“ขณะที่สื่อสังคมออนไลน์ถูกใช้เป็นพื้นที่ระบายอารมณ์ และแลกเปลี่ยนข้อมูล ไปจนถึงระดมพลในหมู่ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์มากกว่าจะมีหน้าที่ใด ๆ ต่อสังคมโดยภาพรวม วิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา ส่วนสื่อสารมวลชนบางกลุ่มทำตัวเป็นดาราค่าตัวแพง ผู้ประกาศข่าวกลายเป็นดาราที่แสดงเพียงบทอ่านข่าว ขณะที่ผู้สื่อข่าวที่ทำงานหนักจริงจังมีรายได้น้อยแทบเลี้ยงครอบครัวไม่รอด”
นี่คือส่วนหนึ่งใน “กรอบความเห็น ปฏิรูปประเทศไทย ด้านสื่อสารมวลชน” ของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมที่มีความยาวกว่า 78 หน้า และเป็นที่มาของ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน หนึ่งในพ.ร.บ.ที่อื้อฉาวที่สุดในประเด็นด้านสิทธิ และเสรีภาพ ตีคู่มากับ ร่างพ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พร้อมกับคำถามของยุคสมัย ว่าอะไรคือจรรยาบรรณของวิชาชีพสื่อ ใครเป็นสื่อบ้าง และถึงเวลาที่สื่อจะต้องถูกควบคุมตรวจสอบแล้วหรือยัง ที่สำคัญกว่านั้น คือ ใคร จะเป็นผู้ควบคุมสื่อ
ร่วมหาคำตอบกับกรอบความคิดและห้วงเวลาที่แตกต่างกันกับตัวแทนของสื่อที่เรียกได้ว่า ‘อยู่มาทุกยุค’ อย่าง อธึกกิต แสวงสุข – คอลัมนิสต์ และอดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ เจ้าของนามปากกา “ใบตองแห้ง” และตัวแทนเสียงของคนรุ่นใหม่ในกระแสสื่ออย่าง วศินี พบูประภาพ อดีตนักกิจกรรมทางการเมือง นักข่าวสังกัด workpointTODAY
เรานัดหมายพูดคุยกันที่ Voice TV สถานที่ทำงานล่าสุดของอธึกกิต ภายในห้องทำงานของสื่อที่ถุกแบ่งเป็นคอกกั้นบนโต๊ะทำงานตัวยาว บนโต๊ะของเขาเต็มไปด้วยหนังสือพิมพ์ งานเขียนแบบ ‘Hard copy’ อธึกกิตคือภาพสะท้อนของยุคสมัยที่สื่อสิ่งพิมพ์คือ ผู้ชี้นำสังคมบนหน้ากระดาษได้เป็นอย่างดี
สื่อยังเป็นกลาง หรือ ต้องเป็นกลาง จริงหรือ?
ที่จริงแล้วคำว่า ‘สื่อเป็นกลาง’ มันถูกโยนทิ้งตั้งแต่ยุครัฐประหารปี 49 แล้ว ตอนนั้นแม้แต่นายกสมาคมสื่อตัวใหญ่ ๆ 3 เจ้ายังเข้าไปนั่งในสนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ) โดนเขาด่ากันทั้งบ้าน ทั้งเมือง ครั้งหนึ่งสิ่งที่เราเรียกกันว่า ‘สื่อกระแสหลัก’ คือเครื่องมือสำคัญในการต้านรัฐประหาร อย่างกุหลาบ สายประดิษฐ์ สื่อเลยถูกปิดปากเป็นว่าเล่น
ยุคที่ใหม่กว่านั้นหน่อยก็เช่นสื่อในช่วงเวลาของคุณสมัคร สุนทรเวช ช่วงพฤษภา 35 สื่อก็ยังต่อต้านรสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) กันอย่างโจ๋งครึ่ม (aka ชัดเจน กว้างขวาง อธิบายศัพท์ไว้เล็กน้อยสำหรับเยาวชนที่เข้ามาอ่านบทความนี้และไม่เคยได้ยินในยุคสมัยของตัวเองมาก่อน) แม้แต่ตอนที่มีม็อบพันธมิตร การที่สื่อออกมาสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนแน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่หลังจากที่เกิดการรัฐประหารขึ้นแล้ว สื่อยังคงสนับสนุนรัฐประหาร ช่วยกันชูเหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องมีรัฐประหารขึ้น สิ่งนี้เป็นความแตกต่างอย่างชัดเจนของยุคที่ผ่านมา
นั่นคือสื่อที่เลือกข้าง และเลือกอยู่ข้างการรัฐประหารด้วย สื่อไม่จำเป็นต้องเป็นกลางด้วยซ้ำ แต่สื่อต้องมี ‘จุดยืน’ ให้ชัดเจน ต้องแยกการนำเสนอข่าวออกจากการนำเสนอทัศนะ และการมีจุดยืนที่สนับสนุนประชาธิปไตย คือจุดยื่นที่สำคัญ
การปฏิรูปสื่อ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่สื่อต้องถูกควบคุม(แต่โดยใคร)?
ความจริงพ.ร.บ.ฉบับนี้ถูกคัดค้านอย่างหนักในช่วงแรก ๆ ลองอ่านสิ่งที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมเขียนดี ๆ ข้อความนี้คุณนึกถึงใคร ? คิดว่าเขากำลังพยายามโจมตีนักข่าวคนไหนเป็นพิเศษอยู่ ? แล้วการเขียนแบบนี้มันสื่อเขียนให้ ไม่ใช่คนของกลาโหมเขียนเองแน่ ๆ
ลองอ่านระหว่างบรรทัดดูดี ๆว่าสื่อแบบไหนที่เขาต้องการควบคุม แน่นอนว่าคือสื่อฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร นี่ไม่ใช่แค่สื่อเลือกข้าง แต่ผู้มีอำนาจเลือกข้างให้สื่ออย่างชัดเจน แม้แต่คำกล่าวอ้างอย่าง สื่อทำหน้าที่ ‘ชี้นำสังคม’ ทุกวันนี้สื่อหลักยังสามารถชี้นำสังคมได้จริง ๆรึเปล่า สื่อหลักเองยังต้องไล่ทำข่าวที่มาจากสื่ออนไลน์อยู่เลย ถ้าเป็นสมัยก่อนมันก็ยังเรียกแบบ นั้นได้ เช่นในหน้าหนังสือพิมพ์ เรามีกรอบข่าวอยู่ 6-7 กรอบ กรอบที่ใหญ่ที่สุด ก็คือประเด็นที่เราต้องการพูดถึง ต้องการชี้นำสังคมในตอนนั้น เราเรียบเรียงการนำเสนอ เล่นระดับกับเนื้อหา แต่ทุกวันนี้มันมีวัฒนธรรมคลิกเบต (Clickbait) คุณอ่านแค่พาดหัวข่าวคุณไม่รู้เนื้อหาด้วยซ้ำ ต้องกดเข้าไปก่อน เช่นเดียวกับเรื่องที่มาของรายได้มันก็เปลี่ยนไป ช่องทางในการเสพสื่อต่าง ๆไปอยู่บนโลกออนไลน์หมดแล้ว
ความไวจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากของสื่อสมัยนี้ ซึ่งก็มีทั้งข้อดี และข้อควรระวัง แน่นอนว่าข่าวเมื่อก่อนกว่าจะได้ออกแต่ละที มันต้องผ่านกองบ.ก.ที่เป็นนักข่าวที่มีประสบการณ์ช่วยกันตรวจทาน กลั่นกรอง เรียงลำดับความสำคัญ อ่านทิศทางของสังคมว่าข่าวนี้ควรปล่อยออกมาในช่วงเวลาไหน ด้วยท่าทีน้ำเสียงยังไง มันมีขั้นตอนของมัน ถ้าเป็นสมัยนี้มันไวมาก และนอกจากความไวแล้ว น้ำเสียงที่สื่อสารคนยังคาดหวังว่ามันจะล้วงลึก มันจะจิกกัด มันจะถึงลูกถึงคนมากกว่าเมื่อก่อน ซึ่งแน่นอนว่ามันก่อความเสียหายได้มากกว่าในอดีตเหมือนกัน ทั้งกับตัวบุคคล และกับสังคมด้วย
หรือจะให้สื่อควบคุมกันเอง ? อันนี้ยิ่งแล้วใหญ่ มันจะยิ่งชิงปิดปากเซ็นเซอร์ตัวเองกันไปหมด จริง ๆแล้วสื่อหลักนี่ถูกตรวจสอบกันตลอดเวลาอยู่แล้วไม่ว่าจะมีพ.ร.บ.ตัวนี้หรือไม่ก็ตาม ด้วยสื่อกระแสรองนี่ล่ะ สื่อออนไลน์ตรวจสอบสื่อหลัก ผู้ชมเองก็ทำหน้าที่ตรวจสอบด้วย ใครจะบอกว่าคนดูสมัยนี้เสพสื่ออย่างไม่มีวิจารณญาณ คุณลองปล่อยข้อมูลเท็จ หรือพูดอะไรผิดผ่านสื่อดูสิ แปปเดียวทัวร์ลงแน่นอน
พ.ร.บ.ฉบับนี้มีการพูดถึงกองทุนที่เอาไว้ใช้สำหรับพัฒนาฝึกอบรมสื่อด้วย แต่ถามว่าใครเป็นคนตัดสินใจเรื่องให้ทุน ก็รัฐอีก แล้วอย่างนี้สื่อจะเป็นอิสระจากรัฐได้อย่างไร คุณรู้ไหมยุคที่เศรษฐกิจแย่ที่สุด ใครเป็นนายทุนเจ้าใหญ่ที่สุดของสื่อ ก็รัฐบาลนี่แหละ ดังนั้นถ้าต้องการพัฒนาสื่อจริง ๆ กองทุนก้อนนี้ควรจะมีที่มาจากประชาชนกันเอง ต้องมีความเป็นอิสระ ต้องไม่ใช่อีกเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ในการเซ็นเซอร์หรือครอบงำสื่อเสียเอง
ถ้าสื่อไม่ต้องเป็นกลาง แล้วต้องเป็นอย่างไรในยุคนี้
ผมคิดว่าเรื่องสำคัญที่สุดข้อหนึ่งคือสื่อต้องชูเรื่องสิทธิเสรีภาพ นำเสนอข่าวสารรอบด้าน สร้างให้เกิดการถกเถียง นำเสนอประเด็นใหม่ให้เกิดขึ้นในสังคม เราไม่ต้องไปชี้นำใคร แค่ตามสังคมให้ทันยังทำได้ยากเลยในยุคนี้ แล้วถ้าหากจะมีกฎหมายสักฉบับที่เข้ามาช่วยให้สื่อสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นเครื่องมือช่วยสังคมได้จริงๆ กฎหมายฉบับนั้นจะต้องคุ้มครองเสรีภาพสื่อ ช่วยเหลือสื่อเวลาที่ออกมานำเสนอประเด็นที่แหลมคม ดูแลเยียวยาคนทำงานสื่อเวลาที่เกิดอุบัติเหตุหรืออันตรายขณะปฏิบัติหน้าที่สื่อได้ ให้สื่อทำงานได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ให้นำเสนอข้อเท็จจริงได้อย่างปลอดภัย อันนี้คือเรื่องสำคัญ
ในวันเดียวกันนั้นเรานัดพูดคุยกับ พลอย–วศินี พบูประภาพ ผ่านช่องทางออนไลน์ เครื่องมือที่สื่อสังคมสมัยใหม่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี
สื่อไม่มีทางเป็นกลางได้เลย วศินีเปิดหัวด้วยประโยคนี้
มันเป็นภาพจำแบบเก่าที่ล้าสมัยไปแล้วสำหรับวลีที่สื่อต้องเป็นกลาง ในทุกวันนี้เราต้องการสื่อที่โปร่งใส ตรวจสอบได้มากกว่าด้วยซ้ำ และเราเชื่อว่าสังคมตรวจสอบสื่อได้ด้วยตัวเอง และทำกันอยู่ตลอดเวลา ไม่ต้องการรัฐหรือกฎหมายมาทำหน้าที่นี้เลย สุดท้ายมันจะเกิดฉันทามติ (Consensus) ของสังคมเองว่าสื่อที่ดีเป็นยังไง สื่อที่โปร่งใสเป็นยังไง โดยที่รัฐไม่ต้องยื่นมือเข้ามาเลย
ถ้าอย่างนั้นทุกวันนีใครบ้างที่เป็นสื่อ
แน่นอนว่าเราต่างกำลังเป็นทั้งผู้ส่งสาร และผู้รับสารในเวลาเดียวกัน แค่มือถือเครื่องเดียวทุกคนก็สามารถเป็นสื่อได้แล้ว แต่เราพบว่าความคาดหวังมันจะไม่เหมือนกัน ระหว่างคนทั่วไป , influencer , คนสรุปข่าว ไปจนถึงคนที่อยู่ในวิชาชีพ ความคาดหวังไม่มีทางเท่ากัน แต่เรากลับอยู่ในกลไกตลาดเดียวกัน และต้องแข่งขันกันทั้งหมด
เมื่อพูดถึงจรรยายรรณ หรือบรรทัดฐานของสื่อวิชาชีพ วศินี มองว่าเป็นเรื่องของการสร้างความไว้ใจ ความน่าเชื่อถือต่อสังคม (Trust) ในวันที่ข่าวเรื่องเดียวกันแต่มันมีข้อเท็จจริงมากมายเต็มไปหมด สารพัดความเห็น หลากหลายแง่มุม ข้อมูลถาโถมจนไม่รู้จะเชื่อชุดความจริงในดี ผู้ชมจะหันกลับมาหาสื่อที่เขาไว้ใจ แต่แน่นอนว่ามาตรฐานของสื่อมันไม่ควรมีไม้บรรทัดเดียว จากคนเพียงกลุ่มเดียว มันควรมีหลากหลาย และปรับเปลี่ยนตามยุคสมัยอยู่ตลอด (up to date) เราต้องการระบบตรวจสอบ (check and balance ) จากหลาย ๆฝ่าย ไม่ใช่ผูกขาดเพียงคณะกรรมการชุดเดียวที่ไม่ได้ยึดโยงใด ๆกับประชาชน
ถ้าอย่างนั้นสื่อที่ดี คือสื่อแบบไหน ความน่าสนใจของมันคือ เราจะใช้ไม้บรรทัดแท่งไหนเป็นตัวชี้วัด ซึ่งแน่นอนว่ามันประกอบมองได้จากหลาย ๆมุม สื่อที่ดีตามกลไกการตลาด อาจหมายถึงสื่อที่สามารถเรียกเรทติ้งได้
อย่างช่องเล่าข่าวของคุณสรยุทธ คือสื่อที่ยึดโยงอยู่กับคุณค่าอะไรบางอย่าง หรือสื่อที่สามารถนำเสนอข่าวได้อย่างรวดเร็วทันสถานการณ์ซึ่งหลาย ๆครั้งสื่อพลเมืองก็เข้าถึงชุดความจริงและทำหน้าที่นั้นได้ดีกว่า ดังนั้น สื่อที่ดี ควรจะสามารถพูดได้ว่าตนเองเป็นหนึ่งในกลไลการตรวจสอบอำนาจของรัฐบาล (check and balance) ไม่ใช่กลายเป็นอีกเครื่องมือของรัฐบาลไปเสียเอง
พ.ร.บ.สื่อ ยังจำเป็นอยู่ไหมในพ.ศ.นี้
ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายตัวไหนก็ตามที่อยากจะชวยให้การทำงานของสื่อมีประสิทธิภาพขึ้น เราร้องขอให้มีการตัดอำนาจรัฐออกจากกฎหมายฉบับนั้น เพื่อให้สื่อมีเสรีภาพ (freedom of press) อย่างแท้จริง และเพื่อให้ยึดโยงกับประชาชน อีกทั้ง สมาชิกสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนก็ควรที่จะมีส่วนร่วมในการตรวจสอบตรงนี้ด้วย คำว่าสื่อ น่าสนใจว่าเรารวมใครเป็นสื่อไว้บ้าง รวมถึงช่างภาพ คนทำงานภาคสนามตำแหน่งอื่น ๆ รวมถึงคนตัดต่อกราฟฟิกที่อยู่หลังจอหรือไม่ เราจะให้ความคุ้มครองให้เสรีภาพในฐานะสื่อด้วยหรือไม่
ไม่ใช่ว่าดี หรือไม่ดี แต่ในบรรยากาศแบบนี้ เราไม่ไว้วางใจการออกกฎหมายในยุคนี้มากกว่าว่าจะไม่ใช่การปิดปาก ออกมาแล้วจะช่วยคุ้มครองการทำงานของสื่อได้จริง ๆหรือไม่
แม้ว่า ทางพ.ร.บ.จริยธรรมสื่อฯจะถูกบรรจุเข้าวาระการพิจารณาของรัฐสภาในฐานะ “กฎหมายปฏิรูป” ให้ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพิจารณาและลงมติร่วมกัน แต่ข้อถกเถียงในส่วนของเนื้อหากลับมีอย่างบางตามมามากกว่าที่ควรจะเป็น ไม่ว่าจะเป็นในประเด็นของนิยามสื่อมวลชนที่กว้างขวาง ครอบคลุมไปถึงการขายของออนไลน์ แม้แต่การเต้นบน Tiktok การจำกัดเสรีภาพสื่อให้ไม่ขัดต่อหน้าที่ศีลธรรมอันดีของปวงชนชาวไทย โดยที่ให้อำนาจคณะกรรมการจริยธรรมเป็นตำรวจตรวจสอบสื่อนอกแถว โดยมีอำนาจตักเตือน ภาคทัณฑ์ หรือตำหนิโดยเปิดเผยต่อสาธารณะชน และอาจสั่งให้สื่อเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย