ในสังคมที่ 'กะเทยไม่เคยชนะ' ชวน 12 พรรคการเมืองร่างสมการสำหรับคนทุกเพศ - Decode
Reading Time: 5 minutes

29-30 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา คณะทำงานสิทธิประชาชนเพศหลากหลายกับนโยบายพรรคการเมือง 2566 จัดงานระดมความคิดจากกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ กว่า 32 องค์กร มาร่วมออกแบบข้อเสนอต่อพรรคการเมือง เพื่อจัดทำนโยบายและมาตรการคุ้มครองสิทธิประชาชนเพศหลากหลาย พร้อมเปิดเวทีให้ตัวแทนจาก 12 พรรคการเมืองมาร่วมรับฟังปัญหา และเสนอแนวทางที่ต้องการจะผลักดันในการเลือกตั้ง 2566 ที่ใกล้เข้ามา

จะทำได้ ทำไม่ได้ ยังไม่มีใครทราบได้ แต่คำมั่นสัญญาจะถูกบันทึกไว้ให้ประชาชนสามารถกลับมาทบทวนและตรวจสอบได้เมื่อต้องการ แต่จะมีประเด็นอะไรบ้างนั้น ไปอ่านพร้อมกันได้เลย 🏳️‍🌈

ปล่อยหมัด ง้างนโยบายเด็ด

แม้ความเท่าเทียมทางเพศจะเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงมากขึ้นในปัจจุบัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประชาชนเพศหลากหลายยังคงเผชิญกับสถานการณ์ปัญหาและความท้าทายรายวัน ตลอดช่วงชีวิต ดังนั้นคำถามแรกที่ดังกึกก้องไปทั่วงานที่ให้เหล่าตัวแทนพรรคการเมืองได้มาโชว์วิสัยทัศน์จึงเป็นคำถามที่ว่า “พรรคของท่านมีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเพื่อความหลากหลายทางเพศอย่างไรบ้าง”

คำตอบที่ได้เป็นที่น่าพึงพอใจต่อผู้ร่วมงาน เพราะทุกพรรคต่างเห็นพ้องเป็นเอกฉันท์ด้วยการยืนยันว่า จะสนับสนุน พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมเท่านั้น พร้อมผลักดันนโยบายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น ยกเลิกพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ส่งเสริมพ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศ และพ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติ พัฒนาเทคโนโลยีอนามัยเจริญพันธุ์ ปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ แก้กฎกระทรวงศึกษาธิการเรื่องการแต่งกาย แก้ไขปัญหาโครงสร้างภาษี เช่น การโอนทรัพย์สินระหว่างคู่สมรสเพศเดียวกัน ยกระดับคุณภาพปากท้องประชาชนด้วยหลัก SOGIESC เดินหน้าผ้าอนามัยฟรี สิทธิแรงงานลาคลอด 180 วัน 30 บาทเข้าถึงฮอร์โมนสำหรับคนข้ามเพศ ระบบราชทัณฑ์ต้องมีความปลอดภัยทางเพศ รวมไปถึงจัดการปัญหาเรื่องการกลั่นแกล้งและเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศในทุก ๆ สถาบันทางสังคม

แต่ก่อนที่จะยื่นข้อเสนอนโยบายและมาตรการคุ้มครองสิทธิประชาชนเพศหลากหลายแก่พรรคการเมือง ได้มีการเปิดพื้นที่ให้ตัวแทนกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเจ้าของประเด็น ได้ออกมาบอกเล่าสถานการณ์ปัญหา และความท้าทายเชิงลึกกับหนึ่งคำถามส่งตรงถึงตัวแทนพรรคการเมืองแบ่งเป็น 6 ด้าน ไล่เรียงตั้งแต่ ด้านกฎหมายสุขภาพ สวัสดิการรัฐ สถานศึกษา สถานที่ทำงาน และพื้นที่สื่อ

รั้วโรงเรียนไม่ปลอดภัย

เนื่องด้วยการขาดแคลนความรู้ ความเข้าใจ และมุมมองเรื่องความหลากหลายทางเพศในระบบการศึกษาแห่งชาติและสถานศึกษา ตั้งแต่หลักสูตร การเรียนการสอนของผู้ศึกษา ตลอดจนหลักสูตรวิชาชีพครู ทำให้เยาวชน-ประชาชนเพศหลากหลายต้องเผชิญกับปัญหาหลากด้านไม่ว่าจะเป็นการถูกเลือกปฏิบัติ กีดกัน ล้อเลียน กลั่นแกล้ง คุกคาม ไปจนถึงการถูกล่วงละเมิดทางเพศ แต่แล้วใครกันจะมองเห็นปัญหา และพยายามหาทางแก้ไข ให้รั้วสถานศึกษาเป็นพื้นที่ปลอดภัยแก่ทุกคน ทางเจ้าของประเด็นจึงได้ชี้แจงข้อเสนอ 11 ข้อ (รับฟังฉบับเต็มที่ ประชาไท) ซึ่งครอบคลุมทุกประเด็นปัญหาข้างตน พร้อมทางออกที่เป็นรูปธรรมให้เหล่านักการเมืองผู้โชคดีกลุ่มแรก พร้อมกับคำถามว่า

ในฐานะพรรคการเมือง จะสามารถรับข้อเสนอด้านการศึกษาข้อใดบ้าง

โดย ดร.ภาคิน เจริญนนทสิทธิ์ จาก พรรคไทยสร้างไทย ระบุว่า ไทยสร้างไทยตระหนักถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา อย่างไรก็ตามการศึกษาไม่ได้อยู่ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการอย่างเดียว ดังนั้นการกระจายอำนาจจากส่วนกลางเองจึงถือเป็นโจทย์ใหญ่ เพราะในอนาคตข้างหน้าจะมีการถ่ายโอนโรงเรียนสังกัด สพฐ.มายังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นอกจากนี้พรรคไทยสร้างไทยยังสนับสนุนการจัดหลักสูตรที่สะท้อนอัตลักษณ์ทางเพศให้กับนักศึกษาเยาวชนรุ่นต่อไปเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจ โดยไม่จำกัดว่าพวกเขาจะเรียนในโรงเรียนสังกัดสพฐ.หรือ อบจ.

