เปิดออเดอร์ 9 พรรคการเมือง สิทธิสวัสดิการไรเดอร์ที่เป็นไปได้ - Decode
Reading Time: 4 minutes

เตรียมตัวนับถอยหลังเข้าสู่เลือกตั้งเพื่อคน 99% แต่หนึ่งในอาชีพที่ว่ากันว่าเป็นอาชีพแห่งอนาคตอย่าง ‘ไรเดอร์’ วันนี้ยังไม่ถูกคุ้มครองหรือมองในฐานะแรงงาน อุบัติเหตุ การดูถูก คุกคาม ยังคงเกิดขึ้นกับพวกเขาแบบรายวัน เพราะพวกเขามีโต๊ะทำงานเป็นมอเตอร์ไซค์ มีออฟฟิศเป็นท้องถนน และมีความเสี่ยงถึงชีวิตเป็นโบนัส

3 เรื่องราว 0 การคุ้มครอง

มุก เป็นไรเดอร์เข้าปีที่ 4 ขับขี่ย่านกลางเมืองกรุงเทพมหานครฯ  มุกเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ตอนเช้าวิ่งงาน เย็นกลับไปขายของ เพื่อเลี้ยงดูแม่และลูกอีก 2 คน วันหนึ่งมุกเจอรถตัดหน้าแบบไม่ทันตั้งตัวขณะรับผู้โดยสาร เมื่อลืมตาตื่นขึ้นถึงที่โรงพยาบาล หลังจากติดต่อญาติเสร็จสรรพ มุกติดต่อหาบริษัทถึงสิ่งที่เกิดขึ้น แต่คำตอบของบริษัทกลับเป็นคำว่า ให้มุกใช้ประกันรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้นเองเพราะยังค้าง พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์อยู่ แต่คนหาเช้ากินค่ำอย่างมุกนั้น ลำพังหาเงินเติมน้ำมันยังไม่พอ ในส่วนของลูกค้า บริษัทก็คงได้แค่แสดงความเสียใจ แลกกับการที่มุกถูกปิดระบบโดยที่ไม่รู้ว่าถูกหรือผิด 

มุกวิ่งงาน เสียค่าคอมมิชชั่น และพบความเสี่ยงตลอดเวลา แม้สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งนั้นมุกจะเป็นฝ่ายถูกและไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ทว่าระบบการวิ่งงานที่กดดันและไร้ความโปร่งใส ก็ทำให้มุกลาออกในที่สุด

“วันนึงเราถามลูกว่า โตขึ้นมาอยากเป็นอะไร เขาก็บอกอยากเป็นไรเดอร์เหมือนแม่ เราก็ไม่ได้ละ เราต้องสู้ ถ้ากับเราอาชีพนี้ยังไม่ยุติธรรม แล้วกับลูกเรา เขาจะอยู่ยังไง”

ชาติ เป็นอดีตพนักงานขับรถตู้ก่อนผันตัวมาเป็นไรเดอร์ส่งอาหารที่ย่านนิคมอุตสาหกรรม จังหวัดชลบุรี ที่เต็มไปด้วยรถสิบล้อ และรถเทรลเลอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาเร่งด่วนที่ไม่อาจเลี่ยงได้ บางวันชาติต้องหลบไปทุ่งนา เจอกับหลุมบ่อ เพื่อหลบจราจรคับคั่งที่นอกจากจะรถเยอะแล้ว อุบัติเหตุก็ดูเหมือนจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

น้องร่วมอาชีพของชาติโดนรถเหยียบทับคาหมวกกันน็อคเสียชีวิต บางคนหัวใจล้มเหลวขณะยังรับงาน ทว่าชาติยังคงทำอาชีพนี้ต่อ เพื่อรอดูเรื่องประกันอุบัติเหตุที่จะดูแลตนและคนอื่น ๆ ได้ เพราะในตอนนี้ชาติเองก็เป็นเส้นเลือดในสมองตีบเพราะใส่หมวกกันน็อคแล้วไม่ถอด หมอบอกเหตุเพราะชาติขาดออกซิเจนในการหายใจ

