เมื่อ Green Concept ถูกยกให้เป็น Mega trends ปี 2023 ไม่เพียงแต่ภาคอุตสาหกรรม แต่มุมมองสีเขียว ถูกยกให้เป็นวาระสำคัญทางการเมืองระดับโลกอีกด้วย
แน่นอนว่าประเทศไทยมีการพูดถึงและหยิบยกแนวคิดสีเขียวเหล่านี้มาเช่นกัน โดยเฉพาะนโยบาย BCG ตั้งแต่เวที COP 26-27 และถูกยกให้เป็นวาระสำคัญในการประชุมนานาชาติ APEC 2022 ที่ผ่านมา
ทว่า BCG ที่ว่าจะเป็นไปได้จริงหรือ เมื่อประเทศไทยยังไม่อาจใส่ตัว P(eople) ไว้ในสมการ รวมถึงกรีนที่ว่า แล้วกรีนเฉดไหน ใช่กรีนที่ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนรวมในการกำหนดทิศทางทรัพยากรในพื้นที่ของพวกเขาหรือเปล่า
De/code ชวนตามหาสีเขียวเฉดที่ใช่สำหรับประเทศไทย ในเวที #BCG “Green” จริง หรือ แค่ “ฟอกเขียว” จัดขึ้นในวันที่ 20 ธันวาคม 2565 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) กับ 6 Guest : BCG Talk ความท้าทายของไทยและโลก, BCG Economy Model, และเส้นทางการพัฒนาสีเขียว ของประเทศไทย
Green จริง แต่ Green เฉดไหน?
BCG ไม่ใช่นโยบายใหม่สำหรับประเทศไทยแต่อย่างใด นโยบายนี้มีการศึกษารวมถึงผลักดันกันมาร่วมเกือบ 10 ปี
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะผู้ที่ร่วมขับเคลื่อนนโยบายนี้ในสมัยที่ตนยังดำรงวาระอยู่กล่าวว่า ไม่ว่าจะนโยบายใด สำหรับประเทศแล้วมันขึ้นอยู่กับว่า เราทำจริงใช่ไหม หรือมีอะไรแอบแฝง
“มาถึงวันนี้เราไม่ได้กำลังพูดถึงขีดความสามารถในการแข่งขัน เราต้องตอบโจทย์โลกด้วยในเวลาเดียวกัน เราจำเป็นที่จะต้องมีอะไรบางอย่างที่จะเชื่อมต่อกับโลก หนึ่งในนั้นคือนโยบายทางด้านสิ่งแวดล้อม” ซึ่งนโยบายที่อาจารย์กล่าวมา สำหรับประเทศไทยเองก็มีทั้งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แผนพัฒนา SDGs และนโยบาย BCG เป็นต้น
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ดร.สุวิทย์ ได้ฉายภาพใหญ่ของนโยบายซึ่งเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ที่จะต้องการพัฒนาและยกระดับไปสู่นานาชาติ อาจารย์ได้ย้อนถึงยุคนโยบาย 4.0 อันเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความยั่งยืนและเป็นหนึ่งในแกนหลักของนโยบาย BCG ซึ่งทุกวันนี้ หลายคนยังสับสน ถึงนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เป็นเพียงการปรับตัวเพื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัลเท่านั้น
“ในยุค 1.0 ที่เรายังคงเป็นอุตสาหกรรมการเกษตร มาจนถึง ยุค 4.0 สิ่งสำคัญในช่วงนี้คือการปรับตัวและเปลี่ยนผ่าน และยุคเปลี่ยนผ่านเป็นอุตสาหกรรมดิจิทัลนี่เอง ประเทศไทยเรามุ่งเน้นไปกับการปรับตัวทางด้านการแข่งขัน ทั้ง ๆ ที่เราไม่มีสมดุลในการปรับตัวกับการแข่งขันที่จะสูงขึ้นเลย”
ดร.สุวิทย์ ได้พูดถึงแผนภาพ Systemetic Transformation เป็นแผนภาพที่ฉายให้เห็นว่า เราไม่สามารถที่จะก้าวไปข้างหน้าหากขาดรูปแบบการเปลี่ยนผ่านเหล่านี้ เพราะวันนี้โลกเปลี่ยนไปแล้ว
“หากเรากำลังพูดถึงความยั่งยืน สิ่งนี้ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีความเท่าเทียม ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนไปแล้ว สังคมกำลังพลวัต ความเท่าเทียมย่อมมีหลายแบบ เช่นเดียวกับความมั่นคง ไม่ใช่ความมั่นคงทางทหาร แต่เรากำลังคุยกันเรื่องความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางอาหาร เป็นความมั่นคงในชีวิตมนุษย์”
อาจารย์กล่าวต่อว่า เมื่อประเทศไทยนำเข้ารูปแบบนโยบายเข้ามา หากเราพิจารณาจากโมเดลนั้น ๆ โดยไม่สร้างความเข้าใจให้ดีก่อน ตั้งแต่ระดับบริหารจนถึงประชาชน เราจะไม่ได้ประโยชน์หรือเรียนรู้จากความสำเร็จที่ประเทศนั้น ๆ ใช้นโยบายนี้ได้สำเร็จ สิ่งสำคัญคือการนำมาประยุกต์กับสิ่งที่เรามี เพื่อให้เกิดความยั่งยืนกับประเทศไทยต่างหาก
ในขณะที่อาจารย์มองว่า BCG สามารถตอบโจทย์หากประเทศไทยต้องการที่ Green จริง ๆ เนื่องจากว่า ตัวนโยบายที่อาจารย์ได้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมผลักดันในยุคแรกเริ่ม มันสอดคล้องโดยตรงกับความมั่นคงในชีวิตมนุษย์ยุคใหม่ ทั้งความมั่นคงทางด้านอาหารหรือความมั่นคงทางด้านพลังงานก็ตาม
โดยเฉพาะความเข้าใจของนโบายนี้ต่อภาคประชาชน หลายส่วนมองว่า เราจำเป็นจะต้องสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ หรือบัญญัติศัพท์ใหม่อย่าง Smart Farmer หรือ Smart SME ทั้งนี้ อาจารย์กลับมองว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ แต่ทำอย่างไรให้เราสามารถพัฒนาสิ่งเดิมให้ปรับตัวกับกระแสโลกได้
“เรามาบอกกันว่าเกษตรกรต้องเป็น Smart Farmer นะ เด็กรุ่นใหม่ต้องเป็นผู้ประกอบการที่รักษ์โลก แต่แรงจูงใจตรงนี้มันหายไปไหน ถ้าเราไม่สามารถทำให้คนอยากเข้ามาทำมันก็เป็นไปได้ยาก เพราะฉะนั้นโจทย์ต่อจากนี้คือการสร้างบุคลากรที่พัฒนาให้สิ่งที่มีอยู่ กลายเป็น Inclusive Innovation ต่างหาก”
ดร.สุวิทย์ได้ประกาศอย่างชัดเจนทิ้งท้ายว่า สิ่งที่ BCG จะต้องทำไม่ใช่แค่ระดับตำบล แต่มันหมายถึงการเชื่อมกับทั้งภูมิภาคหรือทั้งโลก นั่นคือการผลักดันที่จะให้นโยบายนี้สัมฤทธิ์ผลอย่างแท้จริง
Big Company on Green Economy?
