ไม่ใช่ทุกครั้งที่ข้อเรียกร้องของแรงงานจะเสียงดังและถูกช่วงชิงความหมายในทางการเมืองโดยเฉพาะในโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้ง 2566 ซึ่งก่อนหน้านี้หลายพรรคเกทับ ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต้อง 600 บาทภายในปี 2570 บางพรรคก็ประกาศจะเพิ่มทันที 450 บาทต่อวัน ทำให้เมย์เดย์ปีนี้ต้องกลับมาทบทวนประเด็นค่าแรงขั้นต่ำของไทยที่ไม่ได้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกปีและถึงแม้จะมีการขึ้นค่าแรงก็แค่หลักหน่วยไปจนถึงหลักสิบ โดยในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา มีการขึ้นค่าแรงแบบก้าวกระโดดสูงสุดในยุคของรัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ขึ้นจาก 215 บาทต่อวัน ไปเป็น 300 บาทต่อวัน
ขณะที่การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 2565 ก็เป็นการขึ้นค่าแรงในรอบ 2 ปีนับจากปี 2563 โดยปรับขึ้น 5.02% เป็น 328-354 บาท คำถามที่น่าสนใจคือ ค่าแรงขั้นต่ำที่เหมาะสมควรอยู่ที่เท่าไร หรือถ้าจะไปถึง 600 บาทนั้นการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเท่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จะทำอย่างไรให้ธุรกิจรายเล็กที่รายได้เพิ่มไม่มากเท่าการเติบโตของจีดีพีขยับขึ้นค่าแรงตามได้ด้วย
De/code พูดคุยกับ ดร.กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ อาจารย์จากภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรในฐานะหัวหน้าคณะทำงานพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาค่าจ้างแรงงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีอีกฟากฝั่งของ มาณิชย์ กุลโพนเมือง แรงงานนอกระบบในสายงานช่างเทคนิค ที่มีประสบการณ์ตรงกับการจ้างและค่าแรงที่ทำให้เขาตั้งคำถามว่า ทำไมทำงานหนักแลกค่าแรง แต่เงินก็ยังไม่พอใช้อยู่ดี
แรงงาน นายจ้าง รัฐบาลที่ยังไปไม่ถึงความเสมอภาค
ดร.กฤษฎา มองว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำตามภาวะเศรษฐกิจอาจไม่ทำให้ค่าแรงขึ้นได้จริง แต่ต้องมีอำนาจต่อรองได้จริงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง และรัฐเป็นคนกลาง แต่ในความเป็นจริง แรงงานก็ไม่ได้มีสิทธิ์ มีเสียงอย่างเสมอภาค เพราะบางครั้งรัฐเองก็วางบทบาทอยู่ข้างนายจ้างมากกว่าลูกจ้าง ทำให้การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ไม่ใช่เพียงแค่การปรับตามภาวะเศรษฐกิจ แต่อำนาจในการต่อรองของทั้งสามฝ่ายควรเสมอภาคกันด้วย
โดยหากไปมองตัวอย่าง เช่น เวลาลูกจ้างไม่พอใจกับค่าจ้างดังกล่าว ก็มักออกมาหยุดงานประท้วง สุดท้ายรัฐกับฝ่ายนายจ้างก็ต้องมาเจรจาหาข้อตกลงกัน ซึ่งสิ่งดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำไม่ใช่เพียงส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจ แต่เป็นส่งเสริมด้านสวัสดิการด้านสังคม ซึ่งนอกจากค่าแรงขั้นต่ำนั้นจะต้องคำนึงถึงภาวะทางเศรษฐกิจ เพื่อให้สัมพันธ์กับรายจ่าย และยังต้องมองในการหาอัตราค่าแรงขั้นต่ำด้วยการเจรจาจากทั้งฝ่ายลูกจ้างและนายจ้าง
“หลักของการเจรจา คือ ทำยังไงให้แรงงานอยู่ได้และธุรกิจสามารถไปด้วยกันได้”
และในประเด็นไตรภาคี 3 ฝ่าย ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐ ซึ่งหากมองขยายไปในฝ่ายของลูกจ้าง ก็จะมีสหภาพแรงงาน ซึ่งในไทยมีสหภาพแรงงานที่จดทะเบียนประมาณ 30 กว่าจังหวัดต่อ 77 จังหวัด แต่สหภาพแรงงานที่มีอำนาจต่อรองกับคณะกรรมการค่าจ้างระดับจังหวัดมีไม่เกิน 9 จังหวัด และในบางทีตัวแทนสหภาพแรงงานก็ไม่ได้มาจากแรงงานจริง ๆ หรือก็ถูกซื้อตัวจากนายจ้างไปแล้ว ทำให้สุดท้ายอำนาจของสหภาพแรงงานในการต่อรองในเรื่องต่าง ๆ ก็เหลือน้อยลงจนแทบไม่มีสิทธิ์เสียงในการกำหนดค่าแรงของตน
“สิ่งที่ดูได้ดีที่สุดคือค่าครองชีพของประชาชน และต้องใช้ข้อมูลทั้งจากภาครัฐและภาคประชาชนในระดับท้องถิ่นด้วย”
หากคิดจากค่าครองชีพของประชาชนจากรายงานผลการพิจารณาศึกษาเรื่อง “การสำรวจค่าครองชีพของแรงงาน : ข้อเสนอการยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำและมาตรฐานการดำรงชีพที่มีคุณค่า” ของคณะทำงานพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาค่าจ้างแรงงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน คณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 โดยผู้เขียนจะหยิบยกค่าเฉลี่ยของค่าครองชีพ สำหรับประชากรในช่วงอายุ 18-34 ปีต่อเดือน ดังนี้
ค่าสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ
ค่าน้ำประปา 294 บาท
ค่าไฟฟ้า 1,083.50 บาท
ค่าจัดการขยะ 136.75 บาท
ค่าจอดรถ 593.25 บาท
ค่าดูแลรักษาหรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัย 777.25 บาท
ค่าอินเตอร์เน็ตติดตั้งภายในบ้าน 694.25 บาท
ค่าเดินทางโดยสาร
ค่ารถโดยสารสาธารณะ 1,005.25 บาท
ค่าเชื้อเพลิงรถจักรยานยนต์ 706.25 บาท
ค่าสนับสนุนครอบครัว
ค่าดูแลบุพการี/ครอบครัว/ญาติ 4,280.25 บาท
ค่าใช้จ่ายส่วนตัวด้านอื่น
ค่าเครื่องนุ่งห่ม 1,179.50 บาท
ค่าบริการโทรศัพท์ 662 บาท
ค่าสมทบเงินประกันสังคม 629.75 บาท
ค่างานบุญ งานสังคมต่าง ๆ 419 บาท
ค่าสินค้าอุปโภคในชีวิตประจำวัน 1,211.50 บาท
ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและเวชภัณฑ์
ยารักษาโรคและบริการทางการแพทย์ 929.25 บาท
หน้ากากอนามัย 265 บาท
เจลแอลกอฮอล์ 233.75 บาท
อุปกรณ์ตรวจโควิด 412.25 บาท
ยังมีค่าอาหารไม่ต่ำกว่า 178 – 181 บาทต่อวันที่จะนำไปคำนวณค่าครองชีพ โดยจากข้อมูลดังกล่าว ดร.กฤษฎา ได้คำนวณค่าครองชีพของคนในช่วงอายุ 18 – 34 ปี พบว่า มีค่าครองชีพรวมเป็นจำนวน 21,503.50 – 23,502.50 บาทต่อเดือน ซึ่งเมื่อเทียบกับรายได้ของคนช่วงวัยนี้ที่ 18,856 บาทต่อเดือน ทำให้สัดส่วนที่แตกต่างระหว่างรายได้และรายจ่ายอยู่ที่ร้อยละ -19 ถึง – 20 ซึ่งเมื่อเทียบกับค่าครองชีพจริง ๆ นั้น เรียกได้ว่า ชีวิตคนโดยเฉลี่ยก็มีค่าจ้างเพื่อการดำรงชีวิตที่ติดลบไปแล้ว
ดังนั้นหากพิจารณาจากรายได้ที่ควรได้รับให้สอดคล้องกับการดำรงชีวิตได้อย่างมีมาตรฐานผ่านกรอบแนวคิดค่าจ้างเพื่อการดำรงชีวิตสำหรับคนในช่วงอายุ 18 – 34 ปี ควรมีค่าจ้างไม่ต่ำกว่า 717 – 783 บาทต่อวัน หรือ 21,510 – 23,490 บาทต่อเดือน โดยมีหนึ่งในหลักการคิดในการคิดค่าจ้างดังกล่าวมาจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากสิทธิมนุษยชนในการดำรงชีวิตอยู่ จึงไม่สามารถมองได้แค่มุมมองทางด้านการคุ้มทุนทางเศรษฐกิจ แต่ต้องมองในหลักสิทธิมนุษยชนสำหรับการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน
ผู้ประกอบการรายเล็กกับคลื่นลูกใหญ่ของการ ‘ขึ้นค่าแรง‘
อย่างที่ ดร.กฤษฎา เคยได้กล่าวไว้เกี่ยวกับอำนาจในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐ ซึ่งในฝั่งของนายจ้างหรือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะรายเล็ก ก็มักจะบอกว่า พวกเขาเป็นคนได้รับผลกระทบในการขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำค่อนข้างมาก แล้วแบบนี้เราควรทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนพร้อมกับแรงงาน
“ผู้ประกอบการรายเล็กไม่ได้มีทางเลือกอะไรมากมายขนาดนั้น ได้รับกระทบแน่นอน แต่รัฐต้องมีมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการรายเล็ก หรือมาตรการทางภาษี”
โดย ดร.กฤษฎา ยกตัวอย่างโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ โดยภาครัฐและเอกชน เพื่อลดอัตราการว่างงานในช่วงโควิด นโยบายดังกล่าวได้มีการอุดหนุนค่าจ้างไม่เกิน 7,500 บาท ต่ออัตราค่าจ้างระดับปริญญาตรีที่มีค่าจ้างไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท โดยจะอุดหนุนในระยะเวลา 1 ปี ดร.กฤษฎาได้เพิ่มเติมข้อเสนอว่า ควรที่มีเงื่อนไขในการรับจ้างพนักงานต่ออีกครึ่งปีหรืออีก 1 ปี เพื่อให้การอุดหนุนค่าจ้างดังกล่าวสามารถกระตุ้นการจ้างงานได้ในระยะเวลายาว หรือหากรัฐต้องการอุดหนุนผู้ประกอบรายเล็กด้วยมาตรการลดอัตราภาษี ก็ควรทำให้ผู้ประกอบการเหล่านั้นเห็นถึงประโยชน์เหล่านั้นจริง ๆ เช่น การสร้างความไว้วางใจในข้อมูลส่วนตัวของผู้ประกอบการ การแสดงให้เห็นถึงผลประโยชน์ในการเข้าสู่ระบบการเก็บภาษีสำหรับผู้ประกอบการรายเล็ก เป็นต้น
ยกเครื่องค่าจ้างให้แรงงานนอกระบบ
“ตู้เสื้อผ้าเมตรละ 6,500 บาท ราคาผู้รับเหมาค่าแรง หนึ่งวันผมจะทำตู้ให้นายจ้างผมประมาณ 4-5 เมตร หมายความว่า ผมสามารถทำรายได้ให้นายจ้างประมาณ 30,000 บาทต่อวัน แต่ผมได้รับค่าจ้างแค่วันละประมาณ 400 กว่าบาท” จากสิ่งที่มาณิชย์พูด สะท้อนถึงอัตราค่าจ้างที่ไม่สอดคล้องกับจำนวนรายได้ที่ควรได้รับ และในบางทีอัตราค่าจ้างของแรงงานนอกระบบก็ไม่เสถียรขนาดนั้น ไม่ได้มีการกำหนดอัตราค่าจ้างสำหรับแรงงานนอกระบบที่สมควรได้รับอย่างชัดเจน
ซึ่ง ดร.กฤษฎา เสนอ “ควรจะต้องมีอัตราราคาสำหรับการจ้างงานอิสระที่เป็นมาตรฐานตามแต่ละสายงาน เช่น งานรับจ้างเล่นดนตรี ต้องมีอัตราค่าจ้างแต่ละสายงานที่ชัดเจน ไม่ใช่เป็นการจ้างฟรี ๆ เพื่อชื่อเสียง หรือแลกเปลี่ยนกับเครื่องดื่มเพียงเล็กน้อย ซึ่งมันต้องจ่ายค่าเดินทางไหม มันควรได้ค่าตอบแทนเป็นเงิน ดังนั้นควรจะมีหน่วยงานที่ต้องเข้ามากำกับและควบคุมอัตราค่าจ้างให้สมเหตุสมผลมากกว่านี้”
นอกจากนี้ในบางครั้งที่แรงงานนอกระบบต้องการใช้เงินก้อนใหญ่ ก็เป็นเรื่องยากที่พวกเขาจะสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ เนื่องจากอัตราค่าจ้างต่อเดือนและเงื่อนไขต่าง ๆ ทำให้แรงงานนอกระบบก็ยากที่จะเข้าถึงบริการทางเงินต่าง ๆ ผลสุดท้ายแรงงานก็อาจต้องยอมจำนองที่ดินให้กับนายจ้าง เพื่อให้ได้เงินกู้ ซึ่งมันก็สะท้อนถึงว่า นอกจากที่ลูกจ้างโดนกดค่าแรงไม่พอ แต่ยังต้องเสียที่ดินหรือสินทรัพย์ต่าง ๆ เพื่อกู้เงินสำหรับการไปดำรงชีวิตหรือในยามวิกฤตกับนายจ้าง
“สังคมแบบไหนที่มันกดขี่กันจนย่อยยับขนาดนี้ แรงงานไม่สามารถมีรายได้เพียงพอที่จะเกษียณได้ ขณะที่นายจ้างยังคงรวยอยู่ฝ่ายเดียว” มาณิชย์ กล่าว
ส่งเสริมคุ้มครอง หรือ กีดกันแบ่งแยก
ดร.กฤษฎา เคยได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ ที่มีเนื้อหาบางส่วนที่สร้างความคลุมเครือให้กับการจัดตั้งองค์กรแรงงานอิสระ โดยการรวมตัวของกลุ่มแรงงานอิสระ 15 แห่งขึ้นไป หากพิจารณาจากร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว อาจสร้างให้เกิดการรวมกลุ่มของแรงงานในกลุ่มเดียวกันที่ถูกแยกเป็นคนละประเภท นอกจากจะทำให้เกิดการรวมตัวได้ยากขึ้นแล้ว และการจัดตั้งกลุ่มแรงงานอิสระถึง 15 กลุ่ม และการจัดตั้งเป็นองค์กรการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานอิสระ ตามมาตรา 49 ในหมวด 5 ว่าด้วยเรื่องคณะกรรมการดังกล่าวคัดเลือกจากผู้แทนขององค์กรแรงงานอิสระ มีจำนวนไม่เกิน 6 คน แต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
ทำให้มีความเป็นได้ว่า หากแรงงานนอกระบบในกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล อาจไม่สามารถจัดตั้งกลุ่มและขยายเป็นองค์กรได้ เพราะต้องอาศัยอำนาจของปลัดกระทรวงแรงงาน และยิ่งไปกว่านั้นตัวแทนจากองค์กรแรงงานที่ถูกเลือกจากกระทรวงแรงงาน ก็อาจไม่ใช่ตัวแทนของแรงงานอิสระอย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้เมื่อดูตามข้อบังคับตามมาตราดังกล่าวที่ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งตัวแทนผู้จ้างงานไม่เกิน 2 คน และองค์กรแรงงานอิสระไม่เกิน 4 คน เป็นกรรมการ
นอกจากนี้ยังมีตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกิน 3 คน ด้วยการแต่งตั้งจากรัฐมนตรี ซึ่งเมื่อเทียบสัดส่วนแล้วผู้แทนจากแรงงานอิสระ ทำให้แรงงานอาจไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจขนาดนั้น สุดท้ายแรงงานอิสระก็อาจไม่ได้รับประโยชน์ที่ต้องการจริง ๆ
ท้ายที่สุด ดร.กฤษฎาทิ้งท้ายถึงเรื่องการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำที่จะทำให้แรงงานสามารถมีชีวิตทั้งเลี้ยงชีพ เติมเต็มความฝัน และสามารถรับมือกับวิกฤตต่าง ๆ ได้ว่า
“วางแผนครอบครัว วางแผนการมีลูก วางแผนการไปศึกษาต่อ การไปเที่ยวต่างประเทศ การไปซื้อของอยากซื้อ สิ่งเหล่านี้มันเป็นความฝันของคนทั่วไป ทุกคนอยากจะมีความเป็นอยู่ที่ดีสูงกว่ามาตรฐาน ไม่มีใครอยากอยู่พอดีกับมาตรฐานแบบคาบเส้น แต่ในทุกวันนี้เราไม่มีเวลาไปพบปะสังสรรค์กัน วันหยุดเราก็ต้องไปนั่งซักผ้ากัน ทำงานบ้านกัน หรือบางคนก็ต้องทำงานเสริมในวันหยุด เราถึงต้องทำอย่างไรให้ชีวิตทุกคนมีเวลาใช้ชีวิตมากขึ้น นอกจากใช้เวลาไปกับการทำงานหนัก ๆ”
อ้างอิง