“ท่านจะมีความเข้าใจว่าสังคมมีพหุวัฒนธรรม เราไม่ได้อยู่ในสังคมชายหญิงเท่านั้น เรามี LGBTQ+ เรามีตัวตนอยู่ในสังคม เราไม่ใช่คนประหลาด เราเป็นมนุษย์เหมือนท่านซึ่งมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ที่จะได้รับการรับรองคุ้มครองมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเรามีสิทธิ์ที่จะอยู่บนประเทศไทยเสมอภาคกับท่าน หลักสูตรนี้จะถูกจัดเข้าไปในกระทรวงศึกษาธิการ เข้าไปใน สพฐ.หรือโรงเรียนในสังกัด อบจ.ที่จะเสริมสร้างให้ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสสร้างเศรษฐกิจและความเท่าเทียม”

ด้าน อุดมศักดิ์ ศรีสุทิวา จาก พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า นอกจากกฎหมายที่ทันสมัยแล้ว สิ่งที่สำคัญสุดคือการสร้างการยอมรับในสังคม ดังนั้นหากพูดในบริบทสถานศึกษานอกจากกฎระเบียบของโรงเรียนแล้ว ครูเองก็จำต้องมีแนวคิดที่ยอมรับความหลากหลายเช่นเดียวกัน

เราต้องยอมรับความหลากหลาย ความเท่าเทียม ที่สำคัญคือรัฐธรรมนูญกำหนดมาแล้วว่าเราจะทำยังไงที่จะกำหนดงบประมาณตามความต้องการและความจำเป็นของเพศ ซึ่งเรียกว่า Gender Responsive Budgeting (คำจำกัดความภาษาไทยคือ งบประมาณที่คำนึงถึงมิติหญิงชาย – ผู้เขียน) สุดท้ายขอจบด้วยคำพูดว่า จะสร้างชาติ ต้องสร้างคนให้คนไทยยอมรับความหลากหลาย ชาติไทยพัฒนาแน่นอนครับ”

ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ จาก พรรคก้าวไกล บอกว่า ในเบื้องต้นเราจำต้องหยุดพรบ.การศึกษาแห่งชาติ ที่กำหนดคุณสมบัติเด็กไทยไว้ตามกรอบปิตาธิปไตย ซึ่งเผยออกมาในบทเรียนต่าง ๆ ที่แสดงถึงกรอบสองเพศอย่างเด่นชัด สิ่งเหล่านี้ต้องถูกนำมาพิจารณาและรื้อสร้างใหม่พร้อมใส่ความหลากหลายเข้าไปในบทเรียนในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นหลักการ SOGIES ความแตกต่างระหว่างเพศภาพ อัตลักษณ์ทางเพศ เพศทางกายภาพ และเพศวิถี นอกจากนี้ยังต้องมีกฎหมายรับรองเพศให้สิทธิของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศซึ่งเป็นเด็กและเยาวชนที่เป็นนักเรียนได้แสดงออกตามเจตจำนงเพศของตัวเองด้วย

“ธัญได้มีโอกาสไปพบกับ Pink Monkey ที่ลพบุรี ธัญขอปรบมือให้ท่านด้วยนะคะ เพราะว่าท่านได้นำหลักสูตรการสอนเกี่ยวกับอนามัยทางเพศมาสอนให้เด็กและเยาวชน นั่นคือสิ่งต้องเกิดขึ้นในโรงเรียนค่ะ การอบรมครูที่มีความหลากหลายทางเพศ ส่งเสริมแน่นอนค่ะ เราต้องส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศเพราะในสังคม คนที่ชนะคือผู้ชายที่มีอำนาจมีเงิน กะเทยไม่เคยชนะ เราเข้าใจดีว่าเราต้องส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศยังไง และการขจัดการเลือกปฏิบัติคืออีกสิ่งนึงที่ดิฉันจะต้องทำ”

ในขณะที่ ภิญโญ รู้ธรรม จาก พรรคเปลี่ยนอนาคต ระบุว่า ไม่ว่าข้อเสนอจะมีกี่ข้อก็ขอยอมรับทุกข้อ แต่ไม่สัญญาว่าจะสามารถทำได้ทุกอย่าง เพราะต้องมีการเรียนรู้และดูเป้าหมายอีกทีหนึ่ง พร้อมกล่าวว่าตนรู้สึกตลกที่คนรุ่นใหม่ยังพูดถึงกระทรวงศึกษาและโรงเรียน แต่กลับไม่พูดถึงความรู้และปัญญาซึ่งเป็นสิ่งที่น่าจะตอบโจทย์ในยุคปัจจุบัน

เราควรจะสร้างกระทรวงปัญญามากกว่า ทุกวันนี้เด็กไม่ว่าจะเพศสภาพไหนก็ตามไม่ได้เข้าโรงเรียนแล้ว ไปดูโรงเรียนร้างที่ต่างจังหวัดไม่มีนักเรียนแล้ว มหาลัยก็ลดน้อยลง ต่อไปนี้การเรียนรู้ควรจะไปอยู่กระทรวงปัญญาและกระทรวง ICT (…) ฉะนั้นคนที่ควรจะรับผิดชอบคอนเทนต์ที่อยู่ในนี้คือใคร ลากตัวออกมา และไปดูที่เป้าหมายประเทศ เราต้องการให้คนของเราเป็นอย่างไร ความคิดเป็นอย่างไร ไปแก้ตรงนั้น เรื่องบูลลี่ง่ายมากถ้ามีการฟ้อง มีการเฝ้าระวังชัดเจน คนที่บูลลี่เรื่องที่ไม่เป็นเรื่องควรต้องถูกลงโทษ ถึงเวลาเปลี่ยนความคิด ถึงเวลาเปลี่ยนอนาคต ฝากไว้เท่านี้ครับ”

