การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เห็นความไม่สมมาตรของโอกาสทางธุรกิจของแพลตฟอร์มส่งอาหารและปัญหาที่ยังไม่ได้แก้ไขอย่างเด่นชัดขึ้น นี่คือสิ่งที่กล่าวไว้ในงานวิจัย ‘ไรเดอร์-ฮีโร่-โซ่ตรวน สภาพการทำงานและหลักประกันทางสังคมของแรงงานส่งอาหารบนเศรษฐกิจแพลตฟอร์มในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19’ ของศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เบื้องหน้าฉากทัศน์ของธุรกิตแพลตฟอร์มส่งอาหารที่มีแต่จะเติบโตและเติบโตขึ้นทุกวัน อาจไม่ได้สะท้อนภาพเบื้องหลังที่เจ็บหนักและว้าวุ่นภายในเสียเท่าไร เพราะการเข้ามาของโรคระบาดที่ผสมโรงเข้ากับการแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดอย่างเอาเป็นเอาตาย ไม่เพียงสร้างผลต่อผู้บริโภคที่ต้องจ่ายค่าอาหารแพงหูฉี่ แต่ยังทำให้จากวันนั้น จนวันนี้ บางทีเราอาจได้รับข้าวเที่ยงในวันร้อนระอุจากไรเดอร์ ผู้ไม่มีสัญชาติไทย หรือ ไร้สัญชาติ กันอยู่ เพราะแรงงานขาดในวันที่ตลาดต้องการเป็นอย่างสูงนั่นเอง
De/code พูดคุยกับ อาจารย์อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในผู้วิจัยงานวิจัยดังกล่าวในมุมมองเรื่องสิทธิแรงงานในโลกไร้พรมแดนและกับดักรัฐชาติ อันเป็นมรดกตกทอดจากยุคสงครามเย็นที่ยังคงมีอยู่ถึงปัจจุบัน
แรงงานชายขอบในชายขอบ
หากพูดในเรื่องสภาพของการแข่งขันทางการตลาด โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด โดยอ้างอิงจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย จะพบว่า ยอดสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มนั้นพุ่งทะยานตั้งแต่ปี 2562 ทั้งยังมีการสั่งอาหารจำนวนไม่น้อยกว่า 120 ล้านครั้งในปี 2564 เพราะการสั่งอาหารถือเป็นเรื่องจำเป็นในวันที่มีมาตรการรัฐมากมายออกมาป้องกันการแพร่ระบาด
และด้วยสถานการณ์นี้เอง อาจารย์อรรคณัฐอธิบายว่า เป็นเรื่องธรรมชาติที่บริษัทแพลตฟอร์มจะมีความต้องการแรงงานไรเดอร์สูง ประจวบเหมาะที่ภาคอื่นโดยเฉพาะภาคบริการ ท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร ทยอยปิดกันไปส่งผลให้แรงงานมากมายถูกเลิกจ้าง และเบนเข็มชีวิตแรงงานมาในอุตสาหกรรมนี้แทน ดังนั้นมันจึงไม่แปลกหากวันใดวันหนึ่งผู้ประกอบการมีความต้องการที่จะแย่งชิงตัวคนมาเป็นไรเดอร์ และอาจลดเงื่อนไขในการเข้าสู่อาชีพ แม้ในความเป็นจริงทุกแพลตฟอร์มระบุไว้อย่างชัดเจนว่าพาร์ทเนอร์ทุกคนต้องเป็นสัญชาติไทย มีบัตรประชาชน มีใบขับขี่ เป็นเอกสารเบื้องต้นก็ตาม
