ไม่มีสนามเด็กเล่นในชายหาด มีแต่พาร์ทไทม์และฟูลไทม์ในสนามแรงงานเด็กบังคลาเทศ - Decode
Reading Time: 6 minutes

ภายนอก | ริมชายหาดค๊อกซ์ บาซา(Cox’s Bazar) บังกลาเทศ | บ่าย | ผู้คนพลุกพล่าน 

ภาพปกติช่วงสุดสัปดาห์ที่หาด Cox’s Bazar ประเทศบังกลาเทศ คือ ความจอแจ และคราคร่ำด้วยผู้คนที่เดินทางมาท่องเที่ยวพักผ่อนริมชายหาดที่กว้าง และยาวที่สุดในโลก ผู้คนเซลฟี่บันทึกความทรงจำ พาลูก ๆ ลงเล่นน้ำ กลุ่มวัยรุ่นคุยเล่นเจี๊ยวจ๊าวตามประสา มีเก้าอี้ชายหาดเรียงเป็นแถวยาวให้ผู้มาเยือนนั่ง ๆ นอน ๆ รับลมเย็น ๆ ชมภาพทะเลกว้างตรงหน้า 

ระหว่างช่วงเวลาริมชายหาด สิ่งหนึ่งที่ดูปกติธรรมดา ไปจนถึงขั้นชินตา นั่นคือ เหล่าบรรดาคนขายของไซส์มินิ เด็กตัวเล็ก ๆ ไปจนถึงเด็กโตที่ถือข้าวของในมือไม่ซ้ำกัน ตั้งแต่น้ำดื่ม ไข่ต้ม กาแฟ กล้วย ว่าว ดอกไม้ สร้อยเปลือกหอย ขนมกรุบกรอบ ลูกโป่ง และของเล่นเด็ก พวกเขามีจำนวนพอ ๆ กับคนขายที่เป็นผู้ใหญ่ เด็ก ๆ เดินตามที่นั่งริมหาด เสนอของที่พวกเขาขาย บ้างขายได้ บ้างก็ถูกปฎิเสธ เป็นธรรมดา

และเมื่อคนนอกอย่างเราพูดถึงแรงงานวัยเด็ก หรือ child worker/child labour กับคนท้องถิ่น พวกเขาต่อบทสนทนาไม่ยาวมากนัก

“We don’t call them child labour. We call it’s ‘a reality of life.’”
(เราไม่เรียกเขาว่าแรงงานเด็ก เราเรียกว่าความจริงของชีวิต)

—นี่อาจเป็นในประโยคบอกว่าคนที่นี่คิดอย่างไรเมื่อเห็นเด็กทำงานแบบนี้

“ไม่ใช่ว่าเขา (พ่อแม่/ผู้ปกครอง) มีทัศนคติที่ผิด หรือไม่ถูกต้องนะครับ เพียงแต่เขามองเห็นความเป็นไปได้ของชีวิตแค่นั้น เมื่อไม่สามารถส่งลูกไปเรียนได้ และอีกไม่นานลูกก็จะเป็นแบบฉันแบบนี้แหละ ทำไมไม่ส่งไปทำงานตั้งแต่ตอนนี้เลยล่ะ? บางบ้านยังมีความคิดว่า more children, more earning ยิ่งมีลูกมาก รายได้ก็จะมากขึ้นด้วย ตรงนี้มันจำเป็นต้องทำงานกับพ่อแม่ด้วย” — อับดุลลา อาลี มามูน (Abdulla Ali Mamun) ผู้อำนวยการด้านสิทธิเด็กและการคุ้มครองเด็ก จากองค์กร Save The Children ประเทศบังกลาเทศ

การทำงานช่วยเหลือครอบครัวไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป แต่อะไรคือเส้นแบ่งว่า นี่คือรูปแบบการเป็นแรงงานเด็ก (Forced Child Labor) ที่ทำให้เด็กต้องเผชิญความเสี่ยงต่อชีวิต/จิตใจ และการเติบโต หนึ่งในสาเหตุที่แน่นอนคือความจน และสถานะทางเศรษฐกิจของผู้คน แต่ปัญหาแรงงานเด็กของบังกลาเทศนั้นมีปัจจัยซ้อนทับมากกว่านั้น ตั้งแต่การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ วัฒนธรรม ค่านิยม และทัศนคติความคิด รวมถึงปัจจัยอย่างภัยพิบัติก็เข้ามามีบทบาทแบบผสมผสานกัน จนผลักให้เด็กทำงานเฉลี่ยมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน แลกค่าแรงที่ถูก และไร้หลักประกันความปลอดภัย

แรงงานเด็กที่นี่ เป็นฉากชีวิตจริงบนทางเลือกที่ถูกกำหนดไว้เแล้ว De/code คุยกับเด็ก ๆ ที่มาขายของตามชายหาด และทำงานในพื้นที่อื่นของเมือง ถามความเห็นคนท้องถิ่น ซึ่งก่อนหน้าโควิด-19 The US Deparment of Labor ระบุว่าบังกลาเทศมีพัฒนาการดีขึ้นในการลดจำนวนแรงงานเด็ก แต่กฎหมายยังไม่เข้มแข็งพอมากพอ ขณะที่ผู้อำนวยการด้านสิทธิเด็กและการคุ้มครองเด็ก จากองค์กร Save The Children ประเทศบังกลาเทศ บอกว่า ช่วงโควิด-19 จนถึงวันนี้กำลังทำให้เด็กหลายคนร่วงหล่นอีกครั้ง

