรื่องราวอย่างผู้หญิงกลับไม่ได้รับความสำคัญ และมีขอบเขตในการบันทึกอย่างจำกัด
แม้จะถูกพูดถึงบ้างแต่ยังเป็นเพียง “ภาพรวม” และเน้นไปที่หญิงสาวหรือทายาทชนชั้นสูง
เรื่องราวที่หายไปของหญิงไทยที่ดำเนินชีวิตบนหน้าประวัติศาสตร์ จึงเป็นสิ่งที่ ภาวิณี ตั้งใจนำเสนอ
ผ่านกระบวนการยุติธรรม ผ่านคดีความและฎีกาต่อกษัตริย์ ที่สามารถฉายให้เห็นสภาพแวดล้อมที่เคยเกิดขึ้น
และดับไปท่ามกลางเหล่าหญิงสาวในอดีต
“ช่วงชีวิตของหญิงไทยถูกนับตั้งแต่การเป็นลูก เมีย และแม่” อำแดงเอ่ยขึ้น อำแดงคือคำหน้าชื่อผู้หญิงสมัยก่อน
เธอคือหญิงสาวที่อยู่มาตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่สี่ถึงยุคปัจจุบัน อำแดงเล่าให้ภาวินีฟังถึงสถานะของหญิงไทยในอดีต
นับตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๕ ซึ่งนับว่าเป็นช่วงเวลาที่อารยธรรม ความทันสมัย หรือ “ความศิวิไลซ์”
จากยุโรปปรากฎขึ้นในสยาม และกลายเป็นเครื่องมือสำคัญของชนชั้นปกครอง ที่ใช้ในการปรับอัตลักษณ์ของคนไทยโดยเฉพาะหญิงให้ทัดเทียมกับชาติตะวันตก
“กะด้งของทารกชายจะใส่ของมีคม ส่วนกระด้งของทารกหญิงจะใส่เข็มกับด้าย
เพราะเขาอยากให้เด็กชายประสบความสำเร็จด้านการเรียน พละกำลัง การต่อสู้
ส่วนผู้หญิงก็อยากให้เรียบร้อยอ่อนหวาน เป็นกุลสตรี มีวิชาการบ้านการเรือน”
เธอเล่าถึงการให้คุณค่าระหว่างเด็กชายและเด็กหญิงครั้นเมื่อเขายังทารก แม้ในปีพ.ศ. ๒๔๖๔ จะมีพระราชบัญญัติประถมศึกษาภาคบังคับ ที่กำหนดให้เด็กทั้งชายและหญิงระหว่าง ๗ – ๑๔ ปีได้รับ การศึกษาโดยไม่เสียค่าเล่าเรียน
แต่วัยเด็กของเด็กสาวนั้นกลับไม่เป็นไปตามครรลองการศึกษา เพราะพวกเธอต้องระหกระเหินไปตามเศรษฐกิจของครอบครัว และมีชีวิตเป็นของขัดดอกให้พ่อแม่ “ การศึกษามักจะไปตกอยู่ที่เด็กชายเสียมากกว่า สังเกตได้จาก
การใช้พิมพ์ลายนิ้วมือแทนการลงลายมือ เพราะผู้หญิงส่วนใหญ่อ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้” เธอยกตัวอย่าง
“แล้วพรหมจรรย์ของผู้หญิงมันมีค่าขึ้นมาตอนไหน” ภาวิณีถาม
“การถือมั่นพรหมจรรย์จนวันวิวาห์ ไม่ได้เป็นสิ่งที่สังคมขณะนั้นปฏิบัติกันเป็นปกติ
สังเกตได้จากที่รัชกาลที่ ๔ อนุญาตให้เหล่าพระสนมลาออกไปมีสามีใหม่ได้ แต่ต้องตัดจากเขาก่อน”
อำแดงเล่าว่าแต่ก่อน ความบริสุทธิ์หรือพรหมจรรย์ หาใช่เงื่อนไขที่ชายใช้เลือกคู่ครอง หากแต่เป็น
ความซื่อสัตย์ ต่อสามีต่างหากที่สำคัญ ขณะเดียวกันความเชื่อเรื่องความบริสุทธิ์และพรหมจรรย์แบบตะวันตก
ถูกนำเสนอผ่านวรรณกรรม นวนิยาย กระทั่งหลักสูตรการศึกษาใหม่ จนกลายเป็นวัฒนธรรมสากลที่บ่งบอกถึง
ความอารยะของประเทศ “ชนชั้นนำไทยจึงหันมาให้ความ สำคัญกับการกำหนดค่านิยมของเพศชายและหญิง พรหมจรรย์จึงกลายเป็นตัวกำหนดสำคัญ ว่าใครคือหญิงดีหรือหญิงเลวในเวลาถัดมา” เธอสรุปความ