เมื่อ BCG อาจไม่ได้หมายถึงเศรษฐกิจสีเขียวในมิติต่าง ๆ แต่วิทยากร 2 ท่านในงานวันนี้ ที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียวต่อพื้นที่ของพวกเขากล่าวว่า อาจจะเป็นแผนของธุรกิจขนาดใหญ่ในครอบของเศรษฐกิจสีเขียวต่างหาก
ไครียะห์ ระหมันยะ เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เยาวชนจากอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ผู้ต้องอยู่กับการเติบโตของนิคมอุตสาหกรรมในบ้านเกิดของตน เมื่อความเจริญที่ว่าอาจทำลายธรรมชาติ ซึ่งเป็นปากท้องที่ยั่งยืนของพวกเขา
“ชาวบ้านที่จะนะ คือผู้ที่อยู่กับการพัฒนาซึ่งรัฐบอกว่าเป็นการพัฒนาในรูปแบบของเศรษฐกิจสีเขียว ตั้งแต่ปี 2545 จนถึงตอนนี้ก็ยังมีนิคมอุตสาหกรรมมาเปิดที่จะนะอยู่ดี”
ไครียะห์ ระหมันยะ เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น
ไครียะห์ กล่าวว่า ภูมิประเทศในบ้านเกิดของเธอมีภูเขาล้อมรอบฝั่งข้างบน และฝั่งตรงกันข้ามมีทะเลที่มีความยาว 24 กม. ปีกด้านซ้ายและด้านขวา ประกอบไปด้วยแม่น้ำ 3 สาย ทั้งน้ำจืดและจุดพบกันของน้ำกร่อย เป็นทั้งแหล่งอนุบาลสัตว์ซึ่งจะเป็นอาชีพหลักของพวกเขาในการออกไปทะเลเพื่อทำการประมง
ความละเอียดอ่อนของการใช้เส้นทางเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อการพัฒนาไม่ง่ายอย่างที่คิด ที่อำเภอจะนะ มีอีกอาชีพหนึ่งที่ไครียะห์นำเสนอ เป็นอาชีพที่หล่อเลี้ยงผู้คนมาหลายชั่วอายุคนและมีชื่อเสียงในระดับอาเซียน นั่นคือการเลี้ยงนกเขาชวา
นกเขาชวาได้ชื่อว่าเป็นนกสายประกวด ไม่ใช่แค่ในระดับพื้นที่ แต่ยังมีการแข่งขันในระดับอาเซียน นกเขาชวานี้จะวัดกันที่ ขน ลำตัว ขนาด และสำคัญที่สุดคือการแข่งขันในเรื่องของเสียง
ที่สำคัญนกเขาชวามีหลายราคา มีตั้งแต่หลักร้อยจนไปถึงหลักหลายล้าน และแน่นอนว่าในอำเภอจะนะ บ้านหลายหลังคือที่สร้างเงินล้าน ไครียะห์กล่าวว่า การเลี้ยงนกเขาชวาไม่ต่างจากการเลี้ยงลูก เผลอ ๆ อาจจะต้องเลี้ยงดีกว่าเลี้ยงลูกเสียอีก
เพราะนกเขาชวาซึ่งมีจุดเด่นและนำมาแข่งขันในเรื่องของเสียง ด้วยขนาดที่เล็กและไม่ได้แข็งแรงขนาดนั้น กล่องเสียงของนกเขาชวามีความอ่อนไหวต่อควันและสารพิษอย่างมาก เธอกล่าวต่อว่า หากบ้านไหนเลี้ยงนกเขาชวานั้น ถึงกับต้องมีกฎห้ามสูบบุหรี่ภายในบริเวณบ้าน เพราะควันบุหรี่เพียงน้อยนิดอาจทำให้เสียงของนกเขาชวาเปลี่ยนไปได้เลย และด้วยขนาดตัวที่เล็ก เมื่อเสียงเปลี่ยนไปแล้วไม่มีทางที่จะกลับมาเป็นดังเดิมได้
“ขนาดควันบุหรี่ ชาวบ้านเขายังไม่กล้าสูบกันเลยเพราะกลัวจะกระทบกับเสียงของนกเขาชวา แล้วทุกท่านคิดดูว่า ควันและสารพิษจากนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในอำเภอจะไม่ส่งผลต่อนกเขา ซึ่งเป็นอาชีพของชาวบ้านเลยหรือ และที่สำคัญเราไม่สามารถไปบอกได้ว่า อย่าปล่อย แล้วเขาจะฟัง นี่เป็นการทำลายอาชีพดั้งเดิมของชาวบ้านหรือไม่ อาชีพที่สามารถสร้างเงินล้านและเลี้ยงดูหลายครอบครัว” ไครียะห์กล่าว
ยิ่งไม่ต้องนับถึงสารพิษที่จะปล่อยลงสู่ลำน้ำ ทั้งน้ำทะเล น้ำกร่อย และน้ำจืด เมื่อสารพิษจากนิคมอุตสาหกรรมปล่อยสู่ลำน้ำซึ่งเป็นแหล่งหล่อเลี้ยงทั้งภาคเกษตรกรรมและภาคประมงของพื้นที่ นั่นทำให้อาชีพของชาวบ้านใกล้ถูกปิดตาย มิหนำซ้ำคนในพื้นที่ยังต้องทนกับสารพิษและมลภาวะจากนิคมอุตสาหกรรมเหล่านี้มาเป็นเวลานาน
ด้าน นิติพล ผิวเหมาะ โฆษกคณะกรรมาธิการการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ถึงแม้วันนี้ตนจะมาเข้าสู่ด้านการเมือง แต่ตนคือส.ส.ชาติพันธุ์ อาศัยอยู่กับสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่เด็ก และได้มีโอกาสไปร่ำเรียนที่ต่างประเทศ นั่นทำให้มุมมองในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจสีเขียว ไม่สามารถวัดค่าการเติบโตได้โดย GDP เพียงอย่างเดียว แต่การพัฒนาที่ว่าได้มองเห็นและคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของประชาชนแล้วหรือยัง
“รัฐบีบเกษตรกรไทยให้ไม่มีทางเลือกมาตลอด ทั้งที่จริง ๆ มีทางออก หนึ่งในทางออกเหล่านั้นคือคาร์บอรนเครดดิต”
หนึ่งในรูปแบบของการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวตามรูปแบบของ BCG ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือตลาดคาร์บอนเครดิต หรือการทำให้การปล่อยคาร์บอนสามารถซื้อขายได้ สามารถทำได้หลากหลายรูปแบบทั้งการซื้อขาย การปลูกป่าทดแทน ไปจนถึงการนับคำนวณจากพลังงานสะอาด แต่ทั้งหมดที่ว่าประชาชนได้อยู่ในสมการนี้ไหม
นิติพลกล่าวว่า “พอเราพูดถึงคาร์บอนเครดิต มันเป็นภาพของการที่บริษัทขนาดใหญ่ทำการ CSR ผมขอยกตัวอย่างอย่างการปลูกป่าทดแทน เอาเข้าจริง ๆ มันสามารถคำนวนได้แม่นยำขนาดนั้นเชียวหรือ รวมถึงการปลูกป่าที่ว่าในแบบ CSR มันไม่ได้ทำให้เกิดการทดแทนจริง ๆ มันเป็นการใช้พื้นที่เพื่อถ่ายรูปว่าฉันมาปลูกป่านะ แล้วบริษัทถัดไปก็จะมาถ่ายรูปต่อในช่วงบ่าย”
“ทั้งที่จริง ๆ แล้วมีประชาชนหลายคนเขาสามารถขายคาร์บอนในตรงนี้ได้ แต่บริษัทขนาดใหญ่เลือกที่จะบุกรุกที่ทำกินของพวกเขามากกว่าให้พวกเขาเป็นผู้ขาย” นิติพล กล่าว
นิติพล ผิวเหมาะ โฆษกคณะกรรมาธิการการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ถึงแม้วันนี้ตนจะมาเข้าสู่ด้านการเมือง แต่ตนคือส.ส.ชาติพันธุ์ อาศัยอยู่กับสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่เด็ก และได้มี
นิติพลให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยเราซึ่งกำลังตื่นเต้นกับราคาคาร์บอนเครดิตที่ปัจจุบันขายกันตันละประมาณ 100 บาท หากเทียบกับสมัยก่อนที่ตันละหลักสิบ แต่หากไปมองโมเดลของประเทศ คาร์บอนเครดิตในปัจจุบันมาราคาตันละ 2,000-3,000 บาทแล้ว
เมื่อเชื่อมโยงกับปัญหาฝุ่นควันอย่าง PM 2.5 ที่เริ่มส่งผลหนักขึ้นทุก ๆ ปี แต่ประชาชนที่เชียงใหม่ต้องพบเจอกับเหตุการณ์นี้มาเป็นเวลานับ 10 ปี ในขณะที่หลายภาคส่วนกล่าวว่า เราต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียว ถึงจะแก้ปัญหานี้ได้
นิติพลได้ยกกรณีการปลูกป่าชายเลนที่บางขุนเทียน ท้ายที่สุดไม่ว่ากี่บริษัทที่เข้ามาปลูก บางขุนเทียนก็ยังคงไม่เขียวเสียที นั่นเป็นเพราะว่า เราไม่ได้คำนวนในการปลูกอย่างจริง ปลูกอย่างไร้แบบแผน ทั้ง ๆ ที่ป่าสีเขียวของชาวบ้านที่ต่างจังหวัด นั่นต่างหากที่จะเป็นการพื้นที่สีเขียวที่ควรสนับสนุน แต่ปัจจุบันยังคงมีการบุกรุกอยู่เสมอ
คงต้องกลับมาถามตัวเองอีกครั้ง เมื่อการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวอย่างนโยบาย BCG ถามประชาชน 10 คน ก็ยังคงต้องไม่เหมือนกัน บ้างก็รู้ บ้างไม่รู้ เมื่อ BCG ที่ว่าจำเป็นต้องมี People เป็นคนขับเคลื่อน ไม่ใช่ Big Company ถึงจะประสบผลสำเร็จ
P(eople) คือหัวใจของ BCG
สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด ตั้งข้อสังเกตว่า ในคณะกรรมาธิการ BCG ชุดนี้มีประกอบไปด้วย CEO และอดีต CEO ของบริษัทขนาดใหญ่ และไม่ได้เป็นตัวแทนของสมาคมธุรกิจหรือสมาคมอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นหลุมกับดักของนโยบายนี้หรือไม่ เมื่อเรายังไม่สามารถสร้าง People Power ให้เกิดขึ้นจริงในนโยบายนี้
สฤณี อธิบายว่า หากเราจะดำเนินการแผน BCG อย่างน้อยที่สุด แต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องนิยามผลประโยชน์ที่จะไปถึงกลุ่มประชาชนที่เกี่ยวข้องมากกว่านี้
สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด
ไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครองสิทธิชุมชน สิทธิเกษตรกร การกำจัดขยะ ลดขยะนำเข้า ไปจนถึงโจทย์ใหญ่อย่างการปรับตัวจากสภาวะโลกรวน ที่ไม่ไกลตัวเราอีกต่อไป เราจะเห็นได้ว่าสิ่งเหล่านี้คือการมอง BCG ในภาพที่ใกล้ตัวเรามากยิ่งขึ้นและจะทำให้นโยบายนี้ปรับใช้ได้จริง
“มันจะมีความเชื่อมโยงกันอยู่ในมิติของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะของพี่น้องในภูมิภาคอื่น ๆ ทั้งนิเวศวัฒนธรรม นิเวศเกษตรกรรม เราจำเป็นที่จะต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการร่วมออกแบบแผนปฏิบัติการต่าง ๆ เพราะพี่น้องประชาชนนี่แหละ จะเป็นส่วนที่วัดผลว่านโยบายเหล่านี้ดีจริงหรือไม่”
ซึ่งจะนำมาสู่การกระจายในด้านการสร้างกิจกรรมต่าง ๆ โดยชุมชน ทั้งในแง่ของการอนุรักษ์และการสร้างอาชีพ ในการผลักดันให้เกิดอาหารออแกร์นิกจากเกษตรอินทรีย์มากยิ่งขึ้น การกำกับโรงไฟฟ้าขยะ รวมถึงการเปิดเสรีไฟฟ้าให้แต่ละชุมชนสามารถมีส่วนในการสร้างพลังงานทดแทนท้องถิ่น หรือการพัฒนานิเวศวัฒนธรรมและนิเวศธรรมชาติให้กลายเป็นชุมชนท่องเที่ยว ทั้งหมดทั้งมวลนี้ต้องเกิดจากการตัดสินใจของประชาชนในพื้นที่
เช่นเดียวกับ ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบัน ศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ (ISIS) เน้นย้ำถึงปัญหาของระบบราชการไทย ที่นโยบายเหล่านี้จะกลายเป็นหมึกเข้มบนหัวกระดาษหรือเปล่า มากกว่าจะเป็นการนำไปประยุกต์ใช้ต่อสังคม
ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบัน ศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ (ISIS)
“จาก ESR มาเป็น CSR จนกระทั่ง SDGs และ BCG เรามีชื่อย่อต่าง ๆ มากมายคำถามคือเราได้กระจายนโยบายเหล่านี้ให้พี่น้องประชาชนรับรู้กันอย่างไร หรือกระทั่งผู้บริหารเองเข้าใจความหมายของตัวย่อเหล่านี้ว่าอย่างไร”
“และตัว B ที่ว่าแท้จริงแล้วเป็น Bio จริงหรือไม่ หรือจะเป็นแค่ Boss ที่สั่งการมาจากข้างบน เรื่องเหล่านี้จำเป็นมากที่จะไม่ใช่แค่หัวกระดาษรายงาน แต่การนำมาปรับใช้ได้จริงคือสิ่งที่จำเป็น ในหน้ากระดาษอย่างหนึ่ง แต่สิ่งที่เราสัมผัสได้ในชีวิตจริงมันคนละเรื่องเลย” ศ.ดร. ฐิตินันท์ กล่าว
สฤณีกล่าวทิ้งท้ายว่า หากเราจะต้องดำเนินการแผน BCG ให้ตรงกับหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืน หัวใจสำคัญเช่นเดียวกับวิทยากรทุกคนกล่าวถึง คือการเน้นมีส่วนร่วมทุกขั้นตอนของประชาชน
“เราไม่สามารถจะไปถึงการพัฒนาแบบที่ยั่งยืนได้เลย หากเรากำลังพูดถึงการอนุรักษ์และการพัฒนาของอุตสาหกรรมโดยไม่มีกฎกติกามาดูแล สิ่งเหล่านี้ราชการจะต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพราะนอกเหนือจากเรื่องปากท้องในแง่ของเม็ดเงิน นี่คือแหล่งฐานทรัพยากรธรรมชาติที่เมื่อหายไปจะไม่สามารถนำกลับคืนมาได้อีกในระยะเวลาอันสั้น”
สฤณีได้สรุปมาเป็น 3 ข้อ อย่างแรก คือเราต้องดูแลผลประโยชน์ของประชาชน การตระหนักถึงสิทธิของพี่น้องที่เกี่ยวข้องไปจนถึงการกระจายอำนาจคือแก่นหลักของความยั่งยืนที่เรากำลังพูดถึง
อย่างที่สอง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจากด้านไครียะห์ หรือสิ่งที่เราพบเห็นได้ตามสื่อ การมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ถูกลดทอนลงไป เราจำเป็นที่ต้องให้ประชาชนเข้ามาออกแบบการดูแล การจัดการ ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ของพวกเขา มากกว่ายกกรรมสิทธิ์ให้กับกลุ่มทุนต่าง ๆ
และสุดท้าย คือการทำให้เกิด smart regulation ไม่ใช่ no regulation กล่าวคือการกำกับที่ว่าจะต้องเป็นไปอย่างชาญฉลาดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
“ในช่วงหลังมานี้เราจะได้ยินคำว่าปลดล็อคบ่อยขึ้น มันคือการร่วมมือของทุกฝ่ายและชัดเจนแล้วว่าทุกวันนี้เราจำเป็นจะต้องร่วมมือ ไม่ใช่ราชการหรือกลุ่มทุนกำกับเส้นทางการพัฒนาเพียงอย่างเดียว เราสามารถให้พี่น้องประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตรงไหนได้บ้าง สามรถให้ภาคประชาสังคมเข้ามาช่วยเหลืออย่างไร เพราะท้ายที่สุดนโยบายทุกอย่างจะสำเร็จไม่ได้ หากพี่น้องประชาชนยังไม่เข้าใจเลยว่า นโยบายพวกนี้คืออะไร” สฤณีกล่าวย้ำ
นโยบาย BCG รวมถึงแผนเศรษฐกิจสีเขียวที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกนับจากนี้ จะกลายเป็นนโยบายหัวโตหรือไม่ ที่จะกระจุกและเกิดจากการผลักดันของคนกลุ่มเดียว เพราะหลายประเด็นพุ่งเป้าไปที่การกระจายผลประโยชน์อย่างทั่วถึง และการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน
มากกว่า Bio Circular และ Green Economy คือ Power of People ที่จะทำให้เราประคับประคองผ่านโลกที่เปลี่ยนเร็ว ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้เส้นทางสีเขียวเหล่านี้ เกิดขึ้นจริง
เครดิตภาพ สายัณห์ ชื่นอุดมสวัสดิ์