ไม่มีสนามด็กเล่นที่ชายหาด มีแต่สนามชีวิต…ของจริง

หลังจ่ายเงิน 60 BTD (20 บาท) เพื่อที่นั่งริมชายหาด ไม่ถึง 10 นาที แม่ค้ารายแรกก็”เข้ามาเสนอสินค้า เธอชื่อ “จัสมิน” ดูจากขนาดตัว และระดับที่เรียนอยู่คืออนุบาล เธอน่าจะอายุประมาณ 4-5 ขวบ แต่จัสมินบอกว่าเธออายุ 10 ขวบแล้ว วันนี้เธอขายน้ำดื่มที่รับมาจากเถ้าแก่ซึ่งเปิดร้านค้าอยู่แถว ๆ ชายหาด ได้ส่วนแบ่งขวดละ 5 BTD (ประมาณ 1.7.-1.8 บาท) จากค่าน้ำขวดละ 20 BTD (ประมาณ 6-7 บาท) ถึงตอนที่คุยกันจัสมินขายได้แล้ว 12 ขวด วัน ๆ นึง ถ้าได้ประมาณ 200 BTD (60-70 บาท) ก็ถือว่าพอใจ จัสมินเริ่มงานนี้มาหลักปี ใช้เวลาหลังโรงเรียนเลิก ตั้งแต่เที่ยงไปจนถึงประมาณ 2 ทุ่ม ทุกวันไม่มีวันหยุด พี่ชายของเธออีก 2 คนก็มาขายของอยู่ที่หาดเช่นกัน 

ก่อนจะรับน้ำดื่มมาจากจัสมิน เราสังเกตรอยแผลบนฝ่ามือของเธอหลายจุด สอบถามว่าเกิดอะไรขึ้น เธอบอกว่า เกิดจากช่วงหน้าหนาวที่ผ่านมา ขณะที่คนข้าง ๆ อธิบายว่า อาจเกิดจากความสะอาดที่ไม่มากพอ คนยากจนที่นี่เป็นกันเยอะ โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาว 

เด็กเรือนล้านเป็นแรงงาน ภาพชินตาที่ไม่อยากให้ชินชา

กฎหมายเกี่ยวกับแรงงานเด็กในบังกลาเทศระบุว่า หากเด็กอายุ 5-14 ปีทำงาน จะถือว่าผิดกฎหมาย แต่หากอายุ 14 ปีขึ้นไป จะไม่เรียกว่าแรงงานเด็กแล้ว แต่จะใช้คำว่าแรงงานหนุ่มสาวแทน (Adolescence Labor) สามารถทำงาน (Light Work) ได้ทุกประเภทยกเว้น 43 ประเภทที่ถูกระบุไว้ว่าเป็นงานอันตราย เช่น งานเหมือง งานที่เกี่ยวกับเครื่องจักร เกี่ยวกับความเย็น/ความร้อน เพราะสุ่มเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ/โรค และเสียชีวิต เป็นต้น ขณะที่งาน Domestic Work หรืองานในบ้าน ซึ่งมีเด็กผู้หญิงทำเป็นส่วนใหญ่ และมีความเสี่ยงต่อการถูกทำร้าย ล่วงละเมิดทางเพศ ถูกค้ามนุษย์ เกี่ยวพันยาเสพติด หรือถูกกดขี่ในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในบริบทที่เข้าถึงความช่วยเหลือยาก กลับไม่ถูกนับเป็นอันตราย

ขณะที่ตัวเลขแรงงานเด็กที่มีการสำรวจแบบเป็นทางการคือ เมื่อปี 2013 ตอนนั้นมีการบันทึกไว้ว่า มีแรงงานเด็กประมาณ 1.7 ล้านคน ซึ่งมี 1.3 ล้านคนทำงานในกลุ่มอันตราย ซึ่งตัวเลขนี้ลดลงเกือบครึ่งหนึ่งจากปี 2003 ที่มีจำนวนแรงงานเด็กมากถึง 3.2 ล้านคน ขณะที่ประเภทงานที่เด็กเข้าไปทำมากที่สุด คือ ในภาคเกษตรกรรม และสิ่งทอ และอยู่ในพื้นที่ชนบท/เมือง และสถานที่ท่องเที่ยว 

“ถามว่าช่วง 10 ปีนี้มันดีขึ้นไหม มันถือว่าดีขึ้น มีพัฒนาการ แม้จะไม่ได้หมดไปก็ตาม แต่พอช่วงโควิด-19 ก็กลับมาแย่ลงอีกครั้ง มีเด็กออกจากโรงเรียนมากขึ้น พ่อแม่ และผู้คนยากจนลง และตกไปอยู่ใต้เส้นความยากจน ซึ่งบังกลาเทศมีประชากรที่อยู่ในเส้นความยากจนประมาณ 1ใน 5 ของจำนวนประชากร  World Bank ระบุว่า เส้นความจนของบังกลาเทศพิจารณาจากความสามารถในการใช้จ่าย หากต่ำกว่า 60.6 BDT ต่อวัน ถือว่าเป็นกลุ่มประชาชนยากจน โควิดเป็นหนึ่งในตัวเร่งที่ทำให้จำนวนแรงงานเด็กเข้าสู่ระบบ ซึ่งรายงานจำนวนตัวเลขที่สำรวจใหม่ปี 2022 (แต่ยังไม่เผยแพร่) คือ จาก 1.7 ล้านคนกระโดดมาเป็น 1.8 ล้านคนแล้ว”