“ก่อนจะกลายเป็นเมียก็ไม่ง่ายนะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเหมาะสมทางชนชั้น ฐานะ พ่อแม่จะมีส่วนเกี่ยวข้องเสมอ” อำแดงเอ่ยขึ้น หากว่ากันตามกฎหมายตราสามดวง รัฐจะให้อำนาจพ่อแม่ของการเลือกคู่ครองของบุตรหลาน
แต่ภายหลังการประกาศพระราชบัญญัติ ลักพา พ.ศ. ๒๔๐๘ และ ๒๔๑๑ หญิงสาวผู้มีอายุ ๒๐ ปี ขึ้นไปมีสิทธิ์
เลือกคู่ครองของตนเองได้ แต่สงวนไว้สำหรับครอบครัวชนชั้นสูง ทำให้สำนึกปัจเจกชนเกิดขึ้นในเหล่าหญิงสาว
หากแต่บรรดาพ่อแม่ก็ยังคงความเชื่อว่าตนมีอำนาจในการเลือกคู่ครองให้บุตรหลานอยู่
“พ่อแม่ของฉันไม่ชอบผู้ชายที่ฉันรัก พวกเขาห้ามไม่ให้แต่งงานกับเขา ตั้งแต่นั้นฉันก็กลัวที่จะแต่งงานกับเขา
เพราะว่าลูกที่ไม่เชื่อฟังพ่อแม่จะต้องตกนรก และพวกเขาก็กลัวว่าฉันจะหนีตามคนรัก พวกเขาจึงให้ชั้นแต่งงาน
กับคนที่พวกเขาชอบ” อำแดงเล่าถึงเพื่อนสาวของเธอเมื่อครั้นอดีต
ใช่ว่าผู้หญิงสมัยนั้นจะถูกคลุมถุงชนทุกราย แต่อำนาจของพ่อแม่ที่มีต่อการกำหนดชีวิตของหญิงสาวนั้นคละคลุ้งไปทั่วสังคมจนกลายเป็นเรื่องปกติ กว่าความรักจะกลายมาเป็นส่วนหนึ่ง ของเงื่อนไขสำคัญในการแต่งงาน
เวลาก็ล่วงเลยไปถึงช่วงรัชกาลที่ ๖ ที่ความรักไปปรากฎอยู่บน งานพระราชนิพนธ์ของกษัตริย์ และมีอิทธิพลต่อหนุ่มสาวในสังคมไทย จนอาจรวมไปถึงบรรดาพ่อแม่ที่นำเอาความรักไปประกอบเป็นส่วนหนึ่งของการแต่งงาน
“ฉันคิดว่าเป็นเพราะความรักล่ะมั้ง” ภาวิณีเอ่ยขึ้นลอย ๆ กับอำแดง
“แท้จริงธรรมเนียมนี้เป็นประเพณีที่ตกทอดกันมาหลายชั่วอายุคน แต่สำหรับฉันเองก็ทำใจยอมรับประเพณีนี้ไม่ได้
หากเรารักผู้ชายคนหนึ่ง แล้วจะแบ่งปันให้ใครอื่นนั้น เป็นไปไม่ได้ทีเดียว” เธอตอบด้วยท่าทีที่เห็นด้วยกับภาวิณี
“แต่พอหลังจากอยู่กินเป็นสามีภรรยา มันก็ไม่ง่ายเหมือนเดิม” อำแดงเอ่ยพลางถอนหายใจ ลำดับขั้นสุดท้ายของหญิงสาวอย่างการเป็นแม่ ก็ผูกติดอยู่กับค่านิยมที่แบ่งแยกตามสิ่งที่ทารกคาบมาเกิด นั่นก็คือเพศชายก็จะถูกเกณฑ์แรงงานและรับผิดชอบงานนอกบ้าน ในขณะที่ผู้หญิงจะถูกคาดหวังให้เป็นแม่บ้านแม่เรือน ทว่าคำว่า บ้าน กลับกินความไปมากกว่าสิ่งของไร้ชีวิต หาก รวมไปถึงสมาชิกทั้งหมดภายในบ้านด้วย และเมื่อเข้าสู่สมัยการปฏิรูปประเทศที่ให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ วิถีและบทบาทของหญิงสาวได้ถูกปรับให้เข้ากับครรลองของสังคมในยุคสมัยนั้น นั่นก็คือการเป็นแม่บ้านแม่เรือนที่มีประสิทธิภาพ “ภรรยาจะต้องเป็นเพื่อนคู่คิดของสามี เป็นผู้รอบรู้สุขอนามัย สามารถออกสังคมต้อนรับแขกได้ ทั้งยังต้องมีการศึกษาที่ดี คุมรายรับรายจ่ายได้ เพื่อจัดการความเป็นอยู่คนในครอบครัวและสามี” เธอยกตัวอย่างถึงการเป็นแม่บ้านแม่เรือนที่มีประสิทธิภาพ
