พินัยกรรมความจน สถานะ 'เด็กหลุด' ที่ถูกส่งต่อ - Decode
Reading Time: 3 minutes

เช้าวันศุกร์สุดสัปดาห์ เด็กน้อยในชุดนักเรียนมากมายกำลังเดินเข้าโรงเรียนอย่างแข็งขัน นั่นก็เพราะว่าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของการเรียนการสอน และจะเข้าสู่วันหยุดเสาร์อาทิตย์ประจำสัปดาห์

“ Do you want to buy an elephant? ” เสียงของเด็กสาวในวัยประถมสองคนดังไกลมาจากอีกฟากของรั้วโรงเรียน แม้จะรุ่นราวคราวเดียวกับเด็กที่เดินเข้าโรงเรียนไป หากแต่พวกเธอไม่ได้สวมชุดนักเรียน และกำลังเดินขายโมเดลช้างเรซิ่นกับนักท่องเที่ยวที่มาชมวิหารพระมงคลบพิตรทั้งยังสปีกอิงลีชกันคล่องปร๋อไม่เขินอาย

มองผิวเผินคงเป็นภาพที่น่าชื่นชมไม่น้อย แต่ทว่านั่นไม่ใช่สิ่งควรจะเป็น พวกเธอควรได้เดินเข้าโรงเรียนและเคารพธงชาติกับเพื่อน มากกว่ามาเดินขายของตามกำแพงวัดมิใช่หรือ?

น้องปาย (11 ขวบ) และน้องออมสิน (6 ขวบ) ทั้งสองเคยเรียนอยู่ที่โรงเรียนวัดกลางคลองสระบัว จ.อยุธยา ซึ่งเป็นโรงเรียนในชุมชนที่ต่อโอกาสให้กับเด็กยากจนในพื้นที่อยุธยา แต่เมื่อต้นปีที่แล้ว เด็กทั้งสองคนได้ขาดการติดต่อกับโรงเรียนไป ตามหาที่บ้านก็ไม่พบ โรงเรียนจึงประสานกับคนในชุมชนเพื่อสืบหา และพบว่าแม่ของพวกเธอได้พาเด็กทั้งสองกับลูกชายคนสุดท้องอีกหนึ่งคน (น้องแจ๊สอายุ 3 ขวบ) หนี และมาทราบภายหลังว่าทั้งครอบครัวต้องหนีไปต่างจังหวัดเพราะเป็นหนี้นอกระบบ ถึงแม้ชุมชนจะเกลี้ยกล่อมจนครอบครัวกลับมาที่อยุธยาได้ แต่เด็กทั้งสามคนตกอยู่ในสถานะ ‘หลุด’ ออกจากระบบการศึกษา

ก้าวแรกสู่แรงงาน

“ ช่วงแรก ๆ ได้เรียน ก็มีเทอมนี้แหละที่ไม่ได้ไป ” คำตอบจาก แม่ปลา – รุ่งอรุณ แก้วเขียว มารดาของเด็กทั้งสามคน เมื่อ De/code ถามถึงการเข้าถึงโรงเรียนของเด็ก ๆ เธอเล่าว่าก่อนหน้านี้เธอและลูกสามคนอาศัยอยู่ในวัดหน้าพระเมรุราชิการาม จ.อยุธยา โดยพักหลับนอนอยู่ในกุฏิแม่ชีท่านหนึ่งที่ใจดีให้อยู่ฟรีโดยเสียเพียงค่าน้ำค่าไฟ ทั้งยังรับจ้างขายหวยกับน้องเจ้าอาวาสในวัดหน้าพระเมรุฯ บ้างก็ไปช่วยคนในวัดจัดดอกไม้และทำวัด ซึ่งก็ได้เงินส่วนหนึ่งมาลงทุนซื้อของขาย หรือซื้อข้าวของเครื่องใช้มาประทังชีวิตคนในครอบครัว 

แต่ผลพวงจากหนี้นอกระบบทำให้เธอและครอบครัวต้องหนีหนี้ไปยังจังหวัดฉะเชิงเทรา แต่อยู่ได้เพียงคืนเดียวก็ต้องกลับ เพราะเบื้องหน้าไม่มีแม้แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ มีเพียงเงินหนึ่งพันบาทติดกระเป๋าและห้าชีวิตที่แขวนอยู่ท้ายรถมอเตอร์ไซค์ เธอจึงเลือกที่จะกลับมาอยุธยา เพราะอย่างน้อยก็เป็นที่ ๆ คุ้นเคยและสามารถหางานทำเพื่อใช้หนี้ได้