อับดุลลา อาลี มามูน (Abdulla Ali Mamun) ผู้อำนวยการด้านสิทธิเด็กและการคุ้มครองเด็ก จากองค์กร Save The Children ประเทศบังกลาเทศ

บอกว่า จำนวนแรงงานเด็กในบังกลาเทศที่ถูกรายงานอย่างเป็นทางการ “ไม่ใช่” จำนวนที่เกิดขึ้นจริงทั้งหมด เป็นเพียงจำนวนที่สามารถระบุตัวตนและที่มาได้เท่านั้น เพราะเด็กส่วนใหญ่ทำงานแบบไม่ทางการ (informal work) มากที่สุด คือ ตามร้านรวงต่าง ๆ อย่างที่จัสมินทำ หรือร้านที่มีบริการเล็ก ๆ เช่น ร้านซ่อมรถ ขายเสื้อผ้า ขายของฝาก เป็นต้น ร้านเล็ก ๆ เหล่านั้นไม่ต้องลงทะเบียนค้าขายอย่างถูกต้อง หรือลงทะเบียนแต่ก็ไม่ได้ถูกตรวจสอบจริงจัง นอกจากนี้ไม่มีช่วงเวลาทำงานแน่นอน ไม่มีการควบคุม ขณะที่ Save The Children คาดการณ์ว่าอาจมีอีกกว่า 5 แสนคนที่เป็นแรงงานเด็กในบ้าน ซึ่งไม่ทางการไม่อาจรับรู้ได้เลย 

สิ่งที่ทำให้เด็กเรือนล้านเข้าสู่การเป็นแรงงาน (เต็มเวลา) ตั้งแต่อายุยังน้อย คือ ความยากจน และสวัสดิการทางสังคม ที่ไม่เอื้อให้ทั้งครอบครัว และเด็กได้ใช้ชีวิตตามช่วงวัย มันเป็นปัจจัยที่ทำให้พวกเขาจำเป็น “ต้องเลือก” ทางใดทางหนึ่งเท่านั้น คือ ถ้าไปโรงเรียนก็ไม่มีเงินพอจ่ายค่าเทอม แม้รัฐบาลจะมีสวัสดิการสำหรับเด็กยากจน คือ อาหารและหนังสือฟรีก็ตาม แต่พวกเขาต้องจ่ายส่วนอื่น เช่น ค่ารถ ค่าขนม ค่าชุดนักเรียน หรือถ้าอยากได้เงินก็จะไม่ได้ไปโรงเรียน

ค่าแรงค่าจ้างทั่วไปที่เด็กส่วนใหญ่จะได้รับอยู่ที่ประมาณเดือนละ 3,000 BTD (1,000 + บาท) แต่หากได้เป็นกระเป๋ารถเมล์บ้าง หรือผู้ช่วยคนขับรถเมล์ ซึ่งถือว่าเป็นงานที่ได้เงินดี ในความคิดของเด็กๆ คือ ราว ๆ 15,000 BTD (3-4,000 บาท) พอ ๆ กับรายได้ในวงการทอผ้า หรืออุตสาหกรรมสิ่งทอ โรงงานเย็บเสื้อผ้า ส่วนชั่วโมงการทำงานนั้น ขึ้นอยู่ว่างานนั้นคืออะไร เท่าที่สำรวจมา 10-12 ชั่วโมงต่อวัน และหากนับเวลาตั้งแต่ตื่นจนกลับบ้านของเด็ก ๆ มันกินเวลามากถึง 14-16 ชั่วโมงต่อวัน 

ชั่วโมงการทำงานของจัสมินอยู่ที่ 8 ชั่วโมงต่อวัน หลังเลิกเรียน ไม่อาจรู้ได้ว่านี่เรียกว่างานพาร์ทไทม์ หรือฟลูไทม์และระหว่างการเรียน และการงานอะไรคือสิ่งหลักที่ต้องทำสำหรับเด็กวัยนี้ 

จัสมินเล่าว่า พ่อแม่เธอไม่ได้ทำงาน พวกเขามีลูกทั้งหมด 7 คน จัสมินเป็นคนเล็กสุด และพี่น้อง 7 คนทำงานทุกคน คนท้องถิ่นที่ไปด้วยกัน อธิบายว่ายังมีหลายบ้านที่มีค่านิยมว่าจะมีลูกเยอะ ๆ เพื่อให้ลูกออกมาทำงาน โดยที่พ่อแม่ก็ไม่ได้ทำอะไร แต่จะคอยควบคุม หรือทำงานแต่รายได้หลักคือจากการทำงานของลูก ๆ 

“เวลาพูดถึงค่าแรง ไม่ว่าจะได้เยอะ หรือน้อยก็ไม่ใช่เรื่องดีทั้งนั้น เพราะไม่มีการกำหนดจากกฎหมายด้วยว่าเด็ก ๆ ต้องได้เท่าไหร่เป็นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะทั้งหมดนั้นผิดกฎหมาย” มามูนกล่าว 

แม้ผิดกฎหมาย แต่ประชาชนก็พร้อมละเมิดกฎหมายข้อนี้ เพราะมันมีสิ่งที่อยู่ข้างหลังความยากจนอีกหนึ่งชั้น นั่นคือวัฒนธรรมและทัศนคติของผู้ปกครองที่มองอนาคตการทำงานของเด็ก และการศึกษาในมุมที่แตกต่างจากมุมมองกระแสหลัก และพ่อแม่เองคือคนที่อาจเรียกได้ว่าเป็นคนส่งลูกไปทำงาน 

