วิ่งยา-ค้าบริการ-ทัวร์สถานพินิจ สิ้นสุดทางเลื่อนของ 'เด็กหลุด' - Decode
Reading Time: 4 minutes

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับบุคคล(เยาวชน) ที่กล่าวถึงในบทความ

เป้าหมายในปี 2565 ของกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้โครงการพาน้องกลับมาเรียน โดยนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศไว้ว่า “จะทำให้เด็กหลุดนอกระบบการศึกษาเหลือเป็น 0”

แต่ในปี 2566 นี้ ตัวเลขที่เด็กต้องหลุดจากระบบการศึกษาจากการสำรวจของโครงการพาน้องกลับมาเรียนอยู่ในหลักหมื่น แต่จำนวนที่ว่า ยังไม่นับรายชื่อเด็กที่ไม่ปรากฎในหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่ตกการสำรวจจากภาครัฐ ทำให้ตัวเลขในความเป็นจริงของเด็กหลุดจากระบบการศึกษา แท้จริงแล้วคือเท่าไหร่กันแน่ ?

โดยเฉพาะในวงเวียนเล็ก ๆ แห่งหนึ่งฝั่งพระนคร อย่าง วงเวียน 22 กรกฎา ย่านเริงรมย์ที่หลายคนคุ้นหู ภายใต้ภาพจำของแรงงานผู้ขายร่างกายและหยาดเหงื่อริมถนนข้างทาง ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน

ประชากรจำนวนมากในเขตนี้คือเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา และส่วนมากไม่ใช่เด็กในกรุงเทพมหานคร
ปัญหาพื้นที่ที่บีบรัดให้พวกเขาไม่ได้มีครอบครัวและโรงเรียนเป็นที่ปลอดภัย มาจนถึงมาตรการนโยบายภาครัฐที่ยังไม่มีวี่แววจะรองรับ ในวันนี้พวกเขากลายเป็นเด็กที่ภาครัฐตกการสำรวจ มากไปกว่านั้น แม้แต่เจ้าตัวเองก็ยังไม่รู้ตัวว่าได้หลุดจากระบบที่ว่ามาตั้งนานแล้ว

เมื่อสถานะดั้งเดิมคือเด็กหลุดระบบการศึกษาที่ตกสำรวจ สู่การเป็นเด็กเร่ร่อนในวันนี้ และกลายเป็นแรงงานนอกระบบในวันหน้า

จากชานชาลาบ้านเกิดมาถึงหัวลำโพง นี่คือการเดินทางมาสุดขอบที่เด็กหลายคนในประเทศนี้ได้มาถึง
และยังไม่มีเสียงกริ่งดังให้พวกเขากลับเข้าห้องเรียนสักที

ขีดเส้นใต้ให้เด็กเร่ร่อน หรือแค่หัวข้อย่อยในแผนงานประจำปี

โครงการพาน้องกลับมาเรียน เป็นโครงการส่งเสริมโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ เกิดขึ้นเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาเด็กหลุดนอกระบบการศึกษา มีตัวเลขจำนวนนักเรียน นักศึกษา นักเรียนพิการ และผู้พิการ ที่ตกหล่นและออกกลางคัน ในเดือนมกราคม 2565 จำนวน 121,642 คน

ในจำนวนที่พบตัวนี้ มีเด็กที่กลับเข้าระบบการศึกษา 31,446 คน ไม่กลับเข้าระบบ 21,314 คน อยู่ระหว่างการติดตาม 5,628 คน และติดตามแล้วไม่พบตัว 8,741 คน ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มนักเรียนพิการ สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) สพฐ. เป็นกลุ่มนักศึกษา กศน.อายุเกิน 18 ปี ที่เกินวัยการศึกษาภาคบังคับ และส่วนใหญ่มีความต้องการประกอบวิชาชีพ

รองผู้ว่าฯ ศานนท์ หวังสร้างบุญ ในฐานะคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ที่รับผิดชอบและผลักดันด้านการศึกษากล่าวว่า เป็นเรื่องสำคัญอีกประการหนึ่ง เพราะจากสถิติไม่เพียงแต่จะมีเด็กหลุดจากระบบไป แต่เมื่อกลับเข้ามาแล้วยังคงออกไปอีกครั้ง

“ที่ผ่านมาเราเคยได้ยินแต่เด็กต้องออกจากระบบการศึกษาไปหาเงินเลี้ยงครอบครัว แต่ยังไม่เกิดการผลักดันให้เด็กสามารถเรียนดี มีเงินเก็บได้เลย สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ทาง กทม. พยายามจะแก้ให้กับปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่เช่นกัน”