“ แค่คืนเดียวความลำบากมันมาเยือนเลย วันแรกนอนศาลา ภาพวันอื่น ๆ มันคิดเข้ามาในสมองเลยว่าถ้าเราหางานไม่ได้ล่ะ มีเงินพันกว่าบ้านเช่าห้องอยู่ได้ไหม เราจะต้องเก็บเงินกี่วัน ลูกจะต้องนอนแบบนี้อีกกี่วัน ภาพนั้นมันเข้ามาในหัวสมองเลย ” เธอเล่าพลางปาดน้ำตา

แต่หลังจากกลับมาที่อยุธยา เจ้าอาวาสของวัดพระเมรุฯ ก็ไม่ให้เธอขายหวยตรงนั้นอีก เพราะกลัวเจ้าหนี้โหดตามทวงเงิน ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่าการขายหวยไม่สามารถเป็นรายได้หลักของบ้านได้แล้ว ความยากในการเลี้ยงชีพก็ยิ่งทวีคูณ ด้วยสภาพการเงินไม่คล่องตัว ภารกิจการเลี้ยงครอบครัว และหนี้นอกระบบ จึงกลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ลูกคนโตทั้งสองต้องออกจากโรงเรียน

“ น้องคนเล็กมันก็ยังเล็กอยู่ เขาก็จะไปตามประสาของเขา คือให้หยุดก็หยุด ตอนน้องออมสินออกจากโรงเรียนก็เพิ่งอนุบาลสามเอง เขาก็ไม่ค่อยสนใจ เขายังได้เล่นได้สนุก แต่คนโตเขาจะรู้ว่าบ้านเราเป็นแบบนี้ เขาก็จะบอกแม่ว่าไม่เป็นไร หนูอยู่ได้ หนูจะช่วยแม่ก่อน ” เธออธิบายเพิ่มเติม

เด็กทั้งสองออกมาทำงานขายของได้ราว ๆ หนึ่งเทอมแล้ว แม้จะสามารถช่วยแบ่งเบาภาระการเงินของทางบ้านได้ แต่ความกังวลถัดมาคือเรื่องของการพาเด็กกลับคืนสู่ระบบการศึกษา เพราะมันมีค่าใช้จ่ายมหาศาล หากเธอยังไม่สามารถใช้หนี้ได้หมด เด็กก็ไม่สามารถเรียนได้อย่างเต็มที่ เพราะก็ต้องช่วยแม่ประคองครอบครัวด้วยเช่นกัน

“ มันยากแต่มันก็ต้องทำ มันรู้สถานการณ์ที่จะเกิดข้างหน้าแต่มันก็ต้องทำ
ถ้าไม่ทำน้องก็ไม่ได้เรียน แต่จะเกิดอะไรมันก็ต้องยอมรับ ”
เธอพูดเสียงแผ่ว

เงื่อนไขของความจนและความพิการทาง ‘โอกาส

ใช่ว่าความจนที่เกิดขึ้นจะมีสาเหตุมาจากการไร้วินัยเท่านั้น หากแต่เป็นโครงสร้างสังคมที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะรองรับคนทุกกลุ่มในสังคมได้ ในกรณีของครอบครัวแก้วเขียว แม่ปลานั้นมีภาวะพิการทางสายตา (ตาข้างซ้ายเสีย) ซึ่งก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ผลักเธอให้หลุดออกจากระบบเศรษฐกิจและสังคม ตัดขาดโอกาสในการทำงาน และขยายความจนออกไปเรื่อย ๆ 

“ แม่อยากได้ลูกตาเพื่อที่จะสามารถต่อยอดอาชีพไปได้ ” เธอกล่าวหนักแน่น

เธอลืมตาดูโลกด้วยดวงตาเพียงข้างเดียว แม้ในช่วงอายุ 20 ปี เธอได้เข้าร่วมโครงการลูกตาเทียม และได้ลูกตาเทียมมาใส่ แต่ก็อยู่ได้เพียงไม่กี่ปี เพราะความผิดพลาดระหว่างทำความสะอาด ทำให้เธอต้องเสียดวงตาเทียมข้างนั้นไป

“ เขาให้เอาน้ำต้มสุกทำความสะอาดได้ แม่ก็ต้มน้ำแต่ลืมปิดเตาแก๊สแล้วก็หย่อนลูกตาลงไปเลย
ตามันก็พองใส่แล้วเคืองตา แม่ก็เลยเอาไปแช่แอลกอฮอล์ แช่เลยไม่ได้เอาออก คิดว่ามันไม่เป็นไร
สรุปเช้ามาตาไม่มีสี ใส่ไม่ได้ แม่ก็เลยไม่ได้ใส่มาจนถึงทุกวันนี้ ” เธอเล่าถึงสาเหตุที่ไม่ได้ใส่ตาเทียม แต่โครงการฟรีเมื่อคราวที่เธอไปทำครั้งก่อนนั้นไม่มีแล้ว การจะได้มาซึ่งลูกตาเทียมใหม่ต้องแลกมาด้วยเงินกว่า
หกถึงเจ็ดพันบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ยากจะเอื้อมถึงในช่วงวิกฤตการเงินที่ครอบครัวเผชิญอยู่ คงจะดีซะกว่าหากเอาเงินเหล่านั้นมาซื้อข้าวของเลี้ยงดูครอบครัว

แม้ดวงตาเทียมจะไม่สามารถทำให้มองเห็นได้ปกติ แต่มันทำให้เธอดูเหมือนคนปกติ และสามารถเข้าทำงานที่ต่าง ๆไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้าหรือร้านอาหาร แต่ด้วยความยากจน ภาระครอบครัว ต้นทุนชีวิต ได้ถ่วงรั้งการเติบโตของครอบครัวไว้อย่างน่าสลด จนต้องตั้งคำถามกับคำว่า “สวัสดิการถ้วนหน้า” ที่นอกจากจะถ้วนหน้าปลอม ๆ แล้วยังสร้างภาระมหาศาลให้กับคนรากหญ้า จนพวกเขายากจะเข้าใกล้การเยียวยาของรัฐมากขึ้นไปอีก

อีกข้อที่เป็นปัญหา คือเกณฑ์รับรองความพิการในไทยที่แข็งกระด้างและไม่มีประสิทธิภาพ เพราะหากเรามองว่าค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ผู้พิการต้องแบกรับนั้นก็เท่ากับคนปกติ แต่โอกาสการเข้าทำงานหรือการเติบโตในงานนั้นต่ำกว่ามาก เงินเพียงหนึ่งพันบาทต่อเดือน (ถ้าไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะได้แปดร้อยบาท) เงินเพียงเท่านี้จะเยียวยาผู้พิการได้อย่างไร หากผู้พิการเหล่านั้นไม่กระเสือกกระสนมีชีวิตด้วยตนเอง เพราะฉะนั้นการปรับเบี้ยผู้พิการให้เหมาะสมกับค่าครองชีพหรือบริบทพื้นที่ ก็ควรเป็นสิ่งที่รัฐต้องทำงานให้หนักขึ้นด้วย

ขณะเดียวกันทัศนคติที่มีต่อผู้พิการก็เป็นปัญหา เพราะความพิการได้ถูกทำให้กลายเป็น ข้อบกพร่อง จนยากที่ผู้มีความพิการจะต่อยอดบางอย่างในสังคมได้ เช่น การศึกษา การทำงาน และโอกาสในการใช้ชีวิต ซึ่งหากผู้ที่มีอำนาจในการออกกฎเกณฑ์หรือนโยบายมีทัศนคติเช่นนี้ นโยบายที่สร้างขึ้นก็รังแต่จะผลักผู้พิการออกจากสังคม ผลักออกจากการศึกษา ผลักออกจากโครงสร้างเศรษฐกิจ กระทั่งถูกผลักออกจากความเป็นมนุษย์ไปเสีย

“ แม่ไปทำแล้ว ปรึกษาคนแล้ว แต่มันทำไม่ได้ หมอบอกว่าคุณมีตาข้างหนึ่ง
คุณดำรงชีวิตได้ ใช้ชีวิตประจำวันปกติได้ แสดงว่าคุณยังมีการมองเห็น
หมอเขาระบุให้พิการสองตาไม่ได้ ไม่งั้นเขาจะเดือดร้อน ”

เธออธิบายถึงช่วงที่ไปขอใบรับรองความพิการเพื่อจะรับเบี้ยคนพิการ

และหากห่วงโซ่ความจนนี้ยังหมุนต่อไปก็จะกลายเป็นการทับซ้อนของปัญหา
เป็นความยากจนของบุตรหลาน อาจเป็นปัญหาความรุนแรงในครอบครัว
หรือซ้ำร้าย จะยิ่งเป็นการผลักเด็ก ๆ ให้ออกห่างจากการศึกษามากขึ้นไปอีก

สันติ โยมยงค์ ครูและผู้ที่ดูแลกรณีครอบครัวแก้วเขียวอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระบวนการทำเบี้ยคนพิการว่า
ขั้นตอนแรกต้องมาจองคิวที่โรงพยาบาลเพื่อรอพบแพทย์ ถ้าแพทย์ลงความเห็นว่าเขาผู้นั้นพิการ จึงจะพาไปที่ศาลากลางจังหวัดเพื่อทำบัตรคนพิการ หลังจากนั้นต้องพาผู้พิการนั้นเข้ามาทำเรื่องขอรับเงินอุดหนุนเบี้ยคนพิการที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 

แต่คนรากหญ้าเหล่านี้มีต้นทุนชีวิตอย่างจำกัด การเดินทางกว่าสามจุดนั้นสร้างความยากลำบากกับพวกเขาอย่างมาก ทั้งเรื่องที่ต้องสละเวลาหาเงินขายของทั้งวัน หรือค่าเดินทางไปตามจุดต่างๆ ระยะทางกว่าเจ็ดกิโลเมตรจากวัดไปศาลากลางสำหรับเราอาจง่าย แต่พวกเขาอาจต้องตื่นตั้งแต่ตีสี่เพื่อเดินทาง ดังนั้นอำนาจรวมศูนย์จะทำให้คนเล็กคนน้อยเข้าไม่ถึงการเยียวยา หากกระบวนการที่ว่าสามารถเบ็ดเสร็จได้ที่ อบต. หรือท้องถิ่น มันจะช่วยลดภาระกับคนรากหญ้าได้เป็นอย่างดี ไม่ใช่แค่เรื่องสวัสดิการคนพิการแต่หมายถึงทุกเรื่อง โดยเฉพาะการศึกษา

“ มันควรจะเกิดขึ้นที่ อบต.ให้ได้ มันไม่มีข้ออ้างนะว่าทำไม่ได้
มันมีเทศบาลนครที่สามารถทำบัตรประชาชนให้คนในเขตตัวเองได้
เทศบาลเมืองอโยธยาก็สามารถทำได้ แล้วทำไมอบต.ทำไม่ได้? ”

ครูสันติยกตัวอย่างถึงการกระจายอำนาจในท้องถิ่น

เด็กรุ่น ‘เดอะแบก’ การกลับไป ‘ห้องเรียน‘ จึงมีราคาที่ต้องจ่าย

ความจนในคนรากหญ้านั้นรุนแรงและดูคล้ายกับว่าหมดสิ้นหนทางแก้ไข จนกลายเป็นพินัยกรรมบางอย่างที่ส่งต่อไปถึงรุ่นลูก และอาจถูกส่งต่อไปอีกรุ่นสู่รุ่น แต่ความจนไม่ใช่หลักใหญ่ใจความเพียงอย่างเดียว เพราะสิ่งที่ความจนได้สร้างขึ้นอย่าง การขาดโอกาสทางการทำงาน การหลุดออกจากระบบเศรษฐกิจและสาธารณะสุข และปลายทางของปัญหาอย่างการหลุดจากระบบการศึกษา ก็จะถูกส่งไปต่อเช่นเดียวกัน

“ ทุกวันนี้เขาได้ไม่ต่ำกว่าวันละห้าร้อยนะ ” ครูสันติเล่าถึงรายได้ต่อวันของเด็ก ๆ ครอบครัวแก้วเขียว ด้วยความต้นทุนชีวิตที่ต่ำ ทำให้เด็กต้องออกมาขายของช่วยจุนเจือครอบครัว ซึ่งการเกิดภาวะแบบนี้ในเด็กที่มีวุฒิภาวะมากพอ ก็จะทำให้เขามองว่าทำแบบนี้แล้วเขาได้เงิน และเขาสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ กลับกัน การไปโรงเรียนนั้นมีเสียเงินตั้งแต่ก้าวเท้าขึ้นรถ ลงจากรถก็เสียค่าเทอม ค่าบำรุงโรงเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าตัดผมให้ถูกระเบียบ ค่าเสื้อนักเรียน เที่ยงก็เสียเงินค่าอาหารการกิน หมดวันก็เสียเงินค่ารถรับจ้างกลับบ้าน ฉะนั้นการที่โรงเรียนไม่ฟรีอย่างแท้จริงนั้นสักแต่จะทำให้นักเรียนหลุดออกจากระบบไป และเด็กเหล่านั้นก็จะสูญเสียทัศนคติทางการเรียนและไม่มองว่าการเรียนสำคัญอีกต่อไป

ครูสันติยกตัวอย่างอีกคนหนึ่ง คือ เด็กหนุ่มวัย 16 ปี ที่ขายของในพื้นที่เดียวกับครอบครัวแก้วเขียว ซึ่งเขาขายได้อย่างต่ำวันละหนึ่งพันบาท เสาร์อาทิตย์สามารถขายได้ถึงสองสามพันบาท แต่เงินต่อเดือนหลักหมื่นนั้นก็ยังไม่พอ เพราะเขาต้องเป็นเดอะแบกคอยดูแลทุกคนในบ้านที่มีทั้งภาวะติดยาเสพติด ติดคุก รายได้ที่ได้มาก็ต้องนำไปจ่ายกับสิ่งเหล่านี้จนหมด เพราะฉะนั้นถ้าจะให้เขาไปเรียนทุกวัน เขาก็คงไม่เอาหรอก

ภาวะดังกล่าวจึงกลายมาเป็นอีกหนึ่งวาระสำคัญ เพราะหากเด็กไม่อยากกลับเข้าสู่ระบบโรงเรียน มันจะสร้างผล
กระทบอย่างใหญ่หลวงกับการเมืองภาพใหญ่ ระบบเศรษฐกิจอาจมีปัญหา ไม่มีแรงงานทักษะขั้นสูงป้อนเข้าสู่ตลาด และในท้ายที่สุดประเทศจะไม่สามารถพัฒนาไปได้

ฉะนั้นสิ่งสำคัญในการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นคือ การเข้าใจในบริบทและความจำเป็นในพื้นที่ อย่างเช่นในอยุธยาก็จะมีเขตเกาะเมืองและนอกเขตเกาะเมือง ซึ่งเขตนอกเกาะเมืองโรงเรียนจะจัดรถรับส่งนักเรียนอยู่ แต่ขณะเดียวกันในเขตเกาะเมืองก็ยังมีเด็กอีกมากที่ไม่สามารถเดินทางไปโรงเรียนได้ และต้องการรถรับส่งเช่นเดียวกัน หากเราเข้าใจบริบทตรงนี้พร้อมกับมีการกระจายอำนาจในการบริหารและงบประมาณลงมาอย่างมีประสิทธิภาพ ท้องถิ่นก็สามารถจัดบริการตรงนี้ได้ด้วยตนเอง ทั้งยังลดภาระของส่วนกลางรวมถึงคนชั้นรากหญ้าได้อีกด้วย

หรือในบริบทโรงเรียนที่มีกฎระเบียบมากมาย เช่น ตัดผมถูกระเบียบ เสื้อนักเรียนถูกระเบียบ แต่จงอย่าลืมว่าทุกสิ่งที่โรงเรียนกำหนดมาล้วนเป็นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ซึ่งนั่นทำให้โรงเรียนไม่ฟรีอย่างแท้จริง รวมไปถึงค่าอาหารการกินที่ควรกลายเป็นสวัสดิการให้กับเด็กทุกช่วงวัย ถ้าการยกเลิกภาระใช้จ่ายตรงนี้เกิดขึ้นได้จริง โรงเรียนจะเป็นมิตรกับทุกคน และกลายเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่เด็กจะอยากเข้ามานั่งอย่างเต็มใจ

บ้าน-วัด-ชุมชน เบาะรองรับ ‘เด็กหลุด’

การหยุดปรากฏการณ์เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาและกลายไปเป็นแรงงานจึงไม่ใช่เรื่องง่าย การมีส่วนร่วมและความเข้าใจของภาครัฐเป็นสิ่งสำคัญก็จริง แต่การมีส่วนร่วมจากภาคชุมชนและประชาชนในพื้นที่ก็สำคัญเช่นเดียวกัน ประเด็นเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นจึงต้องคุยลึกลงไปถึงรายละเอียด เพราะแต่ละท้องถิ่นนั้นมีบริบทพื้นที่และแวดล้อมที่ต่างกัน ไม่สามารถวัดได้ด้วยไม้บรรทัดเพียงหนึ่ง ซึ่งอยุธยาก็มีความซับซ้อนทางพื้นที่อยู่พอสมควร

ในพื้นที่โดยรวม (บริเวณรอบ ๆ วิหารพระมงคลบพิตร) เรียกว่า “ อุทยานประวัติศาสตร์ ” แต่พื้นที่ในรั้ววัดที่เด็กขายของกันนั้นจะขึ้นตรงกับมูลนิธิวัดมงคลบพิตร ขณะที่พื้นถนนข้างนอกเป็นของเขตเทศบาล หรือบ้านของครอบครัวแก้วเขียวในปัจจุบันก็อยู่ในเขตของ อบต.

แม้เขตการปกครองจะถูกแบ่งออกมา แต่สิ่งสำคัญอย่าง ‘อำนาจในการบริหาร’ นั้นไม่ได้ติดมาด้วย การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่จึงต้องแจ้งหน่วยงานของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้หน่วยงานนั้นนำเรื่องรายงานผู้บังคับบัญชา นำเรื่องเข้าที่ประชุมกรรมการ และจึงตัดสินว่าทำได้หรือไม่ได้ ซึ่งเราจะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นปัญหา

“ เด็กเหล่านี้สร้างความเดือดร้อนรำคาญมาก ” คำบอกเล่าของคนในพื้นที่กับครูสันติที่เข้ามาทำกระบวนการ (กิจกรรมบางอย่างที่ทำให้คนในพื้นที่ ชุมชน และเด็กตกขอบได้รู้จักคุ้นเคยกัน) กับเด็ก ๆ ที่ขายของอยู่ในพื้นที่วัดมงคลบพิตรช่วงแรก แต่ภายหลังเมื่อทำกระบวนการนี้อย่างต่อเนื่อง พฤติกรรมที่แข็งกร้าวของเด็กนั้นก็เริ่มอ่อนลง คนในชุมชนก็เข้าใจว่าพวกเขามีเงื่อนไขในชีวิตอย่างไร จนกลายเป็นชุมชนที่คอยช่วยเหลือกันในภายหลัง

หรืออย่างกรณีที่เด็กไม่อยากกลับไปโรงเรียน หากการนำเด็กกลับสู่ระบบมันยาก ก็เอาครูออกมาซะสิ ให้เด็กสามารถหาเงินเลี้ยงชีพและครอบครัวได้ และการเรียนการสอนก็สามารถเข้าถึงพวกเขาได้เช่นกัน ซึ่งนั่นก็เข้าสู่เรื่องกระบวนการออกแบบการเรียนรู้ใหม่ ๆ ขึ้น เพื่อให้สอดรับกับบริบทพื้นที่และชุมชนนั้น ๆ และเป็นสิ่งที่โรงเรียนชุมชนทั่วประเทศเห็นตรงกัน มีเพียงรัฐที่ยังเหยียบเรือสองแคมจนไม่มีแนวทางการศึกษาที่ชัดเจนเสียที

เด็กหลุด’ ในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า

“ ครั้งแรกที่เรามาเจอเด็กกลุ่มนี้เราตกใจมากเพราะว่า ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ไอคิวต่ำ ขายของไม่ได้ก็ขูดรถ เดินขายของก็ต่อยกัน ตัดสินกันด้วยกำลัง เรียกว่าเขายังมีความดิบอยู่ ” ครูสันติเล่าถึงประสบการณ์แรกกับเด็กในพื้นที่นั้น พฤติกรรมเหล่านี้เป็นผลพวงมาจากแวดล้อม การพร่ำสอน หรือกระทั่งกลไกการป้องกันตัวเองที่เขาต้องออกมาใช้ชีวิตแรงงานก่อนวัย แต่หากเด็กเหล่านี้จะต้องออกมาใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น หรือยกระดับสถานะทางสังคม พฤติกรรมเช่นนี้ไม่อาจถูกยอมรับได้ ฉะนั้นการจัดกระบวนการสอนทักษะทางสังคมจึงสำคัญ

“ เริ่มต้นผมพาเขาไปกินข้าวที่ร้านอาหารในฐานะลูกค้า จากแต่ก่อนเขาเข้าไป
ในฐานะเด็กขายดอกไม้ ให้เขาได้เห็นว่าเมื่อเขาเป็นลูกค้า คนอื่นจะปฏิบัติกับ
เขาอย่างไร ให้เขารู้สึกถึงความรู้สึกนั้น แล้วแบบนี้มันดีไหม ใจเขาใจเรา”

ครูสันติเล่าถึงรายละเอียดของกระบวนการ

ปัจจุบันก็เข้าสู่ปีที่สองแล้ว ที่ครูสันติและทีมงานเข้ามาทำกระบวนการกับเด็กในพื้นที่ ซึ่งผลตอบรับก็คุ้มค่าทั้งกับตัวเด็กและชุมชน เพราะปัจจุบันเด็กไม่มีการทะเลาะวิวาทหรือการขโมยของ จากการเป็นเจ้าถิ่นครองพื้นที่สู่การเป็นไกด์และเจ้าบ้านที่ดี คนในชุมชนคอยเป็นหูเป็นตาเวลาเกิดข้อผิดสังเกตในพื้นที่ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็แสดงให้เห็นว่าถึงแม้กระบวนการนี้จะไม่ง่ายนัก แต่หากมันเกิดขึ้นและชุมชนตอบรับ เด็กเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงและถูกโอบรับจากสังคม

จากกระบวนการนี้ทำให้เราเห็นถึงทักษะในการเข้าสังคมที่หายไปของเด็กที่หลุดจากระบบสังคมก่อนวัยอันควร และมีวิธีการอย่างไรในการที่จะสร้างทักษะเหล่านั้นให้เกิดขึ้นในตัวเด็ก ทำให้เขาเห็นว่าอะไรเป็นสิ่งที่ต้องปรับปรุง ทำให้เขาได้เห็นสังคมจริง ๆ แต่สิ่งสำคัญนอกเหนือไปจากกระบวนการ คือความเข้าใจของผู้สร้างกระบวนการ ครู พ่อแม่ รวมไปถึงหน่วยงานรัฐด้วย หากสังคมที่เขาจะเติบโตขึ้นไปนั้นสามารถโอบรับเขาได้อย่างเต็มที่ สังคมนั้น ๆ ก็จะมีบุคลากรที่มีประสิทธิภาพเข้าสู่สังคม

ทัศนคติทางการศึกษาอาจไม่มีสิ่งผิดหรือถูก มันสำคัญในแง่ที่ว่าเราจะต้องรู้ว่าเรียนไปเพื่ออะไร หรือไม่เรียนเพราะอะไร และไม่สมควรถูกก้าวล่วง ทัศนคติทางการศึกษาของรัฐที่ขณะนี้ยังเป็นเพียงการต้อนวัวเข้าคอก และผลิตซ้ำเพียงอุดมคติเดิมและศีลธรรมอันดี สมควรต้องถูกคิดใหม่อย่างเร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการศึกษาในมิติใด การแก้ปัญหาที่ตรงจุดที่สุดก็คือ “การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น” ซึ่งนั่นไม่ใช่เพียงเพราะจะสามารถบริหารงบประมาณและบุคลากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากแต่ภาคท้องถิ่น รู้จักกับชุมชน โรงเรียน เด็ก ผู้ปกครองมากที่สุด และหากเด็กสามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างน้อยพวกเขาก็จะมีลู่ทางในชีวิตที่หลากหลาย มีโอกาสที่จะต่อยอดตนเองไปในเส้นทางอื่น แม้ไม่อาจการันตีได้ว่าการส่งต่อความยากจนนั้นจะหยุดได้ที่รุ่นนี้หรือรุ่นใด แต่ความเสี่ยงเหล่านั้นลดลง ก็นับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีแล้ว