“ไม่ใช่ว่าเขา (พ่อแม่/ผู้ปกครอง) มีทัศนคติที่ผิด หรือไม่ถูกต้องนะครับ เพียงแต่เขามองเห็นความเป็นไปได้ของชีวิตแค่นั้น เมื่อไม่สามารถส่งลูกไปเรียนได้ และอีกไม่นานลูกก็จะเป็นแบบฉันแบบนี้แหละ ทำไมไม่ส่งไปทำงานตั้งแต่ตอนนี้เลยล่ะ? บางบ้านยังมีความคิดว่า more children, more earning ยิ่งมีลูกมาก รายได้ก็จะมากขึ้นด้วย ตรงนี้มันจำเป็นต้องทำงานกับพ่อแม่ด้วย”

นั่นคือมุมมองหนึ่งของพ่อแม่ อีกหนึ่งมุมมอง ในภาพเดียวกันก็อธิบายได้ถึงความขาดพร่องของสวัสดิการรัฐ และสังคมที่จะช่วยดูแลเด็ก ๆ โดยเฉพาะเมื่อพ่อแม่เองก็ต้องทำงาน มามูนเล่าว่า พ่อแม่ไม่อาจทิ้งลูกไว้ในพื้นที่เสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิด ทำร้ายร่างกาย หรือเข้าไปยุ่งกับยาเสพติด คือ เอาลูกไปฝากไปที่ร้านค้า/สถานประกอบการต่าง ๆ ที่เน้นทักษะ (skill based) เช่น งานช่าง งานปัก งานซ่อมต่าง ๆ เพราะเห็นว่า ทักษะพวกนี้ติดตัวเด็กเพื่อทำมาหากินได้ในอนาคต ทดแทนการไม่ได้ไปเรียน

“พวกเขาใช้ชีวิตวัยเด็กแบบนั้น” 

“การเอาไปฝาก Day Care หรือส่งไปโรงเรียน ที่จะเลิกประมาณ 14.00 น. เป็นเรื่องยากสำหรับพ่อแม่ที่ทำงานเลิกหกโมงเย็น หรือหนึ่งทุ่ม และพวกเขาไม่กล้าจะฝากลูกหลานไว้ที่บ้าน ซึ่งพวกเขาเหล่านี้อยู่ในสลัม และพื้นที่เปราะบางอย่างค๊อกบาซานั้น มีทั้งปัญหายาเสพติด และการค้าบริการที่เข้มข้น เด็ก ๆ ก็จะมีความเสี่ยงตรงนี้ด้วย ซึ่งเมื่อเด็กไปทำงานกับร้านค้าต่าง ๆ แล้วมีเปอร์เซ็นต์น้อยมาก ๆ ที่จะไปโรงเรียนด้วย คือ มีเพียง 1-2% เท่านั้น เห็นได้ว่าปัญหาหนึ่งเกิด ทางออกหนึ่งก็ถูกนำมาใช้ แล้วก็เกิดปัญหาใหม่ขึ้นมาอีก”

เพราะไม่ได้ไปโรงเรียนจึงมาเป็นแรงงาน ความหมายของการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ต้องพิชิต

ระหว่างที่คุยกับจัสมิน เด็กหนุ่มอีกคนเดินมาตัวเปล่า ไฟแซล (Faisal) วัย 12 ปี ไม่มีข้าวของติดมือ มีเพียงภาษาพูดที่ติด ๆ ขัด ๆ และมือแห้งหยาบ ถามว่า “นวดหัวไหม” เราตอบปฏิเสธไป แต่กระนั้นไฟแซลก็เอามือมานวดที่หัวอยู่ดี พร้อมพูดว่า “จะให้เงินเท่าไหร่ก็ได้” การทำงานของไฟแซลได้เงินราว ๆ 500 BTD ต่อวัน ส่วนค่าแรงขั้นต่ำของผู้คนที่นี่อยู่ที่ 800 BTD เขาเลือกไม่ขายของเหมือนเด็กคนอื่น เพราะว่า “ไม่มีทุน” ไปรับของมาจากร้านค้า เขามีเพียงมือ และร่างกายที่ใช้หาเงินได้ 

เราถามไฟแซลว่าไปฝึกการนวดมาจากไหน เพราะท่าทาง และการนวดดูคล่องแคล่ว มีท่านวดที่หลากหลาย เขาบอกว่า “ครูพักลักจำ” จากเด็ก ๆ ที่ทำงานอยู่มาก่อน เห็นแล้วก็ฝึกเรื่อย ๆ จนทำงานมาได้ 3 ปี ตอนนี้ปรับเวลาทำงานจากมานวดเกือบทุกวันก็ลดเหลือสัปดาห์ละ 2 วัน บวกสอนว่ายน้ำ ที่เหลือช่วยพ่อที่รับจ้างรายวันทำงาน เพราะแม่ที่มีงานทำก่อนหน้านี้เพิ่งเสียชีวิตไป ทำให้ไฟแซลเหลือความหวังที่จะกลับไปเรียนต่อเพียงศูนย์ และสูญเท่านั้น 

การพาเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะหลุดไปเพราะความจน จนต้องทำงานนั้นไม่ง่ายเลย Arefin Haque Pias ครูคนหนึ่งในพื้นที่ชนบทที่ได้คุยด้วยบอกว่า แม้เด็ก ๆ ในชนบทจะเข้าถึงการศึกษามากขึ้นแล้ว แต่มีเด็กหลายคนมา ๆ หยุด ๆ เพราะเด็กต้องไปทำงาน เพราะส่วนใหญ่ทำงานหลังเลิกเรียนไปจนดึกดื่น ยิ่งเด็กโตหน่อยอายุ 14-15 แทบจะออกจากโรงเรียนไปเลย 

“เขาเลือกปากท้องก่อน มันเป็นสิ่งท้าทายมาก ๆ ที่จะพาเขากลับมาเรียน เพราะถ้าออกไปก่อนก็ไม่จบ ก็จะหางานทำยาก ผมเลยใช้วิธีช่วยแบบว่า อาทิตย์นึงมาโรงเรียนสัก 2-3 วัน ทำการบ้าน และจะมีสิทธิ์สอบ อย่างน้อยเอาวุฒิไปต่อยอดชีวิต แต่ก็มีคนเลือกทางนี้น้อย”

ขณะที่มามูนบอกว่า การทำงานแต่เด็กแบบนี้มีความเกี่ยวเนื่องกันกับการ “หลุดออกนอกระบบการศึกษา” ของเด็ก ๆ อย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะเขาเชื่อว่าหากเด็กได้รับการศึกษาที่เหมาะสมแล้ว จะหยุดวงจรการเกิดขึ้นของแรงงานเด็กได้แน่นอน ซึ่งนี่ก็เป็น 1 ในเป้าหมายขององค์กรด้วย โดยเป้าหมายการศึกษาที่คาดหวังให้เด็กได้เข้าถึงนั้นไม่ใช่ระดับสูง แต่เป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ Grade 10 ซึ่งเป็นระดับที่รู้ความ รู้หนังสือ อ่านออกเขียนได้ (Literacy) มีความรู้เบื้องต้น เพื่อเป็นอิฐก้อนแรกของชีวิต

“การศึกษาขั้นพื้นฐาน มันช่วยให้เด็กเดินได้ คุณอ่านหนังสือออก คุณคิดเลขได้ คุณไม่หลอก แต่จะสร้างเส้นทางแบบไหน เลือกทำอะไรนั่นคือทางเลือก แต่วันนี้เราต้องช่วยเด็กให้เดินได้ก่อน แต่ในขณะเดียวกันการจะทำให้เด็กอยู่ในระบบได้ พ่อแม่ไม่ต้องลำบากส่งเสียในจำนวนเงินที่มาก จำเป็นต้องลงทุนการศึกษากับเด็ก ๆอย่างจริงจัง” 

“การลงทุนการศึกษากับเด็กของบังกลาเทศถือว่าน้อยมาก ทั้งด้านเงิน มุมมอง และโปรแกรมต่าง ๆ ที่จะเข้ามาช่วยเหลือ เด็กล้านกว่าคนเป็นแรงงานมันคืองานช้างที่จะเอาเขากลับเข้าไปในโรงเรียน ตอนนี้สิ่งที่ช่วยเหลือเด็กยากจนมีเพียงค่าอาหาร และค่าหนังสือ แต่ถ้าเราลงทุนวันนี้ ผ่านไป 5-6 ปี เด็กกลุ่มนี้เติบโตแล้ว หมายถึงเขาจะเข้าสู่การทำงานตามกฎหมายระบุได้”

“อย่างบริบทของค๊อกบาซา แม้เราจะทำงานกับกลุ่มกรรมการชายหาดช่วยเหลือเด็ก และฝึกเด็กในการว่ายน้ำ แต่ที่นี่ก็เป็นพื้นที่ที่คนเดินทางเข้ามาทำงานเพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยว เด็ก ๆ ก็มาที่นี่เหมือนกัน และการเข้ามาของค่ายชาวโรฮิงญา ก็ทำให้เห็นอีกภาพของการลงทุนกับเด็ก ๆ คือ ในแคมป์มีโปรแกรมมากมาย จาก Host community แต่สำหรับเด็ก ๆ นอกแคมป์ แทบไม่มีเลย” 

เนื้อหาในรายงาน National Plan of Action to Eliminate Child Labour (2020-2025) หรือแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติเพื่อลดจำนวนแรงงานเด็ก ปี 2020-2025 ของบังกลาเทศมีการระบุว่า ในช่วงปี 2017/2018 และ 2018/2019 งบประมาณแผ่นดินที่ลงทุนกับเด็กประมาณ 14% แต่เงินจำนวนนี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาแรงงานเด็ก

แต่เพราะความทับซ้อนของสาเหตุ และปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่เป็นพลวัต เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเสมอ การลดจำนวน ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายชาติของบังกลาเทศนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายแค่การใช้กฎหมายจับปรับและบังคับ พาเด็กเข้าสู่โรงเรียน แต่ยังรวมไปถึงการปรับมุมมองของผู้คนไม่ให้สนับสนุนงานหรือบริการที่มาจากแรงงานเด็ก หรือเปลี่ยนค่านิยม วัฒนธรรมหากเป็นได้ของพ่อแม่ที่ส่งลูกเป็นทำงานหาเงินอย่างเดียว

หนึ่งในทางออกที่เขาเห็นว่า จะสามารถช่วยได้ทั้งเด็ก และครอบครัวคือการสร้างแรงจูงใจ “ไม่ส่งลูกไปทำงาน จะได้รับเงินช่วยเหลือ” โดยข้อเสนอนี้กำลังอยู่ระหว่างการทำงาน เราจะประสานครอบครัว 500 ครอบครัวเพื่อเข้าร่วม และติดตามดูว่า ในแต่ละปีการศึกษานั้นเด็กยังอยู่ในโรงเรียนหรือเปล่า