“ถามว่าทำไมเวลาไปเอาอาหารไม่ถอดหมวก คือ ช่วงจังหวะเร่งรีบ บางทีผมไปถึงร้านแล้วผมก็ต้องรีบเอาไปส่งลูกค้า แต่ก็จะช่วงที่ผมขี่รถเร็วกันคือช่วงประมาณสิบเอ็ดโมงถึงบ่ายโมง ช่วงนั้นผมจะรีบทำรอบเพราะว่าถ้าเราทำเยอะ เราก็จะได้เยอะ ถ้าช่วงนั้นทำได้น้อยก็จะไม่ได้เลย”

จ๋า เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวลูกสองที่วิ่งรับงานย่านฝั่งธนเป็นหลัก ก่อนหน้านี้จ๋าเคยทำงานมาหลากอาชีพ เป็นวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างสิบกว่าปี ขับแกร็บสี่ปี จ๋าเคยคิดว่าการเป็นแรงงานแพลตฟอร์มเป็นเส้นทางที่ทันสมัยและจะสร้างรายได้พอจุุนเจือครอบครัว ทว่าสิ่งที่จ๋าเห็นกับสิ่งที่เป็นกลับไม่ใช่อย่างที่หวัง ทั้งประกันทิพย์ที่เต็มไปด้วยข้อแม้จนยากจะใช้งานจริง การถูกปฏิเสธว่าไม่ใช่ลูกจ้างผ่านสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ไปจนถึงการถูกคุกคามและเหยียดหยามขณะทำงาน

จ๋าโดนดูถูกจากสังคม ลูกค้า และร้านค้า จ๋าพบกับพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศจากผู้โดยสาร ที่เมื่อแจ้งบริษัทไปก็ไม่พบกับวิธีแก้ปัญหาที่ถูกจุด สถานะของไรเดอร์ที่ไม่ได้รับการคุ้มครองนี้ถือเป็นความรู้สึกทรมานด้านจิตใจในมุมมองของจ๋า

“อยากขอให้เห็นใจไรเดอร์ จ๋าเคยโดนด่าว่าไม่มีสมองเหรอ เธอโง่ขนาดนั้นเลยเหรอ ลูกค้าอยู่ตรงนู้นแบบนี้ โหพี่เราพูดอะไรไม่ได้ ทำไมต้องมาเจออะไรแบบนี้ ดูถูกกันเกินไป อยากให้เห็นว่าไรเดอร์โดนกดดันหลายทางทั้งลูกค้า ร้านค้า รีบแดดร้อน แพลตฟอร์มไม่ให้ความคุ้มครอง ต้องเก่งขนาดไหน”

การเข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะแรงงานเต็มตัวของทั้งสามยังคงอยู่ในสถานะ loading… ไม่ต่างจากเพื่อนร่วมอาชีพอีกมากมายที่ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่คำถามมากมายในวันนั้น กำลังจะได้คำตอบในวันนี้ จากการถามตรง ๆ – ตอบตรง ๆ ต่อประเด็นอุบัติเหตุและการคุ้มครองความปลอดภัยของไรเดอร์ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจระหว่างปฏิบัติของเหล่าตัวแทนนักการเมือง ในกิจกรรม ‘สิ่งที่เห็น’ กับ ‘สิ่งที่เป็น’ ไรเดอร์ 2023 : ออกแบบอนาคตสวัสดิภาพและความปลอดภัยของแรงงานแพลตฟอร์ม ที่จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 18 มีนาคม 2566 ณ มุมสามเหลี่ยม ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร (BACC) จะถูกใจ ไม่ถูกใจใคร ก็ต้องลองชั่งน้ำหนักไปพร้อมกัน

100 วันอันตราย

ไฮไลท์ของงานคือช่วงถาม-ตอบโชว์วิสัยทัศน์ แก้ปัญหาความเปราะบางของไรเดอร์จากเหล่าตัวแทนพรรคการเมือง โดยคำถามแรกที่ให้พวกเขาได้ประชันกันมาจาก วรดุลย์ ตุลารักษ์ นักวิจัยอิสระ ตัวแทนนักวิชาการ ผู้คลุกคลีกับประเด็นแรงงานแพลตฟอร์ม ด้วยคำถามที่ว่า:

“หากได้เข้าสภา 100 วันแรก คุณจะทำอะไรกับสิทธิแรงงานแพลตฟอร์ม”

ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และประธานนโยบาย พรรคประชาธิปัตย์ มองว่าสิ่งที่ต้องทำภายในสองสามเดือนนี้ครับ คือการยื่นเรื่องแรงงานแพลตฟอร์มต่อคณะกรรมการสิทธิ์ให้วินิจฉัยแล้วก็ให้กระทรวงแรงงานปฏิบัติ

วรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้า พรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า ต้องมีการเจรจาโดยดึงตัวแทนไรเดอร์มาคุยกับภาครัฐ ซึ่งเป็นตัวแทนที่จะปกป้องผลประโยชน์ทั้งไรเดอร์และประชาชน พร้อมยกตัวอย่างกรณีของต่างประเทศอย่างอังกฤษและเยอรมนีที่รับรองแล้วว่าไรเดอร์คือพนักงาน ดังนั้นจึงไม่มีเหตุใดที่ประเทศไทยจะตีความว่าไรเดอร์ไม่ใช่พนักงาน นอกจากนี้ยังต้องพูดไปไกลถึงเรื่องสวัสดิการ หรือแม้กระทั่งการจ่ายเงินค่าเสื้อแรกเข้าที่ไม่สมเหตุสมผลด้วย

“ใส่เสื้อโฆษณาให้ทุกแพลตฟอร์มแต่ทำไมต้องจ่ายค่าเสื้อ เป็นคนโฆษณาต้องเป็นคนเก็บตังด้วยซ้ำ ไม่งั้นแพลตฟอร์มเขาจะดังได้ไงถ้าคุณไม่ใส่เสื้อเขา เรื่องแบบนี้แหละต้องมาคุยกัน เราคุยกันด้วยเหตุผล แต่หลักการคือคุ้มครองผลประโยชน์ของไรเดอร์ ดึงเข้าสู่กฎหมายแรงงานอย่างถูกต้อง กฎหมายแรงงานเดี๋ยวนี้มีช่องโหว่เพราะแพลตฟอร์มเป็นเรื่องใหม่ รัฐตามไม่ทัน เรื่องแบบนี้ต้องเอารัฐที่ตามทันเข้าใจกลไกต่าง ๆ เข้ามาบริหารจัดการ”

“อยากจะให้มานั่งคุยทั้งหมด solution ที่อยากจะให้เห็นคือค่าจ้างต้องเป็นธรรมต้องเป็นไปตามที่พี่ ๆ เรียกร้อง ต้องอยู่ในจุดที่ธุรกิจต้องไปด้วยได้ สวัสดิการต้องครอบคลุมทั้งหมด และต้องมีความเท่าเทียมรวมถึงมองเรื่องการคุกคามทางเพศ” คือมุมมองของ ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ โฆษก และ ผอ.ศูนย์นโยบาย พรรคไทยสร้างไทย 

โดยธิดารัตน์ เล็งเห็นว่า สามสิ่งที่ด่วนที่สุดของเรื่องแรงงานแพลตฟอร์มคือ ค่าจ้าง สวัสดิการ และความเท่าเทียม ดังนั้นภายใน 100 วัน จำต้องเอาห้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาคุยกัน นั่นก็คือ กระทรวงแรงงานที่รับผิดชอบโดยตรงกับแรงงานนอกระบบ เจ้าของแพลตฟอร์มซึ่งเป็นภาคเอกชนเพื่อหาจุดสมดุลระหว่างไรเดอร์และเจ้าของแพลตฟอร์ม องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ILO เพื่อศึกษากรณีตัวอย่างจากต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ เยอรมัน สเปน ที่ตอนนี้ให้ไรเดอร์ถูกกฎหมายเป็นลูกจ้างได้แล้ว ที่คาดไม่ได้เลยคือไรเดอร์ ที่ควรมีส่วนในการกำหนดกฎหมาย พร้อมด้วยคุณวรดุลย์ ตุลารักษ์ นักวิจัยอิสระเจ้าของคำถามที่ศึกษาเรื่องไรเดอร์มากที่สุด 