“ไม่ว่าจะเป็นค่านิยมสังคม การบังคับของพ่อแม่ อำนาจของความเป็นผัว ทั้งหมดนี้เรียกว่า อำนาจอิสระ
อันหมายความถึงอำนาจสูงสุดของผู้ปกครอง อาทิ กษัตริย์ พ่อแม่ ผัว ที่กระทำต่อ ผู้น้อย อาทิ ทาส ลูก เมีย
ซึ่งผู้ปกครองสามารถกำหนดขอบเขตกระทำของผู้น้อยได้อย่างหมดจด” อำแดงอธิบายกับภาวิณีถึงคำว่าอิสระ
และอำนาจอิสระนี้เองที่สามารถสะท้อนให้เห็นรูปธรรมของอำนาจที่กดทับเหล่าหญิงสาวในอดีต
“นอกจากค่านิยมความทันสมัยของยุโรป สิ่งที่เข้ามาพร้อมกันนั่นก็คือการเปลี่ยนผ่านแนวคิดทางกฎหมาย” อำแดงยกอีกตัวอย่างหนึ่งที่ทยอยเข้ามาในสังคมไทยพร้อมกับค่านิยมทางสังคมต่าง ๆ กฎหมายจารีตของไทยอาจแบ่งได้เป็นสองช่วงใหญ่ ๆ คือ หนึ่ง กฎหมายไทยเดิมแท้ก่อนที่จะได้รับอิทธิพลอินเดีย เป็นสังคมแบบมาตาธิปไตยหรือคือแม่เป็นใหญ่ กับช่วงที่กฎหมายที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดียซึ่งยึดถือระบบปิตาธิปไตยหรือชายเป็นใหญ่ ทำให้สถานะของหญิงสาวตกต่ำลงเรื่อยมา
“และเมื่อเข้าสู่ไทยยุคสมัยใหม่ กฎหมายตามแบบตะวันตกก็เริ่มต้นขึ้นเช่นกัน” ลำดับชั้นทางสังคมตามระบบศักดินากลายมาเป็นแนวคิดที่ว่าด้วยความเท่าเทียม มีศาลแพ่งและศาลอาญา เกิดแนวคิดปัจเจกบุคคล ที่แต่ละบุคคลมีสิทธิและเหตุผลเป็นของตนเอง ตัวอย่างเช่น การทุบตีทาสหรือลูกเมียถือว่าไม่ผิดกฎหมายตามกฎหมายจารีตที่ผู้ปกครองมีสิทธิ์ลงโทษผู้น้อยกว่า ทว่าเมื่อเป็นกฎหมายใหม่การทุบตีผู้อื่นถือเป็นการประทุษร้ายซึ่งเป็นการทำผิดกฎหมายบ้านเมืองโดยทันที
“ฉันเป็นลูกจ้าง จะมาเฆี่ยนตีแบบนี้ไม่ได้ ฉันจะยื่นฟ้องต่อศาล ให้ปรับสามร้อยบาทห้าสิบหกอัฐ โทษฐานตีฉันโดยผิดกฎหมาย เพราะฉันไม่ใช่ทาสของเธอ” อำแดงเล่าเหตุการณ์ของเพื่อนเธอ ที่เป็นตัวอย่างชั้นดีของการเกิดขึ้นของสำนึกปัจเจกชนให้ภาวิณีฟัง เป็นเหตุการณ์ที่นางสาววงยื่นฟ้องหม่อมหญิงประวาศโทษฐานที่เจ้าหล่อนใช้หนังแรดเฆี่ยนตีเธออย่างทารุณ ซึ่งสาเหตุของการวิวาทมักเกิดขึ้นโดยไม่กี่กรณี ทาสหลบหนี เร่งเงินค่าไถ่ตัวจากทาส ทาสไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง หรือกระทั่งการลักทรัพย์ หึงหวง วิวาททั่วไป
ในทางกฎหมายใหม่ นางสาววงและหม่อมหญิงประวาศล้วนมีความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมโดยแลกเปลี่ยนระหว่างเงินและแรงงาน ซึ่งการทำร้ายกดขี่โดยนายจ้างล้วนเป็นการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญาปีพ.ศ. ๒๔๕๔ “แต่แนวทางพิจารณาคดียังคงยึดกฎหมายจารีต ที่ยึดโยงตามพระราชกระแสหรือความเห็นของกษัตริย์ ทำให้การฟ้องครั้งนั้นเป็นโมฆะ” เธอกล่าวด้วยสีหน้าเหนื่อยหน่าย