ปัจจุบันทาง กทม. มีนโยบายที่จะให้เด็กได้เรียนฟรี 15 ปี รวมถึงแจกจ่ายชุดนักเรียนเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัว ถึงอย่างนั้นการศึกษาสายสามัญก็อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์นักเรียนหลายคน การผลักดันให้เกิดการศึกษาสายอาชีพเพื่อสามารถประกอบอาชีพได้ด้วยที่วุฒิสูงขึ้น ก็เป็นอีกทางออกหนึ่งที่ยกฐานเงินเดือนของพวกเขา และเป็นส่วนหนึ่งของ 32 นโยบายด้านการศึกษาของคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครชุดนี้

ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยกับโรงเรียนเพาะช่าง ในการจัดทำหลักสูตรสำหรับการสร้างนักเรียนสายอาชีพให้สามารถประกอบอาชีพได้เองโดยมีวุฒิเทียบเท่า ม.6 เพราะหากว่ากันตามสถิติ แรงงานจากสายอาชีพมักจะมีวุฒิสิ้นสุดอยู่ที่ ม.3 เป็นส่วนใหญ่ซึ่งไม่เพียงพอในปัจจุบัน การร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ จะช่วยส่งเสริมเด็กได้ดีขึ้น รวมถึงพัฒนาศูนย์ฝึกอาชีพที่สามารถให้นักเรียน ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ สามารถมาฝึกทักษะใหม่ ๆ โดยปรับปรุงเนื้อหาให้เข้ากับยุคสมัย

การตอบสนองต่อสมรรถภาพและความต้องการของเด็กที่แตกต่างกัน เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ใช่แค่โรงเรียนใน กทม. พึงทำให้ได้

แต่การพาเด็กเหล่านี้เข้าสู่ตลาดแรงงาน เป็นทางออกสุดท้ายของเด็กเปราะบางจริงหรือ?

ปฎิเสธไม่ได้ว่าตัวเลขที่กระทรวงศึกษาธิการสำรวจมา ยังคงมีเด็กอีกหลายคนที่ตกการสำรวจ เพราะตัวเลขที่ปรากฎยังคงเป็นโรงเรียนในเครือของรัฐ กลับกันเด็กที่อาศัยอยู่ที่ย่านวงเวียน 22ฯ และเข้ามาขอความช่วยเหลือที่มูลนิธิสายเด็ก มาจากโรงเรียนขนาดเล็กและอยู่ต่างจังหวัด ทำให้เด็กหลายคนเองก็ไม่ได้รับรู้ถึงสถานะของตนที่เปลี่ยนไปเป็นเด็กหลุดจากระบบการศึกษา
นำไปสู่เครื่องหมายคำถามที่ภาครัฐเรียกว่าตกหล่นไปและนายกรัฐมนตรีประกาศให้เป็นวาระสำคัญ มีพวกเขาแล้วหรือยัง

รวมถึงการที่มูลนิธิสายเด็กร่วมผลักดัน ร่างแผนปฏิบัติเด็กเร่ร่อน เพื่อที่จะทำให้เกิดการดูแลเด็กทั้งในแง่การกลับเข้ามาสู่ระบบการศึกษา ไปจนถึงการเป็นแรงงานในระบบ และรัฐสวัสดิการต่าง ๆ ตั้งแต่เกิดจนตาย แต่การผลักดันแผนปฏิบัติการนี้ยังคงเป็นร่างนับตั้งแต่ 2559

ปัจจุบันแผนงานที่เหมาะสมจะนำเด็กเร่ร่อนกลับเข้าสู่ระบบ ยังเป็นหัวข้อย่อยในแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นแผนระยะสั้นทุก 3 ปี และแผนพัฒนาดังกล่าว ก็ยังไม่ได้ชี้ชัดในการรองรับกลุ่มเด็กเร่ร่อน เป็นเพียงแนวคิดสำคัญที่อยู่ในเอกสาร

ในวันที่ประเทศไทยยังคงมีความรัฐราชการ อาจต้องตั้งคำถามไปถึงข้างบนให้เกิดการสร้างนโยบายที่จะมารองรับเด็กกลุ่มนี้มากขึ้นหรือไม่ เพราะสิ่งที่เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาและกลายเป็นเด็กเร่ร่อน สะท้อนได้ถึงความเหลื่อมล้ำที่มีมากในสังคม ทั้งการหางาน สภาพเศรษฐกิจ และโยงใยถึงปัญหายาเสพติด การขายบริการ ซึ่งเป็นปัญหาระดับชาติที่สังคมไทยยังแก้ไขไม่ได้เสียที

การออกนโยบายที่จริงจังและจริงใจของภาครัฐต่อกลุ่มเปราะบางนี้ อาจเป็นทางออกให้กับปัญหาที่รายล้อมกลุ่มเด็กหลุดจากระบบการศึกษา เมื่อคำตอบที่เราตามหาของ ‘หางานสำคัญกว่าหาความรู้’ อาจไม่สำคัญเท่ากับการตั้งคำถามใหม่ ว่าทำไมเด็กสักคนต้องเร่งพาตัวเองเข้าสู่ระบบแรงงาน มากกว่าการได้ใช้ชีวิตตามช่วงวัย จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีคำตอบทั้งรูปแบบของเอกสาร แผนปฏิบัติการหรือรัฐสวัสดิการที่จับต้องได้จริง