รั้วแรงงานก็ไม่ต่าง

เคราะห์ซ้ำกรรมซัดของสังคมที่ยังมองคนไม่เท่ากัน คือ นอกจากสถานศึกษาหรือแม้กระทั่งสังคมในองค์รวมแล้ว อคติ การตีตรา และการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศยังคงปรากฎที่สถาบัน หน่วยงานภาครัฐ และสถานประกอบการในรูปแบบต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการมีคุณภาพชีวิตและทางเลือกในการประกอบอาชีพผู้มีความหลากหลายทางเพศ ตั้งแต่ต้น เริ่มที่การสมัครงาน กระบวนการคัดเลือก ตลอดจนการขาดการคุ้มครองระหว่างทำงาน เช่น สถานการณ์บังคับตรวจโรคเอดส์ (HIV) เมื่อสมัครงาน ซึ่งในส่วนนี้เจ้าของประเด็นก็ได้ชี้แจง 5 ข้อเสนอ (รับฟังฉบับเต็มที่ ประชาไท) พร้อมนำไปปรับใช้ หากต้องการ ดังนั้นคำถามที่ยังคงรอคำตอบในประเด็นการจ้างงานและสถานที่ทำงานจึงมีอยู่ว่า

ในฐานะพรรคการเมือง จะสามารถแก้ไขปัญหาการจ้างงานตามที่เสนอข้อใดบ้าง

เริ่มที่ ณัฏฐ์ มงคลนาวิน จาก พรรคภูมิใจไทย ที่กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนพรรคภูมิใจไทย มั่นใจว่าจะผลักดันและสนับสนุนนโยบายด้านแรงงานทั้งหมด และหากทางพรรคได้ร่วมเป็นรัฐบาลจะยิ่งมีพลังในการผลักดันให้เกิดขึ้นจริง โดยมีการจัดลำดับความสำคัญก่อน-หลังต่อไป

“ถ้าเป็นไปได้ ถ้าเราสามารถ ถ้าได้รับรู้ความคิดเห็นของทุก ๆ คนว่า อยากให้ดึงประเด็นอะไรขึ้นมาก่อน เราก็จะสามารถผลักดันให้เกิดขึ้นได้รวดเร็วที่สุด เพราะว่าส่วนตัวคิดว่า ทุกนโยบายมีความสำคัญหมด แต่เราอาจจะดูว่าอันไหนสำคัญที่สุดและเราสามารถทำให้เกิดจริงได้อย่างรวดเร็ว

วรนัยน์ วาณิชกะ จาก พรรคชาติพัฒนากล้า ระบุว่าทางพรรคจะช่วยผลักดันทุกข้อให้ถึงที่สุด พร้อมเน้นย้ำเรื่องความสำคัญของการเข้าถึงการทำงานอย่างเท่าเทียมโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายที่พรรคชาติพัฒนากล้ากำลังสนับสนุน

การจ้างงานหรือการเลื่อนตำแหน่งควรจะมีพื้นฐานอยู่บนสติปัญญา ความสามารถ ความทุ่มเท ในการทำงาน ไม่ควรจะเกี่ยวอะไรกับอวัยวะที่อยู่ระหว่างขาของคุณ นี่เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ประเด็นที่สอง การเลือกปฏิบัติในสถานที่ทำงาน ที่ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศหญิงหรือเพศหลากหลายก็แล้วแต่ มันเป็นสิ่งที่เราเรียกว่าริดรอนสิทธิมนุษยชนเพราะเราทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน (…) ประเด็นสุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงาน ในสังคม ในสภา หรือที่ไหน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือวิสัยทัศน์ของคนที่อยู่ในนั้น วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือการศึกษา (…) เราต้องมีการปฏิรูปกระทรวงศึกษาเพื่อที่จะสร้างสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรม ความเสมอภาค ต่อทุกเพศ ถ้าเราทำตรงนั้นสำเร็จแล้ว ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน เราก็จะมีบุคลากรประเทศชาติที่เข้าใจและตระหนักถึงความเสมอภาคทางเพศ”

ด้าน ฐิติพร ฌานวังศะ จาก พรรคเสมอภาค บอกว่า พรรคเสมอภาคมีนโยบายยกร่างกฏหมายส่งเสริมและคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งคุ้มครองตั้งแต่สิทธิ์การศึกษา การทำงาน การสมรส การรับบุตรบุญธรรม ตลอดจนสิทธิที่จะเป็นผู้นำทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ นอกจากนี้หัวหน้าพรรคเสมอภาคเองเคยเป็นอดีตรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ดังนั้นหากได้เข้าสภาครั้งนี้ จะสร้างสัดส่วนที่ชัดเจนของชายหญิงเป็นกฏหมายกำหนด พร้อมสร้างความคุ้มครองที่ชัดเจนในสถานที่ทำงาน 

“คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สบายมากในพรรคเสมอภาค ในส่วนของการตรวจหาเชื้อ HIV สำหรับบุคคลข้ามเพศพรรคเรามีนโยบายที่ส่งเสริมสนับสนุนในการที่จะสวัสดิการถ้วนหน้า ซึ่งตรงนี้เองจะมีข้อบังคับถูกย้ำอย่างชัดเจน พรรคเสมอภาคพร้อมที่จะสนับสนุน ผลักดันให้ทำได้จริงในระยะเวลาอันสั้น