ต่อมา มานิตย์ พรหมการีย์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า ในปัญหาสิทธิขั้นพื้นฐานของไรเดอร์คือเรื่องความปลอดภัยและความมั่นคงรวมทั้งสิทธิประโยชน์เป็นหลัก เพราะบริษัทไม่ได้มองไรเดอร์เป็นหุ้นส่วน หรือพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจอย่างที่ควรจะเป็น

“ผมก็ไม่เห็นด้วยที่มาเอาเปรียบคนงานไทย ผมก็เป็นคณะกรรมการพูดคุยกับพี่น้องแรงงานนอกระบบจนกระทั่งเรามี พรบ.ส่งเสริมคุ้มครองแรงงานอิสระ (…) ร่างตัวนี้คนที่ทำงานไรเดอร์อย่างพวกเราก็จะเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นการประกอบอาชีพ การทำงานเลี้ยงชีพ ความปลอดภัยในการทำงาน รวมทั้งการรวมตัวกัน”

ในขณะที่ นิกร จำนง ประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ตนเคยมีประสบการณ์เรื่องรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างป้ายเหลืองไฮโปเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว ดังนั้นข้อเสนอต่อรัฐบาลของนิกรคือให้กระทรวงแรงงานมีนโยบายส่งเสริมคุ้มครองกฎหมายแรงงานและกฎหมายประกันสังคม เพื่อให้คนขับรถแท็กซี่หรือรถรับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกเป็นอาชีพประจำ ที่ได้รับสิทธิ์สวัสดิการด้านแรงงานมีสิทธิประโยชน์ด้านสวัสดิการด้านกฎหมายถูก

“มอไซค์รับจ้างประเทศไทยผมเป็นคนทำ เรื่องแค่นี้ผมทำได้”

ทางเลือกสามของพลเมืองชั้นสอง

คำถามที่สองมาจาก ภัทรภรณ์ ศรีทองแท้ บรรณาธิการเว็บไซต์ Decode ไทยพีบีเอส ตัวแทนสื่อ ด้วยคำถาม:

“หากการเป็นแรงงานในระบบไม่ตอบโจทย์ นอกระบบก็ไม่ใช่ พอจะมีทางเลือกที่สามสำหรับแรงงงานแพลตฟอร์มบ้างหรือเปล่า”

ในส่วนนี้ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผอ.สถาบันวิจัยนโยบายเพื่ออนาคต พรรคก้าวไกล มองว่า ทางเลือกที่สามคือการออกพระราชบัญญัติในการทำงานบนแพลตฟอร์ม ที่กำหนดภาระหน้าที่ของแต่ละฝ่ายอย่างชัดเจน โดยสิ่งแรกที่ต้องทำคือสัญญามาตรฐาน สอง ตั้งเกณฑ์การทำงานผลตอบแทนขั้นต่ำ สาม กำหนดกลไกการพิจารณาข้อพิพาทดังกรณีของมุกที่โดนปิดไปแม้สุดท้ายไม่ได้ผิด และข้อสุดท้ายคือสนับสนุนการรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงาน

“อันนี้คือทางเลือกที่สาม แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าความพยายามของหลาย ๆ พรรค โดยเฉพาะท่านอาจารย์พิสิฐนั้นเราจะไม่สนับสนุน สิ่งนี้คือในชั้นต้นก่อนที่จะมีการร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้แล้วเสร็จ”

“หลายท่านพูดเรื่องอุบัติเหตุ การไปดูแลเรื่องอุบัติเหตุปลายทางอาจจะยังไม่ใช่คำตอบ ผมอยากชวนดูเรื่องต้นทางของอุบัติเหตุเกิดจากอะไร เกิดจากอัลกอรึทึมที่พยายามบีบคั้นให้แรงงานทำงานหนักเกินไปในช่วงเวลาที่จำกัดเกินไป ในช่วงเที่ยงอย่างนี้พี่น้องแรงงานก็ต้องวิ่งรอบกัน นั่นคือสาเหตุของการที่เกิดอุบัติเหตุ” คือมุมมองของ เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรค และผู้อำนวยการศูนย์นโยบาย พรรคเพื่อไทย 