“สถานการณ์ทำให้บางบริษัทเลือกที่จะทำผิดกฎหมายแบบเงียบ ๆ ซึ่งเราสามารถที่จะ assume ได้ว่า บริษัทกำลังเล็งถึงตัวผลประโยชน์ของตัวเองเฉพาะหน้า แล้วก็เลือกที่จะทำผิดกฎหมายในการเลือกรับผู้ไม่มีสัญชาติเข้ามาทำงาน”
“จริง ๆ การที่ไม่มีสัญชาติไทย หรืออยู่ในกลุ่มผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน เป็นผู้อพยพที่ได้รับอนุญาตให้อยู่อาศัย รัฐอนุญาตให้ทำงานใดได้บ้างภายใต้ข้อจำกัดตามประกาศตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติการทํางานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2521 ที่ออกมาตั้งแต่ก่อนผมเกิด ซึ่งอาชีพที่อยู่ในลิสต์นั้นไม่มีอาชีพส่งอาหาร ใกล้เคียงสุดคือขายอาหารและประกอบอาหาร ซึ่งต้องได้รับการอนุญาตก่อน” นี่คือมุมมองแรกของอาจารย์อรรคณัฐต่อไรเดอร์ที่ไม่มีสัญชาติไทย
อีกแง่หนึ่ง อาจารย์อรรคณัฐได้ตั้งข้อสังเกตว่า แม้จะผิดกฎหมาย แต่แรงงานไรเดอร์ผู้ซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่เข้ามาทำงาน ก็สร้างรายได้ให้กับบริษัทไม่ต่างจากแรงงานคนอื่น ๆ ดังนั้นหากมองในมุมมองสิทธิแรงงานแล้ว สิทธิประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล เงิดชดเชยรายได้ และสิทธิอื่น ๆ ในฐานะแรงงานนั้นควรเท่าเทียมกับแรงงานสัญชาติไทย
ซึ่งในส่วนนี้พบว่า พวกเขาหลายคนไม่ได้รับสิทธิที่พึงมีพึงได้เหล่านั้น บ้างเพราะยังคงรอคิวรับสัญชาติซึ่งสามารถใช้เวลานานสุดถึง 4 ปี บ้างไม่ได้แจ้งเรื่องขอสัญชาติ บ้างไม่รู้ว่ามีสิทธิ และบ้างรู้ตัวดีว่าคงไม่ได้ประกันอยู่แล้วเพราะกฎหมายยังคงจำกัดการทำงานด้วยสัญชาติ
“เรื่องนี้ universal มาก คนทำงานสมควรที่จะได้รับความคุ้มครองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะทำงาน แต่ว่าปัญหาของกฎหมายแรงงานบ้านเราคือ จากอดีตขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน เราแบ่งการคุ้มครองออกเป็นตะกร้าตามสิ่งที่เรียกว่า ความสัมพันธ์การจ้างงาน”
โดยตะกร้าที่ 1 คือ คนที่มีความสัมพันธ์การจ้างงานแบบลูกจ้าง-นายจ้าง มีความคุ้มครองทางสังคม ที่เรียกว่าประกันสังคม ตาม พ.ร.บ. ประกันสังคมมาตรา 33 และมาตรา 39 สำหรับคนที่เคยเป็นลูกจ้างมาก่อน แต่ปัจจุบันไม่ได้มีสถานะลูกจ้างก็ยังสามารถเข้าถึงสิทธิโดยสามารถเป็นผู้ประกันตนเองได้
ในขณะที่ตะกร้าที่ 2 คือกลุ่มที่ไม่ได้มีสถานะเป็นลูกจ้าง-นายจ้าง แต่เป็นผู้รับจ้าง คือเป็นแรงงานในภาคนอกระบบเศรษฐกิจที่เป็นทางการ หรือเรียกง่าย ๆ ว่า แรงงานนอกระบบ เดิมกลุ่มนี้ก็จะไม่ได้อยู่ภายในใต้เงื่อนไข พ.ร.บ. ประกันสังคม ต่อมามีการเพิ่มเติมให้กลุ่มนี้สามารถประกันตนเอง ตามมาตรา 40 โดยที่หลักประกันด้านสุขภาพนั้น ให้ใช้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีสิทธิประโยชน์อื่น ๆ บ้างแต่ไม่มาก สิทธิอื่น ๆ เช่น การรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานไม่มี ผลประโยชน์ที่ได้อาจจะไม่มากพอที่จะจูงใจให้แรงงานเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรานี้
และไม่นานมานี้ก็มีรูปแบบการทำงานและความสัมพันธ์การจ้างงานที่คลุมเครือ ว่าควรจะจัดเป็นลูกจ้างได้รับการคุ้มครองตามตะกร้าที่ 1 หรือพวกเขาเป็นผู้รับจ้าง ต้องเป็นผู้ประกันตนเองคืออยู่ในตะกร้าที่ 2
หากอ้างอิงจากงานวิจัยของอาจารย์อรรคณัฐจะพบว่า แรงงานไรเดอร์เป็นผู้ประกันสังคมมาตรา 40 น้อยมาก ซึ่งในส่วนนี้ทีมผู้วิจัยถามต่อไปถึงเหตุผลและแบ่งได้เป็น 2 คำตอบคือ 1. แรงงานไม่รู้จักมาตรา 40 และ 2. รู้จักมาตรา 40 ทว่าผลประโยชน์น้อยไม่มีแรงจูงใจให้เข้าร่วม
แม้เงินที่ต้องจ่ายและเวลาที่ต้องเสียจะไม่มาก แต่กระบวนการในการที่เคลมเงิน รวมถึงขั้นตอนต่าง ๆ นั้นมีรายละเอียดมากมาย มีลักษณะเป็นเอกสารราชการที่มีกระบวนการรวมศูนย์ กระบวนการเหล่านี้เองที่ทำให้รู้สึกว่าเสียเวลา ไม่คุ้มค่าในการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินทดแทนรายได้ที่ไม่มาก หรือเงินชราภาพที่ไม่มากพอจะเลี้ยงชีพ จนเรียกได้ว่าไม่ต่างอะไรกับการไม่เป็นผู้ประกันตน เพราะสุดท้ายแล้วเหมือนจะต้องดูแลตัวเองอยู่ดี อาจารย์อรรคณัฐบอกเราอย่างนั้น
อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงกรณีของคนที่มีสัญชาติไทย เพราะคนไร้สัญชาติหรือคนที่ไม่ใช่สัญชาติไทย ไม่ถูกนับอยู่ในสมการนี้ตั้งแต่แรก แม้ไรเดอร์บางคนจะมี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์ หรือประกันสังคมจากงานเก่า แต่พวกเขาจะไม่ได้รับการคุ้มครองในฐานะแรงงานจนกว่าจะมีสัญชาติไทยเท่านั้น
รัฐชาติในโลกที่หมุนไว
“มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เพราะแนวคิดของรัฐยังติดกับช่วงยุคสงครามเย็นอยู่”
อาจารย์อรรคณัฐกล่าว ก่อนอธิบายเพิ่มเติมว่า แนวคิดจากสงครามเย็นที่รัฐไทยยังคงยึดถืออยู่ไม่คลาย คือความกังวลในเรื่องอัตลักษณ์ทางสังคม (social identity) ที่แตกต่างกันของคนในระดับปัจเจกอันจะนำมาสู่ความแตกแยกของคนในชาติ
อัตลักษณ์ทางสังคมเหล่านี้สามารถเป็นได้ทั้งเพศ ชนชั้น ศาสนา ชาติพันธุ์ หรือสิ่งอื่น ๆ ที่คนแต่ละคนสังกัดอยู่ แน่นอนว่าในทุกสังคมจะมีคนส่วนมากและส่วนน้อย มีคำว่าพวกเขาและพวกเราในทุกมิติการใช้ชีวิต แม้สุดท้ายแล้วจะขึ้นอยู่กับการมองแต่สิ่งที่ตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ก็คือความเป็นอื่น
เป็นอื่นและถูกลดทอนคุณค่าเพราะแตกต่าง จุดหักมุมแสนคลิเช่ที่ถูกใช้ซ้ำไปซ้ำมาในสังคมที่ไม่โอบรับความหลากหลายอันแสนเป็นธรรมชาติของมนุษย์
“ชาติพันธุ์ สัญชาติ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา และถูกมองว่าเป็นเรื่องใหญ่ แต่เนื้อแท้แล้วเราก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน” อาจารย์อรรคณัฐว่าอย่างนั้น นอกจากนี้ยังกล่าวอีกว่าแนวคิดเรื่องความมั่นคงของรัฐ วิธีการที่รัฐเชื่อ วิธีการที่รัฐปฏิบัติ และสิ่งที่รัฐมองว่าสำคัญและเหมาะสมในยุคสงครามเย็นไม่สอดคล้องกับสิ่งที่ยึดถือคุณค่าในโลกยุคปัจจุบันอีกต่อไป
ในวันนี้ประเทศไทยยังไม่รับรองสิทธิคนงานตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ ILO ฉบับที่ 87 เสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และ 98 การรวมตัวและร่วมเจรจาต่อรอง ที่รับรองสิทธิคนงานในการตั้งสหภาพแรงงาน และคุ้มครองคนงานทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งไม่เพียงเป็นหลักประกันสิทธิของแรงงานไทย แต่ยังครอบคลุมไปถึงการคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติอีกด้วย
“ความมั่นคงของชาติ คือความมั่นคงของมนุษย์ แต่รัฐยังไม่ปรับแนวคิดหรือปรับก็ช้ามาก วิธีการที่เรากำหนดว่า คนต่างชาติเข้ามาในประเทศของเรา เราควรให้การช่วยเหลือในเชิงมนุษยธรรม แต่ห้ามทำนั่นทำนี่ เพราะระแวงว่าจะเป็นภัยคุกคาม จะมาแย่งอาชีพคนไทย นี่คือมรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็นที่ทุกวันนี้เราก็ยังใช้กันอยู่
“ทุกวันนี้คนไทย ภาครัฐ ใคร ๆ ก็พูดกันเยอะเรื่องสังคมสูงวัย เรื่อง productivity มวลรวมที่ถดถอยเพราะกำลังคนวัยทำงานลดลง ประชากรเข้าสู่วัยสูงวัยกว่า 20% เราคุย เราหาทางออกกันหัวหมุนว่าเราจะไปหากำลังแรงงานจากไหน แต่แท้จริงแล้วกำลังเหล่านั้นก็พอมีอยู่บ้างแล้ว แต่ซ่อนตัวอยู่ และเราไม่ยอมรับ
“ถามว่าพวกเขา คนไม่มีสัญชาติ หรือ ไม่มีสถานะทางทะเบียนทำงานไหม ทำ—อย่างไม่เป็นทางการ แอบทำ พวกเขามี contribute ต่อระบบเศรฐกิจของประเทศ และหากถามว่าหน่วยงานรัฐรู้ไหม แน่นอนว่าคุณก็รู้อยู่แล้ว การมีอยู่ของสิ่งที่เราไม่ยอมรับว่ามีอยู่ มันมีอยู่จริง”
อาจารย์อรรคณัฐ กล่าว ก่อนทิ้งท้ายว่า ไม่ว่าจะปัญหาใดก็ตามในประเทศที่กำลังอัดแน่นอยู่ตรงคอขวดนั่นก็เพราะกระบวนการทางกฎหมายและนิติบัญญัติ แข็งตัว ไม่ยืดหยุ่น แช่แข็งประเทศไทย และไม่เท่าทันพลวัตที่เปลี่ยนไปของโลก ดังนั้นทุกปัญหาที่ยังรอการแก้ไข จึงมุ่งไปสู่คำว่า ความเป็นประชาธิปไตย ตัวโต ๆ ที่จะทำให้ความเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้น และสร้างความเป็นธรรมให้คนทุกคน ในฐานะมนุษย์เหมือนกันอย่างที่ควรจะเป็น