ขณะเดียวกัน Save The Children, Bangladesh ทำงานในชั้นการป้องกันการเกิดแรงงานเด็ก ตรงนี้เขาทำงานกับพ่อแม่โดยตรง ด้วยการรณรงค์ให้ “หยุดส่งเด็กไปทำงาน” รณรงค์ผู้ประกอบการไม่จ้างงานเด็ก และรณรงค์กับประชาชนเองที่จะไม่รับบริการจากเด็ก ไม่ซื้อของ และต่อต้านการกระทำ

“ที่นี่ผู้คนเห็นมันเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้รู้สึกผิดอะไรจากการเห็นเด็กมาเสิร์ฟอาหาร ทำงานบนรถเมล์ หรือขายของต่าง ๆ แต่เราจะทำยังไงที่เราจะปฏิเสธบริการนั้น เพื่อให้กดดันผู้ประกอบการอีกทีว่าถ้าอยากให้ธุรกิจไปได้ ต้องไม่จ้างงานเด็ก”

“แล้วกฎหมายทำอะไรได้ไหม?”

“กฎหมายจัดการได้ไม่หมด เพราะจำนวนแรงงานเยอะมาก และเด็กส่วนใหญ่ทำงานแบบ informal ร้านเองก็ไม่ได้ลงทะเบียน เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นก็เสาะหาได้ไม่หมด ซึ่งนอกจากเรื่องของการดำเนินการทางกฎหมายแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่นมีหน้าที่ที่จะนำเด็กกลับไปโรงเรียน”

จาก Bangladesh Child Act 2012 มีกฎหมายระบุว่า ถ้าใครจ้างงานเด็กอายุ 5-14 ปี มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 50,000 BTD (15,000 บาท) หรือทั้งจำทั้งปรับ

การจับตาและสอดส่องสถานการณ์ของผู้มีอำนาจในพื้นที่นั้นถูกเขียนในรายงานของ The US Department of Labor ระบุว่า แม้สถานการณ์แรงงานเด็กในบังกลาเทศจะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ก็ยังพบว่าการบังคับใช้กฎหมายมีจุดพร่องโหว่อยู่ ตั้งแต่ปัญหาการไม่ระบุว่า งานในบ้าน งานที่เกี่ยวข้องกับการทำปลาแห้ง และอุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ เข้าไปด้วย ไม่ระบุชั่วโมงการทำงานที่ไม่เป็นอันตรายกับเด็ก กฎหมายที่ห้ามเด็กทำงานไม่ครอบคลุมและบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มที่ทำงาน Informal เช่น งานในบ้าน เด็กที่ขายของ หรือทำงานในสวนเล็ก ๆ ทั้งที่เด็กส่วนใหญ่มากถึง 96% ทำงานใน sector นี้ หรือรัฐบาลออกมาห้าม แต่ไม่ดำเนินคดีในกรณีที่มีเด็กเข้าไปอยู่ในวิดีโอหนังผู้ใหญ่ หรือยาเสพติด

นอกจากงานป้องกันแล้ว Save The Children, Bangladesh ก็มีงานขาที่ 2.) คือ การฟื้นฟู และช่วยเหลือเด็กที่ถูกละเมิดทางเพศ ถูกทำร้ายร่างกาย/จิตใจ กดขี่ในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งมีส่วนสนับสนุนทั้งทางกฎหมายและการบำบัด และงานขาสุดท้าย 3.) คือการรณรงค์และสร้างการรับรู้ ซึ่งองค์กรเองเข้าเป็นที่ปรึกษาให้กับ National Child Labour Welfare Council ของบังกลาเทศ เพื่อให้คำแนะนำกับนโยบายและแคมเปญที่รัฐออกมาเพื่อลดจำนวนและช่วยเหลือแรงงานเด็ก ซึ่งบังกลาเทศเองก็มียุทธศาสตร์ระดับชาติเพื่อแก้ปัญหานี้ด้วย

ความท้าทายของความฝันที่ไม่กล้าฝัน

อาล็อมเอะ วัย 11 ปี เรียนอยู่โรงเรียนศาสนา เกรด 3 อยู่กับแม่ที่ทำงานเป็นแม่บ้านเพียง 2 คน วันนี้เขาขายน้ำดื่ม และรับสินค้ามาจากเถ้าแก่เช่นกัน เป้าหมายของการทำงานเดือนนี้ คือ ต้องการเก็บเงินให้ได้ 2,000 BTD เพื่อจ่ายค่าเรียนเทอมใหม่ เขาเป็นหนึ่งในเด็กขายของไม่กี่คนที่พูดไม่เก่งเท่าไหร่ แต่พอคุยถึงความฝันของอาล็อมเอะ เขาตอบเร็วที่สุด

“อยากไปมาเลเซีย ไม่ก็ดูไบ” เป็นที่รู้กันของคนท้องถิ่นว่า การไปประเทศเหล่านี้คือการไปเป็นแรงงานข้ามชาติ ที่จะหาเงินได้มากกว่าที่นี่ คนท้องถิ่นแซวกลับว่า “ไปยังไง นั่งเรือไปเหรอ” ทั้งคู่ขำในมุกตลกร้ายนี้ เพราะเรือที่ว่าจะโดยสารไปนั้น คือ เรือที่มักหลอกผู้คนไปค้ามนุษย์ ค้าแรงงาน หลอกว่าจะพาไปทำงานที่มาเลเซีย อย่างไรก็ตามความฝันอาล็อมเอะเป็นความที่ดาษดื่นของคนหลายคนที่นี่ การออกนอกประเทศไม่ใช่เรื่องใหม่และใหญ่อะไรของคนที่นี่ 

“เล่นเจ็ตสกีไหม” เราเงยหน้ามองผลตามเสียงที่แทรกกลางระหว่างบทสนทนา ชายร่างสูงยืนตรงหน้า มือถือเสื้อชูชีพ เขาคือ บับพี (Bappi) อายุ 16 ปี เป็นคนหาผู้เล่นเจ็ตสกีแลกค่าตอบแทน 40 BTD ต่อคน ประสบการณ์การทำงานมานาน 9 ปี เขาดูเป็นคนที่คล่องแคล่วในการทำงานมากที่สุดในบรรดาเด็กที่ได้คุยด้วย วันนี้อายุของเขาไม่ใช่กลุ่มที่เรียกว่าเป็นแรงงานเด็กแล้ว แต่เขาเคยเป็นแรงงานเด็กมาตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ด้วยการทำงานในเรือประมง หลังพ่อเสียบับพีเหลือแม่เพียงคนเดียว แม่พาเขาย้ายมาที่ค๊อกบาซา เพื่อให้มาหางานทำ เงินทุกตากาที่หาได้เขานำให้แม่ทั้งหมด สิ่งที่เขาได้เพลิดเพลินแต่ละวันคือได้กินขนม ช็อกโกแลต และคุยกับเพื่อน เขาไม่มีความฝันอะไร เพราะเรียนจบเพียง grade 3 ไม่มีความคิดจะกลับไปเรียนต่ออีกแล้ว สิ่งที่ท้าทายที่สุดของการทำงานทุกวันนี้คือดวง 

“มันอยู่ที่ดวงล้วน ๆ ผมต้องหาคนได้ทำงานได้ตามเป้าคือ 1,000 ตากาต่อวัน ภายใต้เวลางาน 7-8 ชม.ที่มีอยู่ และฤดูท่องเที่ยวกำลังจะหมดลงเมื่อเข้าสู่รอมฎอน และช่วงฤดูฝน”

”ผมคิดว่าเด็กไม่ควรทำงาน และผมอยากโทษพ่อแม่เด็กที่ส่งพวกเขามาทำงานด้วย”

การไม่มีความฝัน เป็นความว่างเปล่าแหว่งเว้าของชีวิตหรือไม่ คงไม่มีคำตอบตายตัว แต่การไม่มีความฝันใต้บริบทของเหล่าแรงงานเด็กที่นี่ อธิบายไปถึงการมองชีวิตตัวเองของพวกเขา

“เราอยากสร้างความฝันให้เขาว่าพวกเขาเป็นได้มากกว่าแรงงานเด็ก หรือเป็นไปได้ที่เขาที่จะเลือกเดินทางอื่นในอนาคต หากได้กลับโรงเรียน” มามูนบอก

“แต่พวกเขาเชื่อว่าฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงระดับการศึกษาที่เป็นอยู่ทำได้เพียงแค่รับจ้างเท่านั้น อย่างอยากเป็นนักคลิกเก็ต (กีฬาประจำชาติของบังกลาเทศ สร้างอาชีพและรายได้เทียบเท่านักฟุตบอลอาชีพ) อยากมีชีวิตแบบนั้น แต่ความจริงเป็นไปไม่ได้ เขาไม่ได้มี blackground ชีวิตเหมือนชั้นหนิ ไม่มีอะไรเชื่อมโยงมาถึงชีวิตเราเลย เราจะพยายามหาเด็ก ๆ ในคอมมูวนิตีเดียวกัน โดยเฉพาะการหาคนที่กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง แล้วออกมาทำงานเป็นเจ้าของกิจการ หรือทำงานบริษัท มาให้เด็กได้รู้จัก สิ่งนี้เพื่อดึงเด็กกลับสู่ระบบการศึกษา” มานูนอธิบายถึง 1 ในกิจกรรมสำคัญของเขาที่ทำกับเด็ก

หากเป็นไปตามที่ Save The Children, Bangladesh ระบุไว้ เร็ว ๆ นี้ เมื่อฤดูท่องเที่ยวกลับมาอีกครั้ง ที่หาดค๊อกบาซา จะขึ้นป้ายใหญ่ขอความร่วมมือประชาชนไม่ซื้อ/ไม่รับบริการจากแรงงานที่เป็นเด็ก ขณะที่ National Plan of Action to Eliminate Child Labour (2020-2025) หรือแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติเพื่อลดจำนวนแรงงานเด็ก ปี 2020-2025 นั้น ยังคงเน้นด้านการตรวจจับ ร่วมมือกันมอร์นิเตอร์สถานการณ์ ทำงานร่วมกับองค์กรที่เกี่ยวข้อง สร้างการรับรู้ และ awareness เกี่ยวกับแรงงานเด็กทั้งพ่อแม่ นายจ้าง และประชาชนทั่วไป 

ซึ่งหลังจากบังกลาเทศได้รับการ rating การทำงานด้านนี้จากสหรัฐฯ ในระดับ Moderate Advancment ปี 2022 และจากการประชุม EU-Bangladesh Joint Economic Commission เมื่อเดือนตุลาคม 2022 กระทรวงแรงงานและการจ้างงานของบังกลาเทศ ประกาศแอคชั่นแพลนของชาติปี 2021-2026 ใน 2 ประเด็นหลัก ๆ คือ 1.) การกลับไปดูกฎหมายแรงงานของประเทศ และแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้ได้ตามมาตรฐานของ ILO และ 2.) กำจัด (eliminate) แรงงานเด็กภายในปี 2025 ด้วยการกลับไปดูการบังคับใช้กฎหมาย พัฒนาการจับตาสถานการณ์ และสอบสวนกรณีนี้ ลงไปดูแรงงานเด็กที่ทำงานอันตรายจริงจังมากกว่านี้ ซึ่งส่วนนี้ EU จะเข้ามามีส่วนในการทำงานด้วย และสุดท้ายคือการสร้าง awareness และ action การกำจัดนี้ รัฐบาลมุ่งมั่นในการกลับไปพัฒนาคุณภาพการศึกษา และการพาเด็กกลับเข้าโรงเรียน

บ่ายแก่เต็มที นักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ชายหาด พวกเขามักจะไปรวมตัวยืนกันบนหาดกว้าง ๆ จนเต็มพื้นที่ เราลุกจากเก้าอี้ริมหาดเพื่อหลีกฝูงชน ก่อนกลับเราลาบับพี ผู้ที่ยืนคุยกับเราเรื่องนู้นนี้นั่นอยู่นาน เพื่อหวังให้เราไปเล่นเจ็ตสกีกับเขา แต่เราก็ปฎิเสธในที่สุดที่จะเพิ่มรายได้ให้เขาอีก 40 BTD ในวันนี้ 

เดินออกจากที่นั่งไม่นาน เจอเด็กหญิงตัวเล็ก ๆ ชุดแดง จำได้ทันทีจัสมินนั่นเอง เธอเดินแบกถุงขวดน้ำดื่มไปเรื่อย ๆ เราเดินตามเธอ เพราะอยากเฝ้าดูสักพัก ไม่กี่ก้าวต่อมา จัสมินหยุดเดิน หันตัวเองมองตรงไปยังครอบครัวหนึ่ง มีสมาชิกหลายคนทั้งผู้ใหญ่ เด็กเล็ก เด็กโต และเด็กตัวเท่าเธอ กำลังเตรียมตัวลงเล่นน้ำ 

จัสมินยืนนิ่งอยู่ตรงนั้นสักพัก สองสามลมหายใจยาว ๆ เธอก้าวเท้าเดินต่อไป แวะเก้าอี้นั้นบ้าง เก้าอี้นี้บ้าง 

ในนาทีหยุดนิ่งนั้นไม่รู้ได้เลยว่า จัสมินกำลังคิด และกำลังรู้สึกอะไ

อ้างอิง

globalpeoplestrategist

thedailystar

mole.portal.gov

dol.gov

winrock

adb

เพิ่มเติม (สรุปและรวบรวมจากการสัมภาษณ์ Save The Children, Bangladesh)
1.อุตสาหกรรมสิ่งทอที่ผลิตสินค้าส่งออกต่างประเทศ จะไม่จ้างแรงงานเด็ก เพราะมีกฎหมาย และระเบียบควบคุมอย่างเข้มข้นจากเจ้าของแบรนด์ และโรงงาน ซึ่งมีผลต่อการทำธุรกิจ แต่ในทางกลับกัน หากเป็นโรงงานที่รับผลิตเสื้อผ้าและขายในประเทศ มักพบว่ามีงานจ้างแรงงานเด็กเสมอ
2.แรงงานเด็กที่ทำงานในรถเมล์/มินิบัส แรกเริ่มจะได้ค่าแรงเป็น “อาหาร” ก่อนจะขยับเหมือนเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยคนขับ 
3.นายจ้างที่จ้างงานเด็กมีหลายสาเหตุตั้งแต่ ค่าแรงถูก สามารถควบคุมเด็กได้ง่าย หรือต้องการช่วยเหลือครอบครัวของเพื่อน หรือญาติห่างๆ 
4. พ่อแม่เองไม่เข้าใจหรือรับรู้ว่างานประเภทนี้อันตรายแค่ไหน พวกนี้มักเกิดกับแรงงานที่ทำงานในบ้านเป็นหลัก ซึ่งแทบไม่มีใครหาเจอเลย

รู้จักบังกลาเทศสั้นๆ: เป็นประเทศเกิดใหม่อายุราวๆ 50 ปี แยกตัวประกาศเอกราชมาจากปากีสถาน ผู้คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามมากว่า 90% คนไทยอาจไม่คุ้นชื่อ และนึกไม่ออกว่าอยู่ตรงไหน คนไทยอาจเพิ่งมารู้จักเมื่อกี่ปีนี้ จากข่าวการอพยพเพื่อหนีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของชาวโรงฮิงญาเรือนล้าน ซึ่งเข้ามาตั้งแคมป์อยู่ที่นี่ตั้งแต่ 2017 แล้ว ด้วยประเทศที่มีจำนวนประชากรมากกว่า 160 ล้านคน แต่ขนาดประเทศเล็กกว่าไทยสักประมาณ 3 เท่า ภูมิศาสตร์อยู่ในจุดที่เกิดภัยพิบัติบ่อย ทั้งหมดนี้ทำให้ประเทศยังอยู่ในระดับยากจน มีประชากรประมาณ 20% หรือ 1 ใน 5 มีชีวิตอยู่ในเส้นความยากจน