เผ่าภูมิ ไม่คิดว่าแรงงานแพลตฟอร์มจะเหมาะสมสำหรับกฎหมายที่มีอยู่เพื่อแรงงานในระบบ ทั้งยังแล้วไม่เหมาะสมสำหรับแรงงานที่อยู่นอกระบบ ดังนั้นทางเลือกที่สามจึงคล้ายกับพรรคก้าวไกลที่กล่าวว่า ควรมีกฎหมายกำกับดูแลและปกป้องสิทธิ์ของหน่วยงานนอกระบบจำเพาะ โดยในส่วนของค่าจ้างควรมีเกณฑ์ในการระบุให้ไม่น้อยไปกว่าแรงงานในระบบหากทำงานเทียบเท่ากัน รายได้ของเหล่าไรเดอร์ควรหักด้วยค่าน้ำมัน ค่าเสื่อม ค่าความเสี่ยงอุบัติเหตุ และค่าประกัน นอกจากนี้เรื่องความโปร่งใสของอัลกอริทึมเองก็สำคัญไม่แพ้กัน

ด้าน ปณิธ ปวรางกูร กรรมการบริหาร พรรคสามัญชน เห็นด้วยกับทางเลือกที่สาม แม้พรรคจะยังไม่ได้ออกนโยบายชัดเจน แต่สิ่งพรรคสามัญชนสามารถยืนยันได้คือต้องการให้ไรเดอร์มีสถานะที่ชัดเจน มีการคุ้มครองทางด้านแรงงานต่างๆ รัฐบาลเข้ามาคุ้มครองการรวมกลุ่มของไรเดอร์ตั้งแต่ยังไม่เป็นสหภาพ พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของรัฐบาลที่ควรเข้าไปควบคุมแพลตฟอร์มโดยเฉพาะเรื่องของอัลกอริทึมให้โปร่งใส และไม่รบกวนการทำงานของแรงงาน 

“จากที่สอบถามในกลุ่มไรเดอร์ เขาพูดว่าเขาทำงานไม่ต่ำกว่า 12-16 ชั่วโมงต่อวัน ควรเพิ่มค่ารอบ ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็น ถ้าค่ารอบพอเราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องวิ่งงาน 16 ชั่วโมงต่อวัน ก็ขอฝากครับ” 

ในขณะที่ รักษ์ชาติ วงศ์อธิชาติ รองเลขาธิการ พรรคเพื่อชาติ เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.แพลตฟอร์ม และขอชูเป็นนโยบายหลักของพรรคซึ่งปรากฏบนป้ายหาเสียงเรียบร้อยแล้ว โดนผลักดันข้อเสนอที่จะทำให้แรงงานแพลตฟอร์ม ร้านค้า และผู้ใช้บริการเกิดความเป็นธรรมมากที่สุด

“ผมเองก็เคยเป็นไรเดอร์มาก่อนนะครับ เคยทำงานกับบริษัทที่ถูกปิดตัวไปแล้ว เคยขับรถ แล้วก็เข้าใจเรื่องสวัสดิการของแรงงานดี จะผลักดันเรื่องนี้ เรื่องแรงงานแพลตฟอร์มให้ทุกคนมีสวัสดิการดี มีประกันสังคมแล้วก็ประกันอุบัติเหตุ แล้วที่สำคัญที่ทุกท่านบอกไป เรื่องอัลกอรึทึมในสเปนนะครับ มีไรเดอร์พูดถึงเรื่องของเดอะไรท์ทูบีอินฟอร์ม อัลกอริทึมทำให้สามารถเปิดหาข้อมูลอัลกอริทึมและการคำนวณครับ”

อุบัติเหตุเหนือกฎเวลา

คำถามต่อมา มาจาก สมชาติ เรืองภู ตัวแทนแรงงานไรเดอร์ที่ต้องการทราบว่า:

