ในวันที่แวดวงวิชาการมีกระแสถกเถียงกันอย่างเร่าร้อนถึงการตรวจสอบวิถีการทำงานที่ไม่โปร่งใส ขาดจริยธรรม เพื่อให้ได้มาซึ่งผลงาน ชื่อเสียง ตำแหน่ง และลำดับชั้นที่สูง (ranking) ของมหาวิทยาลัยต้นสังกัด
ในวันนั้นงานวิชาการที่สมบูรณ์แบบ (น.) ยังคงถูกวัดคุณค่าจาก การไม่ปรากฏตัวตนของผู้ศึกษา เป็นงานศึกษาผลิตขึ้นจากใครบางคนที่ดูราวกับรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง Who-Know-It-All ผ่านการคัดสรร เรียบเรียงเรื่องราวและสร้างข้อสรุป เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ
ทว่าการทบทวนเนื้อหาการศึกษาทางสังคมศาสตร์ที่ให้อำนาจเต็มกับนักวิชาการและอภิสิทธิ์อันชอบธรรมในการศึกษาผู้อื่นกลับยังไม่ถูกแตะต้อง และดำรงอยู่อย่างปลอดภัยในพื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์ของนักวิชาการมืออาชีพที่กดทับ ‘เสียง’ ของคนใน หรือผู้มีประสบการณ์ให้กลายเป็นเพียงกรณีศึกษาในงานตนเองอยู่เรื่อยมา
De/code จึงพูดคุยกับ วัจนา เสริมสาธนสวัสดิ์ อาจารย์ (พิเศษ) โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของงานวิจัย “การยืนยันตัวตนจากประสบการณ์ ‘ความเป็นแม่’ ผ่านแนวคิดปรัชญาสตรีนิยมของ ลูซ อิริกาเรย์” ที่ถ่ายทอดการศึกษาผ่านการประยุกต์ใช้วิธีวิทยาแนวอัตชาติพันธุ์วรรณา (autoethnography framework) ซึ่งมีประสบการณ์ส่วนตัวเป็นเบ้าหลอมสำคัญของการตั้งคำถามงานวิจัย อันนำไปสู่การค้นหารูปแบบการทำงานที่ตอบโจทย์และเหมาะสมกับวิถีการทำงานที่แตกต่างของตนเอง
วันนี้เราพูดคุยกับอาจารย์วัจนา เพื่อตั้งคำถาม ท้าทาย และวิพากษ์ระเบียบประเพณีปฏิบัติของนักสังคมศาสตร์กระแสหลักด้วยคำถามธรรมดาพร้อมกันว่า “หากจุดมุ่งหมายหนึ่งของงานศึกษาวิจัยทางสังคมศาสตร์คือ การทำความเข้าใจมนุษย์ เข้าใจตนเอง และการเข้าอกเข้าใจผู้อื่น (empathy) ในสังคม ทำไมกรอบการทำงานวิชาการจึงพรากความเป็นมนุษย์ไปจากผู้ศึกษาเสียก่อนล่ะ?”
เสียงเงียบบนหอคอยงาช้าง
เมื่อความถูกต้อง (น.) ความน่าเชื่อถือ (น.) ความเป็นวิชาการ (น.) ถูกบัญญัติแบบจำกัดจนกลายเป็นมาตรฐาน เป็นมืออาชีพ เมื่อนั้นองค์ความรู้ที่ไม่เข้ากรอบกระแสหลักจึงกลายเป็น ‘เสียงเงียบ’ และถูกกดทับให้ ‘เป็นอื่น’
“เมื่อไหร่ก็ตามที่พูดถึงประสบการณ์ปุ๊บ ทุกคนอี๋ อะไรล่ะ เอาอีกแล้ว”
อาจารย์วัจนากล่าว ก่อนเล่าจุดเปลี่ยนสำคัญของนักศึกษาปริญญาโทชนชั้นกลางคนหนึ่งที่กำลังมองหาหัวข้อวิจัยเมื่อปี 2544 ครั้นเรียนวิชาวิจัยให้เราฟังว่า ในตอนแรกตนไม่ได้ตัดสินใจจะนำประสบการณ์ความรุนแรงในครอบครัวที่สัมผัสมาเป็นแกนหลักในการทำงานวิจัย จนกระทั่งอาจารย์ที่ปรึกษาแนะนำและชี้ให้เห็นว่า ความรุนแรงในครอบครัวกลายเป็นความปกติและเป็นส่วนหนึ่งของความธรรมดาสามัญที่ชินชาและน่าเบื่อ ในชีวิตของเราได้อย่างไร ในฐานะคนที่เป็นพยานอยู่ในเหตุการณ์เหล่านั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าตั้งแต่เด็กจนกระทั่งเติบใหญ่