แม้จะเกิดการเปลี่ยนผ่านแนวคิดทางกฎหมายให้เป็นแบบตะวันตก แต่แนวคิดเหล่านั้นไม่ได้ถูกเปลี่ยนหรือแทนที่โดยทันที หากแต่ผ่านชนชั้นปกครองของไทยที่ทำการดัดแปลงและประนีประนอมกฎหมายสมัยใหม่เหล่านั้นให้สอดคล้องประเพณีของชนชั้นปกครองไทยให้มากที่สุด “ซึ่งการพิจารณาคดีส่วนใหญ่ที่มีโจทก์และจำเลยเป็นคนธรรมดากับชนชั้นปกครอง ก็มักจบลงด้วยการทำให้เป็นโมฆะโดยพระราชกระแสของกษัตริย์” อำแดงอธิบาย
“กฎหมายแบบตะวันตกที่ทำให้อำนาจรวมศูนย์ก็สร้างปัญหาเหมือนกัน เพราะว่าเจ้าหน้าที่ ๆ ถูกแต่งตั้งจากรัฐบาลกลางนั้นไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนในท้องถิ่นมากนัก ส่งผลให้เกิดการใช้อำนาจกดขี่ประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ การใช้อำนาจข่มขืนกระทำชำเราหญิงสาวจึงเกิดขึ้นอย่างบ่อย ๆ” อำแดงยกอีกหนึ่งตัวอย่างผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านทางกฎหมาย และข้อพิพาทเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะข้อราชการเหล่านี้ถือว่าเป็นตัวแทนของพระมหากษัตริย์
“ซึ่งประเด็นเรื่อง การยินยอม เป็นประเด็นที่ได้รับการกล่าวถึงในเกือบทุกคดี เพราะมันเป็นหลักสำคัญว่าการกระทำชำเราที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความผิดจริงหรือการสมยอม” เธอยกตัวอย่างข้อแก้ตัวยอดนิยมในชั้นศาล เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ฝ่ายชายมักกล่าวอ้างว่าฝ่ายหญิงสมยอม ขณะที่ฝ่ายหญิงก็กล่าวอ้างว่าเธอหาได้สมยอมไม่
ต้องเท้าความก่อนว่า ความยินยอม ได้แปรเปลี่ยนไปจาก “การยินยอมของผู้อุปถัมภ์” ไปสู่ “การยินยอมของปัจเจกชน” ตามนิยามของกฎหมายสมัยใหม่ หากแต่ตามกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. ๒๔๕๑ ที่สิทธิการไม่ยินยอมถูกจำกัดไว้เพียงบุคคลที่ไม่ได้เป็นสามีภรรยากันเท่านั้น เพราะตามมาตรา ๒๔๓ กล่าวไว้ว่า “ใครใช้อำนาจด้วยกายหรือวาจาขู่เข็ญกระทำชำเราหญิงที่ ไม่ใช่ภรรยาของตนจะถือว่าผู้นั้นกระทำชำเรา” ซึ่งนั่นทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ฝ่ายชายอ้างว่าตนเป็นสามีภรรยากับหญิงสาวคู่กรณีมากมาย
รวมไปถึงการข่มขืนกระทำชำเรามักเกิดขึ้นในที่ลับตาผู้คน หรือในช่วงเวลาที่ไร้ผู้คน ข้อพิพาทเรื่องการข่มขืนจึงปราศจากพยานรู้เห็น ทำให้การพิสูจน์การยินยอมยังคงขาดความชัดเจน “ซึ่งจากเหตุการณ์ที่ฉันเคยได้ยินได้ฟังมา
การตัดสินข้อพิพาทพวกนี้มักจะใช้เกณฑ์ใหญ่ ๆ อยู่สามอย่างคือ ระยะเวลา ชื่อเสียงของฝ่ายหญิง และความสัมพันธ์ระหว่างชายกับหญิง” อำแดงอธิบาย