“จะเป็นไปได้ไหม หากไรเดอร์จะสามารถได้ประกันอุบัติเหตุตั้งแต่วันแรกที่ทำงาน” ซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นบนท้องถนนที่เต็มไปด้วยสิ่งไม่คาดฝันที่ไม่เลือกวัน สถานที่ หรือระยะเวลาการทำงานสั้นยาว

โดย ปณิธ ปวรางกูร กรรมการบริหาร พรรคสามัญชน ระบุว่า ถ้าไรเดอร์สามารถเข้ามาอยู่เป็นแรงงานที่ถูกรับรองโดย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานแล้ว จำต้องให้ประกันสังคมครอบคลุมอาชีพที่เป็นแรงงานแพลตฟอร์ม ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ผ่านกระบวนการคุยกันระหว่างไรเดอร์ แพลตฟอร์มและรัฐ โดยรัฐต้องเข้าเป็นตัวกลางในการจัดการและพยายามคุ้มครองแรงงานโดยตรง

วรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้า พรรคชาติพัฒนากล้า คิดการเข้าทำงานแล้วได้ประกันทันทีเป็นไปได้ค่อนข้างยาก ด้วยเหตุผลว่าเราไม่สามารถรู้ได้ว่าไรเดอร์จะทำงานนานเพียงใด ซึ่งในส่วนนี้ควรเป็นหัวข้อที่ต้องนำมาหารือกันอีก โดยอาจกำหนดเกณฑ์ว่าทำงานสะสมมากี่ชั่วโมง รายได้เท่าใด แล้วได้ประกันทันที ซึ่งไม่ใช่เพียงประกันอุบัติเหตุอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงสวัสดิการอื่นๆ อย่างบำเหน็จบำนาน หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งปกติแล้วจำต้องได้ในฐานะพนักงานถ้าเป็นบริษัทที่ดี

“ต้องยอมรับว่าไรเดอร์ไม่ได้เป็นคนมีอันจะกินนะ ฉะนั้นเราต้องมีเงินทุนสำรองให้เขามีความหวังกับชีวิตมีโอกาสพัฒนาตัวเอง เรื่องแบบนี้ต้องคุยกัน ภาครัฐต้องมาเป็นตัวกลางที่คุยกับไรเดอร์ คุยกับแพลตฟอร์มแล้วทำสิ่งเหล่านี้ร่วมกัน คิดเองเออเองไม่ได้ครับ แต่ถ้าเกิดภาครัฐมีสวัสดิการที่คุ้มครองแรงงานแพลตฟอร์มเหล่านี้ ผมมองกว้างไปว่าอันนี้เป็นเรื่องของคนที่ทำฟรีแลนซ์ ไม่ได้มีแค่ไรเดอร์นะครับ พวกสายยูทูบเบอร์ ยังมีสายไอทีคนทำกราฟฟิคที่ไม่ได้รับการคุ้มครองอะไรเลย พวกนี้เราก็พิจารณากันอีกที”

ด้าน ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรค และผู้อำนวยการศูนย์นโยบาย พรรคเพื่อไทย ขอขยายความจากคำตอบก่อนหน้าของตัวเองว่า อุบัติเหตุแบ่งออกเป็น 2 มิติ คือ หนึ่ง ต้นตอจากอัลกอริทึม ที่สกัดศักยภาพและทรัพยากรแรงงานอย่างไม่เป็นธรรมโดยไม่เคยถูกเปิดเผย และ สอง ปลายทางเรื่องประกันอุบัติเหตุ โดยพรรคเพื่อไทยชูเรื่องทุนนิยมที่เท่าเทียมอยู่แล้ว ฉะนั้นเมื่อแพลตฟอร์มมีกำไร รายได้ส่วนเกิน ควรจะแบ่งปันและจัดสรรเพื่อสวัสดิการของพี่น้องแรงงานอย่างไม่ต้องสงสัย