และน่าสนใจที่ว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปที่จะเกิดขึ้นในเร็ววัน จะมีพรรคการเมืองไหนผลักดันคนชายขอบเหล่านี้หรือไม่

เป็นอีกครั้งที่ต้องขีดเส้นใต้คำว่าเด็กเร่ร่อน ว่าภาครัฐที่ไม่ใช่แค่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เห็นตัวตนของพวกเขามากแค่ไหนในสายตา หรือพวกเขามีค่าแค่หัวข้อย่อยในแผนงานประจำปี

ในวันที่บ้าน-โรงเรียน ไม่ใช่เซฟโซน

ในตึกแถวย่านวงเวียน 22ฯ อาคารกระทัดรัดสูง 3 ชั้น มีเด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่ แวะเวียนเข้ามา ทั้งขอรับคำปรึกษา ขอความช่วยเหลือ ขอข้าวปลาอาหาร รวมถึงขอให้ช่วยปกป้องจากภัยอันเกิดจากความคึกคะนองของตนบางครั้งบางครา

ครูแก้ว-กัญญภัค สุขอยู่ ครูประจำศูนย์ช่วยเหลือ The Hub ของมูลนิธิสายเด็ก 1387 กล่าวว่าตั้งแต่เปิดมูลนิธิมารวม 20 ปี มีเด็กจำนวน 1,164,017 คน เข้ามาขอความช่วยเหลืออย่างไม่ขาดสาย

“เด็กที่เข้ามาในโครงการของเรามีหลายแบบ อย่างช่วงโควิดเมื่อ 2-3 ปีที่แล้วจะเน้นเป็นทางออนไลน์ ส่งข้อความมาหาทางเพจ แต่ก็จะมีหลายส่วนที่เดินเข้ามาที่ศูนย์และโทรหาพวกเรา”

ตัวเลขที่ทางมูลนิธิได้รับสายและเข้ามาช่วยเหลือ ถึงแม้ในปัจจุบันวิธีการในการเข้าหาและช่วยเหลือเด็กเร่ร่อน เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาและสังคมจะเปลี่ยนไป แต่ตัวเลขดังกล่าวไม่มีท่าทีจะลดลง และเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ดังเช่นตัวเลขล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน 2565 มีเด็กที่เข้ามาขอความช่วยเหลือกับทางโครงการเป็นจำนวนกว่า 3,500 ราย

เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาและเร่ร่อนออกมา เกือบ 80% ไม่ใช่เด็กในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล แต่เป็นเด็กต่างจังหวัดทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย  โดยมากที่สุดจะเป็นภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ตามลำดับ โดยมักจะออกจากบ้านในช่วงอายุ 10-13 ปี หลายรายที่ทางมูลนิธิยังคงติดตามหรือมาขอความช่วยเหลือจนถึงอายุ 20-30 ปี

ถึงแม้แต่ละคนจะมีปัญหาที่ถูกกระทำมา ทั้งสภาพครอบครัว ชุมชน และปัญหาอำนาจนิยมในโรงเรียนต่างกัน ทว่าปัญหาเหล่านี้ล้วนเกิดจากปัญหาเชิงพื้นที่ ที่ขาดการค้นหาสาเหตุที่ชัดเจนจากภาครัฐ จนกระจายเป็นปัญหาตามจุดทั่วประเทศและมาลงเอยที่ซอกหลืบของกรุงเทพมหานคร

“เด็กเกือบทั้งหมดถูกกระทำความรุนแรงจากทางบ้านมา ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ทะเลาะกัน ทำร้ายตัวเด็กเอง ไปจนถึงการล่วงละเมิดทางเพศ รวมถึงโรงเรียนเองก็ไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ทั้งการถูกบูลลี่ด้วยเพื่อน และครูที่ยังคงอำนาจนิยมในโรงเรียน แล้วสำหรับเด็ก เขามีแค่ 2 ที่ที่เขาจะไปได้ พอ 2 ที่นี้มันไม่ใช่ที่ ๆ ปลอดภัยสำหรับเขา การเดินทางออกมาแบบไร้จุดหมายเลยเป็นปลายทางที่รอคอยพวกเขาอยู่” ครูแก้วกล่าว

การตัดสินใจออกจากบ้านของเด็กเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วครู่ชั่วยาม จากข้อมูลที่ครูแก้วเคยพูดคุยกับเด็ก ทุกคนต่างตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าวนานนับหลายปี การออกจากบ้านหรือระบบที่กักขังพวกเขาอยู่ บางครั้งอาจไม่ใช่ความโชคร้าย แต่มีความรู้สึกนึกคิดของความโชคดีที่หลุดจากพื้นที่ตรงนั้นมาได้ ถึงแม้ว่าจุดหมายที่พวกเขาฝันไว้จะไม่สวยงามแม้แต่นิดเดียว

“เด็กหลายคนก็กำเงินจากบ้านมาแค่ค่ารถไฟ แล้วก็มาลงที่หัวลำโพง มันเลยทำให้ทางมูลนิธิมีเด็กที่อาศัยอยู่ในโซนนี้เยอะ เพราะมันเหมือนเป็นจุดที่เด็กมารวมกันที่นี่ และสุดท้ายก็กลายเป็นเด็กเร่ร่อน”

ครูแก้วนิยามเรียกกระบวนการช่วยเหลือของมูลนิธิว่า ‘การเข้าหา’ ทั้งในเชิงการพูดคุยเพื่อเข้าใจเด็กด้วยการลงพื้นที่อยู่เสมอ เนื่องจากในอดีตไม่มีการติดต่อผ่านโซเชียลมีเดียมากนัก การลงพื้นที่ตามจุดที่เด็กเร่ร่อนรวมตัวกันจะทำให้เข้าถึงเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือได้ง่ายกว่า

แต่ปัญหาในการเข้าถึงเด็กเหล่านี้ คือเมื่อสถาบันหลักที่สำคัญในช่วงวัยอย่างครอบครัวและโรงเรียน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใหญ่ที่ไม่อาจปกป้องพวกเขาได้ การซื้อใจพวกเขาเลยเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย เด็กเหล่านี้จะรวมตัวกันเป็นกลุ่ม และใช้ระบบหมู่ในการรับรู้หรือเชื่อฟังกันเองมากกว่าคนนอกมาบอกกล่าวลล

“บางวันเราลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือก็เจอตำรวจกำลังไล่จับเด็กอยู่เลย ทั้งเล่นยาบ้าง ขายบริการอยู่บ้าง หรือโดนกระทืบอยู่ก็มี พอมันหลุดไปแล้วมันยากมากนะกว่าจะกลับมากันได้ เพราะสังคมเองก็ใช่ว่าจะยอมรับพวกเขากลับมา คำว่าบ้านของเด็กพวกนี้คือพวกเขากันเอง ไม่ใช่บ้านที่มีพ่อ แม่ หรือใครรออยู่”

จุดเริ่มต้นของการหลุดนอกระบบไม่ใช่ที่ไหนไกล กลับกลายเป็นครอบครัวและโรงเรียน ที่ไม่เคยเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับพวกเขาเลยต่างหาก เลยทำให้กลุ่มเด็กที่เร่ร่อน กลายเป็นเซฟโซนของพวกเขา โดยไม่คิดจะกลับเข้ามาในระบบอีกแล้ว

ขายตัว-มั่วยา-ค้าแรงนอกระบบ

ถึงแม้ศูนย์ The Hub จะมีอาหารแจกฟรีทุกวัน แต่ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ของเด็กเหล่านี้ต้องหามาเอง จากวุฒิที่ไม่เกิน ม.3 หรือต่ำกว่านั้น การหางานจึงไม่ใช่เรื่องง่าย หลายคนถูกดูดเข้าไปในหลุมดำที่ไม่มีทางออก อย่างการขายบริการและใช้ยาเสพติด

ตั้งแต่ครูแก้วเริ่มเป็นครูประจำมูลนิธิจนถึงปัจจุบัน เด็กเร่ร่อนยังคงเลือกที่จะทำอาชีพขายบริการเป็นส่วนมาก โดยมีอาชีพรับจ้างขนของประปราย เนื่องจากอาชีพนี้รายได้ดีและง่าย ถึงแม้จะต้องแลกมาด้วยร่างกายที่ใช้งานหนัก และอาชีพเหล่านี้ล้วนเป็นแรงงานนอกระบบทั้งสิ้น แต่เพราะนี่เป็นไม่กี่ทางเลือกที่พวกเขาจะได้ใช้ชีวิตที่สะดวกสบายกว่าที่เป็นมา

“แต่ก่อนคือโทรศัพท์ยังไม่ค่อยมีเลยตัดค่าใช้จ่ายตรงนี้ไปได้ แต่เดี๋ยวนี้ต้องมีค่าอินเตอร์เน็ต ซึ่งไม่แพงหรอก แต่พอมันบวกกับค่าจิปาถะอื่น ๆ อย่างหลายคนชอบเข้า 7-11 เข้าทั้งวันเลยนะ บางทีเข้าหลายรอบตกวันหนึ่งไม่ต่ำกว่า 500 บาท 

ด้วยวุฒิของพวกเขาไม่สามารถหางานประจำที่มั่นคงได้แน่ ๆ แล้วงานบริการ รับจ้างทั่วไปก็ใช่ว่าแต่ละที่จะรับ หลายคนบางทีเลิกขายบริการไปแล้วก็ต้องกลับมาทำอีก เพราะเจ้าหนี้มารออยู่ทุกวัน จะเอาเงินที่ไหนไปจ่ายเขา” ครูแก้ว กล่าว

ค่าใช้จ่ายของเด็กในโครงการเบื้องต้น ประกอบไปด้วยค่าห้อง หลักรายวันจะอยู่ที่ 200-300 บาทและรายเดือนอยู่ที่ 3,000 บาท ค่าโทรศัพท์ ค่าจิปาถะอื่น ๆ ไม่รวมถึงหากมีลูก ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก็จะเพิ่มอีกหลายเท่าตัว

และหลายคนเสียค่าใช้จ่ายไปกับการใช้ยาเสพติด บ้างก็เชื่อว่าเป็นทางออกจากความทุกข์รายวัน แต่ส่วนมากเริ่มจากการถูกล่อลวงโดยขาใหญ่ประจำถิ่น นานวันเข้ากลายเป็นผู้เสพที่ต้องการยามากขึ้น และก็กลายเป็นผู้ขายในท้ายที่สุด

การขายบริการไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้หญิงเท่านั้น เด็กผู้ชายหลายคนก็เลือกประกอบอาชีพนี้ เพราะช่องทางการหางานที่เปิดโอกาสให้พวกเขาน้อยนิด ในวันที่อาชีพขายบริการยังเป็นแรงงานนอกระบบและไม่เป็นที่ยอมรับตามขนบของสังคม พวกเขาเหล่านี้กลับอยู่ใต้มาตรฐานตรงนั้น เป็นสุดขอบของการขายบริการอีกที

คุณภาพชีวิตของการเป็นผู้ขายบริการของเด็กกลุ่มนี้ ยิ่งสะท้อนความเหลื่อมล้ำที่ต้นทุนพวกเขามี เป็นเพียงร่างกายที่นับวันยิ่งสึกกร่อนมากขึ้นเรื่อย ๆ และปลายทางที่รออยู่ก็ไม่มีสวัสดิการใดมารองรับ

ทางมูลนิธิสายเด็กให้การสนับสนุนเรียนฟรีในระดับ กศน.(การศึกษานอกระบบ) แต่อัตราที่เด็กกลับเข้ามาเรียนและจบไปมีอัตราที่ต่ำ เพราะการกลับไปเข้าระบบการศึกษามักเกิดจากแรงจูงใจของระบบกลุ่ม ที่เมื่อพี่ใหญ่ในกลุ่มพูดว่า ‘ไปเรียนสิ มันดีนะ’ ก็จะทยอยไปเรียนตาม ๆ กัน แต่ไม่ได้เกิดจากการเห็นคุณค่าของการศึกษา เมื่อแรงจูงใจและความสำคัญไม่มากพอ ทำให้เด็กหลายคนเลือกที่จะออกจากระบบการศึกษาไปอีกครั้ง

ถึงอย่างนั้น ยังมีเด็กหลายคนเข้ามาเรียนต่อในระดับกศน. ที่ทางมูลนิธิดูแลและร่ำเรียนจนจบไปหลายคน แต่ไม่ง่ายนักที่อาชีพในฝันของพวกเขาจะเป็นจริง

หลายคนอยากรับราชการ เพราะเป็นคำบอกเล่ากันปากต่อปากว่าสายอาชีพนี้จะสร้างความมั่นคงและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ มีเด็กหลายคนเข้ามาบอกเล่าอาชีพในฝันนี้กับครูแก้ว ทว่า เส้นแบ่งเขตของความฝันและความจริงสำหรับเด็กเหล่านี้ ไม่ใช่เพียงแค่เส้นบาง ๆ

“เพราะการสอบราชการมันใช้ความพร้อมหลาย ๆ ด้าน เด็กบางคนคือเขาได้ยินมาแค่ว่าราชการมันมั่นคง แต่การเตรียมสอบ การสอบ รวมถึงการย้ายที่อยู่ ไหนจะการปรับตัวเข้ากับระบบ ความพร้อมทางการเงิน เรารู้เลยว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายที่เด็กเหล่านี้จะไปถึง การผลักดันกันให้เรียนจบและนำวุฒิไปสมัครงานในขอบเขตที่ทำได้เลยตอบโจทย์กับเด็กกลุ่มนี้มากที่สุด” ครูแก้ว กล่าว

โจทย์สำคัญที่เด็กกลุ่มนี้ต้องเผชิญ กลายเป็นเรื่องของ การหาเงินจำเป็นกว่าการศึกษา ต้องกลับมาย้อนที่ต้นทางของระบบนี้ว่า ทำไมการศึกษาถึงกลายเป็นเรื่องไม่จำเป็นสำหรับเด็กหลายคน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเปราะบาง

สังคมสงเคราะห์ ในสังคมที่เห็นแต่เพียงความสงสาร

ถึงแม้เด็กในโครงการหลายคนต้องดิ้นรนเพื่อหาเงินประทังชีพ ทว่า เงื่อนไขในการใช้ชีวิตรวมถึงความคิดของพวกเขามองไม่อาจมองด้วยมุมมองเพียงเฉดเดียว

เด็กในโครงการหลายคน ต้องเข้าออกสถานพินิจบ่อยครั้ง ทั้งจากการกระทำผิดเอง กระทำผิดร่วม หรือบางครั้งเป็นลูกหลงในกลุ่มเพื่อน ปัญหาเหล่านี้ ครูแจม-ธัญญ์นภัส วิริยาวัชรนนท์ เจ้าหน้าที่มูลนิธิสายเด็ก กล่าวว่า เพราะประเทศไทยไม่ให้ค่าและความสำคัญกับการจัดการแบบ สังคมสงเคราะห์ มากพอ

ครูแจมกล่าวถึงเด็กหลายคนที่ต้องเข้าสถานพินิจ การจัดการข้างในนั้น ไม่สามารถที่จะทำให้เด็กหลายคนตระหนักว่าสิ่งที่ได้ทำไปเป็นความผิดพลาด การเข้าสถานพินิจกลับกลายเป็นการเปลี่ยนสถานที่อยู่อาศัยเฉย ๆ

“บางคนนี่พออยู่ข้างนอก โอ้โห เกเร ผอม ไม่ได้กินข้าว แต่พอเข้าไปแล้วออกมากลายเป็นอุดมสมบูรณ์ขึ้น คุยรู้เรื่องมากขึ้น อย่างออกมาใหม่ ๆ เขาก็จะมีให้เซ็นควบคุมความประพฤติ เด็กก็จะทำตัวดีหน่อย แต่พอหลัง ๆ เด็กก็กลับไปเป็นเหมือนเดิม บางครั้งก็หนักกว่าเดิม”

กลายเป็นว่ากระบวนการของสถานพินิจจากพฤติกรรมของเด็กที่ออกมา ในสายตาที่ครูแจมมองเห็น ขาดขั้นตอนในการจัดการให้เด็กกลับเข้าสู่สังคมทั่วไปได้ เด็กกลุ่มนี้ที่หลุดออกมาจากระบบการศึกษาและสังคม กลับต้องการและสบายใจที่จะอยู่กับพรรคพวกข้างใน

“บุคลากรที่อยู่ข้างในสถานพินิจเอง ก็ไม่ได้มีความรู้ในการรับมือกับเด็กเหล่านี้ดีนัก บางครั้งก็ดูจะไม่สามารถรับมือกับเด็กได้เลย ทั้ง ๆ เด็กเหล่านี้เขาต้องการความเข้าใจในอีกแบบหนึ่ง ที่จะทำให้เขาพร้อมออกมาสู่สังคมทั่วไป” บ่อยครั้งที่ครูแจมและครูประจำมูลนิธิได้รับสายจากสถานพินิจให้มาประกันตัวเด็กออกไป แต่หลายครั้งหากเด็กผิดจริง ทางมูลนิธิก็ไม่ได้ต้องปกป้องเด็กตลอด นี่เป็นหนึ่งในการจัดการที่ให้เด็กรู้จักความรับผิดชอบในสิ่งที่ตนได้กระทำลงไป

ทั้งครูแจมและครูแก้วกล่าวว่า เด็กที่เข้ามาขอความช่วยเหลือกับทางมูลนิธิ เด็กเหล่านี้จะมีทักษะเอาตัวรอด(Survival Skills) มากกว่าเด็กทั่วไป ตั้งแต่ปัญหาที่พบเจอก่อนออกมาจากบ้าน มาจนถึงการต้องมากินนอน อาศัยริมฝั่งถนน เด็กเหล่านี้สามารถที่จะเอาตัวรอดได้ในแต่ละวัน ในขณะเดียวกันทักษะการเข้าสังคม(Social Skills) กลับมีน้อย

“ลองนึกดูว่าเด็กบางคนเข้าสถานพินิจไป แล้วเขาหนีออกมา เขาไม่มีเงินติดตัวสักบาทเลยนะ เขาจำทางระหว่างนั่งรถไปเข้าสถานพินิจได้ แล้วค่อย ๆ เดินกลับมาตามทางรถไฟจนมาถึงที่ศูนย์ได้ เขาเอาตัวรอดกันเก่งมาก ๆ

แต่เด็กบางคนพอจะเริ่มเข้าที่เข้าทาง ไปหางาน กลับเข้ากับเพื่อนร่วมงานไม่ได้เลย อย่างบางกรณีไปทำร้านกาแฟแล้วเข้างานสาย ช่วงเช้า ๆ คนที่รอซื้อกาแฟมันเยอะ เพื่อนร่วมงานเขาก็ทำไม่ทันกัน แต่เขาก็จะไม่เข้าใจว่าฉันทำอะไรผิด ก็ฉันแค่มาสาย เขาขาดความเห็นอกเห็นใจซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ หากจะต้องกลับสู่สังคมทั่วไป” ครูแก้วกล่าว

เพราะกระบวนการในการผลิตเด็กให้กลับเข้าสู่สังคมได้อีกครั้ง ไม่เพียงแต่ต้องการคนที่ดูแลพวกเขาอย่างใกล้ชิด แต่ยังต้องการนักจิตวิทยา คนที่จะมาพูดคุย ทำความเข้าใจกับพวกเขาถึงกระบวนการทำงานข้างในของเด็กเหล่านี้ แต่ประเทศไทยยังไม่ได้พึ่งพาการจัดการตรงนี้มากนัก

ค่าแรงของสายอาชีพสังคมสงเคราะห์ในประเทศไทย ครูแจมกล่าวว่า ในขณะที่เนื้อหางานเข้มข้นและหนักหน่วง แต่ค่าแรงกลับเบาหวิว ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดหากเทียบกับประเทศที่ตระหนักถึงความสำคัญของเยาวชนอย่างสหรัฐอเมริกา ค่าแรงของนักสังคมสงเคราะห์จะอยู่ที่ 37,000 – 56,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ประเทศไทย บางที่ยังให้เม็ดเงินที่ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำเสียอีก

รวมถึงงบประมาณที่ พม.(กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) ได้รับการจัดสรรถูกลดลงไปทุกปี ครูแจมให้ความคิดเห็นว่า การจัดสรรงบประมาณในส่วนนี้ก็สะท้อนการตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาสังคมของรัฐไทยเช่นกัน

“ทั้ง ๆ ที่สำคัญ แต่ประเทศนี้ก็ยังให้ค่าของงานนี้เหมือนเป็นงานกุศล ทำแล้วได้บุญ”
ครูแจม กล่าว

การจัดการปัญหาเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ไม่ใช่แค่การจัดการที่ต้นทางเพียงอย่างเดียว ทั้งปัญหาครอบครัว ปัญหาที่โรงเรียน แต่เมื่อพวกเขาหลุดออกมาแล้ว การพยายามให้พวกเขาสามารถที่จะกลับเข้ามาในระบบได้อีกครั้ง จึงเป็นหน้าที่สำคัญของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

เพราะทุกคนในกระบวนการนี้ไม่ควรถูกปฏิบัติด้วยความ ‘สงสาร’ แต่พวกเขาควรได้รับการ ‘สงเคราะห์’ ตามที่พวกเขาพึงจะได้รับต่างหาก

ทรงอย่าง Bad เด็กไม่ Sad ที่ได้กลับมา

“ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับเด็กกลุ่มนี้ คือการสร้างนโยบายที่สามารถใช้ได้จริงมารองรับพวกเขา” ครูแก้วกล่าว

ในขณะที่ พม. ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพียงน้อยนิด และแผนปฏิบัติการเด็กเร่ร่อนยังคงเป็นแค่ร่างถึงแม้ผ่านมาหลายรัฐบาล สิ่งที่นายกรัฐมนตรีกล่าวไว้ ว่าต้องการให้เด็กหลุดจากนอกระบบการศึกษาเหลือเป็น 0 อาจต้องเริ่มจากนโยบายที่มากกว่าน้ำหมึกในเอกสารหรือคำพูด

“ไม่ว่าจะเป็นการทำงานไปด้วยและสามารถเรียนไปด้วย ต่างประเทศเขามีโมเดลให้ศึกษาเต็มไปหมด ถึงในระบบปัจจุบันจะไม่ได้ดีและครอบคลุมนัก แต่อย่างน้อยที่สุดคือเด็กเหล่านี้จะได้รับการคุ้มครองมากกว่าที่เป็นอยู่ ภาครัฐเองต้องแก้ปัญหาให้ตรงจุดและอย่าลืมนับเด็กทุกกลุ่มเป็นเยาวชนของชาติ” 

ด้านครูแก้วเองก็ยังคงเน้นย้ำให้แผนปฏิบัติการเด็กเร่ร่อนเกิดขึ้นและได้ใช้ในเร็ววัน เพราะนี่จะเป็นจุดแรกที่สามารถทำให้ปัญหาต่าง ๆ ที่ซ่อนอยู่ภายใต้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง

ปัจจุบันมีนักเรียนของมูลนิธิที่สามารถออกแบบชีวิตได้อีกครั้ง ทางครูแก้วและเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ ก็ช่วยผลักดันให้พวกเขาได้กลับเข้าสู่สังคม ถึงแม้จะมีล้มลุกคลุกคลาน บ้างล้มเลิก บ้างสำเร็จ แต่การได้ส่งเด็กแม้อีกสักคนกลับเข้าสู่ระบบ เป็นความหวังให้ครูแก้วเชื่อว่า สักวันเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาและกลายเป็นเด็กเร่ร่อนจะหมดไป

นั่นทำให้ปลายทางของเรื่องนี้ ทั้งครูแก้วและรองผู้ว่าฯ ศานนท์เห็นพ้องกันว่า ระบบการศึกษาที่ดีอาจไม่สร้างสภาพสังคมที่ดีขึ้นได้ แต่เมื่อสังคมดีขึ้น การศึกษาที่มีคุณภาพ การเข้าถึงสถานศึกษา และการต่อยอดจนถึงการประกอบอาชีพจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น นั่นหมายความว่า คุณภาพของระบบการศึกษาที่ดีจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาสภาพสังคมที่มีรัฐสวัสดิการ ไม่ใช่การแยกพัฒนากันแต่อย่างใด

“หลายอย่างก็ต้องยอมรับว่ามันเหมือนกับการแก้ที่ปลายเหตุ แต่การแก้ไขเรื่องเด็กหลุดฯ ยังไงมันก็ต้องแก้กันที่ต้นเหตุ การทำให้ครอบครัวเป็นที่ปลอดภัยของเด็ก การทำให้ครูเป็นที่พึ่งพาของน้อง ๆ การที่เด็กได้เจอลู่ทางของเขา เรื่องเหล่านี้มันสอดคล้องกันหมด

ทุกวันนี้เมืองมันยังไม่น่าอยู่เลย เรายังต้องแก้ไขปัญหากันอย่างต่อเนื่อง เราเชื่อว่าถ้าเมืองมันน่าอยู่ มันจะเสริมด้านอื่น ๆ ให้ดีขึ้นตาม” รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าว

เมื่อพิจารณาในภาพใหญ่ หากกรุงเทพมหานครสามารถทำให้เด็กทุกคนสามารถกลับเข้ามาระบบได้ แต่ใช่ว่าโมเดลที่ถูกทำให้สำเร็จในกรุงเทพมหานครจะสามารถใช้ได้ในจังหวัดอื่น ๆ การกระจายอำนาจจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะให้แต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัด แต่ละเทศบาล ความร่วมมือกับภาคประชาสังคมและเอกชนต่าง ๆ ต้องทำการยกระดับและร่วมมือกับประชาชน เพื่อออกแบบการศึกษาที่สอดคล้องกับพื้นที่

และวนกลับมาที่ภาครัฐและภาคการเมืองต้องผลักดันด้านนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นแผนปฏิบัติการเด็กเร่ร่อนหรือนโยบายที่จัดการเด็กหลุดนอกระบบการศึกษาต่าง ๆ การกระทำทั้งหมดจะเป็นการยืนยันถึงความตระหนักถึงความสำคัญของเยาวชนได้ชัดเจนที่สุด และผลประโยชน์จะตกไปสู่เด็กทุกกลุ่ม

ปัญหาของระบบการศึกษาอาจส่งผลให้เด็กหลายคนหล่นหายไประหว่างทาง แต่เมื่อวิเคราะห์จากสิ่งที่เป็นในปัจจุบัน เราอาจกำลังเพ่งไปที่การศึกษาที่ว่าจนเกินไป เมื่อเด็กที่หล่นหาย ถูกทิ้งไว้ตั้งแต่ปัญหาครอบครัว ปัญหาอำนาจนิยมในโรงเรียน การเป็นแรงงานนอกระบบ มาจนถึงปลายเหตุที่พวกเขาต้องการที่พึ่งผ่านการบำบัดในสถานพินิจ การไม่ใช้สารเสพติดเพื่อเป็นทางออก และการได้รับการรักษาโดยจิตแพทย์อย่างจริงจัง

เพราะหากเมืองที่ดีจะนำมาซึ่งระบบการศึกษาที่ดีขึ้น การยกระดับมาตรการในการเข้าหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาเหล่านี้ จึงไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการเพียงอย่างเดียว ทั้งชุมชน ครอบครัว หน่วยงานเล็กใหญ่ในพื้นที่ กระทรวงทบวงกรม รวมถึงหน่วยงานรัฐอื่น ๆ อาจถึงเวลาที่จะต้องจับมือเป็นตาข่าย และเหนี่ยวรั้งไม่ให้เด็กคนไหน หลุดออกจากระบบการศึกษาไป

“เด็กเอ๋ย เด็กดี ต้องมีหน้าที่ 10 อย่างด้วยกัน …” เพลงประจำวันเด็กที่ประพันธ์ตั้งแต่ปี 2534 ยังคงดังก้องในปี 2566

จะดีกว่าไหม ถ้ามีเพลงที่บอกเล่าถึง 10 หรือ 100 วิธี ที่จะไม่ทำให้เยาวชนจำนวนมากของประเทศไทยต้องถูกโยนทิ้งออกจากระบบการศึกษาและหลุดวงโคจรของสังคมอีกต่อไป

อ่านบทความตอนที่ 2 ‘ชีวิตจริงของเด็กหลุด’
หญิง ยา คนมีสี ซากปรักหักพังบนสุสานเด็กหลุดวงเวียน 22

อ้างอิง

มูลนิธิสายเด็ก

พาน้องกลับมาเรียน

Social work Salary