“เราไม่รู้ว่าเหตุผลของการปฏิเสธที่จะออกจากวงจรความรุนแรงของแม่คืออะไร ญาติและลูกต้องการให้แม่เลิกกับพ่อ เหตุผลต่างๆ ที่เราเคยอ่านในงานวิจัยเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัว ไม่สามารถอธิบายสถานการณ์ในบ้านเราได้ กล่าวคือ แม่มีอาชีพการงานดี พึ่งพาตัวเองได้ ครอบครัวสนับสนุน ฯลฯ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เราไม่เข้าใจแม่ เกลียดแม่ตัวเอง เกลียดความอ่อนแอเกลียดความเป็นผู้หญิง
“ความซับซ้อนเหล่านี้ทำร้ายเรา ทำร้ายแม่เรา เราอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่เขาคือผู้หญิงที่มีทางไปแต่ทำไมเขาไม่ไป เราต้องย้อนกลับมาทบทวนตัวเองว่าเกิดอะไรขึ้นกับวิธีคิดและมุมมองของเราต่อเหตุการณ์นี้กันแน่”
อาจารย์วัจนาอธิบายต่อว่า จากบาดแผลของความรุนแรงนี้ทำให้การสัมภาษณ์คนในครอบครัว โดยเฉพาะพ่อกับแม่เป็นเรื่องที่ยากมากจนเกือบจะเป็นไปไม่ได้ การทบทวนวรรณกรรม สนามศึกษา และวิธีวิทยาตามกรอบการทำงานวิชาการที่ได้ร่ำเรียนมาไม่ว่าจะเป็นการสัมภาษณ์เชิงลึก หรือการหากลุ่มตัวอย่าง จึงเข้ามาเป็นทางเลือกแรก ๆ ของการทำงาน ทว่าเมื่อได้มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้หญิงที่เคยประสบการณ์ความรุนเเรง อาจารย์วัจนากลับพบกับความอึดอัดจนไม่สามารถทำงานต่อไปได้
“ความรู้สึกของการพูดแทนผู้อื่นด้วยเสียงของเราในฐานะนักวิจัยทำให้เรารู้สึกแปลกแยก” อาจารย์วัจนา ว่า
สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ขนบการศึกษากระแสหลักที่ตัดขาดจากตัวตน ความรู้สึก แยกขาดจากความเป็นมนุษย์ก่อนที่จะผลิตงานวิชาการทางสังคมศาสตร์เพื่อสร้างความ ‘เป็นกลาง’ ‘ปราศจากอคติ’ และ ‘น่าเชื่อถือ’ นี้ ไม่สามารถตอบปัญหาความคับข้องใจโดยไม่ทำให้ผู้วิจัยและผู้ประสบเหตุวนเวียนอยู่ในความรู้สึกกระอักกระอ่วนของความสัมพันธุ์แห่งอำนาจระหว่างผู้ศึกษาและผู้ถูกศึกษาได้เลย
ดังนั้นหมุดหมายของอาจารย์วัจนาจึงเป็นการพูดผ่านประสบการณ์ส่วนตัว หาใช่การยืมเสียงของผู้ประสบเหตุคนอื่นมาเป็นเครื่องมือในการพูดแทน เพื่อปกปิด หรือกดทับเสียงของตนเองอีกที และทางออกนั้นก็มาในรูปแบบวิธีวิทยาการวิจัยไม่คุ้นหูในภาษาไทย นั่นคือ งานวิจัยเชิงอัตชาติพันธุ์วรรณนา ซึ่งเป็นหนทางหนึ่งของการกัดเซาะ รื้อถอน และสั่นคลอนอำนาจของนักวิชาการที่ไหลเวียนอยู่ในความสัมพันธ์ของวงจรการศึกษา อีกทั้งเป็นการปักธงเพื่อแสดงจุดยืนการต่อสู้ทางญาณวิทยาจากการได้มาซึ่งชุดความรู้ที่แตกต่าง ซึ่งท้าทายกระบวนการสร้างความรู้ในกรอบวิชาการแบบประเพณีนิยม และสร้างทางเลือกที่เหมาะสมให้กับผู้ศึกษาวิจัยมากขึ้น
ลอกคราบออกให้หมด
เมื่อใดก็ตามที่เราพูดว่ากระแสหลัก-กระแสรอง, ศูนย์กลาง-ชายขอบ, เป็นใหญ่-ส่วนน้อย นั่นแสดงว่า ณ สภาพแวดล้อมนั้นมีความไม่เท่าเทียมบางอย่างอยู่ และการถูกเบียดขับให้กลายเป็นอื่นในแวดวงวิชาการเองก็ยังเป็นอีกหนึ่งยาขมกลืนยากในบริบทประเทศไทย
ทว่าหากมองในระดับประวัติศาสตร์สากลจะพบว่า งานศึกษาวิจัยในกรอบอัตชาติพันธุ์วรรณนานั้นปรากฏมานานแล้ว และทรงพลังอย่างมากในประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวสตรีนิยม เช่น Zami: A New Spelling of My Name (1982) ของ Audre Lorde นักกวีสตรีนิยมผิวสี ชนชั้นล่าง ชาวเลสเบี้ยน เป็นงานเขียนแนวอัตชีวิประวัติกึ่งนิยาย ที่เปิดเผยให้เห็นความซับซ้อนของการถูกคุกคามและการล่วงละเมิดทางเพศของเธอจากการเป็นผู้หญิง ชนชั้นล่าง ผิวดำ ในสังคมอเมริกัน
เพราะจุดแข็งของงานอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ฯ ที่เปิดพื้นที่ให้กับเรื่องราวที่เปราะบาง เต็มไปด้วยรายละเอียด ท่วมท้นไปด้วยความรู้สึก บ่อยครั้งอาจเกี่ยวพันกับประเด็นต้องห้ามในสังคม จะสามารถเติมเต็มองค์ความรู้ที่มรรควิธีของการศึกษาวิจัยกระแสหลักทำไม่ได้ เพราะแม้ว่าการศึกษา วิจัยทางสังคมศาสตร์หรือมนุษยศาสตร์จะก้าวหน้าไปมากแค่ไหนก็ไม่สามารถขุดลงลึกไปถึงเครือข่ายความสัมพันธ์ของรายละเอียดที่เป็นบริบทได้
“ชุดความคิดแบบคนชนชั้นกลางก่อนหน้านี้ ส่งผลต่อมุมมองของเราที่มีต่อแม่ ทำให้เราโกรธ เกลียดทางเลือกของแม่ และมองว่าแม่เป็นเหยื่อ (victim) มันทำให้เราติดอยู่ในกับดักทางความคิดของการตัดสินและมีมุมมองที่ว่า คนที่อยู่ในความรุนแรงว่าเป็นเหยื่อ แต่เขาไม่ใช่เหยื่อเว้ย เขาเป็นนักสู้ เขาเป็นไฟท์เตอร์สุด ๆ
“อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้บอกว่า ความรุนแรงเป็นสิ่งที่ต้องอดทน แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่า หากการอยู่ในความสัมพันธ์คือสิ่งที่เขาเลือกแล้ว เราควรมองให้เห็นถึงวิธีการจัดการกับปัญหาของเขาด้วยวิธีของเขาเอง อันนี้คือบริบทของเรานะ เราไม่ได้ไปเหมารวม เราคิดว่าแต่ละคนมีจุดของการเลือก จุดของการตกผลึกอะไรบางอย่างที่แตกต่างกัน และงานวิชาการเกี่ยวกับความรุนแรงที่ผ่านมาตอบโจทย์ของคนกลุ่มนี้ไม่ได้ เพราะวิธีคิดที่เกี่ยวกับประเด็นนี้มักจะถูกทำให้เป็นปัญหา หรือถูกมองอย่างเป็นเหยื่อ ไร้หนทางต่อสู้ นำมาสู่แนวคิดของการเสริมสร้างพลังให้กับผู้หญิง (empowerment)” อาจารย์วัจนาอธิบาย
อย่างไรก็ตามการกลั่นกรอง และร้อยเรียงประสบการณ์ส่วนตัวด้วยกรอบอัตชาติพันธุ์วรรณนานั้นก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่นักวิชาการมักลดทอนคุณค่ามันเสมอมา เพราะเมื่อไหร่ที่คุณพูดถึง นึกถึง หรือจับปากกาเขียนถึง นั่นหมายความว่าคุณต้องกลับไปวนอยู่ในลูปของประสบการณ์นั้นเสมือนมันเพิ่งเกิดขึ้น จึงไม่แปลกใจที่เราจะร้องไห้ทุกครั้งกับเรื่องเดิมๆ แต่เราจะเติบโตขึ้นจากการกลับไปทบทวน เพื่อทำความเข้าใจบาดแผลนั้น
ดังนั้นสิ่งที่ท้าทายที่สุดในงานอัตชาติพันธุ์วรรณนาในมุมมองอาจารย์วัจนา คือ ความซื่อสัตย์ของตัวเอง เพราะกระบวนการตกผลึกข้อมูลจากการย้อนกลับคืนสู่ประสบการณ์ ความทรงจำที่ไม่อาจเปิด-ปิดสวิตช์ความรู้สึกใด ๆได้ดังตั้งใจ โดยเฉพาะความรู้สึกแง่ลบที่มักเกิดขึ้นระหว่างทาง เช่น ความโกรธ เศร้า หดหู่ เจ็บปวด อ่อนแอ จะปรากฏอย่างเด่นชัดในงานวิจัยมรรควิธีนี้
ความรู้สึกแห่งความเปราะบางเหล่านี้เองคือสัญญาณแห่งความมนุษย์ที่คุณและคนอื่นๆ เชื่อมต่อ (connect) กันได้ด้วยความเข้าใจ
“เราเคยไปพรีเซ้นท์งานทั้งในประเทศและต่างประเทศภายใต้กรอบการทำงานวิชาการแนวสตรีนิยม เมื่อเราต้องเอ่ยถึงงานที่เราทำ เรายังร้องไห้ทุกครั้ง ที่น่าตกใจคือทุกครั้งจะต้องมีคนเดินเข้ามาภายหลังการนำเสนอและบอกว่า ฉันก็มีประสบการณ์แบบนี้เหมือนกับคุณ แม่ฉันก็อยู่ในสภาวะแบบนี้ และฉันในฐานะลูกก็เป็นพยานรู้เห็นเช่นเดียวกับคุณ จากเหตุการณ์ตรงนี้ มันแสดงให้เห็นอะไรบ้าง มันเกิดอะไรขึ้น สิ่งที่หลายคนเข้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเรา สื่อให้เห็นถึงความสากลของปัญหาได้พอไหม” อาจารย์วัจนาตั้งคำถาม
แต่การก้าวผ่านตัวเองเป็นเพียงด่านแรกเท่านั้น เพราะเมื่อใดก็ตามที่มีการสั่นคลอนอำนาจเชิงโครงสร้างใด ๆ จากการทำงานวิชาการนอกกระแสก็ย่อมมีการตั้งคำถามจากศาสตร์กระแสหลักกลับมาอยู่เสมอ
“หลังจากอ่านงานวิทยานิพนธ์ ปริญญาโท ของเรา เคยมีนักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ ยกมือถามเราว่า “แม่อาจารย์ เป็นมาโซคิสต์รึเปล่าครับ”
เมื่อคำถามถูกเอ่ยออกมา อุณหภูมิในห้องเรียนก็เหมือนจะลดวูบลงไปหลายองศา หลายสายตาหันไปจ้องมองเขาคนนั้น ทว่าอาจารย์วัจนาไม่โกรธเคืองใดๆ เพราะการกะเทาะ หรือการปลดเปลื้องชุดความรู้ (unlearn) ที่กดทับชุดความรู้อื่นต้องใช้เวลา และคำถามนั้นก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการสร้างพื้นที่ให้หลายมุมมองได้มาประสบพบเจอกัน เพราะในวันที่คนทุกเพศออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมหรือความเท่าเทียมทางเพศขึ้นมา เสียงเดียวที่ยังคงขาดหายไปในกระบวนการเหล่านี้คือ เสียงของเพศชาย
“การถูกถามแบบนี้โคตรทำร้ายจิตใจและความเป็นมนุษย์เลยอะ แต่เราไม่โทษเขาเลยนะ เรารู้ว่าเขาเรียนรู้มาแบบนั้น และเราต้องการให้คนเหล่านี้ลุกขึ้นมาตั้งคำถาม เพื่อเปิดพื้นที่ให้เรียนรู้ซึ่งกันและกันด้วยความเคารพ เพราะการถกเถียงและตั้งคำถามกับกระบวนทัศน์มันเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ และนำมาสู่ความเจริญเติบโตทางปัญญาอีกด้วย”
“กว่าเราจะลอกเปลือกออกมาแต่ละชั้นมันไม่ง่าย งานเขียนอัตชาติพันธุ์ฯ ด้านหนึ่งเราต้องต่อสู้กับตัวเองตลอดเวลา เนื่องจากการเขียนประสบการณ์เปราะบางบางอย่างที่เป็นความทรงจำเลวร้าย เช่น ความรุนแรง ความเจ็บป่วย ความตาย ความพิการ ฯลฯ ทุกครั้งที่คิดถึง เขียนถึง เรายังคงร้องไห้อยู่กับมันตลอด และเมื่องานเขียนสำเร็จ ด่านต่อไปเรายังต้องรับมือกับคนที่จะมาวิพากษ์ในทุกรูปแบบ นี่คือสิ่งที่ต้องยอมรับ คุณมีราคาที่ต้องจ่ายเช่นกัน”
คืนสู่มนุษย์ เบ่งบานในความแตกต่าง หลากหลาย
“งานอัตชาติพันธุ์ฯเป็นงานที่มีชีวิตมาก ๆ แล้วเป็นชีวิตที่ถ้าเราไม่มีประสบการณ์ตรงนั้น เราจะไม่ได้เห็นเด็ดขาด นี่คือความขลังของประสบการณ์ ซึ่งถ้าคุณไม่มีประสบการณ์นั้น ๆ เหตุใดคุณจึงมีอำนาจพูดแทนคนอื่นได้” อาจารย์วัจนาว่า
แม้ประสบการณ์จะไม่ใช่อภิสิทธิ์ ทว่ายังคงเป็นสิทธิ์ที่เจ้าของประสบการณ์สามารถเปล่งเสียงออกมาด้วยตัวเองโดยไม่ต้องรอให้คนอื่นมาพูดแทน เพราะเรื่องราวในชีวิตของปัจเจกนั้นไม่ต่างจากจิ๊กซอว์ที่แม้จะแตกต่างซับซ้อน หลากเฉด หลายมิติ แต่ก็เป็นชิ้นส่วนเล็ก ๆ ที่สามารถประกอบร่างให้ภาพใหญ่สมบูรณ์ได้
การคืนความอ่อนไหวและความเป็นมนุษย์ให้กับงานวิชาการ เปิดพื้นที่ให้สิ่งที่ถูกเบียดขับ ผลักไสให้ ได้กลับมาอยู่บนหน้ากระบวนการสร้างความรู้นี้ จะนำมาสู่การสร้างสำนึกร่วม (collective consciousness) ให้กับคนจำนวนมาก ที่แม้ไม่ได้ประสบปัญหาเดียวกัน แต่สามารถเชื่อมโยงประสบการณ์ชีวิตจริงเหล่านั้นได้จากการสัมพันธ์กับคนอื่น ๆในสังคม และนำมาสู่การร่วมกันแก้ไขปัญหา หรือช่วยกันหาทางออกที่ดีที่สุดโดยวิธีการที่ไม่โทษใครคนใดคนหนึ่ง
แน่นอนว่าสิ่งนี้ไม่อาจเริ่มที่ตัวผู้ศึกษาได้เพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องเป็นการปรับมุมมองการฟัง เปลี่ยนความคิด ละทิ้งค่านิยมที่ส่งต่อกันมาจนคำว่ากระแสหลัก-กระแสรองในวงการวิชาการให้เลือนหายไปจนสิ้น
เมื่อนั้นคุณูปการของงานศึกษาวิจัยทุกรูปแบบจะสามารถเบ่งบ่านเพื่อทุกคนอย่างแท้จริง
“ไม่ว่าคุณจะเขียนเรื่องความเป็นแม่ คุณเขียนความรุนแรง คุณเขียนรสนิยมทางเพศ อะไรก็ตามที่เด็กปัจจุบันเขาประสบหรือใช้ชีวิตอยู่กับมันอยู่แล้ว แม้เราไม่ได้มีประสบการณ์ตรงกับประเด็นต่าง ๆขอให้คุณเขียนออกมาเลย เพื่อให้เราสื่อสารกัน ให้เราเชื่อมต่อกัน เพื่อเติมเต็มกัน และเข้าใจกันและกันในแบบที่เราเป็น โดยไม่ตัดสินกัน เคารพในความแตกต่างหลากหลายของกันและกัน
“ความเป็นมนุษย์มันเชื่อมกันได้ การทำงานผ่านความเป็นมนุษย์จะขยับไปสู่สังคมที่ดีกว่า ประสบการณ์ที่เขาถ่ายทอดมันจะทำให้สังคมเรามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น คนที่ต้องดีลกับปัญหาก็จะรู้ว่าเขาไม่ได้โดดเดี่ยว นี่คือพลังที่จะทำให้สังคมขับเคลื่อน พอมันพูดจากตัวคุณ มันไม่มีใครกล้าเถียง และเรามาถึงจุดที่ต้องฝึกการฟังแล้วเพื่อที่จะขยับสังคมไปด้วยกันได้แล้ว”
อาจารย์วัจนากล่าวทิ้งท้าย