รักษ์ชาติ วงศ์อธิชาติ รองเลขาธิการ พรรคเพื่อชาติ กล่าวว่าตนอยู่ฝ่ายแรงงาน และด้วยประสบการณ์ที่เคยเป็นทั้งไรเดอร์ และผู้ที่เจอเหตุการณ์ไรเดอร์ชนท้ายก็เข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี 

“ไรเดอร์คนนั้นบอกว่า ‘ผมเพิ่งขับมาสองวันเองครับผมขอโทษจริง ๆ ไม่มีประกันอะไร’ แต่ผมมีประกันแล้วผมก็ไม่เคยไปเรียกเก็บเขา ไม่เคยไปใช้บริการอย่างนั้นเลย ผมคิดว่ามันไม่แฟร์ คิดว่าไม่ว่าไรเดอร์จะทำงานหนึ่งวัน สองวัน เขาก็ต้องได้รับสิทธิ์ประกัน เราจะผลักดันเรื่องนี้”

ในขณะที่ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผอ.สถาบันวิจัยนโยบายเพื่ออนาคต พรรคก้าวไกล เสนอว่า หากจะลงมือทำทันทีให้เร็วที่สุดรัฐบาลจำต้องเป็นเจ้าภาพ โดยพรรคก้าวไกลเคยคิดโจทย์และได้คำตอบว่า รัฐบาลต้องทำประกันอุบัติเหตุกลุ่มสำหรับไรเดอร์ทุกคน ที่ไม่ว่าจะขับวันแรกหรือวันที่เท่าไหร่ก็ได้รับการคุ้มครองทันที โดยรัฐบาลเก็บค่าใช้จ่ายจากแพลตฟอร์มต่าง ๆ ด้วยอัตราเบื้องต้นคือ 100 บาทสมทบมา 1 บาทจากทุกคำสั่งซื้อ

“ถามว่าทำไมเราทำแบบนี้ เพราะว่าอำนาจต่อรองของรัฐบาลในการเจรจากับบริษัทประกันแล้วก็บริษัทแพลตฟอร์มจะมีมากกว่าวิธีการนี้น่าจะเป็นวิธีการที่ทำได้รวดเร็วที่สุดและพรรคก้าวไกลก็เคยหารือกับแพลตฟอร์ม แพลตฟอร์มก็บอกว่าถ้ารัฐบาลช่วยทำแบบนี้จริง ก็ยินดีจ่าย เพราะฉะนั้นสิ่งนี้น่าจะเป็นเส้นทางที่คุ้มครองไรเดอร์ได้เร็วที่สุด”

นิยามแรงงานจากผู้(อยาก)ถูกเลือก

คำถามสุดท้ายมาจาก เครือมาศ ศรีจันทร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต ตัวแทนผู้บริโภคที่สนใจประเด็นแรงงานแพลตฟอร์ม ด้วยคำถามที่ว่า:

“สรุปแล้ว ในสายตาของพรรคการเมืองมองอาชีพไรเดอร์เป็นอย่างไร” คำถามที่ดูเหมือนจะง่าย ทว่าก็ตอบยากไม่แพ้กัน

เริ่มด้วย ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ โฆษก และ ผอ.ศูนย์นโยบาย พรรคไทยสร้างไทย มองว่า ไรเดอร์เป็นอาชีพที่ควรจะได้รับความเป็นธรรมและเป็นอาชีพที่มีเกียรติ แม้อุตสาหกรรมนี้จะเป็นอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ และยังมีหลายอย่างต้องถูกผลักดัน ซึ่งไม่ใช่แค่กับไรเดอร์เท่านั้นหากแต่หมายถึงแรงงานอิสระทุกคน นอกจากนี้ในเรื่องความเท่าเทียมก็เป็นเรื่องที่พรรคไทยสร้างไทยส่งเสริมเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผู้หญิง หรือการโดนดูถูกขณะทำงาน

“เรามองว่าพี่ ๆ ทุกคนเป็นคนที่ช่วยให้บริการกับพวกเรา ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าไม่ว่าจะเป็นคนที่เข้ามาช่วยเหลือในตัวบริษัทที่เป็นแพลตฟอร์มเนี่ยก็คือเป็นบุคคลส่วนนึงที่มีโอกาสขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้เรื่อย ๆ ยิ่งในช่วงโควิด ทุกคน Work from Home ทุกคนอยู่บ้าน ไรเดอร์ก็มีความสำคัญในการใช้ชีวิต ธิดาเองก็ใช้ตลอดนะคะ สั่งข้าว นั่งมอเตอร์ไซค์ทุกอย่างเลย ถ้าไม่มีพี่ไรเดอร์คืออยู่ไม่ได้ พี่ ๆ ควรจะได้รับความเป็นธรรมและการให้เกียรติค่ะ”

ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และประธานนโยบาย พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า ในช่วงโควิดไรเดอร์มีบทบาทสำคัญอย่างมาก เพราะเราต่างไม่สามารถไปชุมนุมพบปะกันได้ ดังนั้นรัฐบาลมีความจำเป็นต้องเอาจริงเอาจังกับปัญหาแรงงาน โดยตนไม่เชื่อในเรื่องการเสนอกฎหมายใหม่ แต่ส่งเสริมการปรับกฎหมายปัจจุบันให้ไรเดอร์เป็นลูกจ้างชัดเจน

“อยากให้ท่านได้เดินทางช่องทางนี้ระยะยาวครับ พี่น้องไรเดอร์ต้องเข้าใจว่าจะมีแพลตฟอร์มที่เขาโดนใช้โดรนในการส่งของ วันนั้นเขาจะไม่ใช้ไรเดอร์แล้ว สิ่งที่จะดูแลต่อได้คือการถมคนทางนี้ เรื่องของการประกันอุบัติเหตุ เรื่องของการจะไม่ดูแลสิ่งเหล่านี้ต้องใช้กฎหมายปัจจุบันที่มีอยู่ให้มีประโยชน์สูงสุดอย่างยิ่งในเรื่องของการที่จะต้องให้ความปลอดภัย มีการติดระบบเบรคทั้งล้อหน้า ล้อหลัง ทำให้ท่านมีชีวิตที่ปลอดภัยขึ้น”

ด้าน มานิตย์ พรหมการีย์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พรรครวมไทยสร้างชาติ บอกว่า หากทบทวน พ.ร.บ.แรงงานจะพบว่าเข้าไม่ถึงไรเดอร์ พ.ร.บ.นั้นจึงกลายร่างเป็น พ.ร.บ.ส่งเสริมคุ้มครองแรงงานอิสระ เพราะแรงงานในกลุ่มนี้ไม่ได้มีเพียงไรเดอร์แพลตฟอร์มเท่านั้น หากแต่มีพ่อค้า แม่ค้า อาชีพแท็กซี่ และอาชีพอื่น ๆ ที่ต้องอยู่ในรายงานนี้ ฉะนั้นหากดูมิติสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างลูกจ้างแล้ว การได้รับคำสั่ง การได้ออร์เดอร์ย่อมเข้าข่ายนายจ้าง-ลูกจ้างแน่นอน แต่วันนี้กฎหมายกลับไม่คุ้มครอง ขวางกั้นความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดีของเหล่าแรงงานอยู่

ก่อนจะจากกันทิ้งท้ายด้วย นิกร จำนง ประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ พรรคชาติไทยพัฒนา ที่กล่าวว่า ไรเดอร์ถือเป็นอาชีพใหม่ เป็นวิวัฒนาการ และยืนยันว่าตนสามารถพาไรเดอร์ไปถึงจุดที่ใฝ่ฝันได้ ด้วยประโยคที่ว่า “ผมทำได้เพราะผมเคยเดินมาหลายครั้งแล้ว”

รับชม วงพูดคุยเรื่องสิทธิแรงงานโดยคนรุ่นใหม่และเวทีเสนอนโยบายคุ้มครองสิทธิแรงงานกลุ่มนี้จากตัวแทนพรรคการเมือง ในกิจกรรม  ‘สิ่งที่เห็น’ กับ ‘สิ่งที่เป็น’ ไรเดอร์ 2023 : ออกแบบอนาคตสวัสดิภาพและความปลอดภัยของแรงงานแพลตฟอร์ม