ส่งท้ายประเด็นเรื่องสถานที่ทำงานด้วย ปวิศรัฐฐ์ ติยะไพรัช จาก พรรคเพื่อชาติ ที่ยืนยันว่า คนทำงานในสนามการเมืองเองก็ต้องเจ็บปวดกับสิ่งที่เรียกว่า ระบอบปิตาธิปไตย ที่มีอยู่จริงและจำต้องทำให้หมดไป เพราะเมื่อใดที่ระบบพรรคการเมืองเปลี่ยนแปลง เมื่อนั้นประเทศจะเจริญได้อย่างแท้จริง

เราจะต้องเปิดพื้นที่ผลักดันให้กับคนทุกเพศ ให้มีความเสมอภาคเท่าเทียม เคารพในความเป็นมนุษย์เหมือนกัน จะต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ผู้ชายจะต้องไม่ได้รับเงินเดือนและสวัสดิการที่มากกว่าเพศอื่น ๆ (…) การลาของคนข้ามเพศจะต้องเป็นสิทธิ์ที่ไม่ต่างจากการลาคลอดบุตรที่ทุกองค์กรต้องผลักดันให้เกิดขึ้น นั่นคือสิ่งที่พรรคเพื่อชาติเชื่ออย่างสุดหัวใจ ไม่ว่าเป็นเพศอะไรเราสามารถทำได้ทั้งสิ้น”

สุขภาพยังสองเพศ

นอกจากนี้ในพื้นที่ของสถานพยาบาลและหน่วยงานสาธารณสุขเองก็ยังเต็มไปด้วยการเลือกปฏิบัติไม่แพ้กัน กลุ่มเพศหลากหลายมากมายได้รับการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมจากบุคลากรทางการแพทย์ จนทำให้บางครั้งพวกเขาปฏิเสธที่จะเข้าสถานพยาบาลหากไม่ได้เจ็บป่วยถึงชีวิต นอกจากนี้ยังต้องเผชิญกับปัญหาการไม่สามารถเข้าถึงบริการทางด้านสุขภาพและสาธารณสุขได้โดยสะดวก ไปจนถึงเรื่องการซื้อประกันชีวิตที่มักตั้งราคาสูงกว่าราคาประกันชีวิตของชาย-หญิง ดังนั้นคำถามในด้านสุขภาพและสาธารณสุข จึงมีอยู่ว่า

“ถ้าเป็นรัฐบาล คุนจะทำอย่างไรให้ชุมชนผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศได้มีส่วนร่วมให้การกำหนดนโยบายด้านสุขภาพสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง”

ณิชกานต์ รักษ์วงฤทธิ์ จาก พรรคสามัญชน ระบุว่า จุดประสงค์หลักของเรื่องนี้คือการทำอย่างไรให้เจ้าของประเด็นได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดและออกนโยบาย และทำให้ระบบคุ้มครองผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งถือเป็นจุดยืนของพรรคสามัญชนอยู่แล้ว นอกจากนี้อีกหนึ่งปัญหาที่ไม่อาจมองข้ามได้ก็คือระบบสองเพศในระบบสุขภาพนั่นเอง

พรรคสามัญชนมีนโยบายเกี่ยวกับสาธารณสุขและสุขภาพที่มีความเป็นธรรมทางเพศ เพราะเราเชื่อว่าระบบสาธารณสุขตอนนี้มีรากฐานมาจากวิทยาศาตร์แบบชายเป็นใหญ่ที่กำหนดแค่ระบบสองเพศ แนวคิดนี้ไม่ได้อยู่ดี ๆ ก็เกิดขึ้นว่าเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นความจริง มันเกิดจากยุคสงครามยุคการล่าอาณานิคมที่ใช้มาเพื่อแบ่งแยก เพื่อสร้างอคติทางเพศ ดังนั้นพรรคสามัญชนไม่เอาระบบนี้ไว้หรอกค่ะถ้าเราได้เป็นพรรครัฐบาล”

พงศ์พล ยอดเมืองเจริญ จาก รวมไทยสร้างชาติ เสนอว่า ภายในบอร์ดบริหารควรมีตัวแทนภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม และการเลือกปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่ก็ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎ ดังนั้นอีกแนวทางที่สามารถช่วยได้คือการส่งเสริมบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นกลุ่มคนหลากหลายทางเพศให้มากขึ้น

“การถูกเรียกเป็นนาย นางสาวในโรงพยาบาลถือเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวอย่างนึง การใช้บริการรวมถึงเรื่องของปฏิเสธการบริจาคเลือด หรือเรื่องเอดส์เนี่ยก็สามารถออกกฎในเรื่องของการเลือกปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ตรงนี้ก็น่าจะขันน็อตให้แน่นขึ้นได้”

ด้าน ชานันท์ ยอดหงษ์ จาก พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ทางพรรคให้ความสำคัญกับสุขภาพเพราะสุขภาพถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เพื่อไทยจะพยายามผลักดันให้ประชาชนทุกคนได้เข้าถึงสวัสดิการ นอกจากนี้ยังมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการอบรมเจ้าหน้าที่ให้ความรู้ในเรื่องของ gender sensitive ไปพร้อม ๆ กัน

“เราให้ความสำคัญในการรวมตัวกัน ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ สมาพันธ์ผู้ปฏิบัติทางการแพทย์ ประชาชนที่ต้องการจะใช้บริการต่าง ๆ รวมไปถึง LGBTQ+ ด้วย ในหลักการของ SOGIE เราต้องปรึกษาหารือกันเพื่อออกแบบว่า จะทำอย่างไรดีให้ประชาชนทุก ๆ คน ทุก ๆ กลุ่มอัตลักษณ์ได้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน เข้าถึงสวัสดิการตรงนี้ได้อย่างถ้วนหน้าและครบถ้วนครับ

ในขณะที่ แทนคุณ จิตต์อิสระ จาก พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่าทางพรรคให้ความสำคัญกับเรื่องของการส่งเสริมในเรื่องสุขภาพ โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ หนึ่ง โครงสร้างทางกายภาพ มีการตรวจคัดกรองและส่งเสริมในแง่ของการให้ฮอร์โมนทั้งก่อนและหลังแปลงเพศ ผ่านกลไกของศัลย์แพทย์ จิตแพทย์ และสูติศาสตร์ รวมทั้งนารีเวชวิทยา สอง จิตสังคม การสื่อสาร การทำความเข้าใจ มีการจัดทำองค์ความรู้และพัฒนาหลักสูตรให้เกิดการยอมรับในอนาคตในเรื่องของอนามัยเจริญพันธุ์ที่รวมไปถึงสิทธิในการจัดตั้งครอบครัวของผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วย

สิ่งนี้ผมคิดว่าจะเป็นความก้าวหน้าอีกแบบ ไม่ใช่เฉพาะผู้ที่มีความหลากหลาย แต่รวมไปถึงลูกของพวกเขา เราไม่อยากให้เด็กที่เกิดมาจากความหลากหลายทางเพศในอนาคตต้องถูกบูลลี่หรือถูกมองในแง่ที่ไม่ดี” แทนคุณว่า ก่อนอธิบายส่วนที่ สาม นั่นก็คือ ข้อกฏหมาย ส่งเสริมการให้คำปรึกษา การลดการเหยียด หรือการใช้คำ เช่น คำนำหน้าที่ไม่ตรงกับเพศสภาพ นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV อยู่ได้อย่างมีความสุข ไม่ต้องถูกตรวจสามารถไปประกอบอาชีพอื่น ๆ ได้

สวัสดิการเพื่อกี่คน

หากมองให้ลึกขึ้นไปในพื้นที่ที่มีความทับซ้อนของอัตลักษณ์ เช่น การเป็นผู้พิการ ผู้สูงวัย หรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกล และเป็นประชาชนเพศหลากหลาย จะพบว่าพวกเขายังคงประสบปัญหาไม่มีสวัสดิการรองรับในวัยเกษียณ และเข้าไม่ถึงบริการของรัฐและเอกชนเนื่องจากเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ และความพิการในทุกช่วงอายุ ดังนั้นคำถามของประชาชนเพศหลากหลายด้านสวัสดิการของรัฐจึงมีอยู่ว่า

“คุณมีสวัสดิการด้านใดบ้าง นอกเหนือจากเบี้ยผู้สูงอายุ เบี้ยคนพิการ และเบี้ยชราภาพ”

ดร.ภาคิน เจริญนนทสิทธิ์ จาก พรรคไทยสร้างไทย ระบุว่า ทางพรรคได้เก็บข้อมูลและตระหนักถึงปัญหากลุ่ม LGBTQ+ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีการผ่าตัดแปลงเพศ จึงคิดว่าไทยสร้างไทยจะสนับสนุนกองทุนให้มีการผ่าตัดแปลงเพศเพื่อให้ผู้มีเพศหลากหลายสามารถเข้าไปสู่สภาพและบริบทที่เขาพึงจะอยู่ได้ โดยอาจรวมอยู่ในโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคที่คุณหญิงสุดารัตน์ทำมาแล้วในอดีต ส่วนในเรื่องของการตรวจสุขภาพ ทางพรรคจะผลักดันในการตรวจสุขภาพทุกช่วงวัย เน้นตรวจเจอไว รักษาไว เป็นหลัก

อนาคตการหาหมอให้ใช้นวัฒกรรมเข้ามาขับเคลื่อน แก้ไขปัญหาเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในด้านสุขภาพของกลุ่ม LGBTQ+ ครับ ให้โอกาสไทยสร้างไทยสร้างความเปลี่ยนแปลงสร้างสุขภาวะที่ดี เลือกไทยสร้างไทย”

ด้าน ดร.อุดมศักดิ์ ศรีสุทิวา จาก พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า พรรคชาติไทยพัฒนามีนโยบายชัดเจน โดยเน้นสร้างสวัสดิการที่เหมาะสม ใส่ใจผู้ด้อยโอกาส และสร้างครอบครัวอันอบอุ่น เพราะถือเป็นจุดเริ่มต้น และเป็นหน่วยย่อยที่สุด ทางพรรคจึงมีนโยบายแรกคลอด 5,000 บาท ค่าเลี้ยงดูตั้งแต่หนึ่งปีแรกเกิดจนถึง 10 ปี ปีละ 10,000 บาท และนอกจากเบี้ยคนพิการเป็น 3,000 บาท แล้วยังมีการสนับสนุนเรื่องการพัฒนาทักษะต่าง ๆ อีกด้วย นอกจากนี้ในส่วนของเด็กและสตรี ดร.อุดมศักดิ์ ระบุว่า ต้องปกป้องให้ดีที่สุด เพราะเด็กและสตรีมีคดีเกี่ยวกับเรื่องความรุนแรงทั้งด้านกายจิตใจและทางเพศปีละกว่า 20,000 คนทีเดียว

“เราอย่านิ่งเฉย แล้วก็อย่ายอม เพราะฉะนั้นกลุ่มที่มีความหลากหลายนอกจากทางเพศแล้ว กลุ่มคนพิการ เด็กและสตรีเราก็ต้องให้สวัสดิการที่เหมาะสม ชาติไทยพัฒนาแน่นอนครับ”

ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ จาก พรรคก้าวไกล บอกว่า ทางพรรคไม่สามารถนำเสนออย่างเดียวได้ เพราะคำถามถัดมาคือเอาเงินมาจากแหล่งใด โดยจากการทำบ้านอย่างหนักในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าหากตัดงบประมาณที่ไม่จำเป็น จะได้เงินกว่าหกแสนห้าหมื่นล้านบาท จากการลดขนาดกองทัพ ลดงบกลาง ลดเงินปัญผลของรัฐวิสาหกิจ ภาษีความมั่นคงคนที่ร่ำรวยมาก 1% ในประเทศไทย ภาษีนิติบุคคล สิทธิประโยชน์ BOI สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้สามารถนำมาเป็นเงินอุดหนุนเด็ก 6 ปี แรก 1,200 บาทต่อเดือน ของขวัญแรกเกิด 3,000 บาท เงินผู้สูงอายุเดือนละ 3,000 บาท และจ้างงานผู้พิการของรัฐได้กว่า 20,000 ตำแหน่ง

รัฐและเอกชนไม่เคยออกแบบเทคโนโลยีที่จะเอื้อให้ผู้พิการทำงาน เพราะเขามีความถนัดและสามารถทำงานได้ดีเท่ากับคนทุกคน การตาบอดทางเพศก็เป็นโครงการที่ธัญจะต้องทำ คงต้องให้ทุกท่านช่วยร่วมมือ ประยุทธ์เยียวยาผู้หญิง 5,000 บาท เยียวยาผู้ชาย 5,000 บาท คำถามคือเท่าเทียมไหม ในขณะที่ผู้ชายซื้อเบียร์ได้เลย ผู้หญิงต้องซื้อผ้าอ้อมลูก อันนี้แหละคือความไม่เท่าเทียม”

ขณะที่ ภิญโญ รู้ธรรม จาก พรรคเปลี่ยนอนาคต กล่าวว่า ปัจจุบันจากการคาดคำณวนแล้วมีคนพิการในไทยทั้งหมดประมาณ 4.5 ล้านคน แต่มีคนมีบัตรประจำตัวคนพิการเพียง 2.1 เท่า ในขณะที่อีก 2.4 ล้านคน ยังไม่มีบัตรและเข้าไม่ถึงสิทธิ์เดือนละ 800 บาท เป้าหมายของพรรคเปลี่ยนอนาคตจึงเป็นการพัฒนา พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ที่มีมาแล้วตั้งแต่ปี 2550 ให้ดีขึ้น 

“เป้าหมายของเราต้องให้ความรู้ต้องเข้าไปให้ความรู้ เรื่องของคนพิการ พรบ.คนพิการมีมาแล้ว 16 ปี รายละเอียดมีทั้งหมด งบประมาณมีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปตัดงบใคร ไม่ต้องไปผ่อนปรนใคร มีอยู่แล้วปีนึงประมาณหนึ่งหมื่นล้านบาทนั่นคือเป้าหมายของเรา ถึงเวลาเปลี่ยนอนาคตครับ”

แล้วใครจะทลายภาพจำ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า อีกหนึ่งผู้เล่นสำคัญที่ส่งผลต่อการรับรู้และความเข้าใจถึงความหลากหลายทางเพศนั้นเป็นใครไปไม่ได้เลยนอกจากสื่อ เพราะแม้จะมีความเคลื่อนไหวทางสังคมเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของกลุ่มประชาชนเพศหลากหลายเพิ่มมากขึ้น แต่สื่อหลัก รวมไปถึงสื่อบันเทิงยังคงนำเสนอตัวตนหรือเรื่องราวของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศแบบเหมารวม รวมไปถึงมีการใช้ภาษาที่ตีตรา ล้อเลียน เสียดสี ตอกย้ำ และผลิตซ้ำอคติทางเพศ ทั้งยังมีการคัดกรองและตัดทอนเนื้อหาที่ว่าด้วยคนหลากหลายทางเพศออกจากพื้นที่สื่อให้เห็นอยู่บ่อย ๆ ดังนั้นคำถามในหมวดหมู่สื่อจากผู้ได้รับผลกระทบจึงมีอยู่ว่า

“หากได้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมการปรับปรุงจริยธรรมสื่อ พรรคของคุณจะผลักดันการเปลี่ยนแปลงการนำเสนอเนื้อหาให้มีความเคารพความหลากหลายทางเพศ และเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างไรบ้าง”

เริ่มด้วย ณัฏฐ์ มงคลนาวิน จาก พรรคภูมิใจไทย ที่กล่าวว่า ในประเด็นสื่อต้องเป็นความร่วมมือของสื่อและประชาชน เพราะเราต่างปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อตีแผ่ประเด็นในลักษณะดังกล่าวเพราะประชาชนชอบเสพเนื้อหาลักษณะนี้ “ทุกวันนี้ที่เราคลิกเข้าไปดูข่าวทอมหึงโหดฆ่ากัน สื่อเขาเก็บข้อมูลว่าคนเข้าไปดูแค่ไหน ถ้าเราดูในมุมมองสื่อขายข่าวนี้อย่างนี้มันขายได้ เพราะฉะนั้นในทางมุมมองของประชาชนเราก็ควรหยุดสนับสนุนการดูข่าวเหล่านี้” ณัฏฐ์ กล่าว

อย่างไรก็ตามในมุมมองของทางพรรคการเมือง พรรคภูมิใจไทยก็สนับสนุนเรื่องการสร้างความตระหนักรู้และทำการสื่อสารออกไปว่าสื่อเหล่านี้ไม่สร้างสรรค์