ในข้อแรกเป็นความเชื่อว่าเมื่อเกิดเหตุกระทำชำเรา ฝ่ายหญิงจะต้องมาดำเนินการแจ้งความโดยทันที หรือแสดงอาการบางอย่างออกมาทั้งทางกาย วาจา การที่ฝ่ายหญิงไม่มีท่าทีดังกล่าวอาจอนุมานได้ว่าฝ่ายหญิงยินยอมให้ฝ่ายชายกระทำชำเรา ในข้อสอง การพิสูจน์ความยินยอมย่อมมีชื่อเสียงของฝ่ายหญิงมาประกอบการพิจารณา หากฝ่ายหญิงถูกกล่าวอ้างว่าเป็น “หญิงไม่ดี” ความน่าเชื่อถือของเธอก็ลดลงและคำให้การของฝ่ายหญิงจะถูกหักล้าง ส่วนข้อสาม เช่นเดียวกับที่กล่าวไปตอนแรกว่าหญิงที่ถูกกระทำชำเราจะต้องไม่ใช่ภรรยาของผู้กระทำ ทำให้ฝ่ายชายมักต่อสู้ว่าเขาและหญิงสาวเป็นสามีภรรยากันเพื่อให้ศาลเห็นว่าเป็นการยินยอม
“ดังสามข้อที่กล่าวไปข้างต้น จะเห็นได้ว่าไม่มีช่องทางใดเลยที่ให้ผู้หญิงได้สู้กลับ” อำแดงสรุปความถึงข้อพิพาททางชีวิตและร่างกายของหญิงสาว เช่นเรื่องราวของนางสาวใหญ่ที่ฟ้องกล่าวหาหลวงชำนาญชาติศักดา ว่าเขาได้ทำ
การวางยามึนเมาเพื่อกระทำชำเรานางสาวใหญ่ ซึ่งด้านหลวงชำนาญฯ ได้อ้างว่านางสาวใหญ่เป็นภรรยาของเขา
โดยยกพฤติกรรม เช่น พวกเขาทั้ง สองร่วมกันออกต้อนรับแขกที่มาบ้าน ทั้งสองเคยไปดูละครด้วยกัน หรือกระทั่งพานางสาวใหญ่ไปที่ ทำงานเพื่อพบปะกับเจ้านายหรือมิตรสหายอื่น ๆ
ทางด้านการพิจารณาคำร้อง ศาลเชื่อว่าหลวงชำนาญฯ ได้ทำการกระทำชำเรานางสาวใหญ่จริง หากแต่ขณะเกิดเหตุ นางสาวใหญ่ไม่อาจทราบได้ว่าหลวงชำนาญฯ กระทำสิ่งใดกับเธอบ้าง เพราะฤทธิ์ยามึนเมาทำให้นางสาวใหญ่อยู่ในสภาพ “วิกลจริต” รวมถึงเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านมานานกว่าสามปีแล้ว ทำให้ยากต่อการสืบหาสารที่หลงเหลือ จึงไม่มีมูลมากพอที่จะฟ้องหลวงชำนาญฯ ให้เป็นคดีอาญา แม้จะเห็นได้ถึงความพยายามของศาลที่ให้ความสำคัญกับการค้นหาพยานหลักฐาน แต่ช่องทางสู้กลับของฝ่ายหญิงกลับยังไม่มากพอ
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ อาจกล่าวได้ว่าการสำรวจประวัติศาสตร์เป็นการก่อร่างหาคำตอบบางอย่างกับข้อพิพาทในสังคม
ใน รักนวลสงวนสิทธิ์ ของ ภาวิณี บุนนาค อาจกล่าวได้ว่าเธอได้ไขข้อข้องใจบางอย่างเกี่ยวอำนาจความเป็นชายว่าถือกำเนิดและดำรงอยู่ในสังคมด้วยสถานะของ “อำนาจอิศระ” ที่ยังคงสืบสานมรดกความคิดแบบสังคมจารีตมาสู่สังคมสมัยใหม่ได้อย่างเนียบเนียน
ทว่าอำนาจอิสระไม่ใช่สิ่งเดียวที่วิวัฒนาการ “สำนึกปัจเจกชน” ยังเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่วิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง จนกลายมาเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สั่นคลอนโครงสร้างแห่งความเป็นชาย และตั้งคำถามจนเหล่าผู้ถือครองอำนาจอิสระจนหลังร้อนกันอยู่ ณ ขณะนี้
หนังสือ: รักนวลสงวนสิทธิ์
ผู้เขียน: ภาวิณี บุนนาค
สำนักพิมพ์: มติชน
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี