นาโนกะ ของคุณยายคือคัวละครเอก อายุอานามประมาณเด็กอนุบาล ออกเดินทางด้วยคำถามจากการบ้านของคุณครูฮิโตมิ ให้เขียนเรียงความเรื่องความสุขคืออะไร เธอพร้อมเพื่อนคู่ใจสี่ขา เจ้าแมวเหมียว ใช้เวลาหลังเลิกเรียน ตระเวนไปในโลกนอกห้องเรียน เจอคนตั้งแต่วัยรุ่น วัยกลางคน และวัยชรา แบกคำถามที่มีต่อโลกไว้เต็มบ่า มีคำถามบ่อยเหมือนเด็กปกติทั่วไป แต่บ้างก็ได้รับคำตอบเป็นเพียง เสียงหัวเราะ โลกที่เต็มไปด้วยคำถามในวัยเด็ก มีคำตอบหลากหลายที่สามารถจินตนาการต่อความเป็นไปของโลกนี้ได้เสมอ
แต่กลับแปลกที่หนังสือทั้งเรื่อง ใช้ห้องเรียนของสาวน้อยผ่านวิชาโฮมรูม ในหัวข้อของคุณครูฮิโตมิมอบให้กับนักเรียนทุกคน ความสุขคืออะไร? นาโนกะยังยอกย้อนผ่านบทสนทนาอยู่หลายครั้ง ใครวะ จะไปตอบได้ว่าความสุขคืออะไร หน้าตาเป็นแบบไหน แต่ก็คงเหมือนเด็กหลายคน ที่ก้มหน้าก้มตา หาคำตอบที่ได้รับมอบหมายจากครูในห้องเรียนเสมอมา แม้จะไม่เห็นด้วยตั้งแต่ตอนแรกก็ตาม
หนังสืออย่าง ฝันถึงเรื่องนั้นอีกแล้ว เขียนโดย ซุมิโนะ โยะรุ ที่แปลเป็นภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์แพรว นามปากกาธวัลยาเป็นหนังสือที่พูดถึงเรื่องของเด็กหญิงสาว มีท่าทีขึงขัง ฉลาดปราดเปรียว และมีความคิดล้ำหน้ากว่าอายุและเพื่อนในวัยเดียวกัน ชีวิตยามว่างในรั้วโรงเรียนสุงสิงอยู่ในห้องสมุด ผจญภัยในโลกหนังสือ และใช้ชีวิตหลังจากเลิกเรียน ตระเวนไปหาผู้ใหญ่อยู่สามสี่คนตลอดทั้งเรื่อง
กว่าสองร้อยหน้าของหนังสือปรากฎบทสนทนาของนาโนกะกับแม่แค่สามถึงสี่ครั้ง เพราะนาโนกะบอกกับคนอื่นเสมอว่าพ่อแม่กับมัวแต่บ้างาน และติดงานทุกวี่วัน ผู้เขียนคงตั้งใจเสียดสี วัฒนธรรมการทำงานหนักของคนญี่ปุ่น ที่เมื่อไปพูดมุมไหนของโลก ทุกคนพยักหน้าตรงกัน ว่าคนญี่ปุ่น บริษัทญี่ปุ่น นี่ work hard จริง ๆ
นาโนกะ เอาจริง ๆ แล้วมีหลายชื่อ เพื่อนในโรงเรียนเรียกว่าคุณโคยานางิ คุณยายเรียกว่านัตจัง คุณดอกเรียกว่าสาวน้อย หากไม่อ่านอย่างใจจดใจจ่อ รับรองว่ามีอันเป็นหลงแน่ ๆ ว่าตัวละครที่ถูกพูดถึงอยู่คือใครกันแน่
ในตอนเย็นของวันเลิกเรียนวันหนึ่งที่ไม่ค่อยเหมือนวันอื่นซักเท่าไร เพราะนาโนกะ ไปในที่ที่ไม่ได้ไปเหมือนวันก่อน คือการขึ้นไปบนดาดฟ้าตึกเก่าพร้อมเพื่อนสี่ขา แต่บังเอิญเจอกับเด็กหญิงวัยมัธยมปลาย กำลังนั่งเอามีดกรีดข้อมือตัวเอง นาโนกะถามด้วยความไม่เข้าใจจริง ๆ ว่ากรีดมือจนเลือดไหลขนาดนั้น คุณไม่เจ็บหรอ แต่ก็ไร้เสียงคำตอบของคุณมินามิ ซึ่งนาโนกะใช้เวลามาตรงนี้หลังเลิกเรียนอยู่หลายวันกว่าจะคุณมินามิจะยอมพูดด้วย ก่อนที่ทั้งคู่จะสนิทกันเพราะคุณมินามิชอบเขียนส่วนนาโนกะชอบอ่าน และกล่าวชมเรื่องราวของคุณมินามิถึงขั้นขอให้ตีพิมพ์ให้จนได้
ในวันสุดท้ายที่เจอกันนาโนกะเต็มไปด้วยมวลอารมณ์ของความโกรธและหงุดหงิดเพราะทะเลาะกับแม่ ที่ทำงานจนไม่มีเวลาจะไปร่วมกิจกรรมที่โรงเรียนในวันสังเกตุการสอน แต่ก็โดนไหว้วานจากมินามิเอง ที่รีบเข็นให้นาโนกะกลับไปขอโทษแม่ ก่อนย้ำว่าจะไม่มีโอกาสแม้จะทะเลาะกันอีกเลย นาโนกะเด็กน้อย ก็ยิ่งงงสับสนเข้าไปใหญ่ ว่าคุณมินามิพูดแบบนั้นทำไม มีเหตุผลอะไร ก่อนปลงด้วยความคิดว่านี่คงเป็นโลกของผู้ใหญ่ เด็กอย่างเราคงไม่เข้าใจ เหมือนทุก ๆ ครั้ง และทุก ๆ คนที่นาโนกะได้พบเจอ
คำถามที่ต้องถามเสมอคือนาโนโกะถามว่า ความสุขคืออะไร มินามินิ่งเงียบไปหลายครัน ก่อนที่จะตอบกลับว่า ความสุขของเขาคือการได้อยู่ตรงนี้ แต่ฟังแล้วก็ยังยากจะให้เด็กวัยอนุบาลเข้าใจอยู่ดี ผมพลางนึกขึ้นว่าเราแทบจำไม่ได้เหมือนกันว่าตอนเราเด็กปานนั้นใครตอบคำถามของเราอย่างไรบ้าง แต่ถ้ามีเด็กสักคนถามผมในวันนี้ ผมคงจำได้ขึ้นใจว่าผมตอบเด็กกลับไปว่าอย่างไร และหลายครั้งผมหรือพวกเราในฐานะผู้ใหญ่ ก็ไม่ได้มีคำตอบให้พวกเขาคลายข้อสงสัย จนนึกคิดไปเองว่า นี่พวกเราใจร้ายกับพวกเขามากไปหรือเปล่า ทั้ง ๆ ที่บางครั้งคำถามของพวกเขานี่แสนธรรมดา
เพื่อนอีกคนของสาวน้อยคือคุณดอก เธอทำงานกลางคืน และสาวน้อยมักแวะไปหาเธอหลังเลิกเรียนก่อนที่คุณดอกจะออกไปทำงาน สาวน้อยถามคุณดอกว่าทำงานอะไรถึงต้องทำงานเวลาที่เธอเข้านอนทุกที คุณดอกตอบกลับไปว่าเขาเป็นคนขายฤดูกาล ซึ่งความหมายของคำตอบจริง ๆ คือเธอเป็นหญิงขายบริการ แต่สาวน้อยคงไม่เข้าใจ เพราะคุณดอกไม่ได้อธิบายว่าลักษณะงานของเธอเป็นแบบไหน ถ้าผมเป็นเด็กสาวน้อยคนนั้น ก็คงงงอีกยกใหญ่ ว่าฤดูกาลที่มีอยู่มันขายกันได้ซะที่ไหนกัน เย็นวันหนึ่งในฤดูร้อนคุณดอกขอให้สาวน้อยออกไปซื้อแตงโม (แตงโมคือผลไม้ที่ช่วยดับกระหายในหน้าร้อนได้ดี เหมือนสุภาษิตจีนว่า “หน้าร้อนกินแตงโมสองชิ้น”)
ในทันใดก็ทำให้คำตอบที่เฝ้าถามตลอดว่าความสุขคืออะไร ก็ออกมาจากปากแมวเหมียว “ความสุขนั้น ไม่เดินมาหาเราหรอก” เหมือนที่สาวน้อยต้องเดินไปซื้อแตงโมเพื่อที่ดับกระหายและเยียวยาความร้อนในฤดูที่ร้อนระอุได้บ้าง ตลกขบขันสิ้นดี ที่จะมีความสุขสักทีนึง ก็ต้องเดินไล่หาอยู่ร่ำไป แล้วทำไมความสุขไม่เดินมาหาเราบ้าง ไม่เดินมาหาสาวน้อยอย่างนาโนกะ หรือไม่เดินมาหาคนที่โศกเศร้า ถ้าเป็นอย่างนั้นได้โลกใบนี้คงน่าอยู่ไม่เบา
คุณยายวัยเกษียณ ชอบทำอาหารอาหารและขนมเค้กให้นัตจังเสมอ เธอเป็นอีกคนที่เด็กน้อยแวะไปหาเป็นประจำ เด็กตัวเล็กช่างพูด ก็คุยโวว่าตัวเองเป็นเพื่อนกับคุณยาย คงพิลึกพิลั่นไม่เบา ถ้าเราจะบอกว่าเราเป็นเพื่อนกับคนอายุ 60 ทั้งที่ห่างกันอย่างน้อยก็ 50 ปี บทสนทนาระหว่างนาโนกะกับคุณยายมีไม่มาก ส่วนใหญ่มีแค่เรื่องของกิน นาโนกะเหมือนเด็กอย่างเราที่เคยผ่านวัยเด็กมาแล้วทั้งนั้น คือพวกเราชอบกินขนม แม้คุณพ่อคุณแม่จะไม่ค่อยชอบ และขึ้นเสียงทุกทีเวลาเรายัดขนมเข้าปาก
ครั้งหนึ่งของการสนทนาเกี่ยวกับภาพวาดของจิตรกรที่คุณยายแขวนไว้บนฝาผนังบ้าน นัตจังจ้องเขม็งมองใจจดใจจ่ออยู่ครู่นาน เพราะภาพที่ถูกวาด มีภาษาอังกฤษว่า LIVE ME ที่เด็กฉลาดอย่างนัตจังในวัยอนุบาลก็ยังไม่เข้าใจ คุณยายแปลให้ฟังว่า ให้ฉันมีชีวิตอยู่ พร้อมเตือนนัตจังว่ามันผิดหลักไวยากรณ์ คุณยายบอกว่าเป็นเหมือนมุกตลก แต่เสียดายที่เด็กอย่างนัตจังยังไม่เข้าใจภาษาอังกฤษ หรือพลอยไม่เข้าใจมุกนั้นไปด้วย เสียดายจริง ๆ เพราะผมก็พลอยไม่เข้าใจด้วย ว่าจิตรกรต้องการเล่นมุกอะไร ก่อนที่คุณยายจะพูดให้นัตจังฟังว่าโลกใบนี้ มีทั้งเรื่องเจ็บปวดและน่าเศร้าอยู่เต็มไปหมด ทั้ง ๆ ที่โลกสวยงามขนาดนั้น คงต้องการจะสื่อสาร แม้ภาพจากฝีมือจิตรกรที่คนดูอย่างเราหลงใหล แต่เบื้องหลังจิตรกรคนนั้นอาจเจออะไรมาเยอะจนเกินกว่าจะบรรยายก็ได้
นาโนกะเจอกับคุณดอกที่ทำงานขายบริการ หลายคนคงยี้จนปากเบี้ยว หากรับรู้ว่าคนใกล้ตัวหรือเพื่อนคนไหนขายบริการ แต่นัตจังกลับไปหาคุณดอกได้ตั้งหลายครั้งแบบไม่มีอะไรตะขิดตะขวงในใจแม้แต่น้อย มุมนึงอาจเป็นเรื่องดี ที่นัตจังไม่เข้าใจว่างานแบบคุณดอกมันเป็นงานแบบไหน แต่อีกมุมนึงที่น่าเศร้าคือคนอย่างคุณดอกกลับไม่สามารถบอกใครได้เลย ว่างานที่ตัวเองทำเป็นงานลักษณะไหน คนจำนวนไม่น้อยถึงยังไม่ค่อยเข้าใจหรือเปิดโอกาสสำหรับคนเหล่านี้ให้มีชีวิตอย่างคนปกติทั่วไป
ตลอดทั้งเรื่อง ถ้าเราเป็นหนูน้อยคนนี้ เราก็คงไม่เข้าใจอะไรมากนักจากบทสนทนาของผู้ใหญ่ ไม่ใช่เพราะว่าพวกเขาเด็กเกินไปกว่าจะเข้าใจอะไรแบบนี้ แต่ผมกลับคิดว่า พวกผู้ใหญ่ต่างหาก ที่ดูขึงขังรู้ดี และคอยตัดสินว่าอะไรคือสิ่งที่เด็กควรรู้หรือไม่ควรรู้ บางอย่างเรากลับเลือกไม่อธิบาย ปล่อยให้เหลือแค่ความงุนงง สับสนของเด็ก นาโนกะเจอกับเด็กสาววัยมัธยมที่กำลังตกอยู่ในอาการซึมเศร้า อึดอัด การกรีดแขนคืออาการที่ทำให้คนที่ตกอยู่ในภาวะแบบนี้ รู้สึกเบาบางลง ทำให้ความอึดอัดที่แบกรับเอาไว้ในใจคลายลง แต่นาโนกะกลับไม่ได้คำตอบ เด็กที่กำลังโตจำนวนไม่น้อยจึงไม่รู้จักอาการประเภทนี้ เพื่อเตรียมรับมือ และป้องกันรักษา หากใครถามเหมือนที่นาโนกะถาม ว่าทำแบบนี้ไม่เจ็บหรอ คำตอบมีคำตอบเดียว คือเจ็บ แต่การทำแบบนี้เพื่อทำให้ความรู้สึกเจ็บภายในน้อยลง เป็นลักษณะเดียวกันเวลาเราพูดว่าอาการซึมเศร้าจนตัดสินใจอัตวินิบาตกรรม ไม่ใช่เพราะคิดสั้น แต่คิดแล้วคิดอีกต่างหาก ผลลัพธ์จึงออกมาเป็นแบบนี้ เพื่อทำให้ความเจ็บปวดสิ้นสุดเสียที
โลกของผู้ใหญ่ชวนสับสน ไม่ใช่เพราะตัวเลขของอายุที่เพิ่มขึ้น แต่เป็นเพราะเราตั้งการ์ดว่าอะไรควรรู้อะไรไม่ควรรู้ อะไรควรพูด อะไรไม่ควรพูด บางคนใช้คำว่าอยู่เป็น แต่ก็เพราะพวกเราหลายคนอยู่เป็น และสร้างโลกสร้างสังคมที่ซับซ้อนให้กับคนรุ่นหลังได้ทุกวัน พวกเขาจึงมีแต่คำถามอย่างตรงไปตรงมา ว่าโลกที่แสนธรรมดา ความสุขสำหรับคนธรรมดา อยู่ที่ไหนกัน
หนังสือ: ฝันถึงเรื่องนั้นอีกแล้ว
นักเขียน: โยะรุ ซุมิโนะ
แปล: ธวัลยา
สำนักพิมพ์: แพรวสำนักพิมพ์
PlayRead: คอลัมน์รีวิวหนังสือประจำ Decode.plus เมื่อกองบรรณาธิการขอ add หนังสือ (ที่อยากอ่าน) ไว้ในเพลย์ลิสต์ พบกับหนังสือหลากหลายสไตล์ หลากหลายวิธีการเล่าเรื่องที่เชื่อมร้อยกับชีวิตและสังคม แวะมาหาอ่านกันได้ทุกเย็นวันพฤหัสบดี