วรนัยน์ วาณิชกะ จาก พรรคชาติพัฒนากล้า ระบุว่า ปัญหาในวงการสื่อนั้นไม่ต่างกับสังคมเพราะต่างตกอยู่ในระบอบชายเป็นใหญ่ ประเทศไทยยังเต็มไปด้วยสื่อที่ผลิตโดยผู้ชาย ซึ่งถือเป็นมูลเหตุสำคัญในการสร้างแนวคิด ทัศนคติ หรือส่งต่อสิ่งไม่ดี เช่น วัฒนธรรมข่มขืน และการสร้างภาพจำว่าเพศหลากหลายเป็นตัวตลกผ่านหน้าจอ

ทุกสิ่งทุกอย่าง ผู้ที่ตัดสินใจเป็นผู้ชายทั้งนั้น เลวร้ายยิ่งกว่านั้นเป็นผู้ชายที่ใส่เสื้อสีกากีที่มีความคิดดึกดำบรรพ์ คนที่ตัดสินว่าสังคมไทยอะไรเหมาะสม ไม่เหมาะสมเป็นกลุ่มคนที่ไม่ทันสมัย เพราะฉะนั้นวิธีการแก้คือ แก้วิสัยทัศน์” วรนัยน์ กล่าว ก่อนเสริมว่า คณะกรรมการภายในกองเซ็นเซอร์ กระทรวงวัฒธรรม หรือหน่วยงานใด ๆ ที่เกี่ยวข้องต้องมีการนำเสนอภาพแทนของทุกคนไม่ใช่แค่เพศชาย โดยสิ่งที่ผลิตออกมาต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนสร้างสรรค์ ทันสมัย และพร้อมที่จะรองรับเข้าใจทุกเพศสภาพและปัญหาของทุกเพศสภาพ

ด้าน ฐิติพร ฌานวังศะ จาก พรรคเสมอภาค กล่าวว่า สื่อสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ สื่อสารมวลชน และสื่อบันเทิง ซึ่งสื่อบันเทิงนั้นมักมาจากกรอบประเพณีเดิม ดังนั้นสิ่งสำคัญ คือ รัฐอาจจำต้องเข้าไปมีมาตราฐานและกรอบคุยกันว่า ถ้าคุณเอาประเพณีแบบเดิม ๆ มาสื่อสาร สิ่งเหล่านั้นเข้ากับบริบทคนในวันนี้หรือไม่

มันน่าจะมาเบลนโดยที่รัฐ หรือสื่อสร้างสรรค์ หรือกระทรวง ทบวง กรมมามีบทบาท หรือพวกเราเองน่าจะเข้าไปมีส่วนได้ ในมุมของความเท่าเทียม มองว่าตอนนี้สื่อเองรับรู้ถึงการเรียกร้องและต้องการสิ่งนี้คืนกลับมา แต่กลุ่มคนที่สื่อเป็นกลุ่มคนแบบเก่าอีกเหมือนกันที่ไม่พยายามจะเข้าใจเลย เราเลยคิดว่าต้องเอามาตราการของรัฐนี่แหละเข้าไปกำกับดูแล และพยายามทำให้สิ่งเหล่านี้ก้าวเดินไปเป็นปัจจุบันและอนาคต ยอมรับและคืนสิ่งเหล่านี้ให้ LGBTQ+ กลับเข้ามาในสื่อสังคมที่ดีต่อไปได้”

ในขณะที่ ปวิศรัฐฐ์ ติยะไพรัช จาก พรรคเพื่อชาติ ระบุว่าตนและพรรคมีความเข้าใจดี ไม่สบายใจ และรู้สึกยอมรับไม่ได้กับการที่สื่อนำเสนอแบบมีอคติทางเพศ หรือฉายภาพจำผิด ๆ ของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศซ้ำไปมา ซึ่งทำให้คนในสังคมคิดว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ปรกติและยอมรับได้ และอาจส่งผลไปยังสถานที่ต่าง ๆ ที่พวกเราต่างต้องใช้ชีวิต เช่น ในโรงเรียน ที่ทำงาน หรือแม้กระทั่งในสังคมแบบภาพใหญ่ ข้อเสนอของพรรคเพื่อชาติจึงแบ่งเป็นสองมุมนั่นก็คือแก้ปัญหาที่ปลายเหตุผ่านการปรับปรุงจริยธรรมหรือจรรยาบรรณของสื่อ ที่ต้องระบุว่าสิ่งใดถูกผิด หากไม่ได้มาตรฐานจำต้องพัก เพิกถอนใบอนุญาต หรือโดนปรับ 

ในขณะที่การแก้ที่ต้นเหตุคือ การแก้ไขการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ทักษะตลอดชีวิต ก่อนที่จะได้ใบรับอนุญาตเป็นสื่อมวลชน ซึ่งรวมไปถึงผู้ที่จะผลิตสื่อใดก็ตามจำต้องมีการเรียนและสอบเรื่องจริยธรรม ความหลากหลายทางเพศ พร้อมแก้คำนิยามคำว่าดีงามแบบไทยดั้งเดิมของกระทรวงวัฒธรรม ที่ยังคงมีแค่เพศหญิงและชาย แม้อุตสาหกรรมซีรีส์วายของไทยจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศเป็นอย่างมากในปัจจุบัน

เราจะเคารพกันได้ถึงไหน

สุดท้ายแล้วเส้นทางของการเรียกร้องสิทธิของเพศหลากหลายในประเทศไทยยังคงเป็นการต่อสู้ระยะยาว แต่ก็ยังคงเดินหน้าอยู่ทุกวันไม่ว่าจะในหรือนอกสภา ทว่าในระบอบประชาธิปไตยที่ต้องเคารพทุกเสียง ทุกความเห็นนี้ ในฐานะตัวแทนประชาชนสามารถไม่ส่งเสริมสิทธิเพื่อคนทุกเพศได้หรือไม่ คำถามสุดท้ายจากเจ้าของประเด็นด้านกฎหมายก่อนจะจากกันไปจึงมีอยู่ว่า

หาก สส.ในพรรคของคุณตัดสินใจไม่ลงคะแนนเสียง หรือต่อต้านนโยบายที่ส่งเสริมสิทธิของผู้มีหลากหลายทางเพศอย่างชัดเจน คุณจะมีการแก้ปัญหาอย่างไร”

ณิชกานต์ รักษ์วงฤทธิ์ จาก พรรคสามัญชน กล่าวว่า หากพรรคสามัญชนได้มีที่นั่งในสภา แล้วมีการโหวตไม่รับรองซึ่งสวนกับมติพรรคจะถือว่าเป็นการกระทำที่ ขัดจริยธรรม โดยตรง เพราะสามัญชนมีนโยบายเรื่องฐานรากเท่าเทียมและเป็นธรรม ให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมในทุกมิติ ทุกอัตลักษณ์ทับซ้อน เพราะถือเป็นการเคารพภาคประชาชน

ถ้าเกิดว่าคนในพรรคไม่ได้มีจุดยืนเหมือนเรา ไม่ได้เชื่อในหลักการเฟมินิสต์ ไม่ได้เชื่อในเรื่องการทำลายและปฏิรูประบบที่เป็นปิตาธิไตย เราก็ต้องพิจารณาเพื่อทบทวนสถานะของคุณที่อยู่ในพรรค

พงศ์พล ยอดเมืองเจริญ จาก พรรครวมไทยสร้างชาติ ระบุว่าตนไม่สามารถตอบแทนทั้งพรรคได้ แต่ส่วนตัวมองว่า หาก สส.มีความเห็นสวนทางกับมติพรรค ก็ถือเป็นหนึ่งความคิดเห็นในระบอบประชาธิปไตยที่ต้องได้รับความเคารพเช่นเดียวกัน 

“พรรครวมไทยสร้างชาติก็ไม่ได้มีนโยบายให้ผู้สมัครวิ่งไปในแนวทางใดทางหนึ่ง มักจะเป็นความสมัครใจมากกว่า ตัวผมเองก็ยืนยันชัดเจน ร่าง พรบ.2 ฉบับนี้ ผมสนับสนุน พรบ.อัตลักษณ์และพรบ.สมรสเท่าเทียม ไม่ว่า สส.ในพรรคจะเห็นแบบไหน ผมก็ไม่สามารถจะไปตัดสินแทนเขาได้ เพราะนั่นเป็นชุดความคิดของพวกเขาซึ่งต่าง อาจจะมองคนละมุมกับพวกเราซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ยังไงก็สนับสนุนเต็มที่”

ด้าน ชานันท์ ยอดหงษ์ จาก พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หากพูดถึงเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ภายในพรรคต้องมีการพูดคุยกันหลายต่อหลายครั้ง อย่างไรก็ตามหากมี สส.บางคนโหวตสวนหรือโหวตต่างกันในเรื่องของ พรบ.สมรสเท่าเทียม และคุ้มครองอัตลักษณ์ทางเพศ พรรคเองก็มีมาตราการรับมือเช่นเดียวกัน 

ยังไงก็ตามเราต้องให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นหลัก คนที่โหวตร่าง พรบ.ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน เป็นการหักหลังประชาชน (…) แต่ไม่ต้องห่วงนะครับพรรคเพื่อไทยไม่มีคนที่เป็น homophobic เลย จากการที่ผมได้ทำงานในนี้แล้วก็ทุกคนพร้อมที่เรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นคนที่ไม่เข้าใจในเรื่องของความหลากหลายทางเพศ แต่ก็พยายามเรียนรู้ เรามีการแลกเปลี่ยนกันสม่ำเสมอ เพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวลเลยว่าสอง พรบ.นี้ จะถูกโหวตว่าไม่ผ่านโดยพรรคเพื่อไทย”

ส่งท้ายด้วย แทนคุณ จิตต์อิสระ จาก พรรคประชาธิปัตย์ ที่ระบุว่า ตลอดระยะเวลา 4 ปี ที่ผ่านมา หัวหน้าพรรคได้มอบให้ตนทำงานด้านนี้อย่างเข้มข้นและจริงจัง และผลักดันแทนคุณให้ไปเป็นกรรมาธิการในสภาเพื่อยกมือผ่านวาระแรก และยังอยู่ในวาระที่ 2 จนยุบสภาไป อย่างไรก็ตามหากมีกลุ่ม สส.ที่อาจเห็นต่างเพราะความเชื่อทางศาสนา พรรคก็จำต้องทำความเข้าใจและสื่อสารกัน เพื่อให้ตกผลึกร่วมกันว่า เราควรจะเคารพในความแตกต่างในทางศาสนา คนก็เคารพคนอื่นในการแตกต่างทางเพศได้เหมือนกัน ดังนั้นหากมีการสวนมติพรรค ประชาธิปัตย์มีมติชัดเจนว่าต้องขับออก โดยถือเป็นฉันทานุมัติที่เด็ดขาด

นี่คือสิ่งที่เรายืนหยัดในความเป็นสถาบัน ตราบใดที่ผมยังมีชีวิตอยู่ ผมยังอยากเห็นสมรสเท่าเทียมเกิดขึ้น ไม่ใช่ทำเพื่อพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช่ทำเพื่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น แต่ทำเพื่อประเทศไทย จะได้ยืนอยู่บนเวทีของสังคมโลกอย่างสง่างาม ว่าเราส่งเสริมเรื่องความหลากหลายทางเพศผ่านกลไกด้านสิทธิมนุษยชน”